ก่อนหน้านี้ทีมงานเราได้รีวิวรุ่นท็อปสุดของ Galaxy S10 Series ได้แก่ Samsung Galaxy S10+ และก็มีเพื่อน ๆ หลายคน Inbox มาในแฟนเพจ SpecPhone อยากให้รีวิวพี่กลาง Galaxy S10 บ้าง เพราะส่วนมากที่หาอ่านรีวิวได้นั้นก็จะมีแต่ Galaxy S10+ แต่สำหรับบางคนที่ไม่ได้อยากได้จอใหญ่ ๆ ก็ดูจะสนใจใน Galaxy S10 อยู่ไม่น้อย
สเปค Samsung Galaxy S10
- หน้าจอ Dynamic AMOLED หน้าจอแบบ Infinity-O ขนาด 6.1 นิ้ว ความละเอียด 1440 x 3040 พิกเซล อัตราส่วน 19:9 กระจก Gorilla Glass 6
- ระบบสแกนนิ้วใต้หน้าจอ Ultrasonic Fingerprint Sensor (เทคโนโลยีการสแกน 3 มิติ)
- ชิปเช็ต Exynos 9820
- แรม 8GB
- ความจุ 128GB
- กล้องหลัง 3 เลนส์ ประกอบด้วย เลนส์หลักความละเอียด 12 ล้านพิกเซล (รูรับแสง f/1.5, OIS, มุมกว้าง 77 องศา) +เลนส์ Ultra Wide ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล (รูรับแสง f/2.2, มุมกว้าง 123 องศา) + เลนส์ Telephoto 12 ล้านพิกเซล (รูรับแสง f/2.4, OIS, ซูม 2x, มุมกว้าง 45 องศา)
- กล้องหน้า Selfie Camera ความละเอียด 10MP รูรับแสง f/1.9
- ระบบปฏิบัติการ Android 9 Pie ครอบทับด้วย One UI
- พอร์ต USB-C
- ช่องต่อชุดหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
- กันน้ำมาตรฐาน IP68
- แบตเตอรี 3,400 mAh รองรับ Fast charging, Fast Wireless Charging 2.0 และเทคโนโลยี Wireless PowerShare
แน่นอนว่าสเปคของ Samsung Galaxy S10 นั้นถือว่าเป็นระดับท็อป อันที่จริงคือเทียบเท่า Galaxy S10+ ด้วยซ้ำ ทั้งในแง่ของความแรง และเทคโนโลยีที่อยู่ภายใน โดยจุดที่น่าสนใจก็เช่น หน้าจอแบบใหม่ กล้องที่ให้เลนส์มาครบช่วง ฟังก์ชันในการชาร์จแบตแบบไร้สายให้อุปกรณ์อื่น และที่สำคัญคือตัวเครื่องที่บางลงกว่า S9 แต่ยังมาพร้อมช่อง 3.5 มม. และยังสามารถใส่ MicroSD ได้อีก แม้ถาดซิมจะเป็นแบบไฮบริดก็ตาม
ดีไซน์ หน้าตาของ Samsung Galaxy S10
หนึ่งในสิ่งที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต้องการจะเอาชนะมากที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง Notch screen เพื่อให้มือถือมีพื้นที่แสดงผลของจอมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันก็เพื่อทำให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป โดยในรอบนี้ Samsung เลือกใช้หน้าจอแบบเจาะช่องสำหรับกล้องหน้าเอาไว้ที่มุมขวาบน โดยใช้ชื่อเรียกว่าเป็นจอแบบ Infinity-O อย่างไรก็ตาม Samsung Galaxy S10 ก็ยังมาพร้อมขอบจอโค้งอยู่เช่นเดิม (หากไม่ต้องการจอโค้ง ควรเลือกเป็น Galaxy S10e)
ด้านการแสดงผลนั้น Samsung เลือกใช้เทคโนโลยี Dynamic AMOLED ที่มีความสามารถในการปรับโทนสีให้เหมาะสมกับเนื้อหาโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ภาพมีความสมจริง สีสันสวยงามมากยิ่งขึ้น จากที่ทดสอบมา พบว่า Samsung Galaxy S10 ให้ภาพที่สวยมาก ๆ สีสันสวยงาม แต่ไม่จัดจ้านจนเกินไป ส่วนที่เป็นสีดำก็ดำสนิทด้วยความเป็น AMOLED นอกจากนี้ยังรองรับการแสดงภาพในมาตรฐานระดับ HDR10+ อีกด้วย
ความเจ๋งอีกอย่างของหน้าจอ Dynamic AMOLED อยู่ที่ขอบเขตของการแสดงสี 100% ตามมาตรฐาน DCI-P3 ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกหนึ่งเทคโนโลยีของหน้าจอที่น่าสนใจก็คือ ฟังก์ชันถนอมสายตาที่ผ่านการรับรองจาก TUV Rheinland ช่วยลดแสงสีฟ้าลงได้ถึง 42% โดยที่ไม่ทำให้สีของภาพเพี้ยนจนเกินไป ช่วยลดอาการล้าของสายตา โดยเฉพาะเมื่อใช้เครื่องในเวลากลางคืน
บริเวณกล้องหน้าของ Galaxy S10 จะเห็นชัดเลยว่าตำแหน่งของกล้องหน้าจะกินเข้ามาจากด้านบนและด้านขวาเข้ามาเล็กน้อย ในการใช้งานบางครั้งก็มีความรู้สึกว่ามันกวนสายตาอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อเปิดแอปที่มีสีขาวเป็นหลัก แต่ก็ยังไม่กวนสายตาเท่ากับกล้องคู่ใน Galaxy S10+ ส่วนการรับชมวิดีโอแบบเต็มหน้าจอในแนวนอน ถ้าเป็นวิดีโอในอัตราส่วน 16:9 ก็จะมีขอบดำทางฝั่งซ้ายและขวาตามปกติ ทำให้เห็นรูกล้องหน้าไม่ชัดมากนัก แต่ถ้าซูมวิดีโอเข้าไปเพื่อให้แสดงผลเต็มจอ หรือเปิดวิดีโอที่เป็นอัตราส่วน 18:9 ขึ้นไป ก็จะเห็นรูกล้องได้ชัดเจนเลย
เช่นเดียวกับการเล่นเกม แม้ในส่วนที่เป็นกล้องหน้า จะสามารถทัชสกรีนได้ตามปกติ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันกวนใจอยู่ไม่น้อย กับการที่กล้องหน้าฝังอยู่ใต้หน้าจอ หากถามผมว่าควรทำอย่างไร ก็คงตอบได้แค่ว่าให้ลองปรับตัวดูครับ อย่างผมเอง ตอนเล่นเกม ROV ก็จะอาศัยถือเครื่องให้กล้องหน้าอยู่ฝั่งไอคอนโจมตี เนื่องจากเป็นส่วนที่สายตาไม่ได้โฟกัสในตอนเล่นเกม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในการใช้งานทั่วไปนั้น จอ Infinity-O ของ Samsung Galaxy S10 ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีมาก ๆ ทั้งในแง่ของความคมชัด สีสัน ความสว่างจอที่ใช้งานได้ในทุกสภาพแสง ส่วนแถบปุ่ม navigation ด้านล่างก็สามารถปรับได้ว่าจะคงไว้ หรือจะซ่อนไปเลย แล้วใช้การสั่งงานด้วยการปาดหน้าจอขึ้นมาจากตำแหน่งของทั้งสามปุ่มแทน ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน
สำหรับเครื่อง Galaxy S10 ที่ทางเราได้รับมารีวิวในครั้งนี้เป็นรุ่นฝาหลังสีเขียว Prism Green ส่วนขอบด้านข้างเครื่องเป็นอลูมิเนียมซีรีส์ 7000 ที่มีความทนทานสูง ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวเครื่อง
การวางตำแหน่งของกล้องหลัง Galaxy S10 ถูกปรับมาใช้เป็นแนวนอน โดยตัวโมดูลกล้องจะมีกรอบของกระจกปิดหน้าเลนส์ที่นูนขึ้นมาจากฝาหลังเล็กน้อย ส่วนข้าง ๆ ก็เป็นแฟลช LED และเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจตามสไตล์ของ Samsung ที่มักวางไว้ข้างกล้องหลัง รายละเอียดของกล้องทั้งสามตัวเรียงจากซ้ายมาขวา ได้แก่
- เลนส์ระยะ Telephoto ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล มี OIS
- เลนส์ระยะปกติ ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล มี OIS และปรับรูรับแสงจริงได้
- เลนส์ระยะ Ultra wide-angle ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล
แม้ตัวเครื่องและสัมผัสโดยรวมของ Samsung Galaxy S10 จะทำออกมาได้ดีและลงตัวก็ตาม แต่ยังมีจุดหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจจะส่งผลกับการใช้งานอยู่เหมือนกันก็คือตำแหน่งของปุ่ม Power ด้านข้างเครื่องที่ขยับขึ้นไปอยู่สูงกว่าปกติ อาจต้องอาศัยความเคยชินในการใช้งานสักพัก
อย่างไรก็ตาม Galaxy S10 มาพร้อมกับฟีเจอร์ Lift to wake ที่หน้าจอจะติดขึ้นมาเอง เมื่อผู้ใช้ยกเครื่องขึ้นมา และเมื่อหน้าจอติดแล้ว ระบบก็สามารถสแกนใบหน้า หรือสแกนลายนิ้วมือได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องกดปุ่ม power แต่อย่างใด
จุดเด่นในด้านการออกแบบของรุ่นนี้ นอกจากที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว เรื่องขนาดตัวเครื่องก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน Galaxy S10 ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนที่ไม่ชอบใช้มือถือเครื่องใหญ่ ๆ เน้นความคล่องตัวในการใช้งานเป็นหลัก แต่ต้องการสมาร์ทโฟนที่โดดเด่นในด้านประสิทธิภาพ บอกตามตรงว่าในยุคนี้ก็หาเครื่องสไตล์นี้ยากอยู่เหมือนกัน เพราะหลายแบรนด์ก็มักจะใส่จอใหญ่ควบคู่ไปกับสเปคแรง ๆ
ซอฟต์แวร์ของ Samsung Galaxy S10
Samsung Galaxy S10 มาพร้อมกับ Android 9.0 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุดในปัจจุบัน ครอบด้วยอินเตอร์เฟส One UI ของทาง Samsung เอง ซึ่งธีมโดยรวม การจัดวางเมนูจะมีความแตกต่างไปจาก Samsung Experience UI พอสมควร โดยจุดที่สังเกตได้ก็เช่น สีสันของไอคอนที่ดูสดใส การจัดหมวดหมู่ของเมนูการตั้งค่าที่ดูเป็นระเบียบและเรียบง่ายมากขึ้น รวมถึงยังมีธีมสีดำในแบบของ Night mode ให้ใช้งานได้อีกด้วย
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือความสามารถในการปรับแต่งการทำงานของปุ่ม Bixby ที่อยู่ด้านข้างเครื่องได้ ระบบก็จะเปิดให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะให้กดปุ่มครั้งเดียว หรือกดสองครั้งเพื่อเปิด Bixby ขึ้นมา โดยเมื่อเลือกแล้ว การกดอีกแบบที่เหลืออยู่ก็จะเปิดให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะเปิดแอปหรือใช้คำสั่งใด
อย่างไรก็ตาม หากกดค้างไว้ก็จะเป็นการเรียกฟังก์ชันรับคำสั่งเสียง (Bixby Voice) ขึ้นมา และแน่นอนว่าไม่สามารถปิดการทำงานของปุ่ม Bixby ได้
เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเทคโนโลยี Ultrasonic
ระบบสแกนลายนิ้วมือของ Samsung Galaxy S10 นี้มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด นั่นคือการนำเอาคลื่นเสียง ultrasonic มาใช้งาน โดยตัวเครื่องจะส่งคลื่นเสียงขึ้นมากระทบกับปลายนิ้ว และรับคลื่นที่สะท้อนกลับไปเพื่อประมวลผลเป็นภาพลายนิ้วมือ จากนั้นก็นำไปเทียบกับข้อมูลลายนิ้วมือที่เก็บไว้ หากตรง ก็สามารถปลดล็อกหน้าจอ หรือใช้งานแอปต่อได้ทันที ซึ่งการใช้คลื่นเสียง ทำให้แม้ว่านิ้วจะเปียก ก็สามารถสแกนได้อย่างไม่มีปัญหา
นอกจากนี้ ระบบสแกนลายนิ้วมือใน Samsung Galaxy S10 ยังผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของ FIDO ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลในระดับองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือสูงของทางฝั่งอเมริกา ดังนั้นจึงมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลได้
ชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นด้วย Wireless PowerShare
Wireless PowerShare เป็นฟังก์ชันที่ให้ผู้ใช้ S10 สามารถชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์อื่นแบบไร้สายได้โดยการนำอุปกรณ์นั้นมาแนบกับฝาหลังของเครื่อง โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้จะเป็นมือถือ นาฬิกา หูฟัง หรืออะไรก็ได้ที่รองรับการชาร์จไร้สายตามมาตรฐาน Qi นอกจากนี้ยังใช้สำหรับทำงานร่วมกับเคส LED View Cover ของ Samsung เอง ซึ่งจะมีไฟ LED ติดขึ้นมาเป็นรูปตามที่ผู้ใช้ตั้งค่า โดยตัวเคสจะใช้พลังงานจากฟังก์ชัน Wireless PowerShare ในการทำงานนั่นเอง
กล้องถ่ายรูปของ Samsung Galaxy S10
กล้องถ่ายรูปก็เป็นอีกสิ่งที่ Samsung พัฒนาเพิ่มขึ้นมาจากรุ่นก่อนหน้า อย่างในด้านของกล้องหลัง Galaxy S10 ก็ให้มาถึงสามตัวที่มีระยะ และการทำงานที่แตกต่างกัน ด้านของซอฟต์แวร์เองก็มี AI ที่ช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับภาพถ่ายให้สอดคล้องกับสิ่งที่ถ่าย เช่น ซีนสำหรับถ่ายภาพทะเล ถ่ายภาพต้นไม้ ถ่ายภาพอาหาร เป็นต้น รวมถึงยังมีโหมด Instagram เพิ่มเข้ามาให้ขาโซเชียลอัพรูปลงไอจีได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
สำหรับกล้องหลักตัวกลางนั้น มีความสามารถในการปรับความกว้างรูรับแสงระหว่าง f/1.5 กับ f/2.4 ได้ (เช่นเดียวกับใน Galaxy S9+) โดยหลักแล้วจะเป็นการปรับให้อัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับสภาพแสงภายนอก ถ้ามืดหน่อยก็ใช้ f/1.5 ถ้าสว่างมากพอ เช่น ถ่ายรูปกลางแจ้งในช่วงกลางวัน กล้องก็จะปรับไปใช้ f/2.4 ให้เอง
หนึ่งในฟังก์ชันที่จะช่วยทำให้ถ่ายรูปได้ดูสวยงาม ลงตัวยิ่งขึ้นก็คือ Shot suggestion ครับ เมื่อเปิดแล้ว ระหว่างที่กำลังจัดองค์ประกอบภาพอยู่ หน้าจอก็จะมีวงกลมทึบสีขาวพร้อมคำว่า Best shot ขึ้นมา ก็ให้ผู้ใช้เลื่อนกล้องให้กรอบวงกลมสีขาว ไปครอบวงกลมทึบที่ปรากฏขึ้นมา ซึ่งเมื่อครอบลงไปเรียบร้อยแล้ว วงกลมก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง นั่นหมายความว่า ตรงจุดนั้นคือจุดที่ AI ประเมินแล้วว่าองค์ประกอบภาพลงตัวที่สุด ถ่ายแล้วน่าจะได้รูปที่เป็นไปตามทฤษฎีการถ่ายภาพ เช่น กฏสามส่วน มากที่สุด
จากที่ผมลองใช้งานดู ฟังก์ชันนี้ถือว่าทำงานได้เป็นที่น่าพอใจครับ ส่วนใหญ่แล้วระบบจะเน้นจัดองค์ประกอบเด่นไว้กลางภาพเป็นหลัก เหมาะกับการใช้ถ่ายเพื่อเน้นความโดดเด่นของวัตถุ
ส่วนโหมด Instagram ประโยชน์ก็คือช่วยอำนวยความสะดวกในการโพสต์รูปลง IG story ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อถ่ายแล้วก็สามารถใส่ฟิลเตอร์ แปะอีโมติคอน ใส่ข้อความ วาดเส้นเพิ่มเข้าไปในภาพได้จากในแอปกล้อง โดยไม่ต้องเข้าไปเปิด IG อีกรอบ
ส่วนตัวชอบใจในเลนส์ ultra wide มาก ๆ เพราะช่วยให้สามารถเก็บวิว เก็บวัตถุในภาพได้อย่างครบถ้วน ส่วนการซูมด้วยระยะของเลนส์เทเลก็ทำออกมาได้ดี รายละเอียดของวัตถุยังคงมีความคมชัด ส่วนตัวผมมองว่า Samsung Galaxy S10 ให้ทั้งความสะดวกในการใช้งาน คุณภาพของรูปที่ได้ และระยะเลนส์ที่ครอบคลุมการใช้งานทั่วไป อารมณ์ประมาณตัวเดียวจบ เที่ยวไหนไปกันกับ Galaxy S10 ล่ะครับ
สำหรับกล้องหน้า Galaxy S10 ที่มีกล้องหน้าเพียงตัวเดียวนั้น ส่วนตัวผมว่ามันแทบจะไม่ต่างจาก Galaxy S10+ ที่มีกล้องหน้าคู่แม้แต่น้อย ทั้งในแง่ของโหมดต่าง ๆ ที่ทำได้เหมือนกัน รวมถึงภาพถ่ายที่ไม่ได้เห็นความต่างอย่างชัดเจน เผลอ ๆ ผมถูกใจ Galaxy S10 มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะกล้องหน้าตัวเดียวมันกินพื้นที่หน้าจอน้อยกว่ากล้องคู่
ประสิทธิภาพและการเล่นเกมบน Samsung Galaxy S10
ด้านของผลการทดสอบประสิทธิภาพ คงไม่จำเป็นต้องบรรยายเรื่องความแรงให้มากมาย ด้วยความที่ Galaxy S10 มาพร้อมฮาร์ดแวร์ระดับท็อปในแทบทุกด้าน ความไหลลื่นก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม เท่าที่ใช้งานมา ยังไม่เจอปัญหาด้านซอฟต์แวร์หนัก ๆ เลย สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่น ส่วนการเชื่อมต่อเครือข่าย cellular ก็รองรับ 3CA ได้สบาย
การเล่นเกมก็ไม่ใช่ปัญหาของ Samsung Galaxy S10 ด้วยประสิทธิภาพของทั้ง CPU และ GPU ที่สูง รวมถึงแรมที่ให้มาถึง 8 GB ทำให้การเปิดเกม การสลับหน้าจอ รวมถึงสามารถปรับระดับกราฟิกในเกมในระดับสูงสุดได้สบาย ส่วนเรื่องความร้อนของตัวเครื่องขณะเล่นเกม ก็จะมีส่วนที่อุ่นขึ้นมาตามปกติ ไม่ได้ถึงขั้นร้อนจนเกินไป
ปิดท้ายด้วยการใช้งานแบตเตอรี่ ตรงนี้เป็นอีกจุดที่ Galaxy S10 แตกต่างจาก S10+ ด้วยความจุแบตเตอรี่น้อยกว่าที่ 3400 mAh ในมุมของการเป็นสมาร์ทโฟนเรือธงที่ถูกหยิบใช้ประจำ ส่วนตัวผมว่าถ้าจะใช้งานให้หมดวันแบบสบาย ๆ ก็อาจต้องไม่เล่นเกมเลย หรือต้องไม่หยิบเล่นตลอดเวลา เพราะหน้าจอ Dynamic AMOLED นี่กินแบตเตอรี่ใช่เล่นเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงเวลาจาก 100 – 70% นี่แบตเตอรี่จะลดฮวบ ๆ แต่พอหลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ เข้าที่
ส่วนเรื่องการชาร์จไฟ Galaxy S10 รองรับ Adaptive Fast Charging 18W เช่นเดียวกับตอน Galaxy Note 9 ตอนเสียบชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ชาร์จเร็วตัวเครื่องก็จะแจ้งว่าเป็น Fast charging พร้อมกับการชาร์จที่เร็วทันใจมาก ๆ ด้วยความที่แบตเตอรี่ความจุไม่สูงเท่า S10+ จึงใช้เวลาในการชาร์จน้อยกว่า
Overall
Samsung Galaxy S10 นับเป็นหนึ่งในมือถือระดับท็อปที่น่าสนใจรุ่นหนึ่งล่ะครับ ด้วยความลงตัวในทุก ๆ ด้าน และก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากรุ่นก่อนมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบตัวเครื่อง, กล้องหลังที่ให้เลนส์ครบช่วงสำหรับการใช้งานทั่วไป รวมถึงช่องเสียบแจ็คหูฟังแบบ 3.5 มม. ที่ยังคงเก็บไว้อย่างเหนียวแน่น เมื่อประกอบกับฟีเจอร์ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ Dynamic AMOLED ในแบบ Infinity-O ที่ให้พื้นที่แสดงผลแบบเต็มตา เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบ ultrasonic ที่มีความแม่นยำและความรวดเร็วสูง รวมถึง Wireless PowerShare ที่ชาร์จไฟต่อให้กับอุปกรณ์อื่นแบบไร้สายได้ ซึ่งฟีเจอร์เหล่านี้ ต่างเข้ามาช่วยเสริมประสบการณ์การใช้งานให้ลงตัวกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ส่วนในด้านของกล้อง แม้จะดูเหมือนว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ แต่ในเบื้องลึกแล้ว ฟังก์ชันที่ใส่มาก็นับว่ามีประโยชน์ และตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้ดี โดยเฉพาะเลนส์มุมกว้าง Ultra wide-angle ที่ให้ภาพกว้างสะใจ กับเลนส์เทเลที่มีระบบกันสั่นในตัว คุณภาพของรูปที่ได้ก็ยังอยู่ในระดับที่ไว้ใจได้ในแทบทุกสถานการณ์
สำหรับคนที่สงสัยว่าสุดท้ายแล้ว เลือกอะไรดีระหว่าง Galaxy S10 กับ Galaxy S10+ ผมขอสรุปให้ง่าย ๆ เลยว่า ให้เลือกที่ความถนัด ทั้งสองรุ่นมาพร้อมกับสเปคเดียวกัน (ยกเว้น Galaxy S10+ Ceramic) ฟีเจอร์เหมือนกันหมด แตกต่างที่ขนาดตัวเครื่องเท่านั้น ชอบเครื่องเล็ก ๆ เน้นคล่องตัว เลือก S10 แต่ถ้าถนัดใช้หน้าจอใหญ่ ๆ เลือก Galaxy S10+ ส่วนเรื่องกล้องหน้าคู่ กล้องหน้าเดี่ยว ผมยืนยันว่าไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำมาคิดเรื่องความต่างแน่นอน