ถ้าคุณต้องการหาโน้ตบุ๊กพกสะดวก ประสิทธิภาพกำลังดีสำหรับการใช้ทำงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะงานสายกราฟิก สายงานอาร์ต Lenovo YOGA Duet 7i คือตัวเลือกที่ลงตัวมาก ๆ ด้วยจุดเด่นในด้านดีไซน์แบบ 2-in-1 ที่สามารถใช้เป็นทั้งโน้ตบุ๊ก และเป็นแท็บเล็ตเพื่อการวาดเขียนที่สะดวกยิ่งขึ้น คีย์บอร์ดแยกแบบ Bluetooth ก็ให้ความรู้สึกว่าเป็นคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กจริง ๆ จัดเป็นคีย์บอร์ดที่ให้สัมผัสการกดที่ดีมากรุ่นหนึ่งในตลาดเลยก็ว่าได้
ส่วนประสิทธิภาพ แม้จะเป็น Core i7 รหัส U ก็ตาม แต่ด้วยจุดเด่นของการที่เป็น Core i Gen 10 จึงทำให้มีพลังที่เหลือเฟือสำหรับการใช้งานระดับสำนักงาน งานกราฟิกได้ดี พ่วงมาด้วยการประหยัดพลังงานที่ทำให้ใช้แบตได้นานสุดราว 10 ชั่วโมงเลย
อีกจุดเด่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือปากกา Lenovo E-Color Pen ที่แถมมาให้กับเครื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นปากกาสไตลัสที่มีปุ่มกดสำหรับใช้คำสั่งลัด และยังรองรับการทำงานร่วมกับ Windows 10 ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ที่หัวปากกายังมีเซ็นเซอร์ที่สามารถดูดสีจากวัตถุจริงรอบตัวผู้ใช้งาน เพื่อแปลงเป็นค่าสีไปใช้งานต่อในคอมได้ด้วย ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับคนทำงานสายกราฟิก สายงานออกแบบได้ดี โดยแทบไม่ต้องไปหาซื้ออุปกรณ์เสริมอื่นเพิ่มให้วุ่นวายเลย
จุดเด่น
- เป็นโน๊ตบุ๊ค 2-in-1 ประสิทธิภาพสูงที่พกพาได้สะดวก ถอดคีย์บอร์ดเพื่อใช้งานเป็นแท็บเล็ตได้ง่าย
- มีขาตั้งแบบ kickstand ที่ตัวเครื่อง ช่วยให้สามารถตั้งหน้าจอได้มั่นคงยิ่งขึ้น
- หน้าจอสวย ความละเอียดสูง เหมาะกับการทำงานกราฟิก
- ให้แรมมา 16 GB และ SSD ถึง 1 TB แถมยังใส่ MicroSD เพิ่มได้อีก
- แบตเตอรี่ใช้งานจริงได้ราว 7 ชั่วโมง สูงสุด 10 ชั่วโมง
- มีพอร์ต USB-C ให้มา 3 พอร์ต โดยมี 2 พอร์ตที่สามารถชาร์จไฟด้วยอะแดปเตอร์ที่รองรับ USB-PD ได้เลย
- น้ำหนักเบา (รวมคีย์บอร์ดแล้วไม่ถึง 1 กิโลกรัม)
- ปากกา Lenovo E-Color Pen ที่ใช้ดูดสีจากวัตถุจริงได้
- คีย์บอร์ด Folio รองรับ Bluetooth 5.0 สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องประกบติดกับเครื่อง และใช้กับอุปกรณ์อื่นได้ด้วย
- มีเซ็นเซอร์ตรวจจับตำแหน่งของผู้ใช้งาน ถ้าลุกออกจากหน้าจอ จะล็อกจอให้อัตโนมัติ
ข้อสังเกต
- เสียงจากลำโพงของตัวเครื่องเบาไปนิด
- ไม่สามารถอัพเกรดสเปคเครื่องได้
- การชาร์จไฟเข้าค่อนข้างช้าไปหน่อย
Specification
ส่วนของสเปคนั้น Lenovo YOGA Duet 7i มาพร้อมกับชิปประมวลผล Intel Core i7-10510U ที่มี 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็วพื้นฐาน 1.8 GHz สามารถเร่งความเร็วได้สูงสุด 4.9 GHz เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปในยุคนี้ จะทำงานเอกสาร งานกราฟิกก็สบาย ด้านของ GPU ก็พ่วงมาด้วย Intel UHD Graphics สำหรับชิป Core i Gen 10 ที่รองรับการแสดงผลของตัวเครื่องเอง ไปจนถึงการต่อจอแยกได้แบบไม่มีปัญหา ส่วนค่า TDP สูงสุดของตัวชิปก็อยู่ที่ 25W ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ค่อนข้างประหยัดไฟ ตามสไตล์ชิปของ Intel รหัส U
แรมเป็นแบบฝังบอร์ด DDR4-2666 ให้มาถึง 16 GB (ในรุ่นที่ทดสอบ) ซึ่งเป็นความจุแรมที่แนะนำสำหรับโน้ตบุ๊กใช้งานระดับจริงจังในยุคนี้ ชิปเก็บข้อมูลใช้เป็นแบบ M.2 PCIe SSD ความจุ 1 TB ที่มีจุดเด่นทั้งความจุและความเร็วที่สูง ส่วนหน้าจอมีขนาด 13″ อัตราส่วน 16:10 ความละเอียดระดับ 2K (2160×1350) สามารถแสดงสีได้ถึงระดับ 100% sRGB ความสว่างสูงสุดที่ 400nits เหมาะกับการใช้งานที่เกี่ยวกับรูปภาพ วิดีโอเป็นอย่างยิ่ง จะพกไปใช้ออกงานกลางแจ้งก็สะดวก ด้านของระบบปฏิบัติการ ตัวเครื่องจะให้มาเป็น Windows 10 Home ซึ่งครอบคลุมการใช้งานได้แทบทุกรูปแบบ
Lenovo YOGA Duet 7i รองรับการเชื่อมต่อไร้สายทั้ง WiFi 802.11ax (WiFi 6) และ Bluetooth 5.1 ทำให้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไร้สายต่าง ๆ ได้สะดวกมาก ไม่ว่าจะเป็นเมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง เป็นต้น ส่วนพอร์ตเชื่อมต่อในเครื่องก็จะมี USB-C 3.1 Gen 1 มาให้สองพอร์ต รองรับการต่อจอแยกแบบ DisplayPort และชาร์จแบบ Power Delivery (USB PD) ได้สูงสุด 45W และก็ยังมีพอร์ต USB-C ปกติมาให้อีกพอร์ต ไว้ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นเช่น USB drive หรือใช้ชาร์จไฟให้มือถือได้ นอกจากนี้ก็ยังให้ช่องใส่ MicroSD ได้อีก 1 ใบ
ตัวเครื่องมีกล้องหลัง 5 MP และกล้องหน้า 5 MP พร้อมอินฟราเรดเพื่อใช้งานร่วมกับฟังก์ชัน Windows Hello ของ Windows 10 ด้วย
สำหรับรุ่นที่วางจำหน่ายในตอนนี้ Lenovo YOGA Duet 7i จะมีให้เลือกด้วยกันสองรุ่น แบ่งตามสเปคคือ
- Core i7-10510U / UHD Graphics / DDR4-2666 16 GB / SSD 1 TB ราคา 45,990 บาท
- Core i5-1035G7 / UHD Graphics / LPDDR4X-3200 8 GB / SSD 512 GB ราคา 38,990 บาท
โดยรุ่นที่รีวิวในบทความนี้จะเป็นรุ่นแรก แรม 16 GB ครับ
Hardware / Design
กล่องของ Lenovo YOGA Duet 7i จะมาในโทนสีเทา-แดง-ชมพู โดยภายในก็จะมีทั้งตัวเครื่อง คีย์บอร์ดแยกแบบ Bluetooth ปากกา Lenovo E-Color และก็อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 45W มาให้
ตัวเครื่อง Lenovo YOGA Duet 7i จริง ๆ จะมีแค่ส่วนที่เป็นหน้าจอ ซึ่งสามารถใช้งานเป็นแท็บเล็ต Windows 10 ได้ทันที ผิวจอเป็นกระจกแบบ glossy ที่สะท้อนแสงอยู่บ้างเหมือนกัน ส่วนขอบจอที่มันดูหนานั้น ที่จริงข้างใต้จะมีชุดเซ็นเซอร์ที่น่าสนใจอยู่ด้วยครับ
โดยในขอบจอฝั่งด้านล่าง จะมีเซ็นเซอร์วัดระยะห่างจากหน้าจอมาให้ จุดประสงค์หลักในการใช้งานก็คือเพื่อการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในเครื่อง โดยเมื่อผู้ใช้ลุกออกจากหน้าจอออกไป ระบบจะล็อกหน้าจอให้โดยอัตโนมัติ ทำให้คนอื่นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในเครื่องได้ในทันที คราวนี้ก็ไม่ต้องกลัวเพื่อนแกล้งโพสต์สเตตัสแล้ว
นอกจากนี้ยังมีอีกระบบที่น่าสนใจคือ ตัวเครื่องจะมีข้อความแจ้งเตือนเมื่อมีคนมายืนมองจออยู่เหนือหัวไหล่ของผู้ใช้งาน ซึ่งทั้งสองนับว่าเป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจสำหรับคนทำงานในออฟฟิศมากทีเดียว
คุณภาพของหน้าจอ จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีสำหรับการเป็นโน้ตบุ๊กใช้ทำงานเลย ด้วยความสามารถในการแสดงค่าสีถึงระดับ 100% sRGB เมื่อผสานกับความละเอียดหน้าจอที่ให้มาถึง 2K ทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัด สวยงาม มุมมองกว้างในแบบฉบับของพาเนล IPS ทำให้ไม่ว่าจะใช้งานอะไร หรือใช้ดูหนังก็ลงตัว
อีกจุดที่พิเศษก็คืออัตราส่วนหน้าจอที่เป็นแบบ 16:10 ซึ่งน่าจะถูกใจคนทำงาน เนื่องจากพื้นที่ใช้งานบนจอในแนวกว้างที่มากกว่าจอ 16:9 อยู่นิดหน่อย ทำให้สามารถแสดงข้อความในไฟล์เอกสาร หรือบนหน้าเว็บได้จำนวนบรรทัดมากกว่าจอโน้ตบุ๊กทั่วไป
ฝาหลัง Lenovo YOGA Duet 7i ใช้เป็นแบบเรียบ ๆ เคลือบผิวซอฟต์ทัช มีโลโก้ YOGA และ Lenovo วางอยู่คนละฝั่งกัน ส่วนตรงขอบบนจะมีกล้องหลังติดตั้งมาให้ ซึ่งภาพที่ได้ก็จัดอยู่ในระดับที่พอถ่ายได้ครับ แนะนำว่าเก็บไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉินจะดีกว่า
โดยท่อนล่างของฝาหลังสามารถดึงออกมาเป็นขาตั้งจอ ได้โดยใช้ปลายนิ้วแงะจากร่องที่มีอยู่ทั้งสองฝั่ง โดยสามารถปรับองศาการกางได้ตามใจชอบ ไม่มีสเต็ปล็อกในแต่ละจุด ซึ่งสามารถกางได้สูงสุดประมาณ 270 องศา (ทำให้จอเอียงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 30 องศา) เท่าที่ทดสอบดู ข้อพับข้อต่อก็ดูแข็งแรงดีครับ มีความฝืดอยู่พอตัว ทำให้ไม่ล้มพับลงมาง่าย ๆ ผมเอาไปใช้โดยกางบนหน้าตักก็ไม่มีปัญหา
เมื่อประกบเข้ากับคีย์บอร์ด Folio ที่แถมมาในกล่อง แล้วกางขาตั้งออก ก็จะกลายเป็นโน้ตบุ๊กดี ๆ เครื่องหนึ่งได้เลย จะใช้งานบนโต๊ะ หรือใช้งานบนตักก็ยังได้
Connector / Thin And Weight
Lenovo YOGA Duet 7i ให้พอร์ตเชื่อมต่อที่ค่อนข้างตอบโจทย์การใช้งานในยุคปัจจุบัน นั่นคือ USB-C 3.1 มาสองช่องซึ่งสามารถชาร์จไฟให้กับตัวเครื่องจากอะแดปเตอร์ที่ให้มาในกล่อง หรือจะใช้อะแดปเตอร์ที่รองรับ USB-PD 45W ก็ได้ นอกจากนี้ยังใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลากหลาย
ใกล้ ๆ กันนั้นก็จะมีช่อง 3.5 มม. มาสำหรับต่อหูฟังกับลำโพงได้ด้วย และก็มีถาดใส่การ์ด MicroSD มาให้ ส่วนช่องที่เป็นตะแกรงนั้นก็เป็นช่องลำโพง ซึ่งอีกฝั่งก็จะมีด้วยเช่นกัน
ส่วนอีกฝั่งจะมีร่องสำหรับดันขาตั้งขึ้นมา ช่อง USB สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น เช่น USB drive รวมถึงยังรองรับฟังก์ชัน Always-on ที่ช่วยให้สามารถชาร์จมือถือ หรืออุปกรณ์อื่นได้ แม้จะปิดเครื่องโน้ตบุ๊กไป ถัดมาเป็นปุ่มปรับระดับเสียง และก็ปุ่ม Power ที่มีไฟ LED บอกสถานะให้ด้วย ข้าง ๆ กันนั้นก็จะเป็นลำโพงซึ่งมีอยู่ทั้งสองข้าง รองรับระบบเสียง Dolby Audio ซึ่งเสียงที่ได้นั้นค่อนข้างเบาซักนิดนึงครับ เน้นโทนเสียงกลางเป็นหลัก เหมาะสำหรับใช้ฟังบทสนทนา ฟัง podcast และใช้ประชุมทางไกล ส่วนถ้าจะดูหนังฟังเพลง แนะนำว่าต่อลำโพงหรือหูฟังจะถึงใจกว่า
ด้านล่างมีพินเป็นขั้วทองเหลืองด้วยกัน 5 จุด ใช้สำหรับเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ด Folio ที่แถมมาในชุด ส่วนช่องด้านข้างทั้ง 2 ฝั่งนั้นคือตัวช่วยล็อกตำแหน่งคีย์บอร์ดให้ตรงกับสันเครื่อง
Keyboard / Touchpad
คีย์บอร์ด Folio ที่แถมมาในกล่อง Lenovo YOGA Duet 7i จะเป็นคีย์บอร์ด Bluetooth 5.1 ซึ่งสามารถนำไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น เช่น แท็บเล็ต มือถือ ทีวี คอมพิวเตอร์ได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าจะให้ลงตัวที่สุดก็คือการนำมาใช้กับ YOGA Duet 7i เครื่องนี้ครับ เพราะสามารถเชื่อมต่อกับพินทั้ง 5 จุดในภาพก่อนหน้านี้ได้ทันที อาศัยแรงแม่เหล็กในการดูดติดกับตัวเครื่อง ทำให้ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะหลุดออกมาขณะใช้งานหรือพกพา
ส่วนขนาดของทั้งแผงคีย์บอร์ดและปุ่มกดนั้น ก็จัดว่าเทียบเท่ากับพวกโน้ตบุ๊กขนาด 13″ ทั่วไปเลย ใช้สะดวก กดสนุก แผงปุ่ม F1-F12 จะรวมอยู่กับแผงปุ่มลัดในการปรับค่าตัวเครื่อง เช่นการปรับระดับเสียง ปรับระดับความสว่างหน้าจอ เป็นต้น
ตัวปุ่มกดก็ยังคงเอกลักษณ์ของโน้ตบุ๊กจาก Lenovo เอาไว้ คือปุ่มที่มีขนาดใหญ่ กดสะดวก มีระยะการกดและต้องใช้แรงในการกดที่ค่อนข้างพอดี เหมาะกับการพิมพ์งานมาก ๆ แถมยังมีไฟ LED ที่ใต้ปุ่มซึ่งสามารถปรับได้ 3 ระดับคือ ปิด-สว่างเล็กน้อย-สว่างสุด และถ้าหากไม่ได้ใช้งานคีย์บอร์ดประมาณ 15 วินาที ไฟก็จะดับอัตโนมัติ เพื่อช่วยประหยัดแบตของตัวคีย์บอร์ดเอง
ทัชแพดมีขนาดที่จัดว่าค่อนข้างใหญ่ เหมาะสมกับขนาดตัวเครื่องและหน้าจอ ปุ่มคลิกซ้าย/ขวาสามารถกดได้ง่าย พื้นผิวเป็นพลาสติกเนื้อเดียวกับส่วนอื่นของคีย์บอร์ดเลย ซึ่งให้ความแข็งแรงคงทนในระดับที่ดี
ในการใช้งานจริงนั้น ส่วนตัวผมพบข้อจำกัดนิดนึง คือถ้าใช้การปาด 2 นิ้วขึ้นลงเพื่อเลื่อนหน้าจอ ในบางครั้งระบบจะจับสัมผัสตอนที่ 2 นิ้วแตะลงไปบนทัชแพดก่อนที่จะลากนิ้ว แล้วนึกว่าผมสั่งคลิกขวา ทำให้ไม่สามารถเลื่อนหน้าจอได้อย่างที่ต้องการ แต่ก็พบในบางครั้งครับ ไม่ได้เป็นทุกครั้ง
ส่วนล่างของคีย์บอร์ดใช้เป็นผ้าที่ทำให้ดูพรีเมียมยิ่งขึ้น ทำให้ดูเหมือนเป็นเครื่องประดับติดตัวเวลาออกไปนอกสถานที่ได้สบาย ๆ
ที่จริงตรงบริเวณสันคีย์บอร์ด จะมีสวิตช์เล็ก ๆ พร้อมไฟแสดงสถานะ Bluetooth / คีย์บอร์ดอยู่ โดยถ้าเลื่อนสวิตช์มาทางซ้ายก็จะเป็นการปิด Bluetooth ของคีย์บอร์ด ตรงกลางคือเปิด ส่วนถ้าจะจับคู่คีย์บอร์ดกับอุปกรณ์อื่นหรือกับตัวเครื่อง Duet 7i เอง ก็ให้เลื่อนสวิตช์ไปทางขวาสุดค้างไว้ประมาณ 3 วินาทีจนไฟสีขาวขึ้นกระพริบก่อน ค่อยไปจับคู่อีกที
ขนาดของตัวเครื่องเมื่อประกบคู่กับคีย์บอร์ด ต้องบอกว่าหนากว่าโน้ตบุ๊กทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันนิดหน่อย แต่ถ้าพูดถึงน้ำหนัก ต้องบอกว่าลงตัวมาก เพราะตัวเครื่องเองมีน้ำหนักประมาณ 800 กรัม ส่วนคีย์บอร์ด folio จะอยู่ที่ 365 กรัม เวลาถือรวมทั้งสองชิ้นก็จะมีน้ำหนักที่ราว ๆ 1.1 กิโลกรัมเท่านั้น จัดว่าเป็นโน้ตบุ๊ก 2-in-1 บางเบาอีกเครื่องได้เลย
เมื่อประกบคู่กัน ก็สามารถใช้ Lenovo YOGA Duet 7i ในแบบโน้ตบุ๊กเต็มสเกลได้สะดวกมาก หรือจะกางออกในลักษณะเต๊นท์ก็ได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เด่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรสำหรับซีรีส์ YOGA
ปากกา Lenovo E-Color Pen
สิ่งที่พลาดไม่ได้สำหรับ Lenovo YOGA Duet 7i ก็คือปากกา Lenovo E-Color Pen ที่แถมมากับเครื่อง เพราะนอกจากจะเป็นปากกาสไตลัสที่มีปุ่มลัดสำหรับเรียกใช้งานฟังก์ชันของ Windows 10 แล้ว มันยังมาพร้อมเซ็นเซอร์สำหรับถ่ายภาพวัตถุจริง เพื่อดึงค่าสีมาใช้งานบน YOGA Duet 7i ได้แบบสะดวกสุด ๆ อีกด้วย
ซึ่งเจ้าตัวเซ็นเซอร์จะซ่อนอยู่ในช่องที่หัวปากกาครับ โดยตรงนี้ที่จริงจะเป็นปุ่มที่สามารถกดลงไปได้ด้วย
เมื่อกดลงไปแล้ว จะมีแสงไฟสีขาวออกมา เพื่อช่วยให้เซ็นเซอร์สามารถอ่านค่าสีได้
วิธีใช้งานฟังก์ชันดูดสีบน YOGA Duet 7i ก็ง่ายมาก ในกรณีที่จับคู่ปากกาไว้กับเครื่องอยู่แล้ว แค่กดลงไปที่บริเวณขอบวงกลมข้างเซ็นเซอร์บนหัวปากกา โปรแกรม ColorKing ก็จะเปิดขึ้นมาแล้ว ทีนี้ถ้าต้องการสีอะไร ก็ให้เอาหัวปากกาไปแตะยังวัตถุที่ต้องการ แล้วออกแรงกดปากกาลงไปบนวัตถุเล็กน้อย เซ็นเซอร์ก็จะทำการอ่านค่าสี แล้วส่งเข้ามาที่โปรแกรม ColorKing ทันที
โดยตัวโปรแกรมจะมีรูปแบบค่าสีให้เลือกใช้ที่ค่อนข้างครอบคลุมเลย คือมีทั้ง RGB, CMYK, Hex, HSB และ Lab เรียกได้ว่าสายกราฟิกต้องถูกใจสิ่งนี้แน่นอน
ซึ่งเราก็สามารถนำค่าสีที่ได้ไปใช้งานต่อในโปรแกรมกราฟิกได้สะดวกครับ รองรับโปรแกรมด้านกราฟิกหลายตัวอยู่เหมือนกัน โดยผมลองใช้กับ Adobe Photoshop CC 2021 ก็พบว่าโปรแกรมสามารถดึงค่าสีไปใช้ได้ทันที จะใช้การกรอกเลขก็ได้เช่นกัน หรือจะใช้ทูลมาจิ้มสีจาก ColorKing ไปอีกทีก็ได้
ในการชาร์จไฟให้ปากกา E-Color Pen ก็ทำได้โดยดึงปลอกที่ส่วนหัวปากกาออก ก็จะพบกับช่อง USB-C อยู่ภายใน ก็สามารถนำสายชาร์จของเครื่องมาชาร์จได้เลย แต่อาจจะต้องใช้เวลาชาร์จซักนิดนึง ส่วนระยะเวลาที่ใช้งานได้ก็หลายวันอยู่ครับ แนะนำว่าสองสามวันก็เสียบชาร์จซักทีก็ได้
โปรแกรมที่ใช้ในการตั้งค่าตัวปากกา E-Color ก็คือ Lenovo Pen Settings ที่ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน โดยหลัก ๆ ก็จะมีให้ปรับหน้าที่ของแต่ละปุ่มครับ เริ่มจากปุ่มบนสุดเลย ว่าจะใช้ในการจิ้มสี (Color Mode) หรือใช้เป็นปุ่มลัดเพื่อเรียกฟังก์ชันของตัว Windows 10 เช่น อาจจะกด 1 ครั้งเพื่อเรียกโปรแกรม Whiteboard กดสองครั้งเพื่อแคปหน้าจอ เป็นต้น
ถัดมาก็เป็นการตั้งค่าปุ่มบน/ล่างที่ใกล้ ๆ ปลายปากกา รวมถึงยังตั้งค่าความไวของการกดปากกา และตั้งค่าให้โชว์ไอคอนแสดงปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ได้ด้วย
ถ้าลองสลับโหมดมาใช้ Windows Mode ก็จะมีตัวตั้งค่าปุ่มบนมาให้อย่างที่กล่าวข้างต้นครับ
อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือ Redial Menu ที่สามารถเปิดมาใช้งานได้ จุดประสงค์หลักคือเป็นการสร้างทางลัดสำหรับเรียกฟังก์ชันต่าง ๆ มาเพิ่ม เช่น การเล่นเพลง/หยุดเพลง การคัดลอกข้อความ การสร้างปุ่มลัดแบบมาโคร หรือใช้เปิดโปรแกรมที่ตั้งค่าไว้ขึ้นมา ซึ่งจะเหมาะกับคนที่ต้องใช้ปากกาในการจดบันทึก หรือขีดเขียนหน้าจอบ่อย ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องคอยละมือมากดสั่งงานจากคีย์บอร์ด
Performance / Software
Lenovo YOGA Duet 7i รุ่นขายจริงจะมาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home มาให้พร้อมใช้งานในเครื่อง ซึ่งสามารถอัพเดตเป็นเวอร์ชัน 20H2 ได้สบายครับ
เมื่อเช็คสเปคจากโปรแกรม CPU-Z ก็แสดงชัดเจนเลยว่าเป็น Core i7-10510U ที่มี 4 คอร์ 8 เธรด สถาปัตยกรรมระดับ 14nm ส่วนแรมก็เป็น DDR4 -2666 จำนวน 16 GB ซึ่งเหมาะกับการใช้งานด้านกราฟิกบนโน้ตบุ๊กมาก ๆ แต่จะไม่สามารถเพิ่มในภายหลังได้ ต้องเลือกตั้งแต่ตอนซื้อเลยว่าจะเลือกรุ่นแรม 8 GB (Core i5-1035G7) หรือรุ่นที่รีวิวนี้ที่เป็นแรม 16 GB (Core i7)
ด้านของ GPU-Z ก็แน่นอนว่าเจอเพียง Intel UHD Graphics เท่านั้น ชื่อสถาปัตยกรรมจะเป็น Comet Lake GT2 ซึ่งรองรับ DirectX 12 แชร์แรมจากตัวเครื่องมาอีกที
ทดสอบประสิทธิภาพของ CPU ด้วย Cinebench ซึ่งในระหว่างที่รีวิวนี้ก็มีเวอร์ชันใหม่อย่าง Cinebench R23 ออกมาพอดี เลยนำผลทดสอบมาลงไว้ด้วยกันเลยครับ ซึ่งคะแนนที่ได้ก็จัดว่าทำได้ตามคาด คือส่วนของ single core ทำได้สูงกว่าพวก Core i7 Gen 4 ส่วนคะแนน multi core จะเป็นรองพวกชิปรุ่นใหม่ ๆ อยู่พอสมควร เนื่องจาก Core i7-10510U เป็นชิปที่ออกแบมาเพื่อเน้นประหยัดพลังงานนั่นเอง
ต่อมาก็เป็นผลการทดสอบ SSD แบบ PCIe ที่ติดตั้งมาในเครื่องกันบ้าง ความเร็วที่ได้ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่แรงเหลือเฟือสำหรับการทำงานในยุคปัจจุบันครับ แถมยังใส่มาแบบจัดเต็ม 1 TB อีก แทบจะไม่ต้องกลัวพื้นที่เต็มกันเลยทีเดียว
ผลทดสอบจาก PCMark 10 ก็ถือว่าทำได้อยู่ในเกณฑ์ของโน้ตบุ๊กสำหรับใช้งานทั่วไป เหมาะสำหรับใช้งานพื้นฐาน ใช้งานกราฟิก
ลองเล่นเกมกันบ้าง โดยเกมแรกที่ไม่ลองไม่ได้ก็คือ Genshin Impact เวอร์ชันบนพีซี ซึ่งเท่าที่ทดสอบ การตั้งค่าที่แนะนำคือให้ลดความละเอียดจอลงมาต่ำหน่อย ส่วนพวกรายละเอียดก็ต้องลองจูนดูครับ ถ้าอยากจะให้ภาพลื่นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ก็คงต้องปรับต่ำในหลาย ๆ จุด แต่ถ้าถามว่าเล่นได้มั้ย ก็ตอบว่าเล่นได้อยู่เหมือนกัน
ส่วน DOTA 2 ก็สามารถเล่นได้ด้วยการปรับความละเอียดจอลงมาซักหน่อย เหลือซัก 1440×900 แล้วปรับระดับการเรนเดอร์เป็นระดับ 2 เฟรมเรตที่ได้ระหว่างเล่นจะอยู่ที่ราว ๆ 30 fps
ด้านของ PUBG ก็แนะนำว่าเป็น PUBG Lite ครับ จัดว่าพอเล่นได้แต่ไม่ลื่นนัก
ถ้าอยากเล่น PUBG บน YOGA Duet 7i จริง ๆ แนะนำว่าติดตั้งโปรแกรมพวก Bluestacks แล้วเล่น PUBG Mobile จะลื่นกว่ามาก
อีกหนึ่งแอปที่ติดตั้งมาในเครื่องและจัดว่ามีประโยชน์ก็คือ Lenovo Vantage ที่เป็นเครื่องมืออเนกประสงค์ที่ใช้ดูสถานะของตัวเครื่อง การรับประกัน การอัพเดต รวมถึงใช้ปรับแต่งการทำงานของจุดต่าง ๆ ในเครื่องด้วย
ในหน้าแสดงสถานะก็จะมีข้อมูลทั้ง CPU RAM พื้นที่เก็บข้อมูลที่มี รวมถึงระยะเวลาการรับประกันที่เหลืออยู่ด้วย
ในการตั้งค่าเกี่ยวกับ Power จะมีจุดที่น่าสนใจเช่น
- เปิด/ปิดแถบไอคอน Lenovo Vantage เพื่อเป็นทางลัดในการปรับแต่งค่าต่าง ๆ
- Intelligent Cooling: ใช้ปรับโหมดการทำงานของพัดลม
- Conservation Mode: ถ้าเปิด ระบบจะตัดการชาร์จแบตที่ราว ๆ 55-60% เพื่อถนอมสภาพแบตเตอรี่ เหมาะสำหรับคนที่เสียบสายชาร์จทิ้งไว้ตลอดเวลา
- Always on USB: สำหรับเปิด/ปิดฟังก์ชันการชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นผ่านช่อง USB-C ขณะที่ปิดเครื่องอยู่
ด้านการตั้งค่าเสียง หลัก ๆ แล้วก็จะมีการตั้งค่าระบบเสียง Dolby Audio รวมถึงการตั้งระดับเสียงไมค์ ฟังก์ชันลดเสียงรบกวนจากการกดปุ่มคีย์บอร์ด เป็นต้น ซึ่งมีประโยชน์มากกับคนที่ต้องประชุมงาน หรือนั่งเรียนออนไลน์บน Lenovo YOGA Duet 7i ถ้าอยากเน้นให้เสียงดังที่สุด แนะนำว่าตั้งไปที่โหมด Game หรือโหมด Voice นะครับ
การปรับค่าส่วนของการแสดงผลและกล้องก็จะเป็นพวกโหมดถนอมสายตา การตั้งความสว่างกล้อง เป็นต้น รวมถึงยังมี Camera Privacy Mode ที่ให้ผู้ใช้สั่งปิดกล้องจากซอฟต์แวร์ได้เลย ทดแทนม่านชัตเตอร์ปิดหน้ากล้องที่ไม่มีมาให้ในรุ่นนี้
ส่วนถ้าต้องการอัพเดตไดรเวอร์ อัพเดต Windows ก็จะมีหน้ารวมการตั้งค่ามาให้ด้วย ทำให้ผู้ใช้สามารถเปิดโปรแกรม Lenovo Vantage เพียงโปรแกรมเดียว ก็สามารถควบคุมการทำงานของหลาย ๆ ส่วนในเครื่องได้เลย
Battery / Heat / Noise
แบตเตอรี่ของ Lenovo YOGA Duet 7i ตามที่ระบุในหน้าสเปคพบว่าสามารถทดสอบได้นานราว 10.8 ชั่วโมง ส่วนในการใช้งานจริงของผมเอง ที่มีการปรับความสว่างจอระดับกลาง เชื่อมต่อ WiFi 6 ตลอดเวลา ทำงานผ่าน Google Chrome โดยมีการเปิด YouTube เป็นระยะ ๆ
ผลคือสามารถใช้งานจริงได้ราว 6-7 ชั่วโมงด้วยกัน ส่วนช่วงไหนที่ปล่อย standby เครื่องไว้เฉย ๆ ตัวเลขจากการคาดการณ์ของ Windows 10 และโปรแกรม BatteryMon ก็เปลี่ยนขึ้นไปเป็น 10 ชั่วโมงนิด ๆ ได้เหมือนกัน
ต่อมาเป็นการทดสอบเรื่องความร้อน ถ้าในการใช้งานทั่วไปก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ ส่วนบริเวณบน ๆ ของเครื่องก็จะอุ่นขึ้นมานิดนึง มีพัดลมช่วยระบายความร้อนออกทางช่องด้านบน
พอมาทดสอบด้วยการ burn เครื่องเต็ม 100% อันนี้จะพบว่าเมื่ออุณหภูมิของ CPU พุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 95 องศา ระบบก็จะปรับความเร็วลงแบบ throttle ในทันที จนอุณหภูมิลงมาเหลือประมาณ 65 องศาเซลเซียส แล้วก็วิ่งอยู่ที่ระดับนี้ไปตลอด ส่วน CPU เองก็จะทำงานอยู่ที่ราว 85% (เกือบ 2.0 GHz) เพื่อเป็นการคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไปครับ ดังนั้นจึงอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับการใช้งานหนักตลอดเวลา เช่นการเรนเดอร์ซักเท่าไหร่ เนื่องจากระบบจะปรับความเร็วลง ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ตลอดเวลา
Conclusion / Award
Lenovo YOGA Duet 7i จัดว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่มีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างชัดเจน คือคนที่ต้องการดีไวซ์ซักเครื่องมาใช้ในการทำงานสายอาร์ต ด้วยรูปลักษณ์ที่อเนกประสงค์ ใช้เป็นได้ทั้งโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และยังปรับรูปแบบการวางได้ค่อนข้างหลากหลายอีก ส่วนปากกาสไตลัสที่ให้มาก็มีความสามารถพิเศษคือสามารถดูดสีจากวัตถุรอบตัวมาใช้งานในโปรแกรมได้อีกด้วย ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่หาในคู่แข่งได้ยากจริง ๆ หรือไม่ก็ต้องซื้ออุปกรณ์เสริมมาเพิ่ม ในขณะที่ YOGA Duet 7i มีแถมมาให้กับเครื่อง โดยตัวเครื่องเองก็ให้สเปคมาดีในระดับหนึ่งเลย
ภายในให้พลังประมวลผลมาระดับ Core i Gen 10 ที่มีจุดเด่นในด้านการประหยัดพลังงาน ควบคู่กับประสิทธิภาพที่ลงตัวสำหรับการใช้งานบนอุปกรณ์พกพา แรมเริ่มต้นที่ 8 GB ส่วน SSD ก็เริ่มต้นมาที่ 512 GB ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้ทำงานแทบทุกรูปแบบ หน้าจอก็ให้ภาพที่คมชัด สีสันค่อนข้างตรง เหมาะกับงานสายกราฟิก ไปจนถึงผู้ที่ต้องการสนุกกับความบันเทิงจากภาพยนตร์ได้ในทุกที่ทุกเวลา
อย่างไรก็ตาม YOGA Duet 7i จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากการที่ตัวเครื่องมีลักษณะแบบแท็บเล็ตที่เน้นความบาง ทำให้ระบบระบายความร้อนมีขนาดเล็กตาม ส่งผลให้ระบบต้องปรับลดความเร็วของ CPU ลงบ้าง เพื่อคุมระดับความร้อนให้เหมาะสม รวมถึงลำโพงที่อาจจะเสียงเบาไปนิดเมื่อเทียบกับแท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊กในขนาดที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าคุณใช้หูฟังอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาครับ ซึ่งถ้าเป็นการใช้งานในที่ทำงาน หรือใช้งานนอกสถานที่ เชื่อว่าแทบทุกคนคงจะใช้หูฟังกันอยู่แล้ว