Close Menu
    Facebook X (Twitter) YouTube TikTok
    SpecPhone
    • ข่าวล่าสุด
    • รีวิว
    • ค้นหามือถือ
    • วิดีโอ
    • บทความ
    • ติดต่อเรา
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)
    SpecPhone
    Home»Android Platform»[Review] ASUS ZenFone 5 (แรม 1 GB) มือถือจอ 5? สองซิมในราคา 4,990 บาท !!
    Android Platform

    [Review] ASUS ZenFone 5 (แรม 1 GB) มือถือจอ 5? สองซิมในราคา 4,990 บาท !!

    ZeroSystemBy ZeroSystem2 มิถุนายน 2014Updated:24 สิงหาคม 2020
    Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    Share
    Facebook Twitter LinkedIn Pinterest Email

    ถ้าพูดถึงมือถือ สมาร์ทโฟนที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ และน่าจะเป็นหนึ่งตัวเลือกในใจของหลายๆ ท่านด้วย นั่นก็คือ ASUS ZenFone ที่ทั้งราคาและสเปคจัดว่าโดนใจกันไปเต็มๆ ซึ่งในขณะนี้ก็มีให้เลือกในตลาดคือตัวของ ZenFone 4 ที่วางจำหน่ายมาได้ระยะหนึ่งแล้ว (รีวิว Zenfone 4) ล่าสุดก็ถึงคราวของ ZenFone 5 รุ่นกลางๆ ที่เริ่มออกวางจำหน่ายให้กับผู้ที่สั่งจองเครื่องในงาน Thailand Mobile Expo 2014 Hi-End ครั้งล่าสุดไป ซึ่งเริ่มมีหลายๆ ท่านได้รับเครื่องไปแล้ว ทางเราก็เช่นกันครับ จึงไม่พลาดที่จัดการรีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันอีกเช่นเคย ก่อนจะได้อ่านรีวิว ZenFone 5 แบบเต็มๆ เรามาดูกันที่สเปคของ ASUS ZenFone 5 กันก่อนเล็กน้อย

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 014

    สเปค ASUS ZenFone 5

    • ชิปประมวลผล Intel Atom Z2560 ความเร็วสูงสุด 1.6 GHz dual-core รองรับ Hyper Threading ทำให้เสมือนว่ามีคอร์ประมวลผล 4 คอร์
    • ชิปกราฟิก PowerVR SGX544MP2
    • แรม 1 GB?(ในตลาดจะมีรุ่นแรม 2 GB มาวางจำหน่ายด้วยภายหลัง)
    • หน้าจอ IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD (1280 x 720)
    • กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 3
    • รอม 8 GB รองรับ MicroSD เพิ่มเติม สามารถย้ายแอพมาลงใน MicroSD ได้
    • รองรับ 2 ซิม ใช้งาน 3G ได้ทุกเครือข่าย สามารถใช้งาน 3G ได้ทั้งสองช่อง (แต่ต้องเลือกใช้ทีละซิมตามปกติ)
    • กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล มาพรอ้มเทคโนโลยี PixelMaster ช่วยให้ถ่ายภายในที่มีแสงน้อยได้ดี รองรับการถ่ายวิดีโอสูงสุดระดับ Full HD
    • กล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล
    • Android 4.3 Jelly Bean มาพร้อมอินเตอร์เฟส ZenUI
    • สามารถฟังวิทยุ FM ได้
    • แบตเตอรี่ความจุ 2110 mAh
    • หนัก 140 กรัม
    • ราคา 4,990 บาท
    • สเปค ASUS ZenFone 5 (RAM 1 GB) เต็มๆ

    Screen Shot 2014-05-31 at 9.13.24 PM

    ถ้ากล่าวถึงเรื่องสเปคล้วนๆ ก็มองว่า ZenFone 5 มาพร้อมกับสเปคทั่วไปที่ไม่หนีไปจาก ZenFone 4 มากนัก จะต่างกันก็ตรงที่ชิปประมวลผล, หน้าจอ, กล้องหลังและแบตเตอรี่เท่านั้นที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เป็นที่แน่นอนว่า ZenFone 5 ย่อมมาพร้อมกับความแรงและฟีเจอร์การทำงานที่มากกว่า ZenFone 4 ซึ่งถ้าวัดหน้าสเปคกันเพียวๆ ส่วนตัวผมมองว่าคุ้มค่าสำหรับการเพิ่มเงิน 2,000 บาทจาก ZenFone 4 (2,990) มาเป็น ZenFone 5 ตัวนี้เลยทีเดียว ส่วนเหตุผลนั้น มาชมกันต่อในรีวิวแต่ละจุดเลยครับ

    Design

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 012

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 015

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 035ZenFone 5 มองด้านหน้า

    ก็คือ ZenFone 4 ขยายร่าง?

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 020

    ถ้าใครได้เห็นหรือลองใช้งาน ZenFone 4 มาแล้ว ก็จะรู้สึกว่าหน้าตาของ ZenFone 5 นั้นแทบจะเหมือนกันอย่างกับแกะเลยทีเดียว เนื่องด้วย ASUS ใช้คอนเซ็ปท์ในการออกแบบสมาร์ทโฟนตระกูล ZenFone ออกมาในแนวทางเดียวกัน แตกต่างกันแค่เรื่องของขนาด ทำให้เรื่องหน้าตาของ ZenFone 5 จึงไม่มีจุดเด่นที่แปลกออกไปจาก ZenFone 4 เท่าไหร่นัก นอกจากเรื่องขนาดตัวเครื่องที่ใหญ่ขึ้นตามขนาดจอ 5 นิ้ว ส่วนปุ่มกดสั่งงานทั้ง 3 ปุ่มด้านล่างคือปุ่ม Back, ปุ่ม Home (กดค้างแล้วลากขึ้น จะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now) และปุ่ม Recent Apps ถ้าดูจากในภาพ จะรู้สึกเหมือนว่าแต่ละปุ่มมีไฟ LED อยู่ใช่มั้ยครับ แต่ความจริงแล้วทั้งสามปุ่มไม่มีไฟ LED ส่องสว่างแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะทำให้การใช้งานในที่มืดค่อนข้างลำบากกันซักหน่อย

    ปัญหาเดิมยังคงอยู่?

    นอกจากนี้เรื่องของระยะห่างระหว่างปุ่มทั้งสาม ส่วนตัวผมว่ามันค่อนข้างห่างกันไปหน่อย ซึ่งอันที่จริงปัญหานี้ ตัวผมก็รู้สึกมาตั้งแต่ ZenFone 4 แล้ว ยิ่งมาเจอใน ZenFone 5 ก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เลย เพราะขนาดตัวเครื่องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เวลาที่ถือเครื่องด้วยมือขวา แล้วต้องกดปุ่ม Back กลายเป็นว่าต้องถ่างนิ้วหัวแม่มือออกมาไกลจากตำแหน่งการวางมือปกติมากทีเดียว ขนาดมือถือรุ่นที่จอใหญ่กว่านี้ ปุ่มทั้งสามยังอยู่ชิดกันกว่าใน ZenFone 5 เลย จุดนี้คงต้องอาศัยการปรับตัวและความเคยชินสถานเดียวครับ เพราะเรื่องปุ่มนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ย้ายตำแหน่งได้เหมือนกับเครื่องรุ่นที่ใช้ปุ่มแบบซอฟต์แวร์

    หน้าจอของ ASUS ZenFone 5 ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้พาเนลเป็น IPS ทำให้เรื่องของสีสัน มุมมองภาพออกมาดูดีกว่า ZenFone 4 ซึ่งเห็นได้ชัดนับตั้งแต่เปิดใช้งานเครื่องครั้งแรกเลยทีเดียว แต่ถ้าลองหันมามองจอจากด้านข้าง จะพบว่ายังมีมุมที่สีภาพเพี้ยนอยู่บ้างเหมือนกัน ดังตัวอย่างในภาพด้านขวา แสดงว่าพาเนล IPS ที่นำมาใส่ใน ZenFone 5 อาจจะยังมีเกรดที่ไม่สูงมากนัก (แต่ก็ยังดีกว่าใช้พาเนล TFT อยู่มาก) แสงสว่างก็จัดว่าสู้แสงภายนอกได้โอเคทีเดียว มีระบบปรับแสงสว่างอัตโนมัติ แต่เท่าที่ลองเปิดใช้งาน พบว่าระบบการปรับแสงยังทำได้ไม่ดีนัก ส่วนใหญ่จะเกิดอาการหน้าจอมืดเกินไป ข้อนี้คิดว่าแก้ไขไม่ยากครับ เพราะเป็นในส่วนของซอฟต์แวร์ควบคุม ถ้ามีการอัพเดตออกมา ก็น่าจะแก้ไขได้ ส่วนในช่วงนี้ ถ้าเจอปัญหาหน้าจอปรับอัตโนมัติแล้วมืดไป ก็จัดการปรับความสว่างเองไปก่อนก็ได้ เพราะตัว ZenUI มีการสร้างทางลัดในการปรับความสว่างหน้าจอเอาไว้ที่ Quick Settings ตรงแถบ Notifications อยู่แล้ว

    ด้านหลังของ ASUS ZenFone 5 ยังคงใช้งานพลาสติกผิวเรียบสีด้าน ให้ความรู้สึกที่ลื่นๆ เนียนมือเช่นเดียวกับใน ZenFone 4 อยู่ โดยดีไซน์ออกมาให้ส่วนโค้งรับกับฝ่ามือพอดีๆ ให้ความรู้สึกในการจับที่ดีมาก ผสมกับขนาดตัวเครื่องที่กำลังพอดีๆ ทำให้ ZenFone 5 เป็นมือถือที่เหมาะสมกับการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันมากจริงๆ อย่างที่ทางเราเคยบอกเอาไว้ในรีวิว ZenFone 4 ว่าถ้าหากอยากได้มือถือสำหรับใช้งานจริง ได้ส่วนผสมที่กำลังดีระหว่างความสะดวกในการพกพาและความสะดวกในการใช้งาน ZenFone 5 คือตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในบรรดา 3 พี่น้อง ZenFone แล้วล่ะนะ?ส่วนโลโก้ Intel ด้านล่างนี้เป็นโลโก้ที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียวสำหรับมือถือที่ใช้ชิปประมวลผลจาก Intel ใกล้ๆ กันนั้นก็จะเป็นตำแหน่งของลำโพงในตัวเครื่อง ให้เสียงที่อยู่ในระดับไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไปเท่าไหร่นัก เสียงดังใช้ได้พอตัว

    ความรู้สึกโดยรวมที่ใช้งานเครื่องในระหว่างรีวิว ASUS ZenFone 5 มา ส่วนตัวคิดว่าด้านฮาร์ดแวร์นั้นโอเคเลย ทั้งรูปทรง วัสดุ งานประกอบรวมๆ จัดว่าอยู่ในระดับดีเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับมือถือรุ่นอื่นๆ ที่ราคาใกล้เคียงกัน จะมีก็เรื่องปุ่มกดสั่งงานทั้งสามปุ่มที่วางห่างกันไปหน่อยนึงเท่านั้น ส่วนเรื่องซอฟต์แวร์ ยอมรับว่ายังต้องปรับปรุงแก้ไขในบางจุดอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น เรื่องระบบปรับความสว่าง และระบบอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปในรีวิว ZenFone 5 ครั้งนี้ครับ

    ?

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 023

    ฝาหลังของ ASUS ZenFone 5 สามารถแกะออกได้เช่นเดียวกับ ZenFone 4?แต่ไม่สามารถถอดแบตเตอรี่ออกได้?โดยส่วนที่สามารถใส่เข้า ถอดออกได้เองก็จะมีแค่ซิมทั้งสองซิมและการ์ด MicroSD เท่านั้น สำหรับซิมที่ใช้ก็จะเป็นแบบไมโครซิมทั้งสองช่องเลย โดยการใส่ซิมใน ZenFone 5 นี้ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะให้ซิมไหนใช้อะไร เพราะทั้งสองซิมสามารถใช้งาน 3G ได้ ใช้งานเป็นโทรศัพท์ได้ตามปกติทั้งคู่เลย ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าจากระบบได้ว่าจะให้ซิมไหนใช้ 3G (ใช้ได้ทีละซิม) ซิมไหนใช้เป็นเบอร์หลักสำหรับโทรออก ต่างจากในหลายๆ รุ่นของแบรนด์อื่นที่บังคับว่าซิม 1 เท่านั้นที่สามารถใช้งาน 3G ได้ ก็นับว่าเป็นการสร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้ดีระดับหนึ่งเลย ด้านของอุปกรณ์ที่แถมมาภายในกล่องก็จะมีสาย Micro USB, อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 1.35A, หูฟังแบบ in-ear พร้อมจุกยางอีกสองคู่, คู่มือการใช้งานเบื้องต้นและเอกสารการรับประกัน ไม่มีแถมแบตเตอรี่มาให้แบบใน ZenFone 4 นะครับ ก็เพราะว่า ?ZenFone 5 ไม่สามารถถอดแบตเตอรี่ได้ แถมที่ติดมาในเครื่องก็ให้มา 2110 mAh แล้ว

    อ้อ!! ส่วนของปุ่ม Power และแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง จะอยู่ทางฝั่งขวาในตำแหน่งที่พอดีกับหัวแม่มือขวา (ถือเครื่องด้วยมือขวา หันหน้าจอเข้าหาตัว) โดยปุ่ม Power จะอยู่เหนือแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเล็กน้อย ตัวปุ่มนูนออกมาจากขอบเครื่องพอสมควร สำหรับรูปร่างหน้าตาของ ASUS ZenFone 5 ก็สามารถคลิกเพื่อรับชมได้จากแกลเลอรี่นี้กันแบบเต็มๆ ยาวๆ กันได้ ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์ในกล่อง ไปจนถึงภาพหลังจากแกะฝาหลังเลย

    Software

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 032

    เรื่องซอฟต์แวร์ ASUS ZenFone 5 มาพร้อมกับ Android 4.3 Jelly Bean ครอบมาด้วยอินเตอร์เฟสที่ ASUS พัฒนาเอง นั่นคือ ZenUI ที่หน้าตา การจัดวางต่างๆ ทำออกมาได้ลงตัว โทนสีออกไปในทางสีอ่อนๆ แบบพาสเทล ทั้งในส่วนของไอคอน หน้าจอแต่ละแอพ ทำให้โทนโดยรวมออกมาค่อนข้างสบายตา พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวให้มา 8 GB เหลือให้ใช้ตอนเริ่มต้นที่ประมาณ 4.9 GB ด้วยกัน ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป ลงแอพ ลงเกมนิดหน่อย ส่วนเพลง หนังหรือไฟล์เอกสารต่างๆ แนะนำว่าให้ลงไว้ใน MicroSD จะดีกว่า แถมยังสามารถย้ายแอพที่ติดตั้งไปไว้ใน MicroSD ได้ด้วยเช่นกัน ก็ช่วยลดปัญหารอมเครื่องเต็มได้สบายๆ

    สำหรับปัญหาของฝั่งซอฟต์แวร์จากที่รีวิว ZenFone 5 มานี้ ก็ยังคงเป็นปัญหาเดิมที่เคยพบมาแล้วใน ZenFone 4 เลยครับ ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือคีย์บอร์ดของ ASUS เอง ที่เมื่อเปลี่ยนจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ก็มักจะมาพร้อมกับการกด shift ค้างไว้อยู่บ่อยครั้ง จุดนี้นับเป็นจุดเล็กน้อยที่สร้างความรำคาญใจได้บ้างเหมือนกัน แต่ยังดีที่แก้ไขได้ง่ายครับ เพียงแค่ดาวน์โหลดคีย์บอร์ดภาษาไทยตัวอื่นจากใน Play Store มาใช้งานเท่านั้นเอง หรือจะใช้คีย์บอร์ด Google ที่ติดมาให้อยู่แล้วในเครื่องก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่ผมพบในการใช้งานคีย์บอร์ดพิมพ์ข้อความบน ZenFone 5 (ไม่ว่าจะใช้คีย์บอร์ดไหนก็ตาม) คือความแม่นยำของการตรวจจับนิ้วที่กดปุ่ม เพราะบางทีก็เกิดอาการกดปุ่มผิดเอาได้ง่ายๆ ทั้งที่มั่นใจว่าวางนิ้วตรงปุ่มแล้ว

    ส่วนเรื่องการตั้งค่าใช้งานเมื่อเปิดเครื่องครั้งแรก สามารถทำตามขั้นตอนในบทความนี้ได้เลยครับ

    Feature

    feature

    ฟีเจอร์ที่เด่นๆ ของ ASUS ZenFone 5 ก็จะเป็นในส่วนของซอฟต์แวร์ที่ทำออกมาอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานได้อย่างน่าสนใจทีเดียว เช่นในภาพซ้ายสุด จะเป็นตัวเลือกในการปรับโหมดเสียงได้ตามความต้องการ เช่นถ้าจะฟังเพลง ก็ปรับเป็นโหมด Music เสียงที่ออกมาก็จะเป็นโทนเสียงที่เหมาะสำหรับการฟังเพลงทั้งจากลำโพงในตัวเครื่องและจากหูฟัง (แนะนำว่าใช้หูฟังจะเห็นผลต่างชัดเจนกว่า) ถ้าอยากเน้นฟังเสียงสัมภาษณ์ ก็ใช้โหมด Speech เพื่อเน้นเสียงพูดให้เด่นมากขึ้น ซึ่งก็ช่วยได้มากทีเดียว ภาพที่สองถัดมาเป็นส่วนของ MyASUS ที่ในบ้านเราอาจจะไม่ค่อยได้ผลประโยชน์จากตรงนี้มากนัก แถมตัวแอพก็มาเป็นภาษาจีนเลยด้วย ทั้งๆ ที่ตั้งค่าเครื่องให้เป็นภาษาอังกฤษแล้ว ดังนั้นขอข้ามไปแล้วกันนะ

    ภาพที่สามคือหน้าจอแอพจัดการพลังงานซึ่งได้เคยกล่าวถึงไปแล้วในรีวิว ZenFone 4?ซึ่งตัวมันจะช่วยปรับระบบเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับที่เราต้องการ โดยสามารถเลือกปิดหรือเปิดก็ได้ ถ้าหากเปิด ก็จะมีโหมดประหยัดพลังงานให้เลือก 3 ระดับ ได้แก่

    • Ultra-saving mode: ประหยัดพลังงานขั้นสุด ตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทุกรูปแบบลงเมื่อปิดหน้าจอ
    • Optimized mode: ประหยัดพลังงานระดับปกติ ไม่มีตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
    • Customized mode: ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้เอง ว่าจะตั้งค่าแบบใดบ้าง (ตัวอย่างในภาพที่สอง) โดยหลักๆ จะเน้นเรื่องการปรับความสว่างหน้าจอต่อการใช้งานแต่ละรูปแบบ และการปรับรูปแบบการรับ push notification แจ้งเตือน ว่าจะให้ทำงานเป็นเบื้องหลัง (ใช้งานอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาหรือจะให้หยุดการเชื่อมต่อเมื่อปิดหน้าจอลง)

    ซึ่งโดยรวมแล้วก็จัดเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ดีครับ แถมยังเข้าถึงได้ง่ายด้วย เพราะมีเป็นไอคอนแอพในหน้ารวมแอพมาเลย ปิดท้ายด้วย Easy Mode ที่เป็นโหมดการแสดงผลแบบเน้นไอคอน เน้นความชัดเจนและการใช้งานเครื่องที่ง่ายกว่าหน้าจอ Android ปกติ เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดีเลยล่ะโหมดนี้ ช่วยลดความซับซ้อนของเมนู หน้าต่างลงไปได้เยอะ

    IMG_20140531_224224

    อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากก็คือตัวของ PC Link ที่มีมาเป็นแอพพลิเคชันให้ในเครื่อง (ไม่มีใน ZenFone 4) โดยคุณสมบัติหลักๆ คือช่วยให้เราสามารถสั่งงานมือถือได้จากในคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ใช้จะต้องมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถึงจะใช้งานได้

    • มือถือ ZenFone ที่ติดตั้งแอพ PC Link (มีมาให้อยู่แล้วในตัวรอม)
    • สาย Micro USB สำหรับเชื่อมมือถือกับคอมพิวเตอร์
    • คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน Windows และติดตั้งโปรแกรม PC Link เอาไว้แล้ว (สามารถดาวน์โหลดได้จาก pclink.asus.com)

    เมื่อพร้อมแล้วก็เปิดโปรแกรมในคอมและแอพในมือถือ แล้วเชื่อมต่อผ่านสาย USB ได้เลย เมื่อเชื่อมต่อแล้ว ที่มือถือจะมีตัวเลือกว่าเราจะอนุญาตให้ทำการเชื่อมต่อหรือไม่ ก็กดตกลงไป เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานได้แล้ว สำหรับความสามารถที่ทำได้ก็คือการใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมมือถือ อาจจะเหมาะกับคนที่ต้องการใช้งานบางแอพ แต่ใช้งานบนมือถือไม่ค่อยสะดวกนัก เช่นการพิมพ์ข้อความ เพราะระบบจะเปลี่ยนไปใช้งานคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ในการพิมพ์แทน ทั้งนี้ในระหว่างที่ใช้งาน PC Link ความเร็วเครื่องก็อยู่ในระดับปกติ และยังเป็นการชาร์จไฟให้ตัว ZenFone 5 ได้ด้วย

    Camera

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 038

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 028

    P_20140531_135946

    P_20140531_145004

    กล้องหลังของ ASUS ZenFone 5 จัดว่าเป็นจุดเด่นที่ใช้ในการโปรโมตเพื่อโฆษณาเลยทีเดียว ด้วยเทคโนโลยี PixelMaster ที่มีคุณสมบัติเด่นคือทำให้สามารถเก็บแสงสว่างได้มากขึ้น ทำให้สามารถถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีกว่ามือถือสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไป ซึ่งหลายๆ ท่านคงได้เห็นกันไปแล้วในบทความ hands-on ของเรา ซึ่งจากที่ได้ลองใช้งานในการถ่ายภาพจริง ในช่วงกลางวันภาพที่ออกมาก็จัดว่าโอเคทีเดียว โหมดการตั้งค่า การปรับแต่งต่างๆ ก็เอื้อให้สามารถถ่ายภาพออกมาได้หลากหลาย ตัวอย่างโหมดที่มีให้ใช้งานก็เช่น HDR, โหมดเลือกจุดเบลอ (มีระยะชัดตื้น-ลึก), โหมดพาโนรามา, โหมดถ่ายกลางคืน, โหมดถ่ายในที่แสงน้อย (ภาพจะเหลือความละเอียดแค่ 2 ล้านพิกเซล) ซึ่งระบบการปรับ การชดเชยแสงอัตโนมัติก็ทำงานได้โอเคดี ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่นแสงน้อย ก็จะมีตัวเลือกมาให้อัตโนมัติว่าจะเปลี่ยนไปถ่ายแบบ HDR หรือถ่ายด้วยโหมดแสงน้อยหรือเปล่า ก็นับว่าเป็นการให้คำแนะนำของระบบที่ใช้ได้เลยทีเดียว?ส่วนการถ่ายวิดีโอ ก็สามารถถ่ายได้สูงสุดที่ระดับ 1080p เช่นเดียวกับใน ZenFone 4 เลย

    P_20140531_142908

    แต่จุดที่น่าขัดใจของการใช้งานกล้อง ZenFone 5 ก็คือความช้าในการเรียกใช้งานกล้อง การประมวลผลและการเก็บภาพที่ไม่ค่อยทันใจ ยิ่งถ้าถ่ายภาพด้วยโหมดอื่นเช่น โหมดแสงน้อย ระบบก็จะยิ่งใช้เวลาในการประมวลผลภาพนานเข้าไปอีก กว่าจะถ่ายซ้ำอีกครั้งได้ก็ใช้เวลาเป็นวินาที (ไม่รวมเวลาช่วงระหว่างการถ่าย) เรียกว่าจะถ่ายแต่ละช็อต ต้องวางแผนดีๆ กะจังหวะดีๆ ไปเลย กันพลาด ส่วนตัวอย่างภาพถ่ายจาก ZenFone 5 ก็รับชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ได้เลย

    ?
    โหมด Auto
    โหมด HDR
    โหมด Auto
    โหมด HDR
    โหมด Auto
    โหมด HDR
    โหมดแสงน้อย
    ทดสอบการชดเชย white balance

    Performance

    perf

    ASUS ZenFone 5 มาพร้อมพลังประมวลผลจาก Intel Atom Z2560 dual-core มี Hyper Threading ทำให้เสมือนว่ามี 4 คอร์ประมวลผล ความเร็วสูงสุด 1.6 GHz พ่วงมาพร้อมกับชิปกราฟิก PowerVR SGX544MP2 ซึ่งประสิทธิภาพโดยรวมก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้งานทั่วไปได้อยู่แล้ว เท่าที่ลองทดสอบเล่นเกม Asphalt 8 พบว่าต้องปรับกราฟิกที่ระดับกลางลงมาเท่านั้นถึงจะเล่นได้ ปรับสูงสุดจะกระตุกจนเล่นไม่ได้เลย ส่วนถ้าระดับกลางก็สามารถเล่นได้พอโอเคอยู่ แต่ถ้าหากชนหรือเข้าฉากที่มีเอฟเฟ็คท์เยอะๆ อันนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่ากระตุก ถ้าอยากเล่นอย่างสบายใจ แนะนำว่าปรับ Low ไปเลยจ้า ส่วน Cookie Run นั้นสามารถเล่นได้แบบไม่มีปัญหา ไม่ต้องปรับไปเล่นแบบสเปคต่ำด้วย คงถูกใจนักวิ่งทั้งหลายแน่ๆ จอใหญ่ภาพสวย เล่นลื่นๆ ส่วนเรื่องความร้อน เมื่อเล่นเกมหรือใช้งานหนักๆ ไปซักพัก ก็จะรู้สึกอุ่นๆ ขึ้นมาตรงบริเวณกึ่งกลางเครื่องไล่ไปถึงใต้กล้องหลัง

    ในด้านการใช้งานจริง เท่าที่ทางเรารีวิว ZenFone 5 เครื่องนี้มา พบว่าเรื่องแรมที่ให้มา 1 GB ไม่ใช่ปัญหา เพราะในระหว่างการใช้งาน แรมจะเหลือว่างอยู่ราวๆ 100 – 200 MB กว่าๆ แทบจะตลอด แต่ถ้ามีงบมากพอ จะจัดรุ่นแรม 2 GB ไปเลยก็ดีครับ เหลือดีกว่าขาดล่ะนะแบบนี้ แถมมาเพิ่มเองทีหลังก็ไม่ได้ด้วย แต่ถ้าใครงบประมาณจำกัด จะจัดรุ่นแรม 1 GB ก็โอเคครับ เรื่องปริมาณแรมไม่ใช่ปัญหา

    ปัญหาไม่ใช่ที่แรม ผู้ร้ายตัวจริงอยู่ที่ CPU ต่างหาก !!!

    แต่จุดที่มีปัญหา ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นที่ CPU ซะมากกว่า เพราะจากเท่าที่ใช้งาน ผมไม่เจออาการเครื่องกระตุกนะ แต่พบกับปัญหาการเรนเดอร์ภาพ การประมวลผลที่ไม่ทันใจซะมากกว่า ถ้าให้นิยามสั้นๆ ก็คือเหมือนกับ ZenFone 5 มัน “คิดช้า” ไปหน่อย เวลาเปิดแอพ ก็จะใช้เวลาในการโหลดแอพที่นานกว่ามือถือหลายๆ รุ่น บางครั้งก็ค้างที่หน้าจอสีดำ (หน้าจอระหว่างสลับไปใช้งานแอพ) ที่นิ่งไปอย่างเห็นได้ชัดซักระยะ แล้วหน้าแอพที่เรียกใช้งานถึงจะปรากฏขึ้นมา ถ้าใครที่เคยใช้งานมือถือเครื่องแรงกว่านี้มาก่อน อาจจะมีขัดใจกับ ZenFone 5 บ้างแน่ๆ การตอบสนองการสั่งงานบางครั้งก็ไม่ทันใจอย่างที่ควรจะเป็น โดยที่ในการใช้งาน แรมก็ยังเหลือว่างอยู่ตลอดเวลา ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือการใช้งานกล้องถ่ายรูปที่เปิดใช้งานครั้งแรกก็ช้า การเก็บและประมวลผลภาพก็ใช้เวลานาน ถ้าต้องรีบหยิบมือถือมาถ่ายในช็อตสำคัญคงจะลำบากพอสมควรแน่ๆ นับว่าน่าเสียดายมากๆ ในจุดนี้ หวังว่าจะมีการอัพเดตซอฟต์แวร์ที่ออกมาแก้ไขปัญหานี้ได้ในอนาคตครับ

    อีกปัญหาหนึ่งที่พบในการรีวิว ZenFone 5 เครื่องนี้ก็คือเรื่องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ในด้านของการใช้งาน 3G จะมีบางช่วงที่โหลดข้อมูลไม่ได้ค่อยได้ ทั้งๆ ที่เครื่องอื่นที่ใช้สัญญาณเครือข่ายเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน สามารถใช้งานได้ปกติ ส่วนการเชื่อมต่อ WiFi อันนี้หนักเลยครับ เพราะมันเกิดอาการหลุดจากการเชื่อมต่อหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่เปิดหน้าจอใช้งานอยู่ ไม่ได้ใช้งานโหมดประหยัดพลังงานเพื่อให้ตัดการเชื่อมต่อแต่อย่างใด บางทีผมนั่งเล่นมือถือแบบต่อ WiFi อยู่เฉยๆ โดยที่ตัว Access point ซึ่งกระจายสัญญาณ WiFi อยู่ห่างจาก ZenFone 5 ไม่ถึงหนึ่งเมตร ปรากฏว่ามือถือดันหลุดจากการเชื่อมต่อ WiFi ไปต่อ 3G หน้าตาเฉย พร้อมกับขึ้นป๊อปอัพขึ้นมาบอกว่าไม่สามารถเชื่อมต่อได้ จะเปลี่ยนไปต่อ WiFi อันอื่นมั้ย หรือจะปิด WiFi ไปเลยดี? ข้อนี้ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่เลยนะ เพราะใช้งานกับคอม, มือถือหรือแท็บเล็ตเครื่องอื่น ก็สามารถใช้งานได้ปกติสุขดี

    batt

    การใช้งานแบตเตอรี่ของ ASUS ZenFone 5 นั้น น่าแปลกใจที่มันก็ยังซดแบตได้ไม่แพ้ ZenFone 4 เลย จากเท่าที่ผมเริ่มถอดสายชาร์จช่วงเที่ยงๆ แล้วออกไปข้างนอก การใช้งานก็อยู่ในระดับทั่วๆ ไป เชื่อมต่อ 3G ตลอดเวลา สถานที่ที่ใช้งานก็อยู่ในแถบเส้นรถไฟฟ้า BTS ในตัวเมือง (เอกมัย – จตุจักร) ใช้แอพ Facebook, Twitter, LINE, เปิดอ่านหน้าเว็บบน Chrome, หน้าจอใช้การปรับความสว่างอัตโนมัติ ผลคือสามารถใช้งานได้แค่ 6 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้นเอง ถ้าวันไหนจำเป็นต้องออกนอกบ้านทั้งวัน รับรองว่าต้องพกแบตเสริม power bank ไปด้วยแน่นอน เพราะแบตในตัวเครื่องเพียวๆ คงไม่พอกับการใช้งาน ยิ่งถ้าใครมีเล่นเกม หรือแชทหนักๆ ด้วยแล้ว เตรียมหา power bank กับสายชาร์จไว้พกออกนอกบ้านได้เลย

    Overall

    Review-Asus-Zenfone-5-SpecPhone 030

    ก็ผ่านไปแล้วนะครับสำหรับรีวิว ASUS ZenFone 5 จากเรา หลายๆ ท่านคงได้เห็นกันไปแล้วว่า ZenFone 5 เป็นอย่างไร จุดไหนดี จุดไหนเด่น จุดไหนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งจะว่าไปแล้ว จุดที่เป็นปัญหามันก็ยังคงเป็นจุดเดิมที่พบมาใน ZenFone 4 เช่นเรื่องการวางปุ่มกดด้านล่าง เรื่องปัญหาจุกจิกเล็กๆ น้อย ซึ่งหลายจุดนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงซอฟต์แวร์ ตรงนี้ก็หวังว่าจะได้รับการแก้ไขจาก ASUS โดยเร็วแล้วกันนะ

    ส่วนจากประเด็นที่ยกไปในข้างต้น ถึงสาเหตุที่น่าจะยอมเพิ่มเงิน 2,000 บาทจาก ZenFone 4 มาเป็น ZenFone 5 (แรม 1 GB) ก็คงได้เห็นกันไปแล้วถึงสิ่งที่ได้รับเพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น สวยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขนาดเครื่องที่จับได้ถนัดมือยิ่งขึ้น ประสิทธิภาพที่แตกต่างจากรุ่นเล็ก และที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องกล้องถ่ายรูป ที่มีเทคโนโลยี PixelMaster เพิ่มเข้ามา ทำให้สามารถเก็บภาพในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อยได้ดีอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมาพร้อมกับโหมดกล้องที่น่าสนใจหลายๆ โหมดอีก เพียงเท่านี้ก็น่าจะคุ้มกับเงิน 2,000 บาทที่น่าจะจ่ายเพิ่มขึ้นมาแล้วล่ะนะ ส่วนข้อสงสัยที่ว่า จะเลือก ZenFone 5 รุ่นแรม 2 GB ดี หรือจะแค่ 1 GB ก็พอ ลองไปอ่านต่อได้จากบทความนี้เลยครับ

    ข้อดี

    • จอสวย คมชัด มุมมองภาพกว้างพอสมควร
    • ราคาคุ้มค่ามากๆ
    • ตัวเครื่อง งานประกอบจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเลย
    • รองรับ 3G ทุกเครือข่ายทั้งสองช่องซิม
    • กล้องหลังให้ภาพที่มีคุณภาพดี ทั้งยังมี PixelMaster ช่วยให้ถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีกว่ามือถือหลายๆ รุ่นในช่วงใกล้เคียงกัน

    ข้อสังเกต

    • ยังคงซดแบตเอาเรื่อง ถ้าเปิดใช้งานเครื่องติดต่อกัน เปอร์เซ็นต์แบตลดฮวบๆ เลย
    • ยังมีปัญหาจุกจิกด้านซอฟต์แวร์อยู่
    • ปุ่มกดด้านล่างทั้งสามปุ่มอยู่ห่างกันเกินไป

    Screen Shot 2014-06-01 at 8.40.04 PM

    ส่วนถ้าเทียบกับมือถือรุ่นอื่นๆ ในราคาไม่เกิน 5,000 บาท ก็ต้องบอกว่าตัวคุ้มสุดคงหนีไม่พ้น ASUS ZenFone 5 นี่ล่ะครับ เพราะรุ่นอื่นๆ นั้นเห็นความแตกต่างในเรื่องสเปคชัดเจนมากๆ ทั้งเรื่องของหน้าจอ, ความละเอียดหน้าจอ, แรม, กล้องถ่ายรูปและแบตเตอรี่ที่ ZenFone 5 (แรม 1 GB) ชนะขาดลอยไปเลย

    Gallery

    Asus ASUS ZenFone 5 Review
    Share. Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Tumblr Email
    ZeroSystem

    Related Posts

    เปรียบเทียบ Samsung Galaxy S25 Edge vs iPhone 17 Air มือถือตัวบางทั้งคู่ ต่างกันแค่ไหนเท่าที่รู้ตอนนี้

    10 พฤษภาคม 2025

    สรุปสเปค Samsung Galaxy S25 Edge มือถือรุ่นบาง พร้อมกล้อง 200MP ก่อนเปิดตัว 13 พ.ค. 2025 นี้

    10 พฤษภาคม 2025

    แนะนำ 20 ซีรี่ย์เกาหลีพากย์ไทย Netflix ล่าสุดปี 2025 สนุกๆ ครบทุกแนว มีเรื่องไหนน่าดูบ้าง

    9 พฤษภาคม 2025

    Comments are closed.

    หัวข้อทั้งหมด

    เปรียบเทียบ Samsung Galaxy S25 Edge vs iPhone 17 Air มือถือตัวบางทั้งคู่ ต่างกันแค่ไหนเท่าที่รู้ตอนนี้

    10 พฤษภาคม 2025

    สรุปสเปค Samsung Galaxy S25 Edge มือถือรุ่นบาง พร้อมกล้อง 200MP ก่อนเปิดตัว 13 พ.ค. 2025 นี้

    10 พฤษภาคม 2025

    ราคาไอโฟนล่าสุด 2025 ทุกรุ่นทั้งเครื่องเปล่าและติดโปรที่วางขายในตอนนี้ มีรุ่นไหนราคาเท่าไหร่บ้าง อัพเดท พฤษภาคม 2025

    9 พฤษภาคม 2025

    แนะนำ 20 ซีรี่ย์เกาหลีพากย์ไทย Netflix ล่าสุดปี 2025 สนุกๆ ครบทุกแนว มีเรื่องไหนน่าดูบ้าง

    9 พฤษภาคม 2025

    มือถือรุ่นยอดนิยม

    Honor X7

    Honor X7

    6,299 บาท
    Honor X8

    Honor X8

    7,999 บาท
    Honor X9

    Honor X9

    9,299 บาท
    HTC Desire 22 Pro

    HTC Desire 22 Pro

    0 บาท
    Huawei Nova 10 Pro

    Huawei Nova 10 Pro

    24,990 บาท
    ดูมือถือทั้งหมด
    Facebook YouTube TikTok X (Twitter)

    Type above and press Enter to search. Press Esc to cancel.

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

    ยอมรับ
    X