สำหรับใครที่ติดตามข่าวสารวงการสมาร์ทโฟนอยู่ คงจะคุ้นชื่อของ ZenFone จาก ASUS เป็นอย่างดี นับตั้งแต่เปิดตัวในต่างประเทศ ซึ่งก็สร้างกระแสได้เป็นอย่างดี ด้วยสเปคคุ้มค่าในราคาไม่แรงมากนัก จนมาถึงการเปิดตัวเปิดราคาในไทยก็ยิ่งสร้างกระแสแรงขึ้นไปอีก ด้วยราคาเริ่มต้นของ ZenFone 4 ที่เปิดมาเพียง 2,990 บาทเท่านั้น เรียกว่าเปิดมาถล่มตลาดสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นซะกระจุยเลยทีเดียว ซึ่งก็แน่นอนว่าทาง SpecPhone เราไม่พลาดที่จะจับเจ้า ZenFone 4 มารีวิวให้ทุกท่านได้ชมอีกเช่นเคย เรามารับชมรีวิว ASUS ZenFone 4 กันเลยดีกว่า
สเปค ASUS ZenFone 4
- ชิปประมวลผล Intel Atom Z2520 dual-core มี Hyper Threading จำลองเสมือนว่ามี 4 คอร์ประมวลผล ความเร็ว 1.2 GHz
- มาพร้อมชิปกราฟิก PowerVR SGX544MP2
- แรม 1 GB
- หน้าจอ TFT ขนาด 4 นิ้ว ความละเอียด 800 x 480 กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 3
- รอม 8 GB รองรับ MicroSD สูงสุด 64 GB
- Android 4.3 Jelly Bean รองรับการอัพเดตเป็น Android 4.4 KitKat
- มาพร้อม ASUS ZenUI
- กล้องหลัง 5 ล้านพิกเซล รองรับออโต้โฟกัส สามารถถ่ายวิดีโอ Full HD ได้
- กล้องหน้า VGA
- รองรับ 3G ทุกเครือข่าย รองรับ 2 ซิม
- Bluetooth 4.0
- แบตเตอรี่ 1200 mAh (ในกล่องให้มาสองก้อน)
- รองรับ USB-OTG
- ราคา 2,990 บาท
- สเปค ASUS ZenFone 4 เต็มๆ
เป็นไงกันบ้างครับกับสเปคของ ZenFone 4 เรียกว่าจัดเต็มจริงๆ กับงบราคาเกือบ 3,000 บาท แต่ได้ทั้งแรม 1 GB, กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 3, กล้องหลัง 5 ล้านออโต้โฟกัส แถมยังถ่ายวิดีโอ Full HD ได้อีก (แต่เฟรมเรตต่ำมาก), ได้กล้องหน้า แถมยังมี OTG อีก น่าจะเป็นมือถือที่คุ้มที่สุดในเวลานี้รุ่นหนึ่งเลยก็ว่าได้ จึงไม่น่าแปลกใจซักเท่าไรที่แต่ละบูทในงาน Thailand Mobile Expo 2014 Hi-End ที่ผ่านมาจะขายจนหมดเกลี้ยงทั้งงาน สำหรับวิดีโอรีวิว ZenFone 4 สามารถคลิกชมได้จากด้านล่างนี้ครับ
เกริ่นกันมาพอสมควรแล้ว มาดูรีวิว ZenFone 4 ในส่วนอื่นๆ กันต่อเลยดีกว่า
Design
ด้วยชื่อที่มีคำว่า Zen อยู่ข้างหน้าของ ZenFone เราจึงพอจะทราบแนวทางการออกแบบคร่าวๆ ของตัวเครื่องได้พอสมควรเลย ว่าน่าจะมาในแบบที่เรียบง่าย ดูหรูหรา แต่ใช้งานได้จริง ซึ่งจากเท่าที่ทางเราได้ใช้งาน ได้รีวิว ZenFone 4 มา ก็พบว่ามันสอดคล้องกับชื่อไม่น้อยทีเดียว เพราะดีไซน์ตัวเครื่องนั้นจัดว่าเรียบง่าย ดูดี ถือเครื่องได้ถนัดมือ ด้วยหน้าจอที่มีขนาดเพียง 4 นิ้วที่ถึงแม้จะดูเล็กไปซักหน่อยสำหรับการใช้งานสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน แต่ก็จะมีจุดเด่นคือสามารถพกพาได้สะดวกมากๆ จะซื้อมาเป็นเครื่องสำรองก็ยังไหวเลย
หน้าจอของ ZenFone 4 ใช้พาเนลแบบ TFT ดังนั้นเรื่องของมุมมอง สีสันจออาจจะไม่ดีเท่ากับรุ่นสูงกว่าที่ใช้พาเนล IPS อย่าง ZenFone 5 และ 6 โทนสีจอของ ZenFone 4 มาในโทนสบายตา สีสันไอคอนและ UI ต่างๆ ก็จะมาในสีสันแนว pastel ที่ให้สีอ่อนๆ ดูนิ่มนวล ประกอบกับหน้าจอที่ให้สีไม่สดเกินไป ทำให้สามารถใช้งานเครื่องได้สบายตามากๆ การใช้งานกลางแจ้งก็ทำได้ดีพอสมควร แต่อาจจะประสบปัญหาเรื่องแสงสะท้อนจากกระจกหน้าจอซักเล็กน้อย แต่ก็ไม่มากจนเกินไปนะ พอโอเคอยู่ นอกจากนี้ ที่บริเวณใกล้ๆ กับฝั่งซ้ายของลำโพงสนทนา ยังมีไฟ LED สำหรับแจ้งสถานะปริมาณแบตเตอรี่ขณะชาร์จอยู่อีกด้วย
ปุ่มสั่งงานของ ASUS ZenFone 4 เลือกใช้เป็นปุ่มแบบสัมผัส capacitive ด้านล่างของจอ มีให้ใช้งานคือปุ่ม Back, Home และ Recent Apps ซึ่งปุ่ม Recent Apps สามารถตั้งค่าในเมนู ASUS Customized settings ได้ด้วยว่าถ้าหากกดค้างจะให้ทำหน้าที่อะไร โดยค่าเริ่มต้นจะเป็นการโชว์เมนูของแอพส่วนนั้นขึ้นมา น่าเสียดายที่ใต้ปุ่มไม่มีหลอดไฟ LED ให้แสงสว่างอยู่ ดังนั้นจึงอาจจะใช้งานในที่มืดลำบากซักหน่อย ส่วนตัวผมคิดว่าการใช้งานปุ่มทั้งสามของ ZenFone 4 ค่อนข้างลำบากนิดหน่อย เพราะระยะห่างของทั้งสามปุ่มค่อนข้างไกล ทำให้ปุ่ม Back และ Recent Apps อยู่ชิดขอบเครื่องมากไป เมื่อวางเทียบกันกับ Nexus 5 จอ 4.95″ ที่ใช้งานประจำ พบว่าปุ่มของ ZenFone 4 อยู่ห่างกันมากกว่าปุ่มของ Nexus 5 ซะอีกด้วยซ้ำ ส่วนอีกจุดที่น่าเสียดายของ ZenFone 4 ก็คือมันไม่มีเซ็นเซอร์วัดแสง ทำให้ไม่สามารถปรับแสงสว่างจออัตโนมัติได้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของสมาร์ทโฟนราคาไม่สูงมากนักอยู่แล้ว จึงเป็นประเด็นที่พอรับได้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ASUS ก็สร้างตัวอำนวยความสะดวกให้แล้วครับ เพราะสามารถปรับแสงสว่างหน้าจอได้ที่แถบ Quick Settings เลย โดยสามารถเรียกแถบ Quick Settings ลงมาอย่างรวดเร็วได้ด้วยการลากแถบแจ้งเตือนฝั่งขวาลงมา (ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือลากจากแถบนาฬิกาด้านบนสุดลงมานั่นเอง)
ส่วนอุปกรณ์ในกล่อง ก็ตามในชุดภาพด้านบนเลย ไฮไลท์คือแบตเตอรี่ที่ให้มา 2 ก้อน แต่ละก้อนมีความจุ 1200 mAh ซึ่งก็ถือว่า ASUS แก้ไขจุดบอดของตนเองเรื่องความจุแบตเตอรี่ต่อก้อนได้ดี ในเมื่อ 1200 mAh มันน้อยไป ก็ให้มาเลยสองก้อน จบกัน (ฮา) ส่วนเรื่องของหูฟังจะไม่มีให้มาในกล่องนะครับ ถ้าอยากใช้งานคงต้องหาซื้อเพิ่มเติมจากข้างนอกเอา หรือจะใช้หูฟังที่มีอยู่แล้วก็ได้เช่นกัน ส่วนอะแดปเตอร์ที่ให้มาสามารถจ่ายไฟได้ถึง 5.2V 1.35A นับว่ามากกว่าอะแดปเตอร์มือถือทั่วไปที่มักจ่ายได้สูงสุดแค่ 5V 1A เท่านั้น ทำให้สามารถชาร์จไฟเข้าได้เร็ว
ด้านหลังของ ZenFone 4 จะใช้ฝาหลังที่ทำจากพลาสติกผิวเรียบ เนื้อเนียนมือ จัดว่าเป็นพลาสติกเนื้อดีพอสมควรเลยทีเดียว ขอบข้างมีลักษณะตัดเหลี่ยม แต่เมื่อจับใช้งานจริงๆ พบว่ามีการเกลามุมให้มน ทำให้ไม่บาดมือเวลาจับ สำหรับฝาหลังนี้สามารถถอดได้ และอาจจะมีฝาหลังสีอื่นๆ ออกมาจำหน่ายในภายหลังด้วย ด้านบนจะเป็นตำแหน่งของกล้องหลัง ใกล้ๆ กันนั้นมีช่องลำโพงอยู่ เสียงที่ได้จากลำโพงก็จัดว่าธรรมดา ไม่โดดเด่นมากนัก แต่จะมีส่วนของซอฟต์แวร์ AudioWizard สำหรับปรับแต่งเสียงได้เล็กน้อย เช่นโหมดฟังเพลง, โหมดดูหนัง, โหมดเล่นเกม เป็นต้น เท่าที่ลองปรับดู?เสียงที่ออกจากลำโพงก็จะมีความแตกต่างกันบ้างพอสมควรครับ เช่นโหมดดูหนังกับโหมดเล่นเกม เสียงจะมีมิติมากกว่าโหมดฟังเพลง ซึ่งถ้าฟังด้วยหูฟังก็จะเห็นผลชัดขึ้นไปอีก ส่วนด้านล่างลงมาก็มีแค่โลโก้ Intel ที่ทำให้ทราบว่าภายในใช้ชิปประมวลผลของ Intel ด้านล่างสุดมีคำว่า Zenfone ติดอยู่แค่นั้นเอง
ส่วนด้านข้าง จะใช้การวางปุ่ม Power และปุ่ม/เพิ่มลดเสียงเอาไว้ทางฝั่งขอบขวา (เมื่อหันหน้าจอเข้าหาตัว) ตำแหน่งปุ่มอยู่ในบริเวณที่สามารถใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดได้ง่าย ช่องเสียบหูฟังอยู่ด้านบน ช่อง Micro USB อยู่ที่ขอบด้านซ้าย
การแกะฝาหลัง สามารถแงะขึ้นได้จากร่องบริเวณขอบซ้ายล่างของเครื่อง โดยต้องใช้แรงแงะพอสมควรเลยทีเดียวจึงจะสามารถแงะขึ้นมาได้ทั้งฝา เมื่อเปิดออกมาก็จะพบกับแบตเตอรี่อยู่ตรงกลาง สามารถแกะออกมาเพื่อเปลี่ยนสลับกับอีกก้อนสำรองได้ เหนือแบตเตอรี่จะเป็นช่องใส่ MicroSD ส่วนช่องใส่ซิมจะแอบอยู่ด้านข้างครับ มีสัญลักษณ์บอกชัดเจนว่าช่องไหนซิม 1 ช่องไหนซิม 2 สำหรับช่องใส่ซิมนี้จัดว่าโอเคเลย เพราะทำให้ผู้ใช้งานสามารถถอด สลับเปลี่ยนซิมได้โดยไม่ต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อน เพราะมือถือส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะไม่สามารถถอดซิมออกมาได้ แบบไม่ต้องถอดแบตเตอรี่ นับว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการดีไซน์ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใชได้พอสมควรเลย
พกพาเลือก 4 / ใช้งานจริงเลือก 5 / จอใหญ่เลือก 6
เรื่องดีไซน์โดยรวมของ ASUS ZenFone 4 ต้องบอกว่าทำออกมาได้ดีสมราคาเลยทีเดียวครับ ทั้งรูปร่างหน้าตา วัสดุ งานประกอบก็ยังคงให้เอกลักษณ์ความเป็น ASUS ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงโน้ตบุ๊กที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ASUS มานาน?และเราจะได้เห็นดีไซน์ในแนวทางเดียวกันนี้อีกบน ZenFone 5 กับ ZenFone 6 ที่จะเริ่มวางขายภายหลังจากนี้อีกด้วย สำหรับใครตระกูล ZenFone เอง ใครที่อยากได้มือถือพกพาสะดวก ใช้งานลื่นๆ เนื้องานดีแนะนำว่า ZenFone 4 ก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะในเวลานี้ไม่น้อยเลย แต่ถ้าอยากได้เครื่องใช้งานจริงๆ แนะนำให้ข้ามขึ้นไปซื้อ ZenFone 5 ได้เลย เพราะสเปค ราคา ขนาดจัดอยู่ในระดับที่ลงตัว ถ้ามีงบเยอะหน่อย อยากได้จอใหญ่พิเศษก็จัด ZenFone 6 จะดีกว่า ถือว่าเป็นรุ่นจัดเต็มของ ASUS ในตระกูล ZenFone เลยทีเดียว
Features
ด้านฟีเจอร์ของ ASUS ZenFone 4 นั้น ฝั่งฮาร์ดแวร์ไม่มีอะไรพิเศษครับ จะมีในฝั่งซอฟต์แวร์ที่มีบางตัวน่าสนใจ ส่วนแรกก็คือ Power Saver ที่ช่วยปรับระบบเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับที่เราต้องการ โดยสามารถเลือกปิดหรือเปิดก็ได้ ถ้าหากเปิด ก็จะมีโหมดประหยัดพลังงานให้เลือก 3 ระดับ ได้แก่
- Ultra-saving mode: ประหยัดพลังงานขั้นสุด ตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทุกรูปแบบลงเมื่อปิดหน้าจอ
- Optimized mode: ประหยัดพลังงานระดับปกติ ไม่มีตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
- Customized mode: ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้เอง ว่าจะตั้งค่าแบบใดบ้าง (ตัวอย่างในภาพที่สอง) โดยหลักๆ จะเน้นเรื่องการปรับความสว่างหน้าจอต่อการใช้งานแต่ละรูปแบบ และการปรับรูปแบบการรับ push notification แจ้งเตือน ว่าจะให้ทำงานเป็นเบื้องหลัง (ใช้งานอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาหรือจะให้หยุดการเชื่อมต่อเมื่อปิดหน้าจอลง)
ซึ่งโดยรวมแล้วก็จัดเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ดีครับ แถมยังเข้าถึงได้ง่ายด้วย เพราะมีเป็นไอคอนแอพในหน้ารวมแอพมาเลย
อีกหนึ่งแอพที่น่าสนใจก็คือ Share Link ที่สามารถรับส่งไฟล์ไปยังมือถือเครื่องอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องใช้งานอินเตอร์เน็ตครับ ขอแค่มีการเชื่อมต่อ WiFi ระหว่างกันของทั้งสองเครื่องเท่านั้นเอง ก็สามารถรับส่งไฟล์เอกสาร รูปภาพ เพลง รวมถึงไฟล์อื่นๆ ได้แล้ว สะดวกมากทีเดียวสำหรับผู้ที่ต้องรับส่งไฟล์บ่อยๆ แต่ไม่อยากให้เปลืองเน็ต 3G/4G ของตน สำหรับคนอื่นที่ไม่ได้ใช้งาน ZenFone เหมือนกันก็สามารถใช้งาน Share Link ได้ด้วยเช่นกัน โดยไปดาวน์โหลดแอพ SHAREit บน Play Store มาใช้งานได้เลย (ซึ่งก็คือแอพที่ติดตั้งมาในมือถือ แท็บเล็ต Lenovo ทุกเครื่องนั่นเอง)
Software
ASUS ZenFone 4 ใช้งานระบบปฏิบัติการ Android 4.3 Jelly Bean ซึ่งทางเว็บไซต์ ASUS ลงข้อมูลไว้ว่ารองรับการอัพเดตเป็น Android 4.4 KitKat ในอนาคตด้วย จุดนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าจะได้รับอัพเดตกันเมื่อไร แต่ตามประวัติที่ผ่านมา ASUS เองก็เป็นแบรนด์ที่สนับสนุนการอัพเดตเวอร์ชัน Android ได้ดีพอสมควรเลย ก็หวังว่าคงจะไม่ต้องรอกันนานนะ สำหรับพื้นที่เก็บข้อมูลที่ให้มา 8 GB จะเหลือพื้นที่ให้ใช้งานได้ราวๆ 4.6 GB ด้วยกัน ก็เพียงพอสำหรับการติดตั้งแอพพลิเคชัน เกมทั่วๆ ไปแล้ว และยิ่งมีช่อง MicroSD อีก ก็ช่วยเพิ่มความจุได้มาก รวมไปถึงสามารถติดตั้งและย้ายแอพไปลงบน MicroSD ได้อีกด้วย
ส่วนหน้าตา UI ของ ZenFone 4 นั้นเป็นส่วนที่ ASUS พัฒนาขึ้นมาเองในชื่อว่า ZenUI อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าโทนสีของ UI ส่วนใหญ่จะออกไปแนวนวลๆ แบบ pastel ส่วนตัวผมแล้วรู้สึกว่ามันสบายตาดี สีไม่สดเกินไป ธีมของไอคอนก็จะมีความโค้งมน ดูไม่เยอะเกินไป มีความแฟลตอยู่พอสมควร ให้ความรู้สึกว่าเป็นมิตรดี ?ส่วนเรื่องการใช้งานก็สามารถทำได้ง่าย วิธีการสั่งการต่างๆ ก็ยังคงยึดอยู่ในแนวทางของ Android อยู่ เรียกว่าสามารถเปลี่ยนการใช้งานจากเครื่องอื่นมาได้ไม่ยากเย็นนัก มีการสร้างตัวช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆ จุด เริ่มตั้งแต่หน้าล็อคสกรีนที่มีทางลัดเข้าแอพกล้อง แอพโทรศัพท์ และแอพ SMS ให้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังมีส่วนแสดงตารางนัดหมายล่วงหน้าในชื่อว่า What’s Next (ถ้าไม่มีตารางก็จะแสดงข้อมูลสภาพอากาศแทน)
แอพติดเครื่องที่มีให้มา ก็จะมีแต่แอพจำเป็นเท่านั้น ใกล้เคียงกับในรอมของเครื่องตระกูล Nexus จะมีแอพเสริมเข้ามาก็เช่น File Manager, SuperNote สำหรับจดบันทึก, Do It Later ใช้สำหรับบันทึกเตือนความจำ การที่มีมาให้แค่แอพจำเป็น ทำให้ตัวรอมค่อนข้างเบา สามารถทำงานได้ไหลลื่นดีทีเดียว อีกแอพที่น่าสนใจก็คือ Splendid ที่ช่วยปรับโทนสีการแสดงผลให้เป็นได้ตามที่ผู้ใช้งานต้องการ
เนื่องด้วยหน้าจอที่มีขนาดแค่ 4 นิ้ว ทำให้คีย์บอร์ดมีขนาดเล็กตามไปด้วย การพิมพ์ข้อความจึงค่อนข้างลำบากเล็กน้อยสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับมือถือจอใหญ่กว่านี้มาก่อน แต่ยังดีที่ตัวคีย์บอร์ดรองรับการปาดนิ้วผ่านตัวอักษรเพื่อผสมคำ (swipe) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเลย จึงทำให้การพิมพ์ข้อความทำได้สะดวกขึ้น?การจับสัมผัสค่อนข้างแม่นยำดีทั้งการพิมพ์แบบปกติและการ swipe แต่เท่าที่ลองใช้ พบว่าบางครั้งเมื่อสลับมาใช้ภาษาไทย แป้นพิมพ์จะเป็นแป้นยกแบบตอนกด shift เอาไว้ ทำให้ต้องสลับกลับมาเป็นแป้นตามปกติก่อนอยู่เป็นบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก สำหรับการเพิ่มคีย์บอร์ดภาษาไทยก็ให้เข้าไปที่ Settings > Language & input > กดรูปเฟืองหลังหัวข้อ ASUS Keyboard > Input languages แล้วเลือกภาษาไทยเข้ามา เท่านี้เอง
Camera
กล้องถ่ายรูปของ ASUS ZenFone 4 ก็เป็นอีกจุดเด่นอยู่เหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ได้มาพร้อมเทคโนโลยี PixelMaster เช่นเดียวกับ ZenFone 5 และ ZenFone 6 ก็ตาม แต่ก็ยังใส่ความสามารถที่เกินหน้าเกินตามือถือในช่วงราคานี้เข้าไปหลายอย่างทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการรองรับออโต้โฟกัสและการเลือกจุดโฟกัสของผู้ใช้ เนื่องจากมือถือในช่วงราคานี้มักจะเป็นแบบ fixed-focus ที่ระบบไม่สามารถจับโฟกัสอัตโนมัติ รวมถึงผู้ใช้ไม่สามารถเลือกตำแหน่งโฟกัสได้ด้วย แค่นี้ก็ถือว่ามาเหนือพอสมควรแล้ว การถ่ายวิดีโอก็รองรับความละเอียดสูงสุดถึงระดับ Full HD 1080p อีกด้วย !! เท่าที่ผมลองถ่ายดู ก็สามารถถ่ายวิดีโอ Full HD ได้ที่เฟรมเรตประมาณ 23 fps ด้วยกัน ถือว่าโอเคมากๆ ครับ ยิ่งมองว่าราคาค่าตัวแค่ 2,990 บาท แต่ถ่ายวิดีโอ Full HD ได้ ยิ่งอึ้งเข้าไปใหญ่เลยทีนี้
ส่วนด้านของภาพถ่ายก็ไม่น้อยหน้าครับ เพราะมีโหมดให้ปรับสำหรับการถ่ายภาพได้หลายรูปแบบทีเดียว เช่นโหมด HDR, Panorama, โหมดกลางคืน, โหมด Time Rewind ที่ตัวกล้องจะเก็บภาพล่วงหน้าก่อนเรากดถ่าย ทำให้สามารถเลือกช็อตที่ดีที่สุดมาใช้งานได้ ไม่ต้องกลัวพลาดช็อตสำคัญอีกต่อไป โดยสามารถย้อนหลังได้สูงสุด 2 วินาที เก็บภาพหลังจากเรากดถ่ายไปแล้วอีก 1 วินาที เพื่อให้เราเลือกได้ตามใจชอบ นอกจากนี้ยังมีโหมดถ่าย Miniature ที่เหมาะสำหรับการถ่ายวิวไกลๆ เพื่อให้ดูเหมือนว่าวัตถุในภาพเป็นของเล่น, โหมด Depth of Field ก็ช่วยให้สามารถถ่ายวัตถุแบบหน้าชัดหลังเบลอได้ง่ายดาย โดยใช้หลักการถ่ายภาพที่สองระยะโฟกัส แล้วนำภาพมาประมวลผลรวมกัน ซึ่งต้องใช้เวลาซักเล็กน้อย แต่ผลที่ได้ออกมาก็จัดว่าโอเคเลยครับ หลังละลายสุดๆ (แต่ต้องอยู่ในสภาวะแสงดีพอสมควร และมีความห่างระหว่างวัตถุกับฉากหลังด้วย) เรามาชมตัวอย่างภาพถ่ายจาก ZenFone 4 กันครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง
Performance
ประสิทธิภาพของ ASUS ZenFone 4 ก็จัดได้ว่าอยู่ในระดับค่อนข้างโอเคครับ สอดคล้องกับการใช้งานจริงที่ทำได้ไหลลื่นไม่ว่าจะเปิดแอพ ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค เปิดหน้าเว็บ แต่ถ้าเจอการใช้งานที่โหลดหนักๆ เช่นหน้าเว็บที่มีโหลดเยอะ, แอพหรือเกมที่ต้องประมวลผลมากหน่อย ก็จะเกิดอาการหน่วงขึ้นมาบ้างเหมือนกัน ที่เห็นได้ชัดก็คือการเล่นเกมที่มียูนิตและมีการเคลื่อนไหวเยอะๆ อย่างผมลองเล่น Plants Vs. Zombies 2 ดู ก็พอเล่นได้นะ แต่ถ้าพอตั้งต้นไม้เยอะๆ มีซอมบี้บุกเข้ามาเยอะๆ ก็จะเห็นอาการเฟรมเรตตกอยู่บ้างเหมือนกัน สำหรับความร้อน เมื่อใช้งานไปซักพัก หลังเครื่องก็จะอุ่นๆ ขึ้นมาบ้างเหมือนกัน
ส่วน Cookie Run อันนี้ไม่ต้องห่วงเลย เล่นได้ลื่นหายห่วงจ้า
ด้านของการใช้งานแบตเตอรี่ อันนี้พอได้ลองใช้งานแล้วก็พอเข้าใจเลยครับว่าทำไมถึงให้แบตในกล่องมาสองก้อน เพราะมันหมดค่อนข้างเร็วจริงๆ ยิ่งเปิดใช้งาน 3G แล้วเล่นนู่นเล่นนี่ รับรองว่าแต่ละวันได้ใช้งานแบตสำรองในกล่องแน่นอน อย่างในภาพด้านบน ผมลองใช้งาน ZenFone 4 ดูในหนึ่งวัน ส่วนใหญ่จะใช้งาน 3G มีบางช่วงเปิดเป็น Mobile Hotspot บ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถใช้งาน Facebook, Twitter เปิดเว็บบ้าง+สแตนด์บายได้ราว 8 ชั่วโมงกว่าๆ ด้วยกัน ถ้าจะต้องออกนอกบ้านทั้งวัน คิดว่าคงต้องพกแบตเตอรี่ก้อนที่สอง หรือพก power bank ออกมาด้วยนะ
Overall
?เป็นไงบ้างครับกับรีวิว ASUS ZenFone 4 สมาร์ทโฟนที่มีกระแสแรงที่สุดในงาน Thailand Mobile Expo 2014 Hi-End ที่ผ่านมา น่าจะเป็นตัวช่วยตัดสินใจซื้อของหลายๆ ท่านได้เป็นอย่างดี ด้วยราคาที่คุ้มค่าเพียง 2,990 บาท แต่ได้งานประกอบที่ดี รอมลื่น และฟีเจอร์หลายๆ อย่างที่มือถือในระดับเดียวกันไม่ค่อยมี เช่น ออโต้โฟกัส การโฟกัสแบบเลือกจุด กล้องหน้า ใช้ 3G ได้ทุกเครือข่าย เรียกว่าครบถ้วนมากๆ สำหรับสมาร์ทโฟนราคาระดับเริ่มต้นเช่นนี้ และน่าจะเป็นคู่แข่งกับอีกหลายๆ แบรนด์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อเลยทีเดียว สำหรับไลน์ ZenFone 4 รวมถึง ZenFone 5 และ ZenFone 6 ที่จะตามมาในอีกไม่นานนี้
ถ้าถามว่า ZenFone 4 เหมาะกับใคร ก็คงจะเป็นไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ คือใช้งานได้ทุกคน จะใช้เป็นเครื่องหลักก็พอไหว (แต่จอเล็กไปหน่อย) จะใช้เป็นเครื่องสำรองก็เหมาะดี แต่ถ้าอยากจะได้เครื่องสำหรับใช้งานจริงจัง แนะนำว่ารอข้ามไป ZenFone 5 ที่หน้าจอใหญ่กว่า ฟีเจอร์ครบเครื่องขึ้นจะดีกว่าครับ ถ้างบไม่เยอะก็สอย ZenFone 5 ตัวแรม 1 GB ก็ได้ (4,990 บาท) รับรองว่าใช้งานได้ถึงใจกว่า
ข้อดี
- รอมลื่น ใช้งานได้ลื่นไหล ประสิทธิภาพโดยรวมดี
- จอสีไม่สดเกินไป ใช้งานได้สบายตา แถมได้กระจก Gorilla Glass 3 อีก
- ให้แบตเตอรี่มา 2 ก้อนในกล่อง
- มีกล้องหน้า ส่วนกล้องหลังก็ออโต้โฟกัสได้ เลือกจุดโฟกัสได้ (รุ่นอื่นในช่วงราคาเดียวกันมักจะไม่มี)
- งานประกอบทำออกมาได้ดี ดูแข็งแรง
- คุ้มสุดในตอนนี้แล้ว
ข้อสังเกต
- แบตหมดเร็ว น่าจะให้มาซักก้อนละ 1600 mAh
- ปุ่มกดอยู่ห่างกันไปหน่อย ทำให้กดลำบาก
- ไม่มีระบบปรับความสว่างจออัตโนมัติ
ส่วนมือถือรุ่นที่ราคาเท่ากัน สเปคแต่ละเครื่องจะเป็นอย่างไรบ้าง มาชมได้จากในตารางเปรียบเทียบนี้เลย