หนึ่งในมือถือที่วางขายแล้วเรียกกระแสได้ทันที ด้วยความคุ้มค่าทั้งด้านสเปคและราคาที่ทำออกมาได้ดีกว่ามือถือยี่ห้ออื่น ชนิดที่ว่าทำให้เจ้าพ่อตลาดล่างอย่าง ASUS Zenfone 2 เงียบไปพักใหญ่ๆ ก็คงหนีไม่พ้น Lenovo A7000 มือถือ Flash Sale ที่ตอนแรกขายผ่านทาง Lazada เท่านั้น
โดยความป็อบของ Lenovo A7000 เท่าที่แอดมินได้ยินมาก็คือขายหมดเกลี้ยงโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ในครั้งแรกที่วางขาย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องราคา ทำให้สเปคบางอย่างของ Lenovo A7000 ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น หน่วยความจำภายในที่ให้มาเพียง 8 GB ทำให้มีปัญหาเวลาที่จะลงแอปพลิเคชัน ต่อให้ Lenovo A7000 รองรับ MicroSD Card ก็เปล่าประโยชน์ เนื่องจากแอปพลิเคชันบางตัวไม่สามารถย้ายข้อมูลทั้งหมดไปที่ SD Card ได้ รวมถึงหน้าจอความละเอียด HD ที่พออยู่บนหน้าจอขนาด 5.5 นิ้วก็ดูไม่ค่อยคมเท่าที่ควร
แต่ตอนนี้ Lenovo ก็ได้ปล่อยมือถือรุ่นอัพเกรดจาก Lenovo A7000 ซึ่งก็คือ Lenovo A7000 Plus (อีกร่างหนึ่งของ Lenovo K3 Note)โดยมีสเปคที่ดีกว่า ในหน้าตาแบบเดิมเป๊ะ และขายในราคาที่แพงกว่า Lenovo A7000 เพียง 1,000 บาทเท่านั้น นั่นก็แปลว่า ราคาของ Lenovo A7000 Plus จะอยู่ที่ 6,290 บาทครับ
- คลิกเลย: http://bit.ly/1MAmDTr
สเปค Lenovo A7000 Plus
- ชิปประมวลผล MediaTek MT6752 (8 คอร์) ความเร็ว 1.7 GHz ชิปกราฟิก Mali-T760
- แรม 2 GB
- รอม 16 GB มีช่องใส่ MicroSD
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1080 x 1920 Full HD
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
- ใส่ได้สองซิม (ไมโครซิม) ซิมหนึ่งใช้งาน 4G LTE กับ 3G ได้ทุกเครือข่าย ส่วนช่องซิมสองใช้ได้แต่ 2G GSM
- แบตเตอรี่ 2900 mAh
- มาพร้อมระบบเสียง DOLBY ATMOS
- Android 5.0 แบบ 64 Bit ครอบมาด้วย Lenovo VIBE UI
- ราคา 6,290 บาท
- สเปค Lenovo A7000 Plus
ตอนที่แอดมินได้เห็นเครื่องรีวิว Lenovo A7000 Plus ในครั้งแรก บอกเลยว่าเดจาวูแบบสุดๆ ครับ เพราะกล่องของ Lenovo A7000 Plus ถ้าตัดคำว่า Plus ทิ้งไปนี่มันก็กล่อง Lenovo A7000 ชัดๆ และเมื่อเปิดกล่องมาก็ยิ่งอึ้ง เพราะมือถือสองรุ่นนี้ มีหน้าตาที่เหมือนกัน 100% เลยทีเดียว วางข้างกันแบบไม่เปิดหน้าจอมีแยกไม่ออกอ่ะ
อุปกรณ์ภายในกล่องของ Lenovo A7000 Plus ก็ให้มาเท่าๆ กับตอน Lenovo A7000 ครับ ได้แก่ ตัวเครื่อง Lenovo A7000 Plus, แบตเตอรี่ความจุ 3,000 mAh, สาย Micro USB, อแดปเตอร์จ่ายไฟได้ 1.5A แน่นอนว่ามีเคสใสกับฟิล์มกันรอยก็แถมมาให้ในกล่องด้วย แต่ที่แปลกคือเราไม่พบว่าในกล่องของ Lenovo A7000 Plus เครื่องรีวิวนี่แถมหูฟังมาให้ด้วย ส่วนเหตุผลก็น่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เลื่อนลงมาอ่านรีวิว Lenovo A7000 Plus ได้เลยครับ
จุดเด่น
– ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุล ทั้ง CPU, แรม, หน้าจอ, แบตเตอรี่, กล้อง
– ใช้งาน 3G/4G LTE ได้อย่างไร้ปัญหา รองรับ 3G ทุกค่าย
– จอสวย และคมชัดมาก ด้วยความละเอียดแบบ Full HD
– งานประกอบดีใช้ได้ ตัวเครื่องน้ำหนักเบา จับถือสะดวก
– แบตเตอรี่อค่อนข้างอึดทีเดียว
ข้อสังเกต
– กล้องหลังถ่ายกลางคืนค่อนข้างลำบาก ต้องถือนิ่งจริงๆ คุณภาพรูปถ่ายก็เฉยๆ
– กล้องหลังตอนถ่ายมีโฟกัสผิดจุดบ้างในบางครั้ง
บทสรุป
BEST PRICE/ SPEC
Design
ตอนที่เห็น Lenovo A7000 Plus เป็นครั้งแรกเนี่ย บอกตามตรงว่าผมเกือบจะก็อปปี้การรีวิวด้านดีไซน์ในรีวิว Lenovo A7000 มาใส่แล้วเชียว นั่นก็เพราะว่า Lenovo A7000 Plus มีหน้าตาที่เหมือนกับ Lenovo A7000 ในชนิดที่ว่าเหมือนกัน 100% ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์แบบเรียบง่าย และวัสดุที่เป็นชนิดเดียวกัน ให้สัมผัสเดียวกันเป๊ะ
สำหรับตัวเครื่องของ Lenovo A7000 Plus ก็มีขนาดตัวเครื่องที่ค่อนข้างใหญ่เหมือนกัน เนื่องจากหน้าจอมีขนาดอยู่ที่ 5.5 นิ้ว แต่เห็นเครื่องใหญ่ๆ แบบนี้ บอกเลยว่าน้ำหนักเบากว่าที่คิดครับ ถ้าวัดจากตัวเลขข้างสเปคก็คือ 140 กรัม แต่ถ้าวัดจากความรู้สึก ก็ไม่ได้หนักเท่าไหร่ ทำให้สามารถใช้งานเครื่องในมือได้นานๆ แบบไม่เมื่อย อีกทั้งการถือใช้งานด้วยมือข้างเดียวก็พอไหวอยู่ อาจจะควบคุมได้ไม่สะดวกทั้งหน้าจอ แต่ถ้าใช้งานทั่วไป เช่นหยิบขึ้นมารับสาย, หยิบโทรออก อะไรประมาณนี้ก็ใช้มือเดียวสบายๆ อาจจะมีตึงมือนิดหน่อย
ข้อสังเกตของ Lenovo A7000 Plus อยู่ที่ปุ่มทั้งสาม ได้แก่ ปุ่ม Recent App (ที่มีหน้าตาเหมือนปุ่มเมนู) ปุ่มโฮม และปุ่มย้อนกลับ ซึ่งเป็นปุ่มที่แยกออกมาจากหน้าจอ ปัญหาอยู่ที่ปุ่มกดทั้งสามไม่มีไฟส่องสว่างนี่แหละครับ ทำให้การใช้งานในที่มืดอาจจะลำบากหน่อย น่าจะมีกดถูกกดผิดกันบ้างล่ะ วิธีการแก้ไขก็คงต้องอาศัยใช้ให้ชินมือ คือถ้า Lenovo ใส่ไฟ LED ใต้ปุ่มของ Lenovo A7000 Plus จะเป็นอะไรที่เวิร์คมาก
ด้านหน้าของ Lenovo A7000 Plus ออกแบบมาได้ค่อนข้างเรียบ ไม่มีอะไรโดดเด่น สำหรับรายละเอียดทางด้านหน้าก็จะประกอบไปด้วย หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว แต่รอบนี้มาในความละเอียด Full HD ที่คมชัดกว่าตอน Lenovo A7000 อย่างเห็นได้ชัด ด้านบนหน้าจอก็จะเป็นกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซลกับลำโพงสำหรับใช้สนทนาโทรศัพท์ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ของ Lenovo A7000 Plus ก็ Copy + Paste มาจาก Lenovo A7000 นั่นแหละครับ
เห็นด้านหน้าเรียบยังไง ด้านหลังก็เรียบง่ายพอกันครับ ไล่จากมุมซ้ายบนก็เป็นกล้องหลังที่ไม่นูนขึ้นมาจากแผ่นฝาหลังเลย ลงมาก็เป็นแฟลช LED สองดวงแบบให้แสงสีเดียวกัน ในตอนใช้งานจริงก็จะช่วยเพิ่มความสว่างแฟลชให้ได้นิดนึง มุมขวาบนก็เป็นช่องรับเสียงของไมค์ช่วยตัดเสียงรบกวน ถัดลงมาเล็กน้อยก็เป็นช่องลำโพง ซึ่งใกล้ๆ กันนั้นพบว่าไม่มีจุดที่ช่วยยกช่องลำโพงไม่ให้นาบติดกับพื้น เวลาวางเครื่องโดยเอาฝาหลังลงเลย ตรงนี้ก็อาจทำให้เสียงจากลำโพงโดนกลบไปได้เหมือนกัน แต่ถ้าใส่เคสที่แถมมาให้ในกล่องก็หายห่วงครับ ตัวลำโพงจะถูกยกขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นเสียงที่ได้ก็จะดีกว่าตอนไม่ใส่เคสอย่างเห็นได้ชัด
ฝาหลังของ Lenovo A7000 Plus สามารถแกะได้ครับ และการแกะฝาหลังก็ทำไม่ยาก เพราะที่ตรงมุมซ้ายล่าง (หันฝาหลังเข้าหาตัว) จะมีร่องเล็กๆ ตรงขอบเครื่องให้แงะฝาหลังออกมาได้อยู่ ตัวฝาหลังก็งอได้พอสมควร เพราะทำมาจากโพลีคาร์บอเนต ผิวเนียนไม่ลื่นมือมากนัก เมื่อแกะฝาหลังแล้ว ก็จะพบกับแบตเตอรี่ก้อนใหญ่อยู่ตรงกลาง ซ้ายสุดคือช่อง MicroSD, ตรงกลางก็เป็นช่องไมโครซิมหนึ่ง (4G/3G/2G) ริมขวาสุดก็เป็นช่องไมโครซิมสอง (2G) สำหรับการจะถอดหรือใส่ซิมนั้น ต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อนทุกครั้ง แต่ช่อง MicroSD นี่พอจะสามารถใส่ได้แบบไม่ต้องแกะแบตเตอรี่ครับ แต่แนะนำว่าแกะแบตเตอรี่ออกก่อน ค่อยใส่ MicroSD Card เข้าไปจะดีกว่า
ด้านข้างตัวเครื่อง Lenovo A7000 Plus ก็มีพอร์ตและปุ่มกดกระจายอยู่จุดต่างๆ ดังนี้ครับ ด้านบนจะมีช่อง Micro USB อยู่ตรงกลาง ริมสุดทางซ้าย (หันหน้าจอเข้าหาตัว) มีช่องเสียบแจ็คหูฟัง ด้านล่างมีเพียงช่องรับเสียงของไมค์สนทนา ส่วนพวกปุ่มกดต่างๆ ทั้งปุ่ม Power และปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงจะอยู่ทางฝั่งขวาของเครื่องทั้งหมด
หน้าจอของ Lenovo A7000 Plus อย่างที่ผมได้เกริ่นไปแล้วว่ามีความละเอียดหน้าจอมากขึ้น เป็นความละเอียดระดับ Fill HD (จากตอน Lenovo A7000 จะเป็นหน้าจอความละเอียด HD) ทำให้หน้าจอของ Lenovo A7000 Plus เป็นหน้าจอที่คมชัดทีเดียว กับความหนาแน่นของเม็ดพิกเซลที่ 401 ppi เมื่ออยู่บนหน้าจอขนาด 5.5 นิ้วนี่มองไม่เห็นเม็ดพิกเซลแน่นอน สีสันหน้าจอสดใส และสว่างมากตามสไตล์มือถือ Lenovo แต่จะมีข้อสังเกตอยู่ที่ตัวหน้าจอค่อนข้างสะท้อน และเก็บรอยนิ้วมือพอสมควร อาจจะต้องทำความสะอาดหน้าจอบ่อยๆ หรือไม่ก็หาฟิล์มกันรอยแบบด้านมาติดซะ ก็จะช่วยลดได้ทั้งปัญหาหน้าจอสะท้อน และรอยนิ้วมือ ส่วนฟิล์มที่แถมมากับ Lenovo A7000 Plus จะเป็นฟิล์มแบบใสครับ
ส่วนภาพต่างๆ ของ Lenovo A7000 Plus ก็ตามในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้เลย
Feature
ฟีเจอร์เด่นสุดของ Lenovo A7000 Plus ก็คงหนีไม่พ้นระบบเสียง DOLBY ATMOS เช่นเดียวกับตอน Lenovo A7000 นั่นเอง โดยระบบเสียง DOLBY ATMOS เป็นระบบเสียงแบบเดียวกับที่ใช้ในโรงภาพยนตร์หลายๆ แห่ง ซึ่งบางท่านที่ชมภาพยนตร์ในโรงก็น่าจะคุ้นหูคุ้นตา หรืออาจจะเคยสัมผัสกันบ้างแล้วก็เป็นได้ (แน่นอนว่าค่าตั๋วก็แพงกว่าราคาปกติด้วย) โดยตัวของ DOLBY ATMOS ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากระบบเดิมๆ โดยเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีการสร้าง การเก็บข้อมูล และการจำลองเสียงรอบทิศทางให้ดีขึ้น ถ้าเป็นในโรงภาพยนตร์จริงๆ จะรู้สึกได้เลยว่าเสียงอยู่รอบทิศทาง รอบตัวเราจริงๆ เสมือนว่าเราเข้าไปอยู่ในบรรยากาศเดียวกับในหนัง
แต่เมื่อ DOLBY ATMOS ถูกย่อส่วนลงมาอยู่ในสมาร์ทโฟน ก็แน่นอนว่ามันให้พลัง ให้คุณภาพไม่ได้ระดับเดียวกับลำโพงในโรงภาพยนตร์แน่นอน ทั้งเรื่องของขนาดและจำนวนลำโพงที่ใช้จริง แต่เท่าที่ลองใช้งานดู ผมว่ามันก็ช่วยเพิ่มมิติ เพิ่มความกังวานรอบทิศทางได้ดีกว่าระบบเสียงปกติอยู่บ้างเหมือนกัน พลังเสียงก็หนักแน่นขึ้น ความแตกต่างระหว่างเปิดกับปิด DOLBY ATMOS นี่ค่อนข้างชัดเจน โดยสามารถใช้งานได้ทั้งกับลำโพงตัวเครื่อง และเสียบหูฟัง/เครื่องเสียบเลย แต่ถ้าใช้กับลำโพงตัวเครื่องเพียวๆ จะไม่สามารถเปิดใช้งานการจำลองเสียงรอบทิศทาง (Surround Virtualizer) ได้นะ จะบอกว่าเป็น Profile เสียงจากทาง DOLBY ก็ว่าได้ครับ
สำหรับการปรับแต่งการทำงานของ DOLBY ATMOS ก็ไม่ยาก มีแอพมาให้ใช้โดยเฉพาะเลย ภายในเราก็สามารถปรับรูปแบบเสียงได้ตามที่ต้องการ เช่น อาจจะให้จำลองเสียงสำหรับชมภาพยนตร์, แบบที่เหมาะสำหรับการฟังเพลง, เล่นเกม หรือจะปรับเองจากกราฟ Equalizer ตรงกลางก็ได้เหมือนกัน ส่วนสวิทช์ 3 ชิ้นด้านล่างก็เป็นสวิทช์สำหรับเปิด/ปิดฟีเจอร์เพิ่มเติม ซ้ายสุดก็เป็นฟีเจอร์การจำลองระบบเสียงรอบทิศทาง (ถ้าไม่เสียบหูฟังจะไม่มีให้เลือก) ตรงกลางเป็นระบบช่วยเร่งให้เสียงพูดเด่นขึ้น ส่วนขวาสุดก็เป็นตัวช่วยเกลี่ยระดับเสียงให้ความดังใกล้เคียงกัน ทำให้เราไม่ต้องคอยปรับระดับเสียงบ่อยๆ
นอกจากนี้ Lenovo A7000 Plus ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจดังนี้ครับ
- Quick Snap: เมื่อปิดหน้าจออยู่ ถ้ากดปุ่มเพิ่มหรือลดเสียงติดกัน 2 ครั้ง ก็จะเป็นการถ่ายรูปทันที
- Tap to light: เคาะจอสองครั้ง เพื่อเปิดหน้าจอขึ้นมา
- Screen off gestures: ตั้งค่าการทำงานเมื่อลากนิ้วบนจอ ขณะที่จอปิดอยู่ เช่น ลากนิ้วเป็นตัว V เพื่อเปิดแอพกล้อง เป็นต้น
- Smart Sense: เป็นระบบสำหรับตั้งโปรไฟล์การทำงานเครื่องในสถานที่ และเวลาต่างๆ เช่นอาจตั้งให้ช่วงพักเที่ยง มือถือเปิดเสียง ปิด WiFi เปิด GPS พอพ้นช่วงเที่ยงไป ก็เปลี่ยนไปใช้โปรไฟล์อื่นอัตโนมัติ เป็นต้น
- Wide touch: เพิ่มปุ่มช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น (คล้ายปุ่มขาวๆ บน iPhone)
Software
Lenovo A7000 Plus มาพร้อมกับ Android 5.0 Lollipop ตั้งแต่แกะกล่อง โดยครอบทับมาด้วยอินเตอร์เฟสของ Lenovo เองอย่าง Lenovo VIBE UI ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อๆ กันมา เช่นเดียวกับ Lenovo A7000
โดยคราวนี้ได้ผสมผสานการดีไซน์บางจุดจากตัวแกนหลักของ Android 5.0 เข้ามาด้วย หน้าตาหลายๆ อย่างเลยค่อนข้างเรียบง่าย ในแบบของ Material Design และเข้าใจง่ายมากๆ สำหรับผู้ที่เคยใช้ Android 5.0 จากเครื่องรุ่นอื่นมาก่อน การจัดเรียงไอคอนแอพก็จะวางไปบนหน้าจอเลย ไม่มีหน้ารวมแอพ (App Drawer) ให้ใช้งานเหมือนอินเตอร์เฟสของ Android หลายๆ รุ่น การปรับแต่งหน้าตาต่างๆ ก็ทำได้พอสมควรครับ เช่นเปลี่ยนธีม เปลี่ยนรูปแบบการเลื่อนหน้าจอ รวมถึงยังสามารถเก็บข้อมูลการจัดเรียงไอคอนเอาไว้ได้ด้วย เผื่อบางทีเราปรับเล่นๆ ไปจนลืมหน้าตาแบบเก่า ก็สามารถเรียกคืนข้อมูลการจัดเรียงหน้าจอที่สำรองเอาไว้มาใช้ได้อีกต่างหาก
การใช้งานโดยรวมก็ไหลลื่นดี ไม่เจอบั๊กติดขัดอะไร สามารถใช้งานได้ทุกแอปพลิเคชันที่เรานิยมใช้กัน เช่น Facebook, Line, Instagram ไปจนถึงใช้เล่นเกม และด้วย Rom ที่ให้มา 16 GB ทำให้สามารถลงแอปพลิเคชันได้มากกว่าตอน Lenovo A7000 ส่วนพวกแอปติดเครื่องมาก็เหมือนๆ เดิมครับ เช่นแอพ SHAREit สำหรับแชร์ข้อมูลข้ามเครื่องไปหาเครื่องอื่น, แอพ SYNCit สำหรับสำรองข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อ สำรองข้อความ SMS เป็นต้น
Camera
กล้องหลังก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ Lenovo A7000 Plus มีการพัฒนาขึ้นจากตอน Lenovo A7000 ที่เห็นได้ชัดเลยก็จะเป็นเซนเซอร์ที่มีความละเอียดมากขึ้น เป็น 13 ล้านพิกเซล จากเดิม 8 ล้านพิกเซลตอน Lenovo A7000 และนอกจากจะมีความละเอียดมากขึ้นแล้ว ส่วนตัวผมยังรู้สึกว่ากล้องหลังของ Lenovo A7000 Plus ใช้งานได้ดีกว่าตอน Lenovo A7000 พอสมควร
แต่ปัญหาของกล้องหลัง Lenovo A7000 Plus ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องการโฟกัสวืด อันที่จริงจะบอกว่าวืดก็ไม่ถูกนัก เพราะเวลาที่เราเลือกจุดโฟกัสก่อนถ่าย ในบางครั้ง ไม่ว่าจะเลือกโฟกัสที่จุดไหนก็ตาม ตอนกดถ่ายตัวกล้องจะโฟกัสเข้าที่ตรงกลางภาพซะอย่างนั้น คาดว่าเป็นบั๊กที่ซอฟท์แวร์ครับ เนื่องจากปัญหานี้พบได้ใน Lenovo Vibe Shot ที่ใช้ซอฟท์แวร์กล้องรุ่นเดียวกันด้วย แต่เชื่อว่าอีกไม่นานทาง Lenovo น่าจะปล่อยตัวอัพเดตมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ครับ
นอกจากนี้ ยังมีอีกปัญหาที่ผมพบตอนรีวิว Lenovo A7000 Plus คือการถ่ายรูปตอนกลางคืน หรือถ่ายรูปในที่แสงน้อย กล้องหลังของ Lenovo A7000 Plus จะโฟกัสและจับภาพได้ช้ามาก ทำให้ตอนถ่าย ถ้าถือเครื่องด้วยมือข้างเดียวยังไงก็เบลอครับ ต้องถือเครื่องด้วยสองมือ แล้วก็ต้องทำตัวให้นิ่งที่สุดด้วย ส่วนคุณภาพของรูปถ่ายผมก็ไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ครับ ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
กล้องหน้าของ Lenovo A7000 Plus ก็เดิมๆ เหมือนตอน Lenovo A7000 กับกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล มาพร้อมกับโหมด Beauty หน้าสวยฟรุ้งฟริ้ง และฟีเจอร์แจ่มๆ ที่ช่วยให้ถ่ายเซลฟี่ได้ง่ายขึ้น ได้แก่
- คำสั่งเสียง: พูดคำว่า Snap หรือ Cheese
- จับการกระพริบตา: ด้วยการกระพริบตาช้าๆ
- จับรูปแบบการสัมผัส: โบกมือ หรือใช้การชูสองนิ้วแทนการกดปุ่มชัตเตอร์
ภาพถ่ายจากกล้องหน้าของ Lenovo A7000 Plus
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องของ Lenovo A7000 Plus ก็ตามนี้เลยครับ
Performance
ฝั่งของเรื่องประสิทธิภาพและความแรง Lenovo A7000 Plus ก็ทำได้ดีพอสมควร ด้วยชิปประมวลผล MediaTek MT6752 แบบ 8 Core แท้ๆ ซึ่งทำคะแนน Benchmark จากหลายแอปได้ดี ส่วนคะแนนฝั่งกราฟิกจาก GPU ก็ทำได้ปานกลางไม่เด่นมาก แต่ก็อยู่ในระดับใช้งาน ใช้เล่นเกมทั่วๆ ไปได้แบบไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปเจอพวกเกมที่กราฟิกค่อนข้างหนัก ก็อาจต้องปรับลดความสวยของภาพลงมาหน่อยก็จะเล่นเกมได้ลื่นกว่า
สำหรับการใช้งานจริง บอกได้เลยว่าไหลลื่นมากครับ ไม่เจอปัญหาเรื่องการโหลด การใช้งานแล้วหน่วงๆ ให้เห็นเลย เปิดเครื่องมาครั้งแรก จะเหลือแรมว่างอยู่ประมาณ 1 GB เต็มๆ แต่ถ้าลงแอปใช้งานหลักๆ เพิ่มเติมลงไป ก็อาจจะเหลือว่างน้อยกว่า 1 GB อยู่นิดหน่อย ส่วนเรื่องพื้นที่เก็บข้อมูลของรอมนั้น อย่างที่บอกไปว่า Lenovo A7000 Plus มีการพัฒนาจากตอน Lenovo A7000 โดยให้ความจุมาที่ 16 GB หมดปัญหาหน่วยควมจำเต็ม และลงแอปพลิเคชันไม่ได้แล้ว เพราะความจุ 16 GB นั้นเพียงพอที่จะลงแอปพลิเคชันพื้นฐานทั่วไปได้สบายๆ ส่วนพวกเพลง, หนัง หรือเกมที่กินเนื้อที่เยอะๆ เราก็ไปหาซื้อ MicroSD Card มาใส่เพิ่มความจุทีหลังได้ครับ โดยรวมใช้งานได้ยืดหยุ่นกว่าตอน Lenovo A7000 เยอะเลย
ปิดท้ายด้วยเรื่องการใช้งานแบตเตอรี่ อันนี้หายห่วงได้เลย เพราะตัว Lenovo A7000 Plus เองให้แบตเตอรี่มาถึง 2,900 mAh และสเปคโดยรวมก็ไม่ได้จัดว่ากินไฟมากนัก ทำให้สามารถใช้งาน Lenovo A7000 Plus แบบต่อเน็ตตลอดเวลาได้เป็นวันๆ แบบแบตยังเหลือข้ามวันได้สบาย จุดนี้ ใครที่อยากได้มือถือราคาไม่แพง แต่แบตอึด รับรองว่า Lenovo A7000 Plus เป็นหนึ่งในคำตอบที่ดีที่สุดได้แน่นอน