OPPO VOOC Flash Charge เอาชนะเทคโนโลยีชาร์จเร็วของสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นในการทดสอบของเว็บ GSM Arena

Review-OPPO-N3-SpecPhone-013

OPPO VOOC Flash Charge เอาชนะเทคโนโลยีชาร์จเร็วของสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นในการทดสอบของเว็บ GSM Arena

ทาง GSM Arena เว็บรีวิวสมาร์ทโฟนของต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ ได้ทำรีวิวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพระบบชาร์จเร็วของสมาร์ทโฟนแต่ละแบรนด์ ซึ่งเทคโนโลยีชาร์จเร็วนี้ก็มีประโยชน์มากในยุคที่แบตเตอรี่สมาร์ทโฟนมีขนาดความจุสูงขึ้นเพื่อให้รองรับการใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งถ้าใช้วิธีการชาร์จแบบเดิมๆ ก็ต้องใช้เวลาชาร์จนานเกิน 3 ชั่วโมงกว่าแบตฯ จะเต็ม แต่ด้วยเทคโนโลยีชาร์จเร็วช่วยร่นระยะเวลาการชาร์จให้เหลือเพียงชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น

และต่อไปนี้ก็เป็นบทความที่แปลและเรียบเรียงมากจากบทความต้นฉบับของ GSM Arena เรามาติดตามอ่านไปพร้อมๆ กันเลยครับ

*******************************************

ทุกวันนี้แบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนดูเหมือนว่าจะรองรับการใช้งานได้น้อยลงเรื่อยๆ ด้วยหน้าจอที่มีความละเอียดสูงขึ้นตลอดเวลา และชิปเซ็ตที่มีความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้สมาร์ทโฟนใช้พลังงานมากกว่าในอดีต ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนพากันแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มขนาดความจุกระแสของแบตเตอรี่ (ขนาดความจุกระแสหน่วยเป็น mAh) ทำให้ผู้ใช้งานต้องเสียเวลาไปกับการรอชาร์จแบตเตอรี่นานขึ้น ซึ่งผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายรายพยายามหาทางออกให้กับปัญหานี้ด้วยการคิดค้นมาตรฐานใหม่ๆ ในการชาร์จแบตเตอรี่

มาตรฐานการชาร์จแบบ USB 2.0 ที่ใช้กระแสไฟในการชาร์จ 500mA (มิลลิแอมป์) เป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนบางรายให้อะแดปเตอร์ที่สามารถปล่อยกระแสชาร์จได้มากกว่านั้น เพื่อให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วขึ้น ซึ่งอะแดปเตอร์ของสมาร์ทโฟนบางรุ่นสามารถปล่อยกระแสได้สูงเกิน 2A (แอมป์) เลยทีเดียว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจคือมาตรฐาน USB 3.0 ที่สามารถให้พลังการชาร์จได้สูงกว่ามาตรฐาน USB 2.0 แต่ ณ เวลานี้ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย

ดูเหมือนว่าทั้งทางฝั่งของผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และผู้ผลิตชิปเซ็ต ได้มองข้ามมาตรฐาน USB 3.0 ไป และมุ่งมั่นกับการพัฒนามาตรฐานการชาร์จเร็วของตัวเอง ในบทความนี้เราจะทำการทดสอบระบบการชาร์จแบตเตอรี่เร็วของ Qualcomm, OPPO, Samsung และ Intel (ซึ่ง 2 รายหลังดูเหมือนว่าจะใช้เทคโนโลยีการชาร์จเร็วของ Qualcomm) อย่างไรก็ดีเรามี iPhone สองเครื่องในการทดสอบครั้งนี้ด้วย ถึงแม้ iPhone จะไม่มีระบบชาร์จเร็วก็ตาม

001_Charging Showdown

 

ในขณะที่มาตรฐาน USB 3.0 ไม่ประสบความสำเร็จกับการนำมาใช้งานบนสมาร์ทโฟน แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งมาตรฐานที่ดูอนาคตสดใสกว่าคือพอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB Type-C ที่สามารถส่งผ่านพลังไฟไปชาร์จโทรศัพท์มือถือได้มากกว่า รองรับการปล่อยกระแสชาร์จได้ 3A ที่ระดับแรงดันไฟ 5V (โวลต์) ทำให้สามารถปล่อยพลังไฟในการชาร์จได้สูงถึง 15W (วัตต์)

*******************************************

สูตรการคำนวณพลังไฟในการชาร์จคือ

[[[พลังไฟในการชาร์จ (W วัตต์) เท่ากับ ระดับแรงดันไฟ (V โวลต์) คูณด้วย ระดับกระแสชาร์จ (A แอมป์)]]]

ถ้าอะแดปเตอร์ใช้แรงดันไฟ และกระแสในการชาร์จที่ 5V/3A ก็เป็น 5 x 3 = พลังไฟในการชาร์จ 15W

*******************************************

ซึ่งมาตรฐาน USB Type-C รองรับการปล่อยพลังไฟชาร์จได้สูงกว่า USB 2.0 แต่ขนาดของพอร์ต USB Type-C ก็มีขนาดใหญ่กว่า USB 2.0 ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เป็นข้อจำกัดในการนำไปใช้งานกับสมาร์ทโฟนที่เน้นแข่งกันเรื่องความบางของตัวเครื่อง

เราอาจจะไม่ได้เห็นพอร์ต USB Type-C บนสมาร์ทโฟนภายในปีนี้ และเทคโนโลยีการชาร์จเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงถูกใช้งานต่อไปอีกนาน อย่างไรก็ดี เรามีสิ่งที่ผลิกโฉมการชาร์จแบตเตอรี่อย่างแท้จริง ซึ่งก็คือเทคโนโลยีการชาร์จเร็วแบบ VOOC Flash Charge ของ OPPO ที่แบ่งแบตเตอรี่ออกเป็นหลายๆ เซลล์ เพื่อการชาร์จที่รวดเร็วขึ้น

วิธีการทดสอบความเร็วในการชาร์จแบตเตอรี่ของเรา เริ่มต้นด้วยการปล่อยให้พลังงานในแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง และเริ่มต้นการชาร์จพร้อมกับการบันทึกระดับแบตเตอรี่ทุกๆ 5 นาที

เราจะทำการเปรียบเทียบความเร็วในการชาร์จสมาร์ทโฟนทุกเครื่องร่วมกัน และจะมีการอธิบายลงลึกในรายละเอียดประสิทธิภาพการชาร์จของสมาร์ทโฟนแต่ละเครื่อง แต่ก่อนที่จะดูผลทดสอบเรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีการชาร์จเร็วแต่ละรูปแบบให้ลึกซึ้งขึ้นกันดีกว่า

 

Qualcomm Quick Charge

Qualcomm ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปเซ็ตสำหรับสมาร์ทโฟนได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์จเร็วมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว และในเวลานี้เทคโนโลยีชาร์จเร็วของ Qualcomm ก็ก้าวมาสู่สเตปที่สอง ด้วยการใส่วงจรควบคุมพลังงานลงไปในชิบ Snapdragon ที่ทำให้สามารถชาร์จสมาร์ทโฟนได้เร็วขึ้น
ระบบ Quick Charge 1.0 ถูกนำมาเปิดตัวในปี 2012 โดยการใช้อะแดปเตอร์แบบ 5V/2A ซึ่งทำให้ชาร์จสมาร์ทโฟนได้เร็วกว่า 40% เมื่อเทียบกับระบบชาร์จปกติที่ใช้อะแดปเตอร์ 5V/1A มันให้พลังไฟในการชาร์จสูงสุดที่ 10W

เทคโนโลยี Quick Charge 1.0 ถูกนำไปใช้ในสมาร์ทโฟนหลายรุ่นได้แก่ Samsung Galaxy S III , LG Nexus 4 , LG Optimus G , Sony Xperia T และ Xiaomi Redmi 2

โดยสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในท้องตลาดที่ใช้ชิป Snapdragon 400 มาพร้อมกับเทคโนโลยี Qualcomm Quick Charge 1.0

002_Quick Charge 2.0

 

ระบบ Qualcomm Quick Charge 2.0 เปิดตัวในปี 2013 โดยมาพร้อมกับชิปเซ็ต Snapdragon 800 ชาร์จเร็วด้วยการใช้อะแดปเตอร์ 9V/1.67A ทำให้ชาร์จเร็วกว่าอะแดปเตอร์ 5V/1A ถึง 75% และให้พลังไฟการชาร์จสูงสุดที่ 15W

ซึ่งระดับพลังไฟในการชาร์จสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยสมาร์ทโฟนสามารถเลือกได้ว่าจะชาร์จที่ระดับ 5V/2A หรือชาร์จที่ระดับพลังไฟสูง 9V/1.67A ทำให้อะแดปเตอร์แบบ Quick Charge 2.0 นี้สามารถใช้เสียบชาร์จกับสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปได้อย่างปลอดภัย และทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า อะแดปเตอร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการชาร์จเร็ว ก็ไม่ได้ชาร์จเร็วกับสมาร์ทโฟนทุกรุ่น (เนื่องจากจะชาร์จเร็วเฉพาะเมื่อเสียบกับสมาร์ทโฟนที่ถูกออกแบบมาให้ชาร์จเร็วเท่านั้น)

มีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่จำนวนมากที่รองรับเทคโนโลยี Quick Charge 2.0 ได้แก่ Moto X รุ่นที่ 2 , Nexus 6 , Samsung Galaxy Note 4 , Galaxy Note Edge , Sony Xperia Z3 และ Z3 Compact , HTC One M8 , Xiaomi Mi 4 รวมถึงสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ตรุ่น Snapdragon 810 อย่าง HTC One M9 และ LG G Flex 2 ด้วย

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับระบบชาร์จเร็วของ Qualcomm ก็ได้มีการกล่าวอ้างถึงผลการทดสอบชาร์จสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone ที่ใช้แบตเตอรี่ขนาด 3,300mAh เอาไว้ดังนี้

* ชาร์จจาก 0 ถึง 60% ได้ภายในเวลา 30 นาที ด้วยเทคโนโลยี Quick Charge 2.0 (9V/1.67A)

* ชาร์จจาก 0 ถึง 30% ได้ภายในเวลา 30 นาที ด้วยเทคโนโลยี Quick Charge 1.0 (5V/2A)

* ชาร์จจาก 0 ถึง 12% ได้ภายในเวลา 30 นาที ด้วยระบบชาร์จปกติ (5V/1A)

ก็เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เห็นความแตกต่างในเรื่องความเร็วการชาร์จอย่างชัดเจน

 

OPPO VOOC Flash Charge 

OPPO ประสบความสำเร็จในการนำชิปเซ็ต Qualcomm ไปใช้กับสมาร์ทโฟนของตน แต่ OPPO ก็ยังเลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีชาร์จเร็วของตัวเอง และก็เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามาถึงสเตปที่ 2 เช่นกัน โดยเทคโนโลยีนี้ถูกตั้งชื่อว่า VOOC Flash Charge โดยที่คำว่า VOOC นั่นย่อมาจาก Voltage Open Loop Multi-Step Constant-Current Charging

ในยุคเริ่มแรก อะแดปเตอร์ VOOC Flash Charge ที่ให้มากับ OPPO Find 7 และ Find 7a นั้นมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และจ่ายพลังไฟได้สูงสุดถึง 5V/4.5A ซึ่งเท่ากับพลังไฟชาร์จ 22.5W

อะแดปเตอร์ในยุคที่สองถูกเรียกว่า VOOC mini เนื่องจากมีขนาดเล็กลง ทำให้กะทัดรัดพกพาสะดวกกว่าเดิม อีกทั้งสาย USB ยังสามารถดึงออกจากตัวอะแดปเตอร์ได้เหมือนกับอะแดปเตอร์ทั่วไป โดยอะแดปเตอร์ VOOC mini ให้มาพร้อมกับ OPPO N3 และ OPPO R5 และจ่ายพลังไฟได้สูงสุดถึง 5V/5A ซึ่งเท่ากับพลังไฟชาร์จ 25W เลยทีเดียว

003_VOOC

 

แต่สิ่งที่กล่าวไปข้างต้นยังไม่ใช่ทุกสิ่งที่ทำให้เทคโนโลยีของ OPPO นั้นแตกต่างจาก Qualcomm ความแตกต่างอย่างแท้จริงคือแบตเตอรี่ของระบบ VOOC มีการแบ่งเซลล์แยกย่อยกว่าแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไป และกระแสไฟ 5A จะถูกแบ่งออกไปชาร์จเซลล์ต่างๆ ของแบตเตอรี่ ทำให้ก้อนแบตเตอรี่ของระบบ VOOC มีจำนวนขั้วไฟมากกว่าแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ และช่องพอร์ต micro USB ของตัวเครื่องสมาร์ทโฟนที่รองรับระบบ VOOC จะมีขั้วไฟถึง 7 ขั้ว ในขณะที่สมาร์ทโฟนทั่วไปมีเพียง 5 ขั้วไฟ

โดยที่ระดับกระแสชาร์จถูกควบคุมอยู่ตลอดเวลาด้วยตัวไมโครคอนโทรลเลอร์ที่อยู่ในสมาร์ทโฟน เพื่อดูแลความปลอดภัยในการชาร์จ และแบตเตอรี่ไม่ได้ถูกชาร์จที่ระดับกระแสสูงตลอดช่วงการชาร์จ โดยเมื่อแบตเตอรี่ถูกชาร์จจนถึงระดับ 75%  อะแดปเตอร์จะลดระดับกระแสชาร์จลงมาที่ 2A  และเมื่อแบตเตอรี่เต็มถึงระดับ 85% ระดับกระแสชาร์จก็จะลงมาอยู่ที่ระดับ 1A

 

เทคโนโลยีชาร์จเร็วอื่นๆ

เทคโนโลยีชาร์จเร็วของ Samsung ไม่มีความแตกต่างจากเทคโนโลยี Qualcomm Quick Charge 2.0 แต่ก็ยังมีข้อสงสัยในเบื้องต้นว่า ในเมื่อสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุดของ Samsung ทั้ง Galaxy S6 และ S6 Edge นั้นใช้ชิปเซ็ต Exynos ของทาง Samsung เอง แล้วจะมีเทคโนโลยี Qualcomm Quick Charge 2.0 อยู่ในสมาร์ทโฟนทั้ง 2 รุ่นนี้ได้อย่างไร

หลังจากการค้นคว้าข้อมูล ก็ได้พบความจริงที่ว่า ทาง Qualcomm ได้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิปเซ็ตรายอื่นๆ ที่สนใจ สามารถนำเทคโนโลยี Quick Charge 2.0 เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชิปเซ็ตของตนได้ ด้วยการติดตั้งวงจรควรคุมพลังงานลงในชิปเซ็ต

เครื่อง Samsung Galaxy S6 และ S6 Edge มาพร้อมกับอะแดปเตอร์ 9V/1.97A ซึ่งเป็นแบบเดียวกับอะแดปเตอร์ของ Samsung Galaxy Note 4 ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน Qualcomm Quick Charge 2.0 แต่ทาง Samsung ก็จับระบบชาร์จเร็วนี้มาตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “Adaptive Fast Charging”

004_Adaptive Fast Charging

 

เทคโนโลยีชาร์จเร็วของทางฝั่ง Intel ก็เหมือนจะเป็นการหยิบระบบ Qualcomm Fast Charge 2.0 มาใช้งานด้วยเช่นกัน เราพบว่าสมาร์ทโฟนรุน Asus Zenfone 2 ZE551ML ที่ใช้ชิปเซ็ตหน่วยประมวลผลของ Intel มาพร้อมกับอะแดปเตอร์ 9V/2A และให้พลังไฟในการชาร์จสูงสุดที่ 16W โดยที่ทาง Asus ได้ตั้งชื่อให้กับเทคโนโลยีชาร์จเร็วของพวกเขาว่า Asus BoostMaster แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีว่า มันก็แค่ชื่อทางการตลาดเท่านั้น ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่แต่อย่างใด

005_BoostMaster

 

 

การท้าประลอง

สมาร์ทโฟนโดยส่วนใหญ่แสดงระดับการชาร์จเป็น % ในขณะที่อะแดปเตอร์แสดงประสิทธิภาพในหน่วยของแอมป์ (A) เราแสดงผลการทดสอบด้วยการพล็อตกราฟออกมา 2 กราฟ โดยกราฟแรกแสดงให้เห็นระดับ % ของแบตเตอรี่ที่ชาร์จได้ในแต่ละช่วงเวลา ส่วนกราฟที่สองแสดงให้เห็นระดับพลังงาน (ในหน่วย mAh) ของแบตเตอรี่ที่ชาร์จได้ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งในกราฟที่สอง เราจะเห็นการแบ่งกลุ่มอย่างชัดเจนระหว่างสมาร์ทโฟนที่มี กับที่ไม่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็ว

ผลการทดสอบสรุปได้ว่า OPPO , Samsung และ Asus รวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และมีความโดดเด่นเหนือระบบการชาร์จของ iPhone , HTC และ Meizu ดาวเด่นในการทดสอบครั้งนี้คือ OPPO N3 ที่ชาร์จแบตเตอรี่ได้เต็มถึงระดับ 2,000mAh ก่อนใคร แต่ก็มีการลดความเร็วในการชาร์จลงก่อนที่แบตฯ จะเต็ม 3,000mAh เพื่อเป็นการยืดอายุแบตเตอรี่

ซึ่งการที่ความเร็วในการชาร์จลดลง ทำให้ Samsung Galaxy Note 4 ที่มีความจุแบตเตอรี่สูงกว่าเล็กน้อย เบียดเข้าเส้นชัยไปแบบหายใจรดต้นคอ ในขณะที่ Samsung Galaxy Note Edge ที่มีแบตเตอรี่ความจุเท่ากับ OPPO N3 ก็ชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วเช่นเดียวกัน

Asus Zenfone 2 ที่มาพร้อมแบตเตอรี่ 3,000mAh กลับใช้เวลาชาร์จนานกว่าเมื่อเทียบกับ Samsung Galaxy Note Edge ที่มีขนาดความจุแบตเตอรี่เท่ากัน และใช้เทคโนโลยีการชาร์จที่คล้ายคลึงกัน โดยความเร็วการชาร์จของ Zenfone 2 เริ่มตกลงหลังจากระดับแบตฯ 70% ทำให้พ่ายแพ้ไปในการแข่งขันนี้

สมาร์ทโฟนในกลุ่มที่ 2 (กลุ่มของสมาร์ทโฟนที่ไม่มีเทคโนโลยีการชาร์จเร็ว) สามารถชาร์จในระดับความเร็วที่พอๆ กัน (ดูในกราฟที่ 2) แต่ก็ยังมีเซอร์ไพร์สเล็กๆ ในสมาร์ทโฟนกลุ่มนี้ กับการที่ iPhone 6 หลุดออกจากกลุ่มเมื่อชาร์จไปได้ประมาณชั่วโมงครึ่ง ความเร็วในการชาร์จก็เริ่มลดลง และใช้เวลานานถึงครึ่งชั่วโมงเพื่ออัดประจุ 10 – 15% สุดท้ายของแบตเตอรี่

และเพื่อคลายความสงสัย เราลองชาร์จ iPhone 6 Plus และ HTC One M9 ด้วยอะแดปเตอร์ที่ปล่อยพลังไฟได้สูงกว่าอะแดปเตอร์ที่ให้มากับเครื่อง (ซึ่งเป็นอะแดปเตอร์ของ iPad และอะแดปเตอร์ที่รองรับเทคโนโลยี Quick Charge 2.0) ซึ่งก็ทำให้สมาร์ทโฟนทั้ง 2 เครื่องชาร์จได้เร็วขึ้นจริงๆ และทำให้ทั้ง 2 รุ่นนี้สามารถทำเวลาเกาะอยู่ในกลุ่มสมาร์ทโฟนที่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็ว โดยที่ HTC One M9 นั้นรองรับ Quick Charge 2.0 อยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่มันชาร์จได้เร็วขึ้น

006_Graph01

 

กราฟที่ 1: ประสิทธิภาพการชาร์จ แสดง % แบตเตอรี่ที่ชาร์จได้ ต่อ เวลาที่ใช้ในการชาร์จ

และเมื่อมองจากกราฟที่ 1 ดูเหมือนว่า iPhone 6 สามารถเกาะกลุ่มสมาร์ทโฟนที่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็ว แต่ในความเป็นจริงคือ iPhone 6 ชาร์จแบตเตอรี่เสร็จเร็วเพราะมีแบตเตอรี่ความจุน้อยที่สุดในกลุ่มนั่นเอง (ซึ่งแบตฯ ของ iPhone 6 มีขนาดความจุเพียง 1,810mAh และแบตฯ ความจุน้อยก็ชาร์จเสร็จเร็วเป็นธรรมดา)

ในกราฟที่สองเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าในแต่ละช่วงเวลา สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องสามารถอัดกระแสไฟ (หน่วย mAh) ใส่แบตเตอรี่ได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่ง OPPO N3 ก็แสดงความโดดเด่นอีกเช่นเคย แต่ความเร็วก็ลดลงในช่วงปลายของการชาร์จ (เพื่อเป็นการถนอมแบตเตอรี่) Samsung Galaxy S6 และ S6 Edge เป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกๆ ที่ชาร์จแบตฯ เต็ม 100% ก่อนใคร นำหน้า Galaxy Note 4 และ Note Edge ที่ความจุแบตเตอรี่สูงกว่าไป 10 นาที

OPPO N3 เข้าเส้น 100% ที่หลัง Samsung Galaxy Note 4 และ Note Edge ไปเพียงไม่กี่นาที แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว OPPO N3 ถือว่าชาร์จได้เร็วที่สุด เพราะเมื่อดูจากราฟแล้ว สามารถทำความเร็วนำหน้าสมาร์ทโฟนอื่นๆ จนถึงระยะ 90% ของความจุแบตเตอรี่ หลังจากนั้นจึงถูกสมาร์ทโฟนอื่นๆ นำหน้าไป เนื่องจากมีการลดความเร็วในการชาร์จลงเพื่อถนอมแบตเตอรี่

007_Graph02

 

กราฟที่ 2: ประสิทธิภาพการชาร์จ แสดงปริมาณกระแสที่ชาร์จได้ (mAh) ต่อ เวลาที่ใช้ในการชาร์จ

ลำดับต่อไปจะเป็นการอธิบายลงลึกถึงประสิทธิภาพการชาร์จเร็วของสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่น รายละเอียดจะเป็นอย่างไรมาดูกันครับ

 

OPPO N3

OPPO N3 มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 3,000mAh และอะแดปเตอร์ VOOC Flash Charge ที่ให้พลังการชาร์จไฟสูงถึง 25W ซึ่งขนาดของอะแดปเตอร์ดูเหมือนจะใหญ่กว่าของสมาร์ทโฟนอื่นๆ แต่ใช้แรงดันไฟในการชาร์จที่ระดับ 5V ในขณะที่อะแดปเตอร์ชาร์จเร็วตัวอื่นๆ ใช้ระดับแรงดันไฟที่สูงกว่านี้

OPPO N3 ใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่เต็มประมาณชั่วโมงครึ่ง และไม่ใช่สมาร์ทโฟนที่ชาร์จแบตเตอรี่เสร็จเร็วที่สุดในการทดสอบนี้ แต่อย่างไรก็ดีสมาร์ทโฟนที่ชาร์จแบตเตอรี่เสร็จก่อนล้วนมีความจุแบตเตอรี่น้อยกว่า OPPO N3 และภายในเวลาเพียง 15 นาที OPPO N3 ชาร์จแบตเตอรี่เต็มไปแล้วถึง 1 ใน 3 (ประมาณ 32%) ทำให้มีพลังพอสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ 4 ชั่วโมง หรือท่องเน็ตได้ 2 ชั่วโมง หรือเปิดดูคลิปวิดีโอได้ 3 ชั่วโมง

และด้วยแบตเตอรี่ของ OPPO N3 ที่มีความจุสูง มันน่าประทับใจมากที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เต็ม 68% ได้ในเวลาเพียง 30 นาที ลองคิดดูว่าคุณตื่นมาทำกิจวัตรในยามเช้าก่อนออกไปทำงานพร้อมกับการเริ่มเสียบชาร์จแบตฯ และแค่ถึงตอนที่คุณกินอาหารเช้า OPPO N3 ก็มีพลังพอสำหรับการใช้งานหนักๆ ได้ทั้งวัน

008_oppo-n3

 

Time To Full Charge = เวลาที่ใช้ในการชาร์จแบตฯ จนเต็ม

Endurance = ระยะเวลาที่สามารถเปิดแสตนบายเครื่องได้โดยประมาณ

 

Samsung Galaxy S6

ด้วยขนาดตัวเครื่องที่บางลง ทำให้ Samsung Galaxy S6 มีขนาดความจุแบตเตอรี่ที่ลดลงจากสมาร์ทโฟนระดับเรือธงรุ่นก่อนๆ โดยแบตเตอรี่มีขนาดพียง 2,550mAh และมาพร้อมกับอะแดปเตอร์ที่รองรับเทคโนโลยีการชาร์จเร็วแบบ Adaptive Fast Charging ที่ให้พลังไฟชาร์จ 5V/2A สำหรับสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไป และให้พลังไฟชาร์จที่ 9V/1.67A สำหรับสมาร์ทโฟนที่รองรับการชาร์จเร็ว

The Galaxy S6 ชาร์จแบตเตอรี่เต็มในเวลา 1 ชั่วโมง 21 นาที และหลังจากการชาร์จ 15 นาที มีพลังพอสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ได้เกิน 5 ชั่วโมง หรือท่องเน็ตได้ 3 ชั่วโมง หรือเปิดดูคลิปวิดีโอได้ 3 ชั่วโมง

009_galaxy-s6

 

Samsung Galaxy S6 Edge

แบตเตอรี่ของ Samsung Galaxy S6 Edge มีขนาดความจุ 2,600mAh ซึ่งความจุสูงกว่าแบตเตอรี่ของ S6 เพียง 50mAh แต่ความสามารถในการชาร์จแบตฯ ของสมาร์ทโฟนทั้ง 2 เครื่องนี้แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยการชาร์จในช่วงแรกช้ากว่าเล็กน้อย แต่มาแซง Galaxy S6 ได้ในช่วงท้าย

อย่างไรก็ดี สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุดจาก Samsung ทั้ง 2 ก็เครื่องทำความเร็วในการชาร์จ และให้ระยะเวลาการใช้งานที่ใกล้เคียงกัน โดยหลังจากการชาร์จ 15 นาที Samsung Galaxy S6 Edge มีพลังพอสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ได้เกิน 5 ชั่วโมง หรือท่องเน็ตได้ 3 ชั่วโมง หรือเปิดดูคลิปวิดีโอได้ 3 ชั่วโมง

010_s6-edge

 

Apple iPhone 6

iPhone 6 เป็นสมาร์ทโฟนที่มีแบตเตอรี่ความจุต่ำที่สุดในการทดสอบครั้งนี้ (1,810mAh) และ iPhone 6 ไม่มีระบบชาร์จเร็ว ดังนั้นเราจึงทำการทดสอบชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ที่ให้มาในกล่อง ซึ่งให้พลังไฟชาร์จที่ 5V/1A

หลังจากการชาร์จ 15 นาที iPhone 6 มีพลังพอสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ได้นาน 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือท่องเน็ตได้น้อยกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งเล็กน้อย หรือเปิดดูคลิปวิดีโอได้น้อยกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งเช่นกัน

011_iphone-6

 

HTC One M9

HTC One M9 (แบตเตอรี่ 2,840mAh) เป็นสมาร์ทโฟนที่รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็วของ Qualcomm Quick Charge 2.0 แต่ HTC กลับให้มาเพียงอะแดปเตอร์ธรรมดาที่ให้พลังไฟในการชาร์จที่ 5V/1.5A ซึ่งการลดต้นทุนของสมาร์ทโฟนระดับเรือธงด้วยการให้แค่อะแดปเตอร์ธรรมดาที่ไม่มีระบบชาร์จเร็ว ย่อมทำให้ลูกค้าเกิดอาการผิดหวังเป็นธรรมดา แต่อย่างไรก็ดี เราลองทดสอบประสิทธิภาพการชาร์จของ HTC One M9 ด้วยอะแดปเตอร์ที่มีระบบชาร์จเร็ว Qualcomm Quick Charge 2.0 เพื่อที่จะได้รู้ว่า ประสิทธิภาพการชาร์จจะเป็นอย่างไรหากผู้ใช้งานลงทุนซื้ออะแดปเตอร์ที่ดีกว่ามาใช้งาน

ในขั้นแรก เราทดสอบการชาร์จ HTC One M9 ด้วยอะแดปเตอร์ที่ให้มาในกล่อง  และทำการทดสอบชาร์จอีกครั้งด้วยอะแดปเตอร์ชาร์จเร็ว Qualcomm Quick Charge 2.0 โดยอะแดปเตอร์ที่ให้มาในกล่องใช้เวลาชาร์จแบตฯ เต็มประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง และหลังจากการชาร์จ 15 นาที HTC One M9 มีพลังพอสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ได้เกือบ 2 ชั่วโมง หรือท่องเน็ตได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง หรือดูคลิปวิดีโอได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมงเช่นกัน

012_one-m9

 

และเมื่อชาร์จ HTC One M9 ด้วยอะแดปเตอร์ที่รองรับเทคโนโลยี Qualcomm Quick Charge 2.0 ผลปรากฏว่าชาร์จแบตฯ เต็มเร็วขึ้นเกือบ 40 นาที และแน่นอนว่าการเสียบชาร์จในระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถเติมพลังให้แบตฯ ได้มากกว่าอะแดปเตอร์ธรรมดา แต่อย่างไรก็ดี การเสียบชาร์จครึ่งชั่วโมงก็ทำให้แบตเตอรี่เต็มได้เพียง 1/3 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังกับเทคโนโลยีการชาร์จแบบ Quick Charge 2.0 ในขณะที่ระบบการชาร์จเร็วแบบ OPPO VOOC Flash Charge ชาร์จแบตฯ เสร็จเร็วกว่าประมาณครึ่งชั่วโมง และสามารถชาร์จพลังเข้าแบตฯ ได้มากกว่าในเวลา 30 นาที

013_one-m9-fc

 

Samsung Galaxy Note 4

Samsung Galaxy Note 4 มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 3,220mAh และมาพร้อมกับอะแดปเตอร์ที่ให้พลังไฟชาร์จเท่ากับ Galaxy S6 ที่ 9V/1.67A และใช้เทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบเดียวกัน แต่ด้วยความจุแบตเตอรี่ที่มากกว่าอยู่ 700mAh ทำให้ Galaxy Note 4 ใช้เวลาชาร์จแบตฯ เต็มนานกว่า และขนาดความจุแบตฯ ที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ช่วยทำให้ใช้งานได้นานขึ้นแต่อย่างใด (เมื่อเทียบระยะเวลาการใช้งานกับ Galaxy S6 ที่แบตฯ น้อยกว่า)

หลังจากการชาร์จ 15 นาที Samsung Galaxy Note 4 รองรับการสนทนาโทรศัพท์ได้ 6 ชั่วโมง หรือรองรับการท่องเว็บได้ 2 ชั่วโมงครึ่ง หรือรองรับการดูคลิปวิดีโอได้ 4 ชั่วโมง โดยทั้ง Samsung Galaxy Note 4 และ Galaxy S6 อัดพลังไฟได้จำนวน mAh เท่ากันในเวลา 15 แรกของการชาร์จ

014_note-4

 

Samsung Galaxy Note Edge

Samsung Galaxy Note Edge มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 3,000mAh ซึ่งเป็นขนาดแบตฯ ที่น้อยกว่า Galaxy Note 4 อยู่ 220mAh แต่สมาร์ทโฟนทั้ง 2 เครื่องนี้ใช้เวลาในการชาร์จใกล้เคียงกันมาก

แต่ผลจากการทดสอบพบว่า Galaxy Note Edge มีระยะเวลาการใช้งานน้อยกว่า Galaxy Note 4 อย่างชัดเจน ทำให้การชาร์จแบตเตอรี่เพียงช่วงสั้นๆ 15 นาที Galaxy Note Edge มีพลังไฟไม่พอที่จะทำอะไรได้มากนัก โดยรองรับการสนทนาโทรศัพท์ได้ประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง หรือรองรับการท่องเว็บได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง หรือรองรับการดูคลิปวิดีโอได้เกิน 2 ชั่วโมงอยู่เล็กน้อย

015_note-edge

 

iPhone 6 Plus

iPhone 6 Plus มาพร้อมแบตฯ ที่มีขนาดความจุสูงกว่า iPhone 6 เกือบเท่าตัว (2,915mAh) ส่งผลให้ใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่นานเกิน 3 ชั่วโมง และถึงแม้ว่าเวลาชาร์จจะไม่ได้นานเป็น 2 เท่าของ iPhone 6 แต่ก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้เวลาชาร์จนานที่สุดในการทดสอบครั้งนี้

แต่อย่างไรก็ดี iPhone 6 Plus ทำเวลาชาร์จได้ดีกว่าที่เราคิดไว้ในตอนแรก เนื่องจากเมื่อเทียบกับ iPhone 6 แล้ว iPhone 6 Plus มีจุดลดความเร็วในการชาร์จที่ระดับ mAh สูงกว่า และการเสียบชาร์จในช่วงระยะเวลาสั้นๆ 15 นาที iPhone 6 Plus มีพลังพอแค่สำหรับการสนทนาโทรศัพท์ได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง หรือท่องเว็บได้ 1 ชั่วโมง หรือดูคลิปวิดีโอได้ 1 ชั่วโมงครึ่ง

016_iphone-6-plus

 

สเตปถัดมาเราทดสอบชาร์จ iPhone 6 Plus ด้วยอะแดปเตอร์ของ iPad ที่ให้พลังไฟในการชาร์จที่สูงกว่า (5.1V/2.1A) ผลปรากฏว่าชาร์จแบตเตอรี่ได้เต็มเร็วกว่าเดิมประมาณ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งการที่ชาร์จแบตฯ เต็มเร็วขึ้น อัดพลังเข้าแบตฯ ได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นลง ก็เป็นประโยชน์มากในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่อย่างไรตาม iPhone 6 Plus ก็ยังใช้เวลาชาร์จแบตเต็มช้ากว่าสมาร์ทโฟนจอใหญ่รุ่นอื่นๆ อยู่กว่า 40 นาที และอัดพลังในช่วง 15 และ 30 นาทีแรกของการชาร์จได้น้อยกว่าสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

017_iphone-6-plus-fc

 

ASUS Zenfone 2

Asus Zenfone 2 เป็นสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียวในการทดสอบที่ใช้ชิปประมวลผลของ Intel  และอะแดปเตอร์ใช้แรงดันไฟ 9V และใช้กระแส 2A ซึ่งต่างจากเทคโนโลยีการชาร์จเร็วแบบ Qualcomm Quick Charge 2.0 ที่ใช้ระดับแรงดันเท่ากัน แต่ใช้กระแสต่ำกว่าที่ 1.67A ซึ่งเทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบ BoostMaster ของ Asus ที่ช่วยเร่งความเร็วในการชาร์จ ก็สามารถทำตามที่โฆษณาเอาไว้ได้จริง กับการชาร์จแบตฯ ได้เต็ม 60% ในเวลา 40 นาที

เมื่อเวลาชาร์จผ่านไป 15 นาที Asus Zenfone 2 มีพลังพอสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ 4 ชั่วโมง หรือท่องเว็บได้ 2 ชั่วโมง หรือดูคลิปวิดีโอได้ 2 ชั่วโมง บทสรุปคืออะแดปเตอร์ชาร์จแบตฯ ได้ไวมาก แต่เครื่องก็กินพลังไฟในการทำงานมากเช่นกัน ทำให้การเสียบชาร์จช่วงเวลาสั้นๆ 15 นาที ไม่ได้ทำให้เครื่องมีพลังพอที่จะทำอะไรได้มากนัก

018_zenfone-2-retest

 

Meizu m1 note

Meizu m1 note ใช้อะแดปเตอร์มาตรฐานที่ปล่อยพลังไฟ 5V/2A ในการชาร์จแบตเตอรี่ที่มีขนาดความจุสูงถึง 3,140mAh ทำให้ใช้เวลาในการชาร์จนานเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่ายังชาร์จได้เร็วกว่า iPhone 6 Plus ที่มีขนาดความจุแบตเตอรี่สูงกว่าอยู่เล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าใช้เวลาชาร์จนานกว่าสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆ ที่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็วอยู่เป็นเท่าตัว

m1 note ใช้พลังงานมากกว่าสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆ ในการสนทนาโทรศัพท์ ทำให้การเสียบชาร์จในช่วงระยะเวลาสั้นๆ 15 นาทีนั้น m1 note มีพลังพอสำหรับการสนทนาโทรศัพท์ได้น้อยกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือท่องเว็บได้แค่ 1 ชั่วโมง หรือดูคลิปวิดีโอได้แค่ 1 ชั่วโมง

019_meizu-m1-note

 

 

บทสรุป

การทดสอบของเราแสดงให้เห็นแล้วว่า เทคโนโลยีการชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนได้ก้าวผ่านจากยุคที่ใช้เวลาชาร์จกันนานๆ กว่าแบตฯ จะเต็ม ไปสู่ยุคที่เสียบชาร์จในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ของการกินอาหารมื้อเช้า สมาร์ทโฟนของคุณก็มีพลังไฟพอสำหรับการใช้งานได้ทั้งวัน และสำหรับ iPhone 6 Plus ที่ไม่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็ว ก็สามารถชาร์จได้เร็วขึ้นด้วยการใช้อะแดปเตอร์ของ iPad ที่ให้พลังไฟในการชาร์จที่สูงกว่า

020_gsmarena_002

 

เทคโนโลยีการชาร์จ VOOC Flash Charge ของ OPPO โดดเด่นที่สุดในการทดสอบครั้งนี้ ในขณะที่เทคโนโลยีการชาร์จเร็วรูปแบบอื่นๆ นั้นเป็นการหาจุดสมดุลของการจ่ายพลังไฟชาร์จด้วยการปรับระดับแรงดัน และระดับกระแสไฟที่ใช้ในการชาร์จ ส่วนเทคโนโลยี OPPO VOOC Flash Charge ทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป ด้วยการซอยแบ่งแบตเตอรี่ออกเป็นหลายเซลล์ที่สามารถชาร์จไฟไปได้พร้อมๆ กัน ทำให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วขึ้น

ผลงานแสดงให้เห็นชัดเจนบนกราฟ OPPO N3 เติมพลังให้แบตเตอรี่ได้เร็วที่สุด และชาร์จแบตเตอรี่ได้ถึงระดับเกือบ 70% ภายในเวลาแค่ครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับพลังไฟที่พอสำหรับการใช้งานได้ทั้งวัน ทำให้เกือบจะไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องเสียบชาร์จ OPPO N3 เป็นเวลานานเกินครึ่งชั่วโมง

Samsung Galaxy S6 และ Galaxy Note ทั้ง 4 เครื่องในการทดสอบครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชาร์จเร็วที่สุด แต่สมาร์ทโฟนทั้ง 4 เครื่องนี้ก็สามารถรองรับการใช้งานทั้งวันได้แบบสบายๆ ด้วยการเสียบชาร์จเพียงช่วงเวลาสั้น 15 – 30 นาที

Asus Zenfone 2 ทำให้ทีมงานของ Intel ต้องภูมิใจ เพราะในการทดสอบนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าชาร์จแบตฯ เต็ม 60% ภายใน 40 นาทีตามที่โฆษณาเอาไว้ได้จริง

โดยพื้นฐานแล้ว  Samsung กับ Asus ใช้เทคนิคเดียวกัน ด้วยการลดระดับกระแสไฟในการชาร์จลงเล็กน้อย และไปเพิ่มระดับแรงดันไฟที่ใช้ในการชาร์จ ซึ่งมีข้อดีคืออะแดปเตอร์มีขนาดเล็กกว่าอะแดปเตอร์ของ OPPO VOOC Flash Charge แต่ทั้ง Samsung และ Asus ก็ยังชาร์จได้เร็วไม่เท่า OPPO

HTC One M9 รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบ Qualcomm Quick Charge 2.0 แต่ก็น่าเสียดายที่ HTC ไม่ได้ให้อะแดปเตอร์ชาร์จเร็วมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในกล่อง ทำให้ทั้ง HTC One M9 และ Meizu m1 note อยู่ในกลุ่มที่ใช้เวลาชาร์จนานรั้งท้ายในการทดสอบนี้

ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการชาร์จ iPhone 6 Plus ที่ต้องรอถึง 3 ชั่วโมง แต่ก็ยังโชคดีที่มีทางออกสำหรับปัญหานี้ด้วยการเสียบชาร์จกับอะแดปเตอร์ที่ให้พลังไฟในการชาร์จที่สูงกว่า อย่างที่ในการทดสอบนี้เราลองเสียบชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ของ iPad ผลก็ปรากฏว่าชาร์จได้เร็วขึ้นจริง

แต่ทั้งนี้การเสียบชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ที่จ่ายพลังไฟได้สูงขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สมาร์ทโฟนทุกเครื่องชาร์จแบตฯ ได้เร็วขึ้นเสมอไป เนื่องจากเครื่องสมาร์ทโฟนจะดึงพลังไฟจากอะแดปเตอร์ไปเพียงในระดับที่แบตเตอรี่รับไหวเท่านั้น

สำหรับเทคโนโลยีแท่นชาร์จแบบไร้สาย หรือ Wireless Charging ที่ทำให้ชาร์จได้สะดวกโดยไม่ต้องเสียบสาย แต่ต้องแลกมาด้วยความเร็วในการชาร์จที่ต่ำมากๆ ซึ่งแท่นชาร์จแบบไร้สายที่สามารถจ่ายพลังไฟได้สูงสุดในปัจจุบัน ยังจ่ายกระแสได้เพียง 1A แถมพลังไฟส่วนหนึ่งยังสูญเสียไปในขั้นตอนของการส่งผ่านพลังไฟไปสมาร์ทโฟน ทำให้ใช้พลังในการชาร์จได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ณ เวลานี้ การชาร์จผ่านสายยังคงเป็นวิธีการชาร์จแบตฯ ให้สมาร์ทโฟนได้เร็วกว่าวิธีอื่นๆ และเทคโนโลยีการชาร์จก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าอดีตอย่างชัดเจน ในอดีตเราอาจต้องรอชาร์จแบตฯ กันนานๆ เป็น 3 ชั่วโมง แต่ด้วยเทคโนโลยีชาร์จเร็วหลากหลายรูปแบบ ทำให้การเสียบชาร์จแค่ช่วงเวลาสั้นๆ 15 – 20 นาที สมาร์ทโฟนก็มีพลังเพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานได้ทั้งวัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก