ล่าสุด Apple ได้เปิดให้จอง iPad Air 4 Wi-Fi เป็นที่เรียบร้อย และจะพร้อมวางจำหน่ายในวันที่ 23 ตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยไอแพดรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นดีไซน์คล้าย iPad Pro เช่นเดียวกับอุปกรณ์เสริมที่ใช้งานร่วมกับรุ่นโปรได้เลย โดยในบทความนี้จะเป็นการพรีวิว iPad Air 4 เครื่องจริง พร้อมสเปคแบบคร่าว ๆ ก่อนครับ
สเปค iPad Air 4
- หน้าจอ Liquid Retina ขนาด 10.9 นิ้ว 264 ppi True Tone, ขอบเขตสี DCI-P3, ความสว่าง 500nits
- ชิปประมวลผล Apple A14 Bionic 5nm
- ความจุในตัวเครื่อง 64GB/ 256GB
- กล้องหลัง 12MP (ƒ/1.8), บันทึกวิดีโอสูงสุด 4K ไม่มีแฟลช LED
- กล้องหน้า FaceTime HD 7MP (ƒ/2.0), บันทึกวิดีโอสูงสุด 1080p
- ลำโพงคู่สเตอริโอในแนวนอน
- การเชื่อมต่อ Wi-Fi 6, Bluetooth 5.0, USB Type-C
- เซ็นเซอร์ Touch ID บริเวณด้านข้าง
- แบตเตอรี่ Lithium polymer รุ่น Wi-Fi ใช้งานได้นานสูงสุด 10 ชั่วโมง | รุ่น Wi-Fi + Cellular ใช้งานได้นานสูงสุด 9 ชั่วโมง
- ระบบปฏิบัติการ iPadOS 14
- ขนาด 247.6 x 178.5 x 6.1 มม.
- น้ำหนักรุ่น Wi-Fi 458 กรัม | Wi-Fi + Cellular 460 กรัม
- ราคาเริ่มต้น 19,900 บาท
สำหรับรุ่น และราคาของ iPad Air 4th Generation จะวางจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 2 ความจุ และแบ่งเป็น Wi-Fi กับ WiFi + Cellular มีราคาดังนี้
iPad Air 4 Wi-Fi ราคา
- 64GB ราคา 19,900 บาท
- 256GB ราคา 24,900 บาท
iPad Air 4 Wi-Fi + Cellular (ใส่ซิมได้) ราคา
- 64GB ราคา 24,400 บาท
- 256GB ราคา 29,400 บาท
อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปใน iPad Air 4 ก็คือ วางจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 5 สี ถือเป็นครั้งแรกที่ไอแพดมีสีให้เลือกเยอะขนาดนี้ครับ ประกอบไปด้วย สีเทา Space Grey, สีเงิน, สีโรสโกลด์ และ 2 สีใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างสีเขียว และสีน้ำเงินสกายบลู โดยเครื่องรีวิว iPad Air 4 Wi-Fi ที่จะรีวิวให้อ่านกันนั้นเป็นสีเทา Space Grey ความจุ 256GB
แกะกล่อง iPad Air 4 Wi-Fi
กล่องของ iPad Air 4 มีการเล่นกิมมิกกับสีตัวเครื่องด้วยครับ อย่างแรกเลยคือรูปด้านหน้า Wallpaper จะเปลี่ยนไปตามสีที่เลือก เช่นเดียวกับโลโก้ Apple บริเวณข้างกล่อง ก็จะเป็นสีเดียวกับตัวเครื่องด้วย กรณีเครื่องรีวิวเราที่เป็นสีเทา Space Grey โลโก้ Apple ก็จะเป็นสีเดียวกัน
เมื่อเปิดกล่องมาก็จะพบกับตัวเครื่อง พร้อมกับอุปกรณ์เสริม 2 ชิ้น ได้แก่ สาย USB Type-C to USB Type-C กับอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้ 20W (แบบเดียวกับ iPad 8th) และมีคู่มือ กับสติ๊กเกอร์รูป Apple จำนวน 2 ชิ้น ถึงแม้ iPhone 12 จะเลิกให้อะแดปเตอร์เป็นอุปกรณ์เสริมในกล่อง แต่ iPad ยังมีให้อยู่นะครับ
พรีวิว iPad Air 4
ตัวเครื่อง iPad Air 4 มาพร้อมกับดีไซน์ที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับ iPad Pro 2020 เป็นอย่างมาก จะว่าไปก็ดูคล้ายกับ iPad Pro 11 2018 มากทีเดียว เพราะมีกล้องหลังตัวเดียวเหมือนกัน เพียงแต่กล้องหลังของรุ่นนี้จะไม่มี LED Flash มาให้
การออกแบบตัวเครื่อง เริ่มจากด้านหน้าจะเป็นหน้าจอขนาดใหญ่กว่าเดิมที่ 10.9 นิ้ว บนหน้าจอแบบ Liquid Retina ขอบหน้าจอหนากว่า iPad Pro เล็กน้อย แต่ก็ให้ความรู้สึกที่เต็มตาไม่แพ้กัน ด้านบนมีกล้องหน้า FaceTime HD ความละเอียด 7MP ที่รองรับการถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุด 1080p หรือ Full HD
ตัวหน้าจอ Liquid Retina ของ iPad Air 4 แม้จะมีความใกล้เคียงกับ iPad Pro 11 แต่นอกจากเรื่องขนาดหน้าจอที่เล็กกว่าแล้วนั้น เรื่องความสว่างก็ยังเร่งได้สุดแค่ 500 nits (Pro ได้ 600 nits) และดูเหมือนว่าคอนทราสต์หน้าจอจะมีความจัดจ้านน้อยกว่ารุ่นโปร อีกทั้งถูกตัดเรื่อง ProMotion ออกไป ทำให้อัตรารีเฟรชหน้าจอจะเป็นแบบ 60Hz ซึ่งมีผลทั้งการปัดหน้าจอไปมา และการใช้งานร่วมกับ Apple Pencil 2 เล็กน้อย
ส่วนฟีเจอร์หน้าจอที่เหลือนั้น แทบจะถอดจากรุ่นโปรมาเลยก็ว่าได้ครับ ไม่ว่าจะเป็น Full Lamination, เคลือบสารกันรอยนิ้วมือ, True Tone และขอบเขตสีกว้าง DCI-P3
ด้านการถูกตัด ProMotion ออกไป แล้วผมบอกว่ามันกระทบกับการใช้งาน Apple Pencil 2 จะเป็นเรื่องของค่าความหน่วง Latency ระหว่างดินสอกับหน้าจอ ซึ่งจะมีความหน่วงมากกว่าตัวโปรเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในการใช้จดบันทึกอาจไม่เห็นผลเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเป็นคนที่วาดรูปจริงจัง ผมว่าลองดูเป็น iPad Pro น่าจะตอบโจทย์กว่า
รายละเอียดด้านข้างของ iPad Air 4 เริ่มจากด้านขวา ประกอบไปด้วยปุ่มปรับระดับเสียง และช่องสำหรับเชื่อมต่อ + ชาร์จไฟ Apple Pencil 2 เวลาใช้งานจะเป็นแม่เหล็ก สามารถดูด Apple Pencil 2 ติดด้านข้างตัวเครื่องได้ ทำให้พกพาสะดวก
ด้านล่างเป็นพอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB Type-C รองรับการถ่ายโอนข้อมูลที่ความเร็วสูงสุด 5Gbps ใช้ถ่ายโอนไฟล์ผ่าน USB Thumb Drive หรือต่อกับกล้องถ่ายรูปรุ่นใหม่ ๆ ผ่านสาย USB Type-C เพื่อถ่ายโอนรูปได้ทันที อีกทั้งรองรับการทำงานร่วมกับอุปกรณ์เสริมที่เป็นพอร์ต USB Type-C ไปจนถึงการต่อภาพขึ้นจอ Monitor ได้อีกด้วย
ด้านบนตัวเครื่องประกอบไปด้วยปุ่ม Sleep/ Wake ที่รับหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ปลดล็อกตัวเครื่องด้วยลายนิ้วมือ Touch ID ในตัว เป็นครั้งแรกที่ Apple ใส่ Touch ID ที่ไม่ใช่ปุ่มกลม และอยู่ด้านข้างตัวเครื่อง สามารถปลดล็อกได้รวดเร็วทีเดียว
สำหรับลำโพงของ iPad Air 4 จะอยู่บริเวณด้านข้าง หากถือตัวเครื่องแนวตั้ง ก็จะอยู่ด้านบนและด้านล่าง แต่ความน่าสนใจคือตัวลำโพงจะแสดงเสียงแบบ Stereo เฉพาะการใช้งานในแนวนอนเท่านั้น เรื่องเสียงลำโพงก็ถือว่าให้เสียงที่ดัง รายละเอียดเสียงค่อนข้างทำได้ดี แต่เมื่อเทียบกับ iPad Pro รุ่นนี้จะด้อยกว่าในเรื่องของมิติเสียง และเสียงย่านต่ำ (เสียงเบส)
ด้านหลังตัวเครื่องยังคงดีไซน์แบบมินิมอลตามแบบฉบับของ Apple ประกอบไปด้วยกล้องหลัง 12MP ที่เป็นกล้องตัวเดียวกับใน iPad Pro มีโลโก้ Apple ตรงกลาง และบริเวณด้านล่างจะเป็นพอร์ต Smart Connector สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริม
อุปกรณ์เสริมที่ iPad Air 4 รองรับ นอกจาก Apple Pencil 2 (ราคา 4,490 บาท) แล้ว ก็จะมีเคสฝาพับ Smart Folio (ราคา 2,990 บาท) ส่วนเคสคีย์บอร์ด จะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ Smart Keyboard Folio (ราคา 5,990 บาท) และ Magic Keyboard (ราคา 9,990 บาท) โดยเคสคีย์บอร์ดทั้งสองรุ่นนั้น จะใช้แบบเดียวกับ iPad Pro 11 2020 ครับ
สำหรับการพรีวิว iPad Air 4 ก็จบเพียงเท่านี้ก่อน ส่วนเรื่องการใช้งาน ความแรงของชิป Apple A14 Bionic รวมถึงการทำงานร่วมกับอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ผมขอติดไว้พูดในรีวิวฉบับเต็ม iPad Air 4 รอติดตามกันได้ในเร็ว ๆ นี้ครับ