
ในขณะที่สมาร์ตโฟนจากจีนหลายรุ่นมาพร้อมแบตเตอรี่ขนาดมหึมาเกิน 7,000mAh แต่ผู้ใช้งานในอเมริกาและยุโรปกลับต้องใช้มือถือที่มีแบตเตอรี่เล็กกว่าอย่างชัดเจน เช่น Galaxy S26 Ultra ของ Samsung ที่ยังคงใช้แบตเตอรี่ 5,000mAh หรือ iPhone 16 Pro Max ที่มีเพียง 4,685mAh แล้วทำไมถึงเกิดช่องว่างนี้? แค่ลดต้นทุนเหรอ? รายงานใหม่ชี้ว่า “กฎระเบียบล้าสมัย” ต่างหากคือสาเหตุหลัก
ในประเทศจีน สมาร์ตโฟนเรือธงอย่าง Xiaomi 15 Ultra และ Vivo X200 Pro ต่างมาพร้อมแบตเตอรี่ 6,000mAh และมีแนวโน้มจะดันไปถึง 7,000mAh เป็นมาตรฐานภายในปี 2026 แต่เมื่อนำเข้าตลาดโลก กลับถูกลดความจุลงเหลือแค่ 5,410mAh ใน Xiaomi 15 Ultra รุ่นที่วางขายในเยอรมนี และ 5,200mAh ใน Vivo X200 Pro รุ่นยุโรป ส่วน Galaxy S26 Ultra ของ Samsung ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในปี 2026 ก็ยังใช้แบตเตอรี่ 5,000mAh เหมือนเดิม ไม่ต่างจาก Galaxy S20 Ultra ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2020
สาเหตุหลักมาจากข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการขนส่งของสหรัฐฯ อย่างกฎ 49 CFR 173.185 ที่จำกัดความจุของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไว้ไม่เกิน 20Wh (ประมาณ 5,000mAh) เพื่อไม่ให้ถูกจัดอยู่ในหมวด “วัตถุอันตรายระดับ 9” ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการขนส่งพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ในยุโรปก็มีข้อจำกัดคล้ายกัน แม้รายละเอียดจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม

ผู้ผลิตจากจีนอย่าง Xiaomi และ Vivo เองก็ต้องปฏิบัติตามกฎเหล่านี้เมื่อนำสมาร์ตโฟนเข้าตลาดตะวันตก ในขณะที่แบรนด์นอกจีนอย่าง Samsung, Apple และ Google ก็เลือกที่จะ “ไม่เสี่ยง” และคงความจุแบตไว้ในระดับที่ปลอดภัยต่อข้อบังคับ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีทางออก เช่น การใช้ระบบแบตเตอรี่แบบ 2 ก้อน (dual-cell) เหมือนที่ OnePlus 13 ใช้ ซึ่งแบ่งแบตเตอรี่ขนาด 6,000mAh ออกเป็น 2 ก้อน โดยแต่ละก้อนไม่เกิน 20Wh ทำให้ผ่านข้อกำหนดได้โดยยังคงความจุรวมที่สูงขึ้น
และคำถามที่หลายคนสงสัย: แล้วแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ของสมาร์ตโฟนจีน “อันตราย” กว่าแบตฯ ของฝั่งอเมริกาหรือไม่?
ข้อมูลในปัจจุบันชี้ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น เพราะแม้จะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในกลุ่มมือถือจีนที่ใช้แบตขนาดใหญ่ ตรงกันข้าม กลับมีกรณีแบตเตอรี่ลุกไหม้ในสมาร์ตโฟนเรือธงของ Samsung หลายครั้ง ทั้งที่ใช้แบตในขอบเขตที่ปลอดภัยตามมาตรฐานด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้จึงอาจสะท้อนว่า กฎระเบียบของสหรัฐฯ และยุโรปในปัจจุบัน อาจล้าสมัย และไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงจริงในโลกปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว
ที่มา Gizmochina