ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนราคาไม่แพงหลายรุ่น มาพร้อมกับสเปคและฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ดีไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนเรือธง Vivo Y95 ก็เป็นสมาร์ทโฟนราคาเบา ๆ อีกรุ่น ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องเสียเงินเป็นหมื่น อีกทั้งหลาย ๆ ฟีเจอร์ของ Vivo Y95 ก็แทบจะถอดแบบมาจากรุ่นพี่ของค่ายอย่าง Vivo V11
สเปค Vivo Y95
- หน้าจอขนาด 6.22 นิ้ว ความละเอียด HD+ 270ppi อัตราส่วน 19:9
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 439 Octa-Core ความเร็ว 1.9GHz
- ชิปกราฟฟิก Adreno 505
- RAM 4GB
- ความจุ 64GB รองรับ MicroSD Card ความจุสูงสุด 256GB
- ระบบปฏิบัติการ Android 8.1 Oreo ครอบทับด้วย Funtouch OS 4.5
- กล้องหลังคู่ความละเอียด 13 + 2 ล้านพิกเซล แฟลช LED พร้อม AI ปรับแต่งภาพได้กว่า 140 ฉาก
- กล้องหน้าความละเอียด 20 ล้านพิกเซล ปรับหน้าสวยด้วย AI และไฟแฟลชจากหน้าจอ
- ถาดซิมแบบ 3 Slot (2 nano sim + microSD card)
- การเชื่อมต่อ : Wi-Fi 2.4G / Bluetooth 4.2 / Micro USB 2.0 / GPS / OTG และมีพอร์ตหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
- ระบบความปลอดภัย : ปลดล็อกด้วยใบหน้า + สแกนลายนิ้วมือ
- แบตเตอรี่ : 4,030mAh
- ราคาเปิดตัว 7,499 บาท
สำหรับ Vivo Y95 เปิดราคามาที่ 7,499 บาท จัดอยู่ในราคาที่หลายคนตัดสินใจเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก และยังมีโปรโมชันร่วมกับค่ายมือถือ ทำให้ลดราคาค่าเครื่องไปได้อีก ณ ตอนที่ผมกำลังเขียนรีวิว Y95 ราคาติดโปรอยู่ที่ประมาณ 5,499 บาท (แพ็กเกจรายเดือน 699 บาท) แต่ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ แนะนำให้เลื่อนลงมาอ่านรีวิว Vivo Y95 เพื่อประกอบการตัดสินใจได้เลยครับ
Camera กล้องถ่ายภาพ
เริ่มการรีวิว Vivo Y95 ด้วยจุดเด่นที่สุดของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ ได้แก่ กล้องหน้าความละเอียด 20 ล้านพิกเซล มาพร้อมกับ AI Face Beauty ที่ไม่ใช่แค่ปรับแต่งใบหน้าให้สวยงาม ลบริ้วรอย เร่งสีผิวให้ขาวเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่เป็นการวิเคราะห์เพศ, อายุ, สีผิว, สภาพผิว, สภาพแสงขณะถ่าย และทำการปรับแต่งภาพให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลโดยอัตโนมัติ
Face Beauty ของ Y95 จึงเป็นการปรับแต่งที่อิงจากตัวบุคคลจริง ๆ ไม่ใช่ว่าถ่ายออกมาแล้ว Beauty เกินไปจนจำตัวเองไม่ได้ หมดปัญหาที่ว่าถ่ายแล้วแบ๊วเกิน ขาวเกินจนดูปลอม
ฟีเจอร์เอาใจสาว ๆ (หรือหนุ่ม ๆ ก็ได้) อย่าง AR Sticker ก็ถูกใส่มาใน Y95 เช่นกัน รองรับทั้งการถ่ายภาพนิ่ง และการถ่ายวีดีโอ มีสติ๊กเกอร์ให้เลือกหลายแบบครับ จะมาสายแบ๊ว หรือสายฮาก็เลือกได้ตามชอบ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า Vivo Y95
ส่วนกล้องหลังของ Y95 ก็จัดเต็มไม่แพ้กล้องหน้า เพราะเป็นกล้องหลังคู่ ความละเอียด 13 + 2 ล้านพิกเซล ตัวกล้องรองออกแบบมาสำหรับการวัดระยะ ใช้เฉพาะตอนที่ถ่ายโหมด Portrait หรือโหมดหน้าชัดหลังเบลอ เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพปกติทั่วไป จะใช้เซ็นเซอร์ความละเอียด 13 ล้านพิกเซลเป็นหลัก
ด้านซอฟท์แวร์ก็ตามเทรนด์กล้องสมาร์ทโฟนยุคนี้ครับ Vivo Y95 มีฟีเจอร์ AI scene recognition ที่จำแนกสถานการณ์ได้ถึง 140 หมวดหมู่ จากนั้นทำการปรับแต่งภาพถ่ายให้อัตโนมัติ นอกจากนี้ AI ยังช่วยในการปรับแต่งภาพในโหมด Portrait หรือโหมดหน้าชัดหลังเบลอให้เนียนมากขึ้นอีกด้วย
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ถูกใส่เข้ามาในกล้องหลัง Y95 ก็คือ Google Lens ที่เป็น AI ของทาง Google ช่วยในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ เพียงแค่ส่องกล้องไปยังสถานที่หรือวัตถุ ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น อยากรู้ว่าของชิ้นนี้หาซื้อได้ที่ไหน ก็แค่ส่อง Google Lens ไปที่ของชิ้นนั้นได้เลย
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Vivo Y95
หน้าจอ Halo FullView 6.22 นิ้ว
Vivo Y95 มาพร้อมกับหน้าจอแบบ Halo FullView Display ขนาด 6.22 นิ้ว พื้นที่หน้าจอต่อพื้นที่ด้านหน้าคิดเป็น 88.6% เท่ากับว่าด้านหน้าของตัวเครื่อง แทบจะเป็นหน้าจอทั้งหมด ด้านบนหน้าจอมีรอยบากเล็ก ๆ เป็นตำแหน่งของกล้องหน้า 20 ล้านพิกเซล
ความคมชัดของหน้าจอในระดับ HD+ ก็ถือว่าคมชัดในระดับที่ยอมรับได้ จะดู Youtube เล่น Facebook หรือแม้แต่เล่นเกมก็เต็มตา แต่ก็มีข้อสังเกตเล็กน้อยเรื่องความสว่างหน้าจอ หากเล่นกลางแดด หน้าจอ Y95 จะสู้แสงแดดจัด ๆ ไม่ค่อยได้
ข้อดีของหน้าจอแบบ Halo FullView คือมีติ่งหน้าจอที่ขนาดเล็กมาก และพื้นที่ด้านบนสำหรับการแสดงไอคอนแจ้งเตือนต่าง ๆ แสดงผลได้อย่างเต็มที่ ส่วนการรับชมวีดีโอ, รับชมภาพยนตร์ สามารถเลือกได้ว่าจะตัดขอบซ้ายขวา หรือจะให้แสดงผลเต็มจอเลยก็ได้เช่นกัน
ด้านการเล่นเกม ถือว่าเป็นความได้เปรียบตั้งแต่แรกแล้ว กับการที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ถึง 6.22 นิ้ว ทำให้การใช้งานไม่ต้องเพ่งหน้าจอมาก และด้วยความที่เป็นหน้าจออัตราส่วน 19:9 ในบางเกมที่ปรับแต่งให้ทำงานร่วมกับอัตราส่วนหน้าจอแบบนี้ จะได้พื้นที่ในการแสดงผลมากขึ้นกว่าหน้าจออัตราส่วนเดิม ๆ ด้วยครับ
Design – การออกแบบ
ด้านการออกแบบ ผมว่าฝาหลังของ Y95 ออกแบบมาได้สวยงามไม่แพ้เรือธง มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบพิเศษ ในการเคลือบผิวฝาหลังให้มีความมันวาว ดูพรีเมียมเหมือนฝาหลังกระจก สีสันตัวเครื่องเป็นแบบไล่เฉดและมีประกาย สีเครื่องรีวิว Y95 เป็นสี Starry Black ที่ไล่เฉดระหว่างสีดำ กับสีน้ำเงิน ส่วนอีกสีมีชื่อว่า Aurola Red ไล่เฉดระหว่างสีแดงกับสีม่วง โดยสีของตัวเครื่องทั้ง 2 สี จะเปลี่ยนไปเมื่อมองจากมุมที่แตกต่างกันอีกด้วย
ถาดซิม Vivo Y95 เป็นถาดซิมแบบ 3 Slot แยกชัดเจนระหว่างซิม 1, ซิม 2 และ MicroSD card คือใส่พร้อมกันได้ ไม่ต้องแยกเหมือน Hybrid slot โดยรองรับซิมการ์ดแบบ nano sim ทั้ง 2 ซิม ส่วน MicroSD Card รองรับความจุสูงสุดถึง 256 GB
พอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ของ Y95 ก็ยังคงมีครบครัน ทั้งพอร์ตเชื่อมต่อแบบ Micro USB สำหรับชาร์จและถ่ายโอนข้อมูล (รองรับ OTG) พอร์ตหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรก็ยังคงมีอยู่
ส่วนตัวหลังจากที่ได้รีวิว Y95 ไม่ได้ประทับใจแค่ความสวยงามของตัวเครื่อง ที่ออกแบบมาได้สวยไม่แพ้รุ่นบน ๆ ของ Vivo แต่ Y95 ยังเป็นสมาร์ทโฟนที่น้ำหนักเบา จับถือสะดวกด้วยตัวเครื่องที่มีความโค้งมนเข้ากับมือได้เป็นอย่างดี และด้วยความที่หน้าจอเป็นแบบ Halo FullView แม้จะมีขนาดหน้าจอถึง 6.22 นิ้ว แต่ตัวเครื่องโดยรวมก็ยังคงถือใช้งานด้วยมือเดียวได้สบาย ๆ
ข้อสังเกตในด้านดีไซน์ของ Vivo Y95 ก็คงเป็นพอร์ตเชื่อมต่อที่ยังคงเป็น Micro USB และฝาหลังที่เก็บรอยนิ้วมือง่ายไปสักหน่อยครับ
Software + Feature
Vivo Y95 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ FunTouch OS เวอร์ชัน 4.5 ที่มีพื้นฐานมาจาก Android 8.1 Oreo ข้อดีของ FunTouch OS อยู่ที่การใส่บรรดาฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ Stock Rom Android 8.1 เข้าไปด้วย ไม่ได้ตัดทิ้งเหมือนบางยี่ห้อ
ฟีเจอร์ที่สามารถใช้งานได้ และมีประโยชน์ ได้แก่ Picture in picture, การแบ่งหน้าจอ, จุดการแจ้งเตือน, Google Assistant และ Google Lens
ส่วนการใช้งาน Vivo Y95 ด้วยความที่เป็นหน้าจอแบบ Halo FullView ที่เต็มจอ ลักษณะการใช้งานจึงเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เพื่อให้ใช้พื้นที่หน้าจอที่มีได้คุ้มค่าที่สุด จากเดิมที่เป็น Navigation Keys ปกติที่ประกอบไปด้วย ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มโฮม และ Recent Apps ถูกเปลี่ยนเป็นการใช้ Gesture แทน ได้แก่
- เลื่อนขึ้นจากด้านล่างซ้าย = เรียก Control Center ทางลัดต่าง ๆ เช่น เปิด – ปิด Wi-Fi, เปิด Bluetooth ฯลฯ
- เลื่อนขึ้นจากด้านล่างตรงกลาง = แทนการกดปุ่มโฮม
- เลื่อนขึ้นจากด้านล่างขวา = แทนปุ่มย้อนกลับ
- เลื่อนขึ้นจากตรงกลาง แล้วค้างเอาไว้ = เรียกหน้า Recent Apps
อย่างไรก็ตาม หากไม่สะดวกใช้งาน Gesture ก็สามารถใช้งาน Navigation Keys แบบดั้งเดิมได้เช่นกันครับ
นอกจากฟีเจอร์ติด Stock Rom Android 8.1 แล้ว Y95 ก็มีฟีเจอร์เฉพาะของทาง Vivo เช่นกัน ในชื่อว่า Jovi AI ที่เข้ามาช่วยในการจัดการระบบต่าง ๆ ได้แก่
- ในกล้องถ่ายภาพ มีหน้าที่ปรับแต่งในโหมด Beauty, แยกแยะ Scene ต่าง ๆ กว่า 140 รูปแบบ
- รายงานสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศ, ผลกีฬา, การนับก้าว เป็นต้น
- โหมดเกม ช่วยในการปรับแต่งเครื่องให้เหมาะกับการเล่นเกมมากที่สุด เช่น ปิดการแจ้งเตือน, ปฏิเสธสายอัตโนมัติ, ขึ้น Pop-up การรับสาย และไฮไลท์อย่างโหมดบอท ที่ปิดหน้าจอแม้เปิดบอทไว้ได้
ระบบความปลอดภัย/ การปลดล็อกตัวเครื่อง
แม้จะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นกลาง แต่ในด้านระบบความปลอดภัย Y95 ใส่เต็มไม่แพ้รุ่นแฟลกชิป ด้วยการใส่มาให้ทั้งระบบปลดล็อกใบหน้า และเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
เท่าที่ได้ลองเล่นเครื่องรีวิว Vivo Y95 โดยส่วนมากผมจะใช้การปลดล็อกด้วยใบหน้าเป็นหลัก ด้วยความที่สามารถปลดล็อกได้รวดเร็ว เพียงยกตัวเครื่องขึ้นก็สามารถปลดล็อกได้แล้ว แต่จะมีข้อสังเกตเล็กน้อยเวลาแสงน้อย การปลดล็อกจะทำได้ยากกว่าตอนแสงปกติเล็กน้อย
ด้านความปลอดภัยของระบบสแกนใบหน้า ส่วนตัวมองว่าออกแบบมาเพื่อความสะดวกเป็นหลัก เพราะถ้าจะเอาเรื่องความปลอดภัยจริง ๆ การสแกนลายนิ้วมือจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า โดยเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ Vivo Y95 อยู่บริเวณด้านหลังตัวเครื่อง ตำแหน่งของเซ็นเซอร์ออกแบบมาได้ดี เหมาะกับการใช้นิ้วชี้ในการปลดล็อก
ประสิทธิภาพ/ การเล่นเกม
พูดถึงประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบัน ผมว่าการใช้งานทั่วไปดูจะไม่ใช้ประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ ด้วยสเปคของสมาร์ทโฟนที่ไปไกลพอสมควร การใช้งานทั่วไป หรือการใช้งานแอปพลิเคชันพื้นฐานประเภท Social Media, Video Streaming สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
ประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจในเรื่องประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟน จึงถูกโฟกัสไปที่ด้านการเล่นเกมเป็นหลัก โดย Vivo Y95 มาพร้อมกับชิปประมวลผลรุ่นเล็ก Qualcomm Snapdragon 439 ชิปเซ็ต 12 นาโนเมตร Octa-core ความเร็ว 1.9 GHz พร้อมชิปกราฟฟิค Adreno 505
ในการทดสอบเกม Y95 ผมได้ทดสอบกับเกมหลัก ๆ 3 เกมด้วยกัน ได้แก่ ROV, PUBG Mobile และ Ragnarok M Ethernal Love การตั้งค่าของทั้ง 3 เกม ผมเลือกการตั้งค่าที่ระบบเซ็ตไว้ให้ ไม่ได้ปรับแต่งเพิ่มเติม และมีการเปิด Game Mode เพื่อเร่งประสิทธิภาพในการเล่นเกม ผลการทดสอบออกมาเป็นดังนี้
ROV
การตั้งค่า: โดยรวมเป็นการตั้งค่าในระดับกลาง – ต่ำ, ปิด HD และไม่สามารถเปิดโหมด 60 fps ได้
ผลการทดสอบ: เล่นในโหมดจัดอันดับ 5 vs 5 โดยเชื่อมต่อ Wi-Fi เฟรมเรตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25 – 30 fps มีร่วงบ้างเวลาที่บวกหนัก ๆ และพบอาการ ping ขึ้นเมื่อเล่นต่อเนื่องหลายเกม แต่โดยรวมถือว่าเล่นได้
PUBG Mobile
การตั้งค่า: ปรับกราฟฟิคระดับต่ำ ตามที่ตัวเกมเลือกให้
ผลการทดสอบ: แม้ PUBG Mobile จะเป็นเกมที่กินสเปคมากเกมหนึ่ง แต่ Vivo Y95 ก็ยังพอเล่นได้ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีอาการกระตุกบ้างเป็นบางครั้ง
Ragnarok M Ethernal Love
การตั้งค่า: ตามที่ตัวเกมเลือกให้ โดยเลือกการแสดงผู้เล่นในเกมแบบต่ำสุด
ผลการทดสอบ: RO M โดยพื้นฐานไม่ได้เป็นเกมที่กินสเปคอยู่แล้ว ทำให้สามารถเล่นได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ข้อดีของ Vivo Y95 คือมีโหมดบอทใน Jovi ทำให้สามารถเก็บเลเวลได้โดยที่ไม่ต้องเปิดหน้าจอ ประหยัดแบตเตอรี่ไปได้มากพอสมควร
แบตเตอรี่/ การจัดการพลังงาน/ การชาร์จไฟ
อีกหนึ่งจุดเด่นของ Y95 คือการใส่แบตเตอรี่ความจุสูงระดับเรือธงเข้ามาในสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ ด้วยแบตเตอรี่ความจุ 4,030 mAh และด้วยสเปคที่เป็นชิปรุ่นประหยัดพลังงาน, หน้าจอความละเอียด HD+ ทำให้การใช้งาน Y95 สามารถใช้งานได้สบาย ๆ ทั้งวัน แม้จะเล่นเกมเยอะก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หากต้องใช้งาน Y95 ต่อเนื่องเป็นเวลานานมาก ๆ และกลัวว่าแบตเตอรี่ไม่พอใช้ก็สามารถเปิดโหมดประหยัดพลังงานที่มีทั้งโหมดสิ้นเปลืองพลังงานต่ำ และประหยัดพลังงานขั้นสูง เพื่อช่วยให้ใช้งาน Y95 จากที่ใช้งานได้นานอยู่แล้ว ให้ใช้งานได้นานขึ้นไปอีก
ข้อสังเกตของ Y95 อยู่ที่การชาร์จไฟกลับ ด้วยอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้เพียง 10W และไม่มีระบบชาร์จเร็ว ทำให้การชาร์จไฟกว่าจะเต็มใช้เวลาพอสมควร
สรุปภาพรวม
ภาพรวมของ Vivo Y95 เป็นสมาร์ทโฟนที่เหมาะกับคนชอบเซลฟี่ หรือชอบถ่ายวีดีโอกล้องหน้า ด้วยฟีเจอร์ที่ออกแบบมาสำหรับการเซลฟี่โดยเฉพาะ AI face beauty ที่ปรับแต่งใบหน้าเฉพาะบุคคลได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสเปคที่ตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ถึง 6.2 นิ้ว รองรับการใช้งานร่วมกับคอนเทนต์ในยุคปัจจุบัน ทั้งการใช้งานโซเชียลมีเดีย, การรับชมวีดีโอ หรือแม้แต่การเล่นเกม อีกทั้งแบตเตอรี่ของ Y95 ก็มีความจุสูง เพียงพอที่จะใช้งานได้ตลอดทั้งวัน