ถือเป็นการเริ่มปี 2019 ที่ดีมากของ Vivo เลยล่ะครับ สำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของปีนี้อย่าง Vivo V15 Pro โดยรุ่นนี้มีอะไรที่ “ว้าว” หลายอย่าง และเมื่อรวม ๆ กันแล้ว ผมว่าตัวนี้มีลูกหวือหวา และโดดเด่นมากในบรรดาสมาร์ทโฟนช่วงราคาเดียวกันเลยล่ะ
เพียงแค่เรื่องกล้อง ผมว่า Vivo V15 Pro ก็น่าสนใจมากแล้ว เริ่มจากกล้องหน้า pop-up 32 ล้านพิกเซล ที่ถูกซ่อนไว้ในตัวเครื่อง และจะเด้งขึ้นมาเมื่อเรียกใช้ ส่งผลให้หน้าจอของ V15 Pro ไม่มีอะไรมาบดบัง เรียกว่าเป็นสมาร์ทโฟนจอเต็มที่แท้จริงก็ว่าได้
ส่วนกล้องหลังของ V15 Pro ก็ไม่ธรรมดา ด้วยการใส่กล้องหลังมาถึง 3 ตัว ความละเอียดสูงสุด 48 ล้านพิกเซล (Quad Pixel Sensor) มีเลนส์มุมกว้าง Super wide-angle 8 ล้าน และกล้องจับระยะ depth sensor ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
แค่จุดเด่นสองสิ่งนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ Vivo V15 Pro “ว้าว” แล้วใช่ไหมล่ะ แต่ก่อนที่จะเลื่อนลงไปอ่านรีวิวฉบับเต็ม ผมแนะนำให้อ่านสเปคของรุ่นนี้ก่อนครับ
สเปค Vivo V15 Pro
- หน้าจอ AMOLED ขนาด 6.39 นิ้ว ความละเอียด Full HD+
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 675 octa-core
- Ram 6 GB
- ความจุ 128 GB รองรับ microSD Card สูงสุด 256 GB
- ระบบปฏิบัติการ FunTouch 9 ที่มีพื้นฐานมาจาก Android 9.0 Pie
- กล้องหน้าความละเอียด 32 ล้านพิกเซล f/2.0 ซ่อนไว้ในตัวเครื่อง (Pop-up Camera)
- กล้องหลังความละเอียด 48 ล้านพิกเซล Quad-pixel Sensor, กล้องมุมกว้าง 8 ล้านพิกเซล และกล้องตัวที่ 3 ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
- ปลดล็อกด้วยใบหน้า และปลดล็อกด้วยเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอ
- แบตเตอรี่ 3700 mAh
- รองรับ dual 4G VoLTE, Wi-Fi 802.11ac, Bluetooth 5.0
- พอร์ตชาร์จ microUSB 2.0
- ราคาเปิดตัว 14,999 บาท
อุปกรณ์ในกล่องของ V15 Pro ให้อุปกรณ์เสริมมาครบครัน ไม่ว่าจะเป็นอะแดปเตอร์ Quick Charge 18W, สายชาร์จ micro USB, หูฟัง และเคส V15 Pro แบบตรงรุ่น ใช้งานร่วมกับกล้อง pop-up ได้แน่นอน
Design – การออกแบบ
รูปร่างหน้าตาของ Vivo V15 Pro ส่วนตัวผมว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ออกแบบมาได้ดีทีเดียวครับ มันได้อานิสงส์จากรุ่นท็อปเมื่อปีที่แล้วอย่าง Vivo Nex S มาพอสมควรเลย ด้านหน้าแทบจะเป็นหน้าจอ 100% ไม่มีติ่งหรือ notch screen มากวนใจ โดยหน้าจอดังกล่าว Vivo เรียกว่า Ultra Fullview Display มีขนาดอยู่ที่ 6.39 นิ้ว พาแนลแบบ Super AMOLED ความละเอียด Full HD+ ขอบเขตสี P3
รายละเอียดด้านหน้า มีลำโพงสนทนาอยู่บริเวณขอบหน้าจอ ส่วนเซ็นเซอร์สำคัญ ๆ เช่น light and proximity sensors ถูกซ่อนไว้ตรงขอบอย่างแนบเนียน เมื่อตีเป็นเปอร์เซ็นต์ พื้นที่หน้าจอต่อพื้นที่ด้านหน้าทั้งหมด คิดเป็น 91.64% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนหลายรุ่นในยุคปัจจุบัน ที่ screen-to-body ratio มักจะอยู่ที่ 85%
ส่วนเซ็นเซอร์อย่าง Ambient light sensor ก็ไม่ได้ถูกตัดออก แต่ Vivo เลือกที่จะฝังไว้ใต้หน้าจอของ V15 Pro แทนครับ
ด้วยอัตราส่วนหน้าจอแบบ 19.5:9 การแสดงผลหน้าจอถือว่าตอบโจทย์การใช้งานในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานโซเชียลมีเดียในแนวตั้งก็แสดงผลได้เต็มตา หรือจะเป็นการแสดงผลในแนวนอน อย่างการรับชมภาพยนตร์, Youtube หรือแม้แต่การเล่นเกม V15 Pro ก็แสดงผลได้มากกว่า หากเล่นเกมที่รองรับอัตราส่วนหน้าจอดังกล่าว จะเห็นแผนที่มากกว่าหน้าจออัตราส่วน 18:9 และ 16:9 ครับ
น่าเสียดายที่ V15 Pro รองรับแค่ Winevine L3 เลยทำให้ในตอนนี้ไม่สามารถดู Netflix แบบ HD ได้ แต่ถ้าเป็น Youtube, iFlix, viu พวกนี้สามารถดูแบบ HD ได้ตามปกติ
ตำแหน่งต่าง ๆ บนตัวเครื่อง Vivo V15 Pro เริ่มจากด้านขวามือ ประกอบไปด้วยปุ่ม Power และปุ่มปรับระดับเสียง ด้านซ้ายก็มีปุ่มลัดสำหรับเรียก Jovi ผู้ช่วยอัฉริยะ และ Google Assistant รวมถึงช่องใส่ micro SD Card สำหรับเพิ่มความจุ
ด้านล่างของ V15 Pro ประกอบไปด้วยพอร์ตเชื่อมต่อ micro USB, ลำโพงหลักของตัวเครื่อง, ไมโครโฟน และช่องใส่ซิมการ์ด (Dual nano SIM) ส่วนรายละเอียดด้านบน ประกอบไปด้วยพอร์ตหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร, ไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน และกล้องหน้าที่ถูกซ่อนอยู่ในตัวเครื่อง
ด้านหลังตัวเครื่อง Vivo V15 Pro น่าจะถูกใจหลาย ๆ คนล่ะครับ ตัวเครื่องรีวิวที่ผมได้รับมาเป็นสีน้ำเงิน Topaz Blue มีลวดลาย และสะท้อนเมื่อเปลี่ยนมุมมอง ตัวฝาหลังมีความโค้งเล็กน้อย เมื่อจับถือตัวเครื่องจะเข้ากับมือพอดี
รายละเอียดด้านหลัง ประกอบไปด้วยกล้องหลัง 3 ตัว ความละเอียด 48 + 8 + 5 ล้านพิกเซล ระบุเลยว่าเป็น AI Camera พร้อมแฟลช LED และโลโก้ Vivo
เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ V15 Pro เป็นแบบฝังในหน้าจอ เช่นเดียวกับตอน Vivo V11 นอกจากนี้ยังสามารถปลดล็อกด้วยใบหน้าได้ด้วย ในเรื่องความเร็วก็ต้องบอกว่าเร็วทั้งคู่ แล้วแต่ว่าจะสะดวกใช้งานแบบไหน ขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้ ส่วนตัวผมว่าสแกนหน้าก็สะดวกดีครับ
Camera – กล้องถ่ายภาพ
ตามที่ผมได้เกริ่นไปในรีวิว Vivo V15 Pro ว่ารุ่นนี้มันมีอะไรที่ว้าวหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้นเรื่องกล้องถ่ายภาพ ที่จัดเต็มทั้งกล้องหน้ากล้องหลัง ด้วยเซ็นเซอร์ ISOCELL รุ่นใหม่แบบ Quad pixel sensor ความละเอียดสูงสุดถึง 48 ล้านพิกเซลสำหรับกล้องหลัง และความละเอียด 32 ล้านพิกเซลในกล้องหน้า พร้อมทั้งใส่ AI เข้ามาช่วยในการประมวลผลภาพถ่ายให้ออกมาสวยงาม
กล้องหน้า pop-up 32 ล้านพิกเซล
กล้องหน้าของ V15 Pro ออกแบบมาได้แตกต่างจากรุ่นอื่น ๆ ในท้องตลาด ด้วยการซ่อนกล้องไว้ในตัวเครื่อง และเมื่อเรียกใช้จะเป็นการ pop-up ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาในการเรียกกล้องหน้าเพียง 0.46 วินาที ทำให้การใช้งานไม่ได้รู้สึกติดขัดแต่อย่างใด เพราะกดเข้าแอปกล้องปุ๊บ กล้องหน้าก็เด้งในจังหวะที่พร้อมถ่ายเซลฟี่ทันที
เซ็นเซอร์กล้องหน้า V15 Pro ใช้เซ็นเซอร์ ISOCELL GD1 ความละเอียดเต็ม 32 ล้านพิกเซล f/2.0 ในการใช้งานจะถ่ายภาพที่ความละเอียด 8 ล้านพิกเซลเป็นค่ามาตรฐาน (สามารถปรับเป็น 32 ล้านได้) ส่วนตัวผมแนะนำให้ตั้งไว้ที่ 8 ล้านพิกเซล เนื่องจาก ISOCELL GD1 ออกแบบมาให้ทำงานแบบ Quad Pixel รวม 4 พิกเซลเป็น 1 เพื่อให้เก็บรายละเอียด และถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น
นอกจากการถ่ายภาพกล้องหน้าที่ 8 ล้านพิกเซล จะให้ผลลัพท์ที่ดีกว่าแล้ว ยังมีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าไฟล์ 32 ล้านอีกด้วยครับ โดยขนาดไฟล์ 8 ล้านพิกเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 MB ส่วน 32 ล้านมีขนาดไฟล์ใหญ่เกือบ ๆ 8 MB
โหมดกล้องหน้าของ V15 Pro ที่น่าสนใจ ก็คงหนีไม่พ้น AI Face Beauty หรือการใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ใบหน้า พร้อมทั้งปรับแต่งให้สวยงามเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าเอะอะทำตาแบ๊ว เร่งสีผิวให้ขาวเวอร์ แล้วก็ลบริ้วรอยจนเก็บรายละเอียดอะไรไม่ได้เลย
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมว่า V15 Pro ทำได้ดีสำหรับกล้องหน้า ก็คือการมีฟีเจอร์ HDR แบบ Auto ทำให้การถ่ายภาพออกมาดีในทุกสภาพแสง ต่อให้ถ่ายย้อนแสงก็ยังคงดึงรายละเอียดออกมาได้ดี แล้วก็เป็น HDR ที่ฉลาดทีเดียวล่ะครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า Vivo V15 Pro
กล้องหลัง 3 ตัว Triple Camera ความละเอียดสูง 48 ล้านพิกเซล
ความแน่นของ V15 Pro นอกจากกล้องหน้าที่ดีแล้ว กล้องหลังก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะรอบนี้ใส่มาถึง 3 กล้อง โดยไฮไลท์อยู่ที่กล้องหลัก ใช้เซ็นเซอร์ ISOCELL GM1 ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล f/1.8 ส่วนอีก 2 กล้องเป็นเลนส์ Super wide-angle 8 ล้านพิกเซล f/2.2 และกล้อง depth sensor 5 ล้านพิกเซล f/2.4
เช่นเดียวกับกล้องหน้า ISOCELL GM1 เป็นเซ็นเซอร์ที่ออกแบบมาให้ทำงานแบบ Quad pixel คือรวมพิกเซลด้วยเทคโนโลยี Tetracell ส่งผลให้ขนาดพิกเซลใหญ่ขึ้นเป็น 1.6 ไมครอน เพราะฉะนั้นหากต้องการถ่ายภาพด้วย V15 Pro ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ต้องทำงานบนความละเอียด 12 ล้านพิกเซล
หน้าเว็บไซต์ของทาง Vivo เองก็ระบุไว้เลยว่า 12 ล้านพิกเซลจะแสดงประสิทธิภาพได้ดีที่สุด เพราะเป็นจุดที่พีคของทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์นั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม หากต้องการถ่ายภาพที่ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล V15 Pro ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นที่แสงน้อย 12 ล้านพิกเซลจะให้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่าชัดเจน รวมถึงขนาดไฟล์ที่แตกต่างกันพอสมควร
ผมสรุปให้ง่าย ๆ ว่า ในการใช้งานทั่วไป ถ่ายรูปอัพลงโซเชียลมีเดีย ไม่ต้องเปิดเต็มความละเอียดจะดีที่สุดครับ กล้องหลังตั้งไว้ 12 ล้านพิกเซล ส่วนกล้องหน้า 8 ล้านพิกเซลก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
กล้องหลังตัวที่ 2 ที่ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษ Super wide-angle ทำให้การถ่ายภาพด้วย V15 Pro สนุกมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องถอยเพื่อเก็บให้ทุกอย่างอยู่ในเฟรม เพราะเลนส์มุมกว้างสามารถเก็บภาพได้มากกว่า เหมาะกับการถ่ายภาพวิว หรือถ่ายภาพหมู่
โหมดกล้องหลัก ๆ ของ V15 Pro ผมว่าแค่โหมด Auto ที่มี AI เข้ามาช่วยในการถ่ายภาพก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้วล่ะครับ โดยตัว AI มีฟีเจอร์ Scene Recognition สามารถปรับแต่งภาพให้เหมาะกับสถานการณ์นั้น ๆ หรือถ้าต้องการถ่ายคนให้สวย ก็มีโหมด AI Portrait Lighting ที่ปรับแต่งหน้าสวย ละลายฉากหลัง พร้อมใส่เอฟเฟคแสงให้จบแบบหลังกล้อง
อีกโหมดที่ผมว่าน่าจะถูกใจหลายคน ที่กลัวว่าถ่ายภาพออกมาแล้วองค์ประกอบไม่ลงตัว หรืออยากถ่ายให้ดูผอม V15 Pro ก็มีโหมดชื่อว่า AI Body Shaping ที่จะช่วยจัดองค์ประกอบ รวมถึงท่าท่าของตัวแบบให้ออกมาดูดีที่สุด
ความพีคอีกอย่างหนึ่งคือ V15 Pro สามารถทำหลาย ๆ ฟีเจอร์ภาพนิ่งในโหมดวีดีโอได้ด้วยเนี่ยล่ะครับ คือทำได้แม้กระทั่งการถ่ายวีดีโอให้ผอม ขายาว มีเอวได้แล้ว
ในการถ่ายภาพที่แสงน้อย V15 Pro ก็มีโหมดกลางคืนให้เลือกใช้งาน (AI Super Night Mode) เป็นโหมดกลางคืนแบบที่หลายแบรนด์ใช้ ก็คือไม่ต้องพึ่งขาตั้งกล้องในการถ่ายอีกต่อไป แต่ใช้การซ้อนภาพ แล้วปรับแต่งให้ภาพออกมาสว่าง และคมชัด แต่มีข้อสังเกตว่าโหมดดังกล่าว ใช้งานได้แค่กล้องหลักเท่านั้น ไม่สามารถถ่ายกลางคืนด้วยเลนส์มุมกว้างได้ครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Vivo V15 Pro
Software – ระบบปฏิบัติการและฟีเจอร์
Vivo V15 Pro มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 9.0 ครอบทับด้วย FunTouch OS ที่มีลักษณะการใช้งานแตกต่างจากสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ปกติทั่วไปเล็กน้อย โดยการเรียก Notification Center จะปัดหน้าจอจากบนลงล่าง แต่ถ้าต้องการเรียกหน้า Shotcut ทางลัดต่าง ๆ เช่น เปิดปิด Wi-Fi, Cellular, Bluetooth จะต้องปัดหน้าจอจากล่างขึ้นบน
ด้วยความที่ V15 Pro เป็นสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมหน้าจอแบบ Ultra FullView Display การใช้งานจึงมีโหมด Gesture ที่ออกแบบมาให้การแสดงผลเต็มจอ เมื่อเปิดโหมดนี้ ปุ่มควบคุม Navigation keys จะหายไป และใช้การปัดมุมขวาล่างแทน back, ปัดกลางแทน home, recent apps ใช้ปัดจากล่าง ขึ้นมากึ่งกลางหน้าจอ และปัดมุมซ้ายล่างแทนการเรียก Shotcut
ปุ่ม Smart Button ตรงด้านข้างซ้ายตัวเครื่อง เมื่อกด 1 ครั้งจะเป็นการเรียก Google Assistant ที่รองรับคำสั่งเสียง และถ้ากด 2 ครั้ง จะเรียก Jovi Image Recognizer ที่เมื่อส่องกล้องไปยังสิ่งของ จะเป็นการลิงก์ไปยังร้านค้าออนไลน์ได้ทันที
ในการเล่นเกม Vivo V15 Pro มาพร้อมกับ Game Mode 5.0 สามารถรีดประสิทธิภาพของชิปประมวลผลได้เต็มที่ การรันเกมเป็นไปอย่างลื่นไหล และมีอัตราเฟรมเรทตก หรือเฟรมเรทแกว่งลดลงถึง 300% ส่วนฟีเจอร์ในการบล็อกแจ้งเตือน หรือ pop-up เวลาสายเข้าก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมครับ
Performance & Battery – ประสิทธิภาพและการจัดการพลังงาน
V15 Pro มาพร้อมกับชิประดับกลางรุ่นใหม่ในซีรี่ส์ 600 อย่าง Snapdragon 675 AIE ชิปประมวลผลแบบ octa-core ความเร็ว 2.0 GHz บนเทคโนโลยีการผลิต 11 นาโนเมตร จุดเด่นก็คือประสิทธิภาพในการประมวลผลดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีอัตราการบริโภคพลังงานลดลง เมื่อรวมกับ Ram 6 GB ทำให้การใช้งานลื่นไหล ไม่มีสะดุด
ความจุในตัวเครื่องก็ให้มาสูงถึง 128 GB พร้อมทั้งรองรับ micro SD Card ในการเพิ่มความจุ แต่ส่วนตัวผมว่า 128 GB ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้วล่ะครับ
ในการเล่นเกม Vivo V15 Pro สามารถรันเกมได้อย่างไม่มีปัญหา ด้วยชิปประมวลผลที่แรงอย่าง Snapdragon 675 + Ram 6 GB อีกทั้งฟีเจอร์ Game Mode 5.0 ผมทดสอบเล่นเกมยอดนิยมอย่าง ROV, PUBG Mobile ก็รันได้อย่างลื่น ๆ ในโหมดเฟรมเรทสูง
ด้านแบตเตอรี่และการจัดการพลังงาน V15 Pro มาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 3700 mAh ซึ่งถือว่ามีความจุสูงในระดับหนึ่ง เมื่อรวมกับชิป 11 นาโนเมตรที่กินพลังงานน้อยกว่า ทำให้การใช้งานทำได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้เล่นเกมหนัก ๆ ประเภทที่ว่า ROV 8 เกมติด ผมว่าใช้งานได้ยาว ๆ โดยที่ต้องชาร์จไฟระหว่างวัน
ระบบชาร์จเร็วของ V15 Pro มีชื่อว่า Dual-Engine Fast Charging ผ่านทางพอร์ต micro USB โดยตัวอะแดปเตอร์ชาร์จเร็วแถมมาตั้งแต่ในกล่อง จ่ายไฟได้สูงสุด 18W สามารถชาร์จไฟจาก 0 – 24% ได้ในเวลา 15 นาที และหลังจากนั้นระบบจะลดกำลังไฟเพื่อเป็นการถนอมแบตเตอรี่
ส่วนระยะเวลาในการชาร์จจาก 0 – 100% ใช้เวลาราว ๆ 2 ชั่วโมงได้ครับ
Overall
ภาพรวมของ Vivo V15 Pro กับราคา 14,999 บาท ส่วนตัวผมว่าเป็นหนึ่งในรุ่นที่น่าสนใจ ในช่วงราคาไม่เกิน 15,000 บาท ด้วยจุดเด่นเรื่องความว้าวอย่างกล้องหน้า pop-up หน้าจอแบบเต็มจอ คือมันเข้าถึงเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง ในราคาที่เอื้อมถึง เช่น สแกนนิ้วใต้หน้าจอ, กล้องหลัง 48 ล้านพร้อมเลนส์มุมกว้าง รวมถึงแบตเตอรี่ความจุสูงพร้อมชาร์จเร็ว และการใช้ AI เข้ามาช่วยประมวลผล
ปกติฟีเจอร์พวกนี้มักจะอยู่ในสมาร์ทโฟนเรือธง แต่ ณ ตอนนี้ทุกคนเข้าถึงได้บน Vivo V15 Pro ที่มีราคาหมื่นกลาง ๆ เท่านั้น ตรงนี้ผมว่าเป็นหนึ่งในจุดแข็งของรุ่นนี้ก็ว่าได้
ชมไปก็เยอะ ไม่ใช่ว่า V15 Pro จะไม่มีข้อให้ติ สำหรับผมอย่างแรกเลยคือพอร์ตเชื่อมต่อที่ยังคงเป็น micro USB หากเป็น USB-C มันจะดีมาก จนแทบไม่รู้จะติอะไรในช่วงราคานี้เลยล่ะครับ แล้วก็มีอีกเรื่องก็คือน่าเสียดายที่เลนส์มุมกว้างไม่สามารถถ่าย AI Super Night Mode ได้
เอาเป็นว่าหากจะซื้อมือถือในงบไม่เกิน 15,000 บาท ผมว่า V15 Pro เป็นอีกรุ่นที่ไม่ควรพลาดครับ