Samsung Galaxy S9+ และ S9 เพิ่งเปิดตัวไปไม่เท่าไหร่ก็พร้อมวางจำหน่ายได้แบบไม่ต้องทิ้งช่วงรอนานจนลืม
หลังจากที่ Samsung Galaxy S8 และ S8+ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากหลังจากเปิดตัวเมื่อต้นปีที่แล้ว ทั้งในแง่ของยอดขายและการแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสมาร์ทโฟนของ Samsung เอง มาในปีนี้ก็นับว่าเป็นปีแห่งการต่อยอดอย่างแท้จริงครับ กับ Samsung Galaxy S9 และ S9+ ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่เท่าไหร่ก็พร้อมวางจำหน่ายได้แบบไม่ต้องทิ้งช่วงรอนานจนลืม แม้ว่าในแง่ของรูปโฉมจะไม่ค่อยแตกต่างจากรุ่นเก่าอย่าง S8 และ S8+ มากนัก แต่ส่วนของสเปคและฟีเจอร์ต่างๆ บอกเลยว่ามันได้รับการพัฒนาขึ้นมาจริงๆ จะมีอะไรบ้าง รีวิว Samsung Galaxy S9+ จากเราจะเป็นผู้บอกกับคุณเองครับ ก่อนอื่นขอเกริ่นด้วยสเปคก่อนเช่นเคย
สเปค Samsung Galaxy S9+
- ชิปประมวลผล Exynos 9810 แบบ 8 คอร์ ความเร็วสูงสุด 2.7 GHz พร้อมชิปกราฟิก Mali-G72
- แรม 6 GB
- รอม 64 GB / 128 GB รองรับ MicroSD สูงสุด 400 GB
- หน้าจอ Super AMOLED ขอบโค้งขนาด 6.2 นิ้ว (เมื่อนับรวมขอบโค้งทั้งสองด้าน) ความละเอียดระดับ QHD+ (2960 x 1440)
- กล้องหลังคู่ 12 ล้านพิกเซลทั้งสองกล้อง
- กล้องหลัง #1 (ตัวบน/เลนส์ wide ปกติ) สามารถปรับขนาดรูรับแสงได้จริงที่ f/1.5 และ f/2.4 มี OIS ถ่ายวิดีโอได้ระดับ 4K 60fps และถ่ายโหมด Super Slow-Mo ได้สูงสุด 960fps 720p
- กล้องหลัง #2 (ตัวล่าง/เลนส์ Tele) รูรับแสง f/2.4 ใช้สำหรับถ่ายภาพซูม 2X และโหมด Live Focus
- กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/1.7
- เครื่องที่ขายในไทยจะรองรับ 2 ซิม โดยใช้ถาดซิมแบบไฮบริด
- รองรับ 4G LTE ทุกเครือข่าย รองรับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อทั้ง 3CA, MU-MIMO และ 1024-QAM
- Bluetooth 5.0, NFC, USB-C (USB 3.1 Gen 1)
- Android 8.0 Oreo ครอบด้วย Samsung Experience 9.0
- รองรับระบบสแกนม่านตา สแกนใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ
- ระบบเสียงได้รับการจูนโดย AKG พร้อมรองรับ Dolby Atmos
- หูฟังแถมได้รับการพัฒนาร่วมกับ AKG เหมือนใน S8 / S8+
- แบตเตอรี่ความจุ 3500 mAh รองรับการชาร์จเร็ว และการชาร์จไร้สาย
- กันน้ำกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP68 (น้ำลึกไม่เกิน 1.5 เมตร นานไม่เกิน 30 นาที)
- สเปค Samsung Galaxy S9+
- รุ่น 64 GB ราคา 31,900 บาท และรุ่น 128 GB ราคา 33,900 บาท
จุดที่เห็นความแตกต่างได้ชัดระหว่าง Samsung Galaxy S9+ กับ S9 นอกเหนือจากจอที่ใหญ่กว่าแล้ว ก็คือส่วนของกล้องหลังที่ S9+ มาพร้อมกล้องคู่ ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้แยกความแตกต่างจากสองรุ่นนี้ได้ง่ายที่สุด ส่วนสเปคภายในก็จะเป็นพวกแรม ความจุแบตที่สูงกว่าเล็กน้อยนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง S9+ และ S9 ก็จัดว่ามาพร้อมสเปคสมกับเป็นรุ่นท็อปประจำช่วงต้นปีของ Samsung ได้อย่างไร้ข้อกังขา
แต่ทั้งนี้ ด้วยราคาของ S9+ ที่สูงกว่า S9 อยู่ 4,000 บาท ก็ย่อมจะทำให้หลายๆ ท่านลังเลอยู่ไม่น้อยว่าจะซื้อรุ่นไหนดี ก็คงต้องชั่งน้ำหนักดูละครับว่าพร้อมจะจ่ายเพิ่มอีก 4,000 บาท แลกกับการได้กล้องหลังคู่ แบตเพิ่มขึ้น จอใหญ่ขึ้นเล็กน้อยหรือเปล่า ซึ่งในรีวิวนี้ก็จะมีการรีวิวฟังก์ชันเสริมที่ได้มาจากกล้องหลังคู่ให้ชมกันด้วย เผื่อจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าจะซื้อรุ่นไหนดี แต่ก่อนอื่น มาชมในด้านของดีไซน์กันก่อนแล้วกันครับ
Design / การออกแบบ
ดีไซน์ของ Samsung Galaxy S9+ ถ้าให้ดูผ่านๆ ก็คงแยกความแตกต่างกับ S9 รวมถึง S8 และ S8+ ได้ยากมากจริงๆ เพราะปีนี้ Samsung เลือกที่จะปรับโฉมของ S9 และ S9+ ให้น้อยที่สุด จะเรียกว่าเป็นไมเนอร์เชนจ์ก็ว่าได้ ทำให้กระแสความคิดเห็นที่ออกมาคือ แทบจะไม่แตกต่างจากรุ่นเดิมนัก
โดยด้านหน้าก็เลือกใช้หน้าจอขอบโค้งที่มีการแสดงผลไปจนถึงขอบโค้งด้วยเล็กน้อย ขอบบนขอบล่างแคบ ทำให้ได้อัตราส่วนพื้นที่แสดงผลต่อตัวเครื่องสูงถึงกว่า 84% ประกอบกับการใช้อัตราส่วนจอ 18.5:9 ที่ด้านยาวจะมากกว่าจอมือถือทั่วไป เลยส่งผลให้ตัวเครื่องจริงไม่ใหญ่เทอะทะมากนัก แม้ว่าจะใช้จอที่ขนาดใหญ่ถึง 6.2 นิ้วก็ตาม ผิวสัมผัสของกระจกหน้าจอ ให้ความรู้สึกดี ไหลลื่นมากๆ น่าจะเป็นเพราะสารเคลือบหน้าจอ ซึ่งช่วยลดคราบรอยนิ้วมือได้ด้วย
ส่วนคุณภาพการแสดงผลก็ยังต้องยกให้เป็น The Best เช่นเคยครับ ด้วยการเป็นจอแบบ AMOLED ที่ให้สีสันได้สดใสอยู่แล้ว สีดำคือดำจริง การใช้งานกลางแจ้งก็ไม่มีปัญหา มุมการแสดงผลกว้างมาก ภาพคมชัด แม้ว่าค่าเริ่มต้นของระบบจะตั้งมาให้แสดงผลที่สเกลความละเอียดระดับ FHD+ (2220 x 1080) ก็ตาม ยกให้เป็นจอแสดงผลที่ยอดเยี่ยมอีกรุ่นในขณะนี้ได้เลย นอกจากนี้ยังมาพร้อมฟีเจอร์อย่าง Always On Display ที่ขณะล็อคหน้าจอ จะมีนาฬิกาและไอคอนการแจ้งเตือนแสดงอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องยกประโยชน์ให้กับการใช้จอ AMOLED ที่สามารถเลือกเปิดหลอดไฟ LED เฉพาะจุดที่ต้องการให้แสดงผลได้นั่นเอง ทำให้สามารถแสดงข้อมูลที่จำเป็นได้ตลอดเวลาแบบที่ไม่กระทบกับใช้พลังงานจากแบตเตอรี่มากนัก
แต่ทั้งนี้ การเลือกใช้จอขอบโค้งของ Samsung Galaxy S9+ ก็มีจุดที่อาจทำให้การใช้งานยังไม่ค่อยสะดวกในบางสถานการณ์อยู่บ้างเหมือนกัน ที่ผมเจอก็คือเวลาจับเครื่องอยู่ บางครั้งมือจะไปจับตรงขอบเครื่องตรงบริเวณที่สั่งงานได้ ระบบก็จะเข้าใจว่าผมตั้งใจกดตรงส่วนนั้นแทน ที่เห็นชัดเลยก็คือเวลาจะถ่ายรูป ระบบก็นึกว่าผมไปแตะตรงขอบจอ เพื่อจะโฟกัสตรงส่วนนั้นๆ ของภาพซะอย่างนั้น รวมถึงการเลือกซื้อฟิล์ม/กระจกกันรอย รวมถึงเคสก็อาจจะหาที่ถูกใจได้ยากซักหน่อย โดยเฉพาะท่านที่ต้องการกระจกกันรอยแบบเต็มจอลงขอบโค้ง
เรียกว่าเป็นปัญหาโลกแตกเลยก็ว่าได้ สำหรับกระจกหน้าจอสมาร์ทโฟนจอขอบโค้งแบบ Samsung Galaxy S9+ ใครที่เคยใช้สมาร์ทโฟนหน้าจอลักษณะนี้ เช่น Samsung Galaxy S8+, Galaxy Note 8 คงทราบดีว่าจะหากระจกกันรอยที่ถูกใจยากมาก เพราะบางรุ่นติดได้เต็มจอ แต่ก็ป้องกันได้ไม่สุด บางรุ่นป้องกันได้ดี แต่ก็ติดแล้วเก็บฝุ่นบริเวณขอบ เนื่องจากมีกาวแค่บริเวณขอบข้าง ส่วนตรงกลางหน้าจอดันไม่แนบสนิท ทำให้ต้องออกแรงกดมากกว่าปกติ ทัชติดบ้างไม่ติดบ้าง รวมถึงใส่เคสกันกระแทกก็ไม่ได้ เพราะจะโดนขอบเคสดันกระจก
ถ้าจะให้แนะนำกระจกกันรอยสำหรับ Samsung Galaxy S9+ ที่ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด ณ ตอนนี้ก็คงต้องเลือกเป็นกระจกกันรอยแบบกาวเต็ม อย่างของ Focus ตอนนี้ก็จะเป็นรุ่น Focus 3D Full Stick ความแตกต่างระหว่างกาวเต็มกับแบบปกติ อยู่ที่พื้นที่สัมผัสของหน้าจอกับกระจก รุ่นที่เป็นกาวเต็ม ทุกส่วนของหน้าจอกับกระจกจะสัมผัสกัน 100% ไม่มีช่องว่างระหว่างกระจกเครื่องกับกระจกกันรอย ทำให้การสัมผัสทำได้ลื่นไหลไม่แพ้การสัมผัสบนกระจกหน้าจอแบบเปลือย ๆ และยังสามารถปกป้องหน้าจอได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือสามารถใช้งานร่วมกับเคสกันกระแทกที่มีขอบเคสหนา ๆ ได้อีกด้วย
ส่วนล่างของหน้าจอก็จะไม่มีปุ่มกดที่เป็นกิจลักษณะอีกเช่นเคย เนื่องจาก Samsung เลือกใช้ปุ่มแบบ software แทน โดยตัวปุ่มโฮมนั้นจะเป็นการกดลงไปบนจอจริงๆ ซึ่งสามารถตรวจจับระดับแรงกดได้ โดยจะมีประโยชน์สำหรับการปลดล็อคหน้าจอ เช่นถ้าหากจอล็อคอยู่ แล้วต้องการกดเปิดหน้าจอขึ้นมาเพื่อสแกนม่านตาสำหรับปลดล็อค ก็ให้กดแบบใช้แรงกดลงไปเหมือนกดปุ่มจริง หน้าจอก็จะติดขึ้นมา ส่วนถ้าหากกดเบาๆ จอก็จะไม่ติด ช่วยป้องกันหน้าจอติดขึ้นมาเองเวลาเก็บเครื่องไว้ในกระเป๋าได้เป็นอย่างดี
สำหรับแถบขาวด้านล่างของแถบปุ่มสั่งงานทั้งสามก็คือทางลัดเพื่อใช้งานฟังก์ชัน Samsung Pay ที่ใช้จ่ายเงินเสมือนว่าเป็นกระเป๋าเงินที่อยู่ในมือถือครับ โดยมันจะไปตัดเงินจากบัตรเครดิตที่ลงทะเบียนเชื่อมต่อไว้ การใช้งานก็สะดวกมากจริงๆ แถมมีโปรโมชันอีกด้วย อย่างในช่วงนี้ผมก็ได้คูปองส่วนลดของ Starbucks 100 บาทมาสองใบเลย จากการใช้งาน Samsung Pay บน Samsung Galaxy S9+ เครื่องนี้
ตรงขอบเครื่องจะมีแถบทางลัดอีกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นของฟีเจอร์ Edge Panel ครับ ส่วนตัวผมไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่
พลิกมาดูด้านหลังของ Samsung Galaxy S9+ กันบ้างครับ สำหรับเครื่องที่ทางเราได้รับมารีวิวในครั้งนี้เป็นเครื่องสีฟ้า จากที่มีทั้งหมด 3 สีคือฟ้า ม่วงไลแลค และก็สีดำ ซึ่งจากความคิดเห็นของหลายๆ ท่านลงความเห็นกันว่าสีฟ้าดูลงตัวที่สุดแล้วครับ เนื่องจากหนึ่งคือเป็นสีใหม่ และก็มันดูสวยแบบพรีเมียมกว่าจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสะท้อนแสง มันจะยิ่งโดดเด่นขึ้นมาอีก อย่างภาพในรีวิวนี้จะเห็นว่าสีฟ้าหลังของแต่ละภาพแทบจะไม่เหมือนกัน 100% ทั้งนี้ก็เนื่องจากมุมการสะท้อนแสงของแต่ละภาพที่ต่างกัน ทำให้เฉดสีของฝาหลังเปลี่ยนไปได้อีกนั่นเอง
ผิวฝาหลังของ Samsung Galaxy S9+ ใช้เป็นกระจก Gorilla Glass 5 เหมือนหน้าจอ ให้ทั้งความแข็งแกร่งและความสวยงาม แต่สิ่งที่มาคู่กับการใช้กระจกก็คือคราบรอยนิ้วมือที่ติดง่ายมากๆๆๆ วิธีป้องกันก็คงต้องเป็นการใส่เคสอีกเช่นเคย ส่วนแง่ของความทนทาน จากที่ผมเคยรีวิว Samsung Galaxy A8+ ที่ฝาหลังก็ใช้กระจกมาก่อน แต่บอกเลยว่ากระจกของ S9+ มันทนทานต่อรอยขนแมวกว่ามากจริงๆ ส่วนด้านของความร้อนขณะใช้งาน เพราะมือถือที่ใช้กระจกเป็นฝาหลังมักจะพบกับปัญหาด้านความร้อนสะสม ซึ่งใน S9+ นี้ ผมไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องเครื่องร้อนเกินไปเท่าไหร่ สามารถใช้งานตลอดได้สบาย จะมีบ้างตอนที่ถ่ายวิดีโอ หรือถ่ายรูปติดต่อกันนานๆ
พูดถึงกายภาพโดยรวมของฝาหลังกันไปพอสมควรแล้ว ทีนี้มาไล่ดูทีละส่วนปลีกย่อยกันบ้างครับ ไล่จากจุดเด่นสุดอย่างกล้องหลังคู่เลย โดยกล้องบนจะใช้เป็นกล้องหลัก ให้มุมมองภาพแบบกล้องมือถือทั่วไป แต่มีจุดเด่นที่ล้ำกว่ารุ่นอื่นๆ คือมันสามารถปรับความกว้างรูรับแสงได้จริงๆ โดยใช้การปรับความกว้างของการเปิดไดอะแฟรม (แถบสีเทาเข้มที่อยู่หน้าเลนส์) ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับเลนส์ของกล้องถ่ายรูปจริงๆ โดยสามารถปรับได้สองค่าคือ f/1.5 และ f/2.4 ซึ่งจะขอยกไปรีวิวอย่างละเอียดในส่วนของการรีวิวกล้อง S9+ กันอีกทีนะครับ ถัดมาคือกล้องตัวล่างที่ถูกออกแบบมาเป็นกล้องเทเลสำหรับถ่าย portrait หรือถ่ายซูม 2X ใกล้ๆ กันนั้นก็คือแฟลช LED และเซ็นเซอร์สำหรับวัดอัตราการเต้นหัวใจจากปลายนิ้ว เลื่อนลงมาก็จะเป็นแถบของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่คุ้นเคย
สำหรับแถบของส่วนกล้องหลังและเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ จะนูนขึ้นมาจากผิวฝาหลังเล็กน้อยจนเกือบเหมือนว่ามันจะเป็นระนาบเดียวกันเลย โดยมีแถบอลูมิเนียมเป็นโครงสร้างที่คอยป้องกันส่วนนอกไว้ ซึ่งถ้าไม่อยากให้สีที่เคลือบส่วนนี้อยู่หลุดลอกไป คงต้องใส่เคส เพื่อป้องกันอลูมิเนียมส่วนนี้สัมผัสกับพื้นโดยตรงเวลาวางเครื่อง ซึ่งในกล่องก็มีแถมเคสใสแบบนิ่ม (TPU) มาให้ 1 ชิ้นด้วย
ว่าด้วยเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ หลังจากที่ Samsung ได้รับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งเซ็นเซอร์ลายนิ้วมือที่วางไว้ใกล้กล้องหลังมากเกินไป ทำให้ใช้งานได้ยาก แถมทำให้เกิดรอยนิ้วมือเปื้อนหน้ากล้องได้ง่าย จากตอน S8 และ S8+ ไปมากพอสมควร มารอบนี้ก็เลยจับเอาเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือมาไว้ด้านล่างของกล้องหลังซะเลย ซึ่งก็เป็นตำแหน่งที่ดีขึ้น ช่วยลดอัตราการวางนิ้วผิดตำแหน่งลงได้ดีทีเดียว แต่จากที่ผมใช้งาน บางครั้งเวลาหยิบเครื่องขึ้นมา แล้ววางนิ้วเพื่อจะแตะเซ็นเซอร์ด้านหลัง กลายเป็นว่าไปโดนตำแหน่งกล้องตัวล่างแทนอยู่เหมือนกัน ซึ่งผมก็แก้ปัญหาด้วยการเรียนรู้รูปแบบการวางมือถือในมือใหม่อีกที ด้วยการเช็คตำแหน่งว่ามุมขวาล่างของเครื่องมันอยู่ตรงกลางฝ่ามือผมหรือยัง เพราะถ้ามันอยู่กลางฝ่ามือพอดี เท่ากับว่าปลายนิ้วชี้ของผมก็จะแตะที่เซ็นเซอร์พอดีด้วยเช่นเดียวกัน
ถึงอย่างไรก็ตาม นับเป็นการแก้ไขที่ช่วยลดข้อบกพร่องจากในรุ่นก่อนหน้าได้ดีระดับหนึ่งครับ แต่ดูท่าแล้ว Samsung ก็คงต้องทำการบ้านสำหรับ Galaxy S10 และ S10+ (ถ้ายังใช้ชื่อตามสไตล์นี้นะ) ที่จะออกปีหน้าอยู่ดี ว่าจะปรับตำแหน่งการวางชิ้นส่วนต่างๆ อย่างไรดี
ส่วนข้างของเครื่องก็ถูกออกแบบมาให้มีความโค้งมนรับกับตัวเครื่องทั้งส่วนจอและฝาหลังที่เป็นกระจกขอบโค้งได้เป็นอย่างดี สำหรับเครื่องสีฟ้า ขอบข้างก็จะเป็นสีโทนน้ำเงินเข้มดูแล้วลงตัวมากๆ โดยแต่ละฝั่งจะมีปุ่มและช่องเชื่อมต่อดังนี้
- ด้านบน: ช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน และถาดใส่ซิมแบบไฮบริด
- ด้านล่าง: ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร, ช่อง USB-C, ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา และช่องลำโพง
- ด้านขวา: ปุ่ม Power
- ด้านซ้าย: แถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Bixby
เรื่องความบางของเครื่อง Samsung Galaxy S9+ จัดว่าทำออกมาได้บางเฉียบเทียบเท่ากับมือถือรุ่นท็อปตัวอื่นๆ แต่ถ้าเทียบกับ S8+ แล้วก็จะพบว่า S9+ หนากว่ากันอยู่นิดหน่อย รวมถึงขนาดตัวเครื่องโดยรวมที่ไม่เท่ากัน 100% ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้เคสร่วมกันได้อย่างแน่นอนจ้า
ความรู้สึกด้านการใช้งานโดยรวมของ Samsung Galaxy S9+ ก็ยอมรับว่ามันถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้คล่องตัวดีทีเดียว ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่เทอะทะจนเกินไป รูปทรงค่อนข้างเข้ามือ ขอบมุมต่างๆ เก็บงานมาดี ใช้ไปใช้มารู้สึกเหมือนมันจะได้รับการเกลาให้รูปทรงมันดูกะทัดรัดกว่า S8 และ S8+ นิดนึงด้วย จะติดก็แต่ความยาวของจอที่อาจจะทำให้เอื้อมนิ้วไปลากแถบแจ้งเตือนลงมาไม่ค่อยสะดวกเล็กน้อย น้ำหนักจัดว่ากำลังดี ไม่หนักไม่เบาเกินไป บวกกับแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงที่อยู่คนละด้านกับปุ่ม Power จึงอาจทำให้การปรับระดับความดังเสียงต้องเปลี่ยนไปใช้นิ้วชี้ในการกดแทน ซึ่งไม่น่าจะสะดวกเท่าใช้นิ้วหัวแม่มือ ส่วนปุ่ม Bixby นั้นยังดีที่สามารถปิดการทำงานได้ครับ
ส่วนด้านหลัง ถ้าหากใส่เคสไว้ก็คงไม่เป็นปัญหาเรื่องคราบรอยนิ้วมือเท่าไหร่ แต่อาจจะมีปัญหากับการชาร์จไร้สายอยู่บ้างเหมือนกัน ก็คงต้องพิถีพิถันกันซักหน่อย แต่ที่แน่ๆ สีฟ้ามันสวยจริงนะ ยิ่งเวลาสะท้อนแสงนี่ บอกเลยว่าโดดเด่นมากๆ
ด้านการใช้งานโดยทั่วไป ก็สมกับเป็นรุ่นท็อปครับ ซอฟต์แวร์ไหลลื่น การพิมพ์ข้อความการแตะเลือกบริเวณใกล้ๆ ขอบจอก็ไม่ติดปัญหามากนัก ลำโพงในเครื่องก็เสียงดัง คมชัดทั้งการสนทนา และการฟังเพลง ซึ่งจะให้เสียงในระบบสเตอริโอผ่านการใช้ลำโพงทั้งด้านบนและด้านล่างพร้อมกัน ส่วนหูฟังที่แถมมาจัดว่าเป็นหูฟังแถมที่ดีมากๆ รุ่นหนึ่ง ให้เสียงครบทุกย่าน เน้นให้ฟังเพลงติดต่อกันได้โดยไม่รู้สึกล้าหู ความสามารถในการกันน้ำกันฝุ่นก็ยังมีติดมาให้เช่นเดิม ส่วนในแง่ของการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริม ที่เด่นๆ ก็คือ DeX Pad ที่สามารถส่งภาพจาก S9/S9+ ขึ้นจอมอนิเตอร์เพื่อใช้งานเสมือนเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง โดยให้หน้าจอของมือถือกลายเป็นทัชแพดได้อีกด้วย
Feature / ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
หนึ่งในฟีเจอร์ที่เป็นจุดแข็งของ S8/S8+ ก็คือการปลดล็อคด้วยการสแกนม่านตา ซึ่งใน S9/S9+ ก็ยังคงยกมาใช้ด้วย แต่มีการพัฒนาให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น โดยรอบนี้จะมีตัวเลือก Intelligent Scan เข้ามาด้วยครับ หลักการของมันก็คือการจับเอาสแกนม่านตาและสแกนใบหน้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้สามารถปลดล็อคได้รวดเร็ว แม่นยำมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นการใช้ในที่มีแสงน้อยก็ตาม
เมื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน การปลดล็อคแบบ Intelligent Scan นี้ช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีทีเดียว เพราะเพียงแค่กดปุ่ม power ด้านข้างเครื่อง หรือกดสัญลักษณ์ปุ่มโฮมซึ่งจะติดอยู่ตลอดเวลาที่หน้าจอแบบ always on display ทำงานอยู่ ระบบตรวจจับม่านตาและใบหน้าก็จะทำงานทันที และถ้าดวงตาหรือใบหน้าอยู่ในบริเวณที่เซ็นเซอร์สามารถตรวจจับได้ ระบบก็จะปลดล็อคหน้าจอให้อย่างรวดเร็ว จากที่ทดลองมา แม้ว่าตำแหน่งของเซ็นเซอร์จะไม่ได้ตรงกับดวงตา 100% ก็สามารถทำงานได้
ส่วนการใช้งานในที่มีแสงน้อย นับเป็นสิ่งที่ Samsung ทำได้ยอดเยี่ยมมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว โดยที่แถบบนของจอจะมีอินฟราเรด (ไฟสีแดงที่เห็นในภาพด้านบน) สำหรับให้แสงสว่างเพื่อให้เซ็นเซอร์สแกนม่านตาที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะทำงานได้ ซึ่งเท่าที่ผมทดสอบแล้ว แม้จะเป็นการใช้งานในเวลากลางคืนก็สามารถใช้ได้แบบไม่มีปัญหา จะติดนิดหน่อยก็ตรงที่มันจะมีไฟสีแดงขึ้นมา รวมถึงถ้าหากเป็นการใช้งานระหว่างกำลังเดิน อาจจะไม่สามารถปลดล็อคได้ เนื่องจากตำแหน่งของดวงตาอาจจะไม่อยู่ในบริเวณที่เซ็นเซอร์สามารถสแกนได้ ซึ่งถ้าหากเป็นปัญหาดังกล่าว แนะนำให้ใช้สแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อคแทนครับ มันทำงานได้เร็วไม่แพ้กันเลย
สำหรับตัวเลือกการตั้งค่าสแกนม่านตา ใบหน้า ลายนิ้วมือ รวมถึง Intelligent Scan จะมีให้ตั้งค่ากันตั้งแต่ตอนเปิดใช้เครื่องครั้งแรกเลย ก็เลือกใช้กันได้ตามสะดวก แต่ไม่ว่าจะเลือกระบบสแกนแบบใดก็ตาม ระบบจะบังคับให้ตั้งรหัสผ่านไว้ด้วยเสมอ โดยให้เลือกระหว่างพินโค้ด, วาดเส้นต่อจุด หรือจะรหัสผ่านก็ได้ ตามที่ต้องการ
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่มาพร้อมจอโค้งก็คือ Edge Lighting และ Edge Panel ครับ โดย Edge Lighting คือแถบสีที่จะวิ่งรอบขอบจอ เวลามีการแจ้งเตือนเข้ามา ส่วน Edge Panel คือแถบทางลัดสำหรับเรียกการทำงานต่างๆ ขึ้นมา เช่นเรียกแถบรวมไอคอนแอปที่ใช้บ่อย แถบรวมตารางนัดหมาย เป็นต้น ซึ่งสามารถเรียกใช้งานได้ด้วยการปาดนิ้วลากจากแถบสีขาวเล็กๆ ตรงขอบจอเข้ามาด้านใน
ซึ่งทั้ง Edge Lighting และ Edge Panel ก็สามารถตั้งค่าได้จากเมนูการตั้งค่าของตัวเครื่อง จะปิดการทำงานไปเลยก็ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในส่วนของแถบปุ่มสั่งงานด้านล่าง (navigation bar) ก็สามารถปรับแต่งได้อีกเล็กน้อย เช่น ใส่สี ปรับตำแหน่งของทั้ง 3 ปุ่ม รวมถึงสามารถปรับระดับแรงกดของปุ่มโฮมได้ ว่าจะให้ระบบจับค่าว่าผู้ใช้ตั้งใจกด เมื่อตำแหน่งนั้นถูกกดลงไปหนักระดับใด จากที่มีทั้งหมด 5 ระดับ
Software / ซอฟต์แวร์ในเครื่อง
Samsung Galaxy S9+ มาพร้อมกับ Android 8.0 Oreo ครอบมาด้วยอินเตอร์เฟส Samsung Experience 9.0 ที่เป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุด หน้าตาก็จะมาในแบบเรียบๆ แต่มีฟังก์ชันซ่อนอยู่ในหลายๆ จุดตามสไตล์ของ Samsung เลย ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลจาก 64 GB จะเหลือให้ใช้งานจริงประมาณ 51 GB ด้วยกัน
อีกหนึ่งจุดที่ระบบมีให้คือการปรับความละเอียดการแสดงผลหน้าจอ ที่แม้ว่าตัวฮาร์ดแวร์จะเป็นจอความละเอียด 2960×1440 ก็ตาม แต่ด้วยสายตาคนปกติ การแยกความแตกต่างของความละเอียดหน้าจอมือถือที่สูงกว่า Full HD (1920×1080) ขึ้นไปก็ทำได้ค่อนข้างยากแล้ว ระบบมันก็เลยมีตัวเลือกให้ปรับสเกลการแสดงผลได้ 3 ระดับ คือระดับสูงสุดที่ 2960×1440 เต็มๆ ระดับกลางซึ่งเป็นค่าเริ่มต้นของระบบคือ 2220×1080 และก็ค่าต่ำสุดคือ 1480×720 ซึ่งเหมาะกับเวลาที่ต้องการประหยัดพลังงานขีดสุด โดยเท่าที่ผมลองปรับดู ก็พอจะพบความแตกต่างระหว่างระดับสูงสุดกับระดับกลางอยู่บ้างเหมือนกัน คือเรื่องความคมชัดของตัวอักษร แต่ถ้าในการใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้เพ่งหน้าจอหนักๆ ผมว่าแค่ระดับกลางก็เหลือเฟือแล้วครับ ประหยัดพลังงานงานกว่า แถมสบายตากว่าด้วย
Bixby คือผู้ช่วยส่วนตัวที่ Samsung พัฒนาขึ้นมา โดยมีมาตั้งแต่ตอน S8/S8+ แล้ว ซึ่งในรอบนี้ก็ได้รับการเสริมความสามารถมากขึ้น ในเรื่องของการนำเสนอข้อมูล การโต้ตอบผู้ใช้งาน รวมถึงยังมีส่วนของเมนู My Bixby ที่เปรียบเสมือน challenge มาท้าทายผู้ใช้งานให้ทดลองทำภารกิจในการใช้งาน Bixby นัยหนึ่งก็เป็นการสอน/ฝึกตัวผู้ใช้เอง อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการเสริมความสามารถให้ Bixby ผ่านการเรียนรู้จากผู้ใช้งานจริงไปด้วยในตัว แต่อย่างไรก็ตาม Bixby ยังไม่รองรับการสั่งงานด้วยเสียงเป็นภาษาไทยนะครับ คงต้องรอกันต่อไป เพราะภาษาไทยมันค่อนข้างยากจริงๆ (แถมไม่ได้เป็นภาษากลุ่มหลักๆ ของโลกด้วย) ขนาด Siri และ Google Assistant ยังต้องรอกันนานเลย
นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชัน Bixby Vision ที่อยู่ในแอปกล้องด้วย โดยสามารถอ่านได้จากในรีวิว Samsung Galaxy A8+ นะครับ ว่าเป็นอย่างไร
Camera / กล้องถ่ายภาพ
กล้องถ่ายภาพ เป็นจุดที่ Samsung เลือกใช้เป็นฟีเจอร์หลักในการโปรโมท Samsung Galaxy S9/S9+ เนื่องจากมีการพัฒนาในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ดีอยู่แล้วใน S8/S8+ ให้ดีขึ้นมาอีกขั้น โดยเฉพาะ Samsung Galaxy S9+ ที่คราวนี้มาพร้อมกล้องหลังคู่ ซึ่งจุดประสงค์ของการใส่กล้องหลังมาสองตัวของ S9+ ก็คือเพื่อใช้ในการถ่ายซูม 2 เท่าได้แบบไม่เสียรายละเอียด รวมถึงช่วยในการถ่ายภาพแบบเบลอฉากหลังได้แม่นยำ และเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากเลนส์ทั้งสองมีความแตกต่างกันในทางกายภาพอยู่ครับ นั่นคือ
- กล้อง 1: เลนส์ wide 26mm รูรับแสง f/1.5-2.4 เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/2.55″ เม็ดพิกเซลขนาด 1.4 ไมครอน
- กล้อง 2: เลนส์ tele 52mm รูรับแสง f/2.4 เซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1/3.6″ เม็ดพิกเซลขนาด 1 ไมครอน
จะเห็นว่ากล้องทั้งสองถูกออกแบบมาให้มีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน อย่างในกล้อง 1 ก็คือกล้องหลักสำหรับใช้งานทั่วไป เซ็นเซอร์รับภาพและเม็ดพิกเซลมีขนาดใหญ่กว่า ทำให้การเก็บแสงสว่างทำได้ดีกว่า ประกอบกับรูรับแสงที่เปิดได้กว้างสุด f/1.5 ช่วยให้การถ่ายในที่มีแสงน้อยทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากๆ ส่วนกล้อง 2 ที่เป็นเลนส์เทเลจะเหมาะกับการถ่ายวัตถุระยะไกล โดยดึงให้วัตถุดูเหมือนเข้ามาอยู่ใกล้ยิ่งขึ้น ลดขนาดเซ็นเซอร์รับภาพและเม็ดพิกเซลลง ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ครับ เพราะการใช้งานทั่วไปจะเน้นใช้กล้อง 1 มากกว่า ส่วนกล้อง 2 เสมือนเป็นกล้องเสริมไป
รูรับแสงปรับค่าได้ f/1.5-2.4
อีกประเด็นในเรื่องกายภาพของกล้องหลังที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ความสามารถในการปรับความกว้างรูรับแสงในกล้อง 1 ได้ โดยเป็นการปรับความกว้างด้วยการควบคุมระดับการเปิดของไดอะแฟรมที่ปิดหน้าเลนส์ ซึ่งก็คือหลักการเดียวกันกับพวกเลนส์ของกล้อง DSLR/Mirrorless เลย โดยสามารถปรับได้ 2 ค่าคือ f/1.5 และ f/2.4 แต่ใช่ว่าพอกล้องมันปรับ f ได้ จะทำให้การใช้งานยุ่งยากขึ้นแต่อย่างใดครับ เพราะหลักๆ แล้วซอฟต์แวร์จะเป็นผู้จัดการให้เองว่าจะเปิดรูรับแสงที่เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับสภาพแสงในขณะที่ถ่าย หากเป็นการถ่ายกลางแจ้ง แสงสว่างมากพอ กล้องก็จะเลือกใช้ f/2.4 ส่วนถ้าถ่ายในที่มืด แสงน้อย กล้องก็จะเลือกใช้ f/1.5 ที่เปิดรูรับแสงกว้างกว่า ช่วยให้เก็บแสงเข้ามาได้มากโดยอัตโนมัติ ส่วนถ้าผู้ใช้ต้องการเลือกที่จะใช้ค่ารูรับแสงที่คิดไว้ในใจ ก็ต้องเปลี่ยนไปถ่ายภาพด้วยโหมด Pro แทน ซึ่งจะมีปุ่มให้สลับค่ารูรับแสงได้ตามต้องการ ส่วนค่าอื่นๆ ก็ปล่อยเป็น auto เพื่อให้ระบบคำนวณให้ก็ได้ครับ
แน่นอนว่าก็คงมีหลายๆ ท่านสงสัยว่า
ไหนๆ เครื่องมันก็ปรับรูรับแสงได้สูงสุดถึง f/1.5 แล้ว ทำไมเราไม่ใช้ f/1.5 ในทุกรูปเลยล่ะ?
ตรงข้อนี้ จากที่ผมทดสอบมา กับการถ่ายในที่เดียวกัน เวลาใกล้เคียงกันมากๆ พบว่าภาพจากการตั้งค่าที่ f/1.5 จะดูสว่าง over กว่าที่ควรจะเป็นเล็กน้อย ต่างกับภาพจาก f/2.4 ที่ความสว่างของภาพในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะการถ่ายกลางแจ้งจะดูกลมกล่อมกว่า ดังนั้นในส่วนของการปรับรูรับแสง ส่วนตัวผมมองว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของซอฟต์แวร์ในเครื่องจัดการให้ดีกว่าครับ นอกเหนือเสียจากว่าจะมีรูปแบบของภาพที่ต้องการในใจอยู่แล้ว ก็ค่อยไปปรับค่ารูรับแสงตามที่ต้องการในโหมด Pro เอา สำหรับตัวอย่างภาพที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่าง f/1.5 และ f/2.4 ได้ชัดมากๆ ก็คือภาพด้านล่างนี้
สองภาพนี้ผมถ่ายโดยใช้โหมด Pro แล้วปรับแค่ค่ารูรับแสงให้ต่างกัน ส่วนค่าอื่นๆ ก็ปล่อยให้ระบบคำนวณให้เอง ตอนจะถ่ายก็แตะเลือกจุดโฟกัสที่ตรงรอยต่อระหว่างฝาและตัวแก้ว ภาพของ f/1.5 จะได้หลังที่เบลอกว่า (ละลายหลังมากกว่า) แต่ความสว่างจะดู over กว่าความเป็นจริงพอสมควร ส่วนภาพที่ใช้ f/2.4 นั้น ระบบจะชดเชยความสว่างด้วยการปรับระยะเวลาการเปิดชัตเตอร์ให้นานขึ้นเป็น 1/25 วินาที เพื่อให้ปริมาณแสงเข้ามาอยู่ในจุดที่สมดุลจากการวัดแสงแบบเฉพาะจุดที่เลือก ซึ่งภาพที่ออกมา แสงจะ over น้อยกว่า f/1.5 เล็กน้อย แต่ความเบลอของพื้นหลังก็ลดลงมาด้วยเช่นกัน
อีกภาพที่เป็นการถ่ายช็อตใกล้เคียงกัน แต่ใช้ค่ารูรับแสงต่างกัน ก็ตามภาพด้านบนครับ ภาพซ้ายคือ f/1.5 ส่วนภาพขวาคือ f/2.4 ที่จะเห็นความแตกต่างของการเบลอพื้นหลังอันเกิดจากลักษณะทางกายภาพของรูรับแสงที่ต่างกันได้อย่างชัดเจนครับ DOF ของภาพซ้ายจะตื้นกว่าภาพขวามาก สังเกตจากไม้ของเก้าอี้ที่อยู่รอบๆ ตัวโมเดลที่มีระนาบเบลอต่างกัน ส่วนเรื่องความสว่างของภาพ รอบนี้ f/1.5 ดันออกมามืดกว่าเล็กน้อย อาจจะเป็นเพราะระบบคำนวณค่าสปีดชัตเตอร์ให้เร็วเกินไป ทำให้แสงที่เข้ามาในภาพน้อยไปนิดนึง (ที่จริง 1/1000 s ก็น่าจะได้ความสว่างออกมาเท่าๆ กับภาพขวาแล้ว)
สรุปแล้ว ในด้านความสามารถในการปรับความกว้างรูรับแสง ทั้งสองค่าต่างก็มีข้อดีของตนเองที่แตกต่างกัน ถ้าคัดมาแบบสั้นๆ ได้ใจความก็คือ
- f/1.5 เหมาะกับการถ่ายวัตถุ ตัวแบบที่ต้องการละลายฉากหลัง และการถ่ายในที่มีแสงน้อย
- f/2.4 เหมาะกับการถ่ายภาพทั่วๆ ไปที่เน้นความคมชัด ถ่ายวิว ถ่ายภาพในเวลากลางวัน
การซูมออปติคอล 2 เท่า
จากที่เกริ่นไปข้างต้นว่ากล้องหลังตัวที่ 2 ของ Samsung Galaxy S9+ คือกล้องที่ใช้เลนส์เทเล ทำให้มันสามารถถ่ายภาพที่ระยะซูม 2 เท่าเมื่อเทียบจากเลนส์ปกติได้โดยเสมือนเป็นการซูมแบบออปติคอล ซึ่งมีข้อดีคือได้ภาพที่วัตถุเข้ามาอยู่ใกล้มากขึ้น รวมทั้งยังมีการสูญเสียรายละเอียดภาพที่น้อยกว่าดิจิตอลซูมอีกด้วย ดังจะเห็นจากภาพด้านบน ภาพแรกคือถ่ายด้วยระยะปกติ ภาพที่สองเป็นการใช้กล้องที่สองผ่านการกดปุ่ม 2X ในโหมดออโต้ของแอปกล้อง ส่วนภาพขวาสุดคือผมนำภาพกลางมา crop 100% เพื่อให้เห็นรายละเอียดภายในภาพ จะเห็นว่ายังคมชัด สามารถนำภาพไปใช้ต่อได้สบายมาก
โหมด Live Focus
เป็นโหมดที่มีเพิ่มเข้ามาใน Samsung Galaxy S9+ ซึ่งจะมีเฉพาะในรุ่นที่มีกล้องคู่เท่านั้น คุณสมบัติของมันก็คือสามารถถ่ายภาพที่ละลายฉากหลังได้มากกว่าปกติ สามารถเลือกระดับความเบลอหลังถ่ายได้ และยังสามารถเลือกรูปแบบของโบเก้ที่ฉากหลังได้อีกด้วย การใช้งานก็เพียงแค่เลื่อนหน้าจอในแอปกล้องเพื่อเปลี่ยนไปยังโหมด Live Focus ส่วนเวลาถ่ายจริง จะมีข้อความบอกให้ถือกล้องอยู่ห่างจากวัตถุในระยะ 3-5 ฟุต จากนั้นแตะเลือกจุดโฟกัส แล้วก็กดถ่าย โดยกล้องที่ถ่ายจะเป็นกล้อง 2 ที่ใช้เลนส์เทเล ซึ่งสามารถตั้งค่าให้ระบบถ่ายภาพด้วยกล้องทั้ง 2 ตัวพร้อมกันก็ได้ด้วย ซึ่งจะมีภาพมาให้เลือกตอนหลังระหว่างภาพ close-up (จากกล้อง 2) และภาพ wide angle (จากกล้อง 1)
ซึ่งจากที่ผมทดลองใช้มา ก็พบว่าบางจังหวะ ตัวกล้องจะเตือนให้เพิ่มระยะห่างจากกล้องถึงวัตถุขึ้นอีก พอถอยออกมาแล้ว บางครั้งก็ยังเตือนให้ถอยเพิ่มอีก นอกจากนี้ในบางจังหวะ หลังจากกล้องจับโฟกัสได้ (มีข้อความว่า Live Focus ready ขึ้นมาแล้ว) จากนั้นไม่นาน ภาพก็หลุดโฟกัสอีกรอบ รวมๆ แล้วจัดว่ายังมีติดขัดในการใช้งานจริงอยู่บ้าง คงต้องให้ Samsung ค่อยๆ ปรับกันต่อไปครับ ซึ่งถ้าทำในส่วนของซอฟต์แวร์ได้ดี น่าจะทำให้ฟีเจอร์นี้น่าใช้งานขึ้นมากอย่างแน่นอน
ส่วนภาพที่ได้ออกมาจากโหมด Live Focus ก็ตามภาพด้านบนเลย จะเห็นว่าการเบลอฉากหลังทำได้ดีมาก ภาพโดยรวมดูละมุน แต่เรื่องการตัดขอบวัตถุยังมีจุดที่ไม่ค่อยเนียนอยู่ เช่น หลอด ฝาปิดแก้ว รวมถึงเก้าอี้จากฉากหลังที่งอกอยู่ข้างแก้วด้วย
ส่วนทั้ง 5 ภาพด้านบนนี้ก็คือเมนูที่มีให้ปรับได้หลังจากถ่ายด้วยโหมด Live Focus มาแล้ว ผู้ใช้สามารถปรับระดับความเบลอของฉากหลังได้ ส่วนภาพที่ 4 คือความสามารถในการเปลี่ยนหน้าตาของโบเก้ในฉากหลัง ซึ่งมีหลายรูปให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นรูปหัวใจ รูปดาว รูปเครื่องบิน เป็นต้น ส่วนภาพที่ 5 ก็คือภาพมุมกว้างที่ถ่ายจากกล้อง 1 ซึ่งเก็บภาพมาในจังหวะเดียวกันกับกล้อง 2 นั่นเอง
ด้านการตั้งค่าความละเอียดของกล้องหลังและกล้องหน้าของ Samsung Galaxy S9+ ก็มีตัวเลือกให้มากพอสมควรเลย อย่างกล้องหลังก็ตั้งค่าภาพนิ่งได้สูงสุดที่ 12 ล้านพิกเซล อัตราส่วน 4:3 และสามารถถ่ายวิดีโอได้สูงสุดถึงระดับ 4K 60fps แต่ถ้าเป็นการถ่ายที่ระดับนี้ (และถ่ายที่อัตราส่วนภาพ 1:1) ระบบกันสั่น OIS จะไม่ทำงานนะครับ ดังนั้นแนะนำว่าหากต้องการถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงมากแบบไม่มีขาตั้ง เลือกเป็นแค่ 4K ปกติก็พอ ส่วนกล้องหน้าก็ถ่ายได้สูงสุด 8 ล้านพิกเซล ถ่ายวิดีโอได้สูงสุดที่ระดับ 2K
AR Emoji
อีกหนึ่งฟีเจอร์ใหม่ของกล้องใน Samsung Galaxy S9 และ S9+ ก็คือ AR Emoji ที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างอีโมจิจากหน้าตนเอง ซึ่งขยับได้ตามท่าทางหน้าผู้ใช้จริงๆ ด้วยเทคโนโลยี AR ที่เป็นเทรนด์ของมือถือในปีนี้ โดยสามารถใช้ได้ทั้งกล้องหลังและกล้องหน้า การเปิดใช้งานก็ง่ายมาก เพียงแค่เปิดแอปกล้อง แล้วปาดหน้าจอจากขวาไปซ้าย สามารถทำได้ทั้งการใช้ตัวละครซึ่งจะทำหน้าตาเหมือนกับใบหน้าที่ปรากฏขึ้นมาในกล้อง หรือเป็นหน้ากากแปะขึ้นมาบนใบหน้าก็ได้ (ได้พร้อมกันสูงสุด 3 หน้า) ด้านของความสมจริง ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่โอเค มีบางจังหวะที่ดีเลย์กว่าใบหน้าจริงอยู่บ้างเล็กน้อย
ที่เป็นไฮไลท์จริงๆ ก็คือ ผู้ใช้สามารถสร้าง AR Emoji ของตนเองได้ เพียงกดที่ปุ่ม Create My Emoji ซึ่งที่เหมาะสุดก็คงเป็นการใช้งานจากกล้องหน้า โดยระบบก็จะมีกรอบวงกลมขึ้นมา ให้ผู้ใช้/ตัวแบบถ่ายภาพหน้าตรง ถอดแว่น จัดผมให้ไม่บังใบหน้า เห็นตา จมูก ปากชัดๆ ทำหน้าอมยิ้มเล็กน้อยแบบไม่ให้เห็นฟัน จากนั้นก็กดถ่าย หลังจากนั้นก็สามารถเลือกเพศ ตกแต่งทรงผม ชุดที่ใส่ แว่นได้ตามใจชอบ แล้วก็กดเซฟ ซึ่ง AR Emoji ที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ สามารถนำไปใช้ในบางแอปได้เลย (แต่ใน Line ยังใช้ไม่ได้นะครับ)
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอยากนำ AR Emoji ไปใช้ ระบบจะสร้างไฟล์ภาพ GIF ให้ ก็สามารถนำไฟล์เหล่านี้ไปโพส แปะในแชทบนแอปต่างๆ ได้เหมือนกัน โดยจะมีมาให้ทั้งหมด 18 ภาพ ตัวอย่างก็เช่นภาพ GIF ด้านบนนี้เลย จะเห็นว่ามีการขยับตา ขยับปากได้ค่อนข้างเนียนพอสมควร
ถ่ายวิดีโอ Super Slow-Mo
การถ่ายวิดีโอแบบสโลว์โมชัน นับว่ามีในมือถือมาก็หลายปีแล้ว ซึ่งแต่ละค่ายก็มีการพัฒนาอยู่ตลอด เห็นได้ชัดก็คือเฟรมเรตที่สูงขึ้น ที่ทำให้การเคลื่อนไหวดูช้าลง ควบคู่ไปกับความละเอียดของวิดีโอที่สูงขึ้น สำหรับใน Samsung Galaxy S9/S9+ ก็สามารถทำได้สูงสุดที่ 960fps ความละเอียด 720p ซึ่งจัดว่าสูงมากสำหรับสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน หลังถ่ายเสร็จ ก็สามารถตัดต่อได้ ใส่เพลงประกอบได้ โดยระบบจะใส่เพลงประกอบมาให้อัตโนมัติ (ตัวอย่างจากคลิปด้านบน) รวมถึงผู้ใช้ยังสามารถทำออกมาเป็นไฟล์ภาพ GIF ได้อีกด้วย
ปิดท้ายด้วยแกลเลอรี่ภาพถ่ายจากกล้องหลัง Samsung Galaxy S9+ ซึ่งบางภาพ ถ้าภาพติดกันเป็นมุมซ้ำกัน แสดงว่าภาพแรกคือถ่ายที่ 1x ปกติ ภาพหลังคือถ่ายแบบซูม 2x
ส่วนภาพจากกล้องหน้าก็ในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้เลยจ้า
Performance / ประสิทธิภาพ ความแรง
ช่วงที่ Samsung เปิดตัวมือถือระดับท็อปในแต่ละปี ก็การันตีได้เลยว่าผลทดสอบประสิทธิภาพที่ออกมาจะต้องอยู่ในระดับต้นๆ ของสมาร์ทโฟนในช่วงนั้นอย่างแน่นอน ซึ่งในปีนี้ก็ยังเป็นเช่นเคยครับ สำหรับ Samsung Galaxy S9+ ที่มาพร้อมชิปประมวลผล Exynos 9810 ที่ Samsung พัฒนาต่อยอดมาจากรุ่นก่อนๆ เมื่อทดสอบด้วยแอปยอดนิยมอย่าง AnTuTu ก็ทำคะแนนได้ประมาณ 240,000 กว่าคะแนน ติดเป็นอันดับ 1 ของการจัดอันดับคะแนนของในแอป AnTuTu เองไปเรียบร้อย แซงหน้า Snapdragon 835 แบบห่างกันอยู่ราวๆ 30,000 คะแนน (เทียบกับ Google Pixel 2 XL) ส่วนผลทดสอบจากแอปอื่นๆ ก็หายห่วงครับ ติดอันดับท็อปๆ ของสมาร์ทโฟน Android ในปัจจุบันทั้งหมดเลย
ด้านของรอมในเครื่องก็เลือกใช้ชิปหน่วยความจำแบบ UFS ที่ความเร็วในการอ่าน/เขียนสูงมากๆ ซึ่งมีผลในส่วนของการเปิดแอป เรียกข้อมูล บันทึกข้อมูล ซึ่งจะเห็นได้ชัดมากๆ เวลาถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ที่จะมีการจัดเก็บภาพในรอมของเครื่องได้เร็วทันใจ ส่วนการเชื่อมต่อเครือข่าย เท่าที่ผมทดสอบจากในบางพื้นที่ ก็เจอจุดที่ได้ความเร็วสูงสุดตามภาพด้านบนเลยคือดาวน์โหลด 221 MB/s อัพโหลด 26.2 MB/s ผ่านการเชื่อมต่อแบบ 3CA ซึ่งถ้าหากเจอบริเวณที่สัญญาณแรงกว่านี้ ก็น่าจะทำความเร็วในการทดสอบได้สูงกว่านี้อย่างแน่นอน
คอเกมก็หายห่วงครับ สามารถเล่นได้ทุกเกมในปัจจุบันแบบไหลลื่น เท่าที่ผมลองเล่น ROV ดู ด้วยการตั้งค่าอัตโนมัติของเกม เพิ่มเติมด้วยการเปิดโหมดเฟรมเรตสูง พบว่าเฟรมเรตส่วนใหญ่จะคงที่อยู่ในช่วง 55-60 fps โดยที่ตัวเครื่องอุ่นๆ ขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ถึงกับร้อนมือ ส่วนเกมสุดฮิตที่เพิ่งได้ฤกษ์เปิดให้เล่นในมือถือแบบเป็นทางการอย่าง PUBG ผมก็ลองเล่นมาเรียบร้อยแล้ว สามารถปรับเฟรมเรตระดับสูงสุดที่ความละเอียด HD ได้สบาย เฟรมเรตไหลลื่น เครื่องอุ่นขึ้นมานิดหน่อย ส่วนระดับ Ultra HD ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่แนะนำว่าแค่ HD ก็พอแล้วครับ จะได้เล่นยาวๆ แบบไม่ต้องกลัวแบตหมดเร็วและความร้อนสะสมมากนัก
ปิดท้ายด้วยการใช้งานแบตเตอรี่บน Samsung Galaxy S9+ ครับ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องมาใหม่ ในช่วง 1-2 วันแรกระบบจะพยายามเรียนรู้รูปแบบการใช้งาน เพื่อปรับแต่งการทำงานเบื้องหลังให้เหมาะสมต่อการใช้งาน และคำนึงถึงการใช้แบตเตอรี่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด จึงอาจทำให้ในช่วง 1-2 วันแรก เครื่องอาจจะแบตหมดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น แต่พอหลังจากนั้น ระยะเวลาการใช้งานแบตก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากที่ผมทดสอบ ก็อยู่ได้หมดวันพอดี แต่ถ้าหากวันไหนถ่ายรูปเยอะๆ ก็อาจจะมีเสียบชาร์จกับ powerbank บ้างระหว่างวันครับ หรือถ้าหากฉุกเฉินจริงๆ ก็ยังมีโหมดประหยัดพลังงานให้เลือกใช้งานอีก 2 ระดับ ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาในหลายๆ รุ่นแล้วว่าช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานได้จริง
ด้านบนก็คือผลการทดสอบเรื่องการชาร์จแบต Samsung Galaxy S9+ ด้วยอะแดปเตอร์และสายชาร์จที่ให้มาในกล่อง โดยในระหว่างการชาร์จตั้งแต่เริ่มไปจนถึงช่วงประมาณ 90% อะแดปเตอร์จะจ่ายไฟที่ประมาณ 9V 1.3A ซึ่งระบบจะแจ้งว่าเป็นระดับ Fast Charge เมื่อดูจากระยะเวลาและปริมาณแบตที่ชาร์จเข้าไปได้ ก็จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยการชาร์จต่อ 1 นาที ระบบสามารถอัดไฟเข้าไปได้เกิน 1% โดยที่ตัวเครื่องแค่อุ่นๆ ขึ้นมาเล็กน้อย ประสิทธิภาพโดยรวมก็คือสามารถชาร์จแบตจากประมาณ 10% ขึ้นมาเป็น 50% ได้โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ส่วนถ้าหากอยากชาร์จจนเต็ม ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาทีครับ
สาเหตุที่ตัวเลขปริมาณแบตเตอรี่ของการชาร์จในช่วงแบตใกล้เต็มเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้านั้น ก็เป็นเพราะระบบควบคุมการชาร์จสั่งงานให้อะแดปเตอร์ปล่อยไฟน้อยลงมาเหลือประมาณ 9V 0.5A เพื่อเป็นการถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่นั่นเอง
ข้อดี
– งานประกอบโดยรวม สมราคา ผิวกระจกหรูหรา พรีเมียม (สีฟ้าสวยมาก)
– กล้องดีงาม ให้ภาพที่สูสีกับ Google Pixel 2 และ 2 XL แถมดีกว่าตรงที่หาซื้อง่ายกว่า Pixel เยอะ
– กล้องหลังสามารถปรับรูรับแสงได้จริง ช่วยให้ถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้น
– กล้องคู่ระยะปกติ และระยะเทเล ทำให้ซูมภาพ 2x ได้แบบออปติคอล ภาพไม่แตก
– ลูกเล่นกล้องเยอะ เช่น AR Emoji, Super Slow-Mo และ Live Focus
– จอแสดงผลคุณภาพสูง สีสวย คมชัด
– เซ็นเซอร์สแกนม่านตาทำงานร่วมกับสแกนใบหน้า กลายเป็น Intelligent Scan ที่เร็วและแม่นยำกว่าเดิม
– ระบบเสียง Dolby Atmos และลำโพงที่ผ่านการจูนโดย AKG
ข้อสังเกต
– ฝาหลังเปื้อนรอยนิ้วมือง่ายมาก
– โหมด Pro ของกล้อง ไม่สามารถปรับชดเชยแสง (EV) ได้ ถ้าผู้ใช้เลือกปรับความเร็วชัตเตอร์เอง
– โหมด Live Focus ของกล้องหลังยังมีติดขัดบ้างระหว่างใช้งาน
บทสรุป
BEST PRICE