ในปี 2018 นี้ เทรนด์ของมือถือจอยาวด้วยอัตราส่วนนอกเหนือจาก 16:9 ที่ใช้กันมานานกลายเป็นที่นิยม ดังจะเห็นได้จากในตลาดตอนนี้ที่หลายแบรนด์เริ่มส่งมือถือที่มาพร้อมอัตราส่วนจอใหม่ๆ เข้ามาในตลาดกันในหลากหลายช่วงราคาให้เลือกกัน ซึ่งหนึ่งในผู้ผลิตที่ปรับตัวเข้ากับตลาดนี้เป็นรายแรกๆ อย่าง Samsung ก็ไม่นอนใจ ส่งมือถือเข้ามาเติมในกลุ่มนี้ต่อเนื่องจากซีรีส์ท็อปอย่าง Samsung Galaxy S8, S8+ และ Note 8 ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มตัวจุดกระแส โดยในคราวนี้ก็เป็นช่วงเวลาของกลุ่มรองท็อปอย่างซีรีส์ A กันบ้าง ซึ่งที่ทางเว็บ SpecPhone เรารีวิวในครั้งนี้ก็จะเป็น Samsung Galaxy A8+ (2018) ที่หน้าตาแทบจะถอดแบบมาจาก S8+ กันเลยทีเดียว และนับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนกำลังมองหามือถือจอใหญ่เต็มตา แต่ตัวเครื่องไม่ใหญ่มากนัก พร้อมๆ กับราคาไม่ถึง 20,000 บาทครับ
สำหรับ Samsung Galaxy A8+ (2018) นับเป็นรุ่นท็อปสำหรับซีรีส์ Galaxy A ของ Samsung ซึ่งถ้าให้ไล่กันจริงๆ ก็นับว่าเป็นรุ่นที่ถัดลงมาจาก S8/S8+ แค่ครึ่งสเต็ปก็ว่าได้ ที่เห็นได้ชัดสุดก็เรื่องดีไซน์ที่ยกมาแทบจะทุกส่วน
สเปค Samsung Galaxy A8+ (2018) ก็ตามนี้เลยครับ
- ชิปประมวลผล Exynos 7885 มี 8 คอร์ (2x 2.2 GHz และ 6x 1.6 GHz) พร้อมชิปกราฟิก Mali-G71
- หน้าจอ Full Display ขนาด 6 นิ้ว Super AMOLED ความละเอียดระดับ FHD+ (2220 x 1080) อัตราส่วนจอ 18.5:9
- แรม 6 GB
- รอม 64 GB ใช้งานได้จริงราวๆ 51 GB รองรับ MicroSD ได้สูงสุด 256 GB
- กล้องหลัง 16 MP เลนส์ f/1.7
- กล้องหน้าคู่ 16 MP (มุมปกติ 76 องศา) และ 8 MP (มุมกว้าง 85 องศา) เลนส์ f/1.9
- รองรับการใช้งาน 2 นาโนซิม พร้อมใส่ MicroSD ได้ด้วย
- ใช้งาน 4G LTE ได้ทุกเครือข่าย รองรับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ 3CA / 2×2 MIMO / 256/64QAM
- ช่องเชื่อมต่อ USB-C / ช่องเสียบแจ็คหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
- NFC / Bluetooth 5.0 / รองรับ Samsung Pay
- มาพร้อม Android 7.1.1
- แบตเตอรี่ความจุ 3500 mAh รองรับ Fast Charge
- กันน้ำกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP68
- ราคา Samsung Galaxy A8+ (2018) ในไทยอยู่ที่ 18,990 บาท
- สเปค Samsung Galaxy A8+ (2018) เต็มๆ
แง่ของสเปค Samsung Galaxy A8+ (2018) ก็นับว่าจัดเต็มสำหรับรุ่นกลางๆ แบบขึ้นไปชนกับซีรีส์ที่สูงกว่าอย่าง S8/S8+ ได้อยู่เหมือนกัน แม้ CPU กับ GPU จะรองลงมาจากรุ่นท็อปเล็กน้อย แต่แรม ปริมาณรอม ความจุแบตเตอรี่ รวมถึงหน้าจอก็แทบจะไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียว ฟีเจอร์ย่อยๆ ก็ใส่มาให้ค่อนข้างครบจนแทบจะเรียกว่าเป็นตัวแทนของ S8/S8+ ก็ยังได้ ซึ่งตรงจุดนี้ก็อาจจะทำให้คนที่กำลังเล็งสองรุ่นดังกล่าวอยู่มีไขว้เขวได้เหมือนกัน เพราะด้วยราคา A8+ (2018) ที่ไม่ถึง 20,000 บาท (แถมบางร้าน บางเครือข่ายก็มีโปรลดราคาลงไปอีก) ก็สามารถหามือถือจอใหญ่ ที่ได้ความรู้สึก ได้ฟีเจอร์ในระดับใกล้ๆ กับ S8 แล้ว แถมยังได้เป็นเครื่องมือหนึ่งแบบไม่ผูกสัญญาก็ยังได้อีกด้วย
Design / การออกแบบ
รูปร่าง รูปทรงของ Samsung Galaxy A8+ (2018) ออกมาทำให้ชวนนึกถึง S8+ จนแทบจะแยกความแตกต่างไม่ออกเลยทีเดียว ด้วยการใช้จอ Full Display อัตราส่วน 18.5:9 เหมือนกันเป๊ะ มีขอบบนขอบล่างเท่าๆ กัน แต่จุดที่จะทำให้แยกความแตกต่างระหว่าง A8+ (2018) กับ S8+ ได้ดีสุดก็คือขอบจอด้านข้าง เพราะ S8+ จะเป็นจอโค้งจนทำให้เสมือนว่าไร้ขอบจอด้านข้างไปเลย แต่ของ A8+ จะเห็นขอบจอด้านข้างที่เป็นสีดำได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะถูกใจบางคนที่ไม่ถนัดกับการใช้มือถือขอบจอโค้งอยู่เหมือนกัน
สีสัน การแสดงผลของจอ Samsung Galaxy A8+ (2018) ก็ทำออกมาได้ตามสไตล์จอ Super AMOLED ของ Samsung เองครับ ความสว่างอยู่ในเกณฑ์ดีไม่ว่าจะใช้กลางแจ้งหรือในที่ร่ม สีสันสวยงาม สดใส ไม่จัดจ้านเกินไป ส่วนที่เป็นสีดำก็ดำสนิท ซึ่งเป็นจุดที่ช่วยแยกความแตกต่างระหว่างจอ AMOLED กับจอ LCD ทั่วไปได้ดี อีกทั้งเมื่อจอมีส่วนยาวเพิ่มขึ้นจนเกือบเต็มเครื่อง ทำให้ความรู้สึกของตอนที่ใช้งานมันเต็มตา เต็มอารมณ์กว่ามือถือจอ 16:9 มากจริงๆ
ส่วนถ้าดูจากสเปคแล้ว A8+ (2018) มาพร้อมกับจอที่วัดขนาดตามแนวทะแยงแล้วอยู่ที่ 6 นิ้ว แต่พอใช้งานเครื่องจริงๆ พบว่ามันไม่ได้ใหญ่เทอะทะอย่างที่คิดเลย ตัวเครื่องในด้านกว้างก็มีขนาดที่ไม่ต่างจากมือถือจอ 5.5 นิ้วเท่าไรนัก จะมีก็แต่ด้านยาวของเครื่องที่ยาวขึ้นกว่าปกติ ตรงจุดนี้ทำให้การพกพา A8+ (2018) ไม่ใช่เรื่องลำบากเท่าไร ใส่กระเป๋ากางเกงได้สบาย แต่ก็ยอมรับว่าค่อนข้างหนักมืออยู่สมควรครับ
ด้านบนสุดของจอจะเป็นตำแหน่งของเซ็นเซอร์วัดแสง เซ็นเซอร์จับระยะห่าง ลำโพงสนทนา ส่วนฝั่งขวาจะเป็นกล้องหน้าคู่ ตัวหนึ่งจะเป็นเลนส์ปกติ 16 MP ส่วนอีกตัวจะเป็นเลนส์มุมกว้างกว่า ให้ความละเอียดภาพ 8 MP ซึ่งตัวของ Samsung Galaxy A8+ (2018) รองรับการปลดล็อคด้วยใบหน้าด้วยนะครับ แต่ว่าจะเป็นการใช้กล้องหน้าจับภาพใบหน้าผู้ใช้ตรงๆ ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีสแกนม่านตาเหมือนในรุ่นสูงกว่า จึงทำให้การใช้งานในที่มีแสงน้อยอาจจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ส่วนระดับความแม่นยำก็ถือว่าทำได้ดี ใส่แว่นสายตาก็สามารถใช้งานได้ แต่ถ้าใส่หน้ากากปิดปาก/จมูกก็จะใช้งานไม่ได้ละ ซึ่งก็นับเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งถ้าผู้ใช้ตั้งค่า และบันทึกใบหน้าแล้ว หากต้องการปลดล็อคหน้าจอด้วยใบหน้า ก็สามารถทำได้โดยกดปุ่มโฮมในหน้าล็อคสองครั้งติดๆ กันเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องกดปุ่มเปิด/ปิดที่อยู่ด้านข้างตัวเครื่องเลย
ด้วยการที่ใช้หน้าจออัตราส่วน 18.5:9 และเพื่อให้ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปุ่ม navigation ทั้งสามจึงต้องใช้เป็นแบบซอฟต์แวร์ของตัว Android เอง ซึ่งตำแหน่งของทั้งสามปุ่มก็อยู่ในระดับที่กดได้ง่าย แม้จะถือเครื่องด้วยมือข้างเดียวก็สามารถเอื้อมนิ้วไปกดปุ่มที่อยู่ฝั่งไกลได้ไม่ยาก ส่วนแถบด้านล่างนั้นคือทางลัดเพื่อเข้าใช้งาน Samsung Pay สำหรับการจ่ายเงินครับ ซึ่งเดี๋ยวจะมีรีวิวการใช้ Samsung Pay อยู่ในส่วนของฟีเจอร์อีกที
พลิกมาดูฝาหลังกันบ้าง วัสดุด้านหลังเป็นกระจกมันวาวที่ให้ความรู้สึกพรีเมียมใกล้เคียงกับซีรีส์ S และ Note แต่จากที่รีวิวกันมา พบว่าฝาหลังเป็นรอยขนแมวง่ายกว่า S8/S8+ และ Note 8 พอสมควรเลย ก็แนะนำว่าหลังซื้อเครื่อง ก็ควรรีบติดฟิล์ม หรือหาเคสดีๆ ที่ไม่กัดเครื่องใช้งานด้วยจะดีกว่าครับ โดยเฉพาะใครที่ตั้งใจว่าจะขายต่อในอนาคต ไม่อย่างนั้นเครื่องเป็นรอยแน่นอน ซึ่งในจุดนี้ ยังดีที่ในกล่องมีแถมเคสพลาสติกแข็งใสมาให้ด้วยชิ้นนึง
สำหรับด้านหลังนี้ก็จะมีกล้องหลังที่ราบสนิทไปกับฝาหลัง ใกล้ๆ กันก็เป็นแฟลช LED ถัดลงมาเล็กน้อยเป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ที่การวางไว้ตำแหน่งต่ำลงมากว่ากล้องหลังก็น่าจะช่วยให้ปัญหาการวางนิ้วผิดตำแหน่งเกิดขึ้นน้อยลงพอสมควร
อีกหนึ่งสิ่งที่ยอมรับว่า Samsung Galaxy A8+ (2018) ทำออกมาได้ดีก็คือ ความสามารถในการใช้งานสองซิม พร้อมกับยังใส่ MicroSD ได้อีก เพราะมือถือสองซิมในช่วงหลังๆ มานี้มักจะใช้ถาดซิมแบบไฮบริดที่ทำให้ผู้ใช้ต้องเลือกว่าจะใช้สองซิม หรือจะใช้ซิม+MicroSD แต่กับใน A8+ (2018) คือแยกถาด แยกตำแหน่งกันเลยจ้าาาา โดยถาดซิมหนึ่งที่อยู่ข้างซ้ายของเครื่องจะมีแค่ช่องใส่นาโนซิมอย่างเดียว ส่วนถาดด้านบนก็จะเป็นช่องใส่ซิมสอง พร้อมกับช่อง MicroSD ก็หวังว่าหลังจากนี้ มือถือหลายๆ รุ่นจะกลับมาใช้แบบนี้กันนะ
รอบๆ ตัวเครื่องก็จะมีปุ่มและช่องเชื่อมต่อดังนี้ครับ
- ด้านบน มีช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน และถาดซิมสอง/MicroSD
- ด้านล่าง มีช่อง USB-C, ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา และช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
- ด้านซ้าย มีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และถาดซิมหนึ่ง
- ด้านขวา มีลำโพง และปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง
โดยวัสดุของด้านข้างตัวเครื่องก็จะเป็นอลูมิเนียมที่มีความแข็งแรง โดยรวมแล้วจัดว่า A8+ (2018) ค่อนข้างบางเลยทีเดียว
Feature / ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ปลดล็อคหน้าจอด้วยการสแกนใบหน้า
สำหรับฟีเจอร์นี้ นับเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ Samsung เลือกใส่มาในมือถือรุ่นหลังๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวก ซึ่งตัวผมเองก็ใช้เหมือนกันครับ กับเวลาที่ไม่สะดวกสแกนนิ้ว ก็แค่ยกเครื่องขึ้นมา แล้วกดปุ่มโฮมบนหน้าจอสองครั้งติดๆ กัน หรือกดปุ่มเปิด/ปิด พอจอติดขึ้นมา ก็แค่ให้กล้องอยู่ในตำแหน่งที่จับใบหน้าได้ ถ้าถูก หน้าจอก็จะปลดล็อคให้ทันที กระบวนการโดยรวมจัดว่าค่อนข้างเร็วและแม่นยำพอสมควร โดยเฉพาะในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ เทคโนโลยีที่ใช้ก็ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนกับใน S8/S8+ และ Note 8 เนื่องจากเป็นการใช้กล้องหน้าจับภาพตามปกติเลย ดังนั้นก็อาจจะทำให้ใช้งานในที่มีแสงน้อยได้ลำบากกว่านิดหน่อย
จ่ายเงินแบบไร้เงินสดด้วย Samsung Pay
ด้วยเทรนด์โลกปัจจุบันที่มีการผลักดันให้สมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะด้านธุรกรรมทางการเงิน ที่ทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นกระเป๋าเงินผ่านการใช้ระบบและแอปพลิเคชันต่างๆ ในการชำระเงินไปแล้ว ซึ่ง Samsung Pay เองก็เป็นหนึ่งในนั้น และดูเหมือนจะได้รับการโปรโมตอย่างจริงจังจนเริ่มเห็นผลบ้างแล้วเหมือนกันครับ โดยใน Samsung Galaxy A8+ (2018) นี้ก็มีมาให้ใช้งานด้วยเหมือนกัน
สำหรับการใช้งาน Samsung Pay นั้น ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการใส่ข้อมูลบัตรเครดิตจริงๆ ของผู้ใช้เข้าไปก่อน วิธีก็ง่ายมาก เพียงแค่ถ่ายรูปบัตร แล้วระบบจะประมวลผลภาพ เพื่อเก็บเลขบัตรมาให้เอง จากนั้นก็กรอกข้อมูลเพิ่มเติมเล็กน้อย รวมถึงใส่ลายเซ็นต์ที่ตรงกับหลังบัตรเข้าไป แล้วก็เริ่มใช้งานได้เลย โดยระบบจะสร้างเลขบัตรเสมือนขึ้นมาใหม่ให้อีกใบหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเลขบัตรที่ทางร้านค้าจะเห็นและใช้ในการทำธุรกรรม ทำให้เลขบัตรจริงๆ ของผู้ใช้จะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
ส่วนวิธีใช้งานก็ไม่ยากครับ แต่ก่อนอื่นแนะนำว่าลองสอบถามแต่ละร้านดูก่อนว่ารองรับการจ่ายเงินผ่าน Samsung Pay หรือเปล่า เพราะเท่าที่ผมพบมา แม้จะเป็นร้านเครือเดียวกัน แต่ต่างสาขา บางสาขาก็รองรับ บางสาขาก็ยังไม่รองรับ เพราะฉะนั้น แนะนำว่าสอบถามก่อนจ่ายเงินจะดีที่สุดครับ ซึ่งหากร้านนั้นรองรับ วิธีการใช้งานก็แค่เปิดไปที่หน้าโฮมแล้วปาดนิ้วจากขอบล่างจอขึ้นมาตรงกลาง หรือถ้าล็อคหน้าจออยู่ก็สามารถปาดนิ้วขึ้นมาได้เหมือนกัน จากนั้นก็อนุมัติการชำระเงินผ่านการปลดล็อคด้วยปลายนิ้ว หรือจะกรอกรหัสพินก็ได้ แล้วเอาหลังเครื่องไปแตะตรงเครื่องอ่าน NFC ของร้านค้า เซ็นใบเสร็จ ก็เป็นอันเรียบร้อย โดยจะมีข้อความแจ้งเตือนเข้ามาให้ดูว่ามีการชำระเงินไปเท่าไหร่
สำหรับในช่วงที่ Samsung Galaxy A8 (2018) และ A8+ (2018) เพิ่งวางจำหน่ายนี้ ก็มีโปรโมชันพิเศษให้กับการใช้งาน Samsung Pay ด้วยเหมือนกันครับ คือหลังจากจ่ายเงินด้วย Samsung Pay ก็จะได้รับสแตมป์อิเล็กทรอนิกส์ 1 ดวง (จำกัดการรับสแตมป์ได้แค่วันละ 1 ดวง) เมื่อสะสมครบ 5 ดวง ก็จะได้รับคูปองส่วนลด Starbucks รวม 300 บาทด้วย ใครซื้อ A8 / A8+ มาก็อย่าลืมเปิดเข้าไปดูโปรโมชันต่างๆ กันล่ะ
หน้าจอ Always On Display
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่อยู่คู่กับมือถือของ Samsung ที่ใช้จอ AMOLED มาอย่างยาวนาน ด้วยคุณสมบัติของจอแบบ OLED ที่ใช้การเปิด/ปิดหลอดไฟแต่ละพิกเซลจริงๆ ทำให้ระบบสามารถเลือกเปิดแค่บางส่วนเพื่อให้แสดงผลขึ้นมา ส่วนที่เหลือก็ปิดไว้เพื่อประหยัดพลังงานได้ ทำให้สามารถแสดงข้อมูลจำเป็นอย่างเช่น การบอกเวลา ไอคอนแจ้งเตือนขึ้นมาได้แม้จะล็อคหน้าจออยู่ ซึ่งจากที่รีวิวและใช้งานจริงมา พบว่าระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ระหว่างการเปิดและปิดฟีเจอร์ Always On Display ไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญมากนัก ก็ทำให้ขึ้นอยู่กับทางผู้ใช้งานเองครับ ว่าต้องการให้เปิดหรือไม่
Bixby Vision
หลังจากที่ Samsung เปิดตัว Bixby ซึ่งเป็นระบบ AI ของ Samsung เอง ก็ได้มีการจับนำมาใช้งานร่วมกับกล้องถ่ายรูปในเครื่องด้วย คุณสมบัติของมันก็คือการประมวลผลภาพ ว่าคืออะไร แล้วพยายามค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาให้ โดยถ้าเป็นภาพถ่าย ก็จะไปค้นข้อมูลมาให้ ซึ่งตัวระบบก็เป็นการจับมือกันพัฒนากับ Pinterest ส่วนถ้าเป็นการอ่านข้อความที่อยู่ในภาพ ระบบก็จะมีตัวเลือกให้แปลข้อความเป็นภาษาอื่น น่าเสียดายที่ยังไม่รองรับภาษาไทยในตอนนี้ รวมถึงฐานข้อมูลโดยรวมยังมีไม่มากเท่ากับคู่แข่งรายอื่นๆ ก็คงต้องรอให้ Samsung พัฒนา Bixby ต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ก่อนครับ จึงจะสามารถแข่งขันกับ AI อื่นๆ ที่อยู่มานานกว่าอย่างพวก Siri, Google Assistant และ Alexa ได้
Software / ซอฟต์แวร์ในเครื่อง
Samsung Galaxy A8+ (2018) มาพร้อม Android 7.1.1 Nougat ที่ครอบมาด้วย Samsung Experience ทำให้หน้าตาออกมาเหมือนกับ S8/S8+ ซึ่งหน้าตาโดยรวมก็ทำออกมาได้ดูเรียบ ใช้งานง่าย มีตัวช่วยแนะนำการใช้งานในหลายๆ จุด โดยเฉพาะในเมนูการตั้งค่าต่างๆ ที่มักจะมีทางลัดเข้าไปหาการตั้งค่าที่น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการปรากฏขึ้นมา เป็นต้น
ประสบการณ์การใช้งานโดยรวม จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีครับ ด้วยฟังก์ชันของตัว Android 7 เอง รวมถึงฟังก์ชันของตัว Samsung Experience ที่ช่วยเสริมความสามารถของ Android ขึ้นมาอีกระดับ แอปติดเครื่องก็มีมาให้ไม่มากเกินไป นอกเหนือจากแอปพื้นฐานของ Samsung เองก็จะมีแค่แอปตระกูล Microsoft Office เท่านั้น ส่วนพวก Galaxy Gift ก็ยังมีให้ใช้งานกันได้เหมือนเดิม
Camera / กล้องถ่ายภาพ
กล้องหลังของ Samsung Galaxy A8+ เลือกใช้เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างถึง f/1.7 ซึ่งจัดว่ากว้างมากสำหรับมือถือในยุคนี้ ทำให้การเก็บแสงสว่างจากสภาพแวดล้อมทำได้ค่อนข้างดี ช่วยให้การถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยทำได้ดีขึ้น เนื่องจากตัวเลนส์สามารถรับแสงได้มากกว่ากล้องมือถือตัวอื่นๆ ช่วยให้การเปิดชัตเตอร์ใช้เวลาน้อยลง โอกาสที่ภาพจะสั่นก็ลดลง (เสียดายที่ไม่มีกันสั่น OIS มาให้) ทำให้คุณภาพของภาพถ่ายสูงขึ้นด้วย ประกอบกับระบบประมวลผลภาพของ Samsung ที่ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาพถ่ายในที่มีแสงน้อย ซึ่งใน A8+ (2018) เองก็ยังทำได้ดีเช่นเคย ตามตัวอย่างภาพในแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ครับ
ภาพจากโหมดอัตโนมัติของ A8+ (2018) ถือว่าทำออกมาได้ดี การโฟกัสทำได้เร็ว มีการละลายหลังที่เกิดจากคุณสมบัติของชุดเลนส์เองก็ทำได้เป็นธรรมชาติ ส่วนถ้าเป็นการถ่ายในบริเวณที่แสงยากๆ เช่น การถ่ายย้อนแสง ก็ต้องอาศัยการแตะเพื่อเลือกจุดวัดแสงก่อนถ่ายนิดหน่อย เพื่อให้กล้องปรับไปใช้การถ่ายแบบ HDR โดยอัตโนมัติ
จะมีจุดที่ค่อนข้างแปลกหน่อยก็คือโหมด Pro ของแอปกล้องติดเครื่อง ที่ให้ผู้ใช้สามารถปรับค่ากล้องก่อนถ่ายได้ ที่ปรับได้เพียงแค่ ISO, white balance และค่าชดเชยแสงเท่านั้น ไม่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้เลย ดังนั้นก็อาจจะทำให้ผู้ที่ต้องการใช้โหมด Pro ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ วิธีแก้ก็คงเป็นการหาแอปกล้องตัวอื่นๆ ที่ปรับค่าได้ลึกกว่ามาใช้งานแทน
ส่วนภาพเซลฟี่ ก็ตามด้านล่างนี้เลยครับ มีการเกลี่ยพื้นหลังเนียนให้ด้วยนะ
Performance / ประสิทธิภาพ ความแรง
ความเร็ว ความแรงของ Samsung Galaxy A8+ (2018) จัดว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็สามารถตอบสนองความต้องการของการใช้งานสมาร์ทโฟนได้แบบไม่มีปัญหา ด้วยพลังประมวลผลของชิป 8 คอร์ ที่มีการแบ่งเป็น 2 คอร์ความเร็วสูงสำหรับการทำงานหนัก กับ 6 คอร์ความเร็วต่ำกว่าเล็กน้อย เพื่อใช้ในการทำงานทั่วๆ ไป ทำให้ในการใช้งานจริง ผมไม่พบกับปัญหาการประมวลผลช้า และการโหลดข้อมูลนานๆ เลย ระบบให้การตอบสนองที่ทันใจ แม้ว่าคะแนนจากผลการทดสอบจะดูไม่ได้โดดเด่นมากก็ตาม
ส่วนแรมที่ให้มาถึง 6 GB ก็ทำให้การใช้งานแอปพลิเคชันราบรื่นมากๆ สามารถเปิดหลายๆ แอปแล้วสลับไปมาได้รวดเร็วจนแทบไม่ต้องรอโหลดใหม่ อย่างบางวันผมเล่นเกม Line Pangya ไว้ก่อนนอน จากนั้นก็ทำงานทั้งวัน ซึ่งก็มีการใช้แอปอื่นๆ สลับไปมาตลอด พอตกกลางคืนผมก็เปิดเกมอีกรอบ พบว่าระบบมันเปิดเกมขึ้นมาได้ทันทีโดยไม่ต้องโหลดแอปใหม่
การใช้งานอินเตอร์เน็ตก็เป็นอีกสิ่งที่โดดเด่นของ Samsung Galaxy A8+ (2018) โดยเฉพาะการเชื่อมต่อ 4G LTE เพราะฮาร์ดแวร์และตัวระบบรองรับการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี 3CA ที่เป็นการรวมคลื่นเครือข่ายเพื่อเพิ่มแบนด์วิธให้กับเครื่อง ส่งผลให้การรับส่งข้อมูลเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงยังรองรับการบีบอัดแพ็คเกจข้อมูลระดับ 256/64QAM ที่มักจะมีแต่ในมือถือระดับท็อปๆ และยังสามารถรับส่งข้อมูลผ่านเสาอากาศในเครื่องที่เป็นแบบ 2×2 MIMO ได้อีก ซึ่งรวมๆ กันแล้ว ถ้าใช้งานกับเครือข่ายที่รองรับ ก็จะทำให้ได้ความเร็วในการดาวน์โหลด อัพโหลดข้อมูลสูงมากๆ เลยทีเดียว จากที่ผมทดลองโดยใช้ AIS 4G+ ก็ได้ความเร็วที่ราวๆ 158/45 Mbps (DL/UL) ซึ่งน่าจะทำความเร็วได้สูงกว่านี้อีก ขึ้นอยู่กับคลื่นสัญญาณของแต่ละพื้นที่ด้วยครับ
การเล่นเกม ROV บน Samsung Galaxy A8+ (2018) จากที่ระบบตั้งค่าอัตโนมัติมาให้ ผมเองก็เข้าไปตั้งค่าเพิ่มอีกนิดหน่อย เช่น ปรับเป็นโหมดเฟรมเรตสูง และก็ปรับคุณภาพการแสดงผลให้เป็นระดับสูงสุด พอเล่นจริง พบว่าเฟรมเรตของเกมส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 50 – 56 และมีบางช่วงตกลงมาในระดับ 30 ปลายๆ แต่โดยรวมแล้วก็ยังจัดว่าลื่นอยู่ดี ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเป็นการเรนเดอร์ภาพที่ความละเอียดระดับ FHD+ แต่ทำเฟรมเรตออกมาได้ขนาดนี้ก็นับว่าโอเคแล้ว
แบตเตอรี่ของ Samsung Galaxy A8+ (2018) มีความจุ 3500 mAh เท่าที่ใช้งานจริงก็สามารถอยู่ได้เต็มวันตั้งแต่ 7 โมงกว่าๆ จนถึงเกือบสองทุ่ม โดยที่แบตเหลือประมาณ 26% แบบไม่ได้ชาร์จระหว่างวันเลย ส่วนถ้าหากต้องการยืดระยะเวลาการใช้งานแบตออกไปอีก ก็สามารถเปิดโหมดประหยัดพลังงานขั้นกว่า หรือจะเปิดขั้นสุดก็ยังได้
ส่วนการชาร์จแบตนั้น ตัวเครื่องรองรับการชาร์จไวผ่านทางอะแดปเตอร์ที่แถมมาในกล่อง ซึ่งชาร์จได้เร็วทันใจดีมาก เท่าที่ผมเก็บข้อมูลมา ก็ได้ตามกราฟด้านล่างนี้ครับ
สรุปคร่าวๆ ก็คือ สามารถชาร์จแบตจาก 9% ให้ขึ้นมาเป็น 50% ได้ในประมาณ 35 นาที และก็ชาร์จจนเกือบเต็มได้ในประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ ไม่ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง เท่านั้น โดยในการชาร์จปกติ จากการใช้อุปกรณ์วัดแรงดันและกระแสไฟ พบว่าส่วนใหญ่อะแดปเตอร์จะจ่ายไฟที่ 9V 1.3A และเมื่อแบตใกล้เต็มจะปรับการจ่ายกระแสไฟลงเหลือแค่ 0.35A เท่านั้น เพื่อเป็นการถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่นั่นเอง
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST MID-HIGH PHONE