ก่อนหน้านี้ เวลาเราจะซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่องนึง สิ่งที่เราต้องหากันข้อมูลกันนอกจากเรื่องราคา ก็คือด้านของประสิทธิภาพ ความแรง ขนาดหน้าจอที่ยิ่งแรง ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งถูกใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะพบว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มเข้ามาก็คือเรื่องของแบตเตอรี่ ว่าความจุเยอะขนาดไหน ใช้งานได้เต็มวันหรือเปล่า ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากไลฟ์สไตล์ และรูปแบบการใช้มือถือของคนเปลี่ยนไป จากที่แต่ก่อนนู้นใช้เป็นแค่โทรศัพท์ ก็เริ่มมาเป็นการเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค แชทคุยกัน ก็พัฒนามาเป็นการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม จนมาถึงปัจจุบันที่กลายเป็นการไลฟ์วิดีโอกันให้ชมแบบสดๆ จึงทำให้หลายๆ ท่านต้องมองหามือถือแบตอึด เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่งในคราวนี้ SpecPhone เราก็มีมือถือแบตอึดมารีวิวให้ชมกันครับ นั่นคือ Lenovo P2 มือถือแบตอึดรุ่นล่าสุดจากแบรนด์ดัง ที่นอกเหนือจากจุดเด่นในด้านแบตเตอรี่ 5,100 mAh แล้ว ยังอัดฟีเจอร์มาแบบแน่นๆ เต็มเครื่องอีกด้วย
อันที่จริง Lenovo เองก็มีชื่อในเรื่องมือถือแบตอึดมานานพอสมควร กับรุ่นแรกๆ ที่บุกตลาดไทยอย่าง Lenovo P780 สืบต่อมากับในอีกหลายๆ รุ่น จนกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับผู้มองหามือถือแบตความจุสูงในบ้านเรา และยิ่งคราวนี้ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีกครับ เนื่องจาก Lenovo P2 นี้ได้รับการผลิตโดยฝั่ง Motorola ที่ Lenovo ซื้อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง จึงทำให้น่าสนใจมากว่ามือถือ Lenovo ที่เกิดจากทีม Motorola จะเป็นอย่างไร
ก่อนจะไปชมรีวิวด้านต่างๆ มาดูสเปค Lenovo P2 กันก่อนครับ
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 625 (8 คอร์) ความเร็ว 2.0 GHz
- รอม 32 GB สามารถเพิ่ม MicroSD ได้สูงสุด 128 GB
- แรม 4 GB
- หน้าจอ Super AMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080)
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพจาก Sony รองรับระบบโฟกัสแบบ PDAF
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
- ถาดซิมแบบไฮบริด รองรับเทคโนโลยี 2CA ใช้งานได้ 2 ซิม โดยจะเป็นแบบ นาโนซิม+นาโนซิม หรือ นาโนซิม+MicroSD
- แบตเตอรี่ความจุ 5100 mAh รองรับการชาร์จเร็วตามมาตรฐาน Quick Charge 3.0 และสามารถชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นได้
- Android 6.0
- น้ำหนัก 177 กรัม
- มี NFC
- มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มโฮม
- ราคา 11,990 บาท
- สเปคเต็ม ๆ Lenovo P2
ถ้าแง่ของสเปคแล้ว Lenovo P2 จัดอยู่ในระดับใกล้เคียงกับมือถือรุ่นอื่นในช่วงราคาหมื่นต้นๆ เลยครับ แถมมีบางจุดที่เหนือกว่าด้วยซ้ำไป อย่างเช่น แรมที่ให้มา 4 GB ในขณะที่รุ่นอื่นมักจะให้มา 3 GB เท่านั้น ส่วนเรื่องแบตเตอรี่ก็กินขาด ยิ่งมารวมกับการเลือกใช้จอ Super AMOLED เข้าไปอีก ยิ่งทำให้ภาพที่ออกมามีความสวยงาม ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานที่น้อยกว่าจอแสดงผลในมือถือทั่วๆ ไป ดังนั้นในด้านของสเปค Lenovo P2 จัดเป็นอีกเครื่องที่น่าใช้เลยทีเดียว สำหรับรุ่นราคาหมื่นต้นๆ ในปัจจุบัน
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST BATT
Design
เปิดเรื่องดีไซน์ด้วยส่วนหน้าจอ ที่กินพื้นที่มากสุดของด้านหน้าเครื่องกันเลยครับ ด้วยการเลือกใช้จอแบบ Super AMOLED ทำให้เรื่องสีสันภาพออกมาสดใส สว่างหายห่วง รู้สึกได้เลยว่า contrast สูงกว่าจอทั่วไป ถูกใจคนชอบดูหนัง ดูรูปบนมือถือแน่นอน แถมในตัวเลือกการตั้งค่าความสดของสีสันในเครื่อง ยังตั้งมาเป็นแบบสีสดมาด้วย อาจจะทำให้หลายๆ ท่านรู้สึกว่ามันสดเกินจริงไปนิดนึง แต่ก็สามารถตั้งค่าให้สีซีดลงมานิดนึงได้เหมือนกัน
ส่วนเรื่องมุมมองจอ จัดว่ากว้างดีครับ แทบไม่ต่างกับพวกมือถือจอพาเนล IPS เลย แต่ถ้าเปิดหน้าแอพที่เป็นหน้าจอขาวๆ หน่อย แล้วมองจากด้านข้าง จะพบว่าสีออกเป็นโทนเขียวอมฟ้าอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของจอ AMOLED ครับ แต่กว่าจะเจออาการนี้ ก็แทบจะเป็นการมองจากขอบเครื่องอยู่แล้ว ดังนั้นในการใช้งานทั่วไป หายห่วงเรื่องมุมมองภาพไปได้เลย
ฟังก์ชันการเคาะหน้าจอสองครั้งเพื่อเปิดหน้าจอขึ้นมา ก็มีให้ใช้ใน Lenovo P2 เช่นกัน แต่ตัวระบบจะปิดการทำงานเอาไว้ หากจะใช้งาน ต้องไปเปิดจากในเมนูการตั้งค่าก่อน แต่ทั้งนี้ จะได้แค่เปิดหน้าจอนะครับ ไม่สามารถเคาะสองครั้งขณะใช้งานเพื่อปิดจอได้
มาดูฝั่งด้านล่างกันบ้าง จะมีปุ่มโฮมที่กดได้อยู่เพียงปุ่มเดียวเท่านั้น และถ้าหากสังเกตภาพด้านขวาล่างนี้ กับภาพใหญ่ด้านบนก่อนเข้าสู่การรีวิวด้านดีไซน์ จะเห็นว่าภาพบนมีแถบปุ่ม navigation อย่างปุ่มย้อนกลับ โฮม และปุ่มเรียกดูแอพล่าสุดแบบซอฟต์แวร์ให้ใช้งานเหมือน Android สมัยใหม่ทั่วไป แต่พอในภาพขวานี้ จะไม่มีแถบปุ่มดังกล่าวเข้ามา กลายเป็นไอคอนแอพต่างๆ แทน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า Lenovo P2 ออกแบบมาให้สามารถตั้งค่าได้ว่าจะใช้ปุ่มต่างๆ แบบใดครับ โดยถ้าหากเราเลือกปิดปุ่มต่างๆ จะกลายเป็นว่าปุ่มโฮมแบบปุ่มกด จะทำหน้าที่แทน 3 ปุ่มกันเลยทีเดียว !! ซึ่งตรงนี้เดี๋ยวเราจะมารีวิวกันในหัวข้อฟีเจอร์กันอีกที
ส่วนพื้นที่ว่างข้างปุ่มโฮมแบบกดนั้น เป็นที่ว่างของจริง ไม่มีปุ่มใดๆ ซ่อนอยู่จ้า
พลิกมาด้านหลัง ด้วยตัวเครื่องเป็นแบบยูนิบอดี้ที่ขึ้นรูปจากอลูมิเนียมแทบทั้งชิ้น ทำให้ไม่สามารถแกะฝาหลังและถอดเปลี่ยนแบตได้ด้วยตนเองนะครับ ผิวฝาหลังเป็นสีแบบผิวพ่นทราย ลื่นมือพอสมควร แต่ถ้าใส่เคสเข้าไปก็ไม่มีปัญหาแล้วครับ โดยในกล่องของ Lenovo P2 ก็จะมีเคสพลาสติกใสมาให้ด้วย ไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มที่ไหน ก็แกะกล่องออกมาใช้งานได้เลย
แถบสีเข้มด้านบนและด้านล่าง เท่าที่สัมผัสดูน่าจะเป็นพลาสติกครับ ซึ่งภายในจะมีเสารับสัญญาณอยู่ ถัดลงมาจากด้านบนเล็กน้อยก็เป็นกล้องหน้าที่จะเว้าเข้าไปจากระนาบฝาหลังเล็กน้อย ถัดลงมาอีกนิดเป็นแฟลช LED แบบคู่สองสีรวมกันมาในช่องเดียว เพื่อทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาโดยใช้แฟลชมีสีสันที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น และใกล้ๆ กันนั้นก็จะเป็นตำแหน่งของ NFC ครับ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก ในด้านช่วยให้เชื่อมต่อ Lenovo P2 เข้ากับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าปกติ
ด้วยน้ำหนักตัวเครื่อง 177 กรัม เท่าที่ใช้งานและรีวิวดู ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างหนักมืออยู่บ้างเหมือนกัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากภายในต้องบรรจุแบตเตอรี่ความจุสูงถึง 5100 mAh เอาไว้ แต่ถ้ามาลองเทียบความบางจริงๆ พบว่ามันหนากว่า iPhone 6 แค่เล็กน้อยเท่านั้นเอง ทำให้สามารถพกพาได้แบบไม่ลำบากนัก
มือถือแบตอึด ในรูปทรงโฉบเฉี่ยว และบางเกินคาด
ขอบเครื่อง Lenovo P2 มีความโค้งมนรับมือเวลาถือใช้งานได้เป็นอย่างดี มีการตัดขอบแบบไดมอนด์คัตเพื่อเพิ่มความสวยงาม ความแวววาว โดยฝั่งต่างๆ ก็จะมีพอร์ตเชื่อมต่อ และปุ่มต่างๆ ดังนี้
ด้านบน: มีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 mm และช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน
ด้านซ้าย: มีถาดใส่ซิม และสวิตช์เปิด/ปิดโหมดประหยัดพลังงาน (ตามภาพด้านซ้าย) ตัวสวิตช์ทำออกมาได้แน่นหนาดีมาก ไม่โยกง่ายๆ ต้องใช้แรงในการดันพอสมควร
ด้านขวา: มีแผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Power
ด้านล่าง: มีช่อง Micro USB, ช่องลำโพง 1 ตัว และช่องรับเสียงของไมค์สนทนา
เรื่องของงานภายนอกโดยรวม Lenovo P2 ทำออกมาได้สมกับเป็นการร่วมมือกับทีม Motorola เลยแหละครับ ทั้งงานประกอบ วัสดุ เมื่อใช้งานแล้วรู้สึกว่ามันมั่นคง แข็งแรง ทนทานต่อการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอน
สำหรับกล่องของ Lenovo P2 จะมาในทรงยาวๆ แตกต่างจากกล่องมือถือทั่วไปที่มักทำมาพอดีกับขนาดเครื่อง แล้วไปทำให้ตัวกล่องมีความหนาแทน ทำให้กล่องของ Lenovo P2 ออกมายาว แต่ไม่หนามากนัก วัสดุก็เป็นกระดาษแข็งเคลือบผิวตามปกติครับ อุปกรณ์ภายในให้มาครบครัน ได้แก่
- คู่มือการใช้งาน เอกสารต่างๆ
- เคสพลาสติกใส
- ฟิล์มกันรอยหน้าจอ (ต้องติดเอง)
- หูฟังสมอลล์ทอล์คแบบเอียร์บัด
- สาย Micro USB
- หัว USB-OTG ที่สามารถใช้ P2 ชาร์จไฟให้เครื่องอื่นได้ รวมถึงต่อ flashdrive เพื่อใช้งานได้ทันที
- อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ รองรับการจ่ายไฟได้ 4 รูปแบบ
- 5.2V 2A (โหมดชาร์จปกติ)
- 7V 2A (โหมดชาร์จไว)
- 9V 2A (โหมดชาร์จไว)
- 12V 2A (โหมดชาร์จไว)
- เข็มจิ้มถาดใส่ซิม ซึ่งตัวเข็มเลือกใช้วัสดุที่แข็งแรง งานดีมากๆ
ส่วนภาพอื่นๆ ของตัวเครื่อง Lenovo P2 สามารถชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ครับ
Software
Lenovo P2 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0.1 Marshmallow รุ่นยอดนิยม อินเตอร์เฟสต่างๆ แทบจะไม่ต่างไปจาก Pure Android มากนัก ทำให้สามารถเรียนรู้รูปแบบการทำงานได้แบบไม่ยากนัก แม้จะเคยใช้มือถือ Android รุ่นอื่นมาก่อนก็ตาม แต่เห็นอย่างนี้ ในตัวรอมเองก็เลือกใส่ตัวช่วยปรับแต่งหน้าตา เช่น ธีม ไอคอน หน้าล็อคสกรีนในแบบของ Lenovo มาอยู่เช่นเคย
พื้นที่เก็บข้อมูลของรอมในเครื่อง จากที่ให้มา 32 GB ตามสเปคนั้น พบว่าเหลือพื้นที่ให้ใช้อีกประมาณเกือบๆ 24 GB นะครับ หากคิดว่าพอก็ใส่ไป 2 ซิมได้เลย แต่ถ้าใครที่กลัวจะไม่พอ คงต้องหา MicroSD มาใส่ไฟล์อื่นๆ เช่น เพลง วิดีโอ รูปภาพ (ไม่สามารถกดย้ายแอพมาลงการ์ดได้จากเมนูในตัวเครื่อง) แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใส่ได้แค่ซิมเดียว เนื่องจากถาดซิมเป็นแบบไฮบริดอย่างที่ผู้ผลิตหลายๆ รายนิยมใช้กัน
ส่วนของแอพติดเครื่อง ก็มีมาพอประมาณ ตัวอย่างแอพติดเครื่องมาก็เช่น Evernote, Lenovo Companion, McAfee Security, SHAREit, SYNCit, Skype และ UC Browser ครับ ดีที่สามารถลบได้ หากใครไม่ต้องการใช้งานแอพติดเครื่องกลุ่มนี้ ก็จัดการลบออกได้แบบง่ายๆ เลย
เมื่อลองเรียกดูข้อมูลว่ามีเซ็นเซอร์รับข้อมูลแบบไหนอยู่ในเครื่องบ้างด้วยการใช้แอพ Sensor Box ก็พบว่าเป็นไปตามมาตรฐานมือถือราคาหลักหมื่นแล้วล่ะ ดังนั้นสามารถใช้งานทั่วไป เล่นเกม Pokemon Go แบบโหมด AR หรือจะเป็นแอพอื่นๆ ที่ใช้ AR ได้สบายแน่นอน
Feature
Lenovo P2 นอกจากจะมีจุดเด่นที่แบตเตอรี่อึดแล้ว ด้านของฟีเจอร์ก็ใส่มาได้แบบไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียว มีทั้งฟีเจอร์ที่สืบทอดมาจากรุ่นก่อนๆ ไปจนถึงฟีเจอร์ที่เพิ่งมีเข้ามาใน Lenovo P2 เลยทีเดียว โดยจุดแรกที่น่าสนใจ และผมได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วก็คือเรื่องของปุ่มโฮมที่มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ในตัว ซึ่งนอกเหนือจากจะใช้สแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อกเครื่องได้แล้ว มันยังทำหน้าที่เป็นปุ่มอัจฉริยะแทนแผงปุ่ม navigation keys ตรงแถบดำทั้ง 3 ปุ่มได้อีกด้วย โดยจะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันดังนี้ครับ
- แตะปุ่มโฮม 1 ครั้ง แล้วยกนิ้วออก: ย้อนกลับ
- แตะปุ่มโฮมค้างไว้: เรียกดูรายการแอพที่ใช้งานล่าสุด
ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้จากในเมนูเรียบร้อยแล้ว เท่ากับว่าเราสามารถปิดแถบดำที่มีปุ่ม navigation keys ทั้ง 3 ลงไปได้เลย วิธีปิดก็ง่ายมาก เพียงแค่กดปุ่มลูกศรลงทางฝั่งซ้ายสุดของแผงปุ่มไป ส่วนถ้าจะเรียกกลับมาก็เพียงแค่ปาดนิ้วจากขอบจอล่างเครื่อง ขึ้นมาข้างบนเล็กน้อย
ด้านบนนี้ก็เป็นฟีเจอร์ต่างๆ ที่มีให้ปรับใช้งานได้ใน Lenovo P2 ครับ ที่น่าสนใจก็เช่น
- เพิ่มความสว่างหน้าจอ: สำหรับเปิดหน้าจอขึ้นมา ขณะที่หน้าจอปิดอยู่ วิธีก็เป็นแบบที่หลายท่านคุ้นเคย นั่นคือเคาะหน้าจอ 2 ครั้ง
- ฉากแบบสมาร์ท (Smart scene): สำหรับตั้งโปรไฟล์การใช้งานในสถานที่ต่างๆ แบ่งตามช่วงเวลาที่ต้องการ หรือจะใช้แท็ก NFC, สัญญาณ WiFi เพื่อเปลี่ยนโปรไฟล์ได้ ซึ่งแต่ละโปรไฟล์ ผู้ใช้สามารถตั้งได้ว่าจะให้เปิด/ปิดการทำงานของโมดูลใดบ้าง เช่น WiFi, Bluetooth, GPS, ระดับเสียง เป็นต้น
- สัมผัสกว้าง (Wide Touch): หน้าที่ก็เป็นแบบปุ่มช่วยกด assistive touch บน iPhone นั่นเอง
- สลับโหมด VR: ทำให้สามารถเลือกเปิด/ปิดโหมด VR ได้ง่ายขึ้น
- แอพคู่ (Dual app): สำหรับปรับแต่งการทำงานของระบบแอพคู่
- ระบบสัมผัสความไวสูง: เหมาะกับคนที่ต้องใช้มือถือขณะที่ใส่ถุงมือ
ส่วนภาพขวาสุด ก็เป็นเมนูการตั้งค่าของปุ่มโฮมที่กล่าวถึงในภาพก่อนหน้านี้ครับ
นอกจากว่าตัว Lenovo P2 เองจะเป็นมือถือแบตอึดแล้ว ตัวมันเองยังสามารถแบ่งปันแบตเตอรี่ให้อุปกรณ์อื่นได้ด้วย ที่เห็นภาพง่ายสุดก็คือตามภาพด้านบนนี้เลยครับ คือการใช้ P2 แทน powerbank ชาร์จไฟให้กับมือถือเครื่องอื่น วิธีทำก็ง่ายมากๆ เพียงแค่ใช้หัว USB-OTG ที่แถมมาในกล่อง หรือจะซื้อแบบอื่นมาใช้แทนก็ได้เช่นกัน เสียบหัวฝั่ง Micro USB เข้าไปที่ช่องของ Lenovo P2 จากนั้นก็เอาสายชาร์จของเครื่องที่เราต้องการจะชาร์จไฟเข้าไป มาเสียบเข้ากับหัวอีกฝั่งของตัวแปลง OTG พอเรียบร้อยแล้วก็เสียบชาร์จตามปกติได้เลย
นับว่าเป็นอีกฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ทีเดียว เพราะปัจจุบันนี้หลายๆ ท่านก็มักจะพกมือถือมากกว่า 1 เครื่องกันอยู่แล้ว และถ้าอีกเครื่องนั้นเป็นรุ่นแบตอึด พร้อมใช้ชาร์จไฟให้กับเครื่องอื่นได้อีก ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่เลย เผื่อบางโอกาสที่ไม่ได้พก powerbank ไป ก็ยังจะพอใช้แทนกันไปได้ระดับหนึ่ง
ฟีเจอร์ต่อมาที่น่าสนใจ ก็คือด้านของ Secure Zone ที่จะช่วยสร้างโซนปลอดภัยแยกออกมาจากการใช้งานปกติ เหมาะกับคนที่ต้องการเก็บข้อมูลลับ ความลับ ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมันสามารถตั้งค่าแยกบัญชีออกจากบัญชีหลักของเครื่องได้เลย ทำให้เสมือนกับภายใน Lenovo P2 เครื่องเดียว แต่มี 2 บัญชีผู้ใช้งาน ทำให้ง่ายต่อการจัดการข้อมูล ซึ่งสำหรับบางท่านอาจจะใช้โซนหลักเป็นข้อมูลส่วนตัวปกติที่ใช้งานมือถือทั่วไป ส่วนโซนปลอดภัย อาจจะใช้สำหรับเรื่องงานโดยเฉพาะก็ได้เช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้ข้อมูล และการแจ้งเตือนต่างๆ ปะปนกันครับ
สำหรับการตั้งโซนนี้ ในการตั้งค่าครั้งแรกจะสามารถเลือกได้เลยว่าจะให้ Secure Zone ทำงานในลักษณะใด ระหว่าง
- Separate launcher: จะมีลันเชอร์แยกออกจากกัน หากต้องการสลับโซน ก็ให้กดที่ไอคอน Secure Zone ตรงแถบไอคอนการตั้งค่า ที่ด้านบนของแถบแจ้งเตือน
- Fused launcher: ตัว secure zone จะรวมเป็นหนึ่งเดียวไปกับโซนปกติของเครื่อง แต่มีแยกไอคอนแอพขึ้นมามตามที่เราต้องการครับ สามารถตั้งค่าได้ว่าจะเลือกใช้แอพใดบ้าง
ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าหากอยากเลี่ยงการสับสนระหว่างใช้งาน แนะนำว่าเลือกแบบแยกลันเชอร์กันจะดีกว่า ซึ่งการจะสลับโซนนั้น หากต้องการเข้าสู่ secure zone เราสามารถตั้งค่าบังคับให้ต้องใส่รหัสปลดล็อกก่อนได้ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลลับภายในเครื่อง
อีกฟีเจอร์หนึ่งที่ผมว่าน่าจะมีหลายๆ ท่านชอบมากกว่า Secure Zone นั่นคือฟีเจอร์แอพคู่ (Dual apps) ที่ระบบอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถก็อปปี้แอพที่ลงอยู่ในเครื่องขึ้นมาเป็นอีกแอพ แล้วล็อกอินบัญชีเข้าใช้งานคนละบัญชีได้เลย รับรองว่าถูกใจคนที่อยากเล่น Line 2 ไอดี หรือเล่น Facebook 2 บัญชีแน่นอน เช่น คนที่เปิดร้านขายของออนไลน์ อาจจะอยากล็อกอินบัญชี Line ทั้งส่วนตัวไว้คุยกับเพื่อนทั่วไป และอีกบัญชีสำหรับคุยกับลูกค้าโดยเฉพาะ ก็สามารถทำได้บน Lenovo P2 ทันที แบบไม่ต้องใช้ท่ายากซะด้วย
ซึ่งแอพที่สามารถทำ Dual apps ได้ ก็คือ ทุกแอพในเครื่องเลยครับ ไม่เว้นแม้กระทั่ง Play Store ตามตัวอย่างในภาพข้างบน โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าได้จากในเมนูการตั้งค่าฟีเจอร์แอพคู่ โดยแอพที่เกิดจากการก็อปปี้ขึ้นมา จะมีไอคอนสีฟ้าเล็กๆ ปรากฏขึ้นมาทับ เพื่อให้สามารถแยกความแตกต่างได้ง่าย
และเมื่อผมลองไปดูในหน้าการตั้งค่า หัวข้อแอพเพื่อดูรายละเอียดของแต่ละแอพ พบว่าพวกแอพที่เป็นร่างก็อปปี้ จะมีปรากฏขึ้นมาในเมนูเหมือนเป็นแอพปกติที่เราลงในเครื่องเลยด้วย ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปจัดการได้ง่าย จะลบแคช ลงข้อมูลในแอพก็ทำได้โดยไม่กระทบกับแอพหลักของตัวมันเอง
Camera
กล้องหลังของ Lenovo P2 มีความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ใช้เซ็นเซอร์รับภาพของ Sony แถมใส่ระบบโฟกัสแบบ PDAF ที่เป็นหนึ่งในมาตรฐานประจำกล้องมือถือราคาหมื่นนิดๆ ไปแล้ว ข้อดีของ PDAF ก็คือ มันจะช่วยให้การโฟกัสทำได้รวดเร็ว แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้นเวลาที่เราโฟกัสและถ่ายภาพในบริเวณที่มีแสงน้อยลงกว่ากลางแจ้งปกติ เช่น ถ่ายในที่ร่ม ถ่ายในสภาพแสงช่วงเย็นๆ ครับ ส่วนกล้องหน้าก็ 5 ล้านพิกเซล มีโหมดบิวตี้ให้ใช้งาน ทั้งยังสามารถปรับได้ว่าจะให้ภาพดูออกมาเหมือนเป็นภาพสะท้อนจากกระจกหรือไม่ แถมยังมีให้ปรับด้วยว่าจะให้มีแสงช่วยให้หน้าสว่างเนียนขึ้นมาจากจอระหว่างถ่ายหรือไม่ (เลือกได้ทั้งแสงเหลือง และชมพู)
ตัวซอฟต์แวร์กล้องก็เป็นของ Lenovo เอง หน้าตาก็เป็นแบบเดียวกับแอพกล้องในสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไป เข้าใจง่าย มีโหมดให้เล่นนิดหน่อย (ภาพที่ 2 ของสไลด์) ตัวอย่างโหมดก็เช่น โหมด Pro ที่ให้ผู้ใช้ปรับค่าต่างๆ ได้เองก่อนถ่าย ค่าที่ปรับได้ ก็ได้แก่ ค่า white balance, ระยะโฟกัส, ความเร็วชัตเตอร์ที่ปรับได้นานสุดแค่ 2/3 วินาที, ค่า ISO ที่ได้ต่ำสุด 100 ไปจนถึงสูงสุด 1600 ปิดท้ายด้วยปรับค่าชดเชยแสง นอกจากนี้ก็ยังมีโหมดพื้นฐานอย่างเช่น โหมดพาโนรามา โหมดถ่ายกลางคืน โหมดฟิลเตอร์แบบอาร์ตๆ โหมดถ่ายวัตถุเคลื่อนที่เร็ว และก็โหมดสโลว์โมชัน
อันที่จริง กล้อง Lenovo P2 เองจะมีอีกหนึ่งฟีเจอร์ให้ใช้งานกันครับ นั่นคือ Smart composition ที่หากเปิดใช้งาน บนหน้าจอจะมีวงกลมๆ ปรากฏขึ้นมาช่วยให้เราจัดองค์ประกอบภาพให้ภาพดูออกมาดูโปรขึ้น เหมือนมีช่างภาพมืออาชีพมาช่วยสอนเราวางองค์ประกอบเวลาถ่ายรูปกันเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น หากจะถ่ายรูปคน ก็จะมีวงกลมออกมาช่วยบอกว่า เราควรวางหน้าคนไว้ตรงจุดไหนของภาพ หรือควรถอยออกมาจากตัวแบบ เป็นต้น ถ้าหากนึกภาพไม่ออก ก็ลองชมวิดีโอด้านล่างนี้เลยครับ
จากที่ผมรีวิว Lenovo P2 มา พบว่าภาพถ่ายจากกล้องก็อยู่ในระดับกลางๆ ครับ ยังไม่โดดเด่นขึ้นมาจากรุ่นอื่นๆ ในราคาใกล้เคียงกันเท่าไหร่ มีเจอ white balance เพี้ยนเพราะโดนสีวัตถุหลอกอยู่บ้างเหมือนกัน ตัวอย่างภาพถ่าย ก็กดชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ครับ
Performance
ผลการทดสอบความแรง Lenovo P2 ก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับ ด้วยสเปคระดับกลางๆ สามารถรีดคะแนนจาก Antutu ได้ประมาณ 64,000 คะแนน ก็จัดอยู่ในระดับเดียวกันกับมือถือรุ่นอื่นๆ ที่ใช้ชิป Snapdragon 625 คู่กับแรม 3-4 GB เลย ก็เป็นส่วนที่การันตีได้ว่ามือถือในระดับราคาใกล้ๆ กันคือหมื่นนิดๆ ความแรงจะไม่ได้หนีกันมากเท่าไหร่ แต่จะมีเรื่องฟีเจอร์ที่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อของผู้ซื้อซะมากกว่า อย่าง Lenovo P2 รุ่นนี้ก็เป็นเรื่องแบตเตอรี่ที่เด่นมากๆ แต่ถ้าหากอยากเน้นกล้อง คงต้องมองไปทาง Vivo หรือไม่ก็ Huawei แทน
ส่วนการลองเล่นเกมที่ต้องใช้การประมวลผลกราฟิก P2 สามารถรับมือได้สบาย เล่นเกมยาวๆ ได้แบบเครื่องไม่ร้อนมากนัก แถมดีซะด้วย เพราะแบตจัดเต็มตั้ง 5100 mAh จอใหญ่เต็มตา หลังจากเล่นเกมแล้ว คิดว่าคงไม่ได้ใช้ทำอะไรต่อ ก็ดันสวิตช์เข้าโหมดสุดยอดประหยัดพลังงานซะ เท่านี้ก็ใช้งาน 2-3 วันได้สบายแล้ว
พูดถึงโหมดสุดยอดประหยัดพลังงานอย่าง Ultimate Power Saver แล้ว ก็มาชมกันเลยครับ สามารถเปิดใช้งานได้ง่ายมาก เพียงแค่ดันสวิตช์ด้านซ้ายเครื่อง ระบบก็จะสลับมาโหมดนี้ได้ในแทบจะทันที และถ้าหากอยากกลับเข้าไปใช้งานปกติ ก็แค่ดันสวิตช์กลับมา หน้าตาก็จะมีสีสันแบบปกติ พร้อมเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ในแทบจะทันทีเช่นเดียวกัน นับว่าสะดวกมากๆ เพราะอย่างในเครื่องรุ่นอื่นๆ ส่วนมากจะต้องเข้าไปเปิดในหน้าเมนูตั้งค่า หรืออย่างดีก็เปิดใช้งานได้จากแถบทูลตรงแถบแจ้งเตือน แต่นี่สะดวกกว่ามากจริงๆ (ส่วนใครที่ไม่ได้ใช้ จะบอกว่าไม่สามารถปรับให้สวิตช์นี้ไปทำหน้าที่อื่นได้นะครับ)
หน้าตาของโหมดนี้ก็จะเน้นการใช้สีดำและขาว ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานลงไปอีก แล้วยิ่งเป็นจอแบบ Super AMOLED ก็ยิ่งทำให้ส่วนที่เป็นสีดำ มีการใช้พลังงานลดลงจนแทบจะเป็นศูนย์ จึงเหมาะมากๆ กับการใส่โหมดประหยัดพลังงานในรูปแบบนี้เข้ามา แต่ในข้อนี้ ผมลองเทียบกับ Samsung Galaxy S6 Edge ด้วยโหมดในลักษณะคล้ายกันมา พบว่าสีดำบนจอของ S6 Edge ดูจะดำสนิทกว่า P2 เล็กน้อย (จอ P2 ดูออกมาเป็นสีน้ำเงินเล็กน้อย)
ด้านการทำงานของโหมด Ultimate Power Saver นั้น ระบบจะตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทั้งหมด เหลือไว้แต่การเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เท่านั้น และมีแอพให้ใช้งานแค่แอพพื้นฐานมือถือมากๆ เท่านั้น ได้แก่
- โทรศัพท์
- สมุดรายชื่อผู้ติดต่อ
- SMS
และจะมีพื้นที่ว่างให้ลากแอพอื่นมาลงได้อีก 3 ตำแหน่ง โดยแอพที่มีให้ลากมาวางได้ ก็คือ เครื่องคิดเลข วิทยุ FM นาฬิกาปลุก และก็ปฏิทิน เท่านั้น และตรงกลางหน้าจอจะมีตัวเลขสีฟ้าแจ้งด้วยว่า จะยังสามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้อีกนานเท่าไหร่ อย่างในภาพด้านบน ที่แบตเหลือประมาณ 73% ก็จะใช้ได้ในโหมดนี้ได้อีกราวๆ 71 ชั่วโมง 42 นาที ส่วนถ้าจากแบตเตอรี่ 100% เต็ม ผมลองแล้ว ระบบจะแจ้งว่าใช้ได้อีก 106 ชั่วโมง 35 นาที คิดเป็นหน่วยวันก็จะอยู่ที่ราวๆ 5 วัน
ทีนี้ผมลองหาตัวตรวจสอบกระแสไฟจากช่อง USB มาลองเสียบระหว่างการชาร์จจาก Lenovo P2 ไปหามือถือเครื่องอื่นผ่านหัว USB-OTG ที่แถมมาในกล่องดูบ้าง ผลที่ออกมาคือมันสามารถจ่ายไฟออกมาได้เกือบๆ 5V 0.5A ซึ่งก็จัดว่าช้ากว่าเอามือถืออีกเครื่องไปชาร์จกับอะแดปเตอร์ หรือแม้กระทั่งชาร์จกับ powerbank ก็จริง แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมว่าตัวระบบมันต้องเน้นความปลอดภัยมากกว่าปกติ เพราะตัว P2 เองก็เป็นมือถือเช่นกัน หากปล่อยให้กระแสไฟไหลออกจากแบตในตัวแรงๆ ประเดี๋ยววงจรจะพังซะก่อน ดังนั้น ถือว่าฟีเจอร์นี้ผ่านครับ แถมตัว USB-OTG ที่ให้มาก็ขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ก็ไม่เล็กเกินไปด้วย รอบนี้ถือว่า Lenovo ทำงานรวมๆ ออกมาดีเลย
เรื่องของระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ของ Lenovo P2 เป็นจุดที่ผมไม่ค่อยอยากทดสอบที่สุด ก็เพราะมันถูกออกแบบมาเป็นมือถือแบตอึดนี่แหละครับ เล่นใส่แบตมาตั้ง 5100 mAh แถมมีโหมดประหยัดพลังงานเข้ามาให้อีก
จากการทดสอบด้วยรูปแบบการใช้งานทั่วๆ ไป ถอดสายชาร์จตอนประมาณ 11 โมงกว่า ต่อเน็ต 4G เป็นหลัก สลับเป็น WiFi บ้างบางช่วง เล่นเกมค่อนข้างหนัก เล่น Facebook ถ่ายรูป ดูวิดีโอ ได้ผลออกมาดังนี้ครับ
- ภาพ 1: ขณะที่แบตเตอรี่เหลือ 55% ระบบแจ้งว่าสามารถใช้ได้อีกร่วม 1 วันครึ่ง
- ภาพ 2: ขณะที่แบตเตอรี่เหลือ 28% ระบบแจ้งว่าสามารถใช้ได้อีกร่วม 14 ชั่วโมง
- ภาพ 3: ขณะที่แบตเตอรี่เหลือ 28% นั้น ที่จริงแล้วมันผ่านการสแตนด์บายมาแล้ว 1 วันกับอีก 6 ชั่วโมงครึ่ง ผ่านการใช้งานจริงรวมทั้งหมดประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง
- ภาพ 4: ขณะที่แบตเตอรี่เหลือ 28% หากเปิดโหมดสุดยอดประหยัดพลังงาน จะยังใช้ได้อีก 28 ชั่วโมงครึ่ง สมเป็นมือถือแบตอึดจริงๆ
ส่วนเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ ผมลองทดสอบชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ที่ให้มาในกล่อง เริ่มชาร์จจากแทบจะ 0% (ขณะเครื่องนับถอยหลัง 30 วินาที หากไม่เสียบสายชาร์จ ระบบจะปิดเครื่องทันที) ผลคือ
- ใช้เวลาชาร์จ 35 นาที ได้แบตเตอรี่มา 50%
- ใช้เวลาชาร์จ 60 นาที ได้แบตเตอรี่มา 80%
อันที่จริง สำหรับใครที่แบตกำลังจะหมด แล้วต้องชาร์จเพื่อใช้งานด่วนจริง ตัว Lenovo P2 ที่รองรับฟีเจอร์ Quick Charge 3.0 (เมื่อใช้กับอะแดปเตอร์ที่รองรับ) จะสามารถใช้เวลาชาร์จแค่ 15 นาที แต่ก็ทำให้สามารถใช้โทรศัพท์ได้ถึง 10 ชั่วโมงแล้วครับ
ปิดท้ายด้วยตอนแบตเตอรี่เหลือ 8% บ้าง หลังจากใช้งานด้วยการเล่นเกมเป็นหลัก ด้วยระยะเวลาการใช้งานจริงรวม 7 ชั่วโมง 41 นาที ผ่านการสแตนด์บายมาเกือบ 1 วัน 14 ชั่วโมง พอลองดันสวิตช์ไปใช้โหมด Ultimate Power Saver ระบบก็แจ้งว่ายังใช้ได้อีก 2 ชั่วโมงครึ่งด้วยกัน เหลือเฟือที่จะให้เราไปหาที่ชาร์จแบตเตอรี่ได้แน่ๆ ครับ