ในงานเปิดตัว iPhone 15 ทั้งซีรีส์ที่ผ่านมา Apple ได้เปิดตัวสมาร์ตวอทช์รุ่นใหม่ประจำปี 2023-2024 ด้วยเช่นกันนั่นคือ Apple Watch Series 9 และ Watch Ultra 2 โดยที่แต่ละรุ่นก็มีการปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็มีจุดที่น่าสนใจอยู่เช่นกัน ซึ่งในรีวิว Apple Watch Series 9 บทความนี้เราก็จะมาดูกันครับ ว่า Watch รุ่นใหม่มีอะไรเพิ่มเข้ามาบ้าง และแต่ละฟีเจอร์จะน่าสนใจขนาดไหน
เริ่มกันด้วยสเปคของ Apple Watch Series 9 ก่อนแล้วกันครับ เพราะจริง ๆ ก็มีจุดที่ต่างไปจากเดิมอยู่บ้างเหมือนกัน เมื่อเทียบกับ Series 8
- ชิปประมวลผล S9 SiP รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมชิป W3 และ UWB 2
- มีตัวเรือนให้เลือกสองขนาดคือ 41 และ 45 มม.
- หน้าจอ LTPO OLED Retina Display ความสว่างสูงสุด 2000 nits
- กระจกหน้าปัด Ion-X สำหรับรุ่นตัวเรือนอะลูมิเนียม และคริสตัลแซฟไฟร์สำหรับรุ่นตัวเรือนสแตนเลสสตีล
- กันน้ำได้ลึก 50 เมตร ใส่ว่ายน้ำได้ กันฝุ่นได้ระดับ IP6X
- ความจุ 64 GB
- มีเซ็นเซอร์จับอุณหภูมิที่ผิวหนัง เซ็นเซอร์วัดออกซิเจนในเลือด มีระบบวัด ECG และเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจรุ่นที่ 3
- มีทั้งรุ่น GPS และ GPS+Cellular รองรับ 4G LTE และ WiFi 802.11n
- มีไมค์และลำโพงในตัว
- แบตเตอรี่ใช้ได้นานสุด 18 ชั่วโมง รองรับการชาร์จเร็ว
- เพิ่มฟีเจอร์ Double Tap เข้ามา
- ราคา Apple Watch Series 9 ตัวเรือนอะลูมิเนียมเริ่มที่ 15,900 บาท (41mm GPS)
- ราคา Apple Watch Series 9 ตัวเรือนสแตนเลสสตีลเริ่มที่ 27,900 บาท (41mm)
หากจับ Apple Watch Series 9 เทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง Series 8 ก็จะพบว่ามีการอัปเกรดในหลายจุดอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นชิปประมวลผลที่เปลี่ยนจาก S8 มาเป็น S9 หน้าจอที่แม้จะขนาดเท่าเดิม แต่ก็มีค่าความสว่างสูงสุดที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ดียิ่งขึ้นมาก เพราะมันสว่างกว่าจอมือถือโดยทั่วไปเสียอีก พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวก็เพิ่มจาก 32 GB มาเป็น 64 GB น่าจะถูกใจคนที่ไม่ต้องการพกพ iPhone ติดตัวไปด้วยขณะออกกำลังกาย สามารถใส่เพลงหรือ Podcast ลงไปใน Watch ได้จุใจยิ่งขึ้น
และอีกจุดที่สอดคล้องกันกับ iPhone 15 series ก็คือการเปลี่ยนจากชิป UWB 1 มาเป็น UWB 2 ที่ Apple ระบุว่ามีความแม่นยำสูงขึ้นและระยะทำการที่ไกลกว่าเดิม ทำให้เราสามารถตามหาอุปกรณ์อื่นที่ใช้ชิปเดียวกันนี้ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
ในการรีวิว Apple Watch Series 9 ครั้งนี้ ทางเราได้รับมาเป็นชุดตัวเรือนอะลูมิเนียมขนาด 45 มม. GPS+Cellular พร้อมสาย Sport Loop นอกจากนี้ยังมีสาย Nike Sport Band มาให้ด้วย
ตัวเรือนและสายที่รีวิวจะเป็นรุ่นสีน้ำเงินมิดไนท์ ซึ่งจะเป็นสีน้ำเงินโทนเข้มจนเกือบจะถึงดำอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าอยู่กลางแจ้งหรือในที่มีแสงขาวหน่อย ถึงจะมองเห็นชัดว่าเป็นสีโทนน้ำเงิน แต่สำหรับใครที่ชอบสีโทนอ่อนหน่อย ก็จะมีสีอื่นให้เลือกเช่นกัน อาทิ สีชมพูอ่อน สีสตาร์ไลท์ที่ออกเป็นสีบรอนซ์ทองนิด ๆ สีเงินในแบบบรอนซ์เงิน และก็สีแดง PRODUCT RED
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องของนาฬิกาเองก็จะมีตัวเรือนที่อยู่ในซอง เอกสารคู่มือการใช้งานเบื้องต้น และก็แท่นชาร์จแบบแม่เหล็กที่เป็นสาย USB-C รองรับการชาร์จเร็ว
ส่วนกล่องของสาย Sport Loop ที่อยู่ในชุดก็จะมีการระบุประเภทของสายมาให้ชัดเจน ซึ่งในตอนที่เลือกซื้อ จะมีสายให้เลือกด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
1) สายที่ทำมาจากยางซิลิโคน จุดเด่นคือความยืดหยุ่นและกันน้ำกันเหงื่อได้ดี ซึ่งจะแบ่งย่อยอีก มีทั้งแบบ Solo Loop, Sport Band และ Nike Sport Band
2) สายที่ทำมาจากผ้า มีน้ำหนักเบา ผิวนุ่ม มีทั้งแบบ Sport Loop, Magnetic Link, สายถัก Braided Solo Loop และ Nike Sport Loop
3) สายสแตนเลสสตีล เน้นความหรูหรา มีทั้งแบบ Milanese Loop และ Link Bracelet
ซึ่งสายบางประเภทก็จะเพิ่มราคาขึ้นไปจากราคาปกติด้วย แนะนำว่าลองไปดูสายตัวจริงก่อนว่าชอบในสัมผัสหรือเปล่า ส่วนถ้าต้องการดูว่าสายจะเข้ากับตัวเรือนที่ต้องการหรือเปล่า จะลองจับคู่ตัวเรือนกับสายบนหน้าเว็บ Apple ไปก่อนก็ได้ครับ ในหน้าสั่งซื้อ ถ้ากดเลือกไปถึงการเลือกสาย ฝั่งซ้ายของหน้าเว็บจะมีภาพพรีวิวมาให้เลย ว่าตัวเรือนรุ่นและสีที่เราเลือก เมื่อจับคู่กับสายที่เลือก หน้าตาจะออกมาเป็นประมาณไหน แต่ถ้าเรื่องขนาดสาย จะมีสายยางแบบ Solo Loop ที่ต้องซื้อให้ตรงกับขนาดข้อมือจริง ๆ เนื่องจากมันเป็นสายที่ไม่สามารถปรับขนาดภายหลังได้ อันนี้แนะนำว่าควรไปลองที่ร้านก่อนซื้อจะดีที่สุดครับ
ที่น่าสนใจคือปีนี้ Apple เน้นเรื่องนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนมาก ๆ ตั้งแต่วิดีโอเปิดตัวแล้ว ซึ่งจะมีสาย Sport Loop ที่ทำจากผ้าที่ออกมาตามนโยบายนี้เลย ด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบถึง 45% ตามน้ำหนัก รวมถึงมีการปรับกระบวนการผลิตและการขนส่งด้วย
ส่วนเรื่องวัสดุประเภท FineWoven จะมีเฉพาะในสาย Apple Watch แบบ Magnetic Link และ Modern Buckle เท่านั้นครับ ยังไม่ได้นำมาใช้กับพวกสายรุ่นยอดนิยม
ในกล่องของสายในชุด ก็จะมีภาพประกอบแนะนำวิธีการติดตั้งสาย และวิธีการสวมใส่มาให้ด้วย ซึ่งสาย Sport Loop ที่มาในชุดรีวิวนี้ เท่าที่ลองใส่ก็ยังให้สัมผัสเหมือนกับสาย Nike Sport Loop เก่าที่ผมใช้งานอยู่ครับ คือนิ่ม เบา ใส่สบายมาก แทบไม่รู้สึกว่าต่างกันเลย
ตัวเรือน Apple Watch Series 9 จะอยู่ในเคสแข็งผิวกำมะหยี่ ด้านบนมีระบุขนาดตัวเรือนไว้ให้ด้วย
เมื่อหยิบออกมาแล้ว ลักษณะโดยทั่วไปก็ต้องบอกว่ายังคงเหมือนกับรุ่นก่อนหน้าอยู่ คือหน้าปัดเป็นทรงเหลี่ยมที่มีมุมโค้งมน สอดรับกับตัวเรือน ฝาหลังในทุกรุ่นจะเป็นเซรามิกที่มีความทนทานต่อรอยขีดข่วน น้ำหนักเบา ตรงกลางโค้งนูนขึ้นมา มีเซ็นเซอร์ที่ตรวจวัดข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้ ล้อมรอบด้วยข้อความระบุถึงรุ่น ขนาด วัสดุตัวเรือนทั้งด้านบนและด้านล่าง ประเภทกระจกหน้าจอ การเชื่อมต่อที่รองรับ และระยะการกันน้ำที่ทำได้ลึกสุด 50 เมตรใน Watch รุ่นปกติ
ส่วนเลขซีเรียลนัมเบอร์ของตัวเรือนก็จะซ่อนอยู่ที่ช่องติดตั้งสายนาฬิกาเหมือนเดิมนะครับ
ด้านซ้ายของตัวเรือนจะมีช่องลำโพงเป็นขีดยาว ๆ อยู่ขีดเดียว เสียงที่ได้ก็ถือว่าคมชัดพอใช้ได้เลย สำหรับการใช้คุยโทรศัพท์ หรือฟังคอนเทนต์ที่เป็นแนวการพูดคุย สนทนา ส่วนถ้าจะใช้ฟังเพลงก็พอแก้ขัดได้ครับ แต่มิติเสียงจะยังไม่ถึงระดับการฟังจากลำโพงของมือถือ ซึ่งก็ตอบโจทย์หลักของ Apple Watch อยู่แล้ว ที่ออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถยกข้อมือขึ้นมาคุยโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเลย
อีกฝั่งก็จะมีปุ่มด้านข้างที่ใช้สำหรับเปิด/ปิด Apple Watch รวมถึงใช้กดเปิดแผงควบคุม Control Center ได้ ถัดมาคือช่องรับเสียงของไมโครโฟน และริมสุดคือปุ่มเม็ดมะยมที่ใช้ได้ทั้งการหมุนปุ่มเพื่อเลื่อนหน้าจอ เลื่อนตัวเลือก กดเพื่อเลือก (Select) และก็ใช้ในการวัด ECG ด้วยการแตะที่หน้าสัมผัสของปุ่มด้วย โดยในรุ่น GPS+Cellular จะมีวงสีแดงแบบในภาพด้านบนด้วย ในขณะที่รุ่น GPS ปกติจะเป็นสีปุ่มล้วน ๆ ไม่มีวงแดงประกอบ
หน้าจอของ Apple Watch Series 9 มีขนาดเท่ากับ Series 8 ทั้งขนาดและพื้นที่แสดงผลจริง ขอบจอค่อนข้างบาง สีที่แสดงได้ก็ยังคงยอดเยี่ยมอยู่ ภาพคมชัด ใช้งานกลางแจ้งได้ดี ส่วนถ้าใช้งานในที่มืด หน้าจอก็จะปรับลดความสว่างลงมาจนสามารถใส่นอนได้สบาย ๆ เลย นอกจากนี้ก็ยังคงรองรับ Always On Display ที่ทำให้หน้าจอติดตลอดเวลา สามารถดูเวลาได้เพียงแค่การเหลือบมอง ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มีมาให้ใช้ตั้งแต่ Series 6 แล้ว สามารถใช้งานได้สบาย ๆ ครับ ไม่กินแบตมากนัก เปิดใช้แล้วก็ยังสามารถใช้จนหมดวันได้ตามมาตรฐานของ Apple Watch เอง
ในการรีวิว Apple Watch Series 9 นี้ เมื่อลองจับมาเทียบกับ Series 6 (เรือนซ้าย) ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนที่ Apple จะปรับดีไซน์หน้าจอเป็นแบบเกือบเต็มขอบใน Series 7 จะเห็นได้ว่าพื้นที่แสดงผลมีความต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้เวลาใช้งานจริง ภาพบนจอของ Series 9 จะดูใหญ่ขึ้นมากว่าเดิม อย่างที่ผมรู้สึกได้ก็คือการใส่รหัสผ่านเพื่อปลดล็อกหน้าจอนาฬิกา ที่ขนาดปุ่มตัวเลข 0-9 บนจอที่ใหญ่ขึ้น กดง่ายกว่าใน Series 6 ที่ใช้อยู่
แต่สำหรับมิติตัวเรือน อันนี้ยังคงเท่ากันอยู่ครับ อีกทั้งสามารถนำสายใหม่มาใช้กับเรือนเก่า นำสายเก่าไปใช้กับเรือนใหม่ได้ด้วย โดยสายส่วนใหญ่จะใช้ด้วยกันได้ตามสองกลุ่มดังนี้ครับ
- สายของรุ่น 41 มม. สามารถใช้กับตัวเรือนขนาด 38 และ 40 มม. ได้
- สายของรุ่น 45 มม. สามารถใช้กับตัวเรือนขนาด 42, 44 และ 49 มม. ได้
สายอีกเส้นที่ทางเราได้รับมาประกอบในการรีวิว Apple Watch Series 9 ด้วยก็คือสายซิลิโคน Nike Sport Band สี Desert Stone ซึ่งโทนสีก็จะออกแนวหินทะเลทรายจริง ๆ ครับ คือออกแนวสีเนื้ออ่อน ๆ มีช่องระบายอากาศอยู่ทั่วสาย เหมาะมากสำหรับการใช้งานในไทย และใช้ใส่ออกกำลังกาย เพราะจะช่วยระบายเหงื่อได้ดี แถมสายซิลิโคนเองก็ไม่มีปัญหากับน้ำด้วย สามารถถอดมาทำความสะอาดได้ง่ายมาก ถ้าต้องการซื้อแยกก็มีราคาอยู่ที่ 1,800 บาท เท่ากันทุกขนาดตัวเรือนและขนาดสาย
นอกจากสีนี้ก็ยังมีสีอื่นให้เลือกอีก เช่น สีโทนชมพู Magic Ember, สีโทนดำ Midnight Sky, สีขาว Pure Platinum เป็นต้น
พอจับคู่กับ Apple Watch Series 9 สีน้ำเงินมิดไนท์ก็เรียกว่าคอนทราสต์กันสุด ๆ
บริเวณหมุดล็อกของสายจะมีโลโก้ Watch และ Nike มาให้
ส่วนอีกฝั่งด้านในสายจะมีขนาดของสายมาให้ อย่างสายเส้นนี้ก็จะเป็นสายเบอร์ S/M เหมาะสำหรับข้อมือที่มีขนาด 140-190 มม.
ซึ่งส่วนตัวผมเองที่ข้อมือขนาดกลาง ๆ ไม่ใหญ่มาก (กำมือรอบข้อมือแล้วปลายนิ้วหัวแม่มือแตะกับปลายนิ้วกลางได้พอดี) สามารถใส่สายนี้ในตอนที่รีวิว Apple Watch Series 9 ได้แบบเกือบสุดอยู่เหมือนกัน ซึ่งถ้าคนที่จะใช้งานเป็นผู้ชาย อาจพิจารณาเลือกสายขนาด M/L จะปลอดภัยกว่าครับ เพราะสามารถใช้ได้กับข้อมือขนาดตั้งแต่ 160 ถึง 210 มม. ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับสายขนาด S/M อยู่
ในการใช้งานทั่วไป ต้องบอกว่า Apple Watch คือสมาร์ตวอทช์ที่เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปบน iPhone มากที่สุด ซึ่งก็แน่นอนเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ใน ecosystem ของ Apple เอง ทำให้การซิงค์ข้อมูล การแจ้งเตือน การสลับอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างราบรื่นสุด ๆ โดยเฉพาะใครที่เป็นสายรักสุขภาพ เพราะพวกข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายต่าง ๆ ที่ Watch เก็บได้ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ การนอนหลับ ปริมาณออกซิเจนในเลือด จะถูกซิงค์เข้ามาในแอป Health ของ iPhone แบบอัตโนมัติ
ส่วนพวกฟังก์ชันสมาร์ตอื่น ๆ ก็ทำได้ดีเช่นเดิม เช่น การแจ้งเตือนที่เข้ามาแทบจะพร้อม ๆ กับที่เด้งบน iPhone สามารถแสดงภาษาไทยได้ดี ไม่มีการตัดคำแปลก ๆ การควบคุมการเล่นเพลงก็ทำได้ดี ซึ่งทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ Apple Watch ทำมาได้ดีอยู่แล้ว แต่ในรอบนี้มีการเพิ่มฟังก์ชันใหม่อย่าง Double Tap เข้ามาด้วย ด้านของชิป S9 ที่ใส่เข้ามาใหม่ แน่นอนว่ามีการอัปเกรดสเปคให้ประมวลผลได้ดีขึ้น แต่สำหรับในการใช้งานทั่วไประหว่างที่รีวิว Apple Watch Series 9 ส่วนตัวผมรู้สึกว่าก็แทบไม่ต่างจาก Series 6 ที่ใช้ชิป S6 SiP มากนัก จะมีเวลาเปิดแอปที่เร็วขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับต่างกันอย่างเห็นได้ชัดมากนัก กับอีกแบบที่ S9 จะมีผล ก็เช่นพวกการประมวลผลเสียงเพื่อใช้ในการพิมพ์ข้อความ (dictation) ที่จะทำได้เร็วขึ้น แม่นยำยิ่งขึ้น
ฟีเจอร์ใหม่ใน Apple Watch Series 9
อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า Apple Watch Series 9 มีฟังก์ชันใหม่นั่นคือ Double Tap ที่มาพร้อมกับ watchOS 10 แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานแบบเต็มตัว จะมีให้ทดสอบเฉพาะบน watchOS 10.1 beta อยู่ ซึ่งในการรีวิว Apple Watch Series 9 ครั้งนี้ ทางเราก็ติดตั้ง watchOS 10.1 beta เพื่อทดลองใช้ Double Tap ด้วย
ฟังก์ชัน Double Tap คือตัวช่วยเพิ่มการสั่งงานตัวนาฬิกา ในกรณีที่ผู้ใช้อาจไม่สะดวกที่จะแตะปุ่มบนหน้าจอ โดยจะใช้การตรวจจับว่ามือของผู้ใช้งานกำลังทำท่าจีบปลายนิ้วติดกันสองครั้งหรือเปล่า ซึ่งตัวเรือนจะใช้การจับลักษณะท่าทาง เส้นเลือด และประมวลผลเพื่อให้ทราบว่าผู้ใช้กำลังทำท่า Double Tap อยู่
ลักษณะการใช้งานก็จะตามภาพ GIF ด้านบนนี้ครับ คือเป็นการจีบปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าด้วยกันเร็ว ๆ สองครั้ง โดยถ้าจะใช้ฟีเจอร์นี้ ผู้ใช้ต้องยกข้อมือขึ้นมาจนจอติดก่อน ไม่สามารถใช้ขณะที่ข้อมืออยู่ข้างลำตัวได้
หากเป็นการ double tap ขณะที่อยู่หน้าจอบอกเวลา จะเป็นการเรียกวิดเจ็ตที่เป็น smart stack ขึ้นมา เสมือนเป็นการปาดนิ้วจากขอบล่างของจอขึ้นมานั่นเอง เมื่อเรียกขึ้นมาแล้ว ถ้าเป็นการตั้งค่าพื้นฐานตามที่ระบบกำหนดมาให้ จะเป็นการเลื่อน stack ลงมาเรื่อย ๆ เพื่อดูข้อมูลต่าง ๆ แต่ก็จะสามารถตั้งค่าให้เปลี่ยนจากการเลื่อน stack ลงมาเรื่อย ๆ เป็นการเลือกเพื่อ action กับหน้าจอนั้น เช่นถ้าอยู่ที่วิดเจ็ต Tips ก็จะเป็นการเปิดแอป Tips ขึ้นมาดูบทความแนะนำการใช้งาน หรือถ้าเปิด SMS อยู่ ก็จะเป็นการเข้าไปที่เมนูเขียนข้อความตอบ
นอกจากนี้จะมีคำสั่งเพิ่มเติมที่สามารถใช้กับ Double Tap ได้ เช่น
- ในแอป Music จะสามารถใช้กดสั่งเล่น/หยุดเพลงได้
- ถ้ามีคนโทรเข้ามา สามารถใช้รับสายได้
- ในแอปนาฬิกาจับเวลา สามารถใช้หยุดเวลาได้
โดยรวมแล้วก็ถือว่าเป็นฟังก์ชันที่มีประโยชน์ สำหรับผู้ที่อาจจะไม่สะดวกที่ต้องกดสั่งงานบนหน้าจอในบางเวลา แต่จะมองว่ารูปแบบการใช้งานยังน้อยไปหน่อยก็ว่าได้ครับ อย่างการสั่งเล่นหรือหยุดเพลง จะใช้ได้กับแอป Music ของ Apple เองเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับแอปฟังเพลงอื่น ๆ ได้เลย อันนี้อาจจะต้องรอการพัฒนาต่อไป
ฟีเจอร์ Double Tap นี้จะได้รับการแนะนำให้ผู้ใช้ทราบตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งค่า Apple Watch Series 9 ครั้งแรกเลย ส่วนถ้าต้องการปรับแต่งการทำงาน ก็สามารถเข้าไปได้ที่แอป Watch แล้วเลื่อนลงมาที่หัวข้อ Gestures ที่ภายในจะมี Double Tap ซ่อนอยู่
การตั้งค่าที่สามารถทำได้ก็คือจะเลือกเปิดใช้งานฟังก์ชันนี้หรือไม่ ขณะที่ใช้แอป Music จะให้การ double tap เป็นการสั่งเล่น/หยุดเพลง หรือใช้ในการข้ามไปเพลงถัดไป และก็ในกรณีที่เรียกวิดเจ็ตแบบ smart stack ขึ้นมา จะให้เป็นการ double tap เพื่อเลื่อนวิดเจ็ตลงมาเรื่อย ๆ หรือจะเป็นการเลือกวิดเจ็ตเพื่อเปิดแอปขึ้นมา ซึ่งตรงนี้แนะนำว่าเป็นใช้เป็นอันแรกตามเดิมดีแล้วครับ เพราะจากที่ผมลองเปลี่ยนมาใช้เป้นการเลือก พบว่ามันใช้ได้กับแค่ไม่กี่แอปเอง
สำหรับใครที่ซื้อมาใช้ตอนนี้ (ช่วงกลางเดือนตุลาคม) จะยังไม่สามารถใช้ฟีเจอร์ Double Tap ได้นะครับ เพราะยังไม่ถูกใส่มาใน watchOS 10 ตัวเต็ม ถ้าหากอยากใช้งานแบบในรีวิว Apple Watch Series 9 นี้ จะต้องติดตั้ง watchOS 10.1 beta ก่อน แต่คาดว่าน่าจะเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ครับ เพราะตัว 10.1 beta อยู่ในสถานะ release candidate ที่ใกล้จะพร้อมสำหรับปล่อยให้อัปเดตกันถ้วนหน้าแล้ว
อีกฟังก์ชันที่ Apple พูดถึงในงานเปิดตัวก็คือการทำงานร่วมกันระหว่าง Apple Watch และ iPhone ที่เชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อยิ่งขึ้นเมื่อใช้ในการปั่นจักรยาน สำหรับกรณีที่ผู้ใช้ติดตั้ง iPhone ไว้ที่แฮนด์จักรยาน เมื่อกดเริ่ม workout ที่ Watch ข้อมูลจะถูกส่งมาขึ้นบนหน้าจอ iPhone ด้วย ทำให้ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลต่าง ๆ เช่น ระยะทาง เวลา อัตราการเต้นและโซนของหัวใจได้ โดยไม่จำเป็นต้องยกข้อมือขึ้นมาขณะปั่นจักรยานให้อันตรายเลย ทั้งยังสามารถควบคุมการนับรอบ หรือสั่งจบ workkout ได้จากหน้าจอ iPhone เลย
เท่าที่ลองขณะรีวิว Apple Watch Series 9 ดู สามารถใช้กับการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานฟิตเนสได้ด้วย น่าจะเหมาะกับคนที่ชอบเข้าฟิตเนสอยู่ไม่น้อยทีเดียว และที่จริงแล้ว Apple ยังเสริมความสามารถให้ Watch สามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์ เซ็นเซอร์สำหรับสายจักรยานได้ด้วย เพื่อการเก็บข้อมูลที่แม่นยำยิ่งขึ้น
ซึ่งในระหว่างที่แสดงข้อมูลบนจอ iPhone อยู่ ก็ยังสามารถกดปิดหน้าจอนี้เพื่อใช้งานมือถือตามปกติได้อยู่ครับ ซึ่งถึงแม้จะปิดไป แต่ Apple Watch ก็ยังเก็บข้อมูลให้ตามปกติอยู่
ในการตั้งค่า Apple Watch ครั้งแรก ถ้ามีเรือนเก่าอยู่ ก็จะมีหน้าจอขึ้นมาถามด้วยว่าจะให้ย้ายข้อมูล แอปและการตั้งค่าจากเรือนเก่ามาเรือนใหม่ด้วยเลยหรือเปล่า ซึ่งการย้ายก็ใช้เวลาไม่นานครับ เมื่อทำเสร็จ ก็สามารถใช้เรือนใหม่ได้ต่อเนื่องเลย ไม่ต้องตั้งค่าอะไรใหม่อีก คล้ายกับการย้าย iPhone จากเครื่องเก่ามาเครื่องใหม่
Apple Watch Series 9 มีการเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเป็น 64 GB เมื่อเปิดมาใช้งานครั้งแรกจะเหลือให้ใช้ประมาณ 57 GB
สำหรับเมนูการตั้งค่าของ watchOS เองก็มีให้ปรับการทำงานของฟีเจอร์ Double Tap ได้ด้วย ส่วนใครต้องการเก็บข้อมูลการนอนหลับ ก็สามารถทำได้หลังจากตั้งค่าให้มีการจับข้อมูลในแอป Health ซึ่งระบบก็จะเก็บข้อมูลให้ทั้งระยะเวลาที่นอน และสถานะการนอนในแต่ละระดับ ว่ามีการหลับในระดับไหนเป็นเวลานานเท่าไหร่
อีกการเก็บข้อมูลสุขภาพที่น่าสนใจก็คือด้านสุขภาพจิต ที่ให้ผู้ใช้สามารถบันทึกความรู้สึกได้ ว่ามีความสุขระดับไหน หรืออยู่ระดับกลาง ๆ เฉย ๆ ไปจนถึงรู้สึกไม่ค่อยดี ซึ่งระบบจะนำไปใช้ประกอบกับข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้งานด้วย ส่วนอีกฟีเจอร์ย่อยที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ Reflect ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้ได้ผ่อนคลายจากเรื่องที่วิตกกังวลอยู่ โดยระบบจะแสดงภาพที่ให้ผู้ใช้มีสมาธิขึ้น และแนะนำให้ผู้ใช้คิดถึงสิ่งดี ๆ เพื่อให้เป็นการผ่อนคลาย
ในการใส่ชิป UWB เวอร์ชัน 2 มา ทำให้เจ้าของ Apple Watch Series 9 สามารถใช้ในการค้นหา iPhone 15 series ที่ใช้ชิป UWB 2 เหมือนกันได้ดีกว่าเดิม ในเรื่องของความแม่นยำ ความเร็วและระยะในการค้นหา ซึ่งจะเหมาะมากเวลาที่ลืมว่าวาง iPhone ไว้ที่ไหน ก็ให้กดปุ่มข้างเพื่อเปิด control center ขึ้นมา จากนั้นกดที่ปุ่มที่มีรูปมือถือ แล้วมีคลื่นสั่นออกมาข้าง ๆ ถ้าจากในภาพด้านบน ก็คือปุ่มที่สองทางฝั่งซ้ายมือ
ตัว Watch ก็จะใช้เวลาซักนิดนึงในการค้นหาสัญญาณจากชิป UWB 2 ใน iPhone เมื่อพบแล้วก็จะปรากฏเป็นหน้าจอแบบภาพบน ที่บอกระยะห่างแบบคร่าว ๆ พร้อมทิศทางที่เจอสัญญาณด้วย ส่วนปุ่มทางมุมขวาล่างของจอจะเป็นปุ่มสั่งให้ iPhone ส่งเสียงดังขึ้นมา เพื่อช่วยในการค้นหา
เมื่ออยู่ใกล้มาก ๆ แล้ว หน้าจอก็จะเปลี่ยนไปบอกระยะห่างที่มีความละเอียดขึ้นไปอีก เพื่อช่วยให้สามารถจับตำแหน่งได้ใกล้เคียงที่สุด พอพบแล้ว หน้าจอของ Watch ก็จะกลับไปหน้าบอกเวลาอีกครั้งโดยอัตโนมัติ จากในตอนที่รีวิว Apple Watch Series 9 ฟังก์ชันนี้สามารถใช้งานได้ดีพอสมควรเลย แม้จะอยู่คนละห้องกันก็หาเจอ แต่ในทางกลับกัน ถ้าจะใช้ iPhone หาตำแหน่งของ Watch แบบ precision finding ในลักษณะเดียวกันผ่านแอป Find My อันนี้ยังทำไม่ได้ครับ เมื่อกดนำทางแล้วจะยังเป็นการนำทางผ่านแผนที่อยู่
อีกฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาจากการใส่ชิป UWB 2 ก็คือหน้าจอจะสลับไปเป็นหน้า smart stack ที่แสดงเพลง podcast และ audio book แนะนำขึ้นมาอัตโนมัติเมื่อเดินเข้าใกล้ลำโพง HomePod เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสั่งเล่นคอนเทนต์ที่ต้องการบน HomePod ได้ทันที หรือถ้ามีการเล่นคอนเทนต์ออกลำโพงอยู่แล้ว ก็จะมีหน้าจอควบคุมการเล่นขึ้นมาบน Apple Watch Series 9 เพื่อให้สามารถสั่งงานได้เลย
สรุปรีวิว Apple Watch Series 9
Apple Watch Series 9 เป็นสมาร์ตวอทช์รุ่นที่ได้รับการอัปเกรดจากรุ่นเก่าในด้านประสบการณ์การใช้งานในบางจุดที่อาจจะตรงโจทย์กับการใช้งานเฉพาะทาง หรือในบางสถานการณ์เป็นหลัก เช่น สำหรับการปั่นจักรยาน หรือสำหรับช่วงเวลาที่ผู้ใช้ไม่สะดวกใช้นิ้วจิ้มหน้าจอ แต่ในเรื่องของการใช้งานทั่วไป อันนี้พอจะบอกได้เลยว่าไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่มันก็คืออยู่ในระดับที่ดีมาก ๆ อยู่แล้ว ทั้งในเรื่องการบอกเวลา การแจ้งเตือนข้อมูลต่าง ๆ การทำงานร่วมกันกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ของ Apple โดยเฉพาะกับ iPhone
ส่วนถ้าถามถึงความคุ้มค่าในการอัปเกรดจาก Apple Watch รุ่นก่อนหน้า ในกรณีที่ใช้ Series 7 หรือ 8 อันนี้อาจจะยังไม่พบความแตกต่างในการใช้งานมากนักครับ แต่ถ้าเป็น Series 6 หรือก่อนหน้า รวมถึงรุ่น SE ประสบการณ์ใหม่ที่จะได้รับแน่ ๆ เลยคือพื้นที่แสดงผลของหน้าจอที่เพิ่มขึ้น จอสว่างจนใช้งานกลางแจ้งได้ดีกว่าเดิม ในขณะที่ตัวเรือนมีขนาดเท่าเก่า และยังได้แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานขึ้นด้วย เพราะถ้าใช้ตั้งแต่รุ่น 6 ลงมา แบตน่าจะเสื่อมไปพอสมควรแล้วตามอายุการใช้งาน ส่วนฟีเจอร์ใหม่อย่าง Double Tap ส่วนตัวผมมองว่ายังทำอะไรได้น้อยไปหน่อยครับ หวังว่า Apple จะตีบวกให้ฟีเจอร์นี้เพิ่มขึ้นในอนาคตนะ