หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงมากของ Apple ในยุคหลังก็คือ AirPods หูฟังไร้สายแบบ TWS ที่เข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้หูฟังของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนกันขนานใหญ่ รวมถึงยังกลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์จนกลายเป็นหนึ่งในแนวทางที่ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ต้องปรับตัวตาม มาล่าสุดก็มีการเปิดตัวรุ่นใหม่ล่าสุดนั่นคือ AirPods รุ่น 4 ซึ่งจะมีด้วยกันสองรุ่นคือรุ่นปกติและ AirPods 4 ANC ที่มีการนำฟังก์ชันตัดเสียงรบกวนแบบ ANC เข้ามาไว้ในหูฟังแบบ earbuds เป็นครั้งแรกของ Apple ที่ในบทความนี้เราจะมารีวิวกันว่ามันโอเคขนาดนั้น เหมาะที่จะซื้อมาใช้งานหรือเปล่า
ในการเปิดตัว AirPods 4 หนึ่งในคีย์สำคัญที่ Apple ใช้ในการนำเสนอก็คือเรื่องของดีไซน์ที่มีความกะทัดรัดยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่กล่องใส่เลย เพราะในรอบนี้ตัวกล่องจะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่าก็ช่วยลดการใช้วัสดุในการผลิตลงไป นัยหนึ่งก็ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกนัยหนึ่งขนส่งต่อรอบได้มากขึ้นด้วย ต้นทุนต่าง ๆ ก็ต่ำลง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารผลิตภัณฑ์ที่ Apple มีการปรับตัวมาตลอดอยู่แล้ว ส่วนฝั่งผู้ใช้ที่ต้องการเก็บกล่องไว้ไม่ว่าจะเผื่อเคลม เผื่อขาย หรือจะเก็บสะสมเป็นคอลเลคชันก็น่าจะถูกใจเหมือนกันครับ เพราะมันเล็กลง ไม่กินพื้นที่เท่าไหร่ แต่ในด้านความแข็งแรงของกล่องก็ยังจัดว่าดีอยู่เช่นเดิม
ด้านหน้าจะมีภาพของหูฟังทั้งสองข้าง ด้านข้างจะมีใส่ชื่อไว้ว่า AirPods พร้อมมีข้อความ Active Noise Cancellation เพื่อระบุว่าเป็น AirPods 4 รุ่นที่มีระบบตัดเสียง ANC อีกฝั่งก็จะมีพวกบาร์โค้ด ซีเรียลนัมเบอร์ และข้อมูลระบุเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อยู่ ประเทศที่ผลิตก็จะเป็นเวียดนาม ส่วนด้านหลังจะมีแจ้งชื่อรุ่น พร้อมฉลากภาษาไทยที่แจ้งไว้เลยว่าเป็นหูฟังไร้สายพร้อมเคสชาร์จ สามารถใช้งานร่วมกับที่ชาร์จ USB-C, ที่ชาร์จ Apple Watch และที่ชาร์จที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Qi รวมถึงมีแจ้งไว้ด้วยว่าสำหรับสาย USB-C จะต้องซื้อแยกต่างหาก
ซึ่งเมื่อเปิดกล่องขึ้นมาก็จะพบกับซองใส่เอกสารประกอบเล็กน้อย ด้านในจะมีกล่องเคสหูฟังอยู่ในซองพลาสติกตรงกลางกล่อง แล้วก็จบแค่นี้เลย ไม่มีสายชาร์จมาให้ ซึ่งผู้ใช้ก็สามารถใช้สายชาร์จ iPhone, iPad หรือของอุปกรณ์อื่นที่ใช้การชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ได้เลย ส่วนถ้าต้องการชาร์จไร้สายก็ตามที่ระบุด้านบนเลยครับ คือจะใช้ที่ชาร์จ Apple Watch ก็ได้ ใช้แท่น MagSafe ก็ได้ หรือจะใช้แท่นชาร์จไร้สายรุ่นอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน ขอแค่ตัวแท่นชาร์จรองรับมาตรฐาน Qi สำหรับการชาร์จไร้สายเท่านั้นเอง
AirPods 4 บนหน้าเว็บไซต์ Apple จะมีให้เลือกซื้อสองรุ่นนั่นคือ AirPods 4 ธรรมดาในราคา 4,990 บาท และ AirPods 4 ANC ในราคา 6,490 บาท โดยส่วนต่างสองพันบาทนี้นอกจากจะเป็นค่าระบบตัดเสียงรบกวนแบบ ANC แล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในรุ่น ANC แต่ในรุ่นปกติจะไม่มีก็ได้แก่
- ระบบการรับรู้เมื่อมีการสนทนา (Conversation Awareness) ที่หูฟังจะปรับระดับเสียงเพลงให้อัตโนมัติ
- โหมดฟังเสียงภายนอกแบบใน AirPods Pro ซึ่งพ่วงมากับฟังก์ชัน ANC
- ระบบชาร์จไร้สาย
- เคสชาร์จจะมีลำโพงมาให้ เพื่อใช้แจ้งการชาร์จและส่งเสียงเพื่อใช้ร่วมกับฟังก์ชันค้นหาของ Find My
ซึ่งถ้าต้องการความสะดวกในการใช้งานแบบเต็มตัวจริง ๆ การเลือกเป็นรุ่น ANC ดูจะได้เปรียบกว่าในเรื่องการชาร์จไร้สายครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครที่มี Apple Watch ใช้แท่น MagSafe หรือมีแท่นชาร์จไร้สายอยู่แล้ว เพราะสามารถใช้แท่นชาร์จเดียวกันได้เลย แทบไม่จำเป็นต้องชาร์จผ่านช่อง USB-C เลยก็ยังได้ และอีกประเด็นก็คือเรื่องระบบตัดเสียงรบกวน ที่เกริ่นไว้ก่อนเลยว่าเกินคาดมาก ๆ สำหรับหูฟัง Earbuds
แต่ถ้ารูปแบบการนำไปใช้งานของคุณคือเน้นใช้งานในบ้าน ในที่ทำงาน ในบริเวณที่เสียงรบกวนไม่ได้เยอะมาก และไม่ได้ติดขัดอะไรกับการชาร์จผ่านสาย เพราะก็ใช้สายเดียวกับมือถือไปอยู่แล้ว AirPods 4 รุ่นปกติก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ครับ อิงจากราคาเต็มคือประหยัดเงินไป 2,000 แต่ได้คุณภาพเสียง ความสบายในการสวมใส่และระยะเวลาการใช้งานที่เท่า ๆ กันเลย จะเสียดายตรงที่เคสของรุ่นปกติจะไม่มีลำโพงมาให้ จึงอาจทำให้ค้นหาตำแหน่งด้วยการฟังเสียงไม่ได้ ในกรณีที่ถ้าคุณอาจจะหลงลืมบ่อย ๆ ว่าวาง AirPods ไว้ที่ไหน
ทีนี้ถ้าลองจับมาเทียบกับรุ่นอื่นเท่าที่ผมมีอยู่ ภาพซ้ายคือ AirPods 4 ANC เทียบกับ AirPods Pro 1 ที่ใส่เคสอยู่อีกชั้น แน่นอนว่าขนาดมันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แม้จะถอดเคสออก ตัวเคสของรุ่นโปรก็ยังใหญ่กว่าเล็กน้อยอยู่ดี ส่วนภาพขวาจะเป็นการนำมาเทียบกับเคสของ AirPods 2 ที่เชื่อว่าหลายท่านก็น่าจะยังใช้งานกันอยู่ เพราะเป็นรุ่นที่วางจำหน่ายมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะเพิ่งเลิกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการไปเมื่อตอนที่เปิดตัวรุ่น 4 นี่เอง จากภาพก็จะเห็นว่าขนาดเคสของรุ่นใหม่จะดูป่องกว่าเล็กน้อย แต่ก็มีส่วนสูงที่ลดลงตามมา ซึ่งถ้าลองจับถือในมือจริง ๆ ส่วนตัวผมมองว่าของรุ่น 4 จะดูกะทัดรัดกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรุ่น 2
สำหรับตัวเคสเองก็ยังคงเป็นพลาสติกสีขาวที่มีการทำผิวมามันวาวเช่นเดิม มีการบากร่องไว้เพื่อให้สามารถดันฝาเปิดขึ้นไปได้สะดวก กลไกการล็อกฝาก็จะใช้แรงดูดของแม่เหล็กที่จัดว่าดูดได้แรงดี แต่ก็ใช้แรงในการเปิดไม่มากนัก บริเวณใต้ร่องบากก็จะมีไฟ LED สำหรับแสดงสถานะอยู่ ถ้าเปิดขึ้นมาแล้วเป็นสีเขียวนิ่ง ๆ ก็คือมีการเชื่อมต่อกับมือถือได้ตามปกติ และแบตเต็มอยู่ ส่วนถ้าขึ้นเป็นไฟสีส้มจะหมายถึงว่ากำลังชาร์จแบต หรือถ้าไม่ใช่ระหว่างชาร์จ ก็จะหมายถึงว่าปริมาณแบตเหลือน้อยกว่าการชาร์จเต็ม 1 รอบ
เคสชาร์จของ AirPods 4 ทั้งสองรุ่นย่อยจะมีรายละเอียดที่เปลี่ยนไปจากรุ่น 3 อยู่บ้าง ที่เห็นชัดสุดคือรอบนี้จะตัดปุ่ม setup ที่ก่อนหน้านี้จะอยู่ด้านหลัง ตรงใต้บานพับออก ทำให้เวลาต้องการจะจับคู่กับอุปกรณ์อื่นนอกเหนือจาก iPhone, iPad หรืออุปกรณ์ของ Apple จะต้องใช้การแตะที่บริเวณเซ็นเซอร์ซึ่งอยู่ใต้ไฟ LED แสดงสถานะแทน เช่นถ้าจะนำไปใช้กับมือถือ Android ก็ให้ใส่หูฟังทั้งสองข้างไว้ในเคส เปิดฝาขึ้นมา แล้วแตะสองครั้งคล้ายการดับเบิลคลิกที่บริเวณพื้นที่ถัดลงมาจากไฟ LED ด้านหน้า ไฟจะเปลี่ยนเป็นสีขาวกระพริบซึ่งเป็นการแสดงว่าได้เข้าสู่โหมดจับคู่แล้ว จากนั้นก็ไปทำการจับคู่จากมือถือที่ต้องการใช้งาน AirPods 4 ANC ได้เลย แต่ถ้าใช้งานร่วมกับ iPhone ก็แทบไม่ต้องทำขั้นตอนเหล่านี้เลยครับ เพราะระบบจะตรวจจับให้อัตโนมัติ และขึ้นมาถามเองเลยว่าจะจับคู่เพื่อใช้งานร่วมกับ iPhone หรือไม่
ส่วนข้อมูลรหัสโมเดล ความจุแบตเตอรี่ของเคสชาร์จ แรงดัน/กระแสไฟที่ใช้ในการชาร์จ รวมถึงรหัสซีเรียลจะซ่อนไว้ที่โพรงเก็บหูฟังข้างขวาที่อยู่ในฝาบนซึ่งเป็นตำแหน่งประจำอยู่แล้ว ใครที่ต้องการถ่ายภาพเก็บไว้ หรือต้องการนำไปใช้แจ้งเพื่อเข้ารับบริการก็สามารถดูจากตรงนี้ หรือจะดูจากฉลากที่กล่องก็ได้เช่นกัน
การชาร์จผ่านสายก็จะใช้เป็น USB-C แบบเต็มตัวแล้ว ซึ่งก็ตามที่ระบุไปข้างต้นว่าสามารถใช้สายเดียวกับที่ใช้ชาร์จมือถือ แท็บเล็ต iPhone iPad ที่ใช้ USB-C ได้เลย ทำให้ถ้าใครต้องการเข้าสู่ระบบนิเวศน์ของ Apple ในช่วงนี้ก็จะง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เพราะ USB-C rule them all เรียบร้อย มีเส้นเดียวก็ใช้ชาร์จได้ตั้งแต่ MacBook, iPad, iPhone มาจนถึง AirPods เลย
บริเวณรอบพอร์ต USB-C ก็จะมีช่องกลม ๆ เล็ก ๆ อยู่สองฝั่งและมีตะแกรงโลหะอยู่ด้านใน โดยฝั่งซ้ายที่มีช่องเดียวจะใช้เป็นช่องสำหรับระบายอากาศเพื่อช่วยในการปรับแรงดันภายในเคสให้เท่ากับแรงดันอากาศในสภาพแวดล้อมภายนอก ส่วนอีกสามช่องฝั่งขวาจะเป็นช่องลำโพงที่ไว้ใช้ส่งเสียงออกมาตอนเสียบสายหรือวางเคสบนแท่นชาร์จ และตอนที่ใช้ฟังก์ชันตามหาในระบบ Find My ให้ส่งเสียงออกมา เพื่อให้สามารถตามหาตำแหน่งได้ ซึ่งลำโพงนี้จะมีเฉพาะเคสชาร์จของ AirPods 4 รุ่นที่มี ANC เท่านั้น รุ่นปกติไม่มีให้นะ และจะต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่ใช้ iOS 18 ขึ้นไปเท่านั้นด้วย
หน้าตาของตัวหูฟัง AirPods 4 ANC จะถือว่ามีรูปทรงที่คล้ายกับ AirPods 3 คือเป็นป่องเอียง ๆ แล้วมีก้านสั้น ๆ ยื่นออกมาด้านหลัง ทำให้เวลาใส่ใช้งานจริง บริเวณปลายก้านจะหันเข้าหาปากของผู้ใช้งานพอดี ทำให้ไมโครโฟนรับเสียงพูดได้ดีขึ้น แต่ถ้าหากจับเทียบหน้าตากับ AirPods 3 จริง ๆ จะพบความแตกต่างที่เห็นได้ชัดครับ เช่นส่วนของตะแกรงสีดำที่จะแปะอยู่กับผนังใบหูของผู้ใช้ ในรุ่น 4 จะมีขนาดเล็กลง ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในจุดสังเกตเพื่อแยกรุ่นได้เลยว่าถ้าเป็นทรงนี้ และจุดสีดำมีขนาดเล็ก วางอยู่ตรงกลางเยื้องมาด้านหน้าเล็กน้อยก็จะเป็นรุ่น 4 แน่นอน แต่ถ้าจุดสีดำดีมีขนาดยาวหน่อยคล้ายกับลู่วิ่งในสนามกีฬา และอยู่เยื้องไปด้านหลังก็จะเป็นรุ่น 3
ด้านของน้ำหนักก็ต้องจัดว่าเบามาก ๆ ตามสไตล์ของ AirPods และหูฟังไร้สายแบบ TWS ที่ออกแบบมาเพื่อเน้นความสะดวกในการใช้งาน ในการเคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าเทียบน้ำหนักแล้วก็คือจะเท่า ๆ กับรุ่น 3 เลย แต่จะหนักกว่ารุ่น 2 ประมาณ 0.3 กรัม และเบากว่า AirPods Pro 2 อยู่ 1 กรัม ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่แทบจะไม่เห็นความแตกต่างมากนักในระหว่างการใช้งานอยู่แล้ว
บริเวณก้านหูฟังจะมีอยู่ด้านหนึ่งที่เซาะผิวไว้เป็นระนาบแบนเรียบ ซึ่งเมื่อใส่ใช้งานแล้วจะหันออกมาด้านหน้าของผู้ใช้ และขณะที่จับก้านหูฟัง ก็จะวางปลายนิ้วชี้ลงมาตรงระนาบนี้ได้พอดี ตรงจุดนี้คือเซ็นเซอร์สำหรับสั่งงาน AirPods และควบคุมระบบฟังเพลง การเล่นสื่อของเครื่องที่ใช้งานผ่านการบีบก้านหูฟังแบบที่มีมาในรุ่นก่อน ๆ โดยจะมีรูปแบบการสั่งงานดังนี้
- บีบ 1 ครั้งเพื่อสั่งเล่นหรือหยุดเล่นสื่อ ส่วนถ้ามีสายโทรเข้าก็สามารถใช้รับสายได้
- บีบ 1 ครั้งขณะคุยโทรศัพท์เพื่อปิดหรือเปิดเสียง (mute สาย)
- บีบ 2 ครั้งเพื่อข้ามไปเพลงถัดไป หรือใช้ในการวางสาย
- บีบ 3 ครั้งเพื่อย้อนไปเล่นเพลงก่อนหน้า
- บีบค้างไว้เพื่อเรียกใช้งาน Siri หรือปรับรูปแบบการตัดเสียง
ซึ่งในหน้าเมนูการตั้งค่าก็จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้เล็กน้อยด้วย ที่จะมีการกล่าวถึงในส่วนถัดไป ส่วนในเรื่องการควบคุมด้วยการบีบก้านแบบนี้ ผมมองว่าใช้งานได้สะดวกกว่าแบบที่แตะบริเวณหูฟังอีก เนื่องจากถ้าเป็นแบบแตะ บางครั้งผมแค่ต้องการกดและจัดตำแหน่งหูฟังให้เข้าที่ ก็กลายเป็นว่าผมไปแตะ+กดเพื่อสั่งงานไป แต่จะปิดเซ็นเซอร์ก็ไม่ได้ เพราะก็ต้องการเอาไว้ใช้เวลาต้องการข้ามเพลง ทำให้ส่วนตัวมองว่าการควบคุมด้วยการบีบก้านแบบนี้จะเหมาะกับการใช้งานมากกว่า
จับ 3 รุ่นที่ผมมีในขณะนี้มาเทียบกัน ได้แก่ AirPods 2 / AirPods 4 ANC / AirPods Pro 1 จะเห็นได้ชัดเลยว่าดีไซน์ของสองรุ่นซ้ายมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ส่วนถ้าเทียบสองรุ่นขวาก็คือจะคล้ายกันมาก ต่างกันที่รุ่นหนึ่งเป็นแบบ Earbuds ที่แปะในช่องหู และอีกรุ่นหนึ่งเป็น In-ear ที่มีจุกใส่ในช่องหู นั่นจึงทำให้ AirPods 4 สามารถใส่ระบบตัดเสียงรบกวน ANC เข้ามาได้ ด้วยการออกแบบตัวหูฟังให้ช่วยกันเสียงเข้ามาคล้ายกับในรุ่นโปร
ความรู้สึกในการสวมใส่ AirPods 4 ANC ก็ต้องบอกว่าไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้ามากนักครับ คือใส่ง่าย ไม่รู้สึกว่าหนักหรือมีอะไรกดทับเลย ด้วยความโค้งมนและไม่มีเหลี่ยมคมใด ๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะการออกแบบตัวหูฟังที่ทำออกมาค่อนข้าง universal คือคนทั่วไปสามารถใช้งานได้ด้วย แต่ก็อาจจะมีบ้างที่ใส่แล้วไม่พอดี 100% ซึ่งในจุดนี้ก็แนะนำว่าควรจะไปหาตัวจริงมาลองดูก่อน จะเป็นตามหน้าร้านตัวแทนจำหน่ายก็ได้ครับ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นของที่ต้องสวมใส่ อย่างไรก็ควรจะไปลองกับตัวก่อนอยู่ดี
โดยถ้าเป็นส่วนตัวผมเอง พบว่าสามารถใส่ได้สบาย สามารถใส่ทำกิจกรรม ใส่เดิน ใส่ขึ้นรถไฟฟ้าได้แบบไม่เจอปัญหาเลย แต่จะมาลำบากนิดนึงตอนใส่ระหว่างทานอาหาร เพราะขณะที่เคี้ยว มันจะมีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าเหมือนหูฟังจะหล่น ทำให้ไม่สะดวกกับการทานอาหารเท่าไหร่ สุดท้ายก้คือถอดหูฟังไปเลย เอาไว้ตอนทานเสร็จค่อยใส่ใหม่ ส่วนในเรื่องการกันน้ำกันฝุ่น ตามสเปคก็ระบุไว้ว่าได้ที่ระดับ IP54 คือสามารถทนทานกับเหงื่อ ละอองน้ำ น้ำกระเซ็นได้ ไม่เหมาะสำหรับการใส่ว่ายน้ำ ใส่ดำน้ำ
เสียงและระบบตัดเสียงรบกวนของ AirPods 4 ANC
แนวเสียงของ AirPods 4 ANC ก็ต้องบอกว่าก็ยังคงสไตล์ของ AirPods อยู่ครับ คือเป็นแบบกลาง ๆ ทั้งย่านต่ำ กลาง สูง เรียกว่าถ้าให้พล็อตกราฟความถี่เสียงที่ทำได้ เส้นกราฟที่ได้ก็น่าจะเป็นแบบเกาะเส้นกลาง 0 dB เป็นหลัก จากความรู้สึกผมคือจะมีบูสต์ในย่านต่ำขึ้นมาเล็กน้อย ทำให้พอมีเสียงเบสเดินอยู่ด้านหลังแบบนวล ๆ ไม่ถึงกับบูมหรือมีอิมแพคกระแทกหนักมากนัก แต่ก็ถือว่าทำได้ดีเมื่อมองว่าเป็นหูฟังแบบ earbuds รวมถึงมีการบูสต์ย่านสูงขึ้นนิดหน่อยแต่ไม่สูงจัดเกิน ทำให้เสียงโดยรวมออกมาค่อนข้างโปร่ง ฟังง่าย ฟังนาน ๆ ได้แบบไม่ล้าหู ทำให้สามารถใช้ฟังเพลงแบบคลอไปกับการทำกิจกรรมอื่นได้สบาย หรือจะใช้ฟัง podcast ฟังรายการแนวพูด แนวสัมภาษณ์ก็ทำได้ดีเลย เพราะจะได้ยินเสียงสนทนาชัดเจนมากจากย่านเสียงกลางที่ชัดเจนและการบูสต์ย่านสูงเล็กน้อย แต่ถ้าคุณเป็นสายฟังเพลงที่เน้นเบสหนัก มีอิมแพคแน่น ๆ ก็อาจจะไม่เหมาะกับหูฟังสาย AirPods อยู่แล้ว
ในการใช้ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ทำได้ค่อนข้างดี ไม่พบดีเลย์แบบที่เห็นได้ชัด เรียกว่าเป็นหูฟังที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ตามสไตล์ AirPods เช่นเคย ส่วนอีกจุดที่ถือว่าเป็นจุดบอดของหูฟังประเภท earbuds แปะช่องหูก็คือเรื่องของเสียงเพลงลอดออกมาภายนอกในขณะที่ใช้งาน เท่าที่ผมทดสอบดูกับระดับเสียงปกติสำหรับการรับฟัง พบว่าเสียงลอดออกมาน้อยมาก ต้องเข้าไปยืนใกล้นิดนึงถึงจะพอได้ยินเบา ๆ
ส่วนเรื่องการฟังเพลงที่ความละเอียดระดับ lossless ผ่าน iPhone iPad แมค อันนี้จะไม่สามารถทำได้นะครับ เสียงที่ออกมาจะเป็นแบบที่ได้รับการบีบอัดมาตามปกติ codec ที่รองรับจะยังคงมีเพียง AAC, AAC-ELD และ SBC เท่านั้น แต่ที่น่าสนใจคือหากเป็นการใช้งานร่วมกับแว่น Apple Vision Pro จะสามารถฟังเพลงแบบ lossless ผ่าน AirPods 4 ทั้งสองรุ่นย่อยและ AirPods Pro 2 ได้ผ่านโปรโตคอลพิเศษที่ Apple ระบุว่ารองรับเสียงระดับ lossless และมีความหน่วงต่ำ
ด้านของระบบตัดเสียงแบบแอคทีฟ (ANC) ที่ใส่มาก็จะเป็นการยกมาจากใน AirPods Pro ได้แบบเกือบครบถ้วน คือจะมีด้วยกัน 4 โหมด ได้แก่
- ปิดระบบตัดเสียง (Off)
- เปิดรับเสียงภายนอกเข้ามาเต็ม ๆ (Transparency)
- ปรับระดับความเข้มของการตัดเสียงแบบอัตโนมัติตามสภาพแวดล้อมภายนอก (Adaptive) – ใช้ได้เฉพาะตอนใส่หูฟังพร้อมกันทั้งสองข้างเท่านั้น
- เปิดโหมดตัดเสียงแบบเต็มที่ (Noise Cancellation)
ประสิทธิภาพในการตัดเสียงรบกวนของ AirPods 4 ANC นั้นจัดว่าทำได้เกินคาดมาก ๆ เพราะปกติแล้วหูฟังแบบ earbuds ที่ไม่มีการสอดท่อเสียงเข้าไปในช่องหูพร้อมกับมีจุกยางช่วยกั้นเสียง มักจะทำในจุดนี้ได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่ แต่สำหรับ AirPods 4 รุ่นที่มี ANC คือสามารถตัดเสียงภายนอกได้จริง แม้จะไม่ถึงขั้นเงียบเท่าหูฟังแบบ in-ear อย่าง AirPods Pro แต่ก็ช่วยทำให้ได้ยินเสียงเพลงได้ชัดเจนขึ้นจนแทบไม่ต้องเร่งเสียงเพลงเพื่อสู้เสียงภายนอกเหมือนแต่ก่อน ส่วนที่ผมลองใช้งานในฮอลล์จัดงานใหญ่ที่มีคนเยอะมากอย่างงานสัปดาห์หนังสือ ก็พบว่ายังพอมีเสียงบรรยากาศโดยรอบ เสียงคนพูดคุยใกล้ ๆ เข้ามาอยู่บ้าง ส่วนในระหว่างโดยสารรถไฟฟ้าก็จะคล้ายกันครับ คือสามารถกันเสียงรถ เสียงประกาศได้ดี แต่ถ้ามีคนพูดคุยกันใกล้ ๆ ก็จะมีเสียงคุยเข้ามาบ้างเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงกับเป็นระดับที่รบกวนการฟังเพลงมากนัก ส่วนถ้าเป็นเสียงฝนตกหนักมาก ๆ อันนี้ไม่รอดครับ เข้าเต็ม ๆ แต่ก็ลดความดังของเสียงฝนได้ระดับหนึ่ง
โหมดเสียงโอบล้อมรอบทิศทางแบบ Spatial audio ก็มีมาให้ใช้งานเช่นกัน ซึ่งก็สามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้แค่เสียงล้อมรอบเฉย ๆ หรือจะให้มีการปรับทิศทางเสียงตามการหันหน้าด้วย เช่นตอนหน้าตรง เราจะได้ยินเสียงเหมือนว่าอยู่ตรงกลาง แต่พอหันศีรษะไปทางซ้าย หูฟังก็จะจำลองให้ว่าทิศทางของจุดกำเนิดเสียงยังอยู่ด้านหน้าเหมือนเดิม ทำให้เสียงที่จะเข้าหูจริง ๆ นั้นจะเข้าเพียงแค่ข้างขวาอย่างเดียว เป็นต้น ช่วยเพิ่มมิติของการชมคอนเทนต์ขึ้นไปอีกนิด
อีกฟังก์ชันที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Conversation Awareness ซึ่งเป็นระบบที่หูฟังจะใช้ไมค์ในตัวรับฟังเสียงภายนอกอยู่ตลอดเวลา ที่จะมีประโยชน์มากในกรณีที่อาจต้องมีการพูดคุยกับบุคคลอื่นบ้างในเวลาที่ใส่หูฟังเพื่อฟังเพลง ฟังคอนเทนต์อยู่ เพราะถ้า AirPods 4 ANC รับเสียงแล้วจับได้ว่าผู้ใช้กำลังพูดอยู่ หูฟังก็จะเบาเสียงเพลงลง และเมื่อพูดจบก็จะเร่งระดับความดังของเสียงเพลงกลับมาอยู่ระดับเดิมอีกครั้ง โดยจากที่ทดสอบมา ส่วนตัวผมมองว่าระบบนี้จะเหมาะกับการใช้งานในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่าน ไม่มีเสียงรบกวนมากนัก เนื่องจากบางครั้งเวลาใช้งานกลางแจ้ง ในรถไฟฟ้า ในบริเวณที่มีผู้คนพูดคุยกันตลอดเวลา ระบบก็จะจับเสียงจากรอบตัวแล้วนึกว่าเป็นเสียงเราพูดเอง เลยเบาเสียงเพลงลงในช่วงที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้ระดับความดังของเสียงนั้นขึ้น ๆ ลง ๆ เลยมองว่าน่าจะเหมาะกับการใช้งานในที่เสียงคนไม่ดังมาก เช่น ใช้งานในที่ทำงาน ในที่ออกกำลังกาย เป็นต้น
แบตเตอรี่และระยะเวลาในการใช้งาน
ในหน้าสเปคของ AirPods 4 รุ่นมี ANC จะระบุระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ไว้ดังนี้
- ใช้ฟังแบบปกติ นานสุด 5 ชั่วโมง
- ใช้ฟังแบบปกติ + เปิด ANC นานสุด 4 ชั่วโมง
ส่วนถ้ารวมแบตจากในเคสชาร์จด้วย จะได้อยู่ที่ 30 และ 20 ชั่วโมงตามลำดับ ซึ่งจากในการรีวิวด้วยการใช้ฟังเพลงติดต่อกันจริง ๆ ที่ความดังเสียงระดับประมาณ 40-60% แล้วแต่สภาพแวดล้อมในลานจอดรถ ห้างสรรพสินค้า (เมกาบางนา) และร้านอาหาร ด้านระบบตัดเสียงก็ลองใช้แบบเปิด ANC โดยสลับไปมาระหว่างการตัดเสียงแบบเต็มสูบ การตัดเสียงแบบ adaptive ที่จะปรับระดับตามสภาพแวดล้อมภายนอก รวมถึงมีปรับไปโหมดรับฟังเสียงภายนอก (transparency) บ้างเป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างที่พูดคุยกับบุคคลอื่น พบว่าสามารถใช้ฟังเพลงได้ 4 ชั่วโมงตามสเปค ก็ถือว่าทำได้ตามที่เคลมจริง ๆ
การชาร์จก็อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าสามารถชาร์จได้ทั้งแบบผ่านสายและไร้สาย ซึ่งในแบบไร้สาย พอนำไปชาร์จกับแท่นชาร์จ Apple Watch แม่เหล็กในแท่นชาร์จก็จะดูดติดกับเคส AirPods 4 ANC แบบแน่นหนากำลังดี ใครที่หาซื้อหรือทำแท่นเอียงเพื่อชาร์จ Apple Watch อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องแก้ไขอะไรเลยครับ สามารถแปะเคสชาร์จ AirPods 4 ANC เข้าไปได้เลย แม่เหล็กจะช่วยให้ยึดเกาะไว้ได้สบาย ๆ ส่วนถ้าเป็นการชาร์จกับแท่น MagSafe ซึ่งผมมีเป็นแท่นรุ่นแรก ก็สามารถวางลงไปตรง ๆ ได้เท่านั้น เนื่องจากขนาดของเคสนั้นเล็กกว่าวง MagSafe อย่างที่เห็นในภาพด้านบน ทำให้ไม่มีแรงแม่เหล็กมาช่วยยึดเคสไว้กับแท่นชาร์จได้อย่างใด
ในการเชื่อมต่อ หากเป็นครั้งแรกหลังแกะกล่องหูฟังมา ไฟ LED ที่เคสจะแสดงเป็นสีขาวกระพริบ หากอยู่ในระยะใกล้ ๆ กับ iPhone ก็จะมีหน้าต่างปรากฏขึ้นมาด้านล่างเพื่อถามว่าจะเชื่อมต่อเข้าด้วยกันหรือไม่ ก็จัดการเชื่อมต่อให้เรียบร้อย แต่ในกรณีที่ต้องการนำไปใช้กับอุปกรณ์อื่น ก็ให้เปิดฝาเคสขึ้นมาแล้วแตะสองครั้งที่บริเวณด้านหน้าอย่างที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว เพื่อให้หูฟังเข้าสู่โหมดจับคู่นั่นเอง
สำหรับการตั้งค่าครั้งแรก จะมีข้อความขึ้นมาอธิบายถึงฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามา นั่นคือการพยักหน้าและส่ายหน้าเพื่อโต้ตอบกับ Siri ซึ่งตัวอย่างสถานการณ์ที่ใช้ได้ก็เช่นการพยักหน้าเพื่อรับสายและตอบกลับการแจ้งเตือน การส่ายหน้าเพื่อตัดสายโทรเข้าและลบการแจ้งเตือนไป หรือถ้าไม่ต้องการใช้ก็สามารถเข้าไปปิดได้
ส่วนเรื่องการปรับตั้งค่าการทำงานของหูฟัง แน่นอนว่าจะสามารถปรับได้แบบเต็มที่สุดก็เมื่อตอนที่ใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์จาก Apple เองได้แก่ iPhone iPad และเครื่องแมคผ่านการเชื่อมต่อ Bluetooth โดยเมื่อทำการเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องใดเครื่องหนึ่งแล้ว หากผู้ใช้มีเครื่องอื่นที่ใช้ Apple Account (หรือชื่อเดิมคือ Apple ID) อยู่ ก็จะสามารถใช้งาน AirPods ได้ทันที โดยตัวหูฟังจะสลับการเชื่อมต่อให้อัตโนมัติ ซึ่งชิป H2 ที่อยู่ภายในหูฟังก็ทำหน้าที่ในการประมวลผลต่าง ๆ ได้ดี สลับเครื่องได้เร็วและค่อนข้างฉลาด แต่ถ้าต้องการตั้งค่าให้หูฟังเชื่อมต่อเฉพาะกับเครื่องล่าสุดที่ใช้งานเท่านั้นก็สามารถทำได้เช่นกันครับ จากในหน้าเมนูการตั้งค่านี้เลย
อย่างในภาพด้านบนก็จะมีการแสดงปริมาณแบตเตอรี่ของหูฟังทั้งสองข้างกับเคสชาร์จ ถัดลงมาคือชื่อที่ตั้งให้กับหูฟัง ตามมาด้วยโหมดของระบบตัดเสียงรบกวนที่มีให้เลือก 4 แบบตามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วยังสามารถเลือกปรับจากที่อื่นก็ได้ เช่น ใช้การบีบก้านหูฟังค้างไว้เพื่อสลับโหมดไปมา หรือจะกดเปลี่ยนโหมดจากหน้า control center ก็ได้ โดยจะมีตัวเลือกเพิ่มเติมสำหรับโหมด Adaptive ด้วยว่าจะให้ปรับระดับการตัดเสียงเข้มข้นขนาดไหน จะให้มีเสียงเข้ามาเยอะหน่อย หรือให้เสียงเข้ามาน้อย หรือให้อยู่ระดับกลาง ๆ
หัวข้อต่อมาก็คือการตั้งค่าว่าจะให้การบีบก้านหูฟังค้างไว้จะเป็นการสั่งงานอะไร ระหว่างการสลับโหมดตัดเสียงที่จะเลือกได้ด้วยว่าจะให้มีตัวเลือกโหมดใดมาให้สลับบ้าง เช่นถ้าหากต้องการให้สลับแค่ 2 โหมดจากที่มีทั้งหมด 4 โหมดก็สามารถเข้ามาตั้งค่าตรงนี้ได้เลย รวมถึงยังสามารถตั้งค่าแยกกันระหว่างข้างซ้ายและขวาก็ได้ด้วย หรือถ้าไม่ต้องการปรับโหมดตัดเสียงก็จะสามารถตั้งค่าให้เป็นการบีบเพื่อเรียกใช้งาน Siri ก็ได้
ลงมาก็จะเป็นชุดตั้งค่าว่าถ้ามีสายโทรศัพท์ จะให้การบีบก้านหูฟังแต่ละแบบทำหน้าที่อะไรบ้าง ได้แก่การรับสาย การปิดเสียงและการตัดสาย ว่าจะให้เป็นการบีบครั้งเดียว หรือบีบสองครั้งติดกัน
เลื่อนลงมาก็จะเจอ Personalized Volume ที่จะช่วยปรับระดับความดังเสียงเพลงให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมภายนอก เช่นถ้าออกจากบ้านมาเดินริมถนน ระดับเสียงเพลงก็จะดังขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้ผู้ใช้ได้ยินเสียงชัดขึ้น ต่อมาคือ Conversation Awareness ก็จะตามด้านบนเลยคือจะเป็นระบบเบาเสียงเพลงให้อัตโนมัติเมื่อตรวจจับได้ว่ามีการสนทนาเกิดขึ้น ซึ่งฟังก์ชันนี้สามารถเปิดหรือปิดได้ตามต้องการ ส่วนที่เหลือก็จะคล้าย ๆ กับรุ่นก่อนหน้าครับ คือมีระบบเล่นเพลงต่ออัตโนมัติเมื่อเสียบหูฟัง หรือหยุดเพลงอัตโนมัติเมื่อถอดหูฟังออก เป็นต้น ส่วนที่เพิ่มเข้ามาก็คือตัวเลือกเปิด/ปิดว่าจะให้มีเสียงตอนชาร์จหรือไม่
ปิดท้ายรีวิว AirPods 4 รุ่น ANC
โดยรวมแล้ว AirPods 4 ANC จัดว่าเป็นหูฟังที่ใช้งานง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะผู้ใช้ iPhone iPad รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ของ Apple ทั้งในด้านการสวมใส่ด้วยการออกแบบรูปทรงที่ใส่ง่ายในแบบของ earbuds ที่เพียงแค่แปะเข้าไปในช่องหูเท่านั้น ความกะทัดรัดพกพาสะดวก แบตเตอรี่ที่เพียงพอสำหรับการใช้งานตลอดทั้งวันได้สบายเมื่อรวมกับแบตในเคสชาร์จ ความสะดวกในการใช้งานข้ามอุปกรณ์ที่ใช้บัญชีเดียวกัน รวมถึงฟังก์ชันต่าง ๆ ก็ให้มาในระดับพื้นฐานที่ตอบโจทย์การรับฟังคอนเทนต์ในปัจจุบันได้ดี
ส่วนระบบตัดเสียงรบกวนแบบ Active Noise Cancellation ที่ให้มาก็ต้องบอกว่าทำได้ดีเกินคาดมากเมื่อมองว่าเป็นหูฟังแบบ earbuds ซึ่งไม่มีท่อเสียงและจุกยางช่วยกั้นเสียงภายนอก เพราะทำให้ผู้ใช้สามารถฟังคอนเทนต์ได้อย่างชัดเจน แม้ภายนอกจะมีเสียงอยู่รายล้อมก็ตาม แต่ก็แน่นอนว่าจะยังไม่สามารถตัดได้เงียบสนิท 100% ซะทีเดียว น่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหูฟังตัดเสียง แต่ไม่อยากได้ทรงแบบ in-ear เพราะบางท่านอาจจะไม่ชอบรูปทรง หรืออาจจะมีข้อจำกัดด้านสุขภาพก็ตาม สามารถเลือกซื้อ AirPods รุ่นใหม่นี้ไปใช้ได้เลย แต่จะมีเรื่องระบบการรับรู้เสียงสนทนาที่ส่วนตัวมองว่าบางครั้งก็มาขัดอารมณ์การฟังเพลงอยู่บ้าง เนื่องจากการปรับระดับเสียงขึ้น ๆ ลง ๆ ดีที่สามารถเลือกเปิดหรือปิดได้ตามต้องการ
ส่วนถ้าใช้มือ Android หรือจะซื้อไปใช้กับโน้ตบุ๊ก Windows อันนี้ไม่แนะนำเท่าไหร่ครับ เพราะจะใช้ได้แค่ด้านการฟังเท่านั้น ไม่สามารถใช้ฟังก์ชันอื่น ๆ ได้เต็มที่เท่าใช้กับ iDevice
แต่หนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้ตัดสินใจยากนิดนึงก็คือเรื่องของราคาที่รุ่นปกติมีราคาศูนย์อยู่ที่ 4,990 บาทกับรุ่นมี ANC ที่ 6,490 บาท ซึ่งจัดว่าค่อนข้างสูงซักนิดนึงจนแทบจะไปชนกับ AirPods Pro แล้ว ตรงนี้ส่วนตัวมองว่าก็จริงอยู่ครับ ทำให้ถ้าเป็นราคาเต็มเลยอาจจะยอมเพิ่มเงินอีกหน่อยเพื่อไป AirPods Pro 2 เลยจบกว่า เพราะได้เสียงและระบบ ANC ที่ดีขึ้นแน่ ๆ จากการเป็นหูฟังทรง in-ear เว้นแต่ว่าถ้าคุณตั้งใจจะเลี่ยงหูฟังแบบ in-ear ก็คงต้องตัดรุ่นโปรออกไป
ทำให้ถ้าต้องการหาซื้อ AirPods 4 ANC ในราคาที่คุ้มค่าขึ้นมาอีกนิด แนะนำว่าลองดูช่วงแพลตฟอร์มออนไลน์จัดโปรโมชันพวกวันเลขเบิ้ล วันกลางเดือน วันเงินเดือนออก หรือช่วงที่มีโค้ดพิเศษก็ได้ครับ เพราะในนั้นก็มีร้านตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการอนุญาตจาก Apple ให้ได้เลือกซื้อและใช้โค้ดส่วนลดกัน ซึ่งจะช่วยลดราคาลงมาได้พอสมควรทีเดียว เช่นอย่างในรุ่น ANC อาจจะซื้อมือหนึ่งของแท้ได้ในราคาราวห้าพันกลาง ๆ เท่านั้น