[Review] รีวิวหูฟัง Apple AirPods 2 พร้อมเคสชาร์จแบบปกติ ที่จับมาใช้งานร่วมกับ iPad และมือถือ Android

ถ้าพูดถึงประเภทของหูฟังยอดนิยมในยุคนี้ หูฟังประเภท true wireless ที่เป็นหูฟังแบบไร้สายที่ไม่มีสายเชื่อมต่อเข้ากับแจ็ค 3.5 มม. รวมถึงยังไม่มีสายเชื่อมต่อระหว่างหูฟังข้างซ้างและข้างขวาอีกด้วย เนื่องมาจากความสะดวกในการใช้งาน ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ และคุณภาพเสียงที่ทำได้ดีขึ้นกว่าที่เคยมีมา แถมมือถือรุ่นใหม่ ๆ ก็เริ่มตัดช่อง 3.5 มม. ออกอีก จึงไม่แปลกใจที่เราเริ่มเห็นคนหันมาใช้หูฟังไร้สายประเภทนี้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในหูฟังที่ได้รับความนิยมก็คือ AirPods จาก Apple นั่นเอง ล่าสุด Apple ก็ได้เปิดตัวหูฟัง AirPods รุ่นใหม่ ที่ถึงแม้ในหน้าเว็บไซต์ Apple เองจะยังคงใช้ชื่อ AirPods อยู่ แต่เราขอเรียกว่าเป็น Apple AirPods 2 นะครับ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

apple AirPods 2

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ AirPods ได้รับความนิยม ที่หนีไม่พ้นเลยก็คือความเข้ากันได้ระหว่าง AirPods และผลิตภัณฑ์จาก Apple เองที่ทำมาได้สมกับการที่เป็นจุดแข็งของตนเองเสมอมา ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็คงจะเพราะว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์จาก Apple ที่ยังจัดว่ามีภาษีสังคมอยู่พอสมควร

โดยเจ้า Apple AirPods 2 นี้ หากดูจากภายนอกก็อาจจะแยกความแตกต่างจากรุ่นแรกได้ยากพอสมควร แต่สำหรับในด้านฮาร์ดแวร์ภายใน ต้องบอกเลยว่ามีการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน แถมเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานอีกด้วย

ข้อมูล สเปค Apple AirPods 2

  • การเชื่อมต่อแบบ Bluetooth 5.0
  • เปลี่ยนจากชิปประมวลผล W1 มาเป็นชิปประมวลผล H1 ที่มีความสามารถมากขึ้น
  • แบตเตอรี่ของหูฟังแต่ละข้างความจุ 93 mWhr
  • ตัวหูฟัง ใช้ฟังได้นาน 5 ชั่วโมง / สนทนาได้ 3 ชั่วโมง
  • สามารถใช้เคสชาร์จหูฟังได้ ทำให้สามารถใช้ฟังได้นานกว่า 24 ชั่วโมง
  • ชาร์จแบตเตอรี่ให้กับเคสผ่านพอร์ต Lightning และการชาร์จแบบไร้สาย (เฉพาะเคสชาร์จไร้สาย)
  • รองรับการสั่งงาน Siri ด้วยเสียง โดยพูดคำว่า “หวัดดี Siri” (“Hey Siri)
  • สามารถแตะที่หูฟังสองครั้ง เพื่อเปลี่ยนเพลง เรียก Siri หรือหยุด/เล่นเพลงได้
  • ไมโครโฟนแยกแต่ละข้าง
  • ใช้งานได้กับอุปกรณ์แทบทุกชนิดที่สามารถส่งสัญญาณเสียงผ่าน Bluetooth ได้

โดยในหน้าเว็บไซต์ Apple ประเทศไทย จะมี Apple AirPods 2 วางจำหน่ายด้วยกันสองแบบ นั่นคือแบบเคสชาร์จธรรมดา กับแบบเคสชาร์จไร้สาย โดยที่ตัวของหูฟังเองจะไม่มีความแตกต่างกันครับ สำหรับราคา Apple AirPods 2 ก็มีดังนี้

  • หูฟัง Apple AirPods 2 พร้อมเคสชาร์จธรรมดาราคา 6,500 บาท
  • หูฟัง Apple AirPods 2 พร้อมเคสชาร์จไร้สายราคา 7,790 บาท

ซึ่งในบทความนี้จะเป็นการรีวิว Apple AirPods 2 พร้อมเคสชาร์จแบบธรรมดานะครับ เพราะตัวผมเองไม่ได้ใช้เครื่องที่มีชาร์จไร้สาย ทำให้ไม่มีแท่นชาร์จประจำบ้าน ก็เลยสั่งรุ่นที่เป็นเคสปกติมาแทน ส่วนใครที่ใช้ iPhone หรือมือถืออื่น ๆ ที่รองรับการชาร์จไร้สายและมีแท่นชาร์จอยู่แล้ว ก็สามารถสั่งซื้อรุ่นที่มาพร้อมเคสชาร์จไร้สายได้เลย เพราะมันใช้การชาร์จตามมาตรฐานยอดนิยมอย่าง Qi นั่นเอง

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 6

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 7

เมื่อแกะกล่องออกมาก็จะพบกับเอกสารคู่มือ การรับประกันทั้งหลายอยู่ด้านบนสุด หยิบออกมาก็จะพบกับเคสที่มี AirPods 2 อยู่ด้านในทันที ส่วนสาย Lightning สำหรับชาร์จจะม้วนซ่อนอยู่ด้านในอีกทีนะครับ ต้องพลิกฐานรองเคส AirPods 2 ขึ้นมาก่อนถึงจะเจอ

ตรงฉลากด้านข้างกล่อง จะมีข้อมูลของตัว AirPods 2 อยู่ เช่น เลขซีเรียลนัมเบอร์ รวมถึงเลขโมเดลด้วย โดยเลขโมเดลจะมีด้วยกัน 3 ตัวครับ แบ่งเป็นของหูฟังข้างซ้าย ข้างขวา แล้วก็ของเคสชาร์จ ซึ่งนับเป็นหนึ่งจุดสังเกตที่ช่วยให้สามารถแยกได้เลยว่าหูฟังในกล่องนี้เป็น AirPods 1 หรือ 2 เนื่องจากเลขโมเดลของหูฟัง AirPods 2 จะขึ้นต้นด้วย A2 ได้แก่ A2032 และ A2031 ส่วนของตัวเคสชาร์จแบบธรรมดาที่ได้มาจะใช้เลขโมเดลเป็น A1602 ครับ เท่ากับว่ามันก็คือเคสชาร์จรุ่นเดียวกับ AirPods 1 เลย

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 30

เริ่มจากเคสชาร์จกันก่อน สำหรับเคสแบบธรรมดานั้น ด้านหน้าจะเรียบ ๆ โล่ง ๆ ไม่มีไฟ LED นะครับ จะมีเฉพาะเคสชาร์จไร้สายเท่านั้นที่มีไฟ LED แสดงสถานะแบตอยู่ที่ด้านหน้าเคส

ส่วนผิวสัมผัสก็เป็นพลาสติกเนื้อมีความมันวาว ดูลักษณะแล้วคงเกิดรอยขนแมวได้ง่ายพอสมควร

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 25

บานพับด้านหลังของเคสชาร์จธรรมดาก็ยังคงเป็นแบบมันวาวอยู่ แต่ของเคสชาร์จไร้สายจะเป็นเนื้อ matte ส่วนวงกลมด้านล่างนั้นคือปุ่มที่ใช้สำหรับจับคู่ AirPods เข้ากับอุปกรณ์อื่น ๆ ครับ ซึ่งจะใช้ก็ตอนที่เอาไปต่อกับเครื่องอื่นที่ไม่ใช่ iOS เช่น มือถือ Android เป็นต้น

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 11

เปิดฝาขึ้นมาก็จะพบกับหูฟัง AirPods 2 เสียบอยู่ในช่อง และมีไฟ LED แสดงสถานะแบตเตอรี่อยู่ตรงกลาง ซึ่งไฟแต่ละสีหมายถึง:

  • สีเขียว (หูฟังอยู่ในเคส): แบตเตอรี่หูฟังเต็ม
  • สีเขียว (หูฟังอยู่ข้างนอก): แบตเตอรี่เคสเต็ม
  • สีส้ม (หูฟังอยู่ในเคส): แบตเตอรี่หูฟังเหลือให้ใช้ได้ไม่ถึง 1 รอบการชาร์จเต็ม
  • สีส้ม (หูฟังอยู่นอกเคส): แบตเตอรี่เคสเหลือให้ใช้ได้ไม่ถึง 1 รอบการชาร์จเต็ม
  • สีส้มกระพริบ: เกิดความผิดปกติกับการทำงานหรือการเชื่อมต่อ
  • สีขาวกระพริบ: พร้อมทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 29

ด้านล่างของเคสก็เป็นช่อง Lightning สำหรับชาร์จไฟเข้าเคส

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 17

หากเทียบขนาดของหูฟัง AirPods 2 กับหูฟัง EarPods แบบมีสายนั้น จะเห็นว่า AirPods 2 มีขนาดใหญ่กว่ากันเล็กน้อยครับ แต่พวกรูปทรง ช่องตะแกรงนั้น เรียกว่าถอดแบบกันมาเลย

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 19

เมื่อเสียบกับช่องหู สิ่งที่สัมผัสได้เลยก็คือตัวหูฟังมันเบามาก ๆ สามารถใส่ได้นานแบบไม่เมื่อยหูเท่าไหร่ ส่วนถ้าเป็นการใส่เพื่อออกกำลังกาย หากเป็นการเดิน การออกกำลังที่ไม่ได้มีการ movement ของศีรษะแรง ๆ มากนัก ก็สามารถใช้งานได้แบบไม่ต้องกังวลเลย แต่สำหรับผู้ที่เหงื่อออกเยอะ ผมแนะนำว่าอาจจะต้องหมั่นขยับ AirPods 2 ให้กระชับกับช่องหูหน่อยนะครับ เพราะตัวหูฟังมันจะค่อย ๆ ขยับลงมาเรื่อย ๆ เพราะอันนี้ผมเจอเองกับตัวเลย

ส่วนถ้าคุณเป็นคนชอบการออกกำลังกายที่มี movement หนัก ๆ เร็ว ๆ AirPods อาจจะไม่เหมาะกับคุณเท่าไหร่ หรืออาจจะต้องหาอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ตัวหูฟังเกาะติดกับช่องหู/ใบหูมากขึ้น เพราะจากที่ผมลองใส่ระหว่างซิทอัพอยู่ พบว่าหูฟังหลุดทุกรอบเลย ซึ่งส่วนตัวผมก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ครับ เพราะนอกจาก movement ที่มันเป็นการกระชากเร็ว ๆ แล้ว เหงื่อก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวหูฟังลื่นหลุดได้ง่ายขึ้นไปอีก

แต่ถ้าคุณต้องการหูฟังไร้สายมาใช้ระหว่างนั่งทำงาน ระหว่างเดินทาง หรือใส่ระหว่างทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ AirPods 2 มันทำหน้าที่ได้ดีเลยทีเดียว ด้วยความเบาและความสะดวกในการใช้งานที่นับเป็นจุดแข็งของผลิตภัณฑ์

การใช้งาน AirPods 2 ร่วมกับอุปกรณ์ iOS

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 18

การเชื่อมต่อ AirPods 2 กับอุปกรณ์ iOS นั้นง่ายมาก ๆ เมื่อเปิดกล่อง AirPods ขึ้นมาครั้งแรก ก็จะมีป๊อปอัพขึ้นมาบนหน้าจออุปกรณ์ iOS ให้สามารถกดทำการเชื่อมต่อได้ทันที ไม่ต้องไปเข้าเมนูการตั้งค่าใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนในการใช้งานครั้งต่อไป เมื่อเปิดฝากล่อง AirPods ก็จะมีป๊อปอัพแสดงสถานะแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ขึ้นมาให้ดู ซึ่งสามารถดูปริมาณแบตเตอรี่แบบแยกข้างได้ด้วย

และถ้าหากคุณได้เชื่อมต่อ AirPods กับผลิตภัณฑ์ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น iPhone / iPad / Apple Watch รวมถึงเครื่อง Mac เอาไว้แล้ว ระบบจะเก็บข้อมูลการตั้งค่าการเชื่อมต่อแล้วซิงค์เข้ากับ Apple ID ทันที ทำให้เมื่อไปใช้งานอุปกรณ์อื่นที่ล็อกอิน Apple ID เดียวกันไว้ ก็จะสามารถใช้งาน AirPods ต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องมาจับคู่ใหม่

อย่างตอนนี้ผมจับคู่ AirPods 2 ไว้กับ iPad mini 5 แล้ว เมื่อผมเปิด MacBook Pro ขึ้นมาใช้งาน ผมก็สามารถเลือกใช้งาน AirPods 2 ได้ทันที แถมการสลับอุปกรณ์ไปมายังทำได้เร็วอีกต่างหาก ด้วยประสิทธิภาพของชิป H1 ที่อยู่ภายใน

2

หากเป็นการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ iOS ผู้ใช้จะสามารถเข้ามาตั้งค่าการทำงานของ AirPods 2 เพิ่มเติมได้ โดยเข้าไปที่ Settings > Bluetooth แล้วจิ้มไปที่ตัว i สีฟ้าตรงท้ายชื่อของ AirPods ก็จะพบกับเมนูย่อยสำหรับการตั้งค่าฟังก์ชันต่าง ๆ อยู่ แบ่งเป็นหัวข้อก็ตามนี้ครับ

DOUBLE TAP ON AIRPOD

ใช้ตั้งค่าว่า เมื่อผู้ใช้แตะสองครั้งบนตัวหูฟังแต่ละข้าง จะให้เป็นการสั่งงานอย่างไร ซึ่งสามารถเลือกได้จาก 5 คำสั่งได้แก่

  • เรียก Siri ขึ้นมาทำงาน
  • เล่นหรือหยุดเพลงชั่วคราว
  • เปลี่ยนไปเพลงถัดไป
  • ย้อนกลับไปเพลงก่อนหน้านี้
  • ไม่มีการทำงานใด ๆ

ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งค่าของหูฟังทั้งสองข้างให้ต่างกัน หรือจะเหมือนกันก็ได้ครับ อย่างในภาพด้านบนผมเลือกให้แตะข้างซ้ายสองครั้งเพื่อย้อนไปเพลงก่อนหน้า ส่วนข้างขวาก็คือเลื่อนไปเพลงถัดไป

Automatic Ear Detection

ใช้สำหรับเปิด/ปิดฟังก์ชันตรวจจับว่าหูฟังถูกเสียบอยู่ที่ช่องหูหรือไม่ หากเปิดไว้ แล้วผู้ใช้ถอดหูฟังออก ระบบก็จะหยุดเล่นเพลงให้อัตโนมัติ และเมื่อผู้ใช้เสียบหูฟังเข้าไปที่ช่องหูอีกครั้ง เพลงก็จะเล่นต่อให้ทันที โดยมันจะมีเงื่อนไขนิดหน่อยครับ คือถ้าถอดออกแค่ข้างเดียว > เพลงหยุด > ใส่หูฟัง > เพลงเล่นต่อให้อัตโนมัติ แต่ถ้าเป็นการถอดออกทั้งสองข้าง เพลงจะหยุดเล่นไปเลย ถ้าใส่หูฟังแล้วอยากให้เพลงเล่น ผู้ใช้จะต้องสั่งเล่นเพลงด้วยตนเองก่อนทุกครั้ง

ฟังก์ชันนี้ นับเป็นหนึ่งในฟังก์ชันที่มีประโยชน์เลยทีเดียวครับ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ใช้ต้องการถอดหูฟังออกข้างหนึ่งเพื่อฟังเสียงภายนอก หรือโต้ตอบกับผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตาม มันก็จะแอบมีความน่ารำคาญอยู่บ้างก็ตรงที่บางครั้ง ผมอยากถอดหูฟังออกหนึ่งข้าง โดยที่ก็ยังต้องการฟังเพลงอยู่ แต่ฟังก์ชันนี้ก็จะหยุดเพลงให้อัตโนมัติ ทำให้ผมต้องสั่งเล่นเพลงใหม่ทุกครั้ง เลยทำให้ผมรู้สึกกลาง ๆ กับฟังก์ชันนี้ไปแทน

Microphone

ใช้สำหรับตั้งค่าว่าจะใช้ไมค์จากหูฟังข้างใดเป็นหลัก โดยค่าเริ่มต้นนั้นจะเป็นแบบอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้เสียบหูฟังข้างใดอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดได้เลยว่าจะให้ใช้ไมค์จากหูฟังข้างใดเป็นหลัก

การใช้งาน AirPods 2 ร่วมกับอุปกรณ์ Android

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 20

แม้ว่า AirPods 2 จะเป็นผลิตภัณฑ์ของ Apple ก็ตาม แต่ถ้ามองในความเป็นจริงแล้ว มันก็คือหูฟัง Bluetooth ทั่วไปนี่แหละครับ ทำให้มันสามารถใช้งานร่วมกับมือถือ Android หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเพลง หรืออะไรก็ตามที่ส่งสัญญาณเสียงมายังหูฟัง Bluetooth ได้

สำหรับการจับคู่ AirPods 2 เข้ากับมือถือ Android ก็ทำได้ง่ายมาก ๆ โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. เปิดฝาเคส AirPods 2 ที่มีตัวหูฟังอยู่ภายใน (ยังไม่ต้องหยิบหูฟังออกมา)
  2. กดปุ่มวงกลมด้านหลังเคส AirPods 2 ค้างไว้ซัก 2-3 วินาที
  3. เมื่อไฟ LED ของตัวเคสเปลี่ยนเป็นสีขาวกระพริบ ก็สามารถเปิดเมนู Bluetooth ในมือถือ เพื่อทำการจับคู่ AirPods กับมือถือ Android (หรืออุปกรณ์อื่น) ได้ทันที

เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานหูฟัง AirPods 2 กับมือถือ Android ได้แล้วครับ

ส่วนถ้าต้องการนำ AirPods 2 กลับไปใช้กับอุปกรณ์ iOS ที่เชื่อมต่อไว้ก่อนหน้านี้ ก่อนใช้งานจะต้องเข้าไปที่หน้า Bluetooth ของ iOS แล้วจิ้มที่ชื่อ AirPods 2 เพื่อทำการเชื่อมต่อก่อนนะครับ และทำอย่างเดียวกันเมื่อจะนำกลับมาใช้กับมือถือ Android (หรืออุปกรณ์อื่น) นับว่าเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของการใช้งาน AirPods ข้ามระบบปฏิบัติการกันก็ว่าได้

Screenshot 20190503 125418

อีกสิ่งที่เป็นข้อจำกัดเมื่อนำ AirPods มาใช้กับมือถือ Android ก็คือความยืดหยุ่นในการตั้งค่า เพราะมันไม่มีเมนูให้ตั้งค่าเหมือนกับใน iOS ครับ จะมีก็แค่ตัวเลือกเปิด/ปิดว่าจะใช้ AirPods 2 สำหรับการคุยโทรศัพท์ การฟังเพลง เป็นต้น จะมีจุดที่น่าสนใจหน่อยก็คือมันรองรับระบบเสียงระดับ HD ด้วย โดยเป็นการใช้การเข้ารหัสแบบ AAC ที่นิยมใช้กันในอุปกรณ์จาก Apple ซึ่งมือถือ Android รุ่นใหม่ ๆ มักจะรองรับกันอยู่แล้วครับ

ทั้งนี้ หน้าจอการตั้งค่า การแสดงข้อมูล AirPods 2 ของมือถือแต่ละเครื่องอาจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอินเตอร์เฟสของระบบปฏิบัติการ แต่โครงสร้างหลัก ๆ น่าจะเป็นตามภาพด้านบน ซึ่งเป็นภาพที่มาจากหน้าจอของ Google Pixel 2 XL ที่ใช้ Android 9.0 ครับ

ถ้าให้สรุปว่าการใช้งาน AirPods 2 กับมือถือ Android สามารถทำอะไรได้ และมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ก็ตามนี้เลย

  • ใช้ฟังเพลง คุยโทรศัพท์ได้
  • สามารถแตะ 2 ครั้งเพื่อสั่งงาน เช่น เปลี่ยนเพลง หยุดเพลง เล่นเพลงต่อได้
  • เมื่อถอดหูฟังออก เพลงจะไม่หยุดให้อัตโนมัติ
  • ไม่สามารถเปลี่ยนฟังก์ชันการทำงานของการแตะ 2 ครั้งได้ หากต้องการเปลี่ยน จะต้องทำบนอุปกรณ์ iOS เท่านั้น
  • หากตั้งค่าใน iOS ไว้ว่าให้การแตะหูฟัง 2 ครั้งเป็นการเรียก Siri เมื่อมาใช้กับมือถือ Android จะกลายเป็นการหยุดเพลงชั่วคราว/เล่นเพลงแทน

เสียงที่ได้จาก AirPods 2 เมื่อทดสอบกับ iPad mini 5

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 15

AirPods 2 ให้เสียงที่ออกมาในโทนที่ฟังง่ายครับ ทั้งต่ำ กลาง สูงออกมาแบบไม่แข่งกันเด่นมากนัก เบสออกมาเป็นลูกไม่หนักมาก อิมแพคไม่ค่อยแรง โทนเสียงสูง-แหลมก็ไม่ได้สูงจัดจนเสียดหู ทำให้เสียงที่ออกมามันกลมกลืนกันไป ไม่ได้มีโทนใดโดดมาเป็นพิเศษ คุณภาพเสียงโดยรวมจัดว่าดีกว่า EarPods เล็กน้อย ซึ่งในความเห็นของผมมองว่า AirPods 2 เป็นหูฟังที่ทำออกมาให้ผู้ใช้ทั่วไปใช้งานได้ดี ไม่ได้เจาะจงแนวเสียงไปทางใดทางหนึ่ง สามารถฟังได้นานโดยไม่รู้สึกล้าหู แต่ถ้าเอาประเด็นเรื่องราคามาพิจารณาด้วย ก็ต้องบอกตามตรงว่าคุณภาพเสียงของ AirPods 2 อาจจะยังไม่สมราคาเท่าไหร่ แม้ว่าจะพอปรับ equalizer เพื่อชดเชยในบางจุดได้บ้าง แต่ก็นั่นแหละครับ AirPods 2 มันก็มีจุดเด่นบางอย่างที่หูฟังรุ่นอื่นทำไม่ได้อยู่เหมือนกัน

เรื่องความหน่วงหรือการดีเลย์ของเสียงนั้น เท่าที่ผมลองกับ 2 เกมยอดฮิตอย่าง PUBG Mobile กับ ROV บน iPad mini 5 ก็ให้ผลที่ต่างกันเล็กน้อยครับ อย่างในเกม ROV อันนี้ให้ความรู้สึกแทบไม่แตกต่างกับการฟังเสียงจากลำโพงเครื่องหรือผ่านหูฟังเลย แต่กับเกม PUBG Mobile ผมแอบรู้สึกว่าเสียงปืนมันดีเลย์กว่าตัวเกมนิดนึง ส่วนในการรับชมภาพยนตร์ ผมลองเปิดหนังใน Netflix ดู ก็พบว่าปากตัวละครขยับตรงกับเสียงนะครับ ไม่พบอาการดีเลย์แต่อย่างใด

สำหรับการคุยโทรศัพท์ด้วย AirPods 2 ผมทดลองใช้งานกับมือถือ Android ก็สามารถใช้งานได้ปกติเหมือนใช้หูฟังมีสายเลย ปลายสายก็ได้ยินเสียงของผมได้ชัดเจนโดยที่ผมไม่ต้องขยับหูฟังแต่อย่างใด

สรุปรีวิว AirPods 2 และควรซื้อหรือไม่?

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 22

หากคุณกำลังมองหาหูฟัง Bluetooth แบบ true wireless ที่ใช้งานง่าย ๆ ไม่ซีเรียสเรื่องเสียงมากนัก AirPods 2 นับเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจครับ ด้วยฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ไล่มาตั้งแต่การจับคู่กับอุปกรณ์ ไปจนถึงการหยิบขึ้นมาฟังเพลง และยิ่งหากใช้คู่กับ iPhone iPad ก็ยิ่งสะดวกเข้าไปใหญ่ ด้วยความสามารถในการปรับแต่งการทำงานที่อยู่ใน iOS เอง การเรียกผู้ช่วยอย่าง Siri ขึ้นมาใช้งาน รวมถึงการซิงค์ข้อมูลการเชื่อมต่อผ่าน Apple ID ที่ทำให้สามารถสลับกันใช้งาน AirPods 2 ร่วมกับผลิตภัณฑ์ของ Apple เองได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ถ้าคุณต้องการหูฟัง true wireless ที่ใช้ง่าย ขี้เกียจมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อ AirPods 2 คือหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ

และที่สำคัญคือ AirPods สามารถใช้งานร่วมกับมือถือ Android และอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องใช้งานกับสินค้าของ Apple เท่านั้น แต่ก็แน่นอนว่าการสลับระหว่างอุปกรณ์ข้าม OS อาจจะไม่สามารถทำได้อย่างไร้รอยต่อเหมือนกับการสลับในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Apple เอง รวมถึงยังไม่สามารถปรับแต่งฟังก์ชันการทำงานย่อย ๆ ของ AirPods 2 ได้อีกด้วย

ดังนั้น แนะนำว่าคุณควรจะมีอุปกรณ์ iOS อย่างน้อยซักชิ้น เพื่อให้สามารถใช้งาน AirPods 2 ได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นเครื่องหลักหรือเครื่องรองก็ได้ทั้งนั้น ตามความถนัดของแต่ละท่านเลย

Review Apple AirPods 2 SpecPhone 12

ส่วนใครที่ต้องการหูฟังแบบเน้นคุณภาพเสียง AirPods 2 อาจยังไม่ใช่หูฟังที่ถูกใจคุณซักเท่าไหร่ครับ ด้วยความที่มันถูกออกแบบมาให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ มันเลยให้เสียงที่ไม่สุดไปซักทาง ซึ่งในปัจจุบัน หูฟังแบบ true wireless ก็มีออกมาเยอะพอสมควรแล้ว ที่สำคัญคือหลาย ๆ รุ่นให้เสียงที่ดีกว่า ถูกใจผู้ใช้มากกว่า แถมยังราคาย่อมเยากว่า AirPods 2 ซะด้วยซ้ำ บางรุ่นราคาถูกกว่ากันเป็นเท่าตัวเลย

แต่ทั้งนี้ หูฟัง true wireless บางรุ่นก็อาจมีจุดที่เสียเปรียบ AirPods 2 อยู่บ้างเหมือนกันครับ เช่น ความรวดเร็ว ความเสถียรในการเชื่อมต่อ ความสะดวกในการใช้งาน ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่รวมที่สั้นกว่า เป็นต้น เรียกว่าหูฟังแต่ละรุ่นก็ล้วนมีข้อดีข้อด้อยกันทั้งนั้นครับ ถ้าเป็นไปได้อาจจะลองศึกษาฟังก์ชันของแต่ละรุ่น แล้วไปลองหาฟังแนวเสียงดูก่อนว่าถูกใจหรือเปล่า

ข้อดี

  • ใช้งานง่าย เชื่อมต่อได้รวดเร็ว
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน เมื่อใช้ร่วมกับเคส สามารถใช้งานได้เป็นวัน
  • สามารถเรียกใช้งาน Siri ได้
  • สามารถปรับแต่งการทำงานของฟังก์ชันหลักได้เล็กน้อย
  • เสียงในเกม ภาพยนตร์ แทบไม่มีดีเลย์แบบที่สามารถสังเกตได้ง่าย

ข้อสังเกต

  • ราคาค่อนข้างสูงไปนิด
  • คุณภาพเสียงไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก