สำหรับหูฟังไร้สายแบบ True Wireless (TWS) ที่เหมาะในการใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ Apple เช่น iPhone iPad ไปจนถึงเครื่อง Mac มากที่สุด ก็ต้องเป็นกลุ่มของ AirPods ซึ่งรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงมากในขณะนี้ก็จะเป็นตัวของ AirPods Pro และ AirPods 2 ที่ตอนนี้สามารถทำงานได้เสถียร รวมถึงยังมีราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมจากโปรโมชันที่ตัวแทนจำหน่ายแต่ละรายมีออกมา แต่ก็จะมีคำถามว่า ตอนนี้ปี 2021 แล้ว ประกอบกับมีข่าวลือว่าอาจจะมีการเปิดตัวหูฟัง AirPods รุ่นใหม่ในช่วงต้นปีด้วย ดังนั้น เราจึงขอรีวิว AirPods Pro กันซักหน่อย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าในปี 2021 นี้จะยังน่าซื้ออยู่หรือเปล่า รวมถึงถ้าเทียบกับ AirPods 2 ที่ราคาย่อมเยากว่าด้วย
แกะกล่องรีวิว AirPods Pro
หูฟัง AirPods Pro ก็จะมาในกล่องสีขาวขนาดใกล้เคียงกับ AirPods 2 เลย แต่ด้านหน้ากล่องจะมีรูปหูฟังอยู่ชัดเจน สำหรับสเปคและฟีเจอร์ของ AirPods Pro ที่น่าสนใจก็มีดังนี้
- ใช้ชิปประมวลผล H1 ที่เป็นแบบ SiP (รวมทั้งระบบไว้ในชิปเดียว)
- เชื่อมต่อผ่าน Bluetooth 5.0
- ไมโครโฟนคู่แบบ beamforming
- มีก้านสำหรับสั่งงานแบบบีบ
- กันน้ำกันเหงื่อที่ระดับ IPX4
- มีระบบตัดเสียงรบกวนภายนอกแบบ ANC และระบบรับฟังเสียงภายนอก (Transparency)
- มีระบบปรับ EQ อัตโนมัติให้เหมาะกับการรับฟังของแต่ละคน
- มีระบบ Spatial Audio ที่ช่วยจำลองทิศทางเสียงจริงตามในภาพยนตร์ และทิศทางของการหันศีรษะของผู้ใช้
- มีเซ็นเซอร์ตรวจจับการใช้งาน เพื่อหยุด/เริ่มการเล่นเสียงอัตโนมัติ
- แบตเตอรี่ตัวหูฟังใช้ฟังเพลงได้ประมาณ 4.5 – 5 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (คุยโทรศัพท์ได้นานสุด 3.5 ชั่วโมง)
- ตัวเคส ใช้ชาร์จเพื่อฟังต่อเนื่องได้นานสุด 24 ชั่วโมง
- รองรับการชาร์จทั้งแบบมีสายทางพอร์ต Lightning และแบบไร้สายตามมาตรฐาน Qi
- ราคากลางจากเว็บไซต์ Apple อยู่ที่ 8,992 บาท
ซึ่งฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ AirPods Pro นั้นก็ถือว่าให้มาในระดับที่เหมาะกับการเป็นหูฟังสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการตัดเสียงรบกวน และก็ระบบรับฟังเสียงรอบตัว ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ก็ยังมีระบบที่ช่วยเสริมประสบการณ์ด้านความบันเทิงอย่าง Spatial Audio ที่ไม่ได้เป็นเพียงระบบเสียงรอบทิศทางทั่วไป
ส่วนถ้ามองในแง่ของราคากลางตั้งต้น ก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างสูงซักนิดนึงเมื่อเทียบกับหูฟัง TWS รุ่นระดับไฮเอนด์ในตลาด แต่ถ้าลองส่องโปรกันดี ๆ คุณอาจจะได้เป็นเจ้าของ AirPods Pro ประกัน Apple ไทยในราคาหลัก 5,000 – 7,000 บาทเท่านั้น
เมื่อแกะกล่องออกมา แน่นอนว่าชั้นบนก็จะพบกับตัวเคสชาร์จ AirPods Pro ส่วนด้านล่างจะมีสายชาร์จที่เป็นแบบ Lightning to USB-C มาให้ และจะมีกล่องเล็ก ๆ ตรงกลางที่ภายในมีจุกซิลิโคนหูฟังมาให้อีก 2 คู่ ขนาดเล็ก (S) และใหญ่ (L) ส่วนจุกที่ติดมากับหูฟังจะเป็นขนาดกลาง (M)
ในการรีวิว AirPods Pro ครั้งนี้ ผมได้ใช้งานเองมาร่วม 4 เดือนแล้ว ดังนั้นเคสอาจจะไม่ได้ขาวใสเหมือนกับของใหม่ซะทีเดียวนะครับ ผิวพลาสติกเป็นแบบ glossy ดูแวววาว แต่ก็ไม่ลื่นซะทีเดียว
โดยตัวเคสเองจะมีร่องสำหรับใช้ปลายนิ้วสะกิดเพื่อเปิดฝาขึ้นมา ใกล้ ๆ กันนั้นก็จะมีไฟ LED สำหรับบอกสถานะการชาร์จมาให้ ถ้าเป็นสีเขียวคือแบตของเคสเต็มแล้ว ส่วนถ้ากำลังชาร์จอยู่ก็จะเปลี่ยนเป็นสีส้มแทน
ด้านหลังจะมีบานพับที่เป็นโลหะ พร้อมทั้งปุ่มสำหรับการเชื่อมต่อ ซึ่งถ้าหากต้องการนำ AirPods Pro ไปต่อ Bluetooth กับมือถือเครื่องอื่น รวมถึงมือถือ Android ก็ให้กดปุ่มนี้ค้างไว้จนไฟ LED ด้านหน้าเปลี่ยนเป็นไฟสีขาวกระพริบ จากนั้นก็ไปกดเชื่อมต่อจากเมนูบนมือถือ หรืออุปกรณ์ที่ต้องการใช้งานได้ทันที
พอร์ตชาร์จด้านล่างเป็นแบบ Lightning รองรับการชาร์จเร็ว
ในขณะเดียวกัน ก็สามารถชาร์จกับแท่นชาร์จไร้สายที่ผ่านตามมาตรฐาน Qi ได้ด้วย ต่อให้ใส่เคส ถ้าแท่นมีคุณภาพหน่อยก็สามารถชาร์จได้สบาย (อาจจะยกเว้นพวกเคสโลหะ)
เปิดฝาขึ้นมาก็จะพบกับตัว AirPods Pro ทั้งสองข้างวางอยู่ในกล่อง สามารถใช้ปลายนิ้วคีบขึ้นมาได้ง่ายมาก ในขณะเดียวกันแรงแม่เหล็กที่ใช้ดูดก้านหูฟังนั้นก็แรงเพียงพอ จนสามารถจับคว่ำ เปิดฝาแล้วเขย่าได้โดยหูฟังไม่หลุดออกจากเคสเลย
ภายในจะมีขั้วทองเหลืองไว้สำหรับซิงค์ข้อมูลการเชื่อมต่อ และใช้ถ่ายโอนไฟจากแบตเตอรี่เคสเข้าไปยังตัวหูฟังแต่ละข้าง
หน้าตาของหูฟัง AirPods Pro ทั้งสองข้าง ก็ต้องบอกว่ามันค่อนข้างคล้ายกับตัวละครในเกม Plants VS Zombies อยู่พอสมควร ซึ่งช่วงแรก ๆ ก็โดนรุมล้ออยู่ไม่น้อย (แต่ช่วงหลังเราก็ได้เห็นหูฟัง TWS รูปทรงนี้ตามกันออกมาเพียบ)
จุดวงรีสีดำสั้น ๆ จะเป็นตำแหน่งของ Optical sensor เพื่อใช้ประกอบกับ accelerometer ในการตรวจจับว่าผู้ใช้กำลังใส่หูฟังอยู่หรือไม่ ส่วนที่เป็นวงรีสีดำยาว ๆ ซึ่งมีตะแกรงอยู่ด้วย จะมีอยู่ข้างละ 2 ตำแหน่ง แบ่งเป็นฝั่งในและนอก โดยภายในจะมีไมโครโฟนสำหรับรับเสียงไว้ ไมค์ตัวนอกใช้สำหรับรับเสียงภายนอก เพื่อนำมาคำนวณแล้วสร้างเสียงมาหักล้างเสียงภายนอกในขณะนั้น ประกอบกับไมค์ฝั่งด้านในที่ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นการฟังระดับเสียงภายในช่องหู ซึ่งก็คือระบบตัดเสียงรบกวนแบบ ANC นั่นเอง
จุกหูฟังของ AirPods Pro สามารถแกะออกได้ โดยภายในจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นพลาสติกสีขาว และก็ตัวจุกยางซิลิโคนสีขาว ซึ่งเนื้อซิลิโคนนั้นค่อนข้างหนากว่าพวกจุกยางที่แถมมากับหูฟังประเภท in-ear ทั่วไปในตลาดอยู่พอสมควรเลย
ถ้าพลิกจุกยางขึ้น จะเห็นสัญลักษณ์บ่งบอกขนาดของจุกมาให้ อย่างในภาพนี้ก็เป็นขนาดกลาง (M) ที่เป็นขนาดมาตรฐาน แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้จากจุกที่มีแถมเพิ่มมาให้ในกล่อง
ส่วนถ้าต้องการซื้อเพิ่มในภายหลัง ก็สามารถซื้อกับทาง Apple ได้โดยตรง แยกขายเป็นชุดละ 2 คู่ ชุดละ 280 บาท แบ่งตามขนาด S, M และ L ซึ่งถ้าคุณใช้จุกขนาดเท่ากันทั้งสองข้างก็ดีไปครับ แต่อย่างผมเองที่ใช้ซ้าย M ขวา S ก็จะลำบากกว่ากันนิดนึง
รีวิวอุปกรณ์เสริม AirPods Pro
อันที่จริงแล้ว นอกเหนือจากจุกแถมมาในกล่องแล้ว ก็จะมีผู้ผลิตจุกยางเสริมให้กับ AirPods Pro เหมือนกับหูฟัง in-ear รุ่นอื่น ๆ เหมือนกัน อย่างผมที่เคยชินกับจุก SpinFit ก็สามารถซื้อมาใช้ได้ครับ วิธีเปลี่ยนก็ง่ายมาก คือให้แยกเอาส่วนที่เป็นพลาสติกของจุกยางเดิมมาประกบกับตัวจุก SpinFit จากนั้นก็นำมาใส่กับตัวหูฟังได้ทันที
ส่วนเคสสำหรับกล่อง AirPods Pro ก็มีให้เลือกหลากหลายมาก ๆ ทั้งแบบอินเตอร์แบรนด์ และก็ที่มาจากแบรนด์รองหน่อย เน้นสีสันลวดลายไม่ต่างกับเคส AirPods รุ่นปกติเลย ซึ่งมักจะมีการออกแบบใน 2 รูปแบบ คือแบบแยกชิ้นบน/ล่าง กับแบบที่มีส่วนเชื่อมระหว่างชิ้นบน/ล่างด้วย ก็แล้วแต่ความชอบเลยครับ ของผมเองเลือกเป็นแบบซิลิโคนแยกชิ้นกัน มีความหนาที่ใช้กันกระแทกได้พอสมควร รวมถึงยังสามารถชาร์จไร้สายได้แบบไม่มีปัญหา
กลับมาที่เรื่องจุก SpinFit ซักนิดนึงครับ ตัวเนื้อยางนั้นจะค่อนข้างบางกว่าจุกแถมอย่างเห็นได้ชัด ส่วนเสียงที่ได้ ผมรู้สึกว่าแต่ละย่านเสียงมันออกมาเต็มกว่าเดิมนิดนึง แต่มันจะดีตรงที่ SpinFit มีออกมาให้เลือก 4 ขนาดครับ แบ่งเป็น S M ML และ L ซึ่ง ML ที่เพิ่มขึ้นมาก็จะอยู่ระหว่างกลางของ M และ L นั่นเอง อย่างที่ผมใช้ และถ่ายภาพลงในรีวิว AirPods Pro บทความนี้ ก็จะเป็นจุก SpinFit ขนาด S ที่ข้างซ้าย และขนาด M ที่ข้างขวา
นอกจากนี้ก็จะยังมีจุกโฟมให้เลือกใช้งานด้วย ซึ่งก็แล้วแต่ความชอบเลยครับ ถ้าของมีแบรนด์หน่อย ราคาก็เริ่มที่หลักร้อย สามารถซื้อมาลองกันได้ แต่ว่าในไทยอาจจะมีตัวเลือกไม่มากนัก
อุปกรณ์เสริมอีกชิ้นที่ผมคิดว่าก็น่าสนใจคือสติกเกอร์ติดเคส AirPods Pro อย่างในภาพด้านบนผมสั่งมาจาก SlickWraps ในช่วงมีโปรโมชัน เมื่อรวมค่าส่งมาไทยแล้วก็ราคาหลักร้อยเท่านั้น โดยกาวที่ใช้นั้นก็ดีสมราคาครับ สามารถลอกออกได้โดยไม่ทิ้งคราบกาวเอาไว้เลย (ถ้าอยากติดให้ดูดีกว่านี้ จะต้องใช้ลมร้อนช่วยเป่าตรงส่วนโค้งด้วย)
เทียบ AirPods Pro กับ AirPods 2
เริ่มตั้งแต่กล่องกันก่อนเลย ลักษณะรูปร่างนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากครับ แต่รูปของผลิตภัณฑ์นั้นจะช่วยให้สามารถแยกความแตกต่างกันได้แบบง่ายที่สุดเลย โดยตัว AirPods 2 ของผมนั้นเป็นรุ่นธรรมดาที่มาพร้อมเคสชาร์จแบบปกติ เลยจะมีรูปสาย Lightning ประกอบอยู่ด้วย
ส่วนภายในกล่อง อุปกรณ์ที่ให้มาก็จะคล้ายกันครับ ต่างกันที่ AirPods 2 จะแถมสาย Lightning to USB-A ในขณะที่ AirPods Pro จะแถมสาย Lightning to USB-C และก็ AirPods 2 จะไม่มีแถมจุกหูฟังมาให้ (เพราะมันไม่ต้องใช้)
รูปร่างของเคสชาร์จทั้งสองรุ่นก็จะแตกต่างกันไปตามรูปทรงของหูฟัง เนื่องจาก AirPods 2 นั้นมีก้านที่ยาวกว่า ส่วนในรูปข้างบนนี้ ผมติดสติกเกอร์ไว้กับเคส AirPods 2 นะครับ แต่ตัวฝาจริงจะเป็นสีขาว
รูปร่างของหูฟังทั้งสองรุ่นจะมีความแตกต่างกัน โดย AirPods 2 จะเป็นก้านยาวกว่า ใช้การสั่งงานด้วยการแตะที่บริเวณจุดวงกลมสีดำเล็ก ๆ ส่วนของ AirPods Pro จะใช้การบีบที่บริเวณก้านหูฟัง ตรงบริเวณที่เป็นรอยบุบลงไป ซึ่งตรงนั้นจะเป็นปุ่มกดด้วย
ตรงปลายก้านก็จะมีความแตกต่างกัน โดยของ AirPods Pro (ซ้าย) จะเป็นพลาสติกสีขาว มีขอบโลหะสีเงินล้อมตรงบริเวณขอบ ส่วนของ AirPods 2 จะเป็นกรอบโลหะสีเงิน โดยมีตะแกรงรับเสียงของช่องไมค์อยู่ภายใน
เมื่อใช้งาน ตัวของ AirPods Pro จะปิดช่องหูได้เต็มกว่า เพื่อช่วยในการกั้นเสียงที่มีประสิทธิภาพ ส่วนของ AirPods 2 จะปิดช่องหูแค่บางส่วนเท่านั้น ทำให้ถ้าต้องการจะฟังเพลงได้เต็มอารมณ์ที่สุด ก็คงต้องเล็งมาที่ตัวรุ่น Pro ที่ดีไซน์มาให้กั้นเสียงได้ดีกว่า และมีระบบตัดเสียงรบกวนแบบ ANC มาให้ด้วย
ซึ่งระบบตัดเสียงรบกวนแบบ ANC ของรุ่น Pro นั้น เท่าที่ผมใช้งานมา 4 เดือน ก็พบว่ามันทำงานได้ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ใช้แล้วไม่ได้ยินเสียงวี้ในหู และไม่ทำให้เกิดอาการหูอื้อด้วย ส่วนการตัดเสียงนั้นก็ทำได้เกือบสมบูรณ์แบบ จะมีเพียงเสียงที่ดังมาก ๆ เท่านั้นถึงจะทะลุเข้ามาได้ ส่วนโหมด Transparency ก็ปล่อยให้เสียงเข้ามาแบบไม่ดังเกินไป พอจะได้ยินเสียงคนคุยกันเบา ๆ ได้พอสมควร ตีคู่มากับเสียงเพลงที่เปิด ให้ความรู้สึกเหมือนเปิดเสียงจากลำโพงโน้ตบุ๊กระหว่างนั่งทำงานในออฟฟิศเลย
ส่วนด้านคุณภาพเสียง AirPods Pro จะให้เสียงออกมาในโทนค่อนข้าง flat คือไม่หนักไปทั้งย่านเบส กลางและย่านสูง สามารถใช้ฟังติดต่อเป็นชั่วโมงได้โดยไม่ล้าหูมากนัก ใช้ฟังเพลงแนวป๊อป, lo-fi ได้สบาย แต่สาย rock, hip-hop หรือสายเน้นมิติและสเตจเสียงอาจจะยังไม่โดนใจเท่าไหร่ครับ ส่วนการใช้คุยโทรศัพท์นั้นลงตัวเลย ได้ยินเสียงชัดเจนทั้งต้นและปลายสาย
ความฟิตในการใช้งาน จากที่ผมใช้จริงมาทั้งสองแบบ ไม่ว่าจะระหว่างนั่งทำงาน เดินไปเดินมา รวมไปถึงการออกกำลังกาย การซิตอัพ แน่นอนว่า AirPods Pro นั้นจะกระชับติดหูมากกว่าครับ ด้วยรูปทรงที่เป็นแบบ in-ear สอดเข้าไปในช่องหูเล็กน้อย ต่างกับ AirPods 2 ที่มีความเป็น earbuds แปะนอกช่องหูมากกว่า ดังนั้น ถ้าต้องการหูฟังไปใช้ในการออกกำลังกาย ตัว AirPods Pro ดูจะมีภาษีเหนือกว่านิดนึง
AirPods Pro รองรับการใช้งานร่วมกับมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเพลงต่าง ๆ ได้กับแทบทุกระบบปฏิบัติการผ่านการเชื่อมต่อ Bluetooth แต่ที่ดีที่สุดก็คือเป็นการใช้งานร่วมกับ iPhone, iPad และ iPod Touch เนื่องจากตัว iOS และ iPadOS จะมีเมนูสำหรับตั้งค่าการทำงาน และปรับแต่งฟีเจอร์ต่าง ๆ ของตัวหูฟังได้ด้วย ต่างจากการนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่มีระบบปฏิบัติการอื่นเช่น Android และ Windows ที่ทำให้ AirPods Pro กลายเป็นหูฟังไร้สายปกติไปเลย
สำหรับเมนูการตั้งค่าบน iOS ก็ให้เข้าไปที่ Settings > Bluetooth แล้วกดที่ไอคอนตัว i ต่อท้ายชื่อของ AirPods Pro พอเข้ามาแล้วก็จะมีเมนูต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
Noise Control – ใช้เลือกโหมดการจัดการกับเสียงภายนอก ซึ่งสามารถเลือกได้ทั้งเปิดโหมดตัดเสียงรบกวนทั้งหมด / ปิดโหมดนี้ / เปิดโหมด Transparency เพื่อเปิดรับให้ได้ยินเสียงรอบตัวด้วย ซึ่งเหมาะกับการใช้ในที่ทำงานมาก ๆ
ถัดลงมาคือตัวตั้งค่าว่าจะให้ปุ่มกดของหูฟังแต่ละข้างสามารถใช้ทำอะไรได้ หลัก ๆ จะแบ่งเป็น
- ตัวปรับระบบจัดการเสียงภายนอก สามารถกดค้าง 1 ครั้งเพื่อเปลี่ยนโหมดได้ โดยไม่ต้องเข้ามาเปลี่ยนที่ซอฟต์แวร์ ซึ่งมาตั้งเพิ่มได้อีกว่าจะให้มีตัวเลือกโหมดในการปรับแบบใดบ้าง
- Siri ใช้สำหรับกดค้างเพื่อเรียก Siri ให้มารับเสียงพูดสั่งงานจากผู้ใช้ (หรือจะพูดว่า “หวัดดี Siri” เพื่อเปิดโหมดสั่งงานด้วยเสียงก็ได้)
ส่วนการเปลี่ยนเพลง หยุดเพลงชั่วคราว ก็จะใช้จำนวนครั้งในการกดปุ่ม เช่น
- กด 1 ครั้ง เพื่อเล่น/หยุดเพลงชั่วคราว
- กด 2 ครั้ง เพื่อเปลี่ยนไปเพลงถัดไป
- กด 3 ครั้ง เพื่อย้อนไปต้นเพลง หรือเพลงก่อนหน้า
นอกจากนี้ก็จะมีตัวเลือกในการตรวจจับการใช้งานอัตโนมัติ เมื่อมีการสอดหูฟังเข้าไปในช่องหู และตัวเลือกที่ช่วยในการสลับการใช้งาน AirPods Pro ไปใช้งานกับ iDevice ต่าง ๆ ที่ล็อกอิน Apple ID เดียวกันด้วย
ซึ่งถ้าคุณมี iPhone, iPad และ MacBook อยู่ แล้วต้องการสลับ AirPods Pro ให้ไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ต้องการแบบอัตโนมัติ ก็ให้เลือก Automatically ไว้ แต่ถ้าต้องการให้หูฟังเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ก็ให้เลือกที่ When Last Connected to This … แทน
อีก 2 ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ อันแรกคือ Ear Tip Fit Test ที่ระบบจะช่วยให้ผู้ใช้ทราบว่าจุกหูฟังที่ใช้อยู่นั้นเหมาะสมหรือไม่ เพื่อคุณภาพเสียง และการกั้นเสียงภายนอกให้ได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด
อีกฟีเจอร์นี้เป็นสิ่งที่มีเพิ่มมาภายหลังครับ นั่นคือ Spatial Audio ที่จะช่วยจำลองเสียงรอบทิศทางในภาพยนตร์ ให้มีการขยับตำแหน่งเสียงตามทิศทางของการหันศีรษะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในฉากมีคนคุยกันอยู่ตรงหน้า แล้วเรา (ผู้ฟัง) หันศีรษะไปทางซ้าย หากใช้หูฟังปกติ เสียงพูดคุยจากระบบเสียงรอบทิศทางก็จะยังออกมาจากข้างหน้าตามทิศของหูฟัง เปรียบเสมือนว่าหนังทั้งเรื่องย้ายตำแหน่งมาแสดงตรงหน้า (ที่หันไปทางซ้ายอยู่)
แต่สำหรับระบบ Spatial Audio ระบบจะตรวจจับทิศทางการหันศีรษะของผู้ฟังตลอดเวลา แล้วปรับทิศทางของแหล่งกำเนิดเสียงให้ยังอยู่จุดเดิม (สำหรับเคสตัวอย่างนี้ เสียงพูดจะย้ายจากตรงหน้า มาออกที่หูฟังข้างขวาแทน) เสมือนว่าเราร่วมแสดงอยู่ในฉากนั้นจริง ๆ เพราะคนที่กำลังพูดอยู่ในหนังก็ยังยืนอยู่ที่ตำแหน่งเดิม นึกภาพง่าย ๆ เหมือนเรายืนล้อมวงคุยกันกับกลุ่มเพื่อน แล้วระหว่างที่ยืนคุย เราหันหน้าไปทางซ้าย แน่นอนว่าเพื่อนก็ยังยืนตำแหน่งเดิม ทิศทางของเสียงที่ออกมาก็ยังคงเป็นทิศทางเดิมอยู่ เพราะคงไม่มีใครยอมย้ายวงสนทนาไปตามทิศทางที่เราหันหน้าคนเดียวแน่ ๆ
ซึ่งระบบนี้จะช่วยเพิ่มความสมจริงให้กับการรับชมภาพยนตร์ได้เหนือกว่า Surround รอบทิศทางปกติพอสมควร จนบางทีก็เหมือนว่าไม่ได้ใส่หูฟังอยู่เลย เสียดายว่าในขณะที่รีวิว AirPods Pro อยู่นี้ จะยังรองรับเฉพาะเมื่อใช้งานกับแอปของ Apple เองเท่านั้น เช่น Apple TV ส่วน Netflix นั้นอยู่ในระหว่างการทดสอบ และ YouTube นั้นยังไม่มีข่าวออกมาแต่อย่างใด
สรุปรีวิว AirPod Pro
AirPods Pro เป็นหูฟังไร้สายแบบ TWS ที่เพียบพร้อมด้วยฟังก์ชันเพื่อการใช้งานที่สะดวกที่สุดสำหรับผู้ใช้งาน iDevice เช่น iPhone และ iPad ทั้งในแง่ของขนาดกะทัดรัด พกสะดวก การเชื่อมต่อที่รวดเร็วด้วยชิป H1 ฟีเจอร์ด้านการตัดเสียงที่ทำได้ดีอย่างเป็นธรรมชาติ ความแม่นยำของระบบตรวจจับต่าง ๆ ส่วนด้านคุณภาพเสียงนั้นก็ค่อนข้างเป็นสไตล์ Apple คือมีความแฟลต ไม่ได้หนักไปที่โทนใดโทนหนึ่งเป็นพิเศษ ใช้ฟังเพลงสบาย ๆ แบบไม่ซีเรียสเรื่องเสียงว่าต้องดีเยี่ยมขั้นสุด ทั้งระหว่างทำงาน หรือในยามพักผ่อนก็ไม่มีปัญหา
ส่วนการใช้ดูหนัง ต้องบอกเลยว่าระบบ Spatial Audio คือสิ่งที่สร้างความแตกต่างได้ชัดเจนที่สุด กับการจำลองทิศทางเสียงตามทิศทางการหันศีรษะของผู้ใช้งาน ซึ่งในตอนนี้มีเฉพาะใน AirPods Pro และ AirPods Max เมื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของ Apple เองเท่านั้น ถ้าคุณชอบดูหนัง (ผ่านแพลตฟอร์ม Apple TV) แบบใส่หูฟัง ตัวของ AirPods Pro อาจจะเป็นหูฟังที่โดนใจที่สุดได้ไม่ยากนัก
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า Apple อาจจะเปิดตัวหูฟังในกลุ่ม AirPods รุ่นใหม่ประจำปี 2021 ในเร็ว ๆ นี้ ต้องบอกว่า AirPods Pro รุ่นแรกนี้ก็ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอยู่ดีครับ ด้วยคุณสมบัติเมื่อนำมาใช้คู่กับผลิตภัณฑ์ของ Apple เอง ที่ยังจัดว่าอยู่ในระดับบน ๆ ของหูฟัง TWS อยู่ ประกอบกับราคา โปรโมชันที่พอจะหาได้เป็นระยะ ๆ จนอาจทำให้สามารถหาซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคากลางเล็กน้อยด้วยซ้ำ อุปกรณ์เสริมก็ยังมีให้เลือกซื้อมาใช้ ซื้อมาแต่งได้ง่ายอยู่
ทีนี้ หากเทียบระหว่าง AirPods Pro กับ AirPods 2 ว่ารุ่นไหนน่าซื้อกว่ากัน ส่วนตัวผมคิดว่าพอจะแบ่งเงื่อนไขที่ใช้ในการเลือกได้คร่าว ๆ ดังนี้
งบประมาณ-ราคา
ถ้างบมีค่อนข้างจำกัด แล้วต้องการของมือ 1 แบบชัวร์ ๆ ก็คงต้องเป็น AirPods 2 ครับ แต่เอาจริง ๆ ถ้ามีเวลานั่งหาของซักหน่อย ก็อาจจะพอหา AirPods Pro ในราคาที่สูงกว่า AirPods 2 ไม่มากนักได้ โดยเฉพาะพวกมือสองสภาพดีครับ
คุณภาพเสียง
แน่นอนว่า AirPods Pro ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า ทั้งด้วยคุณสมบัติของไดรเวอร์ขับเสียง และก็ระบบกันเสียงรบกวนทั้งจากรูปร่างของหูฟัง และระบบ ANC จากภายใน รวม ๆ แล้วจึงช่วยให้เสียงจาก AirPods Pro ดูมีมิติ และมีน้ำหนักที่แน่นกว่า AirPods 2 อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ AirPods 2 ยังขาดฟีเจอร์ Spatial Audio ด้วย ถ้าใครต้องการดูหนังแบบเต็มอารมณ์ อาจจะต้องพิจารณาตรงข้อนี้ด้วยเหมือนกัน
ความสะดวกในการใช้งาน
ที่จริงทั้งสองรุ่นนี้ก็มีความสะดวกพอ ๆ กัน สามารถเปิดฝา พอเสียบหูฟังใส่ช่องหูก็แทบจะฟังเพลงต่อได้ทันที รวมถึงยังรองรับการสลับอุปกรณ์แบบอัตโนมัติทั้งคู่ แบตเตอรี่ก็ใช้ได้นาน ส่วนรูปแบบในการสั่งงานจากหูฟังนั้นจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดย AirPods 2 จะใช้การสัมผัส ส่วน AirPods Pro จะใช้การบีบที่ก้านหูฟัง ซึ่งส่วนตัวผมชอบการแตะสัมผัสมากกว่า แต่การบีบนั้นก็ไม่ได้ใช้งานยากจนเกินไปเหมือนกัน
สำหรับการใช้งานระหว่างออกกำลังกาย ในกรณีที่คุณเป็นคนมีเหงื่อเยอะ AirPods 2 อาจจะลื่นหลุดจากช่องหูส่วนนอกง่ายกว่าเล็กน้อยครับ ส่วน AirPods Pro ถ้าใช้จุกหูฟังขนาดพอดี ปัญหาการลื่นหลุดนั้นแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย
ของแต่ง อุปกรณ์เสริม
ที่จริงทั้งสองก็มีให้เลือกพอกันครับ หลัก ๆ ก็จะเป็นเคส สติกเกอร์ติดเคส เป็นต้น ส่วนที่ติดกับตัวหูฟังก็จะเป็นพวกสายคล้อง จุกซิลิโคน/จุกโฟมสำหรับ AirPods Pro ซึ่งบางรุ่นอาจมีผลต่อคุณภาพเสียงด้วย และก็ที่ครอบหูแบบซิลิโคนสำหรับ AirPods 2 ก็สามารถเลือกซื้อหามาเสริมกันได้ตามต้องการ (และแน่นอนว่ามีของเล่นให้เลือกเยอะกว่าหูฟัง TWS รุ่นอื่น)