เป็นเรื่องปกติตามธรรมเนียมของ Sony ไปแล้วครับที่จะต้องปล่อยมือถือเรือธงของตัวเองออกมาปีละ 2 ครั้ง และในต้นปีก็ได้ปล่อย Sony Xperia Z2 และทางทีมงาน SpecPhone ก็ได้ทำการรีวิวไปเป็นที่เรียบร้อย ส่วนมือถือเรือธงตัวท้ายปีอย่าง Sony Xperia Z3 ที่เปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตอนนี้ก็มาอยู่ในมือของทีมงานเรียบร้อยแล้ว และก็ถึงเวลาที่เราจะทำการรีวิว Sony Xperia Z3 ให้ได้รับชมกันครับ ว่าสรุปแล้ว Sony Xperia Z3 ที่มีสเปคไม่แตกต่างจาก Sony Xperia Z2 นั้น มีอะไรพัฒนาไปจาก Sony Xperia Z2 บ้าง แต่ก่อนที่จะเข้าสู่รีวิว Sony Xperia Z3 เรามาดูสเปคของ Sony Xperia Z3 กันก่อนดีกว่า
สเปค Sony Xperia Z3
- ชิปประมวลผล Snapdragon 801 (MSM8974AC) Quad-core ความเร็ว 2.5 GHz
- แรม?3 GB
- รอมในตัว 16 GB รองรับ MicroSD สูงสุด 128 GB
- หน้าจอ IPS?Triluminos display?ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD 1920 x 1080
- Android 4.4.4 KitKat
- กล้องหลัง?G Lens?ความละเอียด?20.7?ล้านพิกเซล?เซนเซอร์?Exmor RS?ช่วยให้ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดี?และใช้ตัวประมวลผลกล้องโดยเฉพาะ?BIONZ
- กล้องหน้าความละเอียด 2.2 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ Exmor R
- ถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุดระดับ?4K?หรือ?4?เท่าของ?Full HD
- ถ่ายวีดีโอใต้น้ำได้
- ตัวเครื่องกันน้ำกันฝุ่น ระดับ IP65/IP68 สามารถดำน้ำได้
- รองรับ 4G LTE ใช้งาน 3G ได้ทุกเครือข่าย
- แบตเตอรี่?Li-ion?ความจุ?3,100 mAh??
- บางเพียง 7.3 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 152 กรัม
- รองรับ NFC
- ราคา 23,990 บาท
- สเปคเต็มๆ Sony Xperia Z3
ถ้าดูจากสเปคเมื่อนำไปเทียบกับ Sony Xperia Z2 จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันน้อยมาก เต็มที่ก็คือ CPU ของ Sony Xperia Z3 จะแรงกว่า Sony Xperia Z2 นิดหน่อย (Z2 – 2.3 GHz/Z3 – 2.5 GHz) เพราะความเปลี่ยนแปลงของ Sony Xperia Z3 จะไปอยู่ที่ฟีเจอร์มากกว่า หลักๆ เลยก็ในส่วนของการดีไซน์ มีการปรับดีไซน์ตัวเครื่องให้โค้งมนมากขึ้น โดยทาง Sony บอกว่าช่วยรองรับแรงกระแทกได้ดี เวลาที่เราเผลอทำเครื่องตก หรืออย่างฟีเจอร์อื่นๆ เช่นการรองรับไฟล์เพลงแบบ Hi-Res, ระบบเสียง DSEE HX, การป้องกันน้ำที่ทำได้ถึงการดำน้ำ, หน้าจอที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาอีกระดับ เป็นต้น
แล้วทุกสิ่งที่ได้กล่าวมานั้น Sony Xperia Z3 ทำได้จริงอย่างที่ Sony คุยไว้หรือไม่ เรามาดูกันในรีวิว Sony Xperia Z3 จากทีมงาน SpecPhone ได้เลย
?**หมายเหตุ เครื่องรีวิว Sony Xperia Z3 ที่ทางทีมงาน SpecPhone ได้รับมานั้นเป็นเครื่องสำหรับการทดสอบ ที่มีรหัสเดียวกับเครื่องขายจริงครับ เพราะฉะนั้นรีวิว Sony Xperia Z3 ของเราสามารถใช้อ้างอิงกับเครื่องขายจริงได้แน่นอน แต่ข้อแตกต่างก็คือเครื่องรีวิว Sony Xperia Z3 ที่เราได้รับมานั้นมีแค่เครื่องกับกล่องเท่านั้น ส่วนในแพคเกจขายจริงจะมีตัวเครื่อง, สาย USB, อแดปเตอร์และหูฟังมาให้ด้วยครับ**
Design
สำหรับการรีวิว Sony Xperia Z3 ในส่วนของ Design จะครอบคลุมทุกส่วนที่เป็นลักษณะทางกายภาพของ Sony Xperia Z3 ทั้งหมด และการออกแบบก็เป็นหนึ่งในหัวข้อนั้นครับ โดยการออกแบบของ Sony Xperia Z3 มีความเปลี่ยนแปลงไปจากตอน Sony Xperia Z2 พอสมควร แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ทำให้ Sony Xperia Z3 กลายเป็นมือถือที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นในเรื่องของดีไซน์บวกกับการใช้งานจริง แล้วความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง ดีขึ้นมากหรือไม่ มาดูกันในรีวิว Sony Xperia Z3 ในส่วนของการ Design ได้เลยครับ
ความเปลี่ยนแปลงของดีไซน์ Sony Xperia Z3 ก็คือมุมของตัวเครื่องถูกออกแบบมาให้มีความโค้งมนอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังคงใช้กรอบตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียมเช่นเคย โดยขอบเครื่องที่โค้งมนนั้นถูกออกแบบมาเพื่อเสริมความแข็งแรงของตัวกรอบอลูมิเนียมให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นครับ หมดปัญหาเครื่องหล่น, กระแทกขอบโต๊ะแล้วบุบแน่นอน และยังทำให้ความเสียหายโดยรวมขณะที่เครื่องได้รับแรงกระแทกจากด้านข้างลดลงด้วย เอาเป็นว่าขอบเครื่องของ Sony Xperia Z3 สามารถจับเคาะโต๊ะได้สบายโดยที่ไม่บุบสลาย…เพราะมันแข็งแกร่งมาก ซึ่งตรงนี้จะมีผลเวลาเราเผลอทำเครื่องหล่นครับ (แต่มุมต้องได้ด้วยนะ)
รูปทรงโดยรวมของ Sony Xperia Z3 ยังคงยึดปรัชญาการออกแบบในสไตล์ Omnibalance เช่นเดียวกับเรือธงรุ่นก่อนๆ สังเกตได้จากตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น ซ้าย-ขวา, หน้า-หลัง, บน-ล่าง หรือแม้แต่พื้นที่ด้านบนหน้าจอกับด้านล่างหน้าจอของ Sony Xperia Z3 ก็ล้วนแต่มีพื้นที่เท่ากันทั้งนั้น ส่วนตัวผมชอบดีไซน์แบบ Omnibalance ของ Sony นะครับ เพราะมันไม่ได้ดูโฉบเฉี่ยวมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้ดูล้าหลังจนเกินไป Sony Xperia Z3 เป็นมือถือที่ให้ความรู้สึกหรูหรา สมกับราคามากทีเดียว ถ้าให้เปรียบเป็นคนก็น่าจะเป็นคนมาดขรึม แต่งตัวเรียบๆ แต่เสื้อผ้าที่ใส่นี่แบรนด์เนมทั้งตัวครับ
เหมือนจะธรรมดา…แต่ก็ไม่ธรรมดา
งานประกอบของ Sony Xperia Z3 ด้วยตัวเครื่องที่ออกแบบมาในระดับของมือถือดำน้ำ IPX8 (Sony Xperia Z3 สามารถดำน้ำจืดได้ลึก 1.5 เมตร นานถึง 30 นาที) และกันฝุ่นในระดับ IP6X เอาเป็นว่าของเหลวไม่สามารถเข้าไปทำอันตรายภายในเครื่องได้เมื่อทำการปิดพอร์ททั้งหมดรอบตัวเครื่อง แสดงว่า Sony จะต้องมั่นใจในงานประกอบของตัวเองมากเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นคงไม่กล้าโฆษณาเจ้า Sony Xperia Z3 ในลักษณะของการใช้งานใต้น้ำหรอกครับ ทำให้มั่นใจได้ว่างานประกอบของ Sony Xperia Z3 นี่จัดว่าอยู่ในระดับท็อปของสมาร์ทโฟนเลยหล่ะ ตัวเครื่องประกอบออกมาได้แน่นหนา แข็งแรงมากครับ ส่วนอาการ “เครื่องงอ” ก็คงต้องบอกว่ายากครับ ด้วยเฟรมของตัวเครื่องที่ทำจากอลูมิเนียมแยกชิ้นที่ขึ้นเป็นโครงหลัก รับรองว่าไม่มีอาการงอแบบพวก Unibody แน่นอน (เว้นแต่ว่าจะจงใจงอแบบบ้าระห่ำ อันนี้ก็อีกเรื่องนึงครับ)
มาถึงรายละเอียดของ Sony Xperia Z3 กันบ้างครับ เริ่มจากด้านหน้า โดยรวมก็ดูเรียบๆ ครับ มีเพียงโลโก้ Sony ด้านเหนือหน้าจอเท่านั้นที่ดูโดดเด่น ข้างๆ ก็มีกล้องหน้าความละเอียด 2.2 ล้านพิกเซล แต่สิ่งที่แอบซ่อนอยู่บริเวณด้านหน้าของ Sony Xperia Z3 และเป็นหนึ่งในฟีเจอร์เด่นในเรื่องความบันเทิงเลยก็คือลำโพงคู่หน้า S-Force Front Surround Sound?ครับ และก็ไม่ได้ทำลำโพงคู่หน้าไว้เก๋ๆ หรือเป็นกิมมิคเท่านั้นนะครับ แต่ลำโพงคู่หน้า?S-Force Front Surround Sound ของ Sony Xparia Z3 นั้นให้เสียงแบบ Stereo ซะด้วย มีการแยกเสียงซ้าย-ขวาอย่างชัดเจน รายละเอียดมีให้เห็นมากกว่าใน Sony Xperia Z2 และที่สำคัญคือ ลำโพง?S-Force Front Surround Sound ให้เสียงที่ดังพอตัวเลยเมื่อเปิดดังสุด แต่แนะนำว่าให้เปิดไว้แค่เกือบสุดก็พอ เหมือนว่าเปิดสุดแล้วเสียงมันจะแตกนะครับ แล้วก็เสียงเพราะไม่เท่าเปิดเสียงดังประมาณ 80% ด้วย
กรอบด้านข้างของตัวเครื่อง Sony Xperia Z3 ก็ออกแบบมาปราณีตครับ เก็บงานได้เนี๊ยบมาก พื้นผิวอลูมิเนียมค่อนข้างลื่นไปซักหน่อย แต่ดีที่วัสดุฝาหลังของ Sony Xperia Z3 เป็นกระจกที่ค่อนข้างติดมือ ทำให้ภาพรวมในการจับถือค่อนข้างบาลานซ์ครับ ส่วนรายละเอียดของกรอบด้านข้างนั้น เริ่มจากทางด้านซ้ายของตัวเครื่อง (หัน Sony Xperia Z3 เข้าหาตัว) จะประกอบไปด้วยช่องสำหรับเสียบสาย USB ที่มีฝาปิด, ช่องสำหรับชาร์จไฟด้วยแท่นชาร์จแม่เหล็ก (Magnetic Charging Dock), และช่องสำหรับร้อยพวงกุญแจฟรุ้งฟริ้ง ด้านขวาของตัวเครื่องประกอบไปด้วยปุ่ม Power, ปุ่มปรับระดับเสียง, ปุ่มชัตเตอร์ และช่องใส่ซิมการ์ด (Sony Xperia Z3 รองรับซิมการ์ดแบบ Nano Sim ขนาดเดียวกับ iPhone 6) กับช่องใส่ MicroSD Card ส่วนด้านบนของตัวเครื่องก็จะเป็นช่องเสียบหูฟังและไมโครโฟนครับ และอย่างที่บอกไปว่ากรอบอลูมิเนียมค่อนข้างลื่นในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นตอนถือใช้งาน Sony Xperia Z3 ควรจะจับแบบให้ฝ่ามือเราสัมผัสกับหลังเครื่องที่เป็นกระจกด้วยครับ ตอนที่รีวิว Sony Xperia Z3 นี่ผมเกือบจะทำเครื่องลื่นหลุดมือไปหลายรอบเหมือนกัน 😛
ความเจ๋งของ Sony Xperia Z3 คือทุกอย่างลงตัวไปหมด ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป
ส่วนด้านหลังของ Sony Xperia Z3 ก็ยังใช้วัสดุเป็นกระจกเช่นเดียวกับตอน Sony Xperia Z2 (และ Xperia Z รุ่นก่อนหน้าด้วย) เช่นเคย แต่ไม่ใช่กระจกไก่กาแต่อย่างใดนะครับ เพราะกระจกฝาหลังของ Sony Xperia Z3 นั้นเป็นกระจกนิรภัยเช่นเดียวกันกระจกหน้าจอเลยหล่ะ ข้อดีของมันก็คือให้ความรู้สึกหรูหรา และทนทานมากครับ โอกาสที่จะเป็นรอยมีน้อยกว่าพื้นผิวแบบ Soft Touch และเก็บรอยนิ้วมือมากพอสมควร แต่ข้อดีที่เหนือกว่าวัสดุแบบ Soft Touch คือฝาหลังที่เป็นกระจกทำความสะอาดง่ายกว่าเยอะครับ เวลาเครื่องเป็นรอยก็ใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ หรือไม่ก็ผ้าชามัวร์เช็ดแปบๆ ก็ใสกิ๊งแล้ว รายละเอียดของด้านหลัง Sony Xperia Z3 จะประกอบไปด้วยโลโก้ Sony โดดเด่นอยู่ตรงกลางเครื่อง, กล้องหลัง G-Lens ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซลตัวเดิม แต่โมดูลกล้องมีความบางกว่าเดิม (ร้อนเหมือนเดิมด้วย) และแฟลช LED จำนวน 1 ดวง
มาลงรายละเอียดที่หน้าจอของ Sony Xperia Z3 กันซักเล็กน้อยครับ หน้าจอของ Sony Xperia Z3 ใช้เป็นหน้าจอแบบ Triluminos IPS ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด Full HD ลำพังตัวฮารดแวร์อาจจะดูเฉยๆ ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แต่พาแนลจอของ Sony Xperia Z3 เป็นหน้าจอที่มีการสะท้อนน้อยมากครับ และใช้งานกลางแดดได้ดีซะด้วย จากอานิสงส์ของการเปลี่ยนมาใช้หน้าจอแบบ IPS มุมมองการแสดงผลก็กว้างตามไปด้วย ส่วนเทคโนโลยี Triluminos Display ถ้าเปรียบหน้าจอแบบปกติเป็นดินสอสี 12 สี หน้าจอ Triluminos Display ของ Sony Xperia Z3 จะเป็นดินสอสีแบบ 24 สีครับ ทำให้การแสดงผลด้านสีจะสมจริงกว่า เพราะมันแสดงเฉดสีได้มากกว่าถึง 2 เท่านั่นเอง นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Live Colour LED ที่กรองสีได้สม่ำเสมอ ทำให้การแสดงผลด้านสีสันออกมาค่อนข้างสมจริง แต่ก็ไม่ได้ซีดเหมือน Sony Xperia รุ่นก่อนๆ
และที่บอกว่าหน้าจอของ Sony Xperia Z3 แสดงผลให้สีสันที่สมจริง ไม่ฉูดฉาดนั้น ต้องบอกว่าเฉพาะในโหมดหน้าจอแบบปกติเท่านั้นนะครับ แต่เมื่อเราต้องการใช้งานด้านความบันเทิง อย่างการดูหนังและดูรูปภาพ หน้าจอของ Sony Xperia Z3 จะมีโหมดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อการแสดงผลวีดีโอและรูปภาพถึง 2 โหมดด้วยกัน ได้แก่ X-Reality Display for mobile กับ Super-vivid mode ที่เป็นเหมือนโปรไฟล์ในการแสดงผลหน้าจอครับ โดยจะรองรับรูปภาพนิ่งและวิดีโอความละเอียดต่ำไปจนถึงภาพยนตร์ความละเอียดสูง กลไกซอฟต์แวร์ภาพจะทำการวิเคราะห์แต่ละภาพเพื่อปรับสีสัน ความคมชัด รวมไปถึงลดจุดสีรบกวน และฟังก์ชัน Super Resolution จะปรับพิกเซลที่ขาดหายไปเพื่อความคมชัด โดยเทคโนโลยีดังกล่าวในหน้าจอของ Sony Xperia Z3 ล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีที่เราคุ้นตากันดีใน LED TV ของ Sony ครับ บอกเลยว่าสีฟ้าของท้องฟ้าในโหมด Super-vivid Mode นี่ฟ้าแบบฟ้ามากก
ภาพรวมของการดีไซน์ใน Sony Xperia Z3 ก็ยังถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานเรือธงของ Sony และทำได้ตามที่คุยไว้ในโฆษณาครับสำหรับการกันน้ำ ส่วนการออกแบบอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลแล้วหล่ะครับ ส่วนตัวผมมองว่าหากเป็นสาวก Sony ก็น่าจะถูกใจเจ้า Sony Xperia Z3 พอสมควรเลยหล่ะ เพราะดีไซน์ส่วนที่เปลี่ยนไปจาก Sony Xperia Z2 นั้นส่วนมากจะเน้นไปที่รายละเอียดบางส่วนที่ส่งผลต่อการใช้งานจริง อย่างเช่นความบางของตัวเครื่อง, ขอบจอที่บางลง รวมถึงมุมของกรอบเครื่องที่มีลักษณะโค้งมนเพื่อช่วยในการป้องกันความเสียหายจากการกระแทก เอาเป็นว่าถ้าคะแนนเต็ม 10 ผมให้คะแนนส่วนการดีไซน์ (รวมวัสดุและงานประกอบ) ของ Sony Xperia Z3 ที่ 9.5 คะแนนครับ ตัดไป 0.5 คะแนนเพราะว่ามันใช้งานด้วยมือเดียวไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่
สำหรับภาพตัวเครื่อง Sony Xperia Z3 ในมุมอื่นๆ สามารถรับชมได้จาก Gallery เลยครับ
Software
Sony Xperia Z3 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการเวอร์ชันล่าสุดที่มือถือแอนดรอยทั่วไปจะมีได้ ซึ่งก็คือ Android 4.4.4 Kitkat และครอบด้วย?Xperia Home UI ที่มีความแตกต่างจากรุ่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัดในเรื่องของไอคอนที่มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่ถึงขนาดที่ว่าหน้าจอ 5.2 นิ้วความละเอียด Full HD นี่ดูแน่นไปเลยเมื่อเทียบกับตอน Sony Xperia Z2 เปิดตัวใหม่ๆ ตรงนี้ก็อยู่ที่ความชอบของแต่ละคนครับ บางคนก็มองว่าตัวไอคอนใหญ่ดี จิ้มยังไงก็โดน แล้วก็ไม่ต้องเพ่งสายตามาก แต่บางคนก็มองว่ามันทำให้หน้าจอดูแน่นไปหน่อย (ผมก็คิดว่ามันแน่นไปนะ) ส่วนการใช้งานก็ถือว่าใช้งานง่ายเหมือนเดิมครับ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ตัว UI อาจจะดูล้ำๆ ไปหน่อยเมื่อเทียบกับ?Material Design ที่เน้นความเรียบง่าย แต่คาดว่าตอนปล่อยตัวอัพเดต Android 5.0 Lolipop น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงของ Xperia UI ให้เห็นกันครับ
แอพพลิเคชันพื้นฐานบน Sony Xperia Z3 จะพยายามดึงชื่อเทคโนโลยีของตัวเองใส่ลงมาในรอมของมือถือตัวเอง อย่างแอพพลิเคชันที่ใช้ฟังเพลงก็จะมาในชื่อของ Walkman (โลโก้ก็มาด้วย) และเจ้า Walkman ใน Sony Xperia Z3 รอบนี้ก็จัดเต็มตามกระแส Hi-Res ที่ทาง Sony กำลังดันอยู่ในผลิตภัณฑ์ฝั่งเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา (Walkman) เพราะมันสามารถอ่านไฟล์เพลงความละเอียดโคตรสูงแบบ 24 Bit (ที่ละเอียดว่า CD) ได้ด้วย สำหรับไฟล์ Hi-Res ที่ Sony Xperia Z3 รองรับจะเป็นไฟล์นามสกุล Flac, Wav และจะไม่รองรับไฟล์ Hi-Res นามสกุล AIFF ของฝั่ง Apple โดยเวลาที่เราเล่นเพลงจากไฟล์ Hi-Res จะมีสัญลักษณ์ Hi-Res ขึ้นที่อัลบัมเพลงดังกล่าวครับ
แต่ถ้าใครมองว่าไฟล์เพลงความละเอียดสูง Hi-Res นั้นมีขนาดไฟล์ที่ใหญ่มากเกินไป หรือไม่รู้จะไปหาไฟล์เพลง Hi-Res จากที่ไหน ครั้นจะซื้อก็ดันมีราคาแพงเกินไปอีกต่างหาก (ไฟล์เพลง Hi-Res เฉลี่ยอัลบัมละประมาณ 600 บาท – แบบดิจิตอลดาวน์โหลด) ทาง Sony ก็เตรียมทางแก้ไว้แล้วครับ เพราะอีกหนึ่งความสามารถของ Walkman ใน Sony Xperia Z3 คือมันมาพร้อมกับระบบ DSEE HX ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพของไฟล์เสียงแบบบีบอัด (เช่น MP3, AAC) ให้มีความใกล้เคียงกับไฟล์ Hi-Res ได้ครับ แต่ส่วนตัวผมแยกไม่ออกจริงๆ ระหว่างการเปิด DSEE HX กับไม่เปิด (ไฟล์เพลงที่ใช้ทดสอบเป็นไฟล์ AAC จาก iTunes Store) แต่ถ้าเป็นการเปิด Clear Audio+ อันนี้เห็นผลชัดเจนครับ เสียงทุกย่านจะถูกบูสท์ขึ้นมาอีก 1 สเต็ป ทำให้ฟังเพลงสนุกขึ้นเยอะครับ ง่ายๆ เลยก็คือถ้าไม่อยากปรับแต่งอะไรมากมายก็กด Clear Audio+ ตัวเดียวเอาอยู่ครับ
ส่วนโหมดประหยัดพลังงานใน Sony Xperia Z3 หรือ STAMINA mode ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ครับ โดยหลักการทำงานของ STAMINA mode ก็ยังคงเหมือนเดิม คือเวลาที่เราไม่ได้เปิดหน้าจอ แอพพลิเคชันทั้งหมดก็จะหยุดการทำงานทันที จะไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ จากแอพพลิเคชันในขณะที่เปิด STAMINA mode (การตั้งค่าแบบปกติ) แต่เราก็ยังสามารถเข้าไปเลือกได้นะครับว่าจะให้แอพพลิเคชันตัวไหนแจ้งเตือนในขณะที่ใช้งาน STAMINA mode ได้บ้าง ส่วนระยะเวลาการใช้งานที่เพิ่มขึ้นจาก STAMINA mode ก็อยู่ที่ประมาณ 2 เท่าของการใช้งานในโหมดปกติครับ (ชาร์จไฟเต็มจะใช้งานใน STAMINA mode ได้ประมาณ 4 วัน)
ภาพรวมของ Sony Xperia Z3 ในส่วนของ Software ก็ยังคงเจ๋งในแบบฉบับของ Sony เช่นเคยครับ ความลื่นไหลมีให้เห็น ความอลังการของ UI ก็ตามแบบของมือถือ Sony รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่เคยมีในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง Sony ก็ได้จัดเต็มลงใน Sony Xperia Z3 เครื่องนี้เรียบร้อยแล้ว จะมีข้อตินิดหน่อยก็ตรงที่ยัด Bloatware หรือแอพที่ติดมากับรอมเยอะไปหน่อยเท่านั้นเอง โดยแอพพลิเคชันเหล่านี้จะไม่สามารถลบออกจากเครื่องได้ (ด้วยวิธีแบบปกติ) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเทียบกับสเปคของ Sony Xperia Z3 ที่จัดแรมมาให้มากถึง 3 GB กับพื้นที่หน่วยความจำที่เพิ่มได้ด้วย MicroSD Card ก็คงต้องบอกว่า Bloatware ที่ยัดมาให้นั้นไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาในการใช้งานซักเท่าไหร่ครับ
Feature
ด้วยความที่ Sony Xperia Z3 เป็นมือถือระดับเรือธงของค่ายอารยธรรม Sony ทำให้ในส่วนของฟีเจอร์ก็มีมาให้สมศักดิ์ศรีของมือถือเรือธง ไล่มาตั้งแต่การใช้งานขั้นพื้นฐานเช่นการเคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อปลุกเครื่องแทนการกดปุ่ม Power หรือจะเป็นแอพเดียวรวมทุกข่าวสารอย่าง Socialife ก็มีให้เห็นใน Sony Xperia Z3 แต่ถ้าถามถึงฟีเจอร์ที่เด่นจริงๆ ของ Sony Xperia Z3 ก็คงหนีไม่พ้นฟีเจอร์เหล่านี้ครับ
PlayStation
จะดีแค่ไหนถ้าเล่นเกมจาก PlayStation บนมือถือได้? คำตอบนี้สำหรับผู้ใช้ Sony Xperia Z3 คงไม่ใช่เรื่องที่เกินเอื้อมแล้วครับ เพราะ Sony Xperia Z3 สามารถเล่นเกม PlayStation 4 หรือ PS4 ได้จริงๆ แต่เป็นการเล่นแบบสตรีมสดนะครับ คือเราต้องมีเครื่อง PS4 แล้วก็มี Sony Xperia Z3 ด้วย โดยลักษณะในการใช้งานจะค่อนข้างตอบโจทย์ด้านการเอนเตอร์เทนพอสมควรเลย เช่นเราอยากเล่นเกม แต่แฟนอยากดูละคร ฟีเจอร์การสตรีมเกม PS4 มาเล่นบน Sony Xperia Z3 ช่วยท่านได้ครับ เพราะเราก็ปล่อยแฟนดูละครไป ส่วนเราก็เล่นเกมโดยใช้หน้าจอของ Sony Xperia Z3 แทนหน้าจอทีวีในห้องนั่งเล่น แต่ตอนที่รีวิว Sony Xperia Z3 เราพบว่าฟีเจอร์ในการสตรีมเกม PS4 ยังไม่สามารถใช้งานได้นะครับ เพราะต้องรอให้ Sony ปล่อยแอพฯ ให้ดาวน์โหลดกันก่อน เห็นว่าประมาณเดือนพฤศจิกายนน่าจะได้ใช้งานกัน
Lifelog
เทรนสมาร์ทโฟนเพื่อสุขภาพกำลังมาแรงครับ และ Lifelog ก็เป็นหนึ่งในแอพพลิเคชันเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจทีเดียว เพราะเจ้า Lifelog จะคอยเก็บสถิติทุกอย่างเกี่ยวกับเราไว้ครับ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน, การวิ่ง, นั่งรถ, ปั่นจักรยาน, คุยโทรศัพท์, ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก, ฟังเพลง, เล่นเกม, เล่นอินเทอร์เน็ต, เดินทางด้วยรถ, ดูหนัง, อ่านหนังสือ และนอนหลับ โดยการอนุมานด้วยตัว Lifelog เอง หรือจะใช้อุปกรณ์เสริมจาก Sony (เช่น Smartband Talk, Smart Watch 3) ช่วยให้การเก็บสถิติแม่นยำมากยิ่งขึ้นก็สามารถทำได้ครับ แต่ลำพังตัว Lifelog ก็ทำหน้าที่ของมันได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว จะมีอาการเอ๋อๆ ในเรื่องการ Tracking เวลาที่เราเดินทางนี่แหละครับ อย่างตอนผมนั่งรถในกรุงเทพฯ ที่การจราจรค่อนข้างติดขัด Lifelog กลับมองว่าผมกำลังปั่นจักรยานซะอย่างนั้น
Small App
สำหรับฟีเจอร์ Small App จะเป็นการเรียกแอพพลิเคชันขนาดเล็กขึ้นมาในลักษณะที่ลอยอยู่บนหน้าจอ วิธีการเรียกใช้เพียงแค่กดปุ่ม Recent App ก็จะเห็นว่ามี Small App อยู่ทางด้านล่าง นอกจากจะมี Small App ติดมากับตัวเครื่องแล้ว ยังสามารถเข้าไปดาวโหลดเพิ่มได้ใน Play Store อีกต่างหาก สำหรับ Small App น่าสนใจที่เรียกใช้บ่อยๆ ก็ได้แก่ Flashlight, Calculator และ Mirror เป็นต้น ถือเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเราได้ดีฟีเจอร์หนึ่งเลยครับ
การกันน้ำ, กันฝุ่น
เป็นหนึ่งในตัวชูโรงของ Sony Xperia Z3 เลยหล่ะครับสำหรับฟีเจอร์การกันน้ำกันฝุ่น และถึงแม้จะมีมาตั้งแต่ในสมัยเป็น Sony Xperia Z (รุ่นแรกในดีไซน์ Omnibalance) แต่การกันน้ำใน Sony Xperia Z3 นั้นเป็นอีกระดับของการกันน้ำในสมาร์ทโฟนไปเรียบร้อยครับ เพราะลำพังไม่ปิดพอร์ต USB และช่องใส่ซิมการ์ดก็ผ่านมาตรฐาน IP65 แล้ว และถ้าทำการปิดฝาที่พอร์ตทั้งหมดของตัวเครื่อง Sony Xperia Z3 จะสามารถกันน้ำได้ถึงระดับ IP68 ซึ่งสามารถใช้ดำน้ำได้เลยหล่ะ โดยระดับการกันน้ำมาตรฐาน IP68 ใน Sony Xperia Z3 สามารถอยู่ในน้ำลึก 1.5 เมตรได้เป็นเวลา 30 นาที แต่ต้องเป็นน้ำจืดเท่านั้นนะ ไม่แนะนำให้เอาลงน้ำเค็มหรือน้ำทะเลครับ เพราะน่าจะหลุดประกันแน่นอน
Camera
กล้องหลักของ Sony Xperia Z3 ใช้เซนเซอร์ภาพ Exmor RS สำหรับมือถือความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล โดยทาง Sony เคลมว่าการผสมผสานที่โดดเด่นนี้ทำให้ Sony Xperia Z3 มีคุณภาพและประสิทธิภาพเทียบเท่ากับกล้องดิจิตอลคอมแพคเลยทีเดียว โดยรายละเอียดของเทคโนโลยีในกล้องก็มีดังนี้ครับ
Exmor RS?-?เซนเซอร์ภาพ Exmor RS ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซลที่มีขนาดใหญ่ 1/2.3 นิ้วจะเปิดใช้ความไวแสงได้สูงกว่า ช่วยลดจุดสีรบกวนจนดูชัดและนุ่มนวลขึ้น ทั้งนี้จะปรับทุกรายละเอียดที่น่าทึ่งได้แม่นยำกว่าเดิม โดยขนาดของเซนเซอร์ใน Sony Xperia Z3 จะใหญ่เท่ากับกล้องคอมแพคเลยนะครับ
Sony G Lens?-?เลนส์ G ของ Sony มีคุณสมบัติด้านการถ่ายภาพจับโฟกัสที่เหนือกว่าโดยใน Sony Xperia Z3 ใช้เลนส์มุมกว้าง 27 มม. พร้อมช่องรับแสง F2.0 ที่ช่วยให้เลนส์จับแสงในสภาพที่ปราศจากแสงได้มากกว่าโดยแทบไม่ต้องง้อแสงแฟลช และยังมีการปรับปรุงตัวโมดูลกล้องให้มีความบางกว่าเดิมด้วย
BIONZ for Mobile?-?กลไลประมวลผลภาพ BIONZ สำหรับมือถือของ Sony ใช้อัลกอริทึมแยกเฉพาะในการประมวลผลกล้องถ่ายรูปโดยเฉพาะ และยังช่วยในการลด Noise, ระบบป้องกันภาพสั่นไหว รวมถึงการจัดการด้านแสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญยังมีโหมดถ่ายรูปในรูปแบบต่างๆ ให้เลือกใช้หลายแบบเลยทีเดียว ทั้งภาพนิ่งและวีดีโอ อาทิเช่น
- AR Effect -?โหมดตกแต่งภาพแบบ Real Time ที่มีมาตั้งแต่ใน Sony Xperia Z เวลาที่ใช้โหมดนี้จะมีตัวเลือกให้เราเล่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเอฟเฟคไดโนเสาร์, ใต้ท้องทะเล หรือแม้แต่ภูติในเทพนิยาย ใช้เล่นขำขำได้ครับ อันนี้ต้องมีจินตนาการพอสมควรเลยนะ
- Background defocus?-?มันก็คือการรีโฟกัสหลังจากถ่ายภาพนี่แหละครับ แต่ในกรณีของ Sony Xperia Z3 จะเลือกได้ว่าต้องการให้ภาพเบลอมากหรือเบลอน้อย แต่ไม่สามารถเลือกจุดโฟกัสหลังถ่ายภาพได้ จุดโฟกัสจะเลือกได้แค่ก่อนถ่ายภาพเท่านั้น
- Timeshift Burst?-?โหมดนี้จะเป็นการถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว (เร็วกว่ากดปุ่มชัตเตอร์ค้างอีกนะครับ) แล้วให้เราเลือกว่าจะใช้ภาพไหน โดย Sony Xperia Z3 จะรัวเก็บภาพก่อนที่เราจะตั้งใจกดชัตเตอร์เสียอีก เรียกว่าไม่พลาดทุกช่วงเวลาสำคัญจริงๆ ครับ แต่เรื่องความชัดของรูปภาพนั้นอีกเรื่องนะ
- 4K Video?-?มันคือการถ่ายวีดีโอแบบปกติแต่จะถ่ายวีดีโอที่มีความละเอียดสูงมากถึง 4 เท่าของระดับ Full HD หรือที่เรียกกันว่า 4K และในตอนนี้ทีวีที่มีความละเอียดสูงระดับ 4K ก็มีออกมาให้เห็นในท้องตลาดมากขึ้น ทำให้ฟีเจอร์การถ่ายวีดีโอ 4K ค่อนข้างน่าสนใจในระดับหนึ่ง ส่วนตัวผมเชื่อว่าในอีกปีถึงสองปี ทีวีความละเอียด 4K จะมีราคาที่ถูกลงกว่านี้อีก ถึงตอนนั้นการบันทึกวีดีโอ 4K จะเป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ เลยหล่ะครับ
- Social Live?-?โหมดนี้จะเป็นการล็อกอินเข้ากับ Facebook ของเรา เมื่อถ่ายวีดีโอด้วยโหมด Social Live ก็จะทำการอัพโหลดวีดีโอที่เรากำลังถ่ายขึ้น Facebook แบบสตรีมสดได้ทันที (นึกถึง Google Glass ครับ) โดยจะถ่ายวีดีโอได้นานสุด 10 นาที แถมเพื่อนยังสามารถคอมเม้นกันได้แบบสดๆ อีกด้วย เสียอย่างเดียวตรงที่อินเทอร์เน็ตบ้านเรายังแรงไม่พอนี่แหละครับ เลยทำให้สตรีมได้ไม่ค่อยลื่นไหลเท่าที่ควร
- AR Fun – ถ้าคิดว่า AR Effect จินตนาการบรรเจิดแล้ว AR Fun นี่บรรเจิดกว่าเยอะ เพราะใน AR Fun เราจะเป็นผู้กำหนดตัวเอฟเฟคได้เองตามใจชอบครับ เช่นอยากให้ธนูไปปักหัวเพื่อนก็แค่แตะไปที่หน้าเพื่อนในเมนูกล้องเท่านั้นเอง และยังรองรับการถ่ายวีดีโอด้วย มาเต็มทั้งภาพและเสียงเลย
- Face In – เคยไหมครับ ถ่ายรูปให้เพื่อนแต่ก็อยากจะมีส่วนร่วมในรูปนั้นด้วย โหมด Face In น่าจะตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว เพราะเป็นการถ่ายรูปโดยใช้กล้องหน้าและกล้องหลังพร้อมกัน แต่ความพิเศษคือเราสามารถใส่เอฟเฟคและจัดตำแหน่งของกล้องหน้าได้เองตามใจชอบ
สำหรับการใช้งานกล้อง Sony Xperia Z3 ต้องบอกว่าจุดบอดของกล้องไม่ใช่ที่ฮาร์ดแวร์แต่อย่างใด แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ซอฟท์แวร์ในโหมด Auto ล้วนๆ เลยครับ เพราะโหมด Auto ค่อนข้างมึนๆ ในบางสถานการณ์ ทำให้การใช้โหมด M แล้วเลือก SCN ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะทำให้ถ่ายรูปได้สวยกว่า แต่โหมด M ก็ดัน Manual สมชื่อครับ เพราะผู้ใช้ต้องปรับแต่งค่าต่างๆ เองแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความละเอียดของรูปถ่าย, วิธีการโฟกัส ฯลฯ และความละเอียดสูงสุดที่ 20.7 ล้านพิกเซลยังไม่รองรับ SCN ต่างๆ ที่มีซะด้วย ทำให้ความละเอียดของภาพส่วนมากจะอยู่ที่ 8 ล้านพิกเซลครับ เพราะรองรับโหมดต่างๆ แทบทั้งหมด
โหมด Auto ก็ยังคง……เหมือนเดิม
การถ่ายรูปตอนกลางคืนหรือพื้นที่แสงน้อยด้วย Sony Xperia Z3 ในโหมด Auto สำหรับผมถือว่าสอบตกอย่างแรงครับ ข้อดีเดียวของโหมด Auto ตอนถ่ายกลางคืนคือ “ภาพไม่สั่น” เท่านั้นเอง แต่ถ้าเลือกเป็นโหมดถ่ายภาพกลางคืนนี่เหมือนใช้กล้องคนละตัวเลยครับ การชดเชยแสงทำได้ดีมาก Noise ก็มีในระดับที่รับได้ แต่ก็ต้องแลกมากับ Speed Shutter ที่ต่ำมาก ทำให้มีโอกาสภาพสั่นได้ เวลาใช้โหมดกลางคืนจึงต้องถือเครื่องให้นิ่งครับ
ส่วนกล้องหน้าของ Sony Xperia Z3 จะมาพร้อมกับโหมดหน้าฟรุ้งฟริ้งแบบออโต้ครับ โดยตัวแอพพลิเคชันกล้องจะตรวจจับใบหน้าโดยอัตโนมัติ แล้วก็จัดการแต่งให้หน้าเนียน แต่ปัญหาคือคุณภาพของรูปถ่ายนี่แหละครับ เพราะมีความละเอียดแค่เพียง 2 ล้านพิกเซลเท่านั้น และในการถ่ายรูปในที่แสงน้อย กล้องหน้าของ Sony Xperia Z3 ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรครับ
และนี่คือรูปถ่ายจากกล้องของ Sony Xperia Z3 ครับ ส่วนมากจะเป็นการใช้โหมด Auto แต่ถ้าเป็นรูปในตอนกลางคืนจะมีทั้งรูปที่ใช้โหมด Auto และโหมด M ครับ
Performance
ประสิทธิภาพโดยรวมของ Sony Xperia Z3 ไม่ต้องพูดอะไรมาก สมศักดิ์ศรีของเรือธงอย่างแน่นอน ด้วยสเปคที่จัดเต็มมาขนาดนี้ ถึงจะไม่ได้มีสเปคที่สดใหม่ แต่รับรองว่าแรงในระดับที่เกินใช้งานแน่นอน เพราะ CPU Snapdragon 801 ความเร็ว 2.5 GHz ก็ยังไม่ถือว่าตกรุ่นนะครับ ยังอยู่ในระดับหัวแถวของ CPU ในโลกมือถืออยู่ ส่วนแรมของ Sony Xperia Z3 ก็ให้มาที่ 3 GB มากพอที่จะเปิดแอพฯ สลับแอพฯ โดยที่ไม่มีอาการกระตุกให้เห็น รวมถึงจะใช้เล่นเกมหนักๆ ที่กินกราฟฟิคก็ทำได้สบายๆ ไม่มีอาการกระตุกให้หงุดหงิดใจ รวมถึงการเล่นไฟล์วีดีโอ Sony Xperia Z3 สามารถเปิดไฟล์วีดีโอความละเอียด 4K ได้อย่างลื่นไหล เพราะฉะนั้นไฟล์วีดีโอระดับ Full HD นี่ถือว่าจิ๊บๆ เลยหล่ะครับ
แต่ปัญหาหลักของ Sony Xperia Z3 ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความร้อนครับ เช่นเดียวกับตอน Sony Xperia Z2 นั่นแหละ โดยเฉพาะเรื่องแอพกล้องปิดตัวลงเมื่อความร้อนสูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ฮาร์ดแวร์เสื่อมก็ยังคงมีให้เห็นใน Sony Xperia Z3 เหมือนเคย แต่ก็ไม่ได้ปิดตัวลงพร่ำเพรื่อเหมือนตอน Sony Xperia Z2 นะครับ ส่วนมากจะขึ้นเป็นข้อความแจ้งเตือน และถ้าไม่ได้ดึงดันที่จะใช้งานต่อเนื่องนานๆ ก็ไม่ค่อยพบอาการแอพกล้องปิดตัวเอง ส่วนการใช้งานโดยรวมพบว่าตัวเครื่องไม่ค่อยมีความร้อนมากเท่าไหร่ เต็มที่ก็แค่อุ่นๆ ครับ
สำหรับแบตเตอรี่หรือการจัดการพลังงานของ Sony Xperia Z3 จัดว่าอยู่ในระดับต้นๆ ของชาร์ทสมาร์ทโฟนเลยครับ ในการเปิดตัว Sony Xperia Z3 ทาง Sony เคลมว่า Sony Xperia Z3 สามารถใช้งานในโหมดปกติได้ถึง 2 วัน ตรงนี้ต้องชมการจัดการพลังงานที่ตัวรอมของ Sony Xperia Z3 ที่ออกแบบมาดีมาก รวมถึงการเลือกใช้ฮาร์ดแวร์ได้เหมาะสม และแบตเตอรี่ที่สุดอึดนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไม Sony จึงไม่ใส่ CPU ที่แรงกว่านี้ และหน้าจอความละเอียด 2K ลงมาใน Sony Xperia Z3 ครับ ส่วนการใช้งานใน STAMINA mode ก็ไม่ต้องสืบเลยครับ ใช้งานยาวๆ กันลืมที่ชาร์จไฟเลยทีเดียว
Overall
ภาพรวมของ Sony Xperia Z3 ก็จัดเป็นสมาร์ทโฟนเรือธงที่ทำได้ดีตามมาตรฐานของ Sony ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดีไซน์แบบ Omnibalanced ที่ให้ความรู้สึกหรูหรา, แข็งแรงและทนทาน ด้วยวัสดุด้านหลังที่ทำมาจากกระจก และกรอบโลหะที่มีการปรับปรุงเรื่องมุมของตัวเครื่องที่โค้งมน เพื่อรองรับแรงกระแทกในกรณีที่ทำเครื่องหล่น หรือเผลอหยิบไปกระแทกพื้นผิวแข็งๆ ส่วนงานประกอบจัดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก บรรดาฝาปิดพอร์ตต่างๆ ทำได้ดี สมกับที่เป็นสมาร์ทโฟนกันน้ำในระดับของการดำน้ำลึก 1.5 เมตร บรรดาฟีเจอร์ต่างๆ ก็จัดเต็ม รวมถึงบรรดาเทคโนโลยีจาก Sony ที่อัดแน่นอยู่ใน Sony Xperia Z3 เครื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น X-Reality for Mobile, Sony G Lens, Walkman, Hi-Res Audio ซึ่งก็ถือว่าคุ้มค่าคุ้มราคาค่าตัวของ Sony Xperia Z3 ที่ 23,990 บาทแหละครับ
ข้อดี
- การดีไซน์, วัสดุสมราคา งานประกอบจัดว่าแน่นหนามาก
- รายละเอียดเล็กน้อยในดีไซน์บางส่วนทำออกมาได้ประทับใจ (เช่นขอบเครื่องที่โค้งมน)
- หน้าจอคมชัด มุมมองกว้าง สีสันสมจริง
- แบตเตอรี่อึดมาก ใช้งานข้ามวันได้สบายๆ
- การเข้าสู่โหมดกล้องทำได้รวดเร็วมาก โหมด M ยังคงไว้ใจได้เสมอ
- เป็นมือถือเรือธงที่ครบเครื่อง, Ram เยอะ, เพิ่มหน่วยความจำภายในได้
ข้อสังเกต?
- กล้องหลังในโหมด Auto ค่อนข้างมึน, กล้องหน้ายังไม่ค่อยประทับใจ
- ความร้อนสมัย Sony Xperia Z2 ยังคงมีให้เห็น แต่ก็ได้รับการปรับปรุงบ้างแล้ว
- Bloatware ที่ลบทิ้งไม่ได้ให้มาเยอะพอสมควร บางอันก็แทบไม่ได้ใช้งาน
- X-Reality for mobile, Super-vivid mode ให้ภาพที่สวยขึ้น คมชัดขึ้น แต่ก็แลกมากับสีของภาพที่สดเกินจริง
ขอบคุณเครื่องรีวิว Sony Xperia Z3 จาก โซนี่ ประเทศไทยด้วยครับ