ช่วงหลังๆ มานี่ Sony เป็นอีกค่ายมือถือที่ทำสมาร์ทโฟนออกมาได้เข้าตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องราคาที่เริ่มจะสมเหตุสมผลและทันตลาดมือถือบ้านเราขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ขายมือถือในราคาที่แพงเวอร์เหมือนเคย (แต่ก็ยังไม่ได้ถูกอะไรขนาดนั้นนะ) และมือถือ Sony ที่เรานำมารีวิวให้ชมกันในวันนี้นั้นเป็นอีกหนึ่งรุ่นในตลาดมือถือระดับกลางที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ กับการจั่วหัวโดย Sony ว่า Sony Xperia C3 เป็น??สมาร์ทโฟนเซลฟีที่ดีที่สุดในโลก? และ??สมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดในโลกสำหรับถ่ายภาพเซลฟี? และไม่ใช่การพูดลอยๆ นะครับว่า Sony Xperia C3 เป็นสมาร์ทโฟนเซลฟี่ที่ดีที่สุดในโลก แต่ผลการทดสอบดังกล่าวนั้นเขามีวิธีการทดสอบที่มีหลักการและเชื่อถือได้ เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจวิธีการทดสอบรวมถึงผลการทดสอบต่างๆ ก็สามารถเข้าไปรับชมได้ที่นี่ครับ – การอ้างสิทธิและผลการทดสอบ Sony Xperia C3
แต่ในรีวิว Sony Xperia C3 โดยทีมงาน SpecPhone นั้น จะไม่ได้เน้นที่การทำงานของกล้องหน้าเพียงอย่างเดียวแน่นอน โดยเราจะรีวิวเจ้า Sony Xperia C3 ในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ, วัสดุและงานประกอบ, ซอฟท์แวร์, ประสิทธิภาพ และที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือกล้องครับ รับรองว่าในรีวิว Sony Xperia C3 นี่รีวิวจัดเต็มให้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลังกันเลยทีเดียว เพราะเราเชื่อว่าการที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือซักเครื่องมาใช้งานนั้น ต้องดูที่องค์ประกอบหลายส่วนครับ แต่อันดับแรกเรามารู้จักกับสเปคคร่าวๆ ของเจ้า Sony Xperia C3 กันก่อนดีกว่า
สเปค Sony Xperia C3 รุ่นซิมเดียว รองรับ 4G LTE (D2533)
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD 720p
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 400 (MSM8226) Quad-Core ความเร็ว 1.2 GHz
- ชิปกราฟฟิค Adreno 305
- Ram 1 GB
- หน่วยความจำภายใน 8 GB รองรับ MicroSD Card ความจุสูงสุด 32 GB
- ระบบปฏิบัติการ Android 4.4.2 Kitkat
- กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล Exmor RS พร้อมแฟลช LED
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล เลนส์มุมกว้าง 25 มม. พร้อมแฟลช LED ที่ให้แสงนุ่มนวล
- รองรับการใช้งาน 4G LTE (Dtac/Truemove-H)
- รองรับการใช้งาน 3G ทุกเครือข่าย (AIS/Dtac/Truemove-H/My by Cat)
- ขนาดตัวเครื่อง 156 x 78.5 x 7.6 มิลลิเมตร
- น้ำหนักตัวเครื่อง 150 กรัม
- แบตเตอรี่ความจุ 2500 mAh พร้อม STAMINA Mode ช่วยในการประหยัดพลังงาน
- ราคา 9,990 บาท
- สเปคเต็มๆ Sony Xperia C3
สำหรับอุปกรณ์ในกล่องของ Sony Xperia C3 ก็จะเป็นชุดอุปกรณ์มาตรฐาน ได้แก่ ตัวเครื่อง Sony Xperia C3, สาย USB, อแดปเตอร์, ชุดหูฟัง Smalltalk และคู่มือครับ ตัวกล่องก็เป็นแพคเกจกล่องกระดาษที่ใช้สำหรับมือถือระดับกลางของ Sony คือมีขนาดใหญ่ เวลาเปิดต้องคว่ำหน้ากล่องลง แต่กล่องแบบนี้ต้องเก็บรักษาดีๆ หน่อยนะครับ เพราะว่ามันค่อนข้างจะเลอะง่ายเลยทีเดียว
อ้อ!! มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Sony Xperia C3 ที่วางขายในประเทศไทยครับ โดย Sony ได้นำ Sony Xperia C3 เข้ามาขายในบ้านเราด้วยกัน 2 โมเดล ได้แก่ Sony Xperia C3 โมเดล D2533 (ตัวที่รีวิว) ที่จะเป็นรุ่นซิมเดียวและรองรับการใช้งาน 4G LTE กับอีกโมเดลจะเป็น Sony Xperia C3 Dual โมเดล D2502?ซึ่งเป็นรุ่น 2 ซิมนั่นเอง (ไม่รองรับ 4G LTE) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รีวิว Sony Xperia C3 ของเรานั้นสามารถใช้อ้างอิงได้ทั้ง 2 โมเดลครับ เพราะนอกจากรองรับ 4G LTE กับรองรับ 2 ซิมแล้ว ที่เหลือก็เหมือนกันหมดเลย
Design
ดีไซน์ของ Sony Xperia C3 จะค่อนข้างมีความคล้ายกับเจ้า Sony Xperia T3?เลยครับ อันที่จริงต้องบอกว่าหน้าตามันเหมือนกันเด๊ะเลยมากกว่า แต่ขนาดตัวของ Sony Xperia C3 จะใหญ่กว่าเล็กน้อย สืบเนื่องมาจาก Sony Xperia C3 มีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ว่า Xperia T3 นั่นเอง นอกจากนี้ Sony Xperia C3 ยังใช้วัสดุเหมือนกับ Sony Xperia T3 ด้วยครับ ซึ่งก็คือขอบโลหะเงาวับ และฝาหลังที่ใช้วัสดุเป็นพลาสติกแบบ Soft Touch
จุดเด่นในเรื่องของการออกแบบของ Sony Xperia C3 จะอยู่ที่ด้านหน้าครับ แต่ไม่ได้อยู่ที่หน้าจอขนาดใหญ่หรอกนะ แต่อยู่ที่กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซลนี่แหละครับ สงสัย Sony กลัวคนจะไม่รู้ว่านี่มันเป็นสมาร์ทโฟน “PROSelfies” ? เลยจัดเซนเซอร์ความละเอียด 5 ล้านพิกเซลที่มีโมดูลค่อนข้างใหญ่มาไว้ด้านหน้าซะเลย (เผลอๆ ขนาดจะเท่ากับกล้องหลังเลยหล่ะครับ) ความโดดเด่นของกล้องหน้าใน Sony Xperia C3 นั้นอยู่ในระดับที่ว่าเห็นครั้งแรกนี่รู้สึกเลยว่ามันต้องมีอะไรพิเศษแน่ๆ อีกทั้งด้านข้างของกล้องหน้ายังมีแฟลช LED ดวงเล็กๆ ที่ทาง Sony บอกว่าเป็นแฟลชที่เหมาะกับการถ่ายหน้าคนมากที่สุด เนื่องจากเป็นแฟลชที่ให้แสงนุ่มนวล นึกภาพพวกแฟลชกล้องใหญ่ที่ใส่ที่ครอบแฟลชอ่ะครับ หลักการเดียวกันเลย
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ บริเวณด้านหน้าของ Sony Xperia C3 ก็จะประกอบไปด้วยหน้าจอ IPS ขนาดใหญ่ถึง 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD 720p ด้านบนของหน้าจอประกอบไปด้วยโลโก้ SONY, ลำโพงสำหรับสนทนา, กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซลพร้อมแฟลช LED ส่วนด้านล่างของหน้าจอจะประกอบไปด้วยไมค์สำหรับสนทนาโทรศัพท์ครับ โดยไมค์สำหรับสนทนาของ Sony Xperia C3 ออกแบบมาได้ค่อนข้างประหลาดดีครับ เพราะมีดีไซนืเหมือนกับลำโพงสำหรับสนทนาด้านบนเลย เพียงแต่ว่ามันเป็นไมค์สำหรับสนทนาครับ แล้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นลำโพงคู่เหมือนในรุ่นใหญ่อย่าง Sony Xperia Z3 ซะด้วย เพราะลำโพงหลักของ Sony Xperia C3 จะอยู่ทางด้านหลังของตัวเครื่อง?ถือเป็นดีไซน์ที่แปลก แต่ก็จัดว่าดูดี
นอกจากกล้องหน้าจะเด่นแล้ว ดีไซน์โดยรวมก็ถือว่าโดดเด่นไม่แพ้กัน
มาต่อกันที่ด้านข้างของ Sony Xperia C3 กันบ้างครับ อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วว่าขอบด้านข้างของ Sony Xperia C3 ใช้วัสดุเป็นโลหะแบบเงา โดยรวมก็ทำให้ตัวเครื่องดูหรูหราขึ้นเยอะ แต่ฟิลลิงในการจับถือจะรู้สึกว่ามันคมและกระด้างไปหน่อย อย่างผมนี่อาจจะไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ก็ตรงที่มันกระด้างนี่แหละครับ ขัดกับตัวฝาหลังที่เป็น Soft Touch พอสมควร แต่ตรงนี้ก็อยู่ที่ความชอบของแต่ละบุคคลครับ บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่ามันน่ารำคาญก็ได้
สำหรับรายละเอียดของด้านข้าง Sony Xperia C3 เริ่มจากทางขวามือ จะประกอบไปด้วยช่องใส่ซิมการ์ดที่มีฝาปิด และข้างๆ ช่องใส่ซิมการ์ดจะมีปุ่มเล็กๆ สีเหลือง ใช้สำหรับปิดเครื่องแบบฉุกเฉินกรณีที่เครื่องค้างครับ ถัดมาจะเป็นปุ่ม Power, ?ปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มชัตเตอร์ครับ ด้านบนจะประกอบไปด้วยช่องเสียบหูฟัง รองรับแจ็คขนาดมาตรฐาน 3.5 มิลลิเมตร ส่วนช่องเสียบสาย USB กับช่องใส่ MicroSD Card จะอยู่ทางซ้ายมือของตัวเครื่อง โดยช่องใส่ MicroSD Card จะมีฝาปิดด้วยครับ ข้อดีของการที่มีฝาปิดคือช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าไปทำอันตรายในเครื่องได้ในระดับหนึ่ง แต่ข้อเสียของฝาปิดแบบนี้คือใช้ไปนานๆ มันจะหลุดออกมาครับ ไม่ก็หักไปเลย แต่ตรงนี้สามารถเปลี่ยนเองได้ ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกฝาปิดของแท้จะอยู่ที่ราคาประมาณ 200 บาทครับ
ด้านหลังของ Sony Xperia C3 ใช้วัสดุเป็นพลาสติกแบบ Soft Touch ที่เก็บรอยนิ้วมือและรอยขีดข่วนได้อย่างดีเยี่ยม แต่บางคนก็ชอบนะครับ เพราะพื้นผิวแบบ Soft Touch มีดีที่สัมผัสอันนุ่มนวลสมกับชื่อ Soft Touch โดยเครื่องรีวิว Sony Xperia C3 ที่ทางเราได้รับมานั้นเป็นตัวเครื่องสีดำ ให้ความรู้สึกเรียบหรูและค่อนข้างเป็นทางการครับ (เครื่องขายจริงมีให้เลือก 3 สี ได้แก่ ขาว, ดำ และเขียว)?แต่ข้อเสียของตัวเครื่องสีดำบนฝาหลังแบบซอฟทัชคือเวลาเกิดรอยนิ้วมือมันจะโดดเด่นมากเป็นพิเศษ และเท่าที่ลองใช้งานพบว่าไม่ถึงวันฝาหลังของ Sony Xperia C3 เครื่องรีวิวก็เต็มไปด้วยรอยนิ้วมือครับ
ส่วนรายละเอียดของด้านหลังก็จะประกอบไปด้วยโลโก้ SONY, โลโก้ XPERIA, ลำโพงหลักของตัวเครื่องที่ให้เสียงค่อนข้างแหลมบาดหู แต่ให้เสียงที่ดังสะใจจริงๆ ครับ (แต่ต้องเปิดฟีเจอร์ xLOUD นะ) ถัดขึ้นไปทางด้านบนจะเป็นโลโก้ NFC (เวลาจะเชื่อมต่อ NFC ก็ให้แตะบริเวณโลโก้นี่แหละครับ) และกล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซลพร้อมแฟลช LED อ้อ!! ลืมบอกไปว่าฝาหลังของ Sony Xperia C3 ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้นะครับ
มาถึงหน้าจอของ Sony Xperia C3 กันบ้างครับ Sony Xperia C3 มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว โดยเป็นจอภาพแบบ IPS ครับ จึงให้มุมมองภาพที่กว้างกว่าหน้าจอแบบ TFT รวมถึงการใช้งานกลางแดดก็ทำได้ดีกว่าจอภาพแบบ TFT ด้วย ความละเอียดของจอภาพจะมีความละเอียดระดับ HD 720p เมื่ออยู่บนหน้าจอขนาด 5.5 นิ้วก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันคมมากนัก แต่ก็ไม่ได้แย่ครับ เม็ดพิกเซลมีให้เห็นแน่นอนถ้าพยายามเพ่งมองหน้าจอ ส่วนสีสันของจอภาพ Sony Xperia C3 ทำออกมาค่อนข้างดีครับ ให้สีที่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป พูดง่ายๆ ว่าให้สีที่ค่อนข้างสมจริงไปจนบางทีก็รู้สึกว่าสีมันออกซีดๆ นิดหน่อย ประเด็นคือ Sony Xperia C3 ไม่ได้มาพร้อมกับฟีเจอร์อันเลื่องชื่อของมือถือ Sony อย่าง Bravia Engine 2 หรือ X-Reality for Mobile ที่เป็นเหมือนโปรไฟล์หน้าจอสำหรับดูรูปภาพและวีดีโอครับ คาดว่าคงเป็นเพราะถูกจัดอยู่ในมือถือระดับกลาง ฟีเจอร์ตรงส่วนนี้เลยถูกตัดออกไป แต่ก็ไม่ได้จัดว่าน่าซีเรียสอะไรครับ เพราะ Sony ก็ทดแทนให้ด้วยฟีเจอร์การจัดการ White Balance ได้ด้วยตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าสีจอภาพไม่สมจริง ติดเหลือง ติดแดง หรือติดเขียวมากเกินไปก็แค่ปรับเอาครับ
ภาพรวมของ Sony Xperia C3 ก็จัดว่าเป็นมือถือที่หน้าตาดีทีเดียวครับ ดีไซน์ถอดแบบมาจากรุ่นกลางค่อนไปทางใหญ่อย่าง Sony Xperia T3 วัสดุและงานประกอบไว้ใจได้ตามแบบฉบับของ Sony โดยเฉพาะงานประกอบนี่อย่างแน่นเลยครับ เห็นได้จากตอนที่เปิดเสียงลำโพงดังสุด พบว่าตัวเครื่องและฝาหลังไม่ได้มีอาการสั่นแต่อย่างใด แสดงว่าข้างในนี่แน่นมาก การจับถือก็ทำได้ถนัดมือครับสำหรับมือถือหน้าจอ 5.5 นิ้วแบบปกติที่ไมไ่ด้มีขอบจอบางเฉียบเหมือนแบรนด์อื่นๆ แต่การออกแบบในส่วนของด้านหลังก็ช่วยในการจับถือได้เยอะครับ เพราะด้านหลังของ Sony Xperia C3 ออกแบบมาในลักษณะของหลังเต่าที่โค้งเข้ากับอุ้งมือพอดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมว่า Sony ไม่ได้ตั้งใจออกแบบมาให้ Sony Xperia C3 เหมาะกับการใช้งานด้วยมือข้างเดียวตั้งแต่แรกแล้วหล่ะ จะเพราะอะไรลองมาดูที่ส่วนต่อไปของรีวิว Sony Xperia C3 ในส่วนของซอฟท์แวร์เลยครับ
สำหรับรูปภาพของตัวเครื่อง Sony Xperia C3 ในมุมอื่นๆ สามารถรับชมได้จาก Gallery เลยครับ
Software
Sony Xperia C3 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการที่ไม่ได้ถือว่าใหม่มากอย่าง Android 4.4.2 Kitkat แต่ก็ได้เรื่องความเสถียรครับ โดยตัว Android 4.4.2 Kitkat บน Sony Xperia C3 จะถูกครอบด้วย Xperia Home UI ที่ทาง Sony พัฒนาขึ้นมาเองอีกที ภาพรวมของไอคอนและหน้าตา UI ก็จะดูล้ำๆ ตามสไตล์ของค่ายอารยธรรมนี่แหละครับ ส่วนหน้า Home ของ Sony Xperia C3 จะวางไอคอนได้ 5 แถวด้วยอานิสงส์จากหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ และด้วยความที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ในระดับของแฟบเล็ตนี่เอง ทำให้ตัวรอมของ Sony Xperia C3 สามารถใช้งานในแนวนอนได้ทั้งจากในแอพพลิเคชัน ไปจนถึงหน้าโฮมปกติและหน้า App Drawer ด้วยเหตุผลนี้เองผมถึงได้บอกไว้ในตอนรีวิว Sony Xperia C3 ในส่วนของดีไซน์ไว้ว่า Sony ไม่ได้ตั้งใจออกแบบ Sony Xperia C3 ให้เหมาะแก่การใช้งานด้วยมือเดียว
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Sony Xperia C3 จะใช้งานด้วยมือข้างเดียวไม่สะดวกนะครับ ในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ ที่เราต้องใช้งานมือถือด้วยมือข้างเดียว Sony ก็เตรียมโหมด One-handed operations เอาไว้รองรับการใช้งานด้วยมือข้างเดียวด้วยครับ โดย One-handed operations จะมีทั้งในส่วนของการปลดล็อกเครื่องแบบ Pattern และการกดปุ่มโฮมติดกัน 2 ครั้งเพื่อย่น Notification Bar ลงมาด้านล่าง ทำให้เราสามารถเลือก Quick setting ได้ง่ายขึ้นด้วยมือเดียว รวมถึงบรรดาการแจ้งเตือนต่างๆ ด้วย ก็ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ทำออกมาได้ตอบโจทย์สำหรับการใช้งานมือถือจอใหญ่ไซส์ Phablet ครับ
แอพพลิเคชันอื่นๆ ที่มีใน Sony Xperia C3 เอาแค่ที่มีมาให้ในรอมศูนย์เนี่ย ส่วนตัวผมคิดว่า Sony ในแอพพลิเคชันประเภท Bloatware มามากเกินไปครับ และที่สำคัญคือแอพส่วนใหญ่ที่ติดมากับรอมนั้นไม่สามารถทำการ Uninstall ได้ซะด้วย แต่ยังดีที่แอพพลิเคชันบางตัวถ้าเราไม่ไปกดใช้งานครั้งแรกมันก็ยังไม่ทำงานและไม่กินทรัพยากรในเครื่องครับ โดยแอพพลิเคชันบางตัวที่มีใน Sony Xperia C3 ก็จะเป็นแอพพลิเคชันเฉพาะที่มีในมือถือ Sony เท่านั้น เช่น Walkman, Movies และ Sketch แต่ก็ไม่ได้ปรับแต่งได้เหมือนอย่างพวกเรือธง ที่เห็นได้ชัดก็คือ Walkman เลยครับ แอพ Walkman บน Sony Xperia C3 ปรับได้มากสุดก็แค่ ClearAudio+ เอง แต่ส่วนตัวผมว่าแค่นี้ก็โอเคแล้วครับ คิดซะว่าปรับง่ายดี ตัวเดียวจบ
Camera
มาถึงจุดเด่นที่สุดของ Sony Xperia C3 กันบ้างครับ ซึ่งก็คือในส่วนของกล้องนั่นเอง แต่ไม่ได้หมายถึงกล้องหลังเหมือนอย่างรุ่นอื่นๆ นะครับ เอาเป็นว่ากล้องหลังของ Sony Xperia C3 เขาให้มาแค่ “พอใช้งาน” เท่านั้นแหละ เพราะพระเอกตัวจริงของ Sony Xperia C3 อยู่ที่กล้องหน้าระดับ PROSelfies ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อมกับแฟลช LED แสงนุ่มนวลที่ออกแบบมาเพื่อถ่ายหน้าคนโดยเฉพาะ
รายละเอียดของกล้องหน้าของ Sony Xperia C3 นอกจากจะใช้เซนเซอร์ความละเอียด 5 ล้านพิกเซลแล้ว ยังเป็นเลนส์ Wide 25 มิลลิเมตร (80 องศา) ซะด้วย ทำให้การเก็บภาพด้วยกล้องหน้าให้มุมมองที่กว้างพอตัวเลยครับ จะถ่ายรูปตัวเองกับฉากหลังสวยๆ หรือจะเซลฟี่กันเป็นหมู่คณะ กล้องหน้าของ Sony Xperia C3 ก็เก็บได้หมดครับ รับรองว่าไม่มีตกขอบแน่นอน และที่สำคัญคือความบิดเบี้ยวของภาพ (Distortion) บริเวณขอบรูปจะมีน้อยกว่าเลนส์ wide ของแบรนด์อื่นซะด้วยสิ เรียกว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีทีเดียวครับ (เลนส์บางตัวนี่เล่นเอาหน้าเบี้ยวกันเลยทีเดียว) สมกับที่ Sony คุยไว้ว่าเป็นสมาร์ทโฟน “PROSelfies”
โดยโหมดที่กล้องหน้าของ Sony Xperia C3 รองรับนั้นก็เท่ากับที่มีในกล้องหลังนี่แหละครับ แต่ส่วนมากจะใช้เป็นโหมด Auto กับโหมดสำหรับถ่ายเซลฟี่อย่าง Portrait retouch โดยในการรีวิวกล้องหน้าของ Sony Xperia C3 เราจะเน้นไปที่โหมด Portrait retouch เป็นพิเศษก็แล้วกันครับ เพราะโหมดนี้มันออกแบบมาเพื่อการเซลฟี่ หรือการถ่ายตัวเองโดยเฉพาะ แล้วที่สำคัญคือเลือกความสวยได้หลายแบบซะด้วยสิ
โหมด?Portrait retouch จะมีความพิเศษกว่าโหมดออโต้ทั่วไป 3 อย่าง ดังนี้ครับ
- สามารถเลือกความสวย และประเภทของความสวยได้ – เปรียบได้กับโหมดหน้าสวยของสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ นี่แหละครับ แต่ของ Sony จะแอดวานซ์กว่าตรงที่สามารถเลือกได้ว่าเราอยากสวยแบบไหน โดยมีความสวยให้เลือกกันถึง 11 แบบ มีตั้งแต่โหมดหน้าสวยแบบสวยธรรมชาติ, สวยแบบสาวออฟฟิศ, แบบหน้าเด็ก, แบบผิวแทน ไปจนถึงโหมดหน้าสวย (ที่น่าจะหมายถึงโทนการแต่งหน้า) สำหรับ Party หรือการไปเที่ยวผับอีกด้วย เรียกว่าไม่ต้องง้อเครื่องสำอางกันเลยทีเดียว (โดยเฉพาะโหมด Party นี่มาเต็มมากครับ กรีดอายไลน์เนอร์อย่างเนียน) ที่สำคัญคือมันแต่งหน้าทะลุแว่นได้ด้วยครับ ต่อให้เราใส่แว่นอยู่ Portrait retouch ก็สามารถแต่งหน้าให้ได้
- สามารถเลือกกรอบของรูปได้ – อันนี้เป็นฟีเจอร์ฟรุ้งฟริ้งเหมือนตอนที่เราใส่กรอบเวลาที่แต่งรูปนี่แหละครับ แต่ของ Sony เราจะเห็นกรอบรูปตั้งแต่ตอนถ่ายกันเลยทีเดียว ทำให้เราสามารถเลือกตำแหน่งให้เหมาะสมกับกรอบรูปได้นั่นเอง โดยกรอบรูปใน Portrait retouch จะมีให้เลือกด้วยกัน 10 แบบ ส่วนมากจะเป็นกรอบรูปแบบฟรุ้งฟริ้งทั้งนั้นเลย
- สามารถเคาะหลังเครื่องติดกันสองครั้งแทนการกดชัตเตอร์ – ด้วยขนาดตัวเครื่องที่ค่อนข้างใหญ่ อาจจะทำให้การถ่ายรูปเซลฟี่ทำได้ลำบากครับ ฟีเจอร์นี้เลยมีขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาในส่วนตรงนี้ และใช้ได้เฉพาะในโหมด Portrait retouch เท่านั้นด้วย ซึ่งก็คือการเคาะฝาหลังของตัวเครื่องติดกัน 2 ครั้ง แต่ต้องเคาะเร็วๆ นะครับ ถ้าเคาะติดก็จะมีค่าเท่ากับการกดปุ่มชัตเตอร์ ทำให้เราไม่ต้องเอื้อมมืออีกข้างไปกดปุ่มชัตเตอร์ให้ลำบาก แต่ส่วนตัวผมมองว่าการดับเบิลแท็บที่หลังเครื่องจะเหมาะกับการถ่ายเซลฟี่แบบแนวตั้งมากกว่าแนวนอนครับ เพราะในแนวนอนเราสามารถใช้ปุ่มชัตเตอร์แทนได้อยู่แล้ว
สำหรับคุณภาพของรูปถ่ายจากกล้องหน้าของ Sony Xperia C3 อยู่ในเกณฑ์ที่น่าประทับใจมากครับ เอาเป็นว่ากล้องหน้าของ Sony Xperia C3 นี่ผมว่าเหนือกว่ามือถือที่ราคาแพงกว่ามันหลายรุ่นเลยครับ รวมถึงเหนือกว่าเรือธงอย่าง Sony Xperia Z3 ซะอีก ส่วนหนึ่งมาจากเซนเซอร์ที่ทำออกมาดีครับ แสดงกว่าโมดูลที่ใหญ่ไม่ได้ทำเอาไว้โชว์เพียงอย่างเดียวนะ เพราะมันใช้งานได้จริงด้วย ส่วนแฟลช LED ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีครับ ช่วยในการเติมแสงได้ดีทีเดียว และที่สำคัญคือไม่ได้เป็นการทำร้ายหน้าเหมือนแฟลชกล้องหน้าของแบรนด์อื่นที่เป็นแสงแฟลชแข็งๆ ด้วย เพราะนอกจากจะช่วยเติมแสงกรณีที่แสงน้อยแล้ว แฟลช LED ที่กล้องหน้าของ Sony Xperia C3 ยังช่วยให้หน้าเนียนขึ้นด้วยครับ บอกเลยว่ากล้องหน้าของ Sony Xperia C3 นี่ไม่ธรรมดาเลยหล่ะ
และนี่คือตัวอย่างของภาพถ่ายจากกล้องหน้าของ Sony Xperia C3 โดยมีทั้งโหมด Auto และโหมด Portrait retouch ครับ
อ๊ะ!!! เกือบลืมพูดถึงกล้องหลังของ Sony Xperia C3 ไปเลยครับ สำหรับกล้องหลังของ Sony Xperia C3 จะเป็นกล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล Auto Focus มาพร้อมกับ Exmor RS สำหรับโทรศัพท์มือถือ ช่วยในการถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้นครับ และยังมาพร้อมกับโหมดในการถ่ายรูปอีกหลายๆ โหมดไล่มาตั้งแต่โหมด Auto (พร้อม HDR) ไปจนถึงโหมดที่ใช้จินตนาการบรรเจิดอย่าง AR Effect ก็มีให้เห็นครับ ส่วนคุณภาพของกล้องหลังส่วนตัวผมรู้สึกเฉยๆ นะ ใช้ถ่ายวิวถ่ายอะไรพวกนี้ก็ถือว่าโอเค แต่ผมว่าทีเด็ดของ Sony Xperia C3 ยังไงก็ต้องกล้องหน้าครับ เพราะมันสุดยอดจริงๆ
และนี่คือตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Sony Xperia C3 ทุกรูปถ่ายด้วยโหมด Auto ครับ
Performance
มาถึงประสิทธิภาพของ Sony Xperia C3 กันบ้างครับ ในการรีวิวส่วนนี้เราจะมาพูดถึงภาพรวมของการใช้งานเจ้า Sony Xperia C3 ในฐานะของการเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่ง ว่ามันจะลื่น, จะเร็วแค่ไหน หรือจะมีอาการเครื่องหน่วงหรือไม่อย่างไร บทความรีวิวในส่วนของ Performance มีคำตอบครับ
อันดับแรกมาดูที่ซีพียูของ Sony Xperia C3 กันก่อนครับ โดยเจ้า Sony Xperia C3 จะมาพร้อมกับ CPU Quad-Core ของทาง Qualcomm กับรุ่นยอดฮิตอย่าง Snapdragon 400 ที่แบรนด์อื่นๆ นิยมใช้กันนี่แหละครับ แต่ตัวที่อยู่ใน Sony Xperia C3 จะเป็นรุ่นความเร็ว 1.2 GHz รองรับการใช้งาน 4G LTE (ปกติส่วนมากจะใช้รุ่นความเร็ว 1.4 GHz) ข้อดีของการที่เลือกใช้ CPU ที่มีคล็อกสปีดต่ำคือทำให้การจัดการพลังงานของ Sony Xperia C3 ทำออกมาได้น่าประทับใจทีเดียวครับ แบตเตอรี่เรียกว่าใช้งานกันข้ามวันเลยทีเดียว ส่วนเรื่องความเร็วก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ครับ เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป และยังสามารถใช้เล่นเกมได้สบายๆ (ขึ้นอยู่กับการปรับความละเอียดของเกม)
ปัญหาของ Sony Xperia C3 จะไม่ได้อยู่ที่ CPU หรือแบตเตอรี่ครับ แต่กลับเป็น Ram 1 GB มากกว่า ถึงแม้ว่าแรม 1 GB จะถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป และยังพอที่จะเปิดแอพพลิเคชันพร้อมกันหลายแอพรวมถึง Small App ได้ แต่ก็ยังไม่ถือว่าลื่นเท่าที่ควร ยังพบอาการหน่วงบ้างประปรายครับ ถึงจะไม่ได้เจอบ่อยๆ แต่พอเจอเข้าบางทีก็ทำให้หงุดหงิดเล็กๆ ได้นะ อีกอย่างมือถือราคาเกือบหมื่นก็น่าจะจัดแรมมาให้มากกว่า 1 GB ได้แล้วมั้งครับ Sony แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอชมการการจัดการ Rom ของทาง Sony เองที่ทำออกมาได้ค่อนข้างดี ทำให้ Sony Xperia C3 สามารถรีดพลังของฮาร์ดแวร์ออกมาได้อย่างเต็มที่ครับ
ส่วนการจัดการพลังงานนั้นต้องบอกว่าเป็นอีกทีเด็ดของเจ้า Sony Xperia C3 เลยครับ ความอึดในการใช้งานต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งนี่ต้องบอกว่าอยู่ข้ามวันได้สบายๆ ด้วยตัวแบตเตอรี่ที่ให้ความจุค่อนข้างสูงที่ 2500 mAh และการจัดการพลังงานของรอมที่ทำออกมาได้ดี เอาเป็นว่าใช้ Sony Xperia C3 เนี่ย Power Bank อาจจะเป็นหมันเอาได้นะเออ เพราะนอกจากแบตเตอรี่ปกติจะอึดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเปิดโหมดโคตรประหยัดพลังงานอย่าง STAMINA Mode ก็ยิ่งประหยัดเข้าไปอีกเป็นเท่าตัวครับ อย่างเมื่อคืนผมชาร์จเจ้า Sony Xperia C3 เต็ม 100% ตอนประมาณ 2 ทุ่มแล้วถอดสายชาร์จพร้อมกับเปิด STAMINA Mode เอาไว้ พอมาดูตัวเครื่องอีกทีตอนเวลาประมาณ 9 โมงเช้าของวันรุ่นขึ้น พบว่าแบตเตอรี่ลดไปเพียงแค่ 2% เท่านั้นเอง
สรุปภาพรวมในส่วนของการรีวิวเรื่อง Performance ของ Sony Xperia C3 ก็คือเป็นมือถือที่ไม่ได้โดดเด่นเรื่องความแรงของซีพียู แต่จะเน้นไปที่ความเสถียรในการใช้งานจริงครับ ถามว่าซีพียูของ Sony Xperia C3 แรงมั้ย? ตรงนี้ผมตอบได้เต็มปากครับว่า ไม่แรง แต่ใช้งานทั่วไปได้สบายๆ แถมยังมีดีที่แบตเตอรี่สุดอึดอีกต่างหาก (แบตอึดนี่เหมือนกลายเป็นสัญลักษณ์ของมือถือ Sony ไปแล้วนะเนี่ย)
Overall
มาถึงส่วนสุดท้ายในรีวิวของ Sony Xperia C3 กันแล้วนะครับ อ่านรีวิว Sony Xperia C3 สมาร์ทโฟนโปรเซลฟี่แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ ส่วนตัวผมมองว่าเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจสำหรับมือถือในช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาทได้สบายๆ ด้วยจุดเด่นที่กล้องหน้าความละเอียดสูงถึง 5 ล้านพิกเซล และยังรองรับการใช้งาน 4G LTE ได้อีกต่างหาก สเปคก็ถือว่าทำออกมาได้น่าประทับใจในระดับหนึ่ง อาจจะไม่ได้แรงอะไรมากมาย แต่ก็ได้เรื่องของการประหยัดแบตเตอรี่เข้ามาทดแทน ถือว่าเป็นมือถือที่ทำออกมาได้ค่อนข้างสมดุลดีครับ เหมาะกับคนที่เน้นถ่ายรูปเซลฟี่บ่อยๆ น่าจะถูกใจกันเลยหล่ะ เอาเป็นว่าหากใครสนใจ Sony Xperia C3 ก็สามารถไปลองเล่นได้ตามร้านขายมือถือชั้นนำทั่วไป หรือในศูนย์ Sony ก็น่าจะมีให้ลองเล่นบ้างแล้วนะครับ สนนราคาค่าตัวก็อยู่ที่ 9,990 บาทเท่านั้นเอง
ข้อดี
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ให้ภาพถ่ายที่เกินราคาค่าตัวไปเยอะ แฟลช LED ที่กล้องหน้าก็ช่วยในการถ่ายเซลฟี่ได้จริง
- รองรับการใช้งาน 4G LTE ในไทย
- แบตเตอรี่ 2500 mAh ค่อนข้างอึดทีเดียว และยังมี STAMINA Mode อีกต่างหาก
- โหมดที่ช่วยซัพพอร์ตการใช้งานด้วยมือข้างเดียวช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นจริง
- หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ให้สีสันที่ค่อนข้างสมจริง และยังสามารถปรับ White Balance ได้เอง
ข้อสังเกต
- CPU Quad-Core ให้ความเร็วมาที่ 1.2 GHz ก็ต้องบอกว่าพอใช้งานได้
- Ram 1 GB สำหรับมือถือราคา 9,990 บาทถือว่าให้มาน้อยเกินไป
- Blaotware ที่ติดมากับรอมศูนย์มีเยอะ แถมลบไม่ได้อีกต่างหาก
ส่วนการเปรียบเทียบ Sony Xperia C3 กับมือถือรุ่นอื่นที่อยู่ในช่วงราคาใกล้เคียงกันนั้น เดี๋ยวเราจะมีบทความ Battle ระหว่างมือถือเซลฟี่ของทั้ง 3 ค่ายมาให้รับชมกันครับ โดยรุ่นที่เราจับมาแบทเทิลกันนั้นแต่ละแบรนด์ต่างก็ออกตัวว่าเป็นมือถือเซลฟี่ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Nokia Lumia 730 “ถ่าย Selfie ก็สนุกดี แต่ Wefie สนุกครบแก๊งค์กว่า” หรือ “เซลฟี่ตัวแม่” อย่าง Samsung Galaxy Grand Prime และสมาร์ทโฟน PROSelfies อย่าง Sony Xperia C3 ครับ สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ SpecPhone ได้ในเร็วๆ นี้แน่นอน