เมื่อช่วงเช้าแอดมินได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการที่รัฐบาลได้อนุมัติเงินจำนวน 20,000 ล้านบาทสำหรับโครงการพัฒนา Internet Broadband และ Gateway (Digital Hub) ภายในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งก็มีการแชร์บทความออกไปมากมาย และมีหลายคนสงสัยว่า “ไปเอาเงินมาจากไหน” แล้วทำไปเพื่ออะไร? ทำแล้วประชาชนอย่างเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าแอดมินพลาดเองที่ใช้คำค่อนข้างกำกวมอย่าง Single Gateway อาจนำมาซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ครับ บทความนี้ก็เลยรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าสรุปแล้วเราได้อะไรจากโครงการมูลค่า 20,000 ล้านดังกล่าว
สรุปแล้วมันคือโครงการอะไร?
งบประมาณสำหรับโครงการ Internet Broadband จำนวน 20,000 ล้านบาทที่ว่า จะถูกแบ่งออกเป็น 2 เฟสใหญ่ๆ โดยเฟสแรกในปี พ.ศ.2559 รัฐบาลจะนำไปลงทุนด้าน Internet Broadband หรือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้ทั่วถึงทั้งประเทศแบบทั้งประเทศจริงๆ เป็นจำนวนเงิน 15,000 ล้านบาท
“จากข้อมูลล่าสุด ณ ตอนนี้ จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดราว 70,000 กว่าหมู่บ้าน มีเพียงร้อยละ 53 ที่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต และเป็นการลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตโดยบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (True, 3BB, และเจ้าอื่นๆ) แต่ที่เหลืออีกร้อยละ 47 หรือราว 30,000 กว่าหมู่บ้านนั้นยังไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากบริษัทเอกชน มองว่า ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตมีจำนวนน้อย ทำให้การวางโครงข่ายอาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน” – VoiceTV
และนี่ก็คือที่มาของโครงการ Internet Broadband ความเร็วสูงจำนวน 15,000 ล้านบาทนั่นเอง เนื่องจากรัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ประชาชนทุกคนจะต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยผู้รับผิดชอบโครงการก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก TOT และ CAT Telecom ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนพื้นที่ที่มีโครงข่ายแล้วกว่า 50% จะต้องอัปเกรดความเร็วให้ถึง 30/5 Mbps โดยการ Upgrade นั้นกระทรวงต้องดูว่าจะเปลี่ยนสายทองแดงเป็นไฟเบอร์ทั้งหมด หรือจะเปลี่ยนแค่อุปกรณ์หัว-ท้าย ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง
ตรงนี้ก็ไว้รอดูกันต่อไป ว่าภายในปี พ.ศ. 2559 เนี่ย อีก 47% ที่เหลือจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ขั้นต่ำคือไม่น้อยกว่า 2 Mbps) ใช้กันอย่างทั่วถึงจริงหรือไม่
—————————————————————————
จากเฟสแรกที่ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 15,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาท เราจะเห็นว่ามีเงินเหลืออีก 5,000 ล้านบาทใช่ไหมครับ และนั่นก็จะเป็นเฟส 2 ของโครงการ ซึ่งในปี พ.ศ.2560 จะเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Gateway นั่นเอง
โดยเงินจำนวน 5,000 ล้านบาทจะถูกนำมาพัฒนาระบบเกตเวย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของระบบดิจิทัล ในการเชื่อมโยงเครือข่ายจากมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นการลงทุนทั้งด้านทะเลและทางบก ซี่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางจากทั้งสองซีกโลก
สรุปง่ายๆ คือโครงการ 5,000 ล้านบาทในปี พ.ศ.2560 คือการพัฒนาเกตเวย์ในบ้านเราให้ดียิ่งขึ้น และสำหรับใครที่สงสัยว่า Gateway คืออะไร ก็ตามนี้เลยครับ
“สมมุติว่าเราเปิดเว็บ Facebook.com ที่เราเปิดกันทุกวัน ก่อนอื่นคำขอเว็บของเราก็จะถูกส่งจากเครื่องของเราไปที่ ISP (Internet Service Provider) หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตก่อน เช่น True, Dtac, 3BB อะไรก็ว่ากันไปในแต่ล่ะเจ้า
หลังจากผ่าน ISP แล้วมันจะถูกส่งต่อไปที่ Gateway เพื่อที่จะเดินทางออกนอกประเทศไปยัง สิงคโปร์ (เพราะ Server ของ Facebook ที่ใกล้เราที่สุดอยู่ สิงคโปร์) จากนั้นมันก็จะผ่านเข้าไปยัง Gateway ของประเทศ สิงคโปร์ และสุดท้ายก็ไปถึงที่ Server ของ Facebook นั่นเอง” – arnondora
และถ้าบ้านเรามีการพัฒนาในส่วนตรงนี้ ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ Gateway ในบ้านเรามากขึ้น จากที่ปกติเวลาใช้อินเทอร์เน็ตออกนอกประเทศ ส่วนมากเราจะไปใช้เกตเวย์ที่สิงคโปร์ ไม่ก็มาเลเซียครับ
แล้วเราจะได้อะไรจากโครงการ 20,000 ล้านบาท?
อย่างแรกที่สุดคือเราจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้กันทั้งประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2559 ครับ ก็ในเมื่อเอกชนมองว่าไม่คุ้มที่จะลงทุน ทำให้บางหมู่บ้านในต่างจังหวัดไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้งาน จากข้ออ้างว่าลากสายไปไม่ถึงบ้างล่ะ หรือสายถึง แต่ความเร็วก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินซะเหลือเกิน บางบ้านนี่ได้อินเทอร์เน็ตวิ่งแค่ 1 Mbps แต่ต้องจ่ายเงินในแพคเกจราคาแพงๆ ปัญหานี้จะหมดไป เพราะทางรัฐบาลจะลงทุนด้วยตัวเองซะเลย แถมอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันก็น่าจะมีราคาที่ถูกลงด้วย
“ต้องบอกว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการให้อินเทอร์เน็ตฟรีแก่ประชาชน แต่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายโดยไม่ปิดกั้นเอกชน ทำให้เอกชนสามารถวางโครงข่ายร่วมกันกับเราได้ ดังนั้น ราคาค่าบริการต้องเป็นราคาที่ไม่แพง ต้องเป็นราคาระดับภูมิภาคที่ประชาชนสามารถจ่ายได้”
ส่วนโครงการเฟส 2 อันนี้อาจจะดูไกลตัวไปหน่อย ณ ตอนนี้ แต่ถ้าพูดถึงในอนาคตยังไงก็เป็นเรื่องจำเป็นครับ เพราะเป็นสิ่งดึงดูดให้คอนเทนต์ โพวายเดอร์ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก มาลงทุนในประเทศไทย และในอนาคตทั้ง 2 โครงการนี้จะต้องถูกนำมาต่อยอด และสามารถนำมาเป็นรูปแบบการลงทุนแบบอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต – manager
รัฐบาลไปเอาเงินมาจากไหนเยอะแยะ?
ในส่วนของเงินจำนวน 20,000 ล้านบาท แน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 จากวงเงินเดิม 2.72 ล้านล้านบาท เป็น 2.76 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากเดิมถึง 5.6 หมื่นล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้ไม่ได้ไปกู้เพิ่มมานะครับ แต่เป็นจำนวนเงินจากภาษีและรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
สรุปง่ายๆ คือเอาเงินมาจากการประมูล 4G คลื่น 1800 MHz กับคลื่น 900 MHz ที่ได้มาจาก AIS, True และ JAS นั่นเอง ส่วนหนึ่งที่เจียดมา 20,000 ล้านบาทก็เป็นที่มาของโครงการ Internet Broadband และที่เหลือก็จะแบ่งไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง กับรายการเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศครับ
อ้างอิง: springnews, tnamcot, tlcthai, manager, voicetv