ก็เปิดตัวและวางจำหน่ายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ Apple Watch Series 6 สมาร์ตวอทช์รุ่นใหม่จาก Apple ที่เข้ามาทดแทน Series 5 ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากข่าวลือที่คาดการณ์กันออกมาครับ คือรูปทรงยังคงเดิม แต่มีการเสริมฟีเจอร์เข้ามา เพื่อให้กลายเป็นผู้ช่วยในการดูแลสุขภาพได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งเราก็ไม่พลาดที่จะมารีวิวให้ชมกันอีกเช่นเคย โดยรุ่นที่ผมซื้อมารีวิว (และใช้เอง) ในครั้งนี้จะเป็นรุ่น GPS ขนาด 44 มม. บอดี้แบบอะลูมิเนียมนะครับ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า Apple ระบุไว้อย่างชัดเจนนะครับว่า Apple Watch ไม่ได้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงยังไม่ควรนำไปใช้ในการวินิจฉัยอาการด้วยตนเองอีกด้วย แม้ว่าจะมีตัวช่วยในการวัดค่าต่าง ๆ ของร่างกายก็ตาม แต่ก็แน่นอนว่าความแม่นยำของการวัดนั้นอาจจะไม่เท่ากับอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยตรง จึงทำให้ Apple Watch จะเหมาะสำหรับการใช้งานในด้านฟิตเนสเพื่อช่วยตรวจจับ วัดความคืบหน้าของการดูแลสุขภาพในระดับทั่วไปเท่านั้น โดยเฉพาะฟังก์ชันการวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ใน Apple Watch Series 6
ตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ก็ใช้งานสมาร์ตวอทช์อย่าง Huawei Watch GT รุ่นแรกอยู่ ซึ่งก็ใช้งานทั่วไปได้โอเค แบตเตอรี่อึด แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลังจากมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ ตัวรุ่นแรกก็แทบไม่ได้รับการอัพเดตเพิ่มเติมเลย การใช้งานบางจุดที่น่าจะทำได้ก็ยังขาดไปบ้าง ประกอบกับช่วง 1 ปีหลังมานี้ ผมเปลี่ยนมาใช้ iPhone 11 เป็นเครื่องหลัก เลยต้องการสมาร์ตวอทช์ที่สามารถซิงค์ข้อมูลกับมือถือได้แบบครบ ๆ ทำให้ลองเปลี่ยนใจมาใช้ Apple Watch นอกจากนี้ สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนมาเป็น work from home มากขึ้น จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการชาร์จแบตเท่าไหร่ครับ ซึ่งในรีวิวนี้จะมาดูกันว่า Apple Watch Series 6 จะคุ้มสำหรับการใช้งานทั่วไปขนาดไหน
ข้อมูลเชิงเทคนิคและสเปคของ Apple Watch Series 6
- ชิปหลัก SiP S6 ภายในมีชิปประมวลผลแบบ dual-core 64 บิต (Apple ระบุว่าเร็วกว่า S5 ถึง 20%)
- พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 32 GB
- ชิประบบไร้สาย W3
- ชิปอัลตร้าไวด์แบนด์ U1
- หน้าจอ LTPO OLED Retina ความสว่างสูงสุด 1000 nit รองรับการแสดงผลแบบติดตลอด (Always on display) ปรับความสว่างได้อัตโนมัติ ไม่มี Force Touch
- ขนาด 40 มม. ความละเอียด 324 x 394 (น้ำหนักตัวเรือน 30.5 กรัม)
- ขนาด 44 มม. ความละเอียด 368 x 448 (น้ำหนักตัวเรือน 36.5 กรัม)
- กระจกจอภาพเป็นแบบ Ion-X (ตัวเรือนอะลูมิเนียม)
- ฝาหลังเซรามิกและผลึกแซฟไฟร์
- มี GPS/GNSS
- กันน้ำได้ลึกสุด 50 เมตร
- รองรับ WiFi 2.4 และ 5 GHz
- Bluetooth 5.0
- เพิ่มเซ็นเซอร์วัดปริมาณออกซิเจนในเลือดเข้ามา
- เพิ่มเซ็นเซอร์วัดระดับความสูงแบบ real time เข้ามา
- รองรับการวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ (ECG) แต่ยังใช้ในไทยไม่ได้
- มีฟังก์ชันตรวจจับการล้ม (Fall detection)
- รองรับการโทรและส่ง SOS ฉุกเฉิน
- มีเข็มทิศในตัว
- มีลำโพงในตัว ความดังเพิ่มขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า 50%
- มีไมโครโฟนในตัว
- ใช้กดโทรออก กดรับสายเมื่อเชื่อมกับ iPhone ได้
- แบตเตอรี่แบบ li-ion 1.17Wh ใช้งานได้นานสุด 18 ชั่วโมง รองรับการชาร์จเร็วสุด 2.5W
- ใช้งานร่วมกับ iPhone 6s หรือรุ่นใหม่กว่า ที่ใช้ iOS 14 ขึ้นไป
ส่วนสีที่มีให้เลือก หลัก ๆ แล้วก็จะเหมือนกับ Series 5 ครับ แต่ในรุ่นตัวเรือนอะลูมิเนียมจะมีเพิ่มเข้ามาใหม่ 2 สี คือสีน้ำเงินและก็สีแดงที่เป็น (PRODUCT)RED
สำหรับด้านของราคา Apple Watch Series 6 จะเริ่มต้นที่ 13,400 บาทในตัวเรือนอะลูมิเนียม 40 มม. สาย Sport band ปกติ และ 14,400 บาทสำหรับตัวเรือน 44 มม. ซึ่งก็เป็นราคาเดียวกับปีที่แล้วนั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีตัวเรือนสแตนเลสสตีล ตัวเรือนไทเทเนียม รวมถึงพวกรุ่น Edition ต่าง ๆ มาให้เลือกกันเช่นเคยครับ
ทีนี้มาที่เรื่องสายนาฬิกาบ้าง รอบนี้ Apple เปิดตัวสายใหม่ด้วยกัน 2 แบบคือสาย Solo Loop และสาย Braided Solo Loop ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบห่วงรัด ไม่มีหมุด ไม่มีตัวล็อกใด ๆ ทั้งสิ้น เวลาใส่ก็จะคล้าย ๆ กับการใส่กำไลยางครับ ให้ความสะดวกไปอีกแบบ โดยสาย Solo Loop ก็คือเป็นกำไลซิลิโคนนิ่มคล้ายกับสาย Sport band ทั่วไปเลย ส่วนสาย Braided Solo Loop จะเป็นสายผ้าถักที่มีความยืดหยุ่น โดยสามารถนำไปใช้กับ Apple Watch รุ่นอื่นที่ขนาดตัวเรือนเท่ากันได้ด้วย ไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้กับ Series 6 แต่เพียงอย่างเดียว
แน่นอนว่าการที่สายแบบใหม่ทั้งสองนี้ไม่มีตัวปรับขนาด ทำให้จำเป็นต้องวัดขนาดข้อมือให้แน่นอนก่อนถึงสามารถซื้อได้ โดยทาง Apple ก็มีวิธีการวัดแบบคร่าว ๆ ให้บนหน้าเว็บเหมือนกันครับ สามารถพิมพ์ลงบนกระดาษเพื่อทำเป็นสายวัดในการใช้ระบุขนาดที่ควรซื้อได้ หรือจะใช้การเทียบเบอร์กับความยาวรอบข้อมือที่ใช้สายวัดในการวัดก็ได้เช่นกัน ส่วนตัวผมก็ว่ามันสะดวกดีนะ แต่…
ตอนที่ผมวัดด้วยตนเอง พบว่าได้เบอร์ 8 พอผมไปลองของจริงที่ร้าน Apple Store ซึ่งตอนวัดกับเครื่องมือของสตาฟที่หน้าร้าน เบอร์ที่วัดออกมาแล้วเหมาะสมกว่าตามการแนะนำดันกลายเป็นเบอร์ 7 แต่สุดท้ายตอนไปลองของจริง สตาฟอีกคนเสนอว่าลองเบอร์ 6 ด้วยมั้ย อาจจะพอดีกว่า ปรากฎว่าเบอร์ที่เหมาะที่สุดกลับเป็นเบอร์ 6 จริง ๆ ครับ ซึ่งมันฟิตพอดี ไม่โยก ไม่คลอน และก็ไม่แน่นจนเกินไปด้วย ดังนั้น ถ้าใครต้องการซื้อสาย Solo Loop หรือสาย Braided Solo Loop ผมขอแนะนำให้ไปลองของจริงที่ร้านก่อนจะดีที่สุดนะ อีกอย่างที่ยังไม่แน่ชัดก็คือ เมื่อใช้ไปนาน ๆ แล้วจะเกิดอาการสายยืดหรือเปล่า ซึ่งคงต้องรอดูกันไปอีกที
แกะกล่อง Apple Watch Series 6
กล่องของ Series 6 ก็จะยังคงเป็นดีไซน์แบบเดิมอยู่ครับ คือเป็นกล่องยาว ๆ ถ้าเป็นรุ่นธรรมดาก็จะเป็นกล่องสีขาวล้วน
ด้านหลังก็จะมีสลักล็อกกระดาษอยู่ทั้งสองฝั่ง พร้อมมีสติกเกอร์ระบุครบถ้วนเลยว่าเป็นรุ่นไหน วัสดุและสีตัวเรือนเป็นแบบใด สายที่อยู่ในแพ็คเกจเป็นแบบไหน พร้อมทั้งขนาดหน้าจอด้วย ซึ่งเรือนที่ผมได้มานี้ก็เพิ่งผลิตเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง
นอกจากนี้ บริเวณฉลากยังมีการชี้แจงมาให้ด้วยว่ามีอุปกรณ์อะไรมาในชุดบ้าง ที่มีก็คือตัว Apple Watch เอง สาย และก็สายชาร์จแบบแม่เหล็ก ส่วนอะแดปเตอร์ชาร์จไฟแบบ USB นั้นไม่มีมาแล้วนะครับ ต้องซื้อเพิ่มเอง ถ้าแบบ 5W ตัวเล็ก ๆ ของ Apple ก็ 690 บาท หรือจะใช้อะแดปเตอร์ชาร์จมือถือที่ใช้อยู่ก็ได้
ข้อความอีกจุดที่น่าสนใจคือมีการบอกไว้ชัดเจนเลยว่า Apple Watch ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์นะครับ
เมื่อแกะห่อกระดาษด้านนอกออก ก็จะพบกล่องแยกข้างในอีก 2 กล่อง คือกล่องของตัวเรือนกับกล่องของสายนาฬิกา โดยสายที่ผมสั่งจะเป็นแบบ Sport Band สีดำสำหรับตัวเรือนไซส์ 44 ซึ่งที่จริงก็เป็นสายแบบเดียวกับที่มีขายอยู่ก่อนแล้วครับ สามารถใช้งานร่วมกับ Apple Watch รุ่นอื่นที่ขนาดตัวเรือนเท่ากันได้ทั้งหมดเลย
เมื่อเปิดฝากล่องออก ก็จะเจอตัวเรือนอยู่ในซองกระดาษแข็งอีกทีครับ
อีกฟากก็จะเป็นสายชาร์จแบบแม่เหล็กซึ่งซ่อนอยู่ใต้ซองกระดาษที่บรรจุพวกคู่มือการใช้งานเบื้องต้นอยู่
ตัวเรือน+สาย Apple Watch Series 6
ความรู้สึกแรกที่ได้สัมผัส Apple Watch Series 6 ขนาด 44 มม. ก็คือน้ำหนักที่เบามาก ๆ ครับ เมื่อเทียบกับสมาร์ตวอทช์ที่ผมเคยใช้มา ตอนจับ ๆ เพื่อถ่ายรูปก็กลัวว่าจะหลุดมืออยู่เหมือนกัน เนื่องจากขอบมุมต่าง ๆ นั้นกลมมนไปซะหมด
หน้าจอ LTPO OLED Retina ของ Series 6 ให้สีสันที่สมกับเป็นจอประเภท OLED เลย คือส่วนที่เป็นสีดำก็ดำสนิท ส่วนที่เป็นสีสันก็ทำได้ดี คอนทราสต์จอสูง ส่วนความคมชัดก็อยู่ในระดับที่มองด้วยสายตาก็มองไม่เห็นเม็ดพิกเซลครับ แม้จะจ้องมองจากระยะใกล้สุดที่สายตาสามารถโฟกัสได้ก็ตาม สำหรับฟังก์ชันการแตะ Force Touch นั้นไม่มีให้ใช้งานแล้ว เนื่องจาก Apple ถอดโมดูลดังกล่าวออกจากส่วนจอไปเรียบร้อย
ความสว่างจอสูงสุดที่สามารถทำได้ตามสเปคนั้นอยู่ที่ 1000 nits ซึ่งสูงมาก ๆ (โน้ตบุ๊กทั่วไปมักจะอยู่ที่ 250 – 500 nits) ทำให้สามารถใช้งานกลางแสงแดดจ้าได้ไม่มีปัญหา แทบไม่ต้องป้องมือขึ้นมาเพื่อมองหน้าจอเลย ซึ่งในส่วนของความสว่างนั้น ทางเว็บไซต์ iClarified ได้ทดสอบเพื่อเปรียบเทียบระหว่างจอของ Series 6 กับ Series 5 ด้วย โดยการเปิดภาพสีขาวบนหน้าจอ แล้วปรับความสว่างให้อยู่ในระดับสูงสุด ผลที่ได้ออกมาคือ
- Apple Watch Series 5 มีค่าความสว่างที่ 422 nits
- Apple Watch Series 6 มีค่าความสว่างที่ 476 nits (สูงกว่าประมาณ 13%)
ส่วนหน้าจอแบบ Always on display (AOD) ก็ยังคงใส่มาให้เหมือนใน Series 5 ครับ แต่ที่ดีขึ้นคือระดับความสว่างที่สูงกว่าเดิม ทำให้สามารถดูเวลาได้ง่ายขึ้น ซึ่งทาง iClarified ก็ทดสอบความสว่างของหน้าจอ AOD ไว้ด้วยเช่นกัน ผลคือ
- Apple Watch Series 5 มีค่าความสว่างที่ 12 nits
- Apple Watch Series 6 มีค่าความสว่างที่ 16 nits (สูงกว่าประมาณ 33%)
พลิกมาดูด้านข้างกันบ้าง เรือนนี้ก็จะเป็นอะลูมิเนียมสีเทาเข้ม Space Grey ครับ สีผิวจะดูเป็นสีแบบขัดทราย แต่ผิวนั้นจัดว่าลื่นพอสมควรเลย ถ้าจับไม่ดีตอนใส่สาย ตัวเรือนอาจลื่นหลุดมือได้เหมือนกัน
ฝั่งนี้ก็จะมีปุ่มเม็ดมะยมที่สามารถกดได้ หมุนเป็นวงล้อได้ ซึ่งหลัก ๆ ก็จะใช้แทนการกด back และกดเข้าไปหน้ารวมแอป หากกด 2 ครั้งติดกันจะเป็นการสลับหน้าจอระหว่าง 2 แอปที่ใช้งานล่าสุด ส่วนการหมุนก็จะเป็นการเลื่อนหน้าจอขึ้น-ลง เปลี่ยนค่าต่าง ๆ หรือใช้ในการซูมเข้า-ออก
ถัดมาก็จะเป็นช่องรับเสียงของไมโครโฟน และก็ปุ่มกดสำหรับเปิดหน้า Dock ขึ้นมา ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้โชว์หน้าจอแอปที่ใช้งานล่าสุดย้อนหลังไป หรือจะให้โชว์เพียงแอปโปรดที่ตั้งค่าไว้ก็ได้ หากกดติดกัน 2 ครั้งจะเป็นการเปิดหน้าจอ Pass ของพวกบัตรที่เราใส่ไว้ใน Wallet เพื่อการจ่ายเงินผ่าน Apple Pay หรือแสดงการเป็นสมาชิกของบัตรต่าง ๆ ได้ ส่วนถ้ากดค้างก็จะเป็นการเข้าหน้าจอเพื่อปิดเครื่อง หรือส่งสัญญาณฉุกเฉิน SOS ออกไป
ส่วนฝั่งขวาจะมีช่องลำโพง ซึ่งนอกจากจะให้เสียงออกมาแล้ว ยังใช้เป็นช่องสำหรับไล่น้ำที่เข้าไปในตัวเรือนด้วย เมื่อเปิดใช้งานฟังก์ชันไล่น้ำ
พลิกมาดูด้านหลังตัวเรือนที่จะแนบกับแขนกันบ้าง ส่วนนี้เป็นจุดที่ช่วยทำให้สามารถแยกความแตกต่างระหว่าง Series 6 กับรุ่นอื่น ๆ ได้ง่ายที่สุด เนื่องจากมีการเพิ่มและปรับตำแหน่งของหลอดไฟ LED และมีเซ็นเซอร์วัดปริมาณออกซิเจนในเลือดเพิ่มเข้ามา โดยจะมีหลอดไฟด้วยกัน 4 ดวง พร้อมกับช่องเซ็นเซอร์อีก 4 ช่องด้วย ที่เหลือก็จะคล้าย ๆ รุ่นเดิมครับ คือใช้เซรามิกและผลึกแซฟไฟร์ที่โค้งนูนขึ้นมาจากระนาบเล็กน้อย เพื่อให้สามารถสัมผัสกับแขนได้ดี
ภาพบนจะเป็นหลอดไฟ LED ที่ให้แสงสีเขียวเพียง 2 ดวง ติดขึ้นมาระหว่างการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ส่วนภาพล่างเป็นระหว่างการวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดครับ จะเห็นว่าหลอดไฟติดครบทั้ง 4 ดวงเลย ร่วมกับการใช้แสงอินฟราเรดด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วในแต่ละจุดที่เป็นหลอดไฟ LED จะมีไฟสีแดงกับสีเขียวอย่างละครึ่งครับ ทำให้ Apple Watch รุ่นอื่น ๆ นั้นไม่สามารถวัดปริมาณออกซิเจนได้เหมือนกับ Series 6
ส่วนสายที่มาในชุดก็ยังคงเหมือนเดิมครับ สามารถหาซื้อสายมาเปลี่ยนได้สะดวก การเปลี่ยนสายก็ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยแต่อย่างใด ส่วนการล็อกสายติดกับตัวเรือนนั้น ถ้าเป็นสายของ Apple เอง อันนี้ยอมรับเลยว่ามันล็อกแน่นจริง ๆ ไม่ต้องกลัวลื่นหลุดแม้จะใส่ออกกำลังกายหนัก ๆ ก็ตาม
สำหรับสาย Sport Band ในกล่องจะมีสายเส้นยาวมาให้ 2 ขนาดนะครับ คือ S/M กับ M/L สามารถเลือกใช้ตามขนาดข้อมือได้เลย หน้ากว้างของทั้งสองสายเท่ากัน อย่างในภาพด้านบนก็จะเป็นขนาด M/L
พอใส่เข้ากับข้อมือแล้วก็ดูพอดีเชียวแหละ อย่างในภาพจะเป็นตัวเรือน 44 มม. ครับ ส่วนถ้าถามว่าควรใส่เคสมั้ย ก็แล้วแต่ความชอบเลย ซึ่งถ้าคุณเป็นคนที่ชอบใส่นาฬิกาแล้วทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเสี่ยงต่อความเสียหายกับตัวเรือน ก็ควรจะหาเคสมาใส่ซักนิดนึง
แต่ถ้าจะให้สบายใจขึ้นอีกหน่อย ก็แนะนำว่าซื้อประกัน AppleCare+ ติดไว้ก็ดีครับ ราคา 3,000 บาท สำหรับรุ่นปกติ (อะลูมิเนียม/สแตนเลสสตีล/ไทเทเนียม) และ Apple Watch Nike คุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุสูงสุด 2 ปี โดยรายละเอียดที่น่าสนใจก็เช่น
- เพิ่มการรับประกันจาก 1 ปีเป็น 2 ปี
- คุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุสูงสุด 2 ครั้งในรอบ 12 เดือน (เคลมได้ปีละ 2 ครั้ง ไม่สามารถทบปีได้) ค่าธรรมเนียมในการให้บริการครั้งละ 2,300 บาท
ซึ่งส่วนตัวผมว่าซื้อติดไว้ก็อุ่นใจกว่าครับ เพราะถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ค่อนข้างมั่นใจเลยว่าค่าซ่อมแต่ละครั้งมันเกิน 2,300 บาทแน่ ๆ ส่วนการซื้อ AppleCare+ ก็ไม่ยากเลย จะซื้อพร้อมกับตอนซื้อ Apple Watch หรือจะซื้อภายใน 60 วันหลังซื้อ Apple Watch ก็ได้เช่นกัน ทั้งจากช่องทางออนไลน์ ที่ร้าน Apple Store หรือโทรไปที่เบอร์ 1800-019-900 ของทาง Apple เอง แต่ถ้าซื้อพร้อมกับตัวเรือนเลยก็จะสะดวกขึ้นไปอีกครับ เพราะทางร้านจะจัดการเพิ่ม AppleCare+ เข้าไปในระบบให้แต่แรก ทำให้เราไม่จำเป็นต้องยื่นหลักฐานการซื้อ หรือมีการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติมเลย
กลับมาที่เรื่องสายอีกซักนิด สำหรับใครที่คิดว่าสายของ Apple เองนั้นราคาสูงไปซักนิดนึง ก็สามารถหาซื้อสายจากผู้ผลิตแบรนด์อื่น ๆ มาใช้ได้สบายมากครับ ขอเพียงแค่เลือกสายให้ตรงกับขนาดตัวเรือนก็พอแล้ว เพราะ Apple Watch Series 6 สามารถใช้ร่วมกับสายของรุ่นก่อนหน้าได้หมดเลย ส่วนเคส ฟิล์มหรือกระจกกันรอยนั้น ก็หาของที่ระบุว่าออกแบบมาเพื่อ Apple Watch Series 4/5/6 ได้เช่นกัน เพราะสามารถใส่แทนกันได้หมด
พวกฟังก์ชันพื้นฐานต่าง ๆ ของ Apple Watch Series 6 ก็ยังคงทำได้เหมือนกับรุ่นก่อนหน้าเลยครับ สามารถแสดงผลภาษาไทยได้ดี ตอบ Line ด้วยการพูดแล้วแปลงเสียงเป็นข้อความได้สะดวก (รองรับการพูดภาษาไทยด้วย) การวัดอัตราการเต้นของหัวใจก็สามารถตั้งให้วัดเป็นระยะ ๆ ขณะที่กำลังใส่ได้ เพื่อเก็บข้อมูลในระยะยาว หรือจะใช้เป็นหน้าจอ+รีโมทคุมการถ่ายรูปจากกล้องของ iPhone ก็ได้ดว้ย
รองรับการวัดระดับความดังของเสียงโดยรอบได้จากไมค์ในตัวเรือน แสดงแผนที่ และช่วยนำทางได้ รวมถึงยังติดตั้งแอปเสริมบางส่วน ทั้งแอปสำหรับ Apple Watch เอง และแอปเสริมที่นำข้อมูลจากแอปหลักใน iPhone มาแสดงบนข้อมือได้เช่นเคย
พื้นที่ความจุข้อมูลตามสเปคของ Apple Watch Series 6 อยู่ที่ 32 GB โดยเปิดมาจะเหลือให้ใช้ได้ราว 26.6 GB ซึ่งก็สามารถโหลดเพลง โหลดรูปมาใส่ได้อยู่พอสมควร ส่วนการแคปหน้าจอ ต้องไปตั้งค่าเปิดให้แคป screenshot จากในเมนูการตั้งค่าได้ก่อนครับ เมื่อตั้งค่าแล้วก็สามารถแคปได้โดยการกดปุ่มเม็ดมะยมพร้อมกับปุ่ม Dock
ส่วนความเร็วในการทำงานนั้น Apple ระบุว่า Apple Watch Series 6 มีชิปประมวลผลที่เร็วกว่า Series 5 อยู่สูงสุด 20% แต่ตัวผมเองก็เพิ่งได้เริ่มใช้ Series 6 เป็นเรือนแรก เลยอาจจะไม่สามารถเทียบกับรุ่นก่อนหน้าได้ แต่เท่าที่ใช้งานมา ก็รู้สึกว่าการตอบสนอง การเปิดแอปต่าง ๆ นั้นทำได้รวดเร็วทันใจ เปิดขึ้นมาแล้วพร้อมใช้งานแอปนั้นในแทบจะทันที
ฟังก์ชันใหม่และน่าสนใจใน Apple Watch Series 6
การวัดออกซิเจนในเลือด (Blood Oxygen | SpO2)
เป็นฟังก์ชันใหม่ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาครั้งแรกของผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Apple Watch โดยจุดประสงค์หลักคือเพื่อวัดปริมาณออกซิเจนที่เลือดแดงสามารถนำพาไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ วิธีการวัดแบบคร่าว ๆ ก็คือการใช้การประมวลผลจากปริมาณแสงสะท้อนเพื่อวัดความเข้มของสีเลือดเป็นหลัก ซึ่งในคนทั่วไปมักจะได้ผลอยู่ในช่วงที่เกิน 90% ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ตัว Watch เองไม่มีการวัดค่า PI% มาประกอบด้วยเหมือนพวกเครื่องวัดโดยตรงนะครับ
ส่วนวิธีการวัด %SpO2 ของ Apple Watch Series 6 ก็ทำได้โดยการเปิดแอปวัด Blood Oxygen ขึ้นมา ไอคอนจะเป็นวงกลมสีขาวที่มีเส้นโค้งสีน้ำเงินกับแดงอยู่ภายใน จากนั้นก็วางแขนราบไปกับโต๊ะให้ขนานกับพื้น กดปุ่ม Start แล้วก็นั่งนิ่ง ๆ ประมาณ 15 วินาที ผลก็จะออกมาเป็น % ครับ เว้นแต่ว่าแขนไม่นิ่งพอ หรือยกตัวเรือนขึ้น ระบบก็จะหยุดการวัดทันที
ทีนี้มาดูเรื่องความเสถียรในการวัดกันซักนิดครับ ฝั่งซ้ายผมทดสอบการวัด SpO2 ระหว่าง Apple Watch Series 6 กับอุปกรณ์วัดที่สามารถหาซื้อได้ไม่ยากนัก ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้แม่นยำเท่ากับพวกอุปกรณ์เกรดทางการแพทย์ แต่ค่า SpO2 ของตัวผมเองที่ได้จากอุปกรณ์วัดนั้นก็ค่อนข้างเสถียร คือได้อยู่ในช่วง 95%-98% ในขณะที่บน Apple Watch Series 6 นั้น บางครั้งก็ได้ใกล้เคียงกับตัวอุปกรณ์วัด บางครั้งก็ห่างกันเยอะ แถมมีอยู่ครั้งสองครั้งด้วยที่ลดลงไปต่ำกว่า 90%
ส่วนภาพฝั่งขวาเป็นการเทียบเรื่องการวัดอัตราการเต้นของหัวใจครับ โดยผมนำเครื่องวัดความดันที่สามารถวัด heart rate ได้มาใช้เทียบ ซึ่งก็พอจะใช้อ้างอิงได้ระดับหนึ่ง โดยในช่วงที่วัด ตัวผมเองก็ลุก ๆ นั่ง ๆ อยู่หลายรอบ ตัวเลขเลยขึ้นสูงนิดนึง ใช้การวัดที่แขนข้างเดียวกันพร้อมกัน ผลคือค่าที่วัดได้จาก Apple Watch Series 6 จะแตกต่างจากเครื่องวัดราว ๆ 3-8 BPM
ดังนั้น ถ้าให้สรุปเรื่องความแม่นยำในการวัด Blood Oxygen (รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจ) ตัว Apple Watch Series 6 จัดว่าทำได้ในระดับกลาง ๆ เท่านั้นครับ ไม่แนะนำให้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการรักษาทางการแพทย์ เหมาะกับใช้ในการตรวจเช็คสุขภาพระดับเบื้องต้นในชีวิตประจำวันเท่านั้น โดยมีข้อดีคือเรื่องความสะดวก ที่ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องพกอุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือดติดตัวอยู่ตลอด เพียงแค่กดหน้าจอสมาร์ตวอทช์ก็สามารถจับค่าคร่าว ๆ ได้แล้ว เพื่อช่วยในการกระตุ้นให้ผู้ใช้รักษาสุขภาพอยู่เสมอ
การตรวจจับการนอนหลับ
เป็นระบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน watchOS 7 ซึ่งก็เปิดให้รุ่นอื่นใช้ได้ด้วยเช่นกัน หลัก ๆ คือจะช่วยวัดคุณภาพการนอนโดยพิจารณาจากระยะเวลา และอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อช่วยในการตั้งเป้าหมายการนอนหลับให้เหมาะสมกับร่างกายได้ แต่จะไม่สามารถตรวจจับคุณภาพเชิงลึก อย่างพวกการหลับลึก หลับตื้น หรือพวก REM ได้นะครับ
นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ก็ยังมีระบบอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมการนอนหลับให้มีคุณภาพด้วย เช่น การแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงเวลาเข้านอนที่ตั้งไว้ การปรับโทนสีของหน้าจออัตโนมัติช่วงก่อนนอน รวมถึงยังสามารถตั้งค่าให้หน้าจอ Apple Watch Series 6 ดับระหว่างเวลานอน เพื่อป้องกันแสงรบกวนได้ด้วย
ตัวช่วยจับเวลาในการล้างมือ
เป็นอีกฟังก์ชันที่เพิ่มเข้ามาใน watchOS 7 หลังจากที่มีการระบาดของ COVID-19 ครับ โดยตัวนาฬิกาจะจับการเคลื่อนไหวของข้อมือและเสียงน้ำ และเปิดใช้งานฟังก์ชันนี้ให้อัตโนมัติ เมื่อผู้ใช้ล้างมือ ซึ่งจะมีตัวเลขนับถอยหลังมาให้ใช้เวลาในการล้างมือไม่ต่ำกว่า 20 วินาที
จากที่ผมลองใช้งานดู พบว่าหน้าจอนี้จะติดขึ้นมาหลังจากเริ่มล้างมือไปได้เล็กน้อย แต่ที่สำคัญคือตอนระหว่างล้างจานมันก็ขึ้นครับ เนื่องด้วยลักษณะการเคลื่อนไหวของข้อมือ และเสียงน้ำที่ไหลผ่านมันใกล้เคียงกับการล้างมือมาก ๆ
แต่ถ้าใครไม่ต้องการใช้งานฟังก์ชันนี้ก็สามารถปิดได้ครับ จากในหน้าเมนูของแอป Watch หรือจะปิดจากในเมนูบนตัว Apple Watch ก็ได้
การวัดระดับความสูงแบบเรียลไทม์
เป็นฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจจับระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลได้ทันที ณ จุดที่อยู่ในขณะนั้น ทำให้ได้ค่าความสูงที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่งผลถึงการคำนวณประสิทธิภาพในการออกกำลังกายที่ดีขึ้นด้วย อย่างในภาพด้านบนที่เป็นหน้าจอขณะกำลังออกกำลังกาย ซึ่งในบางประเภทจะมีการวัดระดับความสูงมาด้วย เช่น การวิ่ง การเดิน โดยในภาพนี้ผมเลือกเอาข้อมูลระดับความสูง ณ ปัจจุบันขึ้นมาแสดงครับ คือข้อความที่ไฮไลท์สีเขียวเอาไว้ และตัวเลขก็จะมีการปรับเปลี่ยนตามระดับความสูงที่เราอยู่จริง ๆ โดยอาจจะมีดีเลย์นิดนึง แต่ก็ไม่นานนัก
หน้าจอแบบติดตลอด Always-on display (AOD)
แม้จะเป็นฟีเจอร์ที่มีมาในรุ่นก่อนหน้าแล้วก็ตาม แต่ใน Apple Watch Series 6 ก็ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ที่เห็นได้ชัดสุดคือเรื่องความสว่างตามที่กล่าวไปแล้วในช่วงต้นของรีวิวนะครับ ส่วนถ้าถามว่าฟังก์ชันนี้จะกินแบตเพิ่มขึ้นมั้ย ก็แน่นอนว่ามันต้องกินแบตมากกว่าการปิดฟังก์ชันเอาไว้ เนื่องจากยังมีการแสดงผลอยู่ แต่ความสว่างของภาพจะลดลง ประกอบกับหน้าจอจะลดรีเฟรชเรตของตัวเองลงเพื่อช่วยประหยัดพลังงานด้วย
ส่วนการแสดงผลนั้น ภาพซ้ายคือหน้าจอปกติ ภาพขวาคือหน้าจอที่แสดงแบบ AOD อยู่ จะเห็นว่าส่วนที่เป็นสีขาวจะลดระดับลงมาเป็นสีเทาตามระดับความสว่างของจอ และเข็มวินาทีก็หายไปด้วย แต่เข็มนาทีก็ยังเดินตามเวลาจริงอยู่นะครับ ทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานนั้นไหลลื่นมาก ต่างจากฟังก์ชัน AOD ของสมาร์ตวอทช์หลาย ๆ รุ่นที่มักจะไม่ได้อัพเดตเวลาบนหน้าจอหลัก ทำให้เวลาเปิดจอหลักกลับขึ้นมา ระบบจะต้องมาอัพเดตเวลาให้ตรงกับเวลาจริงอีกครั้งด้วย
อีกฟังก์ชันที่น่าสนใจเกี่ยวกับหน้าจอคือสามารถแตะสองนิ้วค้างไว้บนหน้าจอหลักที่บอกเวลา เพื่อให้ตัวเรือนขานเวลาออกมาเป็นเสียงได้ด้วย แต่ฟังก์ชันนี้จะไม่ทำงานบนหน้าจอ AOD นะครับ
Family Setup
Family Setup เป็นฟังก์ชันใหม่ของ watchOS 7 ที่เปิดตัวในงานเดียวกันกับ Apple Watch Series 6 ครับ คุณสมบัติหลัก ๆ เลยคือทำให้สามารถซื้อ Apple Watch ให้บุคคลในครอบครัวใช้งานได้ด้วย โดยที่คน ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องมี iPhone เป็นของตนเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ
- ผมใช้ iPhone อยู่ และมี Apple Watch Series 6 เป็นของตัวเอง
- ผมซื้อ Apple Watch SE ให้พ่อ ทั้ง ๆ ที่พ่อผมใช้มือถือ Android
ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะนี้ Apple Watch SE ของพ่อที่ผูกกับเบอร์โทรศัพท์ของพ่อเอง ก็จะมาจับคู่กับ iPhone ของผมแทน ทำให้ผมสามารถดูแลจัดการ ควบคุมการใช้งาน รวมถึงมอนิเตอร์เรื่องสุขภาพให้กับสมาชิกในบ้านได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม Apple ก็ยังออกแบบมาให้ผู้ใช้แต่ละคนสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบางส่วนได้ด้วย เพื่อป้องกันข้อมูลไหลมาตีกันครับ ส่วนฟังก์ชันที่มีประโยชน์ก็เช่น
- โทร ส่งข้อความหากันในครอบครัวได้สะดวกผ่านหน้า Apple Watch
- สามารถปรับเป้าหมายการออกกำลังกาย การเล่นกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับคนในครอบครัวได้
- พ่อแม่สามารถตั้งกฏในการใช้งาน ตั้งเวลา และกำหนดแอปที่อนุญาตให้บุตรหลานใช้งานได้
- ใช้ในการแชร์ตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันให้กับสมาชิกในครอบครัวได้สะดวก
จุดที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ มันช่วยให้ตัดสินใจเลือกซื้อ Apple Watch ให้ผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะถ้าคุณต้องการใช้งานฟังก์ชันตรวจจับการล้ม แต่ไม่ต้องการซื้อ iPhone มาเพิ่มอีกเครื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้มือถือเครื่องเดิมตามความเคยชิน
แต่ฟังก์ชันนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเหมือนกันครับ หนึ่งเลยคือมันจะรองรับเฉพาะบน Apple Watch Series 4/5/6 และ SE บวกกับต้องเป็นรุ่น GPS+Cellular เท่านั้นด้วย ประกอบกับตอนนี้รายละเอียดจากทาง operator ในไทยก็ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก ผมเลยยังไม่ได้ทดสอบ
การปรับแต่งหน้าปัด
นอกจากการเปลี่ยนรูปแบบหน้าปัดแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถปรับรายละเอียดต่าง ๆ ของหน้าจอแต่ละแบบได้ด้วย อย่างในตัวอย่างของภาพด้านบน จะเห็นว่าในหน้าปัด Infograph Modular เราสามารถปรับทั้งโทนสี และไอคอนโมดูลต่าง ๆ ที่แสดงบนหน้าจอได้ตามต้องการเลย ซึ่งผมก็เปลี่ยนจากรูปโลกมาเป็นไอคอน Spotify เพื่อใช้เป็นทางลัดเข้าไปยังแอป Spotify แทน เป็นต้น หรือถ้าต้องการนำรูปถ่าย รูปที่เซฟมาจากที่อื่นมาใช้เป็นภาพหน้าจอก็ทำได้เช่นกัน ทุกอย่างสามารถทำได้ทั้งจากบนแอป Watch ใน iPhone หรือจะทำจากในตัว Apple Watch ก็ได้
การออกกำลังกาย และการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ
เป็นหนึ่งในจุดขายของ Apple Watch ตลอดมาเลยทีเดียวครับ เกี่ยวกับการเป็นผู้ช่วยในการออกกำลังกาย ที่สามารถทำได้ทั้งเก็บข้อมูล การเป็นโค้ชช่วยกระตุ้น แถมในปีนี้ยังมีการเปิดตัวบริการใหม่อย่าง Fitness+ ที่เปรียบเสมือนเป็นการเข้าคอร์สออกกำลังกับเทรนเนอร์ได้จากที่บ้านอีกด้วย (ยังไม่เปิดให้บริการในไทย)
ในด้านของการเป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูล เก็บผลความคืบหน้าของการออกกำลังนั้น Apple Watch Series 6 ทำได้อยู่ในระดับที่สมาร์ตวอทช์ในปัจจุบันสามารถทำได้ดี สามารถเลือกประเภทของการออกกำลังได้พอประมาณ แม้จะไม่ได้มีระดับหลายสิบหรือนับร้อยโหมด แต่ก็ครอบคลุมรูปแบบการออกกำลังยอดนิยมทั่วไปอยู่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีระบบช่วยเสนอแนะการเลือกประเภทของการออกกำลัง ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ได้เปิดโหมดออกกำลัง (Workout) เอาไว้ด้วย
ระบบการเก็บข้อมูลด้านการออกกำลังกายและข้อมูลสุขภาพของ Apple นั้นทำออกมาได้ดูดีและเป็นระเบียบพอสมควรครับ โดยหลัก ๆ ที่เห็นกันบ่อยก็จะเป็นวงสี 3 วงคือวง Activity ที่แสดงถึงปริมาณ KCAL ที่ใช้ไป / ระยะเวลาที่ออกกำลังกายในวันนั้น / จำนวนครั้งในการลุกขึ้นยืน ซึ่งช่วยสรุปภาพรวม และช่วยกระตุ้นให้ลุกจากเก้าอี้มาเคลื่อนไหวได้ดี ส่วนการออกกำลังในแบบ Workout ก็จะเก็บข้อมูลแยกในแต่ละรอบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับการออกกำลังแต่ละแบบ เช่นการปีนเขา ก็จะมีข้อมูลเรื่องระดับความสูงมาให้ ในขณะที่การปั่นเครื่องปั่นจักรยานแบบ indoor ก็จะไม่มีการเก็บข้อมูลเรื่องระดับความสูงให้
ส่วนใครที่ต้องการเชื่อมโยง Apple Watch เข้ากับบริการหรือแอปจากค่ายอื่น ๆ ก็ทำได้ค่อนข้างหลากหลายเลย เช่น Nike+ หรือพวกแอปที่ช่วยเสริมจุดบอดของ Apple Watch เช่น แอปบันทึกอาหารและคำนวณแคลอรีขาเข้า ก็สามารถติดตั้งจากใน iPhone ได้อย่างง่ายดาย และส่วนใหญ่แล้วจะสามารถนำข้อมูลเข้าไปซิงค์กับแอป Health ใน iPhone ที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้ทั้งหมดได้ ซึ่งจุดนี้ต้องยอมรับว่า Apple ทำ ecosystem มาได้ค่อนข้างแข็งแรงกว่าคู่แข่งในกลุ่มสมาร์ตวอทช์ที่ช่วยในการดูแลสุขภาพอยู่พอสมควร
แต่ทั้งนี้ สำหรับใครที่ต้องการสมาร์ตวอทช์สำหรับการออกกำลังกายแบบจริงจัง อันนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ในอีกกลุ่มไปเลยครับ เช่นพวกของ Garmin อะไรพวกนั้นแทน เพราะสามารถเก็บข้อมูลการออกกำลังได้แม่นยำและหลากหลายกว่า ส่วน Apple Watch นี่จะค่อนข้างเหมาะกับคนที่ใช้ iPhone อยู่แล้ว ซึ่งต้องการสมาร์ตวอทช์ซักเรือนเพื่อมาใช้งานในชีวิตประจำวัน และช่วยในการดูแลสุขภาพในระดับพื้นฐานซะมากกว่า
แบตเตอรี่ของ Apple Watch Series 6
ตามสเปคของ Apple Watch Series 6 นั้นระบุว่าสามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้ราว 18 ชั่วโมง ซึ่งจากการแกะเครื่องของทางเว็บไซต์ iFixit ก็พบว่าในรุ่นตัวเรือน 44 มม. มีแบตเตอรี่ที่ความจุเพิ่มขึ้นจากใน Series 5 เล็กน้อยเท่านั้น เมื่อบวกกับตัวชิป S6 ที่อาจจะกินไฟใกล้เคียงรุ่นก่อนหน้า และเซ็นเซอร์วัดออกซิเจนในเลือดที่เพิ่มเข้ามา จึงทำให้ระยะเวลาการใช้แบตเตอรี่ของ Apple Watch Series 6 ไม่ได้ต่างจากรุ่นก่อนมากนัก
ซึ่งจากที่ผมใช้งานจริงตลอดเวลา มันก็อยู่ได้แทบทั้งวันจริง ๆ ครับ ถอดจากสายชาร์จประมาณ 9 โมงกว่า ก็ใช้งานไปจนถึงประมาณ 5 ทุ่มโดยที่แบตเหลืออยู่ไม่ถึง 20% จากนั้นก็นำไปชาร์จแล้วตื่นมาใช้งานตอนเช้าต่อได้
ส่วนถ้าต้องการใส่ทั้งคืนเพื่อใช้งานฟังก์ชัน Sleep tracking อันนี้คงต้องอาศัยการถอดไปชาร์จตอนระหว่างอาบน้ำแทนนะครับ หลังอาบเสร็จก็ชาร์จทิ้งไว้ซักพักนึง ค่อยเอาไปมาใส่อีกทีตอนก่อนนอนได้สบาย ตื่นมาตอนเช้าก็ถอดมาชาร์จก่อนอาบน้ำซะ
ด้านของการชาร์จแบตเตอรี่ ผมทดสอบด้วยการชาร์จแบตเตอรี่จากที่เหลืออยู่ 11% จนขึ้นมาเป็น 98% ใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างชาร์จตัวเรือนก็ไม่ร้อนครับ
ปิดท้ายรีวิว Apple Watch Series 6
Apple Watch Series 6 เป็นสมาร์ตวอทช์ที่ Apple ปล่อยออกมาต่อยอดจาก Series 5 ได้อย่างลงตัว หน้าตารูปแบบเดิม อะไรที่ทำได้ดีอยู่แล้วก็ยังเก็บไว้อยู่ พร้อมเสริมฟังก์ชันใหม่เข้ามาให้ใช้งานได้หลากหลายครบครันยิ่งขึ้น ในขณะที่แบตเตอรี่ยังคงใช้งานได้ในระดับ 1 วันเท่าเดิม (ซึ่งจัดว่าค่อนข้างสั้น) ยังดีที่สามารถชาร์จไฟกลับเข้าไปได้เร็วขึ้นนิดนึง ทำให้ Apple Watch Series 6 เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการหันมาดูแลสุขภาพ โดยใช้ตัวช่วยที่สามารถซิงค์กับ iPhone ได้ราบรื่นที่สุดเมื่อเทียบกับสมาร์ตวอทช์ในกลุ่มเดียวกันในปัจจุบัน แต่อาจจะต้องมีวินัยในการชาร์จแบตเตอรี่ซักหน่อย ไม่อย่างนั้นได้เจอแบตหมดระหว่างวันกันบ้างแน่ ๆ
แต่ในแง่ของความละเอียด ความแม่นยำ ความลึกของข้อมูล แน่นอนว่ายังทำได้ไม่เท่ากับพวกอุปกรณ์ที่ทำมาเฉพาะทางกว่า ซึ่งต้องย้ำกันอีกทีนะครับว่า Apple Watch ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนพวกฟังก์ชันด้านสุขภาพต่าง ๆ นั้น ก็ทำมาเพื่อช่วยตรวจเช็คเบื้องต้น เพื่อการดูแลสุขภาพทั่วไปเป็นหลัก
ทีนี้ถ้าหากเทียบกันระหว่าง Series 6 กับรุ่นอื่นอย่างพวก SE หรือเทียบลงไปถึง Series 4/5 ที่ตอนนี้ยังพอมีขายอยู่บ้าง จะบอกว่าถ้างบถึงก็จัด Series 6 ไปเลยจะดีที่สุดครับ เพราะได้สเปคที่สดกว่า แบตเตอรี่ใหม่กว่า รองรับการสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์ที่ยาวนานกว่ารุ่นอื่น แต่ถ้าอยากได้ Apple Watch ที่ราคาย่อมเยาลงมานิดนึง ไปสอย SE เลยจะน่าสนใจกว่าครับ เพราะราคาของพวกรุ่นก่อนหน้านี้ยังจัดว่าสูงอยู่ ถ้าไม่ได้ส่วนลดที่เยอะจริง ๆ สู้สอย SE แล้วเก็บเงินส่วนเกินไว้ซื้อ Apple Care+ จะดีกว่า เพราะราคาของรุ่นเก่า มันบวกอีกนิดเดียวก็ได้ Series 6 แล้ว