สำหรับ iPad ที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน รุ่นเริ่มต้นจะเป็น iPad 10.2 ส่วนรุ่นท็อปสุดก็คือ iPad Pro 2020 ที่พึ่งวางจำหน่ายไป ส่วนรุ่นกลางอย่าง iPad Air 10.5 เป็นรุ่นที่ผมมองว่าถูกพูดถึงน้อยมาก ด้วยความที่มันเป็นรุ่นกลางนั่นล่ะครับ
แต่หลังจากที่ได้ใช้งาน iPad Air มาสักพัก ผมกลับมองว่า iPad Air น่าจะเหมาะกับการใช้งานของคนส่วนใหญ่ ที่ต้องการอุปกรณ์พกพาในการทำงาน ไปจนถึงตอบโจทย์ด้านความบันเทิง แล้วก็ไม่อยากจะจ่ายเงินมากจนเกินไป
สเปค iPad Air 3
- หน้าจอ Retina 10.5 นิ้ว Full Lamination, มี True Tone, ขอบเขตสี P3
- ชิปประมวลผล Apple A12 Bionic
- ความจุ 64GB, 256GB
- รองรับ Apple Pencil 1, รองรับ Smart Keyboard
- กล้องหลัง 8MP บันทึกวิดีโอระดับ HD 1080p, รองรับ Live Photo
- กล้องหน้า 7MP บันทึกวิดีโอระดับ HD 1080p, รองรับ Live Photo
- ปลดล็อกด้วย Touch ID
- ระบบเสียง 2 ลำโพง
- รองรับ Wi‑Fi (802.11a/b/g/n/ac), 2.4GHz และ 5GHz
- Bluetooth 5.0
- มี eSIM, Nano SIM ในรุ่น Cellular
- มีสี Silver, Gold, Space Gray
- พอร์ต Lightning
สเปคโดยละเอียดของ iPad Air 10.5: https://www.apple.com/th/ipad-air/specs/
ส่วนตัวผมใช้งานทั้ง iPad Air 10.5 และ iPad Pro 11 (รุ่นแรก) รวมถึงมีประสบการณ์ใช้งาน iPad Pro 10.5 มาก่อนหน้านี้ อีกทั้งน้องสาวผมก็ใช้ iPad 10.2 เลยพอจะสรุปเกี่ยวกับ iPad Air ไว้ได้ดังนี้ครับ
ว่ากันตามตรงสำหรับ iPad Air 10.5 ผมมองว่ามันคือการจับ iPad Pro 10.5 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2017 มาปัดฝุ่นใหม่ ให้มีสเปคที่สูงขึ้น เหมาะสมกับช่วงเวลาที่มันเปิดตัวในปี 2019 ชิปประมวลผลเป็น Apple A12 Bionic ตัวเดียวกับใน iPhone Xs ซึ่งความแรงก็ต้องยอมรับว่ามันยังคงทำงาน และเล่นเกมได้ดีมาก ๆ
ดีไซน์ การออกแบบ iPad Air รุ่นที่ 3
เรื่องดีไซน์ก็สมชื่อ iPad Air ครับ ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบาที่สุดในบรรดา iPad ขนาดมาตรฐาน โดยมันเบากว่า iPad Pro 11 เล็กน้อย และบางเบากว่า iPad 10.2 พอสมควร ตรงนี้ส่งผลต่อการใช้งานเหมือนกันครับ การที่ตัวเครื่องน้ำหนักเบา ทำให้การพกพา การหยิบจับทำได้สะดวกกว่านั่นเอง
เรื่องหน้าจอ 10.5 นิ้วของ iPad Air ผมเชื่อว่ามีหลายคนสงสัยว่ามันต่างจาก iPad 10.2 รุ่นเริ่มต้นตรงไหน แค่หน้าจอที่ใหญ่กว่า 0.3 นิ้วใช่หรือไม่ คำตอบก็คือใช่เพียงส่วนหนึ่งครับ
แต่อีกสิ่งที่ผมว่าหลายคนไม่ทราบ ก็คือหน้าจอ 10.5 นิ้วของ iPad Air จะเป็นหน้าจอแบบ Full Lamination เคลือบสารกันสะท้อน อีกทั้งเรื่องการแสดงสี หน้าจอยังเป็นแบบขอบเขตสีกว้าง P3 และมาพร้อมการแสดงผลแบบ True Tone
โดยรวมหน้าจอของ iPad Air 10.5 หากตัดเรื่อง ProMotion 120 Hz ออกไป แทบจะได้เทคโนโลยีจากรุ่นบนสุดอย่าง iPad Pro มาเลยครับ เพราะฉะนั้นการแสดงผลจะทำได้ดีกว่า iPad 10.2 มากในระดับหนึ่ง และมีการตอบสนองของหน้าจอที่ดีกว่า iPad 10.2
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแสดงผลเท่านั้นที่ผมรู้สึกว่า iPad Air แตกต่างจาก iPad 10.2 แต่ในแง่ของพื้นที่การใช้งานโดยรวม ส่วนตัวมองว่ามีความแตกต่างไม่มาก
ส่วนเรื่องดีไซน์ของ iPad Air 10.5 ยังคงเป็น iPad ที่มาในทรงแบบคลาสสิก มีปุ่ม Home ด้านล่างตัวเครื่อง ขอบจอซ้ายขวาบางลง และพอร์ตเชื่อมต่อเป็น Lightning แบบเดียวกับใน iPhone ทำให้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริม ต้องซื้ออุปกรณ์ต่อพ่วงแยกต่างหากครับ
อุปกรณ์เสริม iPad Air 10.5
สำหรับ iPad Air 10.5 จะมีพอร์ตเชื่อมต่อแบบพิเศษ สำหรับใช้งานร่วมกับ Apple Smart Keyboard อยู่บริเวณด้านซ้ายของตัวเครื่อง การเชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดก็แปะลงไปตรง ๆ ตัว Smart Keyboard ก็จะใช้ไฟจาก iPad Air ไม่ต้องชาร์จไฟอุปกรณ์แยกต่างหาก
แต่ส่วนตัวผมไม่ได้ซื้อ Smart Keyboard เพิ่มนะครับ เนื่องจากพิมพ์งานด้วย iPad Pro 11 + Smart Keyboard Folio อยู่แล้ว แต่สามารถอธิบายสัมผัสในการพิมพ์ได้ เนื่องจากคีย์บอร์ดของสองรุ่นนี้มีรูปแบบการพิมพ์คล้ายกันมาก
แป้นพิมพ์ Smart Keyboard ของ iPad Air เมื่อเทียบกับการพิมพ์บนคีย์บอร์ดของ MacBook Pro Retina 13 หรือเทียบกับคีย์บอร์ดของ Notebook ปกติทั่วไป ตัวแป้นจะมีพื้นที่ให้วางนิ้วน้อยกว่า ความเด้งของปุ่มก็จะน้อยกว่าด้วย อย่างไรก็ตามแค่ปรับตัวสักระยะ ก็จะพิมพ์ได้คล่องขึ้นครับ
ข้อดีอีกอย่างของ Apple Smart Keyboard สำหรับ iPad Air 10.5 ก็คือมันมาพร้อมกับความสามารถในการกันน้ำเข้าได้ด้วย ประเภทที่ว่าเผลอทำกาแฟหกใส่ อันนี้สามารถเช็ดล้างได้ แต่กันน้ำเฉพาะคีย์บอร์ด ส่วนตัวเครื่อง iPad Air ไม่ได้มีคุณสมบัติกันน้ำครับ
สนนราคาสำหรับ Smart Keyboard อยู่ที่ 5,290 บาท ส่วนตัวผมมองว่าเป็นราคาที่สูงอยู่เหมือนกันครับ แต่ Apple เองก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องใช้คีย์บอร์ดของตัวเองกับ iPad เพราะมันสามารถเชื่อมต่อกับ Keyboard แยกผ่านทาง Bluetooth ได้ด้วย หรือถ้าสนใจ Keyboard ที่ประกบติดเครื่อง เท่าที่เห็นตอนนี้ก็มีหลายแบรนด์เลยล่ะครับ
อีกหนึ่งความสามารถใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน iPadOS 13.4 ก็คือการเชื่อมต่อกับ Mouse และ TrackPad ยิ่งทำให้ iPad Air 10.5 มีความน่าใช้เข้าไปอีก เพราะในบางงาน การสัมผัสหน้าจออาจทำงานได้ไม่สะดวกนัก เช่น การทำงานเอกสารบน Number หรือ Excel พอได้ต่อเมาส์แล้วให้ความรู้สึกเป็น Computer ขึ้นเยอะ
เมาส์ที่ iPad Air 10.5 รองรับก็แทบจะทุกยี่ห้อที่เชื่อมต่อผ่าน Bluetooh ได้ครับ หรือถ้าอยากให้เข้าเซ็ตก็สามารถซื้อ Apple Magic Mouse ได้เช่นกัน หรือถ้ามี Wireless Mouse อยู่แล้ว ก็สามารถซื้ออะแดปเตอร์ Lightning to USB มาเชื่อมต่อได้ อาจจะพะรุงพะรังสักหน่อย แต่ใช้งานได้ดีทีเดียว
อุปกรณ์เสริมอย่างสุดท้าย หรือจริง ๆ ต้องบอกว่าเป็นอุปกรณ์เสริมที่ผมว่าคนซื้อ iPad Air 10.5 มากกว่า 70% จะต้องจ่ายเงินซื้อก็ได้แก่ Apple Pencil เอาไว้สำหรับขีดเขียนหน้าจอ จดบันทึก ไปจนถึงการวาดภาพ
โดยในตอนนี้ก็มีหลายแอปพลิเคชั่นที่ออกแบบมาสำหรับการเขียนหน้าจอ แต่ส่วนตัวผมจะใช้ Notability เพราะสะดวกรองรับ iCloud Sync ทำให้การจดบันทึกบน iPad มีข้อมูลไปโผล่บน iPhone ได้ทันที หรือถ้าไม่สะดวกซื้อแอปเพิ่ม ผมจะบอกว่าแอป Notes ที่ติดเครื่องมาก็ใช้งานได้ดีไม่แพ้กันครับ
ในส่วนของการจด ไปจนถึงการวาดภาพ เมื่อเทียบระหว่าง Apple Pencil 1 กับ Apple Pencil 2 (ของ iPad Pro) จะให้ความแตกต่างพอสมควร หากอธิบายให้เห็นภาพ ผมรู้สึกว่า Apple Pencil 1 กับ iPad Air จะยังให้ความรู้สึกเหมือนเขียนบนหน้าจอ แต่ถ้าเป็น Apple Pencil 2 กับ iPad Pro จะให้ความรู้สึกเหมือนจดใส่กระดาษมากกว่า
ผมลองให้น้องสาวที่วาดภาพบน iPad เป็นประจำ เทียบระหว่าง iPad Air + Apple Pencil กับ iPad Pro กับ Apple Pencil 2 ผลปรากฎว่าความนิ่งของเส้น รวมถึงการตอบสนองฝั่ง iPad Air ยังคงเป็นรองอยู่พอสมควร
แต่อย่าลืมว่าราคาของ iPad Air + Apple Pencil รวมกันแล้วถูกกว่า iPad Pro พอสมควรครับ ผมมองว่าตรงนี้ไม่ใช่ข้อเสีย แต่เป็นสิ่งที่ควรทราบมากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วหากคุณต้องการแค่ไว้จดบันทึก หรือแค่วาดรูปเล่น ผมว่า iPad Air 10.5 ตอบโจทย์การใช้งานมากแล้วล่ะ
อีกหนึ่งจุดที่ผมไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่สำหรับ Apple Pencil 1 ก็คือการชาร์จไฟนี่ล่ะครับ จะต้องชาร์จไฟโดยการจิ้ม Apple Pencil เข้ากับพอร์ต Lightning ที่ตัว iPad Air ซึ่งผมมองว่ามันไม่ค่อยสะดวกสักเท่าไหร่ ส่วนการชาร์จไฟ Apple Pencil หากไม่ค่อยได้เขียนเลย ผมว่าประมาณ 1 อาทิตย์ชาร์จที แต่ถ้าเขียนบ่อยการใช้งานก็จะลดหลั่นลงมาครับ
ชิป Apple A12 Bionic ยังไหวอยู่ไหมในปี 2020
ผมเชื่อว่าอีกประเด็นที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับ iPad Air 10.5 ก็คือในเรื่องของประสิทธิภาพตัวเครื่อง ชิปเซ็ตที่ใช้เป็น Apple A12 Bionic ว่ามันยังโอเคอยู่ไหม เพราะในปัจจุบันชิปเซ็ตรุ่นล่าสุดของ Apple จะเป็น A13 Bionic ที่อยู่ใน iPhone 11 Pro
อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ เลย ชิปเซ็ตที่อยู่ใน iPad Air 10.5 เป็นชิปตัวเดียวกับใน iPhone Xs, iPhone XR นั่นล่ะครับ เพราะฉะนั้นผมมองว่ามันใช้งานได้อีกนาน 2 – 3 ปีขึ้นไปเลย เช่นเดียวกับการอัพเดตซอฟต์แวร์ คาดว่าคงได้ไปต่ออีกหลายเวอร์ชั่น
ในด้านประสิทธิภาพของ iPad Air รุ่นที่ 3 ส่วนตัวผมว่ามันสามารถใช้งานได้หลากหลาย จะเอาไปใช้ทำงานอย่างงานเอกสาร ไปจนถึงการทำภาพ ตัดต่อวิดีโอ หรือจะใช้งานด้านความบันเทิง เล่นเกม รับชมภาพยนตร์ก็สบาย ๆ ต่อให้เปิดใช้งานพร้อมกันหลายแอปด้วยฟีเจอร์ Split View ก็ไม่มีปัญหา ผมลองเปิดพร้อมกัน 3 แอป โดยการแบ่ง 2 หน้าจอ (Safari + Mail) แล้วให้ iPad Air เล่นภาพยนตร์เรื่อง See เป็นแบบ Picture-in-Picture ก็ยังไม่พบว่ามีอาการกระตุกแต่อย่างใด
เรื่องแบตเตอรี่ ต้องอธิบายก่อนว่าระบบปฏิบัติการ iOS และ iPadOS มีการจัดการพลังงานที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ที่เมื่อก่อนมักจะมีคนบอกว่า iPhone แบตหมดไว นั่นไม่ใช่เพราะตัวเครื่องมันกินแบตเยอะนะครับ แต่เป็นเพราะ Apple ใส่แบตเตอรี่ความจุน้อยมาก ๆ ใน iPhone ต่างหาก ส่วนแบตเตอรี่ของ iPad นั้นมีความจุมากอยู่แล้ว เนื่องจากมีพื้นที่ให้ใส่แบตเตอรี่เยอะ จากที่ได้ใช้งาน iPad Air 10.5 มาช่วงเวลาหนึ่ง หากไม่ได้รับชมซีรี่ส์ต่อเนื่อง ผมว่าแบตเตอรี่มันอยู่ได้หมดวันสบาย ๆ หรือถ้าวันไหนใช้น้อยก็ 2 วันชาร์จทีได้ครับ
ส่วนเรื่องการชาร์จไฟ อะแดปเตอร์ iPad Air 10.5 ยังคงเป็นอะแดปเตอร์ 12W ชาร์จไฟผ่านพอร์ต Lightning ระยะเวลาในการชาร์จไฟค่อนข้างนานราว 4 ชั่วโมง แต่ถ้าต้องการให้ชาร์จเร็วขึ้นอีกสักหน่อย สามารถใช้อะแดปเตอร์ 18W ของ iPhone 11 Pro ชาร์จได้เช่นกัน
กล้องถ่ายรูป iPad Air รุ่นที่ 3
ในส่วนของการถ่ายภาพ iPad Air รุ่นที่ 3 มาพร้อมกับกล้องหลัง 1 ตัว ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.4 ว่ากันตามตรงสำหรับคุณภาพรูปถ่าย ยังไม่สู้ iPhone แต่หากเทียบกับในบรรดาแท็บเล็ตด้วยกัน ผมมองว่ามันให้คุณภาพที่ดีกว่ากล้องแท็บเล็ตหลาย ๆ รุ่น
ภาพถ่ายในที่แสงปกติ ระยะกล้องไวด์ ผมว่ากล้องของ iPad Air พอใช้งานได้เลยครับ แต่พอเป็นที่แสงน้อย หรือเริ่มมีการซูม (Digital Zoom) พบว่าภาพจะแตก เป็นวุ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนการถ่ายวิดีโอ กล้องหลังของ iPad Air รองรับการถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุดที่ 1080p 30fps
กล้องหน้า FaceTime HD ของ iPad Air 10.5 มีความละเอียด 7 ล้านพิกเซล รองรับการบันทึกวิดีโอ 1080p เช่นเดียวกัน หลัก ๆ ผมใช้กล้องหน้าสำหรับการ Video Call บ่อยอยู่ครับ คู่สนทนาก็บอกว่าภาพเสียงคมชัด อีกทั้งแอปพลิเคชั่น FaceTime สามารถเปิดแบบ Picture-in-Picture ได้ด้วย ทำให้สามารถทำงาน ไปพร้อม ๆ กับการคุยงานได้ในเวลาเดียวกัน
สรุปภาพรวม iPad Air รุ่นที่ 3 เหมาะกับใคร?
ผมว่าคำตอบของคำถามนี้ง่ายมากเลยครับ ผมว่า iPad Air 10.5 เกิดมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของคนส่วนใหญ่ ที่ต้องการอุปกรณ์พกพาสำหรับทำงาน รวมถึงตอบโจทย์ความบันเทิงในเครื่องเดียวกัน และสำคัญที่สุดก็คือมองว่า iPad Pro นั้นมีราคาสูงจนเกินไป
หากคุณไม่ได้เป็นคนที่วาดรูประดับมืออาชีพ แต่แค่พิมพ์งาน ทำงานจริงจังขึ้นมาสักหน่อย หรือจดบันทึก อาจมีวาดรูปแก้เบื่อบ้าง ผมกลับมองว่า iPad Pro ดูจะเกินความจำเป็นด้วยซ้ำไป และ iPad Air รุ่นที่ 3 น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมันเกิดมาเพื่อผู้ใช้ที่ต้องการใช้งานกึ่งโปรนั่นเอง
ส่วน iPad Air 10.5 เทียบกับ iPad 10.2 หากต้องการใช้งานยาว ๆ ผมว่า iPad Air 3 น่าซื้อกว่าเยอะครับ เอาแค่เรื่องหน้าจอก็ให้ความแตกต่างกันมากแล้ว ยังไม่นับเรื่องประสิทธิภาพที่ต้องยอมรับว่าชิป A10 ใน iPad 10.2 เป็นรอง A12 อยู่มากในระดับหนึ่ง
ผมมองว่า iPad 10.2 เป็น iPad ที่ดีครับ มันเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมได้หลากหลาย พอทำงานได้บ้าง แต่ถ้าต้องการทำงานจริงจังมากขึ้น iPad Air 3 เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าอย่างแน่นอน
เปรียบเทียบในรุ่นเริ่มต้นของ iPad Air 10.5 กับ iPad Pro 11 ส่วนต่างราคาจะอยู่ที่ 10,000 บาทพอดี หากมองว่างานที่ทำ แค่ iPad Air ก็เพียงพอแล้ว ในงบประมาณ 27,900 บาทของ iPad Pro ถ้าเปลี่ยนมาซื้อ iPad Air จะได้ตัวเครื่องพร้อมอุปกรณ์เสริมครบเซ็ตเลยนะครับ
สำหรับความจุที่ผมแนะนำสำหรับ iPad Air รุ่นที่ 3 ส่วนตัวแนะนำให้ซื้อ 256GB ไปเลยครับ ใช้งานยาว ๆ ไม่ปวดหัวเรื่องความจุเต็ม รวมถึงบรรดาแอปพลิเคชั่นบน iPadOS ก็มีขนาดใหญ่ใช่เล่น ความจุ 64GB หากไม่ได้ซื้อพื้นที่ iCloud เพิ่ม ผมว่ามันมีข้อจำกัดในการใช้งานมากเกินไปสักหน่อย
สุดท้ายก็คือจะซื้อรุ่น Wi-Fi หรือ Wi-Fi + Cellular ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานโดยรวม ว่าใช้งานนอกสถานที่บ่อยหรือไม่ หรือแค่ใช้งานในบ้านเป็นหลัก ผมว่ารุ่น Wi-Fi ก็พอแล้ว หรือถ้าใช้งานข้างนอกบ่อย แล้วปกติพก iPhone อยู่แล้ว สามารถแชร์อินเทอร์เน็ตจาก iPhone ก็สะดวกอยู่ครับ
สรุปราคา และอุปกรณ์เสริม iPad Air 3
iPad Air 3 วางจำหน่ายด้วยกัน 2 รุ่นย่อย 2 ความจุ แบ่งเป็นรุ่น Wi-Fi และ Wi-Fi + Cellular มีราคาดังนี้ครับ
iPad Air 3 Wi-Fi
- 64GB ราคา 17,900 บาท
- 256GB ราคา 22,900 บาท
iPad Air 3 Wi-Fi + Cellular
- 64GB ราคา 22,400 บาท
- 256GB ราคา 27,400 บาท
ราคาอุปกรณ์เสริม iPad Air 3
- Apple Pencil 1 ราคา 3,400 บาท
- Apple Smart Keyboard ราคา 5,290 บาท
- Smart Cover ราคา 2,290 บาท
- Leather Smart Cover ราคา 2,990 บาท