สำหรับอุปกรณ์ IT ตอนนี้คงปฎิเสธไม่ได้ว่า USB Type-C นั้นเป็นพอร์ตเชื่อมต่อที่ถูกใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยความที่ใช้ง่าย หลากหลายประโยชน์ แถมยังถูกเอาไปใช้ในอุปกรณ์แทบทุกอย่างแล้ว ทำให้มีความสะดวกสบายต่อการใช้งานอย่างถึงที่สุด ด้วยสายเพียงเส้นเดียวก็สามารถทำได้ทุกสิ่ง แต่ทว่าตั้งแต่เริ่มมีการใช้งานมาจนถึงตอนนี้ก็มีการพัฒนาไปหลายรุ่นแล้ว วันนี้เราเลยจะมาอธิบายข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงพอร์ต Thunderbolt 3
USB Type-C คืออะไร
คำว่า USB Type-C ที่เราใช้กันติดปาดนี้นั้นความจริงแล้วไม่ใช่ชื่อเรียกมาตราฐานอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าให้พูดในทางเทคนิคแล้วมันคือประเภทของการเชื่อมต่อของ USB อย่าง USB Type-A ที่นิยมใช้กับคอมพิวเตอร์ และ USB Type-B ที่ใช้ในปริ้นเตอร์ (ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ คือ USB Type-B Micro หรือที่เราเรียกว่า Micro USB ซึ่งใช้กันในมือถือนั่นเอง)
มาตราฐาน USB จริง ๆ แล้วจะถูกกำหนดเป็นหมายเลขเช่น USB 2.0 หรือ USB 3.0 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลที่รองรับเป็นหลัก อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีพอร์ต USB แบบ Type-C นี้ ส่วนมากจะใช้เป็น USB มาตราฐาน 3.2 Gen 2 ซึ่งมีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดถึง 10Gb/s ซึ่งคนทั่วไปคิดว่าคำสองคำนี้สามารถใช้แทนกันได้
ดังนั้นเราจึ้งต้องขอย้อนประวัติของ USB กันสักเล็กน้อย โดย USB นั้นเริ่มปรากฎขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงปี ค.ศ. 1998 ซึ่งในสมัยนั้นเทคโนโลยีของ USB จะเป็ฯเวอร์ชั่น 1.1 เป็นการใช้งานร่วมกับหัวพอร์ต USB แบบ Type-A และ Type-B หลังจ่กนั้นก็ได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น USB เวอร์ชั่น 2.0 ในช่วง ค.ศ. 2000 และใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปี ค.ศ 2008 ซึ่งในช่วงนั้นนิยมใช้กันคือ USB Type-B mini และ USB Type-B Micro หรือที่เราเรียกว่า mini USB และ Micro USB นั่นเอง หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้นมาเป็น USB เวอร์ชั่น 3.0 และพัฒนาเป็น USB เวอร์ชั่น 3.1 โดยมีการเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการใช้งาน จนเกิดเป็น USB รูปแบบ Type-C ขึ้นมานั่นเอง
ข้อดีของ USB Type-C
- ขนาดเล็กพกพาสะดวก
- หัวพอร์ตสามารถสลับเสียบด้านใดก็ได้
- รองรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น
- ใช้เสียบชาร์จแบตเตอรี่ให้กับอุปกรณ์ต่างๆ
- ใช้รับส่งข้อมูล
- ใช้เป็นสายเสียบหูฟัง
- ใช้เป็นพอร์ตส่งสัญญาณภาพและเสียง (HDMI)
USB Type-C มีกี่ประเภท
Type-C นั้นโดยคอนเซ็ปต์แล้วจะสามารถใช้งานได้หลากหลายประเภทภายในหัวเดียว ซึ่งในปัจจุบันนั้นจะถูกแบ่งแยกออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
USB Type-C แบบทั่วไป
USB Type-C แบบทั่ว ๆ ไปนั้นในด้านการใช้งานก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก USB Type-A แต่อย่างใด เพียงแต่มีหัวเป็น Type-C ที่สามารถเสียบด้านไหนก็ได้เท่านั้น โดยในแบบทั่วไปนั้นจะเรียกเป็นหมายเลขเวอร์ชั่นคือ 2.0, 3.0, 3.1, 3.1 Gen 2 และล่าสุดคือ 3.2 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สามารถใช้เป็นตัวระบุความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลได้ โดยใน USB 3.2 นั้นสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 20Gb/s เลยทีเดียว
ซึ่งแบบทั่วไปนี้เราสามารถพบได้ในอุปกรณ์ทั่ว ๆ ไป รวมถึงในโน๊ตบุ๊คและสมาร์ทโฟน โดยในสมาร์โฟนนั้นจะใช้แตกต่างกันไปตามระดับตัวเครื่องอย่างเช่นในรุ่นเรือธงจะใช้ USB 3.1 และ USB 3.2 นอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็น USB 2.0 เสียส่วนมาก ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตว่าออกแบบให้ตัวเครื่องมีระบบชาร์จด้วยความเร็วเท่าไร เพราะแต่ละรุ่นนั้นรองรับการจ่ายไฟได้ต่างกัน
USB Type-C PD / POWER DELIVERY
USB แบบ PD นั้นว่าด้วยเรื่องการใช้งานนั้นไม่ต่างอะไรกับ Type-C แบบทั่วไป แต่ที่แตกต่างกันคือความสามารถในการจ่ายไฟที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 5V ไปจนถึง 20V ทำให้สามารถเอาไปใช้งานได้กับอุปกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยในปัจจุบันนั้น USB PD นั้นได้มีการพัฒนามาสู่เวอร์ชั่น 3.0 แล้ว ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยี PD นั้นคือทำให้สามารถเอาไปใช้ชาร์จได้ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงโน้ตบุ๊ค ในสภาพที่ตัวอะแดปเตอร์มีขนาดเล็กในระดับที่พกพาได้ง่าย
USB Type-C DP / DISPLAY PORT
Type-C แบบ DP เป็น USB แบบที่จะพบได้บนคอมพิวเตอร์แบบพีซีและโน๊ตบุ๊ค ซึ่งพอร์ตนี้จะเป็นพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับหน้าจอแยกที่รองรับพอร์ตแบบ Type-C แต่ด้วย Type-C DP เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้นิยมมากนักทำให้หน้าจอที่มีพอร์ต Type-C DP นั้นมีน้อยแถมยังราคาแพงด้วย ทว่าในบางรุ่นที่ราคาสูงมาก ๆ พอร์ตนี้สามารถใช้ชาร์จไฟให้โน๊ตบุ๊คได้เลยด้วยซ้ำ
THUNDERBOLT 3
Thunderbolt 3 นับเป็นพอร์ตที่ครบเครื่องที่สุดในบรรดา USB รูปแบบ Type-C แล้ว ด้วยการรวมความสามารถต่าง ๆ เข้าด้วยกันทำให้สามารถใช้งานได้หลาย ๆ อย่างพร้อมกันในพอร์ตเดียว ซึ่ง Thunderbolt 3 ในปัจจุบันผู้ที่ใช้งานแบบเต็มที่จะมีเพียง Apple เท่านั้น ส่วนโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่น ๆ จะมีการให้พอร์ต Thunderbolt 3 มาเพียง 1 พอร์ต และจะอยู่ในเครื่องที่มีราคาสูงอีกด้วย
Thunderbolt 3 นั้นสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วกว่า USB 3.2 ที่เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดถึง 2 เท่า สามารถทำความเร็วได้ 40Gb/s โดยจุดสังเกตุความแตกต่างของ Thunderbolt 3 และ Type-C แบบอื่น ๆ คือ Thuncderbolt 3 นั้นจะมีรูปสายฟ้าอยู่ข้าง ๆ พอร์ต Type-C ซึ่งหากเจอก็มั่นใจได้เลยว่าพอร์ต Type-C นี้เป็น Thunderbolt 3 แน่นอน
ความสามารถของ Thunderbolt 3
- เชื่อมต่อหน้าจอ 4K 60 Hz สองจอ (ด้วยสายเส้นเดียว)
- จ่ายไฟสูงสุด 100W
- เชื่อมจากการ์ดจอภายนอก
- เชื่อมต่อการ์ดเสียงภายนอก
- เชื่อมต่อแบบ Daisy chaining (ลูกโซ่) สูงสุด 6 อุปกรณ์
- รองรับโปรโตคอล Thunderbolt, USB, DisplayPort, PCI Express
นอกเหนือจากนี้ความสามารถของ Thunderbolt 3 ก็จะเหมือนกับ Type-C ทั้งหมด ทำให้หากเอาสาย Thunderbolt 3 ไปใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับ Thunderbolt รุ่นอื่น หรือเอาไปใช้กับอุปกรณ์ที่ไม่ได้รองรับ Thunderbolt ก็ยังสามารถใช้งานได้เป็นปกติ เช่นหากเอาไปใช้กับอุปกรณ์ที่เป็นพียง Type-C ธรรมดา การโอนถ่ายข้อมูลก็จะวิ่งอยู่บนมาตราฐาน Type-C นั่นเอง
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของ USB Type-C และ Thunderbolt 3
หลังจากที่เราได้รู้ข้อมูลของ Type-C แบบต่าง ๆ รวมถึง Thunderbolt 3 ไปแล้วคราวนี้เรามาดูความแตกต่างของ Type-C ที่เราใช้กันแบบทั่ว ๆ ไปและ Thunderbolt 3 ที่ Apple และอุปกรณ์ราคาแพงนิยมใช้
USB 3.1 Gen 2 USB 3.2 Thunderbolt 3 คอนเน็กเตอร์ USB-C USB-C USB-C ความเร็วสูงสุด 10 Gb/s 20 Gb/s 40 Gb/s การต่อพ่วงแบบเดซี่เชน – – สูงสุด 6 อุปกรณ์ USB Power Delivery ไม่มี มี มี จ่ายไฟสูงสุด 100W 100W 100W
สรุปแล้ว Thunderbolt 3 มันต่างกับ Type-C ปกติอย่างไร คำตอบก็คือ Thunderbolt 3 นั้นเป็น Type-C แบบ Perfect ที่รวบรวมความสามารถทุกอย่างของพอร์ตต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้สามารถใช้งานได้ครอบจักรวาลที่สุดในเวลานี้แล้ว ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้พอร์ต Type-C นั้นเจอแทบจะในทุกอุปกรณ์สมัยใหม่แล้ว โดยเฉพาะมือถือในยุคหลัง ๆ ที่ใส่พอร์ต Type-C ลงในมือถือราคาไม่แพง ส่วนพอร์ตแบบ Thunderbolt ยังไม่มีการนำมาใช้ในมือถือแต่อย่างใด ทุกวันนี้จะพบได้ในโน๊ตบุ๊ค, พีซี และอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นหน้าจอ และการ์ดจอแยกเป็นต้น
ขอแนะนำเลยนะครับ ใครที่กำลังหาโน๊ตบุ๊คหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่เป็นแบบ Type-C ให้ลองหาที่เป็นพอร์ต Thunderbolt 3 ดูนะครับ เพราะเป็นพอร์ตที่ใช้งานได้หลากหลายที่สุดแล้ว ซึ่งเดี๋ยวนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีพอร์ต Thunderbolt 3 นั้นราคาก็ลงมาเยอะแล้ว แต่ถ้าหากหาไม่ได้จริง ๆ พอร์ต USB แบบ Type-C ก็ได้ เพียงแต่จะใช้ได้ไม่ครอบคลุมเท่า ซึ่งก้ต้องมาสักเกตุก่อนว่าพอร์ตนั้นเป็น Type-C แบบทั่ว ๆ ไปหรือเป็น Type-C แบบ PD / DP
บทความแนะนำ USB Type-C ที่เราได้เคยเขียนไว้เมื่อนานมาแล้ว ส่วนข้อมูลของ USB ทั้งหมดสามารถหาได้จากเว็บ usb.org เลย