อุปกรณ์กลุ่มของสมาร์ตวอทช์และสมาร์ตแบนด์ แทบจะเป็นอุปกรณ์เสริมที่หลายคนเลือกใช้แทนนาฬิกาข้อมือแบบปกติกันไปแล้ว ทำให้ยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้มีอัตราเติบโตที่สูงขึ้นทุกปี ล่าสุดก็มีรายงานข้อมูลจาก Canalys เผยว่าในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มียอดส่งออกที่สูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3% จำนวนรวมอยู่ที่ 52.9 ล้านเรือน
โดยหากแยกกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกมา จะพบว่าสายรัดข้อมือแบบสมาร์ตแบนด์นั้นมียอดเติบโตขึ้นถึง 7% กับจำนวนส่งออกทั้งหมดราว 10.4 ล้านเรือน ที่น่าสนใจคือนับเป็นไตรมาสแรกที่อัตราการเติบโตเป็นบวก นับตั้งแต่ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงไตรมาสสามของปี 2020 เลยทีเดียว ซึ่ง Canalys วิเคราะห์ว่าหนึ่งในสาเหตุที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มียอดการส่งออกที่สูงขึ้นจะมาจากตลาดเกิดใหม่ ตลาดของผู้ที่เริ่มเข้าสู่วงการ wearable ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่ลองซื้อสายรัดสมาร์ตแบนด์ไปลองใช้งานเป็นครั้งแรก อย่างในประเทศแถบลาตินอเมริกา โซนยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกาที่จะมีรุ่นยอดนิยมคือ Xiaomi Smart Band 9 และ Samsung Galaxy Fit3
ส่วนถ้าเทียบกันในระดับแบรนด์ จะได้ตามตารางด้านบนนี้ ซึ่งบอกถึงยอดส่งออกทั้งสมาร์ตวอทช์และสมาร์ตแบนด์รวมกันแบบ sell-in ของแต่ละแบรนด์ แยกตามแต่ละปี อันดับ 1 ยังคงเป็นของ Apple เช่นเดิมกับยอด 8.5 ล้านเรือน ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.6% ส่วนอันดับ 1 ร่วมก็เป็น Xiaomi ที่มียอด 8.5 ล้านเรือนเช่นกัน แต่ถ้าเทียบกับปีก่อนก็คือโตขึ้นถึง 37.3% มีรุ่นยอดนิยมคือ Redmi Watch 5 อันดับต่อมาก็คือ HUAWEI และ Samsung ที่ต่างก็มีอัตราการเติบโตเป็นบวกทั้งสิ้น ทำให้หากมองในแง่ของจำนวนยอดส่งออก กลุ่มของแบรนด์ที่มีความหลากหลายของช่วงราคา และมีรุ่นราคาย่อมเยาจะเป็นส่วนหลักในการดันยอดในภาพรวมอย่างเห็นได้ชัด
แต่ถ้านำเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็จะเป็นดังกราฟพายทางด้านขวาที่แสดงถึงรายได้จากการประมาณการณ์ในกรณีที่มียอดส่งออกตามข้อมูลข้างต้น พบว่า Apple ยังคงครองเบอร์ 1 แบบทิ้งขาด คือกวาดไป 40% ของยอดเงินในตลาดทั้งหมด รองลงมาคือ Samsung ที่ 14% อันดับสามคือ Garmin ที่ 12% ในขณะที่ Xiaomi นั้นน่าจะมีส่วนแบ่งแค่เพียง 4% เท่านั้น ซึ่งก็เกิดมาจากราคาของสินค้าที่อยู่ในระดับจับต้องง่าย ทำให้ต้องขายได้หลายเรือนมาก ๆ ถึงจะได้ยอดเงินเท่า Apple Watch หนึ่งเรือน