แบตสำรองหรือที่เรียกติดปากกันว่า Powerbank คือหนึ่งในอุปกรณ์ที่แทบจะต้องมีติดกระเป๋ากันทุกคนอยู่แล้ว เพื่อเป็นแหล่งเติมพลังงานฉุกเฉินให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ที่พกติดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟน แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์จไฟของฝั่งสมาร์ทโฟนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ฝั่งของ powerbank ต้องปรับตัว และเสริมฟังก์ชันการชาร์จเร็วเข้าไปเป็นจุดขาย ทำให้เราได้เห็น powerbank ที่รองรับเทคโนโลยีการชาร์จเร็ววางขายในตลาดกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ทว่าตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ที่ใช้ช่อง USB-C เริ่มมาพร้อมกับฟีเจอร์ Power Delivery (PD) ที่ทำให้การชาร์จไฟเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ตัวอย่างเช่น iPhone 8, iPhone 8 Plus, iPhone X ฝั่ง Android ก็เช่น Google Pixel 2, Pixel 2 XL, Samsung Galaxy S8, S8+ รวมถึงเครื่องเกมอย่าง Nintendo Switch ทำให้ถ้าหากผู้ใช้ต้องการที่จะชาร์จไฟเข้าแบบเร็วทันใจ ก็ต้องหาอะแดปเตอร์และ powerbank ที่รองรับฟีเจอร์ PD นี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในเจ้า powerbank ในรีวิวนี้ มันรองรับ และเป็นหนึ่งในรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงมากในขณะนี้ นั่นคือ ZMi 10 (QB820) ความจุ 20000 mAh จาก Xiaomi นั่นเอง
ZMi 10 ตัวนี้ ผมซื้อมาจาก Xiaomi Offical Shop ที่ประเทศฮ่องกง
สำหรับเจ้า ZMi 10 ตัวนี้ ผมซื้อมาจาก Xiaomi Offical Shop ที่ประเทศฮ่องกงครับ เนื่องจากผมไปเที่ยวพอดี แล้วเจอวางขายในช็อป ก็เลยจัดมา 1 ตัว ราคาที่นู่นก็ตามป้ายเลยคือ 349 ดอลลาร์ฮ่องกง คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 1,400 บาท ส่วนถ้าต้องการหาซื้อในไทย ตอนนี้ก็มีร้านในอินเตอร์เน็ตเปิดขายกันหลายร้าน ราคาเท่าที่ผมเจอก็อยู่ในช่วงสองพันกว่าบาทถึงสองพันปลายๆ บางช่วงมีโปรโมชันพิเศษก็เหลือแค่เกือบสองพันบาทเท่านั้น ก็ถือซะว่าเป็นค่าอำนวยความสะดวก ให้ไม่ต้องบินไปซื้อถึงต่างประเทศ อีกอย่างคือซื้อในไทย หากมีปัญหาก็ยังพอคุยกับร้านที่ซื้อมาได้ แต่ถ้าหิ้วมาเอง หากต้องการเคลม ก็คงต้องบินไปเองด้วยเหมือนกัน
ด้านบนคือกล่องแต่เป็นเพียงกล่องใน เพราะจริงๆ แล้วจะมีกล่องกระดาษน้ำตาลเป็นกล่องนอกอีกชั้นหนึ่ง แต่ผมไม่ได้เอามาถ่ายรูปด้วยครับ สำหรับกล่องในก็ทำมาจากกระดาษแข็ง ฝากล่องบนจะหนาและแข็งแรงมากๆ ด้านในบุฟองน้ำสีดำกันกระแทกให้กับตัว powerbank อีกชั้นด้วย เรื่องแพ็คเกจนี่กินขาดจริงๆ
พลิกมาด้านหลังกล่องก็จะพบกับสเปคการจ่ายไฟอย่างละเอียดเลย ดังนี้
ชาร์จไฟเข้า
- ชาร์จไฟเข้าได้สูงสุด 45W ผ่านช่อง USB-C รองรับเทคโนโลยี PD
- แรงดันและกระแสไฟที่รองรับ: 5V 3A // 9V 3A // 12V 3A // 15V 3A // 20V 2.25A
ไฟออก ไปชาร์จให้อุปกรณ์อื่น
- USB-C : ชาร์จไฟออกได้สูงสุด 40W รองรับเทคโนโลยี PD : 5V 3A // 9V 3A // 12V 3A // 15V 2.66A // 20V 2A
- USB-A ทั้ง 2 ช่อง : ชาร์จไฟออกได้สูงสุด 18W รองรับ QC 3.0 : 5V 2.4A // 9V 2A // 12V 1.5A
ด้านของความจุแบตเตอรี่จริงๆ นั้น จะไม่ตรงกับที่โฆษณานะครับ โดยอ้างอิงจากคู่มือภาษาอังกฤษของเว็บ Xiaomi-ZMi เอง ความจุจริงแบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 10,000 mAh เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ powerbank จะมีความจุไม่เต็มเท่าที่โฆษณา เนื่องด้วยอัตราการสูญเสียพลังงานต่างๆ ซึ่งก็ยังดีที่ ZMi 10 มีระบุอยู่ในคู่มือ (แต่มันก็ต่างกันเยอะไปหน่อยนะ ร่วมเท่าตัวเลย)
แง่ของการชาร์จไฟเข้านั้น ถ้าต้องการให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ก็คงต้องหาอะแดปเตอร์ และสาย USB-C to USB-C ที่รองรับฟังก์ชัน PD ด้วยเท่านั้นครับ ซึ่งในตลาดตอนนี้ก็พอมีอยู่บ้างเหมือนกัน ส่วนถ้าใครที่ใช้ MacBook Pro รุ่นตั้งแต่หลังปี 2016 เป็นต้นมา หรือมีเครื่องเกม Nintendo Switch อยู่ ก็สามารถใช้อะแดปเตอร์ของอุปกรณ์ทั้งสองชาร์จไฟเข้าได้แบบไม่มีปัญหาเลย ส่วนอะแดปเตอร์มือถือรุ่นต่างๆ ก็ใช้ชาร์จได้ครับ แต่อาจจะเข้าช้าหน่อย
เมื่อดึงฝากล่องด้านบนออก ก็จะพบกับ ZMi 10 อยู่ด้านหน้าสุดเลย (ถ้าเพิ่งแกะกล่องครั้งแรก จะมีถุงพลาสติกห่ออยู่อีกชั้น)
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องก็มีแค่สาย 2 เส้น ได้แก่
- สาย USB-C to USB-C ที่รองรับ PD ความยาว 60 เซนติเมตร
- สาย USB-A to Micro USB ที่มีหัวแปลงเป็น USB-C พ่วงมาให้ในตัว ความยาว 30 เซนติเมตร
สายทั้งสองเส้นจัดว่าหนาพอสมควร หนากว่าสาย Lightning ของ Apple เองเล็กน้อย นอกจากนี้ก็จะมีคู่มือที่เป็นภาษาจีนมาให้อีกนิดหน่อย
หน้าตาก็เป็นแบบนี้ครับ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมทั้งหมดโค้งมน ผิวเป็นโลหะมีความลื่นมือ เคลือบสีที่ไม่เชิงว่าดำซะทีเดียว ออกจะคล้ายๆ สีก้อนหินมากกว่า ดูแล้วน่าจะเกิดรอยขีดข่วนจากการใช้งานได้ไม่ยาก ขนาดตัวก็จะใหญ่กว่ามือถือจอ 5.5 นิ้วเล็กน้อย แต่หนาเอาเรื่อง ด้วยความหนาประมาณความกว้างนิ้วหัวแม่มือ (160.4 × 81.8 × 21 mm) ส่วนน้ำหนักก็อยู่ที่ 405 กรัม เรียกว่าหนักเกือบจะพอๆ กับ iPad mini เลย จึงอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับการถือใช้งานร่วมกับมือถือระหว่างชาร์จเท่าไหร่ น่าจะเหมาะกับการโยนใส่กระเป๋าหลัง แล้วค่อยหยิบออกมาวางเพื่อใช้ชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นในยามจำเป็นมากกว่า
ด้านหลังก็มีระบุสเปคและข้อมูลการรับรองมาตรฐานต่างๆ เอาไว้เหมือนกับที่กล่องเลย สำหรับไส้แบตเตอรี่ภายในนั้น จากในคู่มือแจ้งว่าเป็นแบตเตอรี่ Li-ion มาจาก LG ครับ สำหรับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ในตัวก็จะมีทั้งตัวช่วยป้องกันความร้อนสูงจน overheat, ตัวช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร, ตัวช่วยป้องกันกระแสย้อนกลับ รวมถึงป้องกันกระแส/แรงดันเกินทั้งขาเข้าและขาออก
ช่องเชื่อมต่อทั้งสามจะอยู่รวมในด้านเดียวกันทั้งหมด โดยมี USB-C ที่ทำหน้าที่ได้ทั้งจ่ายไฟเข้าและออกอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วย USB-A ที่ปล่อยไฟออกได้อย่างเดียว
อันที่จริงแล้วยังมีอีกฟังก์ชันซ่อนอยู่ นั่นคือมันสามารถทำตัวเองเป็น USB Hub ให้กับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับช่อง USB-C ได้ด้วย โดยปรับการทำงานของช่อง USB-A ทั้งสองให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้ เช่น ผมต่อเข้ากับ MacBook หากผมเปิดใช้โหมด USB hub ผมก็สามารถเอา flashdrive และเม้าส์ USB มาเสียบที่ช่อง USB-A ปกติเพื่อต่อเข้ากับ MacBook ได้ทันที ช่วยแก้ปัญหาเวลาลืมสายแปลงพอร์ตได้เป็นอย่างดีครับ ซึ่งการเปิดใช้โหมด USB hub ก็เพียงแค่กดปุ่มตรวจสอบระดับแบตเตอรี่ที่อยู่ด้านข้างสองครั้งติดกัน ให้ไฟสีฟ้าติดขึ้นมา ส่วนถ้าต้องการปิดโหมดนี้ ก็แค่กดปุ่มเดิมลงไป 1 ครั้งเท่านั้น โดยระหว่างที่ใช้เป็น USB hub นั้น ก็จะมีการจ่ายไฟเข้าไปยังคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ด้วย
ปุ่มที่ว่าก็คือตรงนี้ครับ ตัวปุ่มจะอยู่ลึกลงไปจากสันเล็กน้อย ทำให้สามารถคลำหาตำแหน่งได้ไม่ยากนัก หากกดในโหมดปกติ ก็จะเป็นการเรียกดูปริมาณความจุแบตที่เหลืออยู่ ซึ่งไฟแต่ละดวงก็จะแทนค่า 25% เช่นหากไฟติด 3 ดวง ก็เท่ากับว่าแบตเหลือไฟประมาณ 50-75%
ส่วนถ้าหากเปิดใช้งานโหมด USB hub ไฟสีฟ้าก็จะติดขึ้นมาตรงตำแหน่งทางซ้ายของปุ่มกดในภาพ และไฟดวงเล็กๆ ทั้ง 4 ก็จะติดค้างตลอดเวลาด้วย
ถ้าเทียบความหนากับปากกา ก็ตามภาพด้านบนเลยครับ หนากว่ากันราวเท่าตัว
ในการใช้งานจริง หากต้องการรีดประสิทธิภาพของ ZMi ให้สูงที่สุด ก็คงต้องเป็นการชาร์จไฟออกจากช่อง USB-C เข้าไปยังอุปกรณ์ที่รองรับฟังก์ชัน PD ผ่านพอร์ต USB-C ด้วยเช่นกัน ซึ่งจากที่ผมลองใช้กับมือถือ Google Pixel 2 XL เมื่อเสียบสายต่อเข้าด้วยกัน ที่หน้าจอก็แจ้งทันทีว่าเป็นชาร์จเร็ว (charging rapidly) ปริมาณแบตก็ขึ้นแทบจะ 1% ต่อ 1 นาทีเลยทีเดียว โดยเท่าที่ลองจับเวลาดู เริ่มจากแบตในเครื่องเหลือ 9% ก็สามารถชาร์จขึ้นจนเป็น 49% ภายใน 37 นาที และเพิ่มขึ้นเป็น 93% ภายในประมาณ 1 ชั่วโมง 26 นาทีเท่านั้น ทำให้เสมือนว่าพกอะแดปเตอร์ชาร์จเร็ว แล้วเสียบชาร์จกับปลั๊กไฟเลยก็ว่าได้
ส่วนการชาร์จไฟกลับเข้าไปเก็บก็ทำผ่านพอร์ต USB-C เช่นกัน โดยรอบนี้ผมใช้อะแดปเตอร์ Aukey ชาร์จที่ช่อง USB-C ที่รองรับ Quick Charge 3.0 ก็ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง แต่ถ้าหากเป็นอะแดปเตอร์ที่รองรับ PD ด้วย ก็น่าจะเร็วกว่านี้เล็กน้อย
เครื่องเล่นเกม Nintendo Switch ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องที่ผมนำมาทดสอบกับ ZMi 10 ตัวนี้เหมือนกัน ทั้งส่วนของการเล่นแบบโหมดพกพา และการเล่นแบบต่อ dock เพื่อส่งภาพออกทีวี ซึ่งแบบหลังนี้จะกินพลังงานมากกว่า ผลคือสามารถเล่นเกมได้อย่างไหลลื่น แบตในเครื่องไม่ลดเลย เท่ากับสามารถจ่ายไฟผ่านช่อง USB-C PD ได้พอดีกับความต้องการของ Switch ซึ่งรองรับไฟเข้าจากอะแดปเตอร์ได้สูงสุด 39W พอดี ทำให้สามารถเล่นเกมได้เสมือนว่าเสียบอะแดปเตอร์กับปลั๊กไฟบ้านเลย ส่วนระยะเวลาที่สามารถใช้งานได้นั้น ผมทดสอบคร่าวๆ ด้วยการเล่นเกม Resident Evil Revelation 2, UNO และเดโมของเกม Kirby พบว่าหลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง ไฟ LED แสดงปริมาณแบตลดลงเหลือ 2 ดวง ก็น่าจะประมาณได้ว่าแบตยังเหลืออยู่ในช่วง 50-75%
ผ่านจากการทดสอบชาร์จมือถือผ่าน USB-C PD และการชาร์จเครื่องเกม Nintendo Switch ไปแล้ว ทีนี้มาเจอของใหญ่อย่าง MacBook Pro 13″ รุ่นปี 2016 กันบ้าง โดยผมเลือกที่จะต่อสายจากเครื่องตรงมายัง ZMi 10 เพื่อให้มันเป็นแหล่งจ่ายไฟเข้าไปโดยตรงเลย สำหรับรูปแบบการใช้งานของผมก็ตามนี้ครับ
- ใช้งานเครื่องโดยการต่อเน็ตผ่าน Wi-Fi / Bluetooth และเปิดจอไว้ตลอดเวลา
- ความสว่างหน้าจออยู่ในระดับเกือบสูงสุด
- ไฟคีย์บอร์ดปิดไว้ เนื่องจากใช้งานในบริเวณที่แสงค่อนข้างสว่างมาก
- เปิด Google Chrome โดยมีแท็บที่ทำงานอยู่ 6-8 แท็บตลอดเวลา หนึ่งในนั้นคือ Facebook และการเขียนรีวิว ที่ต้องเขียนอยู่เกือบตลอด มีอัพโหลดรูปบ้าง
- สลับไปแต่งรูปเป็นบางช่วง โดยใช้โปรแกรม Adobe Lightroom CC ทำภาพไฟล์ RAW ประมาณ 50 ภาพ จากนั้นมารันสคริปต์จัดการภาพอีกนิดหน่อยใน Adobe Photoshop CC
- ฟังเพลงจากโปรแกรม Spotify ผ่านหูฟัง
จากการใช้งานดังกล่าว ผมสามารถใช้ไฟจาก ZMi 10 ได้ประมาณ 3 ชั่วโมง 20 นาที โดยที่คอมทำงานเต็มที่ตลอดเวลา ไม่มีอาการไฟแกว่งให้เห็น แบตคงอยู่ที่ 100% ตลอด ส่วนของตัว powerbank เองนั้น เท่าที่จับดูก็แค่อุ่นขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ในภาพด้านบนก็คือผมลองใช้โปรแกรม Coconut Battery ตรวจสอบเรื่องแบตเตอรี่และการชาร์จไฟของ MacBook Pro ที่ใช้อยู่ ตัวโปรแกรมพบว่าขณะที่ผมต่อเครื่องเข้ากับ ZMi 10 มันเสมือนเป็นการต่อเข้ากับอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้ 45W ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปของผม แม้ว่าอะแดปเตอร์ของ MBP จริงๆ จะจ่ายไฟได้สูงสุด 60W ก็ตาม ซึ่งหากใครที่ใช้งานเครื่องน้อยกว่านี้ ก็น่าจะสามารถใช้ไฟจาก ZMi 10 ได้นานกว่าผมแน่นอน
รวมๆ แล้วพาวเวอร์แบงค์ ZMi 10 จัดว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เสริมที่เหมาะมากๆ สำหรับผู้ที่ใช้อุปกรณ์ซึ่งรองรับการชาร์จเร็วผ่านช่อง USB-C ด้วยฟังก์ชัน PD เช่น มือถือตัวท็อป หรืออุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ เช่น
- iPhone 8 / iPhone 8 Plus / iPhone X
- Samsung Galaxy S8 / S8+ / S9 / S9+ / Note 8
- Google Pixel / Pixel XL / Pixel 2 / Pixel 2 XL
- Nintendo Switch
- MacBook / MacBook Pro (รุ่นปี 2016 เป็นต้นไป)
ซึ่งจะทำให้คุณได้ใช้งาน ZMi 10 อย่างเต็มประสิทธิภาพ คุ้มราคาที่จ่ายไปอย่างแน่นอน (แต่ก็อย่าลืมว่าสายชาร์จ และอะแดปเตอร์ที่จะชาร์จไฟเข้าก็ควรรองรับ PD ด้วยเช่นกัน) นอกจากนี้ยังมีช่อง USB ปกติให้ใช้งานกับอุปกรณ์อื่นๆ และสาย USB ปกติที่มีอยู่ในมือได้ด้วย เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จแบตให้กับอุปกรณ์ในมือแบบเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันเสริมด้วยการเป็น USB hub ให้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อทำหน้าที่แทนตัวแปลงพอร์ต ควบคู่ไปกับการจ่ายไฟไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องที่ต่ออยู่ไปด้วยพร้อมๆ กันได้อีก
ทั้งหมดนี้ทำให้พาวเวอร์แบงค์ ZMi 10 จาก Xiaomi ตัวนี้ เป็นแบตสำรองที่น่าลงทุนหาซื้อมาติดกระเป๋าจริงๆ ครับ รับรองว่าเจ็บแต่จบแน่นอน