ถ้าพูดถึงมือถือจีน เชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะคุ้นเคยกันกับเหล่ามือถือที่ทำหน้าตาออกมาใกล้เคียงมือถือตัวจริงที่มีราคาสูงๆ กันซะมาก ไม่ว่าจะด้วยชื่อเสียหรือชื่อเสียงก็ตาม ทำให้หลายท่านอาจจะเข็ดกับมือถือแบรนด์จีนกันไปเลยทีเดียว แต่ในช่วงหลังๆ มานี้เรามักจะได้เห็นมือถือจีนที่เน้นเรื่องของการอัดสเปคมาแรงๆ ในราคาที่เรียกว่าโคตรแห่งความคุ้มค่ามายั่วตายั่วใจกันเต็มที่ อย่างในมือถือรุ่นที่เรารีวิวในครั้งนี้ กับ?Xiaomi Mi3?ที่จัดเป็นระดับเรือธงของ Xiaomi แบรนด์สัญชาติจีนแท้ๆ จะแรงขนาดไหน จะใช้งานได้ดีมั้ย เรามาชมกันครับ กับรีวิว Xiaomi Mi3 เครื่องนี้
สเปค Xiaomi Mi3
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 800 (MSM8274-AB) quad-core ความเร็วสูงสุด 2.3 GHz ชิปกราฟิก Adreno 330
- แรม 2 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD 1920×1080 สามารถใช้งานทั้งที่ใส่ถุงมือได้
- รอม มีให้เลือกทั้ง 16 และ 64 GB ไม่รองรับ MicroSD
- Android 4.3 ครอบมาด้วย MIUI
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล เลนส์ 5 ชิ้น f/2.2 มุมกว้างสุด 28mm มาพร้อมแฟลช LED หลอดคู่
- กล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล เลนส์มุมกว้าง
- รองรับ 3G ทุกเครือข่าย ไม่รองรับ 4G LTE ใช้ซิมการ์ดขนาดปกติ
- รองรับ NFC, Bluetooth 4.0, GPS, GLONASS, AGPS, WIFI 802.11 a/b/g/n/ac, USB-OTG
- ระบบเสียง Dirac HD Sound
- แบตเตอรี่ 3050 mAh
- น้ำหนัก 145 กรัม
- ราคาเครื่องหิ้วในไทยอยู่ที่หมื่นต้นๆ
- สเปค Xiaomi Mi3
สเปคของ Xiaomi Mi3 ถ้าเอาจริงๆ แล้ว เรียกว่าขึ้นไปเหยียบขี่คอกับสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ในปัจจุบันได้สบาย ทั้งในส่วนของชิปประมวลผลที่เลือกใช้ Snapdragon 800 (ต่างจาก MSM8974 ก็แค่เรื่องการตัดโมดูล 4G LTE ออก ความเร็ว ความแรงที่เหลือเท่าๆ กันหมด) หน้าจอ IPS Full HD แบตเตอรี่ก็ให้มาตั้ง 3050 mAh แต่ทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในเครื่องที่มีราคาเครื่องหิ้วในไทยแค่ราวหมื่นต้นๆ หรือถ้าหาดีๆ ก็ได้เครื่องมาในราคาเฉียดๆ 10,000 บาทเท่านั้นเอง ถ้ามองในแง่ของสเปคอย่างเดียว จัดว่าที่สุดของความคุ้มค่าเลยก็ว่าได้ และคงหามือถืออินเตอร์แบรนด์ตัวไหนที่ทำออกมาขนาดนี้ไม่ได้แน่นอน ทำให้ Xiaomi Mi3 เป็นที่นิยมมากในหมู่นักเล่นมือถือจีน รวมถึงผู้ที่อยากได้มือถือแรงๆ ราคาเบาๆ แบบไม่เน้นเรื่องการรับประกัน ไม่เน้นเรื่องศูนย์บริการ หลังจากชมเรื่องสเปคกันไปคร่าวๆ แล้ว ทีนี้มาดูเรื่องดีไซน์กันบ้างครับ ว่ามือถือจีนอย่าง Xiaomi Mi3 จะสวย งานประกอบจะดีขนาดไหน สมราคามั้ย? มาชมกัน
Design
ยกระดับ อัพเกรดมือถือจีน
จอ Xiaomi Mi3 มีขนาด 5 นิ้ว ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไปสำหรับสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน จอให้สีที่สดใส คมชัดในทุกมุมมองด้วยคุณสมบัติของพาเนล IPS ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่ามือถือจอ IPS ที่ราคาสูงกว่านี้เลย ภาพที่แสดงผลบนจอ บางครั้งนึกว่าเป็นการเอากระดาษที่พิมพ์ภาพด้วยความละเอียดสูงๆ มาแปะไว้ด้วยซ้ำไป การปรับแสงสว่างหน้าจออัตโนมัติก็ยังมีทำงานพลาดบ้างเล็กน้อย แต่ดีที่สามารถปรับความสว่างหน้าจอได้จากแถบ Quick Settings ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายอยู่ น่าประทับใจเลยล่ะ สำหรับเรื่องหน้าจอ
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า ที่ผ่านมา ภาพพจน์เกี่ยวกับมือถือจีนที่เห็นบ่อยๆ มักจะออกไปในแนวทางเครื่องก็อป งานประกอบไม่ค่อยดี เครื่องดูก๊องแก๊งกันซะมาก แต่เมื่อผมได้จับ Xiaomi Mi3 เครื่องนี้เป็นครั้งแรก ก็เกิดความประทับใจขึ้นมาในทันทีครับ ด้วยงานประกอบที่ดี ตัวเครื่องแน่น วัสดุไม่ก๊อบแก๊บ เทียบชั้นมือถือพรีเมียมได้สบาย สำหรับเรื่องวัสดุ จัดว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะโครงสร้างภายในที่ใช้เป็นแมกนีเซียมอัลลอย ให้คุณสมบัติที่ดีทั้งเรื่องความแข็งแกร่งและน้ำหนักที่เบา ส่วนภายนอกก็หุ้มด้วยแกรไฟต์ที่เคลือบทับกันถึง 3 ชั้น ทำให้ได้ทั้งเรื่องของความทนทาน, ความสวยงามและสัมผัสที่ดี เนียนมือ ฝาหลังจะลื่นๆ ยังมีปัญหาเรื่องคราบรอยนิ้วมืออยู่บ้าง แต่ก็พอเช็ดออกได้ครับ
ดีไซน์โดยรวมของ Xiaomi Mi3 นั้นมาในแบบยูนิบอดี้ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวไร้รอยต่อ เอาจริงๆ แล้วหน้าตาของมันเรียกว่าใกล้เคียงกับ Nokia Lumia 1520 มากๆ โดยเฉพาะหน้าจอ ขอบเครื่อง และการวางปุ่มกดด้านข้าง เอาง่ายๆ ว่าเห็นแว๊บแรกก็นึกถึง Nokia Lumia ขึ้นมาเลยทีเดียว กับดีไซน์ในลักษณะนี้ การวางปุ่มกดและพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ก็ทำออกมาได้โอเคดี โดยด้านบนจะเป็นตำแหน่งของถาดใส่ซิมที่ต้องใช้เข็มจิ้มเพื่อดันถาดออกมา ข้างๆ กันเป็นช่องแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ส่วนด้านล่างก็จะมีช่อง Micro USB และลำโพงใหญ่ (มีช่องรับเสียงของไมค์สนทนาแนบอยู่ด้วย) ปิดท้ายด้วยปุ่มกดด้านข้างที่มีตัวของแถบเพิ่ม/ลดเสียงและปุ่ม Power ที่อยู่ในบริเวณซึ่งสามารถใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดได้สะดวก (ถือเครื่องด้วยมือขวา)
มาดูเรื่องดีไซน์ส่วนอื่นๆ ของ Xiaomi Mi3 กันบ้าง ถ้าดูจากภาพ จะเห็นว่าขอบจอด้านบนและล่างเหลืออยู่ค่อนข้างกว้างไปซักหน่อย ตรงนี้ถ้าสามารถลดลงมาได้ ก็จะส่งผลให้ตัวเครื่องมีขนาดเล็กลงและพกพาง่ายกว่านี้อีก สำหรับปุ่มกดสั่งงานทั้งสามด้านล่างจะใช้เป็นปุ่มแบบสัมผัส มีไฟ LED อยู่ด้านล่าง ซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ไฟ LED ติดระหว่างใช้งานนานขนาดไหน ซึ่งส่วนตัวผมก็ตั้งให้ไฟมันติดตลอดเวลาที่ใช้งานเครื่องอยู่ไปเลย ง่ายดี โดยปุ่มโฮม ถ้าหากกดค้างไว้ ก็จะเป็นการเรียกใช้งาน Recent Apps ที่เราสามารถเลือกไล่ปิดแอพที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว รวมถึงสามารถสั่งเคลียร์แรมได้เลย (ระหว่างผมใช้งานทั่วไป แรมจะเหลือประมาณ 200-300 MB) ส่วนปุ่มเมนู ถ้ากดค้างไว้ ก็จะเป็นการเรียกใช้งาน Google Now (เมื่อลงเซอร์วิสของ Google แล้ว)
แต่อย่างไรก็ตาม บอดี้ของ Xiaomi Mi3 ก็ยังมีจุดด้อยอยู่บ้าง เช่นขอบเครื่องที่คมมือไปหน่อย ประกอบกับขนาดเครื่องที่เทอะทะไปซักเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ Nexus 5 ที่หน้าจอ 4.95 นิ้ว ซึ่งต่างกับจอ 5 นิ้วแค่นิดเดียว แต่ขนาดตัวเครื่องจัดว่าต่างกันมากทั้งมิติของความกว้างและความสูง ทำให้ด้านการพกพาจัดว่าเป็นหนึ่งในปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ของ Xiaomi Mi3 แต่ถ้าหากใครที่ใช้งานมือถือจอใหญ่กว่านี้มาก่อนแล้ว คงไม่เป็นปัญหาเท่าไรนักกับขนาดตัวของ Xiaomi Mi3 ส่วนอีกประเด็นที่หลายๆ คนอาจจะเสียดายก็คือ มันไม่สามารถถอดแบตเตอรี่ได้นะครับ เนื่องด้วยบอดี้ที่เลือกใช้เป็นแบบยูนิบอดี้ที่ให้ในเรื่องของความสวยงาม ความแข็งแรง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการถอดแบตไม่ได้นี่ล่ะ
สำหรับอุปกรณ์ในกล่องก็ให้มาในระดับพื้นฐานมากๆ คือมีแค่สาย Micro USB, อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ, เข็มจิ้มถาดซิมและเอกสารคู่มือเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ไม่มีแถมหูฟังมาให้เน้อ
ส่วนภาพตัวเครื่อง Xiaomi Mi3 เต็มๆ สามารถรับชมได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ครับ
Software
ตัวของ Xiaomi Mi3 รอมมาตรฐาน (รุ่นเสถียร) จะเลือกใช้ฐานมาจาก Android 4.3 Jelly Bean แล้วครอบด้วยอินเตอร์เฟส MIUI ซึ่งหลายๆ ท่านที่ชอบตกแต่งเครื่องก็น่าจะพอรู้จักกันดี ด้วยธีมที่เน้นสีสันของไอคอนดูสดใส น่ารัก ใช้การวางไอคอนแอพทั้งหมดบนหน้าโฮม ไม่มีหน้ารวมแอพ ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับ iOS อยู่พอสมควร ส่วนรอมเวอร์ชันที่กำลังพัฒนาอยู่ ในขณะนี้ก็มีมาถึงการใช้ฐานเป็น Android 4.4 KitKat กันแล้ว และน่าจะมีออกมาให้อัพเดตอย่างเป็นทางการในอีกไม่นานนี้แน่นอน สำหรับการอัพเดตรอมของทีม MIUI นั้นจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเลยครับ มีการอัพเดต แก้ไขรอมเวอร์ชันกำลังพัฒนากันค่อนข้างบ่อยอยู่ เผลอๆ จะอุ่นใจได้กว่ามือถืออินเตอร์แบรนด์เสียอีก การอัพเดตรอมบน Xiaomi Mi3 ก็ทำได้ไม่ยากนัก เพียงแค่เข้าไปดาวน์โหลดรอมที่เว็บไซต์ของ MIUI โดยจะมีรอมให้เลือกแบ่งตามโมเดลของเครื่อง ซึ่งเครื่องที่เรารีวิวในครั้งนี้ ส่วนตัวผมก็ลองใช้ทั้งรอมจีนและรอมสิงคโปร์ ก็สามารถใช้งานได้ทั้งคู่ แต่จะแตกต่างกันในบางจุด เช่นเซอร์วิสของ Mi บางตัวที่หายไปจากในรอมเวอร์ชันสิงคโปร์ อย่างตัวของระบบ MiCredits ที่ใช้ซื้อของแต่ง เช่นธีม, ไอคอน, หน้าบูทสกรีนจากในแอพ Themes รวมถึงการใช้งานปุ่มเมนูกับปุ่มโฮมที่ต่างกันนิดหน่อยด้วย เมื่อดาวน์โหลดรอมมาแล้วก็ให้เอาไปใส่ไว้ในโฟลเดอร์ downloaded_rom ที่มีอยู่ในเครื่อง จากนั้นก็เข้าไปที่แอพ Updater > กดปุ่มเมนู > เลือก Select update package แล้วเลือกอัพเดตรอมที่โหลดมาได้เลย
สำหรับ Xiaomi Mi3 รุ่น 16 GB จะเหลือพื้นที่ให้ใช้งานราวๆ 12 GB ซึ่งก็เพียงพออยู่ แต่หากใครชอบถ่ายรูป ฟังเพลง ดูหนัง อันนี้คงต้องจัดสรรพื้นที่กันดีๆ ซักหน่อยล่ะนะ
แอพติดเครื่อง เซอร์วิสต่างๆ บน Xiaomi Mi3 นั้น จะบอกว่าใกล้เคียงกับ iOS ก็คงไม่ผิดนัก ตัวอย่างแอพติดเครื่องก็เช่น แอพจดบันทึก, แอพบันทึกเสียง, แอพบันทึกรหัสผ่าน, แอพเลขาส่วนตัว (แบบเดียวกับ Siri) แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือมีระบบที่ชื่อว่า Mi Cloud ที่ลักษณะการทำงานใกล้เคียงกับ iCloud อีกด้วย คือมันสามารถใช้สำรองข้อมูลต่างๆ เช่นเบอร์โทร, รูปภาพ, โน้ตจดบันทึก, SMS, เสียงที่บันทึกไว้, ประวัติการโทรย้อนหลัง แถมยังมีบริการติดตามตำแหน่งเครื่องอีกด้วย เรียกว่าครอบคลุมการใช้งานหลายๆ ด้าน ทำให้สามารถใช้งาน Xiaomi Mi3 แบบไม่ต้องพึ่งเซอร์วิสของ Google เลยก็ยังไหว
แล้วเรื่องการลงแอพล่ะ ในจุดนี้ Xiaomi ก็มี Market ของตนเองมาให้ใช้งานกันครับ ภายในก็จะเน้นไปทางแอพจากจีนเป็นหลัก แต่แอพที่นิยมใช้งานทั่วไปก็พอมีให้เลือกติดตั้งกันบ้าง เช่น Facebook, LINE, Twitter แต่จะไม่มีตัวของ Instagram และ Cookies Run ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องลำบากมากนัก เพราะสามารถหาไฟล์ APK ของแอพที่ต้องการมาติดตั้งได้ แม้ว่าอาจจะลำบากในเรื่องของการอัพเดตที่ไม่สามารถกดอัพเดตจาก Market ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันยังมีหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวแบบยั่งยืนอยู่นะ
วิธีดังกล่าวก็คือการติดตั้งเซอร์วิสของ Google ลงไปในเครื่องนั่นเอง หรือจะให้เข้าใจง่ายๆ มันก็คือการติดตั้ง Play Store และคีย์บอร์ดภาษาไทยบน Xiaomi Mi3 ก็ได้ สำหรับวิธีการทำนั้นไม่ยากเลย มีขั้นตอนดังนี้ครับ
1) เปิด Market เดิมในตัวเครื่องขึ้นมา พิมพ์ในช่องค้นหาว่า Google
2) ติดตั้งแอพตัวแรกสุดที่มีไอคอนสีแดง มีตัว g อยู่ภายใน สร้างโดยนักพัฒนาที่มีชื่อว่า Eric Xiang (เอ้า กราบบบบบ)
3) เปิดแอพที่เพิ่งติดตั้งขึ้นมา เราจึงได้รู้ว่ามันมีชื่อ Google installer จากนั้นก็ไล่ติดตั้งเซอร์วิสและแอพจาก Google ที่ต้องการได้เลย โดยที่สำคัญสุดก็คือ Play Store นั่นเอง ในขั้นตอนระหว่างการติดตั้งนั้น จะมีการติดตั้ง Google Play Service ด้วย ซึ่งตัวนี้ล่ะครับ ตัวสำคัญที่สุดเลย จำเป็นต้องติดตั้งด้วย จึงจะสามารถใช้งานเซอร์วิสต่างๆ จาก Google ได้
4) เมื่อติดตั้ง Play Store เสร็จ ก็ล็อกอิน แล้วจัดการโหลดแอพที่ต้องการจาก Play Store ที่คุ้นเคยกันได้เลย ส่วนตัวผมก็ลองโหลดแอพต่างๆ จาก Google มาใช้เช่นในภาพขวาสุด ก็สามารถใช้งานได้เป็นปกติดีทุกตัว ไร้ปัญหา ระบบการซิงค์ข้อมูลปฏิทิน รายชื่อเพื่อน ก็สามารถทำงานได้ทั้งหมด
เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกลัวปัญหาเรื่องแอพบน Xiaomi Mi3 แล้ว จะดาวน์โหลดคีย์บอร์ดภาษาไทยก็ทำได้สบายๆ เลือกตัวที่ชอบกันได้เลย หรือจะดาวน์โหลดคีย์บอร์ดจาก Google ก็ทำได้ (แต่ต้องเป็นการหาไฟล์ APK มาลงนะ)
Camera
กล้องถ่ายรูปของ Xiaomi Mi3 ก็จัดเป็นอีกหนึ่งจุดที่สร้างความประทับใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยทั้งเรื่องของคุณภาพของรูปและการใช้งาน ที่มีให้เลือกทั้งโหมดธรรมดาและโหมดขั้นสูง (Advanced) ซึ่งในโหมดขั้นสูงนี้สามารถปรับแต่งรายละเอียดยิบย่อยได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฟกัส, ค่าความไวแสง (ISO), ความเร็วชัตเตอร์ (Exposure Time) ที่สามารถเปิดหน้ากล้องค้างไว้ได้นานสุด 2 วินาที, ค่า White balance, ความละเอียดภาพ ซึ่งด้วยตัวเลือกการปรับที่มีให้เลือกหลากหลายนี้ ช่วยให้สามารถสร้างสรรค์มุมมอง เทคนิคภาพ สีสันของภาพถ่ายเพิ่มขึ้นได้อีกเยอะเลย ใครที่ชอบถ่ายภาพก็น่าจะถูกใจในกล้องของ Xiaomi Mi3 แน่ๆ ครับ
ส่วนภาพด้านบนนี้ ผมลองถ่ายเทียบกันระหว่างการใช้โหมดออโต้ (ปิดแฟลช), โหมด HDR และโหมดออโต้แบบเปิดแฟลช จะเห็นว่าภาพจากโหมด HDR นั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แถมยังถ่ายได้ค่อนข้างเร็วด้วย ส่วนแฟลชคู่ของกล้องหลังก็ช่วยให้ความสว่างได้ดี
ปิดท้ายส่วนของกล้องด้วยตัวอย่างภาพถ่ายจาก Xiaomi Mi3 สำหรับภาพที่ขึ้นซ้ำกันนั้น ภาพแรกจะเป็นภาพที่ถ่ายด้วยโหมดออโต้ปกติ ส่วนภาพหลังจะเป็นภาพที่ถ่ายด้วยโหมด HDR นะครับ เพื่อช่วยให้เห็นความแตกต่างกันชัดๆ
Performance
ประสิทธิภาพและความแรงของ Xiaomi Mi3 นั้นเรียกว่าหายห่วงเลย ด้วยความเร็วแรงของชิปประมวลผล Snapdragon 800 แรม 2 GB ทำให้ทั้งเรื่องของผลทดสอบจากแอพต่างๆ ออกมาสูงเหยียบระดับมือถือรุ่นไฮเอนด์หลายตัวในตลาดได้อย่างสบาย สามารถใช้ทั้งทำงาน เล่นเกมกราฟิกสูงๆ ได้อย่างไร้ปัญหา ส่วนเรื่องของความร้อนระหว่างการใช้งานนั้น ก็อยู่ในระดับที่ตัวเครื่องอุ่นๆ เท่านั้นครับ ไม่ถึงขั้นร้อนจนจับเครื่องไม่ได้เหมือนหลายรุ่น
สำหรับการใช้งานทั่วไป Xiaomi Mi3 สามารถตอบสนองการสั่งงานได้ดีมาก เปิดแอพรวดเร็ว สลับแอพคล่องมือ ความลื่นในการทำงานแทบจะใกล้เคียงกับ Nexus เลยทีเดียว การพูดคุยสนทนาทางโทรศัพท์ก็ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด อาจจะมีเรื่องเสียงเบาบ้างเป็นบางครั้ง
ด้านของระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ Xiaomi Mi3 ให้แบตมาถึง 3050 mAh ก็มั่นใจได้เลยว่าสามารถใช้งานเกินหนึ่งวันได้อย่างสบายๆ ซึ่งจากที่ทางเราทดสอบในการรีวิว Xiaomi Mi3 ครั้งนี้ ผลออกมาก็คือสามารถใช้งานทั่วไป ต่อ 3G เป็นหลักได้ประมาณ 1 วันกว่าๆ
Overall
ก็ผ่านไปแล้วนะครับสำหรับรีวิว Xiaomi Mi3 มือถือจีนที่ไม่เบาทั้งเรื่องงานประกอบ วัสดุ สเปคและที่สำคัญคือราคาที่เบาอย่างน่าเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มา ซึ่งเทียบได้ไล่ๆ กับมือถืออินเตอร์แบรนด์ระดับราคา 20,000 บาทขึ้นไปได้สบายๆ เรียกว่าเหมาะกับผู้ที่ต้องการมือถือแรงๆ ในราคาสุดคุ้ม จะมีจุดอ่อนก็ตรงเรื่องของการรับประกันและศูนย์บริการ เนื่องจาก Xiaomi ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (น่าจะเข้ามาในช่วงปลายไตรมาสสามนี้) เครื่องที่มาขายกันในปัจจุบันก็เป็นเครื่องหิ้วกันทั้งนั้น ทำให้การส่งซ่อม การรับประกันยังค่อนข้างเป็นปัญหาอยู่ ถ้าซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่เชื่อถือได้ ไว้ใจได้ มีชื่อเสียงมายาวนานก็คงพออุ่นใจได้หน่อย ทำให้จุดนี้ยังเป็นเรื่องลำบากสำหรับการหาซื้อ รวมไปถึงการเคลมหากเครื่องมีปัญหาอยู่บ้างเหมือนกั แต่รับรองว่าถ้ามีการจำหน่ายและให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อไร Xiaomi น่าจะเป็นแบรนด์คู่แข่งที่น่ากลัวของหลายๆ แบรนด์ในไทยแน่นอน ด้วยจุดเด่นในเรื่องของสเปคกับราคาอย่างที่เราเห็นกันใน Xiaomi Mi3 เครื่องนี้
จุดเด่น
- วัสดุและงานประกอบดีมาก น้ำหนักเบา ลบความรู้สึกแย่ๆ เกี่ยวกับมือถือจีนไปได้เลย
- สเปคแรง จอสวย รอมลื่น มีการอัพเดตให้เรื่อยๆ
- ราคาคุ้มค่า เครื่องหิ้วอยู่ที่ประมาณหมื่นต้นๆ หรืออาจไม่ถึงหมื่นด้วยซ้ำ (รุ่น 16 GB)
- แบตเตอรี่อึดพอตัว ใช้งานจริงเกินวันได้
ข้อสังเกต
- การเซ็ตอัพอาจจะลำบากหน่อย โดยเฉพาะเรื่องการติดตั้งเซอร์วิสของ Google แต่ถ้าทำเสร็จแล้วก็สบาย ใช้งานได้ยาวๆ
- ตัวเครื่องใหญ่เทอะทะไปหน่อย ยังดีที่ไม่หนักมาก
- เรื่องการรับประกัน การหาซื้อในไทยยังไม่สะดวกมากนัก
ส่วนด้านล่างนี้ เป็นแกลเลอรี่รวมอินเตอร์เฟสต่างๆ ใน Xiaomi Mi3 นะครับ รับชมกันได้ตามสะดวก