เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีมือถือรุ่นหนึ่งที่เปิดตัวแล้วได้รับกระแสเป็นอย่างดีทั้งทางบวกและทางลบ นั่นก็คือ?Xiaomi Mi 4?ที่เปิดตัวได้อย่างน่าตื่นเต้น ด้วยสเปคที่โคตรแรงในราคาโคตรคุ้ม แถมมาคราวนี้ เรื่องดีไซน์ก็ได้รับการใส่ใจมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยจุดเด่นที่เน้นเรื่องของวัสดุและงานประกอบที่อยู่ในระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ แต่ก็มีกระแสค่อนแคะเรื่องดีไซน์พอสมควรทีเดียวว่าไปคล้ายคลึงกับมือถือรุ่นอื่นจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาดอยู่หลายตัวผสมกันไป ยังไม่นับเรื่องอินเตอร์เฟสของซอฟต์แวร์ MIUI ที่ก็เข้าเค้าว่าคล้ายๆ iOS เข้าไปอีก จึงทำให้กระแสของ Xiaomi Mi 4 ยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน
แต่ก็อย่างว่าครับ ด้วยราคาที่ถูก คุ้มค่าขนาดนี้ หลายๆ ประเด็นก็พอจะมองข้ามไปได้ไม่ยากนัก และแน่นอน Xiaomi Mi 4 ก็เข้าตาถูกใจทางทีมงาน SpecPhone เราด้วยเช่นกัน เลยจัดการเสาะหามารีวิวให้ทุกท่านได้ชมเป็นที่แรกๆ ในไทย เอาเป็นว่ามาเริ่มเลยแล้วกัน กับรีวิว Xiaomi Mi 4 มือถือจีนตัวแรงที่กำลังมาแรงสุดๆ ในขณะนี้
สเปคและราคา Xiaomi Mi 4
- ชิปประมวลผล Snapdragon 801 quad-core ความเร็ว 2.5 GHz มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 330
- แรม 3 GB
- หน้าจอ IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080) ใช้พาเนลจอ OGS จาก Sharp หรือ JDI กระจกกันรอย Gorilla Glass 3 จอให้สีสันได้ 84% จากมาตรฐาน NTSC (ใกล้เคียงกับ Adobe RGB)
- รอม มีให้เลือกทั้ง 16 และ 64 GB
- ไม่มีช่องใส่ MicroSD
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล f/1.8 เซ็นเซอร์ Sony Exmor RS พร้อมแฟลช LED ถ่ายวิดีโอได้สูงสุดระดับ 4K
- กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล f/1.8?เลนส์มุมกว้าง 80 องศา
- ใช้งานไมโครซิม 1 ซิม รองรับ 3G ทุกเครือข่าย
- รองรับ 4G LTE ด้วย (แต่รุ่นที่ขายในช่วงแรกนี้จะเป็นรุ่น WCDMA ที่ใช้งาน 4G ไม่ได้)
- มาพร้อมรอม MIUI ที่มีฐานมาจาก Android 4.4
- ตอนเปิดตัวมี NFC (แต่ถูกตัดออกในตอนหลัง)
- แบตเตอรี่ 3080 mAh
- รองรับ WiFi 802.11 a/b/g/n/ac
- ราคาในจีนอยู่ที่ประมาณ 10,300 บาท (16 GB) และ 12,900 บาท (64 GB)
- ราคาเครื่องหิ้วในไทยอยู่ที่ประมาณ 14,xxx – 16,xxx บาท (16 GB)
- สเปค Xiaomi Mi 4 เต็มๆ
ถ้าดูสเปคแล้ว ต้องเรียกว่า Xiaomi Mi 4 มาพร้อมกับสเปคระดับเดียวกับเครื่องรุ่นท็อปในราคาสองหมื่นอัพบ้านเรา เผลอๆ จะดีกว่าด้วยซ้ำไป และถ้ายิ่งได้มาในราคาจริงของมันด้วยก็ยิ่งคุ้มเข้าไปอีก นับว่าเป็นสไตล์ของมือถือจากจีนอยู่แล้ว ที่มักจะจัดเต็มเรื่องสเปค แล้วมาขายในราคาไม่แรงมาก แต่ก็อาจมีการลดต้นทุนด้านวัสดุ งานประกอบลงไป แต่กับ Xiaomi นี่ต้องยอมรับเลยครับว่าเป็นมือถือจากจีนที่คุณภาพดีมากๆ แถมจะดีกว่าพวกอินเตอร์แบรนด์บางยี่ห้อด้วยซ้ำไป อันนี้ใครที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi มาน่าจะพอทราบกันดีถึงเรื่องคุณภาพ
ทีนี้ย้อนกลับมาเรื่องสเปคกันหน่อย เพราะมีข้อที่ควรทราบอยู่หลายประการทีเดียวสำหรับ Xiaomi Mi 4 ตัวนี้
(1)?เรื่องแรกเลยคือเรื่องการรองรับ 4G LTE?เพราะเครื่องที่ขายในช่วงแรกนี้ จะเป็นรุ่น WCDMA ที่ไม่รองรับ 4G LTE?ดังนั้น Xiaomi Mi 4 ที่วางขายในช่วงแรกๆ นี้ ซึ่งเป็นเครื่องที่ขายในจีนเป็นหลัก จะยังใช้งาน 4G ไม่ได้นะครับ อันนี้ถ้าใครไม่ซีเรียสเรื่องการใช้งาน 4G LTE ก็จัดกันได้ (ถึงจะด้อยเรื่องนี้ แต่ยอดจองก็ยังล้นหลามอยู่ดี ของขายไม่พอด้วยซ้ำไป) โดยซีอีโอของ Xiaomi บอกถึงสาเหตุที่ยังไม่ขายรุ่น 4G ก็เพราะว่าจะรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสม
(2)?ถัดมาก็ต่อเนื่องมาจากข้อแรก คือประเด็นเรื่องของ CPU ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อแรกนั่นล่ะ เพราะ Mi 4 รุ่นแรกนี้ใช้ชิปประมวลผลเป็น Snapdragon 801 ก็จริง แต่เลขโมเดลมันคือ?MSM8274-AC?ซึ่งเป็นชิปรุ่นที่ไม่รองรับ 4G LTE ผิดกับ Snapdragon 801 ในมือถือรุ่นท็อปหลายๆ ตัวในตลาดที่ใช้เป็นชิปโมเดล MSM8974-AC ซึ่งรองรับ 4G เต็มตัว เรียกว่าปัญหาเรื่องการไม่รองรับ 4G เป็นปัญหามาตั้งแต่ระดับ CPU เลยก็ว่าได้ สาเหตุที่ Xiaomi เลือกมาใช้ชิปตัวนี้ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดครับ คาดว่าอาจจะเป็นเรื่องการลดต้นทุนในช่วงแรก และต้องการวางขายให้ได้เร็วที่สุด เนื่องมาจากชิป MSM8974-AC น่าจะถูกจองโดยผู้ผลิตมือถือยี่ห้ออื่นๆ ไปซะเยอะแล้วนั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ อันที่จริงทาง Xiaomi เองก็แทงกั๊กไว้ตั้งแต่ตอนงานเปิดตัวแล้ว ว่าจะใช้ชิปประมวลผลเป็นรหัส MSM8x74-AC ซึ่งตัว x ที่ใส่ไว้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าอาจมีการใช้ชิปมากกว่า 1 โมเดล และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ
(3)?ข้อที่สามก็คือเรื่องของ NFC เนื่องจากทาง Xiaomi ได้จัดการตัดโมดูล NFC ออกไปจาก Mi 4 แบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ในตอนเปิดตัวยังบอกว่ามี NFC อยู่เลย สำหรับในประเด็นนี้ ซีอีโอของ Xiaomi เองก็ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าได้ตัด NFC ออกไป เหตุเพราะไม่ค่อยมีคนใช้จริงๆ เท่าไหร่ ซึ่งก็จริงอยู่นะ แต่หลายๆ คนก็คิดว่ามีติดไว้คงดีกว่าไม่มี
ปิดท้ายส่วนของสเปค Xiaomi Mi 4 ด้วยเรื่องราคาที่เป็นจุดเด่นของแบรนด์นี้มาตลอด สำหรับใน Mi 4 ก็ยังมาในราคาสุดคุ้มค่าอยู่เช่นเดิม คือเริ่มต้นที่ประมาณ 10,300 บาท (แปลงจากราคาในจีน) เท่านั้น ส่วนเครื่องที่หิ้วมาขายในไทยก็จะบวกขึ้นไปซักหน่อย เท่าที่เห็นในช่วงแรกๆ นี้จะอยู่ในช่วง 14,xxx – 16,xxx บาทด้วยกันครับ ราคาอาจจะดูแรงไปซักหน่อยเมื่อเทียบราคาจริง แต่ถ้าเทียบกับรุ่นท็อปที่ขายในไทย ก็ถือว่ายังถูกกว่ากันหลายพันอยู่ทีเดียว จะลำบากก็เรื่องการหาซื้อที่ยังยากซักหน่อยเพราะของยังมีน้อย และเรื่องการรับประกัน การเคลมที่ยังไม่มีศูนย์บริการในไทย ทำให้ต้องเป็นการส่งเคลมกับคนรับหิ้วมาเท่านั้น แถมสินค้ายังเป็นล็อตแรกๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะมีข้อผิดพลาดจากการผลิตอยู่พอสมควร ดังนั้นก็ถือว่าวัดดวงกันไปครับ (เอาจริงๆ ถึงจะซื้อยี่ห้อที่มีศูนย์ในไทย ก็ต้องวัดดวงไม่แพ้กัน เพราะศูนย์หลายๆ ยี่ห้อก็มีปัญหากันอยู่บ่อยครั้งอยู่ดี)
Design
เข้ามาเรื่องดีไซน์และตัวเครื่องของ Xiaomi Mi 4 กันบ้าง เริ่มจากด้านหน้ากันก่อนครับ หน้าตาของ Mi 4 นี่ก็มาในทรง candy bar เหมือนสมาร์ทโฟนจอสัมผัสทั่วๆ ไป ดูโหงวเฮ้งแล้วก็แทบไม่แตกต่างจากมือถือจีนที่เราคุ้นเคยกันซักเท่าไร จะเด่นก็ตรงคำว่า MI ที่ติดอยู่มุมซ้ายบนของจอเท่านั้นเองที่ช่วยแยกความแตกต่างจากยี่ห้ออื่นๆ เรียกว่าถ้าไม่มี อาจจะนึกว่าเป็นมือถือ i-mobile ก็เป็นได้ ฝั่งด้านบนของจอก็จะเป็นพวกเซ็นเซอร์วัดแสง วัดระยะ ลำโพงสนทนาและกล้องหน้าตามปกติ ซึ่งตัวกล้องหน้ามีมุมเลนส์ที่สามารถเก็บภาพได้กว้างถึง 80 องศา เหมาะแก่การถ่าย selfie แบบเป็นหมู่คณะมากๆ เพราะเลนส์ที่กว้าง สามารถเก็บภาพได้กว้างกว่าเลนส์ปกติ ในจุดนี้เราก็ได้เห็นอยู่ในมือถือหลายๆ รุ่นมาแล้ว ซึ่งนอกเหนือจากโหมด beauty ที่ติดตั้งมาให้แล้ว ยังมีฟีเจอร์พิเศษด้วยครับ นั่นคือการตรวจจับและประเมินใบหน้าว่าเป็นเพศใด อายุประมาณเท่าไหร่ ซึ่งจะขอยกไปพูดต่อในส่วนของการรีวิวกล้อง Xiaomi Mi 4 แล้วกันนะ สัมผัสแรก: นึกว่าถือ iPhone 6 จอใหญ่ !!
หน้าจอของ Xiaomi Mi 4 มีขนาด 5 นิ้ว ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเป็นขนาดหน้าจอที่กำลังลงตัวที่สุดสำหรับสมาร์ทโฟนที่จะนำมาใช้งานจริง ด้วยขนาดของหน้าจอที่ดูภาพหรืออ่านเนื้อหาได้สบายตา ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ทั้งยังด้วยเรื่องของมิติตัวเครื่องที่ขนาดกำลังพอดีกับการใช้งานด้วยมือข้างเดียว เพราะในบางจังหวะ เราคงไม่อาจใช้งานมือถือด้วยมือพร้อมกัน 2 ข้างได้ ทำให้ส่วนตัวผมมองว่า 5 นิ้วนี่ล่ะ โอเคสุดแล้วสำหรับการใช้งานและพกพา ใส่กระเป๋ากางเกงก็ไม่เทอะทะด้วย จะมียกเว้นหน่อยก็พวกที่ขอบจอบางๆ ทำให้สามารถอัดจอที่มีขนาดใหญ่ได้ อย่างเช่น LG G2 ที่สร้างความประทับใจได้ดีในปีที่ผ่านมา (ส่วน G3 ผมว่ามันใหญ่ไปนิด)
การแสดงผล สีสันจากจอของ Xiaomi Mi 4 ต้องบอกว่าทำออกมาได้ดีไม่แพ้ Mi 3 เลย คือให้สีสันสวยงาม ความสว่างกำลังดี ภาพเนียนแบบไม่คมเกินไป จะมีเรื่องของสีสันที่จัดจ้านขึ้น โดยเฉพาะโทนสีสดๆ อย่างในวอลล์เปเปอร์ที่ใช้ถ่ายรีวิว Xiaomi Mi 4 ครั้งนี้ ถ้าใช้งานในที่ร่มนี่จะเห็นชัดเลยว่าสีค่อนข้างจัดและสด แต่ไม่ถึงขั้นกับโอเวอร์เกินไปเหมือนจอ AMOLED ที่เคยเห็นมาในบางตัว ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยการเลือกใช้พาเนลจอแบบ OGS ที่ให้ผลในเรื่องของสีสัน ความใสของการแสดงภาพที่ดีกว่าพาเนลจอทั่วๆ ไปในตลาด ประกอบกับการตั้งค่าจากโรงงานที่ทำออกมาได้ดี ตรงจุดนี้ทาง Xiaomi เคลมเลยว่าจอของ Mi 4 แสดงสีได้ถึง 84% จากมาตรฐาน NTSC ซึ่งเป็นมาตรฐานแสดงปริมาณช่วงสีที่จอสามารถแสดงผลได้ เข้าใจง่ายๆ ก็คือยิ่งมีช่วงกว้าง ก็ยิ่งมีเฉดสีที่แสดงได้เยอะขึ้น เช่น มาตรฐาน A อาจจะแสดงได้แค่สีแดง สีส้ม สีเหลือง แต่มาตรฐาน B ที่ช่วงกว้างกว่าจะสามารถแสดงสีแดง แดงอ่อน ส้มเข้ม ส้มอ่อน ไล่ไปเรื่อยๆ ได้เยอะกว่า
ภาพจาก EIZO
จากภาพด้านบน เป็นภาพแสดงช่วงสีที่มีการกำหนดไว้ตามมาตรฐานที่นิยมใช้งานและอ้างอิงกันโดยทั่วไป โดยช่วงสีที่แสดงได้ของแต่ละมาตรฐานก็คือส่วนที่เป็นพื้นที่ของสามเหลี่ยมแต่ละกรอบ อย่างมาตรฐาน NTSC ก็หมายถึงการที่แสดงสีได้ตามพื้นที่ภายในสามเหลี่ยมสีเหลือง ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐาน Adobe RGB (สามเหลี่ยมสีแดง) ที่ใช้ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ วงการช่างภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งจอของ Xiaomi Mi 4 สามารถแสดงได้ถึง 84% ของ NTSC ก็เรียกว่าครอบคลุมพื้นที่ช่วงสีได้เยอะมากๆ ดังนั้นภาพที่เห็นจากจอของ Mi 4 จึงให้โทนสีที่มากกว่าในสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในตลาด และให้สีสันที่ค่อนข้างตรงกับความเป็นจริงเป็นอย่างดี ซึ่งจากที่รีวิวมา ก็นับเป็นจุดที่น่าพอใจเลยเรื่องสีสันภาพ สดจริง สวยจริง สมจริง
ส่วนถ้าให้เทียบเรื่องความสดของสีเมื่อเทียบกับรุ่นท็อปๆ ด้วยสายตาของผมเองก็น่าจะเป็นประมาณนี้ครับ
Samsung Galaxy S5 > Xiaomi Mi 4?>?iPhone 5s > Nokia Lumia 930?> HTC One M8?>?LG G3
ระบบการปรับแสงสว่างก็จัดว่าโอเค ทำงานได้ดี แต่ถ้ายังไม่พอใจก็สามารถปรับได้จากแถบ quick settings ที่เรียกใช้ง่ายๆ เพียงแค่ลากแถบ notification ลงมาจากแถบบนสุดของจอตามปกติ จากนั้นก็เลือกที่คำว่า Toggles เท่านั้นเอง ก็สามารถปรับความสว่างหน้าจอโดยรวมได้ตามใจชอบแล้ว ส่วนการสู้แสงกลางแจ้ง Mi 4 ทำได้ดีเลย หน้าจอก็ไม่สะท้อนแสงมากนัก รวมๆ แล้ว Xiaomi Mi 4 เป็นมือถืออีกรุ่นที่มาพร้อมหน้าจอระดับคุณภาพดีตัวนึงเลยทีเดียว
ด้านล่างของจอภาพก็เป็นตำแหน่งของปุ่มสั่งงานทั้งสามปุ่ม ได้แก่ปุ่มเมนู, ปุ่มโฮมและก็ปุ่มย้อนกลับ โดยตัวปุ่มโฮมสามารถกดค้างไว้เพื่อเรียกดูแอพที่ใช้งานล่าสุด ทั้งยังมีปุ่มเคลียร์แรมด้วย ซึ่งทั้งสามปุ่มจะมีไฟ LED อยู่ด้านล่างให้แสงสว่างด้วย แต่พอใช้งานจริงกลายเป็นว่าไฟไม่สว่างซักเท่าไร ใช้ตอนกลางวันนี่แทบจะไม่เห็นไฟที่ปุ่มกดเลย คล้ายกับในมือถือ OPPO หลายๆ รุ่นที่ไฟปุ่มกดไม่ค่อยสว่างมากนัก ต่างจาก Mi 3 ที่ทำได้ดีกว่ามากๆ
มาดูรูปโฉมส่วนอื่นๆ ของ Xiaomi Mi 4 กันบ้าง เริ่มจากฝาหลังที่เลือกใช้เป็นพลาสติกมันวาว ตรงจุดนี้ก็คิดได้เป็นสองแง่ คือจะดูหรูมันก็หรูหราตรงที่เป็นมันวาวสะท้อนแสง แต่จะว่ามันดูเหมือนมือถือธรรมดาๆ ทั่วไปก็ได้เหมือนกัน เรื่องนี้ก็แล้วแต่สายตาของแต่ละคนจะมองครับ ส่วนที่พื้นผิวถ้าสังเกตดีๆ ก็จะเห็นมีลวดลายเป็นลายตารางเฉียงๆ อยู่ทั้งแผ่นฝาหลังอยู่เหมือนกัน แต่ลายดูจางมากๆ มองผ่านๆ ไม่มีทางเห็นแน่นอน ตัวแผ่นฝาหลังจะโค้งนูนขึ้นมาเป็นหลังเต่าเล็กน้อย ทำให้ตัวเครื่องกระชับอยู่ในอุ้งมือได้พอดี ลักษณะจะคล้ายๆ กับ Nokia Lumia 930 ทั้งนี้ ฝาหลังของ Mi 4 สามารถแกะออกมาได้นะครับ โดยวิธีแกะฝาหลัง Xiaomi Mi 4 ที่ง่ายสุดก็คือการใช้จุกสูญญากาศที่นิยมเอามาติดกับกระจก ติดไปที่ฝาหลัง แล้วก็ดึงออกเบาๆ เพียงเท่านี้ก็แกะฝาหลัง Mi 4 ออกมาได้แล้ว ซึ่งทาง Xiaomi จะมีการวางจำหน่ายฝาหลังที่เป็นลายและพื้นผิวต่างๆ ให้เลือกซื้อกันด้วย เช่น ลายไม้ ลายผ้า ลายหนัง ลายหินอ่อน เป็นต้น ก็สามารถหาซื้อมาเปลี่ยนกันได้ (แต่ในไทยคงยากหน่อย)
ขอบข้างของตัวเครื่อง Xiaomi Mi 4 นี่จัดว่าชัดเจนมากๆ คือเหมือนกับใน iPhone 5/5s ในแทบทุกจุด ไล่มาตั้งแต่ขอบที่ใช้เป็นอะลูมิเนียมเนื้อดีให้สัมผัสที่เนียนมือ ติดรอยนิ้วมือง่าย แต่ก็เช็ดออกง่ายเช่นกัน ตรงส่วนริมๆ ที่ตัดเข้ามายังฝาหลังและกรอบหน้าจอ ก็จะใช้การเจียตัดขอบให้ดูมันวาว สะท้อนแสงเหมือนใน iPhone ซึ่งจุดนี้ก็สร้างความหรูหราได้ดี มีการเว้นบริเวณของอะลูมิเนียม โดยการแทรกพลาสติกหยอดเข้าไปเป็นเส้นๆ ขวางไปกับขอบเครื่อง ซึ่งจุดประสงค์หลักก็คือเพื่อช่วยลดปัญหาการรับคลื่นสัญญาณ เพราะถ้าหากใช้อะลูมิเนียมเป็นกรอบทั้งหมด อาจจะเกิดปัญหาเหมือนกับตอน iPhone 4 ที่เปิดตัวออกมาใหม่ๆ ก็เป็นได้
สำหรับการวางพอร์ตของ Xiaomi Mi 4 ก็จะกระจายกันไปทั้งสี่ด้าน พอร์ต Micro USB อยู่ด้านล่าง ใกล้ๆ กับลำโพง ตัวลำโพงก็ให้เสียงหนักแน่นดี แต่ไม่ค่อยดังมากนัก ปุ่ม Power กับปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ฝั่งขวาของเครื่องในตำแหน่งที่ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดได้ถนัด หรือถ้าใช้มือซ้ายก็สามารถใช้นิ้วชี้ในการกดได้เช่นกัน ปุ่มกดแน่นหนาดีมาก ช่องหูฟังจะอยู่ที่ด้านบน ซึ่งมีช่องรับส่งสัญญาณอินฟราเรดอยู่ด้วย เจ้าช่องอินฟราเรดนี้จะใช้คู่กับแอพรีโมท ซึ่งใช้ควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านได้สบายๆ ส่วนฝั่งซ้ายก็จะมีถาดใส่ไมโครซิมอยู่ ต้องใช้เข็มแทงเข้าไปในช่องเพื่อให้ถาดซิมเด้งออกมานะครับ เท่าที่ลองดู ต้องใช้แรงกดมากพอสมควรเลย ถาดซิมถึงจะเด้งออกมา
รวมๆ แล้ว หน้าตาของ Xiaomi Mi 4 ก็ค่อนข้างดูดีครับ แต่อาจจะไม่ดูหรูหราเหมือนกับในภาพเรนเดอร์ของ Xiaomi เองเท่าไร ดังนั้นก็อย่าคาดหวังสูงกับเรื่องของดีไซน์ก็แล้วกัน แต่ยังดีที่ได้เรื่องของงานประกอบคุณภาพยอดเยี่ยม สมกับมาตรฐานที่ Mi 3 เคยทำไว้
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่าฝาหลัง Xiaomi Mi 4 สามารถถอดได้แบบไม่ยากเย็นนัก (แต่ก็ใช้เล็บแงะเลยไม่ได้เหมือนกัน) ทางเราก็เลยจัดการลองแกะให้ชมภายในกันเลยครับ ภายในก็จะมีแบตเตอรี่ซึ่งไม่สามารถแกะออกมาได้ติดเอาไว้อยู่ งานภายในจัดว่าเนี้ยบเรียบร้อยดี แผ่นฝาหลังพลาสติกสามารถบิดงอได้ ดูแล้วไม่น่าจะแข็งมากนัก ส่วนการประกอบกลับเข้าไป ก็แค่ใช้นิ้วกดรอบๆ ขอบฝาหลังก็พอแล้ว
มุมต่างๆ ของ Xiaomi Mi 4 ครับ ส่วนอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกับรุ่นอื่นๆ คือให้มาแค่อะแดปเตอร์ สาย Micro USB เข็มจิ้มถาดใส่ซิมและก็เอกสารคู่มือเล็กน้อยตามปกติ ไม่มีหูฟังแถมมาให้ นับว่าน่าเสียดาย น่าจะแถมมาให้ลองใช้ซะหน่อย เพราะหูฟังของ Xiaomi เองก็มีตั้งหลายรุ่น แถม Mi 4 ก็เป็นรุ่นท็อป แถมมาให้ซะหน่อยก็น่าจะโอเคกว่านี้นะ ด้านล่างนี้เป็นแกลเลอรี่รวมภาพตัวเครื่อง Xiaomi Mi 4 เลื่อนชมกันได้เลย
Software
แน่นอนว่า Xiaomi Mi 4 ย่อมต้องมาพร้อมกับรอม MIUI โดยยังเป็น MIUI v5 อยู่นะครับ เนื่องจาก v6 ยังเป็นแค่เวอร์ชันเบต้าที่ใช้ทดสอบกันอยู่เท่านั้น จะเปิดให้ใช้งานจริงๆ ก็ช่วงปลายปีเลย สำหรับรอมที่ใช้ในการรีวิว Xiaomi Mi 4 ครั้งนี้ ทางเราเลือกใช้เป็นรอมเวอร์ชัน developer ที่มีเลขเวอร์ชันเป็น 4.8.15 เวอร์ชันของจีนที่มีฐานมาจาก Android 4.4.4 KitKat ในการทดสอบประสิทธิภาพ แต่พอในการทดสอบใช้งานจริงทางเราเลือกใช้เป็นรอมเวอร์ชัน International แทน ผลคะแนนที่ออกมาของทั้งสองเวอร์ชันไม่แตกต่างกันมากนัก สามารถใช้แทนกันได้ เพราะแกนภายในของระบบเป็นตัวเดียวกัน ต่างกันแค่เรื่องภาษาและแอพนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง เช่น
- รอมเวอร์ชันจีน จะมีภาษาเมนูและคีย์บอร์ดให้เลือกแค่ภาษาจีนกับอังกฤษ ถ้าอยากได้คีย์ไทยต้องลงแอพคีย์บอร์ดเอง ติดตั้งเซอร์วิสต่างๆ ของ Xiaomi มาให้ครบ ไม่มีเซอร์วิสของ Google ใดๆ ติดมาเลย ต้องลงเอง แต่ก็ไม่ยากนัก
- รอมเวอร์ชันอินเตอร์ จะมีภาษาเมนูและคีย์บอร์ดให้เลือกมากกว่า (มีไทยด้วย) ทำให้สามารถใช้เมนูและพิมพ์ไทยได้จากในรอมเลย ตัดเซอร์วิสของ Xiaomi ออกไป เช่น Market แต่ที่ดีคือมีลง Google Play Store มาให้แล้ว ใช้งานได้ทันที
เรื่องของการอัพเดตรอม ตามปกติแล้วรอม MIUI จะมีแบ่งเป็นเวอร์ชันเสถียร (stable) กับเวอร์ชันของนักพัฒนา (developer) ซึ่งเวอร์ชันสำหรับนักพัฒนาจะมีการอัพเดตแทบทุกสัปดาห์ ถ้าอยากได้ฟีเจอร์ใหม่ๆ อัพเดตบ่อยๆ ก็ลงเวอร์ชันสำหรับนักพัฒนาได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม รอมนักพัฒนาเวอร์ชันจีนจะได้รับการอัพเดตก่อน จากนั้นรอมนักพัฒนาเวอร์ชันอินเตอร์ถึงจะได้รับการอัพเดตตาม เพราะต้องไปแปลงภาษา ปรับเปลี่ยนเซอร์วิสกันก่อนนิดหน่อย แต่ก็ไม่นานกว่ากันมากนักครับ ส่วนรอมเวอร์ชันเสถึยรนี่ก็รอกันไปพักนึงเลย กว่าจะมีอัพเดต โดยเท่าที่รีวิว Xiaomi Mi 4 รอมอินเตอร์มา พบว่าการใช้งานทั่วไปก็ทำงานได้เป็นอย่างดี ไหลลื่นตามมาตรฐาน จะมีบางข้อความเท่านั้นที่ยังไม่ได้แปล เช่นตัวเลือก yes / no บางจุด บางประโยคก็ยังทำไม่สมบูรณ์ แต่โดยมากแล้ว ส่วนตัวคิดว่ากว่า 98% ได้รับการแปลเรียบร้อยดีทีเดียว ใช้งานได้ไม่มีปัญหา จะใช้งานเมนูไทยก็ทำได้ ดังนั้น เลือกใช้รอมเวอร์ชันอินเตอร์จะดีกว่าครับ การอัพเดตเวอร์ชันรอมก็ไม่ยาก กดเข้า Settings > About phone แล้วกด System updates ได้เลย หรือใครที่เป็นขาแฟลชรอมก็ทำได้ง่าย แค่โหลดรอมเวอร์ชันที่ต้องการลงมาจากเว็บไซต์ MIUI จากนั้นก็โยนเข้าไปในเครื่อง แล้วกดแฟลชรอมจากในเมนูอัพเดตได้เช่นกัน สำหรับรอม Xiaomi Mi 4 สามารถเข้าไปโหลดได้จากที่นี่
- รอมจีน:?http://en.miui.com/download-240.html
- รอมอินเตอร์:?http://xiaomi.eu/community/forums/miui-weekly-rom-releases.103/
สำหรับพื้นที่รอมที่เหลือให้ใช้งาน จาก 16 GB จะเหลือประมาณ 13 GB ถือว่าเยอะทีเดียว ส่วนแรม ในระหว่างใช้งานจริงจะเหลืออยู่ประมาณ 400 – 600 MB แม้จะดูว่าเหลือไม่เยอะจากที่มีทั้งหมด 3 GB แต่ก็ยังคงลื่นหายห่วงครับ เผลอๆ ลื่นกว่ารุ่นท็อปหลายๆ ตัวด้วยซ้ำไป
Feature
มาดูฟีเจอร์ที่น่าสนใจของรอม MIUI บน Xiaomi Mi 4 กันบ้าง เริ่มที่แอพ XMRemoteControl ที่เป็นแอพรีโมทกันก่อนครับ เนื่องด้วยตัวเครื่องมีอินฟราเรด ทำให้สามารถใช้ Mi 4 เป็นรีโมทควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ได้ เช่น ทีวี กล่อง set-top box, เครื่องเล่น DVD, ชุดเครื่องเสียง, แอร์ เป็นตัน โดยการเพิ่มรีโมทจะเป็นการดึงข้อมูลมาจากฐานข้อมูลที่ Xiaomi รวบรวมไว้เอง ไม่สามารถกดแพร์เพื่อจูนสัญญาณจากรีโมทจริงๆ ที่มีอยู่ได้ เท่าที่ผมลองใช้เป็นรีโมททีวีก็สามารถทำได้ดีครับ ลองปุ่มกดเพื่อหาชุดสัญญาณที่ถูกต้องอยู่สองสามครั้งเท่านั้น การใช้งานจริงก็ง่ายมากๆ ใช้แทนรีโมทจริงได้สบาย จะมีจุดที่ทำให้ใช้งานไม่สะดวกหน่อยก็เรื่องภาษาในแอพที่ยังเป็นภาษาจีนอยู่นี่ล่ะ แต่ก็พอจะงมๆ เอาได้อยู่ครับ ขั้นตอนการใช้งานไม่ยากมาก พอเดาได้ แต่ดูเหมือนแอพจะยังไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะยังใช้ไม่ได้กับอุปกรณ์หลายประเภทอยู่เหมือนกัน
ภาพที่สามก็เป็นหน้าจอการตั้งค่าของระบบ Mi Cloud ที่เอาจริงๆ มันก็จะเหมือนกับ iCloud ของ Apple นั่นเอง (หน้าตาตรงนี้ยังคล้ายกันอีกด้วย) ซึ่งในหน้านี้จะเป็นหน้ารวมให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะเปิด/ปิดการซิงค์ข้อมูลในเครื่องกับ Mi Cloud อย่างไรบ้าง ถ้ากลัวว่าเครื่องจะส่งข้อมูลของเรากลับไปจีนมากเกินไป ก็ปิดการซิงค์ต่างๆ ในหน้านี้ไปได้เลย สำหรับพื้นที่เก็บข้อมูลของ Mi Cloud จะให้ใช้ฟรีๆ กัน 5 GB สามารถซื้อเพิ่มได้เช่นกัน
อีกจุดที่น่าสนใจก็คือแอพฟังเพลงของ MIUI ซึ่งพ่วงฟีเจอร์บางตัวที่น่าสนใจอยู่ เช่นการค้นหาและแสดงเนื้อเพลงอัตโนมัติตามข้อมูลของเพลง โดยจะเป็นการค้นหาเนื้อเพลงมาให้จากอินเตอร์เน็ตในระหว่างที่เราฟังเพลงนั้นๆ อยู่ แถมยังมีการไฮไลท์ท่อนเพลงที่กำลังร้องอยู่ด้วย ช่วยให้สามารถตามอ่านได้ง่ายว่าถึงไหนแล้ว ความแม่นยำก็อยู่ในระดับที่พอใช้ได้ครับ ไม่เป๊ะ 100% แต่ก็สามารถปรับเองได้ว่าจะให้เลื่อนเนื้อเพลงช้าเร็วขนาดไหนจากในเมนูการตั้งค่าเมื่อเปิดเพลงนั้นๆ อยู่ ส่วนความถูกต้องของเนื้อเพลงก็ค่อนข้างโอเคนะ อาจจะมีภาษาจีนปนๆ มาด้วยในบางเพลง ส่วนเพลงไทย ไม่ต้องหวังเลยครับ ไม่มีแน่นอน อีกอันที่น่าลองใช้งานก็คือ Mi Sound Enhancer ที่ช่วยปรับแต่งเสียงที่ออกทางหูฟังให้ออกมาดีที่สุด แต่จะมีเฉพาะโปรไฟล์หูฟังของ Xiaomi เองเป็นหลัก ก็ลองเลือกใช้งานกันได้ แต่ส่วนตัวผมลองแล้ว ไม่ค่อยถูกใจเท่าไร เลยปิดไปซะ ส่วนการปรับ equalizer ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม สามารถปรับตั้งค่าได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดโหมด Mi Sound Enhancer แต่อย่างใด เสียงเดิมๆ ของ Mi 4 เองก็ค่อนข้างดีอยู่แล้วครับ ขึ้นอยู่กับหูฟังเป็นหลักด้วย ถ้ายังขาดด้านไหนอยู่ ก็สามารถปรับด้วย equalizer ได้เลย สะดวกดี
Camera
ดูกันต่อที่ส่วนของกล้องถ่ายรูปกันบ้าง นอกเหนือจากฮาร์ดแวร์จะมีคุณภาพดีแล้ว คือกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซลมาพร้อมกับชุดเลนส์ f/1.8 ที่ช่วยให้ถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยได้ดีขึ้น ทั้งยังพ่วงมาด้วยเซ็นเซอร์ Sony Exmor RS BSI (IMX214) ขนาด 1/3.06″ ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุด มีคุณภาพเหนือกว่าเซ็นเซอร์ที่ใช้ใน Samsung Galaxy S4, LG G3 ด้วยซ้ำไป จุดเด่นก็คือสามารถโฟกัสได้เร็ว โดยเฉพาะในที่มีแสงน้อย เรื่องของซอฟต์แวร์ก็เรียกว่าทำออกมาให้ใช้งานได้ง่าย
โหมดของกล้องที่น่าสนใจก็เช่นโหมด Refocus ที่กลายเป็นโหมดไฮไลท์ประจำปีของวงการสมาร์ทโฟน สังเกตได้จากรุ่นไฮเอนด์หลายๆ รุ่นมักจะใส่มา และมีการนำเสนอกันเต็มที่ สำหรับของ Mi 4 ก็ใช้งานไม่ยากครับ เพียงแค่กดใช้งานโหมด Refocus จากนั้นก็เลือกถ่ายวัตถุ โดยให้ระยะห่างจากกล้องของวัตถุกับกล้องห่างกันไม่เกิน 1 เมตรจะได้ผลดีที่สุด ส่วนการเลือกจุดโฟกัสหลังถ่าย ก็ให้เข้ามาที่ Gallery ของเครื่อง เลือกที่ภาพ แล้วก็เลือกจุดโฟกัสกันได้ตามใจชอบครับ ตัวอย่างก็เช่นภาพด้านบนที่ผมเลือกจุดโฟกัสแตกต่างกัน 3 จุดตามในวงกลมสีแดง ตัวแอพสามารถทำได้ดีทีเดียว พอได้จุดที่ต้องการแล้วก็สั่งเซฟและแชร์ภาพได้เลย หรือถ้าอยากเปลี่ยนจุดอีก ก็ทำได้เช่นกัน รวมๆ แล้ว การใช้งานดูจะง่ายกว่าใน HTC One M8 ด้วยซ้ำไป แต่เรื่องการถ่าย M8 สามารถทำได้ง่ายกว่าเพราะใช้กล้องถ่ายพร้อมกันสองตัว ในขณะที่ Mi 4 ใช้กล้องตัวเดียว แต่ถ่ายภาพเก็บไว้หลายๆ ระยะโฟกัสแทน
อีกโหมดที่น่าสนใจก็คือโหมดการตรวจจับใบหน้าของกล้องหน้า ที่เราสามารถเปิดฟีเจอร์ตรวจจับคนในภาพได้ว่าเป็นเพศใด อายุเท่าไหร่ ซึ่งเท่าที่ลอง ก็มีใกล้เคียงบ้าง ผิดบ้างเป็นเรื่องปกติ เช่นภาพของ Sabina นักวอลเลย์บอลคาซัคสถานที่ผมใช้เป็นตัวอย่าง เจ้าตัวจริงๆ อายุ 17 ปีเท่า นั้นเอง แต่แอพประเมินให้ว่าอายุ 21 ปี คิดซะว่าเป็นฟีเจอร์เอาไว้เล่นขำๆ ก็แล้วกันนะ ส่วนถ้าจะใช้งานกล้องหน้าตามปกติ ก็มีโหมด beauty ให้เลือกใช้งานได้ 3 ระดับอีกด้วย อยากหน้าเนียนขนาดไหนก็จัดไปได้เลย
ด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างของภาพถ่ายในโหมด HDR เทียบกับโหมดธรรมดา ดูแล้วโอเคเลยล่ะ ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นแกลเลอรี่รวมภาพถ่ายจากกล้องหลังของ Xiaomi Mi 4 นะครับ เชิญรับชมกันได้เลย
Performance
ด้านของประสิทธิภาพกันบ้าง เนื่องด้วยสเปค Xiaomi Mi 4 ที่จัดว่าเป็นระดับท็อปอยู่แล้ว จึงหายห่วงได้เลยเรื่องความลื่นไหลในการใช้งานและคะแนนผลทดสอบ ยิ่งเป็นรอม MIUI ที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ให้ความลื่นไหลได้ดีอยู่แล้วด้วย จึงสรุปง่ายๆ เลยว่า Xiaomi Mi 4 ลื่น แรง เร็ว หายห่วง
แต่ก็มีบางจุดที่น่าสนใจอยู่เหมือนกันครับ คือเรื่องโหมดการทำงานของเครื่อง?โดยเมื่อจะเปิดแอพทดสอบประสิทธิภาพ เพื่อเทสความแรงของเครื่อง ระบบจะมีตัวเลือกขึ้นมาว่าจะใช้โหมดการทำงานแบบใด ระหว่างโหมด balanced ที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไป กับโหมด performance ที่เน้นรีดประสิทธิภาพเครื่องเต็มที่ แต่ก็แลกมาด้วยอัตราการกินแบตเตอรี่ที่สูงขึ้นกว่าปกติ แน่นอนว่าทีมงานเราก็ทดสอบกันทั้งสองแบบครับ ผลออกมาก็จะเห็นความแตกต่างอยู่บ้างในหลายๆ การทดสอบ ที่ต่างกันมากสุดก็คือการทดสอบด้วย AnTuTu ดังในภาพที่สาม คะแนนบน (42,272) เป็นคะแนนที่ได้จากการทดสอบในโหมด performace ส่วนคะแนนล่าง (27,132) เป็นคะแนนที่ได้จากโหมด balanced เห็นเลยว่าต่างกันเป็นหมื่นคะแนน ซึ่งถ้าถามว่าคะแนนใดเหมาะที่จะใช้อ้างอิงความแรงของ Xiaomi Mi 4 มากสุด ก็คงจะเป็นคะแนนในโหมด performance ซึ่งเป็นคะแนนที่กลุ่มเครื่องที่ใช้ชิป Snapdragon 801 ทำได้ซะเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้น LG G3) ส่วนการทดสอบด้วยแอพอื่นๆ เช่น GFXBench และ 3DMark ในส่วนของกราฟิก ก็พบความแตกต่างระหว่างโหมด balanced และโหมด performance อยู่บ้างเหมือนกัน
เมื่อผลออกมาดังนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่า “แล้วเวลาเล่นเกมล่ะ จะใช้โหมดไหนดี” ตรงนี้ทางเราก็ทดสอบให้แล้วครับ ด้วยการเล่นเกม Modern Combat 5 ในโหมด balanced ผลคือสามารถเล่นได้ลื่น ภาพสวย รวมถึงเกม Asphalt 8 ก็สามารถเล่นในกราฟิกระดับสูงสุดได้สบายๆ ดังนั้นถ้าใช้งานทั่วๆ ไป เล่นเกม เลือกใช้โหมด balanced ตามปกติก็เกินพอ?แต่ถ้าอยากจะรีดคะแนนจากผลเทสประสิทธิภาพก็จัดไปได้เลยกับโหมด performance รับรองไม่ผิดหวัง
สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนโหมดการใช้พลังงานและประสิทธิภาพเครื่อง ก็สามารถเข้าไปได้ที่ Settings > Battery > Power settings แล้วก็เลือกที่ต้องการได้เลย เสียดายไม่มีโหมดประหยัดพลังงานให้ ถ้ามีคงครบเครื่องกว่านี้เยอะเลย
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกันใน Xiaomi Mi 4 และก็เป็นจุดที่ทำได้ดีด้วยเช่นกัน กับแบตเตอรี่ 3080 mAh หน้าจอ 5 นิ้ว Full HD ชิปตัวแรง Snapdragon 801 รวมๆ แล้วก็สามารถใช้งานได้เต็มวันครับ เท่าที่ลองใช้งานในหนึ่งวันก็เช่น คุย LINE เล่น Facebook, Twitter บ้างเป็นระยะๆ ถ่ายรูป เล่นเกม ฟังเพลง เล่นเน็ตเรื่อยๆ ทั้งวัน การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ก็ใช้งาน 3G ยกเว้นบางช่วงที่โหลดเกมก็จะใช้งาน WiFi ผลคือสามารถใช้งานได้ 10 ชั่วโมงกว่าๆ ถ้าใครที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน หรือต้องทำงานทั้งวันจนไม่ค่อยมีเวลาเล่นมือถือ ก็สามารถใช้งานเต็มวันได้อย่างสบายๆ การชาร์จไฟก็ทำได้อย่างรวดเร็วสมกับที่โฆษณาอีกด้วย
Overall
มาถึงส่วนสุดท้ายของรีวิว Xiaomi Mi 4 กันแล้วครับ นั่นคือการสรุปทุกสิ่งจากที่รีวิวมา ถ้าให้ประเมินคะแนนความพึงพอใจ ส่วนตัวให้ 8.8/10 แบบไม่ยากเลย ด้วยตัวเครื่อง งานประกอบ สเปค ฟีเจอร์ต่างๆ ที่จัดเต็มมาในราคาไม่แรงนัก จึงไม่แปลกใจที่ Xiaomi Mi 4 เป็นมือถืออีกรุ่นที่กระแสออกมาบูมมากๆ ของปีนี้ ทั้งในไทยและทั่วโลก นับว่าเป็นตัวสืบทอดต่อจาก Xiaomi Mi 3 ได้เป็นอย่างดี ยังคงมาตรฐานเดิมเอาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม จะมีหักคะแนนก็แค่เรื่องจุกจิกนิดหน่อย เช่นไฟปุ่มกดที่จางจนมองแทบไม่ค่อยเห็น ดีไซน์ที่ดูจะไปคล้ายกับมือถือรุ่นอื่นอย่างละนิด อย่างละหน่อย หน้าทองเหลืองที่ใช้สัมผัสกับซิมการ์ดวางตำแหน่งแปลกๆ ทำให้การใส่ซิมเพื่อใช้งานลำบากซะนิดนึง (ส่วนตัวผมใช้นาโนซิม แล้วติดเทปกาวสองหน้ายึดตำแหน่งบนถาดซิมเอา ไม่แน่ใจว่าเป็นเฉพาะเครื่องนี้ หรือเป็นกับทุกเครื่องด้วย) การตัด NFC ออก รวมถึงเรื่องของโมเดล Xiaomi Mi 4 ที่วางจำหน่ายในช่วงแรก ยังเป็นรุ่นที่ไม่รองรับ 4G LTE
ซึ่งข้อหลังสุด อาจจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยตัดสินใจของหลายๆ ท่านได้พอสมควรครับ ถ้าคิดว่าไม่ซีเรียสกับเรื่อง 4G LTE ใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ก็สามารถหาจอง หาซื้อเครื่องหิ้วกันได้เลยตามสะดวก แต่ถ้าอยากได้มือถือเครื่องเดียวครบๆ คุ้มๆ ก็อาจจะรอไปซักระยะหนึ่ง (ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะนานขนาดไหน) เพื่อรอรุ่น 4G ออกวางจำหน่ายก่อนก็ได้ ถ้าถึงเวลานั้นแล้ว Xiaomi Mi 4 จะเป็นมือถือที่คุ้มสุดๆ เลยล่ะ ยิ่งถ้าได้ราคาดีๆ ด้วยนะ รับรองว่ายิ่งโคตรคุ้ม
ประเด็นสุดท้ายที่ควรนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจด้วยก็คือ เรื่องศูนย์บริการและการรับประกัน เพราะปัจจุบัน Xiaomi เองก็ยังไม่มีสาขาในไทยอย่างเป็นทางการของบริษัท ที่นำมาขายกันก็จะเป็นการหิ้วมาจากจีนซะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การรับประกันเครื่องจะเป็นภาระของผู้หิ้วเครื่องเข้ามาขายเอง ตรงจุดนี้คงต้องศึกษาหาข้อมูลกันดีๆ ก่อนซื้อซักหน่อยนะครับ แต่ก็คอยดูกันในช่วงปลายปีว่า Xiaomi จะได้มาเปิดศูนย์ของตนเองอย่างเป็นทางการในไทยหรือเปล่า ถ้ามีเข้ามาจริง ก็หมดห่วงในเรื่องนี้ไปได้มากทีเดียว (ส่วนเครื่องหิ้ว ก็ต้องรอดูนโยบายศูนย์กันต่อไป ว่าจะรับประกันได้ขนาดไหน)
อัพเดตเพิ่มเติมเรื่องซิมกับถาดใส่ซิม
หลังจากผมลองถอดซิม ใส่ซิมอยู่เป็นชั่วโมงๆ พบว่าตรงส่วนท้ายของไมโครซิม (ปลายด้านที่เป็นเส้นตรง ไม่มีหักมุม) จะนูนสูงขึ้นมาจากตัวถาดเล็กน้อย ทำให้เวลาใส่ซิมเข้าไปแล้วซิมจะโดนดันให้หลุดจากตำแหน่งขั้วทองเหลืองของเครื่อง ส่งผลให้ Xiaomi Mi 4 ไม่เห็นซิม สำหรับปัญหานี้ ก็มีวิธีแก้ง่ายๆ ครับ เพียงแค่ขูดเนื้อของซิมส่วนที่เป็นเส้นตรงที่ดูเกยมาจากขอบถาดออกนิดเดียว นิดเดียวจริงๆ ส่วนตัวผมขูดออกถึงแค่ระดับโลโก้ผู้ให้บริการซิมหายไปเกือบหมด เพียงเท่านี้ก็แก้ปัญหาเครื่องมองไม่เห็นซิมได้แล้วครับ ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดมาจากเนื้อถาดซิมมันหนาเกินไปนิดนึง
ข้อดี
- สเปคแรง ทุกอย่างจัดเต็มในระดับที่พอดีๆ คุ้มค่าคุ้มราคา
- งานประกอบดี ยังเนี้ยบเหมือนเดิม ตัวเครื่องกำลังพอดีมือ
- จอสวยมาก สีสดแต่ไม่จัดจ้านเกินไป
- กล้องถ่ายออกมาสวย
- รอมยังแรง ไหลลื่น ตอบสนองการทำงานได้ดีเหมือนเดิม
ข้อสังเกต
- โดนตัด NFC ออก
- ในช่วงแรก รุ่นที่ขายจะยังไม่รองรับ 4G LTE
- ราคาเครื่องหิ้วยังแรงไปหน่อย ถ้าเหลือซัก 13,xxx บาท (16 GB) น่าจะกำลังดี แต่เดี๋ยวรุ่น 3G คงลดราคาลงเมื่อรุ่น 4G เข้ามาขาย
เทียบกับรุ่นอื่น
เมื่อเทียบ Xiaomi Mi 4 กับรุ่นอื่นในตลาดที่ใกล้เคียงกัน 4 รุ่นนี้คือคู่แข่งที่น่าสนใจครับ ได้แก่
Huawei Ascend P7
ได้ในเรื่องของตัวเครื่องที่บางและเบากว่ามากๆ ความแรงก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ตอบสนองได้เร็วทันใจ กล้องก็ความละเอียดสูงเท่าๆ กันเลยทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง แถมยังเด่นกว่า Mi 4 ตรงที่สามารถใส่ MicroSD เพื่อเพิ่มความจุได้ด้วย
OPPO Find 7a
ราคาอาจจะสูงกว่า Xiaomi Mi 4 เครื่องหิ้วอยู่หน่อย แต่ก็ได้ฟีเจอร์หลายๆ อย่างเพิ่มเข้ามา เช่น สามารถใช้งาน 4G LTE ได้แน่นอน เพิ่ม MicroSD ได้ หน้าจอใหญ่กว่า มีศูนย์บริการในไทยอย่างเป็นทางการ เรื่องกล้องก็ไม่ใช่ย่อย โดยเฉพาะ beauty mode ของกล้องหน้าที่ยอมรับว่าเจ๋งจริงๆ
OnePlus One
เป็นมือถือเครื่องหิ้วอีกรุ่นที่ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมาก (รีวิว) ด้วยสเปคที่แรงสุดๆ ในราคากำลังดี ได้จอใหญ่ 5.5 นิ้ว รอมก็เป็นรอม CyanogenMod ที่เลื่องชื่อในโลกของ Android อยู่แล้ว แถมช่วงนี้ก็เริ่มหาซื้อได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ไม่สูงอย่างในช่วงแรกๆ นับว่าเป็นคู่แข่งอีกรุ่นที่น่ากลัวของ Xiaomi Mi 4 เลยล่ะ ติดที่ว่าจอสีดูซีดๆ ไปหน่อย ที่เหมือนกันก็คือ ต่างก็ไม่มีศูนย์บริการด้วยกันทั้งคู่
Nexus 5
แม้ว่าจะออกมาเกือบปีแล้ว แต่ Nexus 5 ก็ยังคงเป็นมือถือตัวคุ้มอยู่เช่นเดิม ด้วยสเปคที่ยังคงแรงในระดับของเรือธง ทุกอย่างอยู่ในระดับกำลังใช้งานได้ดี รอมก็เป็นรอมสาย Pure Google ที่ไร้การปรับแต่ง ทำให้เชื่อใจได้เรื่องของความลื่นไหล แถมยังมีโปรโมชันลดราคากันเรื่อยๆ อีกต่างหาก จะด้อยกว่า Mi 4 ก็เรื่องของหน้าจอที่สีสันไม่สดใสเท่า แบตเตอรี่ที่ห่างกันอยู่พอตัวเท่านั้นเอง