รีวิว Vivo Y12s สมาร์ตโฟนน้องเล็กสุดของ Y Series จากทาง Vivo ที่ปรับสเปคให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันมากขึ้น แต่ก็ยังคงเปิดราคามาได้ดีเหมือนเคย วางจำหน่ายในราคา 4,299 บาท โดยจุดเด่นของรุ่นนี้ มาพร้อมกับระบบปลดล็อกตัวเครื่อง ด้วยการสแกนลายนิ้วมือที่ปุ่ม Power ด้านข้างตัวเครื่อง และให้แบตเตอรี่ความจุสูงถึง 5,000 mAh แถมยังมีหน้าจอขนาดใหญ่ถึง 6.51 นิ้ว
สเปค Vivo Y12s
- ชิปประมวลผล MediaTek Helio P35 ความเร็ว 1.8GHz
- RAM 3GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 32GB รองรับ MicroSD ได้สูงสุด 256 GB
- หน้าจอ Halo FullView Display ขนาด 6.51 นิ้ว IPS-LCD ความละเอียดระดับ HD+ (1600 x 720 pixel)
- กล้องหลัง 2 ตัว Dual Camera
- กล้องหลัก 13MP f/2.2
- กล้องเลนส์ Bokeh 2MP f/2.4
- LED Flash
- กล้องหน้า 8MP f/1.8
- รองรับ 2 ซิม ถาดซิมแบบ 3 Slot
- Android 10 ครอบด้วย Funtouch OS 11
- แบตเตอรี่ 5000 mAh พร้อมอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 10W
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้านข้างตัวเครื่อง
- พอร์ตชาร์จแบบ micro USB
- สเปคเต็ม ๆ Vivo Y12s
- ราคาเปิดตัว 4,299 บาท
สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องของเครื่องรีวิว Vivo Y12s ประกอบไปด้วยฟิล์มกันรอยด้านหน้าที่ติดมาให้จากโรงงาน, เคส TPU แบบใส, สายชาร์จ USB to micro USB, อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 10W และเหมือนเช่นเคยคือไม่แถมหูฟังมาให้
Design – การออกแบบ
ในด้านการออกแบบ Vivo Y12s มาในดีไซน์แบบ 2.5D ส่งผลให้จับถือตัวเครื่องได้สะดวก งานประกอบตัวเครื่องมีความแน่นหนา จับแล้วดูแข็งแรง ส่วนเรื่องวัสดุฝาหลัง ด้วยข้อจำกัดด้านราคา จึงใช้วัสดุเป็นพลาสติกทั้งหมด แต่ก็เป็นพลาสติกที่ให้สัมผัสที่ดีเยี่ยม โดยรวมถือว่าผ่านเมื่อเทียบกับโทรศัพท์แบรนด์อื่นในช่วงราคาใกล้เคียงกัน โดยเครื่องรีวิว Vivo Y12s ที่ได้รับมา เป็นตัวเครื่องสีดำ Phantom Black ส่วนอีกสีที่วางจำหน่าย จะเป็นสีน้ำเงิน Glacier Blue
ด้านหน้าตัวเครื่อง Vivo Y12s มาพร้อมกับหน้าจอแบบ Halo FullView Display ขนาด 6.51 นิ้ว บรรจุกล้องหน้าความละเอียด 8MP อยู่บริเวณกึ่งกลางตรงด้านบนหน้าจอ
ความหนาของตัวเครื่อง Vivo Y12s ในตอนแรกผมนึกว่าการที่ใส่แบตเตอรี่ความจุสูงถึง 5,000 mAh จะทำให้ตัวเครื่องทั้งหนา และหนัก แต่เมื่อได้สัมผัสตัวเครื่องจริง พบว่ามันไม่ได้หนาไปกว่าสมาร์ตโฟนทั่วไปเลยแม้แต่น้อย (8.41 มิลลิเมตร) เผลอ ๆ ความหนาตัวเครื่องยังอยู่ในระดับเดียวกับพวกแบตเตอรี่ 4,000 mAh ด้วยซ้ำไป และมีน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 191 กรัม
รายละเอียดต่าง ๆ บนตัวเครื่อง Vivo Y12s เริ่มจากด้านข้างขวา ประกอบไปด้วย ปุ่ม Power ที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ และปุ่มปรับระดับเสียง ด้านล่างเป็นพอร์ตเชื่อมต่อ micro USB ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ไมโครโฟนสำหรับสนทนาโทรศัพท์ และลำโพงหลักของตัวเครื่อง ถาดใส่ซิมของ Vivo Y12s อยู่บริเวณด้านซ้ายมือ เป็นถาดซิมแบบ Triple Slot รองรับซิมการ์ดแบบ nano SIM 2 ซิม และรองรับ micro SD Card
เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้านข้างตัวเครื่อง Side Fingerprint Scanner สามารถปลดล็อกตัวเครื่องได้ในเวลาเพียง 0.23 วินาที ลักษณะของการวางเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบนี้ ส่วนตัวผมมองว่าทำให้ปลดล็อกตัวเครื่องได้สะดวกมาก เพราะเป็นตำแหน่งของการจับถือตัวเครื่องอยู่แล้ว หรือถ้าต้องการให้การปลดล็อกรวดเร็ว สะดวกสบายมากขึ้น ก็สามารถใช้งานฟีเจอร์ Face Wake เพื่อปลดล็อกตัวเครื่องด้วยใบหน้าได้เช่นเดียวกัน
ด้านหลังตัวเครื่อง Vivo Y12s ประกอบไปด้วยกล้องหลัง 2 ตัว AI Dual Camera และแฟลช LED โดยบริเวณด้านหลังตัวเครื่องของรุ่นนี้จะเน้นโชว์สีสัน และลวดลายฝาหลังได้เต็มที่ เนื่องจากเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ถูกจับไปใส่ไว้บริเวณด้านข้างตัวเครื่องนั่นเอง
หน้าจอ Vivo Y12s เป็นหน้าจอแบบ Halo FullView Display ขนาด 6.51 นิ้ว ความละเอียด HD+ (1600 x 720 พิกเซล) มุมมองการแสดงผลกว้าง สีสันหน้าจอแม้จะไม่ได้สดจัดแบบจอ OLED ด้วยข้อจำกัดด้านราคา แต่ก็ถือว่าให้การแสดงสีสันหน้าจออยู่ในมาตรฐานที่เหมาะสมกับการดูรูปภาพ หรือรับชมวีดีโอ ส่วนเรื่องความละเอียดหน้าจอ HD+ หากไม่ได้เพ่งหน้าจอแบบ
จับผิด ความละเอียดระดับนี้สามารถใช้งานได้สบาย ๆ ครับ นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับโหมดถนอมสายตา ที่ปรับสีหน้าจอแสดงผลเพื่อลดแสงสีฟ้า ช่วยให้ใช้งานได้สบายตามากยิ่งขึ้น
ภาพรวมสำหรับ Vivo Y12s ในส่วนของการออกแบบ ถือเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ดีไซน์สวย งานประกอบมีความแน่นหนา การใช้งาน การจับถือตัวเครื่องทำได้สะดวก ที่สำคัญคือตัวเครื่องไม่ได้หนาจนเกินไป แม้จะใส่แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ถึง 5,000 mAh ก็ตาม
ส่วนเรื่องหน้าจอก็มีขนาดใหญ่ถึง 6.51 นิ้ว เหมาะกับการใช้งาน การรับชมคอนเทนต์ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
Software – ระบบปฏิบัติการ
Vivo Y12s มาพร้อมกับ Android 10 ครอบด้วย Funtouch OS 11 ที่ได้รับการปรับแต่งมาให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ง่าย แต่คราวนี้การใช้งานจะแตกต่างไปจากรุ่นก่อน ๆ พอสมควร มีหน้า App Drawer แยกออกมาต่างหาก แต่ก็ปรับตัวให้ใช้งานได้ไม่ยาก ส่วนแอปติดเครื่องนอกเหนือจากแอปของ Google ก็มีให้มาพอสมควร เช่น แอปปฏิทิน แอปช่วยจัดการระบบ แอปจัดการไฟล์ แอปสำหรับการแชร์ไฟล์ระหว่างเครื่อง แอปจดบันทึก เป็นต้น
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจได้แก่ I Manager อีกหนึ่งตัวช่วยในการจัดการ ตั้งค่าการดูแลระบบต่าง ๆ ในตัวเครื่อง ไปจนถึงการทำความสะอาดไฟล์ขยะ และการตรวจสอบด้านความปลอดภัย รวมถึงการสแกนหาปัญหาในเวลากลางคืน ทำให้โทรศัพท์ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนเป็นเครื่องใหม่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังฟีเจอร์ในการจัดระบบรูปภาพ AI Album ทำให้การค้นหารูปภาพในตัวเครื่องง่ายขึ้น ด้วย Memories ที่จัดกลุ่มรูปภาพตามสถานที่, เวลา และเหตุการณ์ โดยจะสร้างเป็นอัลบัมให้อัตโนมัติ
Camera – กล้องถ่ายภาพ
กล้องหลังของ Vivo Y12s เป็นกล้องหลังแบบ AI Dual Camera หรือกล้องหลัง 2 ตัว ประกอบไปด้วย
- กล้องหลัก 13MP f/2.2
- กล้อง Bokeh 2MP f/2.4
ภาพถ่ายทั่วไปที่ได้จากกล้องของ Vivo Y12s ก็อยู่ในระดับมาตรฐานสมาร์ตโฟนในปัจจุบันที่ราคาไม่แพงครับ สีสันไม่จัดจ้านเกินไป แต่มีที่เซอร์ไพรส์หน่อยก็คือ การตัดขอบเบลอในโหมดภาพคน (Portrait) ก็ทำได้เนียนทีเดียว ส่วนการถ่ายภาพกลางคืน ต้องระวังเรื่องแสงไฟที่จะทำให้ภาพฟุ้ง อีกอย่างคือ Vivo Y12s ไม่มีโหมดกลางคืนนะครับ Auto ล้วน ๆ เลย แล้วก็มีอีกข้อสังเกตในเรื่องการโฟกัสภาพ ที่ส่วนตัวผมมองว่ารุ่นนี้ยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก ตอนถ่ายต้องใจเย็น ๆ ครับ
โหมด Portrait ตัดขอบเนียนทีเดียว
ความน่าเสียดายของกล้อง Vivo Y12s คือรุ่นนี้ไม่มีเลนส์มุมกว้าง Ultra wide-angle มาให้ มีแค่เลนส์หลัก 13MP ที่รองรับการซูมแบบ Digital Zoom กับกล้อง Bokeh 2MP เท่านั้น หากต้องการใช้เลนส์มุมกว้างด้วย อาจจะต้องมองเป็นรุ่นพี่อย่าง Vivo Y30 ขึ้นไปแทน
อีกหนึ่งสิ่งที่เซอร์ไพรส์ใน Vivo Y12s คือในโหมดการแต่งภาพ มีฟีเจอร์ช่วยลบรูปคน ในกรณีที่ไปถ่ายภาพแล้วมีคนอื่นติดมาในรูป ก็สามารถลบออกได้ทันที
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Vivo Y12s
เปรียบเทียบระยะปกติ กับ 2x Digital Zoom
กล้องหน้าของ Vivo Y12s มีความละเอียด 8MP มีโหมดถ่ายภาพแบบปกติ แล้วก็โหมดใบหน้าสวย พร้อมละลายฉากหลังเบลอ ทำให้ตัวแบบโดดเด่น เรื่องความสวยงามน่าจะเป็นความชอบส่วนบุคคลล่ะครับ หลัก ๆ จะเป็นการปรับให้ผิวกระจ่าง ลบรอยสิวต่าง ๆ
ส่วนการถ่ายวิดีโอ Vivo Y12s รองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 1080p 30fps ทั้งกล้องหน้า และกล้องหลัง
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า Vivo Y12s
เปรียบเทียบกล้องหน้าโหมดปกติ กับ Portrait Mode
Performance – ประสิทธิภาพ
ในส่วนของการประมวลผล Vivo Y12s ใช้ชิปเซ็ต MediaTek Helio P35 ชิปเซ็ตยอดนิยมสำหรับสมาร์ตโฟนรุ่นเล็ก มาพร้อมกับ Ram 3GB พื้นที่เก็บข้อมูลในตัวเครื่อง 32GB โดยรวมสมาร์ตโฟนรุ่นนี้ตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี เล่นโซเชียล, เล่นอินเทอร์เน็ต หรือจะใช้รับชม Youtube, LINE TV, Netflix ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าจะให้ดี ควรซื้อ microSD Card มาใช้เพื่อเก็บรูปถ่าย, วิดีโอ เพื่อป้องกันเรื่องพื้นที่เก็บข้อมูลเต็ม
ส่วนการเล่นเกมด้วย Vivo Y12s กับชิปประมวลผล MediaTek Helio P35 และชิปกราฟฟิก IMG PowerVR GE8320 ผมลองทดสอบกับเกมอย่าง ROV การตั้งค่าสามารถปรับทุกอย่างสูงได้ เรียกว่าเป็นหนึ่งในเซอร์ไพรส์ระหว่างการรีวิว Vivo Y12s อยู่เหมือนกันครับ ที่รุ่นเล็ก ชิปเล็กอย่าง Vivo Y12s สามารถเล่นเกม ROV ปรับสูงได้ ในโหมด 60fps แต่จะทำเฟรมเรตระหว่างเล่นได้เฉลี่ยที่ประมาณ 49 – 60 fps มีช่วงเฟรมตกตอนที่ใส่สกิลเยอะ ๆ หากต้องการให้เล่นได้ลื่น แนะนำปรับเป็น 30fps
สิ่งหนึ่งที่ทำให้รุ่นเล็กอย่าง Vivo Y12s สามารถเล่นเกมได้ เนื่องจากรุ่นนี้ มาพร้อมกับฟังก์ชัน Multi-Turbo 3.0 ที่เพิ่มประสิทธิภาพการเล่นเกมให้ดียิ่งขึ้น แต่แนะนำว่าระหว่างเล่นเกม พยายามอย่าสลับแอป และถ้าเป็นไปได้ ให้ทำการเคลียร์ RAM ด้วย I Manager ก่อนเข้าเกมทุกครั้ง เพราะ RAM 3GB ก็เป็นข้อจำกัดหนึ่งของสมาร์ตโฟนรุ่นนี้เช่นกัน
การเชื่อมต่อแบบไร้สายของ Vivo Y12s รุ่นนี้รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth 5.0 และที่สำคัญคือรองรับ Wi-Fi 5 นั่นหมายความว่า รองรับทั้งการเชื่อมต่อแบบ 2.4GHz และ 5GHz ส่วนการเชื่อมต่อ 4G รองรับการใช้งาน 4G ทั้งสองซิม
ด้านการจัดการพลังงานและการชาร์จไฟ ด้วยแบตเตอรี่ความจุสูงถึง 5,000 mAh และสเปคที่มีอัตราการใช้พลังงานไม่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอความละเอียด HD+ หรือชิป MediaTek Helio P35 และตัว FunTouch OS 11 ที่มีการจัดการพลังงานที่ดีด้วยระบบ AI ประหยัดพลังงาน เมื่อรวมปัจจัยทั้งหมดที่ว่ามา จึงไม่แปลกที่ Vivo Y12s จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมาก ตอนที่ทดสอบ Vivo Y12s ผมชาร์จไฟนับครั้งได้เลย โดยเฉลี่ยจะชาร์จไฟ 2 วันครั้ง เพราะแบตเตอรี่อึดจริง ๆ
ไม่เพียงแบตเตอรี่อึดมาก แต่รุ่นนี้ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ในการทำ Reverse Charging (5V: 1A) เปลี่ยนร่างตัวเองเป็น Powerbank หรือแบตเตอรี่สำรองได้อีกด้วย แต่ต้องมีอุปกรณ์อย่างสาย USB OTG (ซื้อแยก)
ข้อสังเกตของแบตเตอรี่ความจุ 5,000 mAh ใน Vivo Y12s อยู่ที่การชาร์จไฟกลับเข้าไป ด้วยความที่สมาร์ตโฟนรุ่นนี้ไม่รองรับระบบชาร์จเร็ว และรับไฟขาเข้าได้มากสุด 10W (5V: 2A) พอต้องชาร์จแบตเตอรี่ที่มีความจุถึง 5,000 mAh กว่าจะเต็มเลยใช้เวลานานพอสมควร
สรุปภาพรวม รีวิว Vivo Y12s
Vivo Y12s ถือเป็นอีกหนึ่งมือถือรุ่นเล็กที่น่าสนใจ ด้วยราคา 4,299 บาท ได้สมาร์ตโฟนที่หน้าจอใหญ่ 6.51 นิ้ว มาพร้อมกับชิปเซ็ตที่ไว้ใจได้อย่าง MediaTek Helio P35 + RAM 3GB และความจุในตัวเครื่อง 32GB พร้อมรองรับ microSD Card สเปคที่พอจะเล่นเกมได้ในบางเกม และยังมาพร้อมระบบสแกนนิ้วด้านข้างตัวเครื่อง ที่ทำให้การใช้งานตัวเครื่องสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงดีไซน์ตัวเครื่องที่สวยงามทั้ง 2 สี ไม่ว่าจะเป็น Phantom Black หรือจะเป็น Glacier Blue
จุดเด่น
- มีหน้าจอขนาดใหญ่ 6.51 นิ้ว Halo FullView Display เหมาะสมกับการรับชมคอนเทนต์ในยุคปัจจุบัน
- ดีไซน์สวยงาม จับถือตัวเครื่องสะดวกด้วยฝาหลังแบบ 2.5D
- กล้องหลัง 2 ตัว ถ่าย Portrait ทำโบเก้ได้เนียน
- โหมดแต่งภาพ สามารถลบรูปคนในภาพได้
- แบตเตอรี่ความจุสูงถึง 5,000 mAh ใช้งานข้ามวันได้สบาย ๆ
- รองรับการสแกนลายนิ้วมือด้านข้างตัวเครื่อง และการปลดล็อคด้วยใบหน้า
ข้อสังเกต
- ไม่มีเลนส์มุมกว้าง
- ไม่มีโหมดกลางคืน
- ไม่รองรับชาร์จเร็ว
- พอร์ตเชื่อมต่อเป็น micro USB