[Review] Sony Xperia XZ ท็อปที่สุดของค่ายอารยธรรม สเปคแรง บอดี้งาม กล้องแจ่ม ราคา 23,990 บาท!!

ถ้าคิดว่า Sony Xperia X Performance เป็นรุ่นท็อปที่สุดของ Sony ในปี 2016 ผมก็ต้องบอกเลยว่าคิดผิดแล้วล่ะครับ เพราะมือถือที่ผมจะมารีวิวให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน เป็นที่สุดของมือถือในปี 2016 ของ Sony อย่างแท้จริง ด้วยสเปคที่จัดเต็ม ฟีเจอร์แน่น ๆ และที่สำคัญคือมันเปิดราคามาได้น่าสนใจเอามาก ๆ เลย สำหรับ Sony Xperia XZ มือถือในซีรี่ส์ Xperia X ที่ท็อปที่สุด!!

สเปค Sony Xperia XZ

  • หน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว แบบ IPS ที่มีความละเอียดแบบ Full HD 1080P
  • ตัวเครื่องขนาด 146 x 72 x 8.1 มิลลิเมตร และหนัก 161 กรัม
  • ชิปประมวลผล Snapdragon 820 CPU Quad-core (2×2.15 GHz Kryo & 2×1.6 GHz Kryo) และ GPU Adreno 530
  • แรมขนาด 3 GB
  • กล้องหลังความละเอียด 23 ล้านพิกเซลโดยใช้เซ็นเซอร์ใหม่ IMX 300 ที่มีรูรับแสงกว้าง f/2.0
  • กล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซลที่มีรูรับแสงกว้าง f/2.0
  • พื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายในขนาดมีสองรุ่นคือ 32/64 GB  และรองรับ microSD สูงสุด 256 GB
  • แบตเตอรี่ขนาด 2,900 mAh
  • พอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB Type-C
  • ฟีเจอร์ Quick Charge 3.0
  • ลำโพงขับเสียงแบบสเตอริโอ
  • ฟีเจอร์สแกนลายนิ้วมือ
  • รองรับมาตรฐาน IP 68 ที่สามารถกันน้ำได้ 1.5 เมตรนาน 30 นาที
  • ราคา 23,990 บาท
  • สเปคเต็ม ๆ Sony Xperia XZ

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00015

จุดเด่น

– สเปคแรง รอมลื่น ๆ การจัดการทรัพยากรในเครื่องทำได้ดีมาก
– ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุล ทั้ง CPU, แรม, หน้าจอ, แบตเตอรี่, กล้อง
– การมีเซนเซอร์ RGBC ช่วยให้การถ่ายภาพสมบูรณ์แบบมากขึ้น
– งานประกอบเด็ดมาก วัสดุตัวเครื่องอย่าง ALKALEIDO ก็พรีเมียม และใช้งานได้จริง
– ลำโพงคู่ ให้เสียงที่ดัง คุณภาพเสียงจัดว่าใช้ได้เลย
– แบตเตอรี่อึด ใช้งานได้นาน

ข้อสังเกต

– จอสีอมเหลืองไปหน่อย ดีที่สามารถปรับ White Balance ของหน้าจอได้
– ถาดใส่ซิมเป็น Hybrid Slot ต้องเลือกระหว่างซิม 2 หรือ MicroSD Card
– ระวังโดน X-Reality for Mobile หลอกตาตอนดูภาพถ่าย
– ภาพจากกล้องตอนกลางคืนยังไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ เนื้อไฟล์ตอนเปิดดูในคอมคนละม้วนกับเปิดดูในจอ Xperia XZ
– ราคานี้ควรจะ Ram 4 GB

บทสรุป

ภาพรวมของ Sony Xperia XZ ผมก็ไม่มีอะไรจะพูดมากไปกว่า ขอแสดงความเสียใจกับคนที่พึ่งซื้อ Sony Xperia X Performance ไปหมาด ๆ ด้วยครับ ด้วยช่วงเวลาขายของ X Performance ในประเทศไทย ที่มันใกล้กับ Sony Xperia XZ ซะเหลือเกิน ซึ่งตัว Sony Xperia XZ เองก็ไม่ทำให้สาวกอารยธรรม รวมถึงคนที่สนใจผิดหวัง วัสดุสุดพรีเมียม ALKALEIDO ที่ให้ทั้งความพรีเมียม หรูหรา สวยงาม ใช้งานได้จริง ส่วนสเปคก็มาเต็ม ทั้ง Snapdragon 820 และกล้องที่ใส่ฟีเจอร์เพิ่มแบบบ้าคลั่ง ไม่ว่าจะเป็น Laser ช่วยโฟกัส, RGBC-IR Sersor สำหรับวัดสี เมื่อรวมกับระบบโฟกัสเดิม ๆ อย่าง Predictive Hybrid Auto-Focus ก็เลยทำให้ Sony Xperia XZ เป็นมือถือที่ถ่ายรูปได้สนุกรุ่นหนึ่ง เพราะมันโฟกัสแม่นทั้งกลางวันและกลางคืน สีที่ได้จากกล้อง Sony Xperia XZ ก็แม่นยำ ไม่ผิดเพี้ยน และเซนเซอร์ก็ถือว่ามีขนาดใหญ่กว่ามือถือปกติทั่วไป ใครที่ชอบถ่ายรูปก็คงประทับใจมือถือรุ่นนี้ล่ะ
Editor : Jerminalz
95
BEST PERFORMANCE

Design

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00013

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00014

หนึ่งในจุดเด่นของ Sony Xperia XZ ที่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าประทับใจมาก ๆ ก็คือเรื่องดีไซน์นี่แหละครับ เริ่มจากตัววัสดุเอง พอเปลี่ยนซีรี่ส์จาก Xperia Z Series มาเป็น Xperia X Series ในรุ่นแรก ๆ อย่าง Xperia X, Xperia X Performance บอกตามตรงว่ายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ มือถือทั้ง 2 รุ่นยังคงมีกลิ่นอายของ Sony Xperia Z5 อยู่แบบเบา ๆ จะมีก็เพียงวัสดุที่เปลี่ยนจากโลหะ + ฝาหลังกระจก มาเป็นโลหะล้วน ๆ แต่สำหรับ Sony Xperia XZ จะแตกต่างออกไป เพราะมีการยกเครื่องดีไซน์ใหม่ รวมถึงวัสดุก็เป็นวัสดุแบบใหม่

หน้าตาของ Sony Xperia XZ จะมีเหลี่ยมมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนดีไซน์จะค่อนข้างโค้งมนตามขอบตามมุม ถามว่าเหลี่ยมขนาดไหน ก็มากพอที่จะตั้งเครื่องบนพื้นได้ ถ้าใครได้ตามรีวิวของรุ่นก่อนหน้าที่เป็นตัวเล็กอย่าง Sony Xperia X Compact ก็จะเห็นว่ามันออกแบบมาในพิมพ์เดียวกันเป๊ะ ต่างกันแค่ขนาดตัวเครื่องกับวัสดุเท่านั้น โดยวัสดุของ Sony Xperia XZ จะใช้เป็นอลูมิเนียมอัลลอยด์ ที่ผ่านการเคลือบผิวด้วยเทคโนโลยี Alkaleido ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้พื้นผิวโลหะของ Sony Xperia XZ ไม่ลื่น, ไม่เก็บรอยนิ้วมือ

รายละเอียดของ Sony Xperia XZ เริ่มจากด้านหน้า มาพร้อมกับหน้าจอ IPS ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD กระจกหน้าจอโค้งเล็กน้อย น่าจะติดฟิล์มกันรอยแบบปกติไม่ได้ ตัวหน้าจอติด X-Reality for Mobile ที่ช่วยให้การแสดงผลหน้าจอคมชัด และสีสันที่สดใส สมจริงเวลาที่รับชมภาพยนตร์ หรือเปิดดูรูปภาพ และยังมีฟีเจอร์ในการปรับแต่งสีหน้าจอ (White balance) ได้ตามต้องการ อยากได้โทนอุ่น, โทนเย็น หรือสีขาวแบบสมจริง สามารถเลือกปรับได้จากฟีเจอร์นี้ได้ทันที เพราะฉะนั้นเรื่องความสมจริงของหน้าจอ Sony Xperia XZ คงไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00002

ถึงคนที่พึ่งซื้อ

Xperia X Performance

บอกเลย…คุณพลาดแล้ว!

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00018

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00016

ด้านบนหน้าจอประกอบไปด้วยกล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซล, ลำโพงสำหรับสนทนาโทรศัพท์ และเป็นลำโพงหลักของตัวเครื่องตัวที่ 1 ด้านล่างหน้าจอมีลำโพงตัวที่ 2 โดยลำโพงหลักของ Sony Xperia XZ เป็นลำโพงคู่แบบสเตอริโอ ให้เสียงที่ดังกระหึ่ม และรายละเอียดชัดเจน ปุ่ม Navigation Key ได้แก่ Back, Home และ Recent App จะเป็นปุ่มแบบ Soft Key ที่อยู่ในหน้าจอ ส่วนขอบหน้าจอถือว่าบางในระดับหนึ่ง ด้วยข้อจำกัดของตัวฮาร์ดแวร์

ด้านข้างขวาของ Sony Xperia XZ ประกอบไปด้วยปุ่ม Power ที่ฝังสแกนลายนิ้วมือเอาไว้ ลักษณะการปลกล็อกก็จะใช้นิ้วโป้ง หรือนิ้วชี้ในการปลดล็อกได้ทันทีเมื่อหยิบเครื่องขึ้นมา ก็เป็นการปลดล็อกที่สะดวกไปอีกแบบ การสแกนนิ้วทำได้รวดเร็วและแม่นยำ ถัดลงมาจะเป็นปุ่มปรับระดับเสียง ที่หลายคนชอบบ่นว่าทำไม Sony ถึงวางตำแหน่งแปลก ๆ แบบนี้กดยาก แต่ถ้ามองในแง่ของการถ่ายภาพ ปุ่มปรับระดับเสียงจะมีค่าเท่ากับปุ่มซูมเข้า – ออก ลักษณะเดียวกันกับเวลาที่เราใช้กล้องคอมแพค ก็ทำให้ถ่ายรูปได้สะดวกมากขึ้น และแน่นอนว่า Sony Xperia XZ มาพร้อมกับปุ่มชัตเตอร์แบบ 2 จังหวะเช่นเดียวกับกล้องถ่ายรูปด้วยครับ

ด้านซ้ายมือของ Sony Xperia XZ จะเป็นช่องใส่ซิมการ์ด เป็นแบบ Hybrid Slot คือต้องเลือกระหว่างซิม 2 หรือ MicroSD Card รองรับซิมการ์ดขนาด Nano Sim ทั้ง 2 ซิม โดยตัวถาดซิมจะมีซีลกันน้ำอยู่ด้านใน เพราะฉะนั้นก่อนจะจับ Sony Xperia XZ ลงน้ำ ต้องเช็คให้ดีเลยว่าถาดใส่ซิมปิดสนิทหรือไม่ เพื่อจะได้ความสามารถในการกันน้ำของ Sony Xperia XZ  ระดับ IP68 แบบเต็มสูบ โดย Sony Xperia XZ สามารถลงน้ำได้ แต่จำกัดเฉพาะน้ำจืดนะครับ อย่าได้เอาไปลงน้ำเค็มหรือน้ำทะเลเข้าล่ะ

Sony Xperia XZ เป็นมือถือ Sony รุ่นที่ 2 ที่ใช้พอร์ทเชื่อมต่อแบบ USB Type C ความเร็วเที่ยบเท่า USB 2.0 ข้อดีก็คือเราสามารถเสียบสายชาร์จด้านไหนก็ได้ ไม่ต้องมาคอยเล็งแบบ Micro USB ลักษณะการใช้งานจะเหมือนกับพอร์ท Lightning ของ iPhone ข้าง ๆ พอร์ท USB Type C จะเป็นไมค์สำหรับสนทนาโทรศัพท์ ส่วนด้านบนของตัวเครื่อง มีพอร์ทหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร (เสียบหูฟังแบบปกติได้) และไมค์ตัดเสียงรบกวนครับ

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00012

ด้านหลังของ Sony Xperia XZ อย่างที่ผมได้เกริ่นไปแล้วว่าใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมที่เคลือบด้วยเทคโนโลยี Alcalinedo ตัวฝาหลังมีการไล่เฉดสีได้อย่างสวยงาม อย่างเครื่องรีวิว Sony Xperia XZ ที่ผมได้รับมา เป็นเครื่องสี Forest Blue เวลาที่โดนแสงจะไล่เฉดได้สวยมาก ที่สำคัญคือพื้นผิวจับได้ถนัดมือ ไม่ลื่นเหมือนมือถือที่ใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมยี่ห้ออื่น ๆ และไม่เก็บรอยนิ้วมือ สำหรับรายละเอียดฝาหลัง Sony Xperia XZ ประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 23 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ขนาด 1/2.3 มีระบบ Laser ช่วยโฟกัส, RGBC-IR Sensor และแฟลช LED ถัดลงมาตรงกลางจะมีโลโก้ Xperia ที่สลักลงไปในฝาหลัง

การใช้งาน การจับถือ Sony Xperia XZ ด้วยตัววัสดุที่ไม่เก็บรอยนิ้วมือ และไม่ลื่น บวกกับขนาดตัวเครื่องที่ไม่ได้ใหญ่มาก ทำให้การใช้งานมือเดียวไม่ใช่ปัญหาอะไร จัดเป็นมือถือที่คล่องตัวรุ่นหนึ่ง ส่วนการถ่ายภาพด้วยปุ่มชัตเตอร์ก็ใช้งานได้ใกล้เคียงกับกล้องคอมแพค ภาพรวมจัดว่าน่าประทับใจทีเดียวล่ะครับ

Software

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00005

Sony Xperia XZ มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0 Marshmallow ครอบด้วย Xperia UI ที่ออกแบบทั้ง Icon และ Wallpaper ให้มี Mood & Tone เข้ากันกับสีของตัวเครื่อง อย่างเครื่องรีวิว Sony Xperia XZ ที่ผมได้รับมาเป็นตัวเครื่องสีน้ำเงิน ภาพ Wallpaper แบบ Default ก็จะเป็นในโทนสีเดียวกัน ส่วนการใช้งานก็เหมือนมือถือแอนดรอยแบบต้นฉบับ คือแยกออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ Home Interface และ App Drawer

ข้อสังเกตของ Sony Xperia XZ ก็คือยังมาพร้อมกับบรรดา Bloatware จำนวนมากทีเดียว ตัวระบบ + Preload App รวมกันก็กินพื้นที่ความจุไปเกือบ ๆ 20 GB ได้ แต่ด้วยความจุที่ให้มามากถึง 64 GB เลยไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่

Feature

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00006

ด้วยความที่ Sony Xperia XZ เป็นมือถือระดับเรือธงของค่ายอารยธรรม Sony ทำให้ในส่วนของฟีเจอร์ก็มีมาให้สมศักดิ์ศรีของมือถือเรือธง ไล่มาตั้งแต่การใช้งานขั้นพื้นฐานเช่นการเคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อปลุกเครื่องแทนการกดปุ่ม Power หรือจะเป็นแอพเดียวรวมทุกข่าวสารอย่าง Socialife ก็มีให้เห็นใน Sony Xperia XZ แต่ถ้าถามถึงฟีเจอร์ที่เด่นจริง ๆ ของ Sony Xperia XZ ก็คงหนีไม่พ้นฟีเจอร์เหล่านี้ครับ

เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00011

ปุ่มเปิดปิดของ Xperia XZ มาพร้อมเซ็นเซอร์ลายนิ้วมือ ติดตั้งไว้ที่ด้านข้างของโทรศัพท์ การบันทึกลายนิ้วมือครั้งแรกจะใช้เวลานานกว่าเจ้าอื่น ต้องแตะหลายครั้งหน่อย ส่วนการใช้งานปกติสามารถปลดล็อกได้เร็วไม่แพ้คู่แข่ง สามารถบันทึกลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 นิ้ว แต่ใช้งานจริงน่าจะเป็นนิ้วโป้งมือขวา และนิ้วชี้ในมือซ้าย

Lifelog

Lifelog เป็นหนึ่งในแอพพลิเคชันเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจ เพราะจะคอยเก็บสถิติทุกอย่างเกี่ยวกับเราไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน, การวิ่ง, นั่งรถ, ปั่นจักรยาน, คุยโทรศัพท์, ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก, ฟังเพลง, เล่นเกม, เล่นอินเทอร์เน็ต, เดินทางด้วยรถ, ดูหนัง, อ่านหนังสือ และนอนหลับ โดยการอนุมานด้วยตัว Lifelog เอง หรือจะใช้อุปกรณ์เสริมจาก Sony (เช่น Smartband Talk, Smart Watch 3) ช่วยให้การเก็บสถิติแม่นยำมากยิ่งขึ้น แต่ลำพังตัว Lifelog ก็ทำหน้าที่ของมันได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว จะมีอาการเอ๋อ ๆ ในเรื่องการ Tracking เวลาที่เราเดินทางนี่แหละ อย่างตอนผมนั่งรถในกรุงเทพฯ ที่การจราจรค่อนข้างติดขัด Lifelog กลับมองว่าผมกำลังปั่นจักรยานซะอย่างนั้น

การกันน้ำ, กันฝุ่น

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00008

เป็นหนึ่งในตัวชูโรงของ Sony Xperia XZ สำหรับฟีเจอร์การกันน้ำกันฝุ่น และถึงแม้จะมีมาตั้งแต่ในสมัยเป็น Sony Xperia Z (รุ่นแรกในดีไซน์ Omnibalance) แต่การกันน้ำใน Sony Xperia XZ นั้นเป็นอีกระดับของการกันน้ำในสมาร์ทโฟนไปเรียบร้อย เมื่อทำการปิดฝาที่พอร์ททั้งหมดของตัวเครื่อง Sony Xperia XZ จะสามารถกันน้ำได้ถึงระดับ IP68 โดยระดับการกันน้ำมาตรฐาน IP68 ใน Sony Xperia XZ สามารถอยู่ในน้ำลึก 1.5 เมตรได้เป็นเวลา 30 นาที แต่ต้องเป็นน้ำจืดเท่านั้น

Camera

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00004

กล้องก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ Sony Xperia XZ พัฒนาขึ้นไปอีกระดับ ด้วยตัวเซนเซอร์ Exmor-RS ความละเอียดสูงสุด 23 ล้านพิกเซล จำนวน xx ชิ้นเลนส์ การันตีคุณภาพด้วยชื่อ G-Lens ที่อยู่ในเลนส์พรีเมียมของกล้อง Sony และใช้หน่วยประมวลผลภาพแยก Bionz รองรับการถ่ายวีดีโอความละเอียดสูงสุด 4K กันสั่นด้วยซอฟท์แวร์ EIS รุ่น 2 ที่ Sony เคลมว่านิ่งเทียบเท่ากับกันสั่น 5 แกน โดยตัวกันสั่นที่ว่านั้น จะสามารถใช้ได้เฉพาะในการถ่ายวีดีโอเท่านั้น

นอกจากตัวเซนเซอร์และเลนส์จะจัดเต็มแล้ว ระบบโฟกัสใน Sony Xperia XZ ก็เรียกได้ว่าจัดเต็มไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น Predictive Hybrid Auto-Focus หรือระบบคาดเดาการเคลื่อนที่ของวัตถุล่วงหน้า, Laser Auto-Focus ระบบเลเซอร์ช่วยโฟกัส และยังมีเซนเซอร์ RGBC-IR Sersor ที่ช่วยให้ Sony Xperia XZ ถ่ายภาพออกมาได้สีสันที่สมจริง ทั้งเร็วและแม่นยำเลยทีเดียว

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00021

ซอฟท์แวร์กล้องถ่ายภาพของ Sony Xperia XZ ที่หน้าแรกของซอฟท์แวร์กล้อง ค่า Default จะตั้งไว้เป็นโหมด Superior Auto วิธีการสลับโหมดกล้องถ่ายรูปให้เราเลือกไอคอนที่บริเวณด้านซ้ายมือ ที่จะประกอบไปด้วยโหมด Superior Auto, โหมด M และ โหมดอื่น ๆ โดยในโหมดอื่น ๆ (เช่น 4K Video, AR, Panorama เป็นต้น) ของ Sony Xperia XZ จะสามารถดาวน์โหลดเพิ่มทีหลังได้ และมี Store เป็นของตัวเอง ซึ่งก็มีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน

ภาพถ่ายจากกล้องของ Sony Xperia XZ ส่วนตัวแนะนำที่ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล เนื่องจากเป็นความละเอียดที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการโพสลงโซเชียล หรือแม้แต่จะใช้ในการทำงานก็ตาม เพราะสามารถถ่ายและบันทึกลงเครื่องได้อย่างรวดเร็ว กินความจุไม่เยอะ และดูเหมือนว่าจะเป็นความละเอียดที่พีคที่สุดของกล้อง Sony Xperia XZ ครับ แต่ถ้าใครสายโหด จะเปิดที่ความละเอียดสูงสุด 23 ล้านพิกเซล อันนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่จะหมุนตอนเซฟภาพนานหน่อยเท่านั้นเอง

สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายจาก Sony Xperia XZ  ก็ตามนี้ครับ

Performance

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00005

ประสิทธิภาพของ Sony Xperia XZ ที่มาพร้อมกับชิปเซ็ตระดับท็อป ณ ตอนนี้ของ Qualcomm อย่าง Snapdragon 820 ก็ไม่ทำให้ผิดหวังทั้งในเรื่องของความแรงที่ตัว CPU เอง ไปจนถึง GPU อย่าง Adreno 510 ซึ่งมันเพียงพอที่จะทำให้เล่นเกมกินสเปคสูง ๆ อย่าง Oz Broken Kingdom, Asphalt 8, N.O.V.A.3 และเกมอื่น ๆ ที่มีใน Google Play Store ได้อย่างลื่น ๆ ที่เฟรมเรตประมาณ 30 fps ขึ้นไป

ส่วนเรื่องที่หลายคนกังวลอย่าง Ram 3 GB เท่าที่ผมลองใช้งานแบบทั่วไป ก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าได้เปิดหลาย ๆ แอปพลิเคชันพร้อมกัน แล้วก็สลับไปมาทันที อันนี้จะออกอาการให้เห็นบ้าง ถ้ามองในแง่ของการใช้งานจริง คงไม่มีใครเปิดแอป แล้วสลับไปมารัว ๆ หรอกครับ ด้วยความที่ Sony เด่นเรื่องการรีดประสิทธิภาพของ Hardware อยู่เลย ก็เลยคิดว่าใส่ Ram 3 GB มาก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว แต่เรื่องของความรู้สึกนี่มันก็รู้สึกอยู่นะ ทุกอย่างมาดีหมดแล้ว ใส่ Ram 4 GB มาก็คงจะเพอร์เฟคไปเลย

แบตเตอรี่และการจัดการพลังงาน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการพลังงานจะเป็นอะไรที่ Sony ถนัดอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ และก็อย่าพึ่งคิดว่า “แบตน้อยจัง” เพราะแบตเตอรี่ไม่ถึง 3000 mAh ของ Sony Xperia XZ นี่ใช้งานหมดวันได้สบาย ๆ ทั้งเล่นโซเชียล, เล่นอินเทอร์เน็ต, ฟังเพลง, ถ่ายรูป, เล่นเกมนิดหน่อย โดยตัวเครื่องเปิดทั้ง 4G สลับกับ WiFi เมื่ออยู่ที่ทำงาน แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพก Powerbank เพราะถ้าแบตเตอรี่จะหมดจริง ๆ ยังมีโหมดไม้ตายอย่าง STAMINA Mode และไม้ตายสุดท้ายอย่าง Ultra STAMINA Mode ให้เลือกใช้ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานเข้าไปอีก

Review-Sony-Xperia-XZ-SpecPhone-00019

อีกหนึ่งความน่าสนใจของ Sony Xperia XZ ก็คือฟีเจอร์ด้านแบตเตอรี่ Battery Care ที่พัฒนาโดย Qnovo ในชื่อเก๋ ๆ ว่า Qnovo Adaptive Charge เป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยให้แบตเตอรี่ของ Sony Xperia XZ เสื่อมสภาพน้อยลง โดยทาง Sony การันตีเลยว่าเมื่อผ่านไป 1 ปี แบตเตอรี่ของ Sony Xperia XZ ที่เปิดฟีเจอร์ Battery Card เอาไว้จะเสื่อมสภาพเพียง 10 – 15% เท่านั้น (โดยปกติ มือถือทั่วไปเมื่อครบปี แบตเตอรี่จะเสื่อมประมาณ 20 – 40%)

หลักการของ Battery Care ก็คือการค่อย ๆ จ่ายไฟเข้าเครื่องให้เต็มตามเวลาที่กำหนด โดยตัวเครื่องจะใช้เวลาในการเรียนรู้ลักษณะการชาร์จมือถือของผู้ใช้ประมาณ 3 – 5 วัน จากนั้นจะทำการคำนวณกระแสไฟให้เข้าเครื่องเมื่อผู้ใช้ตื่นนอนพอดี อย่างตอนผมรีวิว Sony Xperia XZ ปกติจะผมจะเริ่มชาร์จไฟมือถือตอนประมาณ 4 ทุ่ม แล้วก็จะชาร์จยาว ๆ ไปจนถึง 6 โมงเช้า แน่นอนว่ามือถือที่ไม่มีฟีเจอร์ Qnovo Adaptive Charge แบตเตอรี่ก็คงเต็ม 100% ตั้งแต่ตี 1 แล้ว และก็จะมีกระแสไฟจ่ายเข้าไปในเครื่องเรื่อย ๆ จนถึง 6 โมงเช้า แต่ถ้าเป็นฟีเจอร์ Battry Care แบตเตอรี่จะค่อย ๆ ถูกเติมไฟจนถึงประมาณ 70 – 80% แล้วจากนั้นก็จะค่อย ๆ จ่ายไฟเข้าทีละนิด พอถึง 6 โมงเช้า แบตเตอรี่ก็จะเต็ม 100% พอดี

ข้อดีอีกอย่างของ Qnovo Adaptive Charge คือไม่จำเป็นต้องใช้อะแดปเตอร์ที่แถมมาในกล่อง จะเป็นอะแดปเตอร์อะไรก็ได้ เพียงแค่เปิดฟีเจอร์ Battry Care เท่านั้นเป็นอันเรียบร้อย

Gallery








เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก