Sony Xperia XA Ultra ที่ผมจะมารีวิวให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันนี้ เป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนของ Sony ที่เปิดตัวปี 2016 ในซีรี่ส์ Xperia X มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจอขนาดใหญ่ ตามสไตล์ซีรี่ส์ Ultra ของทาง Sony แล้วก็เน้นเรื่องกล้องหน้าเป็นพิเศษ จะบอกว่า Sony Xperia XA Ultra เป็นทายาทของ Sony Xperia C5 Ultra ก็คงจะไม่ผิดนัก
สเปค Sony Xperia XA Ultra
- ระบบปฏิบัติการ Android 6.0.1 Marshmallow
- หน้าจอ 6 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full-HD
- ชิปเซ็ต MediaTek MT6755 Helio P10 Octa-core 2.0GHz
- ชิปกราฟิก Mali-T860MP2
- แรม 3GB
- รอม 16GB
- รองรับ Micro SD ความจุสูงสุด 200GB
- แบตเตอรี่ 2700 mAh
- กล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล Exmor RS, กันสั่น OIS พร้อมแฟลช LED
- กล้องหลังความละเอียด 21.5 ล้านพิกเซล Exmor RS พร้อม Hybrid Auto-Focus
- มี 3 สี ดำ , ขาว , ทองมะนาว (Lime Gold)
- สเปคเต็ม ๆ Sony Xperia XA Ultra
- ราคา 14,990 บาท
อุปกรณ์ในกล่องของ Sony Xperia XA Ultra จะมีให้แค่เพียงอแดปเตอร์กับสาย USB เท่านั้น (อ้างอิงจากเครื่องรีวิว) ส่วนตัวผมก็ไม่แน่ใจว่า Sony Xperia XA Ultra เครื่องขายจริงจะแถมหูฟังมาให้ด้วยหรือไม่ แต่ถ้าเพื่อน ๆ ซื้อ Sony Xperia XA Ultra ผ่านทาง dtac Online Store หรือที่ dtac Shop ก็จะได้รับของแถมเป็นหูฟัง Hi-Res จาก Sony ไปฟรี ๆ ซึ่งผมว่ามันให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าหูแถมหลายเท่าเลยล่ะ
จุดเด่น
– ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุล ทั้ง CPU, แรม, หน้าจอ, แบตเตอรี่, กล้อง
– ใช้งาน 3G/4G LTE ได้อย่างไร้ปัญหา รองรับ 2 ซิมด้วย
– จอใหญ่มาก รับชมคอนเท้นได้เต็มตา ในขนาดตัวเครื่อง 5.5 นิ้ว
– ขอบจอบางเฉียบ ดีไซน์สวยงาม
– กล้องหน้าจัดเต็ม มีทั้ง OIS และแฟลช LED
– แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน
ข้อสังเกต
– ไม่มีปุ่มสแกนนิ้ว
– สีหน้าจอค่อนข้างหลอกตา เมื่อเปิด Bravia Engine 2
– เล่นเกมติดต่อกันนาน ๆ ความร้อนจากตัวเครื่องเยอะพอสมควรเลย
บทสรุป
BEST SELFIE SMARTPHONE
Design
ดีไซน์ของ Sony Xperia XA Ultra พูดกันตรง ๆ ก็คือการหยิบ Sony Xperia XA มายิงไฟฉายขยายร่าง เพิ่มขนาดจากหน้าจอ 5 นิ้ว มาเป็น 6 นิ้ว พร้อมน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาอีกพอสมควร แต่รูปลักษณ์ยังคงเหมือนเดิม ขอบจอบางเฉียบแบบแทบจะไร้ขอบเหมือนเดิม
การที่ Sony ออกแบบ Sony Xperia XA Ultra ให้มีขอบจอที่บางเฉียบแบบแทบจะไร้ขอบ (Narrow Bezel Design) เลยทำให้สามารถยัดหน้าจอขนาด 6 นิ้ว ลงไปในบอดี้ขนาดประมาณมือถือหน้าจอ 5.5 นิ้วได้สบาย ๆ (เทียบกับ iPhone 6s Plus) และมีขนาดเล็กกว่ามือถือหน้าจอ 6 นิ้วที่เป็นคู่แข่งโดยตรงอย่าง Samsung Galaxy A9 Pro พอสมควร
จุดที่น่าติในการออกแบบของ Sony Xperia XA Ultra ก็คงหนีไม่พ้นพื้นที่ด้านบนและด้านล่างหน้าจอ ที่มีพื้นที่เยอะกว่าปกติ (หรือเพราะเทียบกับขอบจอแล้วเลยดูไม่สมมาตร) คือด้วยองค์ประกอบรวม ไม่ควรจะมีพื้นที่บน – ล่างหน้าจอมากขนาดนี้ พื้นที่ด้านล่างหน้าจอก็ไม่ได้เป็นปุ่ม Navigation Key แต่เป็นปุ่มแบบ Soft Key ทั้ง 3 ปุ่ม เข้าใจว่า Sony อยากให้การออกแบบมันออกมาสมมาตร เท่ากันทั้งด้านล่างและด้านบน เพราะพื้นที่ด้านบนหน้าจอของ Sony Xperia XA Ultra ก็มีรายละเอียดเยอะพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นกล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ที่ติด OIS กันสั่น พร้อมแฟลช LED สำหรับช่วยถ่ายเซลฟี่ในที่แสงน้อย รวมถึงลำโพงสำหรับสนทนาโทรศัพท์ด้วย
รายละเอียดทางด้านข้างของ Sony Xperia XA Ultra เริ่มจากทางด้านขวามือ จะเป็นศูนย์รวมของปุ่มควบคุมเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปุ่ม Power, ปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มชัตเตอร์แบบสองจังหวะ อันเป็นเอกลักษณ์ของมือถือ Sony โดยปุ่มชัตเตอร์สามารถกดค้างขณะที่หน้าจอปิดอยู่ เพื่อทำการเปิดกล้องอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องปลดล็อกตัวเครื่องได้
ทางด้านซ้ายของตัวเครื่องจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ด รองรับ 2 ซิม แบบ Nano Sim ทั้งคู่ สามารถใช้งาน 4G ได้ทั้ง 2 ซิม แต่จะต้องเลือกว่าจะใช้ 4G ได้เพียงซิมใดซิมหนึ่งเท่านั้น เช่น ซิม 1 เป็น 4G ซิม 2 จะเป็น 3G แต่สามารถสลับมาใช้ 4G ที่ซิม 2 ได้ (ซิม 1 ก็จะกลายเป็น 3G) ส่วนช่องใส่ Micro SD Card จะแยกต่างหาก ไม่ได้อิงกับช่องใส่ซิมการ์ด ทำให้เราสามารถใส่ได้ทั้ง 2 ซิม ในขณะเดียวกันก็สามารถใส่ Micro SD Card เพื่อเพิ่มความจุได้ โดย Sony Xperia XA Ultra รองรับ Micro SD Card ความจุสูงสุดถึง 200 GB
ด้านบนของ Sony Xperia XA Ultra เป็นช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร กับไมค์สำหรับตัดเสียงรบกวน ส่วนด้านล่างของ Sony Xperia XA Ultra ประกอบไปด้วยพอร์ทเชื่อมต่อแบบ Micro USB สำหรับถ่ายโอนข้อมูลและชาร์จไฟ, ลำโพงหลักของตัวเครื่อง และไมค์สำหรับสนทนา โดย Sony Xperia XA Ultra รองรับการชาร์จเร็วตามมาตรฐานของ MediaTek ตามหน้าสเปคบอกว่า Sony Xperia XA Ultra ชาร์จไฟเพียง 10 นาทีก็สามารถใช้งานได้นานถึง 5.5 ชั่วโมง แต่ปัญหาอยู่ที่อแดปเตอร์ในกล่องที่แถมมาดันไม่ใช่อแดปเตอร์ UCH12 ที่รองรับฟีเจอร์ Fast Charge ถ้าอยากชาร์จเร็วก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มครับ
นอกจากดีไซน์ของ Sony Xperia XA Ultra จะออกแบบมาได้สวยงามแล้ว วัสดุตัวเครื่องก็จัดว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นขอบตัวเครื่องโค้งมนที่ใช้วัสดุเป็นโลหะ ตัวฝาหลังที่เป็นพลาสติกอย่างดี มีสีสันให้เลือกถึง 3 สี ได้แก่ สีขาว, สีดำกราไฟต์ และสีไลม์โกลด์ (สีเครื่องในรีวิว Sony Xperia XA Ultra) ตรงนี้จะแตกต่างจาก Sony Xperia XA ที่จะมีทั้งหมด 4 สี โดยสีที่เพิ่มมาก็คือสีชมพู Rose Gold ตรงนี้ก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน เพราะผมว่าสีชมพูโรสโกลด์ของ Sony ทำออกมาได้สวยดีทีเดียว สำหรับรายละเอียดของฝาหลัง Sony Xperia XA Ultra ประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 21.5 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช LED, โลโก้ NFC บริเวณกลางฝาหลัง ตามมาด้วยโลโก้ Xperia ตามสไตล์มือถือ Sony
ภาพรวมของ Sony Xperia XA Ultra นอกจากจะเป็นมือถือจอใหญ่ (Phablet) ในบอดี้ของมือถือไซส์ 5.5 นิ้ว จากขอบจอที่บางในระดับ Narrow Bezel แล้ว น้ำหนักตัวเครื่องของ Sony Xperia XA Ultra เมื่อเทียบกับมือถือขนาดหน้าจอ 6 นิ้วในท้องตลาดก็ถือว่าเบากว่าพอสมควร วัสดุตัวเครื่องก็พรีเมียมสมราคา แม้ว่าฝาหลังจะเป็นพลาสติกแต่ก็ให้สัมผัสที่ดี และเข้ากันกับขอบตัวเครื่องที่ใช้วัสดุเป็นโลหะ ความสวยงามนี่ไม่แพ้แบรนด์คู่แข่งแน่นอน
Software
Sony Xperia XA Ultra มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0 Marshmallow ครอบด้วย Xperia UI ตามสไตล์มือถือ Sony ความเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ จาก Stock Android ก็จะเน้นไปที่ไอคอนและ UI ที่คงเอกลักษณ์การเป็นมือถืออารยธรรม ดีไซน์ไอคอนที่ดูเรียบง่ายแบบ Material Design แต่แฝงไปด้วยความโฉบเฉี่ยวทันสมัยแบบ Sony ส่วนการใช้งานอันนี้ถอดแบบมาจากมือถือ Android เลยครับ มีหน้าโฮม และหน้า App Drawer แยกกัน ไม่เหมือนพวกมือถือจากจีน ที่มักจะถอดหน้า App Drawer ออกเพื่อป้องกันความสับสน
เฉกเช่นมือถือ Sony รุ่นอื่น ๆ Sony Xperia XA Ultra ก็ยัดเทคโนโลยีของตัวเองใส่เข้ามาในสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอขนาด 6 นิ้ว Full HD มาพร้อม Bravia Engine 2 for Mobile ที่ช่วยให้การแสดงผลรูปภาพและวีดีโอคมชัด และสีสันที่สดใสมากกว่ามือถือปกติทั่วไป ส่วนระบบเสียง แม้ว่าแอปพลิเคชันในการฟังเพลงจะถอดชื่อ Walkman แล้วหันมาใช้ชื่อ Music แต่เทคโนโลยีที่เราเคยพบในเครื่องเสียง หรือเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาของ Sony ก็ยังคงพบได้ใน Sony Xperia XA Ultra ไม่ว่าจะเป็น Clear Bass, Clear Phase และ X-Loud
Camera
ความโดดเด่นของ Sony Xperia XA Ultra นอกจากดีไซน์แล้วก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องกล้อง ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง ที่จัดเต็มและอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีจาก Sony เริ่มจากกล้องหลังความละเอียด 21.5 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ขนาด 1/2.4 นิ้ว Exmor RS สำหรับโทรศัพท์มือถือ รองรับการเปิดใช้งานด่วน มาพร้อมระบบโฟกัสแบบไฮบริด ที่สามารถจับภาพได้อย่างรวดเร็ว แบบเดียวกับในอดีตเรือธงอย่าง Sony Xperia Z5
แอปพลิเคชันกล้องถ่ายรูปของ Sony Xperia XA Ultra ในโหมด Auto จากที่ได้ทดลองใช้ตอนรีวิว Sony Xperia XA Ultra ก็พบว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถเลือก Scene ได้ถูกต้อง เช่น ถ่ายวิว, ถ่ายอาหาร หรือถ้าอยากจะแอดวานซ์ก็มีโหมด Manual ให้เลือกปรับเช่นกัน ส่วนโหมดอื่น ๆ เช่น AR Effect, Panorama ก็มีให้เลือกใช้งานเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือสามารถดาวน์โหลดโหมดกล้องอื่น ๆ เพิ่มได้จาก Store อีกด้วย
คุณภาพของรูปถ่ายจากกล้องหลังของ Sony Xperia XA Ultra ก็ทำออกมาได้น่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นความคมชัด, สีสันก็ทำออกมาได้ดี บวกกับความไวในการเปิดกล้อง และความแม่นยำในการจับโฟกัส ทำให้ Sony Xperia XA Ultra เป็นหนึ่งในโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายภาพได้สนุกรุ่นหนึ่งเลยล่ะ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Sony Xperia XA Ultra
สำหรับกล้องหน้าเซลฟี่ ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ขนาด 1/2.6 นิ้วของ Sony Xperia XA Ultra ก็ไม่ได้มีดีแค่พิกเซลที่สูง แต่ยังมาพร้อมกับ OIS กันสั่นที่กล้องหน้า และยังติดแฟลช LED สำหรับถ่ายรูปในที่แสงน้อยเข้ามาให้อีกด้วย เมื่อรวมกับเซนเซอร์ Exmor RS ที่เก่งในการถ่ายรูปที่แสงน้อยอยู่แล้ว การถ่ายภาพเซลฟี่ตอนกลางคืนจึงไม่ใช่ปัญหาของ Sony Xperia XA Ultra เลยล่ะ ส่วนมุมกล้องของกล้องหน้าก็กว้างถึง 88 องศา มั่นใจได้ว่าเก็บรูปถ่ายเซลฟี่เป็นหมู่คณะได้แน่นอน
คุณภาพของไฟล์ภาพ 16 ล้านพิกเซลของกล้องหน้า Sony Xperia XA Ultra บอกเลยว่าไม่ธรรมดา และไม่ได้มีดีแค่พิกเซลเยอะจัดหนัก แต่มันยังให้ภาพถ่ายกล้องหน้าที่คุณภาพดี และถูกใจสาว ๆ สายเซลฟี่เป็นอย่างดี เพราะมีโหมดหน้าเนียนติดมาให้ แต่หน้าเนียนของ Sony Xperia XA Ultra ไม่ได้หลอกตาเหมือนโหมด Beauty ทั่วไป เพราะมันจะเนียนแบบสมจริง คือถ้ามองผ่าน ๆ ก็นึกว่าไม่ได้แต่งภาพเลยอ่ะครับ อธิบายยาก ดูจากตัวอย่างภาพถ่ายด้านล่างเลยดีกว่า
Performance
ประสิทธิภาพของ Sony Xperia XA Ultra ด้วยชิปประมวลผล MediaTek MT6755 หรือ MediaTek Helio P10 บวกกับ Ram 3 GB จัดว่าเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทั่วไป ยันการเล่นเกมที่ใช้กราฟฟิคหนัก ๆ ด้วยความแรงของ CPU ที่มีค่าสัญญาณนาฬิกาสูงถึง 2 GHz และชิปกราฟฟิค Mali-T860 เพียงพอที่จะเปิดเกมอย่าง N.O.V.A.3, HIT และ NBA Live ได้สบาย ๆ ส่วนเกมอื่น ๆ นั้น ก็คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
วีดีโอทดสอบเล่นเกมด้วย Sony Xperia XA Ultra ก็ตามนี้ครับ
การจัดการพลังงานของ Sony Xperia XA Ultra ก็ตามสไตล์มือถือ Sony คือแบตเตอรี่ไม่ได้ให้มาเยอะมาก (เมื่อเทียบกับคู่แข่ง) แต่ดันใช้งานได้นาน ด้วยการจัดการพลังงานที่ดี และฟีเจอร์ประหยัดพลังงาน STAMINA Mode อันเลื่องชื่อ แถมยังมีรุ่นตีบวกอย่าง Ultra STAMINA Mode ติดมาให้อีก จึงไม่แปลกที่ Sony Xperia XA Ultra จะสามารถใช้งานได้ยาวนาน แม้ว่าจะให้แบตเตอรี่มาแค่ 2700 mAh ก็ตาม เท่าที่ได้ทดสอบกับเครื่องรีวิว Sony Xperia XA Ultra ก็พบว่ามันสามารถใช้งานได้หมดวันสบาย ๆ แบบเปิด 4G ตลอด แล้วก็หยิบมาใช้งานเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ต้องง้อ Powerbank เวลาแบตเตอรี่จะหมดก็เปิด STAMINA Mode เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานเข้าไปอีก
ในด้านการจัดการพลังงานนี่ผมไม่ติดอะไร ถ้าไม่นับเรื่องอแดปเตอร์ที่ไม่เป็น Fast Charge นี่แหละครับ ทำไมไม่ใส่มาให้จบ ๆ ไปก็ไม่รู้ มันน่าเจ็บใจตรงที่รองรับ, มีขายอแดปเตอร์แยก แต่ไม่แถมมาให้ในกล่องนี่ล่ะ