[Review] Samsung Galaxy S10+ สมาร์ทโฟนที่ตีบวกแทบทุกด้าน พร้อมระบบสแกนลายนิ้วมือสุดล้ำ

ปีนี้จัดว่าเป็นปีที่น่าจับตามองของ Samsung ด้วยการที่คู่แข่งในตลาดสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะจากประเทศจีนแข็งแกร่งขึ้นมามาก ประกอบกับมือถือในซีรีส์ S9 เองก็ไม่ว้าวมากนัก ทำให้ S10 กลายเป็นมือถือรุ่นที่ Samsung ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ดังจะเห็นได้ตั้งแต่ก่อนเปิดตัว ที่มีการโหมกระแสขึ่นมาเรื่อย ๆ รวมถึงมีสิ่งที่ทำให้คนติดตามในเรื่องของการออกแบบ ว่า Samsung จะปรับตามเทรนด์ของหน้าจอแหว่งอย่างไร ผลก็ออกมาเป็นสมาร์ทโฟนในซีรีส์ระดับเรือธงด้วยกัน 3 รุ่นย่อย โดยรุ่นที่ทางเราได้รับมารีวิวในบทความนี้ก็คือ Samsung Galaxy S10+ ที่จัดว่าเป็นรุ่นท็อปของในช่วงที่เริ่มวางจำหน่าย

Samsung Galaxy S10+

Samsung Galaxy S10+ เองนอกเหนือจากสเปคที่แรงแล้ว ก็ยังอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีอีกมากมาย โดยสเปค Samsung Galaxy S10+ ที่น่าสนใจก็มีดังนี้ครับ

  • ชิปประมวลผล Exynos 9820 ที่มี 8 คอร์ แบ่งเป็น 2x 2.73 GHz / 2x 2.31 GHz / 4x 1.95 GHz พร้อมชิปกราฟิก Mali-G76 MP12
  • แรม เริ่มต้นที่ 8 GB
  • พื้นที่เก็บข้อมูลเริ่มต้นที่ 128 GB รองรับ MicroSD เพิ่มได้ 512 GB
  • หน้าจอ Dynamic AMOLED แบบ Infinity-O ขนาด 6.4″ ความละเอียดระดับ QHD+ (3040 x 1440) รองรับกา่รแสดงผลระดับ HDR10+
  • กล้องหลัง 3 ตัว Dual OIS
    • กล้องหลัก 12 ล้านพิกเซล สามารถปรับรูรับแสงได้ระหว่าง f/1.5 และ f/2.4
    • กล้องเลนส์อัลตร้าไวด์ 16 ล้านพิกเซล ความกว้างขององศาการรับภาพอยู่ที่ 123 องศา f/2.2
    • กล้องเลนส์เทเล 12 ล้านพิกเซล ซูมออปติคอลได้ 2 เท่า ความกว้างขององศาการรับภาพอยู่ที่ 45 องศา f/2.4
  • กล้องหน้า 2 ตัว
    • กล้องหลัก 10 ล้านพิกเซลมาพร้อมเทคโนโลยี Dual Pixel ที่ช่วยในการโฟกัส ความละเอียด 10 ล้านพิกเซล f/1.9
    • กล้องอีกตัวความละเอียด 8 ล้านพิกเซล RGB ใช้สำหรับเก็บข้อมูลระยะห่างจากวัตถุ f/2.2
  • แบตเตอรี่ความจุ 4100 mAh รองรับการชาร์จเร็วที่มาตรฐาน QC2.0 และ AFC
  • ตัวเครื่องสามารถชาร์จแบบไร้สายได้ด้วยเทคโนโลยี Fast Wireless Charging 2.0
  • รองรับการชาร์จไฟแบบไร้สายให้อุปกรณ์อื่น (Wireless PowerShare) เช่น ชาร์จให้นาฬิกา หูฟัง และมือถือที่รองรับการชาร์จไร้สายตามมาตรฐาน Qi
  • รองรับ Wi-Fi 6 MU-MIMO 1024QAM
  • ลำโพงตัวเครื่องเป็นแบบสเตอริโอ ได้รับการจูนโดย AKG รองรับระบบเสียง Dolby Atmos 3D
  • เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบ ultrasonic ที่ฝังอยู่ใต้จอ
  • ตัวเครื่องยังคงมีพอร์ตเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม. อยู่
  • กันน้ำกันฝุ่นได้ระดับ IP68
  • ถาดซิมแบบไฮบริด รองรับ VoLTE ทั้งสองซิมพร้อมกัน
  • มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 9.0 (Pie)
  • ราคา Samsung Galaxy S10+
    • แรม 8GB สตอเรจ 128GB ราคา 35,900 บาท
    • แรม 8GB สตอเรจ 512GB ราคา 44,900 บาท (ฝาหลังเซรามิก)
    • แรม 12GB สตอเรจ 1TB ราคา 55,900 บาท (ฝาหลังเซรามิก)

แน่นอนว่าสเปคของ Samsung Galaxy S10+ นั้นถือว่าเป็นระดับท็อป ทั้งในแง่ของความแรง และเทคโนโลยีที่อยู่ภายใน โดยจุดที่น่าสนใจก็เช่น หน้าจอแบบใหม่ กล้องที่ให้เลนส์มาครบช่วง ฟังก์ชันในการชาร์จแบตแบบไร้สายให้อุปกรณ์อื่น และที่สำคัญคือตัวเครื่องที่บางลงกว่า S9+ แต่ยังมาพร้อมช่อง 3.5 มม. แบตเตอรี่ความจุสูง และยังสามารถใส่ MicroSD ได้อีก แม้ถาดซิมจะเป็นแบบไฮบริดก็ตาม

ดีไซน์ หน้าตาของ Samsung Galaxy S10+

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 7

ขนาดของขอบจอ กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้ผลิตต้องการจะเอาชนะมากที่สุด เพื่อให้มือถือมีพื้นที่แสดงผลของจอมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันก็เพื่อทำให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป ซึ่งรอบนี้ Samsung เลือกจะให้ S10+ รวมถึง S10 และ S10e ใช้หน้าจอแบบเจาะช่องสำหรับกล้องหน้าเอาไว้ที่มุมขวาบน โดยใช้ชื่อเรียกว่าเป็นจอแบบ Infinity-O ที่ Samsung ให้นิยามว่าหมายถึงจอที่เกือบไร้ขอบ และใช้พื้นที่เกือบเต็มเครื่อง

ด้วยการที่ขอบจอบางเฉียบขนาดนี้ ทำให้สามารถใส่จอได้ที่ขนาดใหญ่ถึง 6.4″ ซึ่งเมื่อผมเทียบกับ Google Pixel 2 XL ที่ผมใช้อยู่ ปรากฏว่า S10+ มีขนาดเครื่องเล็กกว่า Pixel 2 XL ที่มีหน้าจอขนาด 6″ ซะอีก ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับขอบจอของ S10+ ที่บางเฉียบจริง ๆ ทำให้เราได้ใช้มือถือที่พื้นที่แสดงผลใหญ่เต็มตามากขึ้น ภายใต้ตัวเครื่องที่ไม่ได้ใหญ่ไปจากมือถือแบบเดิม ๆ เท่าไหร่ (หรือเล็กกว่าซะด้วยซ้ำ)

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 29

ส่วนในแง่ของการแสดงผลนั้น Samsung เลือกใช้เทคโนโลยี Dynamic AMOLED ที่มีความสามารถในการปรับโทนสีให้เหมาะสมกับเนื้อหาโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ภาพมีความสมจริง สีสันสวยงามมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากที่ทดสอบมา ก็พบว่าให้ภาพที่สวยมาก ๆ สีสันสวยงาม แต่ไม่จัดจ้านจนเกินไป ส่วนที่เป็นสีดำก็ดำสนิทด้วยความเป็นพาเนลแบบ AMOLED ซึ่ง Samsung ขึ้นชื่ออยู่แล้ว นอกจากนี้ยังรองรับการแสดงภาพในมาตรฐานระดับ HDR10+ อีกด้วย แต่ในข้อนี้อาจจะยังเห็นประโยชน์ไม่ชัดมากนัก เพราะในบ้านเรายังหาคอนเทนต์ที่แสดงผลในระดับ HDR10+ ได้ไม่มากนัก

ส่วนขอบเขตของการแสดงสีนั้นก็ให้มาจุใจเลยทีเดียว ด้วยระดับ 100% ตามมาตรฐาน DCI-P3 ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกหนึ่งเทคโนโลยีของหน้าจอที่น่าสนใจก็คือ ฟังก์ชันถนอมสายตาที่ผ่านการรับรองจาก TUV Rheinland ช่วยลดแสงสีฟ้าลงได้ถึง 42% โดยที่ไม่ทำให้สีของภาพเพี้ยนจนเกินไป ช่วยลดอาการล้าของสายตา โดยเฉพาะเมื่อใช้เครื่องในเวลากลางคืน

อย่างไรก็ตามจอภาพยังเป็นแบบขอบจอโค้งอยู่เช่นเดิมครับ แต่เท่าที่ผมใช้มา ผมรู้สึกว่าเซ็นเซอร์ในการจับสัมผัสตรงขอบจอจะได้รับการพัฒนาขึ้นจากเดิม ที่เห็นได้ชัดสุดคือเวลาที่ผมใช้งานมือถือขอบจอโค้งรุ่นก่อนหน้านี้ในการถ่ายรูป บางครั้งที่ปลายนิ้วผมไปแตะตรงขอบจอ ระบบก็จะนึกว่าผมจะโฟกัสที่ตรงจุดนั้น แต่สำหรับ S10+ ผมไม่เจอปัญหานี้เลยครับ

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 32

ทีนี้มาเจาะดูทีบริเวณกล้องหน้าคู่ของ Galaxy S10+ บ้างครับ จะเห็นชัดเลยว่าตำแหน่งของกล้องหน้าจะกินเข้ามาจากด้านบนและด้านขวาเข้ามาเล็กน้อย ผิวราบไปกับกระจกหน้าจอ ซึ่งด้วยความที่เป็นกล้องหน้าคู่ ทำให้ในบางครั้งก็มีความรู้สึกว่ามันกวนสายตาอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อเปิดแอปที่ธีมสีขาวเป็นหลัก ส่วนการรับชมวิดีโอแบบเต็มหน้าจอในแนวนอน ถ้าเป็นวิดีโอในอัตราส่วน 16:9 ก็จะมีขอบดำทางฝั่งซ้ายและขวาตามปกติ ทำให้เห็นรูกล้องหน้าไม่ชัดมากนัก แต่ถ้าซูมวิดีโอเข้าไปเพื่อให้แสดงผลเต็มจอ หรือเปิดวิดีโอที่เป็นอัตราส่วน 18:9 ขึ้นไป ก็จะเห็นรูกล้องได้ชัดเจนเลย

โดยเรื่องของรูกล้องนี้ ทาง Samsung เองก็พยายามทำให้เกิดการรบกวนสายตาให้น้อยที่สุดเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จาก wallpaper ที่ให้มาในเครื่อง มักจะใช้สีดำอยู่ตรงมุมขวาบนที่เป็นตำแหน่งของกล้องเพื่อใช้ในการพรางสายตา

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือความกว้างของแถบ notifications ด้านบนที่ดูกว้างกว่าปกติ สังเกตได้จากไอคอนสัญญาณโทรศัพท์ นาฬิกาด้านบนดูเล็กกว่าแถบ noti ที่เป็นพื้นหลัง แถมยังวางตำแหน่งอยู่ค่อนไปทางด้านล่างอีกด้วย ซึ่งถึงแม้จะไม่ส่งผลกระทบกับการใช้งานก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันค่อนข้างแปลกสายตาอยู่เหมือนกันครับ

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 11

ในการใช้งานทั่วไปนั้น จอ Infinity-O ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีมาก ๆ ทั้งในแง่ของความคมชัด สีสัน ความสว่างจอที่ใช้งานได้ในทุกสภาพแสง ส่วนแถบปุ่ม navigation ด้านล่างก็สามารถปรับได้ว่าจะคงไว้ หรือจะซ่อนไปเลย แล้วใช้การสั่งงานด้วยการปาดหน้าจอขึ้นมาจากตำแหน่งของทั้งสามปุ่มแทน ซึ่งผมลองแล้วพบว่าใช้กดปุ่มแบบปกติจะคล่องมือกว่า

ส่วนเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ฝังอยู่ใต้จอนั้น จะขอนำไปรีวิวในหัวข้อของฟีเจอร์นะครับ

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 36

พลิกมาที่ด้านหลังกันต่อ สำหรับเครื่องที่ทางเราได้รับมารีวิวในครั้งนี้เป็นรุ่นฝาหลังสีดำแบบ Prism Black ซึ่งให้รูปลักษณ์ที่ดูสวยงามและมีความพรีเมียมในแบบของกระจก ส่วนขอบด้านข้างเครื่องเป็นอลูมิเนียมซีรีส์ 7000 ที่มีความทนทานสูง ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวเครื่อง

น้ำหนักของตัวเครื่อง Samsung Galaxy S10+ ที่เป็นฝาหลังกระจกจะอยู่ที่ 175 กรัม ถ้าเป็นแค่เครื่องอย่างเดียว ก็ไม่จัดว่าหนักมากนัก ซึ่งเมื่อถือใช้งานในมือ ส่วนตัวผมว่าการกระจายน้ำหนักของตัวเครื่องทำได้ดี โดยตัวเครื่องด้านล่างจะหนักกว่าด้านบนเล็กน้อย ช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับการจับถือได้พอสมควร

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 17

การวางตำแหน่งของกล้องหลังถูกปรับมาใช้เป็นแนวนอนเหมือนกับ Note 9 โดยตัวโมดูลกล้องจะมีกรอบของกระจกปิดหน้าเลนส์ที่นูนขึ้นมาจากฝาหลังเล็กน้อย ซึ่งกล้องทั้งสามตัวเรียงจากซ้ายมาขวาก็จะเป็น

  • เลนส์ระยะเทเล ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล มี OIS
  • เลนส์ระยะไวด์ปกติ ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล มี OIS และปรับรูรับแสงจริงได้
  • เลนส์ระยะไวด์กว่าปกติ ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล

ส่วนข้าง ๆ ก็เป็นแฟลช LED และเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจตามสไตล์ของ Samsung ที่มักวางไว้ข้างกล้องหลัง

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 34

แม้ตัวเครื่องและสัมผัสโดยรวมของ Samsung Galaxy S10+ จะทำออกมาได้ดีและลงตัวก็ตาม แต่ยังมีจุดหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจจะส่งผลกับการใช้งานอยู่เหมือนกันก็คือตำแหน่งของปุ่ม Power ด้านข้างเครื่องที่ขยับขึ้นไปอยู่สูงกว่าปกติ ทำให้บางครั้งก็ขยับนิ้วหัวแม่มือขวาไปกดปุ่มไม่ถึงอยู่เหมือนกัน ส่วนตัวผมก็เลยค่อย ๆ ปรับวิธีการจับเครื่องให้เครื่องลงมาต่ำกว่าเดิมนิดนึง ก็สามารถใช้ได้แล้ว และเมื่อพอใช้ไปซักระยะหนึ่ง ก็พบว่าเมื่อหยิบเครื่องออกมาจากกระเป๋ากางเกง ก็สามารถใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือกดได้แบบไม่ลำบากนัก

แต่อันที่จริงแล้ว S10+ มาพร้อมกับฟีเจอร์ Lift to wake ที่หน้าจอจะติดขึ้นมาเอง เมื่อผู้ใช้ยกเครื่องขึ้นมา ซึ่งเมื่อหน้าจอติดแล้ว ระบบก็สามารถสแกนใบหน้า หรือสแกนลายนิ้วมือได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องกดปุ่ม power แต่อย่างใด

1 1

สำหรับด้านข้างของ Samsung Galaxy S10+ ก็มีจุดที่น่าสนใจดังนี้

  • ด้านบน: ช่องรับเสียงของไมค์ช่วยตัดเสียงรบกวน และถาดใส่ซิมแบบไฮบริด
  • ด้านล่าง: ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม. ช่อง USB-C ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา และช่องลำโพง
  • ด้านซ้าย: แถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่ม Bixby
  • ด้านขวา: ปุ่ม Power

ลำโพงของ Samsung Galaxy S10+ ก็เป็นอีกสิ่งที่ทำออกมาได้ตามมาตรฐานของมือถือ คือเน้นที่เสียงกลางเป็นหลัก ส่วนในเรื่องของความเต็มอิ่มของเสียงก็ได้ความที่เป็นระบบเสียงสเตอริโอจากลำโพงด้านบนและด้านล่าง ทำให้เสียงออกมาดูมีมิติกว่าลำโพงมือถือทั่วไปที่เป็นแบบโมโน

ซอฟต์แวร์ของ Samsung Galaxy S10+

1

Samsung Galaxy S10+ มาพร้อมกับ Android 9.0 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุดในปัจจุบัน ครอบด้วยอินเตอร์เฟส One UI ของทาง Samsung เอง ซึ่งธีมโดยรวม การจัดวางเมนูจะมีความแตกต่างไปจาก Samsung Experience UI พอสมควร โดยจุดที่สังเกตได้ก็เช่น สีสันของไอคอนที่ดูสดใส การจัดหมวดหมู่ของเมนูการตั้งค่าที่ดูเป็นระเบียบและเรียบง่ายมากขึ้น รวมถึงยังมีธีมสีดำในแบบของ Night mode ให้ใช้งานได้อีกด้วย

พื้นที่เก็บข้อมูลของรุ่นที่เราได้รับมารีวิวนั้นอยู่ที่ 128 GB ซึ่งเมื่อเปิดเครื่องมาใช้งานครั้งแรก จะเหลือให้ใช้อยู่ราว ๆ 107 GB

Screenshot 20190301 091026 Bixby Voice

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือความสามารถในการปรับแต่งการทำงานของปุ่ม Bixby ที่อยู่ด้านข้างเครื่องได้ โดยจะมาหลังจากอัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่ และอัพเดตซอฟต์แวร์ของตัว Bixby เข้าไปแล้ว (สำหรับเครื่องที่มาล็อตหลังจากนี้ อาจจะได้รับการอัพเดตมาตั้งแต่แรกแล้ว) ซึ่งระบบก็จะเปิดให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะให้กดปุ่มครั้งเดียว หรือกดสองครั้งเพื่อเปิด Bixby ขึ้นมา โดยเมื่อเลือกแล้ว การกดอีกแบบที่เหลืออยู่ก็จะเปิดให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะเปิดแอปหรือใช้คำสั่งใด อย่างในภาพด้านบนผมก็เลือกให้กดสองครั้งเพื่อเรียก Bixby ส่วนถ้ากดครั้งเดียวก็ให้เปิด LINE ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม หากกดค้างไว้ก็จะเป็นการเรียกฟังก์ชันรับคำสั่งเสียง (Bixby Voice) ขึ้นมา และจะไม่สามารถปิดการทำงานของปุ่ม Bixby ได้นะครับ

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Samsung Galaxy S10+

หน้าจอ Dynamic AMOLED ในดีไซน์แบบ Infinity-O

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 23

จากที่เกริ่นไปแล้วในส่วนของดีไซน์ว่าหน้าจอ Samsung Galaxy S10+ นั้นเป็น Dynamic AMOLED ที่ใช้ดีไซน์ในแบบ Infinity-O ซึ่งให้พื้นที่แสดงผลที่เกือบเต็มเครื่อง ร่วมด้วยกับขอบจอโค้งอันเป็นเอกลักษณ์ของมือถือจาก Samsung ทำให้ภาพจากจอดูมีความสมจริง โดยเฉพาะเมื่อรับชมวิดีโอ HDR ที่ให้ภาพดูมีมิติ และทำให้เครื่องดูกระชับมือยิ่งขึ้นอีกด้วย

และด้วยการที่ Samsung ออกแบบให้ S10 S10+ และ S10e มีขอบจอที่บางเฉียบ ส่งผลให้ Samsung ต้องยกเอากลุ่มเซ็นเซอร์ที่ช่วยในการสแกนม่านตาออก เนื่องจากการที่จะทำงานได้ดี มันต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายโมดูล ซึ่งกินพื้นที่ของหน้าจอเข้ามามากเกินไป ก็เลยทำให้ S10 ทั้งสามรุ่นย่อย ไม่มีฟังก์ชันสแกนม่านตาอีกต่อไป เหลือแต่เพียงสแกนลายนิ้วมือและสแกนใบหน้าเท่านั้น

ด้านความละเอียดจอ Galaxy S10+ มีให้เลือกปรับได้ 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่

  • HD+ 1520×720
  • FHD+ 2280×1080 (ค่าเริ่มต้น)
  • WQHD+ 3040×1440

ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกปรับได้ตามต้องการ โดยยิ่งใช้ความละเอียดมาก ก็ยิ่งกินแบตเตอรี่มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน แต่เท่าที่ผมลองใช้ความละเอียดระดับสูงสุดดู ก็สามารถใช้งานจนหมดวันได้อยู่ แต่ถ้าในการใช้งานทั่ว ๆ ไป ผมมองว่าใช้แค่ระดับกลางก็พอแล้วครับ เพราะความละเอียด ความเนียนของภาพนั้นต่างจากระดับสูงสุดไม่มากนัก

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 30

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ยังคงอยู่ก็คือ Edge screen ที่เป็นแถบเรียกใช้แอป ใช้ฟังก์ชันที่ผู้ใช้ต้องการจากตรงขอบโค้งด้านข้างของเครื่อง ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับการใช้งานได้พอสมควร แต่ก็สามารถปิดการทำงานได้จากในเมนูการตั้งค่าครับ

เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเทคโนโลยี Ultrasonic

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 18

ระบบสแกนลายนิ้วมือของ Samsung Galaxy S10+ นี้มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด นั่นคือการนำเอาคลื่นเสียง ultrasonic มาใช้งาน โดยตัวเครื่องจะส่งคลื่นเสียงขึ้นมากระทบกับปลายนิ้ว และรับคลื่นที่สะท้อนกลับไปเพื่อประมวลผลเป็นภาพลายนิ้วมือ จากนั้นก็นำไปเทียบกับข้อมูลลายนิ้วมือที่เก็บไว้ หากตรง ก็สามารถปลดล็อกหน้าจอ หรือใช้งานแอปต่อได้ทันที ซึ่งการใช้คลื่นเสียง ทำให้แม้ว่านิ้วจะเปียก ก็สามารถสแกนได้อย่างไม่มีปัญหา

นอกจากนี้ ระบบสแกนลายนิ้วมือใน Samsung Galaxy S10 และ S10+ ยังผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของ FIDO ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลในระดับองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือสูง ดังนั้นจึงมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลได้เลย

ส่วนประสบการณ์ในการใช้งานจริงนั้น ความเร็ว ความแม่นยำนั้นแทบจะไม่ต่างจากเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบที่คุ้นเคยเลยครับ แถมในบางสถานการณ์ยังเร็วกว่าด้วย จะมีติดก็เพียงในบางครั้งที่ผมต้องการปลดล็อกหน้าจอในขณะที่หน้าจอยังดับอยู่ เช่น เมื่อวางเครื่องไว้บนโต๊ะ แล้วผมต้องการดูข้อความแจ้งเตือนที่มีเข้ามาโดยไม่อยากยกเครื่องขึ้นมา ทำให้ผมต้องเอานิ้วแปะลงไปตรงบริเวณที่เป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ซึ่งบางครั้งก็แปะถูกตำแหน่งพอดี บางครั้งก็ไม่พอดี เนื่องจากหน้าจอเรียบเสมอกันทั้งหมด ไม่ได้มีส่วนที่ช่วยนำทางให้กับปลายนิ้วแต่อย่างใด ต่างจากเซ็นเซอร์ในมือถือทั่วไปที่มักจะทำออกมาเป็นเบ้าให้เห็นชัดเจน และสามารถใช้ปลายนิ้วสัมผัสได้โดยไม่ต้องมอง

สำหรับข้อนี้ คงต้องอาศัยความเคยชินครับ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องใช้นิ้วกดปุ่ม Power ก่อนหนึ่งครั้ง เพื่อให้จอติดขึ้นมา จากนั้นจะสแกนนิ้ว หรือจะสแกนใบหน้าก็ทำได้ตามต้องการ

ชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นด้วย Wireless PowerShare

galaxy s10 performance wireless 1

ส่วนฟังก์ชันนี้ น่าเสียดายที่ผมเองไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับการชาร์จแบบไร้สายอยู่กับตัว เลยไม่ได้ทดสอบในส่วนนี้ แต่จะขอเล่าในแง่ของฟังก์ชันที่น่าสนใจแล้วกันครับ

Wireless PowerShare เป็นฟังก์ชันที่ให้ผู้ใช้ S10 S10+ และ S10e สามารถชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์อื่นแบบไร้สายได้โดยการนำอุปกรณ์นั้นมาแนบกับฝาหลังของเครื่อง โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้จะเป็นมือถือ นาฬิกา หูฟัง หรืออะไรก็ได้ที่รองรับการชาร์จไร้สายตามมาตรฐาน Qi นอกจากนี้ยังใช้สำหรับทำงานร่วมกับเคส LED View Cover ของ Samsung เอง ซึ่งจะมีไฟ LED ติดขึ้นมาเป็นรูปตามที่ผู้ใช้ตั้งค่า โดยตัวเคสจะใช้พลังงานจากฟังก์ชัน Wireless PowerShare ในการทำงานนั่นเอง

กล้องถ่ายรูปของ Samsung Galaxy S10+

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 31

กล้องถ่ายรูปก็เป็นอีกสิ่งที่ Samsung พัฒนาเพิ่มขึ้นมาจากรุ่นก่อนหน้า อย่างในด้านของกล้องหลัง Galaxy S10+ ก็ให้มาถึงสามตัวที่มีระยะ และการทำงานที่แตกต่างกัน ส่วนกล้องหน้าก็มาเป็นกล้องหน้าคู่ที่ช่วยเสริมการทำงานได้เป็นอย่างดี

ด้านของซอฟต์แวร์เองก็มี AI ที่ช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับภาพถ่ายให้สอดคล้องกับสิ่งที่ถ่าย เช่น ซีนสำหรับถ่ายภาพทะเล ถ่ายภาพต้นไม้ ถ่ายภาพอาหาร เป็นต้น รวมถึงยังมีโหมด Instagram เพิ่มเข้ามาให้ขาโซเชียลอัพรูปลงไอจีได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

3

สำหรับกล้องหลังทั้งสามตัวนั้น จากที่เกริ่นไปข้างต้นคือซ้ายสุดจะเป็นเลนส์เทเล ตรงกลางเป็นเลนส์ไวด์ปกติ และขวาสุดเป็นเลนส์ไวด์พิเศษ ซึ่งสำหรับกล้องตัวกลางนั้น มีความสามารถในการปรับความกว้างรูรับแสงระหว่าง f/1.5 กับ f/2.4 ได้ โดยหลักแล้วจะเป็นการปรับให้อัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับสภาพแสงภายนอก ถ้ามืดหน่อยก็ใช้ f/1.5 ถ้าสว่างมากพอ เช่น ถ่ายรูปกลางแจ้งในช่วงกลางวัน กล้องก็จะปรับไปใช้ f/2.4 ให้เอง

Screenshot 20190227 140053 Camera

หนึ่งในฟังก์ชันที่จะช่วยทำให้คุณถ่ายรูปได้ดูสวยงาม ลงตัวยิ่งขึ้นก็คือ Shot suggestion ครับ โดยเมื่อเปิดใช้งานกล้องครั้งแรก ๆ ก็จะมีป๊อปอัพแจ้งว่ามีฟังก์ชันนี้อยู่ สามารถเข้าไปเปิดใช้ได้ทันที

Screenshot 20190227 174111 Camera

เมื่อเปิดแล้ว ระหว่างที่กำลังจัดองค์ประกอบภาพอยู่ หน้าจอก็จะมีวงกลมทึบสีขาวพร้อมคำว่า Best shot ขึ้นมา ก็ให้ผู้ใช้เลื่อนกล้องให้กรอบวงกลมสีขาว ไปครอบวงกลมทึบที่ปรากฏขึ้นมา ซึ่งเมื่อครอบลงไปเรียบร้อยแล้ว วงกลมก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง นั่นหมายความว่า ตรงจุดนั้นคือจุดที่ AI ประเมินแล้วว่าองค์ประกอบภาพลงตัวที่สุด ถ่ายแล้วน่าจะได้รูปที่เป็นไปตามทฤษฎีการถ่ายภาพ เช่น กฏสามส่วน มากที่สุด

จากที่ผมลองใช้งานดู ฟังก์ชันนี้ถือว่าทำงานได้เป็นที่น่าพอใจครับ ส่วนใหญ่แล้วระบบจะเน้นจัดองค์ประกอบเด่นไว้กลางภาพเป็นหลัก เหมาะกับการใช้ถ่ายเพื่อเน้นความโดดเด่นของวัตถุ

Screenshot 20190301 134433 Camera

ส่วนโหมด Instagram จะอยู่ทางซ้ายสุดของแถบเลื่อนโหมดครับ ประโยชน์ก็คือช่วยอำนวยความสะดวกในการโพสต์รูปลง IG story ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อถ่ายแล้วก็สามารถใส่ฟิลเตอร์ แปะอีโมติคอน ใส่ข้อความ วาดเส้นเพิ่มเข้าไปในภาพได้จากในแอปกล้อง โดยไม่ต้องเข้าไปเปิด IG อีกรอบแต่อย่างใด

กล้องหลังทั้งสามตัวของ Samsung Galaxy S10+

สำหรับภาพด้านล่างนี้ ก็เป็นภาพที่ผมถ่ายจากกล้องหลังด้วยมุมเดียวกัน แต่กดเปลี่ยนระยะการซูม ซึ่งก็คือการเปลี่ยนเลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพเป็น 3 รูปแบบ สำหรับภาพซ้ายสุดก็คือภาพที่ได้จากเลนส์ ultra-wide ภาพกลางคือภาพที่ระยะเลนส์ปกติ และภาพขวาสุดของแต่ละชุดก็คือภาพที่ได้จากการซูม 2 เท่าด้วยเลนส์เทเล

4 5 6

จากภาพจะเห็นเลยว่าภาพจากเลนส์ ultra wide นั้นออกมากว้างสะใจมาก ๆ ช่วยให้สามารถเก็บวิว เก็บวัตถุในภาพได้อย่างครบถ้วน ส่วนภาพขวาสุดที่เป็นการซูมด้วยระยะของเลนส์เทเลก็ทำออกมาได้ดี รายละเอียดของวัตถุยังคงมีความคมชัดอยู่ ซึ่งความสะดวกในการใช้งาน คุณภาพของรูปที่ได้ และระยะเลนส์ที่ครอบคลุมการใช้งานทั่วไป ทำให้ผมมองว่า Samsung Galaxy S10+ ก็เป็นมือถืออีกรุ่นที่เหมาะสำหรับคนชอบท่องเที่ยวและชอบถ่ายภาพเลยนะ ส่วนการถ่ายแบบพื้นหลังเบลอก็ยังทำได้ด้วยการใช้โหมด Live focus เช่นเคย

ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพเซลฟี่ที่ได้จากกล้องหน้าแบบคู่นะครับ โดยจะมีกล้องหลักหนึ่งตัว ส่วนกล้องอีกตัวก็ใช้เก็บระยะสำหรับถ่ายด้วยโหมด Live focus



สำหรับแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ก็เป็นภาพตัวอย่างจากกล้องหลัง Samsung Galaxy S10+ ครับ



































ประสิทธิภาพและการเล่นเกมบน Samsung Galaxy S10+

2

ด้านของผลการทดสอบประสิทธิภาพ คงไม่จำเป็นต้องบรรยายเรื่องความแรงให้มากมายนะครับ เพราะ Galaxy S10+ นั้นมาพร้อมฮาร์ดแวร์ระดับท็อปในแทบทุกด้าน ความไหลลื่นก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม เท่าที่ผมใช้งานมา ยังไม่เจอปัญหาด้านซอฟต์แวร์หนัก ๆ เลย สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่น ส่วนการเชื่อมต่อเครือข่าย cellular ก็รองรับ 3CA ได้สบาย แต่ถ้าเรื่องความเร็วก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ครับ

Screenshot 20190302 120331 PUBG MOBILE 1

การเล่นเกมก็ไม่ใช่ปัญหาของ Samsung Galaxy S10+ ด้วยประสิทธิภาพของทั้ง CPU และ GPU ที่สูง รวมถึงแรมที่ให้มาถึง 8 GB ทำให้การเปิดเกม การสลับหน้าจอ รวมถึงสามารถปรับระดับกราฟิกในเกมในระดับสูงสุดได้สบาย ส่วนเรื่องความร้อนของตัวเครื่องขณะเล่นเกม ก็จะมีส่วนที่อุ่นขึ้นมาตามปกติ ไม่ได้ถึงขั้นร้อนจนเกินไป

Untitled 1

ปิดท้ายด้วยการใช้งานแบตเตอรี่ครับ ด้วยแบตเตอรี่ที่ความจุสูงถึง 4100 mAh ทำให้สามารถใช้งานระหว่างวันได้แบบไม่มีปัญหา จากที่ผมสังเกต ส่วนตัวผมรู้สึกว่าตัวเลข % ของแบตเตอรี่ในช่วง 100% จนถึง 70% จะลดค่อนข้างเร็ว แต่พอหลังจากนั้นจะลดช้าลงกว่าเดิมเล็กน้อย ส่วนการชาร์จแบต เสียดายที่ทางเราไม่ได้รับอะแดปเตอร์ที่แถมในกล่องมาด้วย เลยไม่ได้ทดสอบในแบบที่ควรจะเป็น แต่ที่ผมใช้งานเอง ผมใช้อะแดปเตอร์และสายชาร์จที่รองรับ USB PD ซึ่งตัวเครื่องก็จะแจ้งว่าเป็น Fast charging พร้อมกับการชาร์จที่เร็วทันใจมาก ๆ

Overall

Review Samsung Galaxy S10 Plus SpecPhone 43

Samsung Galaxy S10+ นับเป็นหนึ่งในมือถือระดับท็อปที่ทำออกมาได้อย่างกลมกล่อม ด้วยการตีบวกจุดเด่นของตนเองในรุ่นก่อนหน้านี้ เช่น การออกแบบตัวเครื่องให้บางเบาลงกว่าเดิม แต่ยังคงใส่แบตเตอรี่ที่ความจุสูงขึ้นได้ กล้องหลังที่นำของ Note 9 มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อ ไปจนถึงช่องเสียบแจ็คหูฟังแบบ 3.5 มม. ที่ยังคงเก็บไว้อย่างเหนียวแน่น เมื่อประกอบกับฟีเจอร์ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ Dynamic AMOLED ในแบบ Infinity-O ที่ให้พื้นที่แสดงผลแบบเต็มตา เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบ ultrasonic ที่มีความแม่นยำและความรวดเร็วสูง รวมถึง Wireless PowerShare ที่ชาร์จไฟต่อให้กับอุปกรณ์อื่นแบบไร้สายได้ ซึ่งฟีเจอร์เหล่านี้ ต่างเข้ามาช่วยเสริมประสบการณ์การใช้งานให้ลงตัวกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ส่วนในด้านของกล้อง แม้จะดูเหมือนว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ แต่ในเบื้องลึกแล้ว ฟังก์ชันที่ใส่มาก็นับว่ามีประโยชน์ และตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้ดี โดยเฉพาะเลนส์ ultra wide ที่ให้ภาพกว้างสะใจ กับเลนส์เทเลที่มีระบบกันสั่นในตัวเพื่อทำให้ภาพไม่สั่น คุณภาพของรูปที่ได้ก็ยังอยู่ในระดับที่ไว้ใจได้ในแทบทุกสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ก็นับว่าเป็นความเสี่ยงอยู่เหมือนกันที่ Samsung ยอมเจาะรูหน้าจอเป็นแถบยาวสำหรับบรรจุกล้องหน้าทั้ง 2 ตัวลงไป เพราะพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน อาจจะยังต้องอาศัยเวลาในการปรับตัวและสร้างความเคยชินกับหน้าจอแบบใหม่ ๆ อยู่เหมือนกัน

สำหรับใครที่ใช้งาน Samsung Galaxy S7 หรือ S8 อยู่ แล้วอยากเปลี่ยนมือถือในกลุ่มระดับไฮเอนด์อยู่ Galaxy S10 และ S10+ นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียว ด้วยประสิทธิภาพ และประสบการณ์การใช้งานที่ลงตัวมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับการใช้งาน แถมยังไม่ต้องปรับตัวกับการใช้งานมากนักอีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก