นับตั้งแต่ OPPO เปลี่ยนสโลแกนมาเป็น OPPO Camera Phone เราก็จะเห็นว่าสมาร์ทโฟนของ OPPO ทุกรุ่นที่เปิดตัว จะเน้นไปที่เรื่องกล้องแบบจัดหนักจัดเต็ม ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ แน่นอนว่าสมาร์ทโฟน OPPO ที่เราจะมารีวิวกันในวันนี้ก็เป็นรุ่นที่เน้นกล้องเป็นหลักเช่นเดียวกัน มาพร้อมกับคอนเส็ป Unstoppable Selfies ซึ่งก็คือ OPPO A57 นั่นเอง
OPPO A57 เป็นสมาร์ทโฟนในอีกซีรี่ส์ที่เน้นตลาดระดับกลาง ในช่วงราคาไม่เกิน 8,000 บาท ด้วยราคาเปิดตัวที่ 7,990 บาท ถูกกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง OPPO F1s อยู่ที่ 1,000 บาท เข้าใจว่าเป็นรุ่นที่มาแทน OPPO F1s ด้วยซ้ำ โดย OPPO A57 จะมาพร้อมกับสเปคครบครัน เน้นกล้องหน้า 16 ล้านพิกเซลเป็นตัวชูโรง
สเปค OPPO A57
- ขนาดหน้าจอ 5.2 นิ้ว IPS ความละเอียด HD 1280×720 พิกเซล 2.5D Gorilla Glass 4
- CPU Qualcomm Snapdragon 435 octa-core
- GPU Adreno 505
- RAM 3 GB
- ROM 32 GB รองรับ microSD Card ได้สูงถึง 256 GB
- Android 6.0.1 ครอบทับด้วย ColorOS 3.0.0i
- กล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล f/2.0
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล f/2.2 พร้อมแฟลช LED และโฟกัสแบบ PDAF
- มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
- ขนาดตัวเครื่อง 149.1 x 72.9 x 7.65 มม.
- น้ำหนัก 147 กรัม
- แบตเตอรี่ 2,900 mAh
- ราคา 7,990 บาท
อุปกรณ์ในกล่องของ OPPO A57 ก็ให้มาอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเครื่อง, ฟิล์มกันรอย (ติดมาให้ที่ตัวเครื่องแล้ว), เคส TPU แบบใส, สายชาร์จ Micro USB, อะแดปเตอร์ (ไม่รองรับ VOOC) และหูฟังแบบ EarBuds พร้อมไมโครโฟนสำหรับใช้ในการสนทนาโทรศัพท์
จุดเด่น
– เซนเซอร์สแกนนิ้วมีความแม่นยำ และสแกนได้เร็ว
– งานประกอบดีเกินราคา วัสดุตัวเครื่องเป็นโลหะ
– เป็นสมาร์ทโฟนสายเซลฟี่ ในราคาที่เอื้อมถึงได้
– ชิปเซ็ต Snapdragon 435 รองรับการรวมคลื่น 2CA และรองรับการดาวน์โหลดสูงสุด 300 Mbps
– แบตเตอรี่อึด ใช้งานได้นาน
ข้อสังเกต
– ชิปเซ็ตเป็นรุ่นประหยัดพลังงาน ถ้าเล่นเกมกราฟฟิคสูง ๆ อาจพบอาการกระตุก
– ไม่รองรับ Wi-Fi มาตรฐาน ac บนความถี่ 5 GHz
– โหมดหน้าชัด – หลังเบลอในกล้องหน้ายังเบลอฉฮากหลังได้ไม่แม่นยำเท่าไหร่
– ตัวเครื่องไม่มีไฟที่ปุ่มกด
บทสรุป
BEST AFFORDABLE SELFIE SMARTPHONE
Design
OPPO A57 ใช้วัสดุหลักของตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียมทั้งฝาหลัง รวมถึงขอบตัวเครื่อง แม้จะไม่ใช่แบบชิ้นเดียว (Unibody) แต่ก็ให้ความรู้สึกแข็งแรง ทนทาน งานประกอบแน่นหนา ตัวเครื่องมีน้ำหนักอยู่ที่ 147 กรัม สำหรับสมาร์ทโฟนหน้าจอ 5.2 นิ้วก็ไม่ได้ถือว่าหนักจนเกินไป เป็นน้ำหนักที่กำลังพอดีกับตัวเครื่อง
ด้านหน้าของ OPPO A57 ประกอบไปด้วยหน้าจอแบบ IPS ขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียดระดับ HD ตัวกระจกเองมีความโค้งเล็กน้อย หรือที่เรียกว่าเป็นกระจกหน้าจอประเภท 2.5D Glass และมีการติดฟิล์มกันรอยมาให้ที่หน้าจอตั้งแต่ที่โรงงานแล้ว
ด้านบนหน้าจอประกอบไปด้วยกล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล, ลำโพงสำหรับสนทนาโทรศัพท์ และ Proximity sensor
ด้านล่างหน้าจอเป็น Navigation Key เรียงจากซ้ายไปขวา ได้แก่ ปุ่ม Recent App, ปุ่มโฮม และปุ่มย้อนกลับ โดยทั้งสามปุ่มจะไม่มีไฟ LED ใต้ปุ่ม แต่จะมีการสั่นเมื่อเราทำการกดปุ่ม และที่ปุ่มโฮมจะมีการฝังเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเอาไว้ เราสามารถสแกนนิ้วได้แม้ว่ากำลังปิดหน้าจอ OPPO A57 อยู่ก็ตาม การสแกนนิ้วก็ทำได้อย่างรวดเร็วทันใจ
ด้านข้างของ OPPO A57 เริ่มจากทางด้านซ้าย จะเป็นปุ่มปรับระดับเสียง
ด้านขวาประกอบไปด้วยช่องใส่ซิมการ์ด รองรับ 2 ซิมการ์ด และรองรับ MicroSD Card ไม่ใช่ถาดซิมแบบ Hybrid Slot ด้วยครับ สามารถใส่ได้ทั้ง 2 ซิมพร้อม ๆ กับ MicroSD Card ถัดมาก็จะเป็นปุ่ม Power
ด้านล่างของตัวเครื่อง OPPO A57 ประกอบไปด้วยลำโพงตัวหลัก, พอร์ต Micro USB, ไมโครโฟนสำหรับสนทนาโทรศัพท์ และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
ด้านหลังตัวเครื่องอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าใช้วัสดุเป็นโลหะ รายละเอียดทางด้านหลังประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล f/2.2 พร้อมแฟลช LED จำนวน 1 ดวง, ไมโครโฟนสำหรับตัดเสียงรบกวน, โลโก้ OPPO และมีเสาสัญญาณพาดด้านบนและด้านล่าง
หน้าจอของ OPPO A57 ที่ความละเอียด HD ก็จัดว่าคมชัดพอประมาณ สีสันหน้าจอก็ถือว่าใช้ได้ครับ ดูหนัง, เล่น Social สบาย ๆ แต่จะมีข้อสังเกตเรื่องช่องว่างระหว่างพาแนล กับกระจกหน้าจอที่ลึกไปหน่อยเท่านั้นเอง
ภาพรวมของ OPPO A57 ในส่วนของการดีไซน์ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีสมราคา 7,990 บาท ได้ตัวเครื่องที่ออกมาแบบได้ลงตัว วัสดุตัวเครื่องเป็นโลหะ แข็งแรง ทนทาน งานประกอบแน่นหนา ตัวเครื่องขนาดกำลังพอดีมือ ส่วนข้อสังเกตของด้านดีไซน์ก็คือ OPPO A57 มีวางจำหน่ายแค่เพียงสีเดียว คือสีทองแบบเครื่องรีวิว OPPO A57 นี่แหละครับ
Software
OPPO A57 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0.1 Marshmallow ที่ครอบทับมาด้วย Color OS 3.0.0i การออกแบบไอคอนและเมนูต่างๆ จัดว่าทำออกมาได้ดี การวางไอคอนแอปพลิเคชันทั้งหมดบนหน้าโฮมที่สามารถเลื่อนซ้าย-ขวาได้ ไม่มีหน้า App Drawer ตามสไตล์ของสมาร์ทโฟนจากจีน ส่วนตัวผมว่ามันทำให้การใช้งานไม่ซ้ำซ้อนเหมือนหน้า App Drawer ครับ
รอมในตัว ตามสเปคจะเป็น 32 GB เหลือให้ใช้งานจริงประมาณ 23 GB แต่รวมกับแอปพลิเคชันที่ติดรอมมา รวมถึงตอนรีวิว OPPO A57 ได้ลงเกมไปประมาณ 3 เกม (มีเกม ROV ด้วย) จะเหลือเนื้ออยู่ประมาณ 18 GB นิเ ๆ ตรงนี้แนะนำให้ซื้อ MicroSD Card สักใบมาเพิ่มความจุสำหรับการจัดเก็บรูปภาพ, วีดีโอ รวมถึงไฟล์เพลง จะทำให้การใช้งานไม่อึดอัดจนเกินไป
จุดที่อาจจะขัดใจสักเล็กน้อยก็คือเรื่องวิธีเรียกดูการแจ้งเตือนต่างๆ ในหน้าจอรวม Notifications เพราะเมื่อปาดนิ้วลากแถบบนสุดของจอลงมา หน้าแรกที่จะพบก็คือหน้ารวมไอคอนการตั้งค่า Quick settings เช่น การเปิด/ปิด WiFi, Cellular การปรับความสว่าง ถ้าจะดูการแจ้งเตือนต้องปาดไปดูหน้าจอทางซ้าย ซึ่งมีความแตกต่างไปจากมือถือ Android ทั่วไป เลยอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเคยชินสักหน่อย
Feature
ฟีเจอร์ ลูกเล่นของซอฟต์แวร์ที่ใส่มาใน OPPO A57 ก็มีทั้งให้ความบันเทิง และเพิ่มตัวเลือกในการใช้งานให้สะดวกยิ่งขึ้น ที่น่าสนใจก็เช่น gesture เพื่อสั่งงานในขณะที่ปิดหน้าจออยู่ ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้เองว่าจะให้การลากนิ้วบนหน้าจอแบบใด เป็นการเปิดแอปพลิเคชันใดขึ้นมา รวมถึงยังสามารถตั้งค่าให้แตะหน้าจอ 2 ครั้ง เพื่อเปิดจอขึ้นมาได้ด้วย (ค่าเริ่มต้น ฟีเจอร์นี้จะปิดอยู่)
ต่อมาคือฟีเจอร์ระบบเสียง Real soundtrack technology ซึ่งเป็นฟีเจอร์ช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงให้ดีขึ้น เหมาะกับแนวเพลงแต่ละรูปแบบมากขึ้น จะเปิดใช้งานได้ก็ต่อเมื่อเสียบแจ็คหูฟัง/ลำโพงเข้าทางช่อง 3.5 mm เท่านั้น
ฟีเจอร์ที่ 3 ก็คือ Simple Mode ที่ระบบจะปรับอินเตอร์เฟสให้ใช้งานง่ายขึ้น เหมาะสำหรับให้ผู้สูงอายุใช้งาน เพราะมันจะมีแต่เมนูพื้นฐานจำเป็นของการใช้งานโทรศัพท์เท่านั้น เช่น การโทรออก การดูรายชื่อผู้ติดต่อ การส่งข้อความ รวมถึงยังสามารถตั้งไอคอนสำหรับโทรออก เฉพาะบุคคลที่ต้องการได้ด้วย
Camera
OPPO A57 มาพร้อมกับกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ใช้เซนเซอร์ CMOS จากทาง Sony และมาพร้อมกับระบบโฟกัสแบบ PDAF ที่สามารถจับโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว ส่วนค่ารูรับแสงอยู่ที่ f/2.2 ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานของสมาร์ทโฟนในช่วงราคาดังกล่าวไปแล้ว
ซอฟท์แวร์กล้องของ OPPO A57 มีหน้าตาเหมือนกับรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ ColorOS 3.0.0i รวมถึงโหมดการถ่ายภาพแบบต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น UltraHD, Double Exposure หรือจะถ่ายภาพแบบมือโปรด้วย Expert ก็มีให้เลือกใช้เช่นเดียวกัน (ปรับ ISO ได้สูงสุด 1600/ Speed Shutter นานสุด 16 วินาที)
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังของ OPPO A57 ก็ตามนี้ครับ
ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล อันเป็นจุดเด่นของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง อย่างที่ทราบกันดีว่าสมาร์ทโฟน OPPO ในเรื่องของกล้องหน้านี่ไม่ธรรมดาอยู่แล้ว
ด้วยฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงซอฟท์แวร์โหมด Beauty ที่ต้องบอกว่าเป็นรุ่นต้นตำรับเลยก็ว่าได้ การปรับแต่งสีผิว, การลดริ้วรอย รวมถึงการปรับให้หน้าสวยทำได้อย่างดี เชื่อว่าจะต้องถูกใจสาว ๆ มากทีเดียว
สำหรับตัวอย่างของภาพถ่ายจากกล้องหน้า OPPO A57 สามารถรับชมได้จาก Gallery ด้านล่างได้เลย
Performance
OPPO A57 มาพร้อมกับชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 435 ซึ่งเป็นชิปเซ็ตที่ปรับปรุงเรื่องการเชื่อมต่อ LTE โดยเปลี่ยนมาใช้โมเด็มรุ่นสูงกว่าใน Snapdragon 430 ทำให้ OPPO A57 รองรับการดาวน์โหลดได้สูงสุดถึง 300 Mbps ส่วนสเปคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวน Core, ความเร็ว และชิปกราฟฟิคจะเป็นตัวเดียวกับใน Snapdragon 430 ทั้งหมด
ประสิทธิภาพในการใช้งาน OPPO A57 ก็ทำได้ดีสมราคา ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทั่วไป เปิดโซเชียลมีเดีย, รับชมวีดีโอผ่านทาง Youtube รวมถึงการเล่นเกมก็ทำได้เช่นกันครับ เท่าที่ลองทดสอบกับหลาย ๆ เกม อย่างเกม ROV เกมยอดนิยมก็ถือว่าพอเล่นได้ มีอาการกระตุกบ้างเล็กน้อยเวลาที่ 5 vs 5
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กระตุกก็น่าจะมาจากเรื่องอินเทอร์เน็ต (OPPO A57 ไม่รองรับ Wi-Fi 5 GHz) และถ้ามีการเปิดแอปพลิเคชันทิ้งไว้ก็จะทำให้เฟรมเรทตกอย่างเห็นได้ชัด จากการทดสอบเครื่องรีวิว OPPO A57 พบว่าเฟรมเรทต่ำสุดอยู่ที่ 20 fps แต่ส่วนมากจะวิ่งอยู่ที่ประมาณ 27 – 30 fps
ส่วนเรื่องการจัดการพลังงาน OPPO A57 ให้แบตเตอรี่มาที่ความจุ 2,900 mAh ไม่สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ ความอึดของ OPPO A57 นี่จัดว่าอยู่ในระดับที่อึดมาก ด้วยแบตเตอรี่ความจุสูง กับสเปคที่จัดมาให้อย่างสมดุล CPU รุ่นประหยัดพลังงาน กับหน้าจอที่มีความละเอียด HD การใช้งานเห็นเครื่องเล็ก ๆ แบบนี้ ผมลองเปิดทิ้งไว้ มีหยิบมาเล่นบ้าง และเล่นเกม ROV ไปประมาณ 2 เกม ก็สามารถใช้งานได้ถึงเกือบหนึ่งวัน