ในงานเปิดตัว iPhone ประจำปีนี้ แม้ว่ารูปร่างหน้าตาจะยังคงเป็นทรงเดิมอยู่ แต่ iPhone 15 ก็ยังจัดว่าเป็นมือถือรุ่นใหม่ที่ยังได้รับความสนใจเช่นเดิม ด้วยการนำฟีเจอร์บางส่วนของ 14 Pro มาใส่ มีการปรับปรุงเทคนิคการทำงานเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถให้กับตัวเครื่อง และที่สำคัญคือการเปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB-C แล้ว ซึ่งน่าจะช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานได้ในระดับหนึ่งทีเดียว ในบทความนี้จะเป็นการรีวิว iPhone 15 เพื่อดูกันว่าสิ่งที่เพิ่มเข้ามา จะทำให้คุ้มกับการซื้อและการใช้งานขนาดไหน
ก่อนอื่นขอเริ่มด้วยสเปคคร่าว ๆ ในจุดที่น่าสนใจกันก่อน
- ชิป A16 Bionic รุ่นเดียวกับใน iPhone 14 Pro
- แรม 6 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล มีให้เลือกทั้งรุ่น 128, 256 และ 512 GB
- หน้าจอ Super Retina XDR OLED ขนาด 6.1″ 60Hz ความละเอียด 2556×1179 รองรับ HDR10, Dolby Vision ความสว่างสูงสุด 1000 nits
- กระจกหน้าจอ Ceramic Shield
- มี Dynamic Island พร้อม Face ID
- กรอบเครื่องผลิตจากอะลูมิเนียม ฝาหลังกระจกแต่งสี น้ำหนักเครื่อง 171 กรัม
- กล้องหลัง
- กล้องหลัก 48MP f/1.6 รองรับการซูมแบบออปติคอลสูงสุด 2 เท่า
- กล้องอัลตร้าไวด์ 12MP f/2.4
- ถ่ายวิดีโอ 4K60 และรองรับโหมด Cinematic 4K30 ด้วย
- กล้องหน้า 12MP f/1.9
- รองรับ 5G SA และ WiFi 6
- พอร์ต USB-C รองรับการเชื่อมต่อข้อมูลแบบ USB 2.0 และรองรับการต่อจอผ่าน DisplayPort
- แบตเตอรี่ 3349 mAh รองรับการชาร์จเร็วได้สูงสุดประมาณ 27W และชาร์จไร้สาย MagSafe สูงสุด 15W
- มีชิป UWB 2
- กันน้ำกันฝุ่นระดับ IP68 (ลึกไม่เกิน 6 เมตร นานสุด 30 นาที)
- ราคา iPhone 15 จากเว็บ Apple
- iPhone 15 128 GB ราคา 32,900 บาท
- iPhone 15 256 GB ราคา 36,900 บาท
- iPhone 15 512 GB ราคา 45,900 บาท
หากมองจากสเปคของ iPhone 15 โดยรวมแล้ว ต้องบอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงจาก iPhone 14 ในหลายจุดอยู่เหมือนกัน ได้แก่การขยับมาใช้ชิป A16 Bionic ที่แรงขึ้นกว่า A15 Bionic มีการเปลี่ยนดีไซน์จากแถบ notch ด้านบนจอ มาใช้เป็นเกาะ dynamic island ที่รองรับการทำงานได้หลากหลายกว่าแทน แต่ที่น่าสนใจก็คือกล้องหลัง ที่แม้จะมีแค่เลนส์ไวด์ปกติและอัลตร้าไวด์ แต่ก็สามารถซูมออปติคอลแบบไม่สูญเสียรายละเอียดได้ถึง 2 เท่าด้วย ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาดูรายละเอียดอีกทีในช่วงกล้องของรีวิว iPhone 15 เครื่องนี้ครับ
แต่ถ้าหากจับ 15 เทียบกับ 14 Pro อันนี้จัดว่าสูสีกันมากทีเดียว เพราะทั้งชิปและแรมนั้นแทบจะเป็นชุดเดียวกันมาเลย ทำให้เรื่องประสิทธิภาพอาจจะไม่ต่างกันมากนัก หน้าจอก็มี dynamic island เหมือนกัน แต่ที่สำคัญคือ iPhone 14 Pro ใช้จอ 120Hz มาพร้อมกล้องหลังถึง 3 เลนส์ 3 ช่วงระยะ และยังมีการปรับราคาลงมาด้วย เท่าที่ลองหาดูเครื่องมือหนึ่งจากร้านเครือใหญ่พบว่า 14 Pro Max ปรับลงมาเหลือ 40,000 ต้น ๆ แล้ว เชื่อว่าน่าจะมีหลายท่านเขวไปบ้างพอสมควรทีเดียว
แต่ก็ต้องบอกว่า iPhone 15 เองก็มีจุดเด่นในตัวเช่นกัน เรามาเริ่มตั้งแต่แกะกล่องเลยดีกว่า
ในการรีวิว iPhone 15 ครั้งนี้ จะเป็นเครื่องรุ่นสีฟ้าอ่อน ซึ่งหน้ากล่องก็จะใช้ภาพหน้าจอเป็นสีฟ้าเช่นกัน มาพร้อมจุดเด่นอย่าง Dynamic Island ที่ส่วนบนของจอ
ภายในกล่องก็จะมีแค่ตัวเครื่อง สายชาร์จที่เป็นสาย USB-C ล้วน ๆ โดยออกแบบมาเป็นสายถัก ส่วนหนึ่งก็คือเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่อีกส่วนหนึ่งที่ผู้ใช้น่าจะได้ประโยชน์ด้วยก็คือความทนทานที่น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งประสบการณ์ส่วนตัวที่ใช้สาย MagSafe แบบสายถักที่แถมมาในกล่อง MacBook Pro 14″ 2021 มากว่า 2 ปี ผิวนอกของสายก็ยังอยู่ในสภาพดีอยู่ ไม่ขาด ไม่ลอกเลย จะมีสีหมองบ้างตามระยะเวลาที่ใช้งาน
ทั้งนี้ สายที่แถมมาจะรองรับการถ่ายโอนข้อมูลที่ระดับ USB 2.0 เท่านั้น ซึ่งก็เหมาะกับ iPhone 15 ที่รองรับแค่ USB 2.0 พอดี
ตัวเครื่องของ iPhone 15 ยังคงเป็นไซซ์เดิม คือหน้าจอ 6.1″ สามารถถือใช้งานมือเดียวได้สะดวก น้ำหนักเครื่องเท่า ๆ กับ iPhone 14 เลย ส่วนเคส ผมลองใช้เคสของ 13 และ 13 Pro พบว่าสามารถใส่และพอใช้งานได้ ตัวเครื่องฟิตพอดี แต่จะไม่แนบสนิท 100% เพราะมีความแตกต่างกันตรงโมดูลกล้องเล็กน้อย เพราะเหมือนว่ากล้องหลังของ 15 จะขยับตำแหน่งสูงขึ้นไปจาก 13 Pro นิดหน่อย แต่พวกตำแหน่งปุ่มต่าง ๆ ยังคงเป็นแบบเดิมอยู่ ทำให้ถ้าใครสั่งเคส iPhone 15 มาไม่ทัน ก็พอจะใช้เคสของ iPhone รุ่นเก่าที่จอ 6.1″ แทนไปพลาง ๆ ได้
Dynamic Island ที่ใส่มาก็เป็นกิมมิคที่ดี เพราะสามารถใช้แสดงข้อมูลขณะที่ใช้งานบางแอปอยู่ได้ เช่น แสดงปกอัลบั้มของเพลงที่เล่นอยู่ เมื่อกดค้างไว้ก็จะมีเมนูควบคุมการเล่นเพลงให้กดได้ทันที ใช้แสดงผลบอลแบบเรียลไทม์ ใช้แสดงเวลาในการนับถอยหลัง เป็นต้น ส่วนระบบสแกนใบหน้า Face ID ก็ยังแม่นยำและสะดวกในการใช้งานเช่นเคย สามารถตั้งค่าให้ปลดล็อกหน้าจอได้แม้จะใส่หน้ากากอนามัยอยู่ สแกนปลดล็อกขณะหน้าจออยู่ในแนวนอนก็ได้ ส่วนในตอนที่รีวิว iPhone 15 เครื่องนี้ จะมีช่วงที่ใช้งานตอนแรก ๆ ที่เหมือนระบบสแกนยังทำงานไม่ค่อยแม่น แต่พอผ่านไปซักสองสามวันก็ดีขึ้น ทำงานได้เร็วและแม่นดีแล้ว
สีสันของจอจากที่รีวิว iPhone 15 ยังคงเป็นสไตล์ iPhone อยู่ คือสวย ภาพเนียนเหมือนแปะสติกเกอร์ทับจอ สีสันเป็นธรรมชาติ ไม่จัดจ้านเกินไป ไม่ซีดจนต้องมาเร่งสีภายหลัง ความสว่างของจอก็ทำได้ดี สามารถสู้แสงได้ วางเทียบกันระหว่าง 15 และ 15 Pro คือแทบไม่เห็นความแตกต่างเรื่องคุณภาพของหน้าจอเลย
ในการรับชมคอนเทนต์ HDR หน้าจอจะเร่งความสว่างขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ทำให้ได้ภาพที่สวย ดูมีชีวิตชีวา ทั้งยังรองรับ Dolby Vision ซึ่งในตอนนี้ตามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเองก็มีหนังที่ใช้ Dolby Vision มากพอสมควรแล้วด้วย ทั้ง TV+ ของ Apple เอง รวมถึงรายใหญ่ที่คุ้นเคยอย่าง Netflix ด้วย
ถ้าหากรีวิว iPhone 15 เทียบกับ 15 Pro ในเรื่องจอ เมื่อจับมาวางข้างกันชัด ๆ ก็จะเห็นว่าขอบจอของ 15 (เครื่องขวา) ส่วนที่เป็นสีดำจะหนากว่า 15 Pro แบบชัดเจนมาก ส่วนเรื่องสีสัน ตามจริงแล้วจะอยู่ในระดับเดียวกันครับ แต่ที่ 15 Pro ดูสีมืดกว่า อาจจะเป็นเพราะมีติดกระจกกันรอยหน้าจอไว้ด้วย ซึ่งอาจส่งผลกับสีบ้างเล็กน้อย
แต่ประเด็นที่หลายท่านอาจจะมองว่าน่าขัดใจหน่อยเกี่ยวกับจอ iPhone 15 ก็คือ มันยังเป็นจอรีเฟรชเรต 60Hz อยู่ รวมถึงไม่รองรับฟีเจอร์การแสดงภาพแบบจอติดตลอด Always On Display (AOD) ต่างจากใน 15 Pro และ 14 Pro ที่รองรับ ProMotion 120Hz และมี AOD มาให้ใช้ ตรงจุดนี้ก็มาจากพาเนลจอที่ Apple เลือกใช้พาเนลแบบ LTPO ในรุ่นโปร ทำให้ตัวจอมีลูกเล่นที่เยอะกว่า รองรับการปรับรีเฟรชเรตได้ตั้งแต่ 1-120 Hz นั่นจึงทำให้จอสามารถแสดงผลแบบ AOD ได้
ถามว่า…จอ 60Hz มันยังโอเคหรือเปล่ากับปี 2023 ข้อนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์การใช้งานมือถือของแต่ละบุคคลครับ ในกรณีที่ใช้ iPhone หรือมือถือรุ่นอื่นที่เป็นจอ 60Hz มานานแล้ว การเปลี่ยนมาใช้ iPhone 15 ที่จอรีเฟรชเรตเท่าเดิมคงไม่ส่งผลอะไร ส่วนหนึ่งก็เพราะ iOS มีการออกแบบแอนิเมชัน ทรานซิชันของวัตถุต่าง ๆ บนจอ และอินเตอร์เฟสต่าง ๆ ที่ไหลลื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงพอจะชดเชยเรื่องรีเฟรชเรตจอได้อยู่
แต่ในกรณีที่ปกติใช้มือถือจอ 90, 120 หรือ 144Hz มาจนชินตาแล้ว ถ้ามาจับมือถือจอ 60Hz บอกเลยว่ายังไงก็สัมผัสความแตกต่างได้แน่นอน มันจะมีตอนที่เปิดจอใช้งานในช่วงแรกที่ตาน่าจะสัมผัสความไหลลื่นที่ลดลงได้ โดยเฉพาะถ้าสลับใช้งานสองเครื่อง สองรีเฟรชเรตไปมา แต่พอใช้ไปซักพัก ก็จะรู้สึกว่า 60Hz มันก็โอเคดี ไหลลื่น เพราะได้แอนิเมชันมาช่วยชดเชยไว้ แถมยังได้เรื่องการประหยัดไฟกว่าเล็กน้อยด้วย
ส่วนนี้ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า iPhone 16 จะใส่จอ 120Hz มาให้หรือยัง เพราะต้องยอมรับว่ามือถือรุ่นใหม่ ๆ ในตลาด แม้จะราคาหลักพัน แต่ก็มาพร้อมจอ 90Hz 120Hz กันแล้ว จึงคาดหวังว่าเราน่าจะได้เห็น line-up ของ iPhone ที่ใช้จอ 120Hz แบบยกชุดกันในอนาคตนะครับ ในรุ่นธรรมดาอาจจะตัด AOD ไป เชื่อว่าหลายท่านก็ยังโอเคอยู่ ขอแค่รีเฟรชเรตสูงหน่อยไว้ก่อน
ฝาหลังของ iPhone 15 เลือกใช้เป็นกระจกเช่นเคย มีการแต่งสีมาให้เลือกถึง 5 แบบ ได้แก่ ชมพู เหลือง เขียว ฟ้า และดำ ซึ่งปีนี้ Apple ดูจงใจออกมาเป็นสีโทนอ่อนหมดเลย ต่างจากใน 14 ที่สีมีความจัดจ้านกว่า อย่างเครื่องในรีวิวนี้ก็จะเป็นสีฟ้าที่อ่อนมาก ๆ ถ้าถืออยู่กลางแจ้ง หรือมีแสงตกกระทบที่ฝาหลัง บางมุมแทบจะนึกว่าเป็นเครื่องสีขาวได้เลย
ด้านบนมีโมดูลกล้องที่ยกสูงขึ้นมาจากฝาหลังเล็กน้อย ให้มาสองเลนส์ตามเคย พร้อมด้วยแฟลชและช่องรับเสียงของไมโครโฟนด้านหลัง ตรงกลางเครื่องมีเพียงโลโก้ Apple เท่านั้น ไม่มีสัญลักษณ์การรับรองต่าง ๆ ให้รบกวนสายตา
เมื่อจับเทียบกับ iPhone 15 Pro สีไทเทเนียมธรรมชาติ จะเห็นว่าทั้งสองรุ่นมีแนวคิดในการออกแบบผิวและการเลือกใช้สีที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ฝั่งของ 15 Pro จะใช้ผิวกระจกที่ทำสีออกมาดูเป็นแนว matte ที่มีความด้านคล้ายผิวโลหะ สอดรับกับขอบข้างไทเทเนียมที่บรัชลายในสไตล์ผิวโลหะที่มีความดิบ ๆ นิดนึง
ส่วน iPhone 15 จะใช้สีและทำให้ผิวกระจกดูสว่าง สดใส แต่ผิวจริง ๆ ก็ยังเป็นแบบ matte ด้านคล้ายกัน ส่วนขอบข้างจะเป็นอะลูมิเนียม ไม่มีการบรัชลายทางเหมือนในรุ่นโปร
ด้านล่างเป็นตำแหน่งของพอร์ตชาร์จแบบ USB-C รองรับการต่อจอนอกผ่านเทคโนโลยี DisplayPort ในตัว ทำให้สามารถต่อ iPhone เข้าทีวี มอนิเตอร์ ไปจนถึงโปรเจ็กเตอร์เพื่อเล่นวิดีโอ ดูหนัง ดูภาพถ่าย ใช้เล่นเกมแบบเอาภาพขึ้นจอใหญ่ ๆ ได้สะดวกมาก ขอแค่มีสาย USB-C ที่รองรับ DisplayPort ด้วย หรือจะเป็นพวกสายแปลง USB-C to HDMI ก็น่าจะใช้ได้แบบไม่มีปัญหา
แต่ในด้านการถ่ายโอนข้อมูลผ่านสาย ตัวของ iPhone 15 จะยังรองรับการเชื่อมต่อที่มาตรฐาน USB 2.0 เท่านั้น ต่างจากในรุ่นโปรที่รองรับ USB 3 แล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องข้อจำกัดของชิป เพราะจะมีแค่ชิป A17 Pro เท่านั้นที่มีส่วนประมวลผลเกี่ยวกับ USB 3 มาในตัว แต่ใน iPhone 15 ที่ใช้ A16 Bionic จะไม่มีส่วนนี้ ทำให้การถ่ายโอนข้อมูล การใช้งานร่วมกับแฟลชไดรฟ์จะยังคงทำความเร็วได้ไม่ต่างจากพอร์ต Lightning มากนัก แต่ก็ได้เรื่องความง่ายในการหาอุปกรณ์เสริมที่เหนือกว่ามาก ราคาก็ย่อมเยากว่าด้วย
ส่วนเรื่องสายชาร์จ จากที่ผมทดสอบไว้ตอนรีวิว iPhone 15 Pro ก็พบว่าจริง ๆ แล้วสามารถใช้สาย USB-C ที่มีอยู่ในท้องตลาดได้แทบทั้งหมดอยู่แล้ว ชาร์จแล้วเครื่องไม่ร้อนจนเกินไป เพราะสุดท้ายก็จะมีติดข้อจำกัดของตัวเครื่อง ที่รองรับการชาร์จได้สูงสุดไม่ถึง 30W เท่านั้น แต่ถ้าจะให้ปลอดภัย ก็ควรเลือกสายที่มีมาตรฐาน จากแบรนด์ 3rd party ที่น่าเชื่อถือ ดูคุ้นหูคุ้นตา หรือมีรีวิว มีผลทดสอบออกมาจะอุ่นใจกว่า หรือถ้างบถึง จะจัดอะแดปเตอร์และสายชาร์จแท้จาก Apple เลยก็ได้ โดยสามารถดูผลการทดสอบได้ที่นี่
ขอบเครื่อง iPhone 15 ได้รับการออกแบบให้ยังคงเป็นแบบขอบเหลี่ยมอยู่ แต่ตรงส่วนโค้งที่ชนกับขอบจอและขอบของกระจกฝาหลังนั้น ถูกปรับให้มีความโค้งมน ทำให้สามารถจับถือได้ดีขึ้น ขอบไม่คมบาดมือเหมือนในรุ่นที่ผ่าน ๆ มา ในขณะเดียวกันก็ยังวางนิ้วบนสันเครื่องได้แบบเต็มที่ ไม่ต้องกลัวจะพลิกไปพลิกมาเหมือนการใช้ขอบโค้งไปทั้งหมดเหมือนในยุคก่อน iPhone 12
อีกสิ่งที่ทำให้ iPhone 15 แตกต่างจาก 15 Pro ในเชิงกายภาพก็คือการที่ยังคงใส่สวิตช์เปิด/ปิดเสียงแบบเดิมมาอยู่ ต่างจากรุ่นโปรที่เปลี่ยนเป็น Action Button นำร่องมาแล้วในปีนี้ ซึ่งการที่ใช้สวิตช์แบบเดิมก็ยังมีข้อดีอยู่ครับ หนึ่งเลยคือเรื่องของความเคยชินของผู้ใช้ iPhone อยู่แล้ว เวลาอยากปิดเสียงแบบเร็ว ๆ แค่หยิบเครื่องมา ใช้นิ้วคลำหาสวิตช์ แล้วก็สามารถเลื่อนปิดได้ทันที แทบไม่ต้องดูจอเลย
อีกข้อก็คือสามารถดูสถานะการเปิดหรือปิดเสียงได้ง่ายมาก แค่หยิบ พลิกมาข้างเครื่องแล้วดูตรงสวิตช์ ถ้ามีแถบสีส้มอยู่ ก็แสดงว่าปิดเสียงและอยู่ในโหมดสั่นแล้ว แค่นี้เลย ไม่ต้องคอยกดปุ่มเพื่อเช็คสถานะแต่อย่างใด
แต่ก็มาพร้อมการใช้งานที่ไม่ยืดหยุ่นเท่าปุ่มแอคชั่นใน 15 Pro ที่สามารถปรับแต่งหน้าที่ได้ตามต้องการ ตั้งแต่เปลี่ยนไปเป็นปุ่มเปิดปิดไฟฉาย ปุ่มอัดเสียง ไปจนถึงตั้งให้เป็นปุ่มสั่งงาน Shortcuts ได้แบบอเนกประสงค์สุด ๆ ซึ่งดูแล้วคาดว่าในอีกปีสองปีนี้ iPhone ใหม่ที่ออกมาน่าจะเปลี่ยนไปใช้เป็นปุ่มแอคชั่นแทนกันหมดแน่ ๆ
อีกจุดที่สังเกตได้จากการรีวิว iPhone 15 ก็คือเรื่องรอยนิ้วมือที่ขอบเครื่องครับ จากในภาพด้านบนจะเห็นว่าขอบของ iPhone 15 Pro มีรอยนิ้วมือติดแบบชัดเจนมาก ๆ ต่างจาก iPhone 15 ที่ผมก็ใช้มือจับเครื่องไปมาตลอด แต่แทบมองไม่เห็นรอยนิ้วมือติดเลย ข้อนี้ใครที่ชอบใช้มือถือแบบไม่ใส่เคสน่าจะถูกใจน่าดู เพราะใช้งานยังไงก็แทบไม่เห็นรอยนิ้วมือกวนใจเลย
รีวิว iPhone 15 – ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
เริ่มกันก่อนเลยที่พอร์ต USB-C อย่างที่พูดถึงไปด้านบน ว่าด้วยการเปลี่ยนพอร์ต ทำให้ผู้ใช้มีตัวเลือกของอุปกรณ์เสริมเพิ่มขึ้นเยอะมาก ทั้งยังมีหลากหลายช่วงราคาให้เลือกสรร อย่างถ้าต้องการย้ายรูปจากในเครื่องมาใส่แฟลชไดรฟ์ ก็สามารถหาแฟลชไดรฟ์ USB-C ราคาเริ่มต้นหลักร้อยที่หาซื้อได้ง่ายแล้วในตอนนี้มาใช้ได้ทันที จะหาสายชาร์จก็ง่าย ยืมเพื่อนที่ใช้มือถือ Android ก็สะดวก หรือใครที่ใช้ iPad ใช้ MacBook รุ่นที่ชาร์จผ่านพอร์ต USB-C อยู่ ก็สามารถใช้สายเดียวกันในการชาร์จได้เลย
แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลอยู่บ้าง แต่จริง ๆ แล้วมันก็เท่ากับ iPhone รุ่นที่ผ่านมาเลยครับ ประสบการณ์การใช้งานในจุดนี้จัดว่าเท่าเดิม ไม่ได้แย่ลงแต่อย่างใด จะลำบากขึ้นหน่อยในตอนแรกก็คือเรื่องการหาสาย เพราะสาย USB-C ในท้องตลาดมีหลากหลายมาก ๆ บางสายชาร์จได้อย่างเดียว โดยเฉพาะสายที่ออกแบบมาสำหรับการชาร์จเร็วในราคาที่ไม่สูงมาก
แนะนำว่าถ้าจะเลือกซื้อสายชาร์จ iPhone ก็ควรเลือกแบบที่รองรับการถ่ายโอนข้อมูลผ่าน USB 2.0 หรือที่บอกว่ารองรับความเร็ว 480 Mbps เป็นพื้นฐานเอาไว้ก่อน จะซื้อสาย USB 3 มาใช้ก็ได้เช่นกัน ขอแค่เป็นหัว USB-C และมาจากแบรนด์ที่มีมาตรฐานหน่อย อุ่นใจกว่า
iPhone 15 series ที่ใช้พอร์ต USB-C รองรับการจ่ายไฟเพื่อชาร์จให้กับอุปกรณ์อื่นด้วย โดยระบบจะตรวจสอบปริมาณแบตเตอรี่ของอีกฝ่ายก่อน สุดท้ายถ้าเครื่องไหนมีแบตเยอะกว่า ก็จะจ่ายไฟไปชาร์จให้อีกเครื่องทันที แต่จะสามารถจ่ายไฟได้สูงสุด 4.5W เท่านั้น
จึงทำให้ฟังก์ชันนี้เหมาะจะใช้สำหรับชาร์จอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น AirPods และ Apple Watch ผ่านแท่นชาร์จที่ใช้พอร์ต USB-C มากกว่า ส่วนในการชาร์จ iPhone ด้วยกัน ก็อาจจะเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉินจริง ๆ แบบให้พอมีแบตใช้สื่อสารได้ เพราะ 4.5W มันอยู่ในระดับที่ชาร์จช้าไปซักหน่อยสำหรับผู้ใช้ในยุคนี้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นแค่ฟังก์ชันสำหรับการใช้งานฉุกเฉินมากกว่า ไม่ได้เป็นคีย์หลักของ iPhone 15 series
iOS 17 มาพร้อมกับฟีเจอร์การ AirDrop ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในหลายด้าน อาทิ การ AirDrop ไฟล์ใหญ่ผ่านเน็ตได้แล้ว โดยที่ทั้งสองเครื่องไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กันตลอดเวลา และอีกข้อที่ Apple โชว์ในงานก็คือผู้ใช้สามารถนำส่วนบนของสองเครื่องมาอยู่ชิดกัน เพื่อแลก contact หรือ AirDrop ไฟล์หากันได้ทันทีโดยไม่ต้องกดแชร์แล้วเลือก AirDrop เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งวิธีการใช้งานก็คล้ายกับพวก NFC เลย แต่ถ้าไม่ต้องการใช้งาน ก็สามารถเข้าไปปิดได้ที่ Settings > General > AirDrop แล้วปิดตรง Bringing Devices Together ได้เลย
อีกฟังก์ชันที่โดนใจคนซื้อขายเครื่องมือสองก็คือ iPhone 15 ทุกรุ่น จะมีส่วนที่แสดงข้อมูลแบตเตอรี่เพิ่มเข้ามาให้ โดยจะแสดงตั้งแต่เดือน/ปีที่ผลิต เดือน/ปีที่เปิดใช้เครื่องครั้งแรก และก็จำนวนรอบการชาร์จ ว่าผ่านการชาร์จแบบครบปริมาณ 100% มากี่รอบแล้ว ซึ่งการนับก็เป็นแบบที่ทุกคนใช้นับกันทั่วไปครับ เช่นถ้าเราชาร์จรอบละ 20% เมื่อชาร์จในลักษณะนี้ 5 ครั้ง ก็เท่ากับเราชาร์จแบต 100% และนับเป็นหนึ่งรอบการชาร์จ (1 cycle) นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าจำกัดการชาร์จให้หยุดชาร์จที่ 80% ของความจุแบตได้ เพื่อเป็นการถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่ในระยะยาว อันนี้คงต้องพิสูจน์กันอีกทีหลังจากผ่านไปเป็นหลักปีนะครับ
รีวิว iPhone 15 – กล้องถ่ายรูป
กล้องหลังยังคงให้มาแบบสองเลนส์เช่นเดิม แต่มีการปรับฮาร์ดแวร์ภายในเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ iPhone 14 โดยเลนส์หลักจะปรับกลับมาใช้เลนส์ที่มีค่ารูรับแสง f/1.6 เหมือนกับตอน iPhone 13 แทน (14 ใช้ f/1.5) ซึ่งจะมีผลบ้างในเรื่องของการรับแสง และการละลายฉากหลัง แต่ก็ไม่ถึงกับต่างกันมากนัก เพราะจะมีการชดเชยจากทั้งการประยุกต์ใช้เซ็นเซอร์ ที่ยกระบบเซ็นเซอร์แบบ quad bayer ของ 14 Pro มาใช้ ทำให้มีความละเอียดภาพสูงสุด 48MP ได้ แต่ก็สามารถใช้เทคนิครวมพิกเซลใกล้ ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถเก็บแสงได้มากขึ้น ชดเชยความต่างของค่ารูรับแสงได้ โดยที่ยังได้ภาพในระดับ 24 และ 12MP อยู่ ประกอบกับการประมวลผลด้านภาพในแบบ computational photography ของ Photonic Engine ในชิป A16 Bionic เพื่อทำให้ภาพออกมาสวยงาม
เมนูการตั้งค่าของแอปกล้องถ่ายรูปใน iPhone 15 จะมีฟังก์ชันที่ลดหลั่นลงมาจากรุ่นโปรอยู่บ้าง เช่น ไม่มีเมนูเกี่ยวกับการถ่ายภาพแบบ RAW การถ่ายวิดีโอแบบ ProRes เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปตามข้อจำกัดของตัวเครื่องอยู่แล้ว แต่ก็ยังรองรับการถ่ายวิดีโอ 4K60 การถ่ายวิดีโอแบบ Cinematic ที่เน้นความชัดตื้นของภาพในสไตล์การถ่ายภาพยนตร์ มีโหมดแอคชั่นที่ใช้งานระบบกันสั่นแบบจัดเต็ม โดยอาศัยการ crop เซ็นเซอร์ลงมา เป็นต้น
ส่วนในการตั้งค่าภาพถ่าย จะมีข้อที่น่าสนใจคือผู้ใช้สามารถตั้งค่าความละเอียดสูงสุดในการบันทึกภาพได้ ว่าจะให้เป็น 24MP หรือ 12MP แนะนำให้ตั้งค่าไว้ 24MP ซึ่งเป็นจุดสมดุลทั้งความละเอียดที่ได้จากเซ็นเซอร์ขนาด 48MP และความสว่างของภาพจากการรวมพิกเซล 4 พิกเซลเป็น 1 แบบ quad bayer ที่จะได้ภาพขนาด 12MP มา ระบบจะนำทั้งสองแบบมาประมวลผลรวมกัน
แต่จะมีหมายเหตุนิดนึง คือถ้าเป็นการถ่ายในที่มีแสงน้อย ถ่ายภาพกลางคืน หรือถ่ายแบบพอร์เทรต และการซูมที่ 2x ขึ้นไป ภาพจะถูกบันทึกอยู่ที่ความละเอียด 12MP เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกให้สามารถถ่ายแบบเก็บเต็มสุด 48MP ได้ด้วย แต่ต้องไปเปิดใช้งานจากหัวข้อ Resolution Control ตามในภาพด้านบนก่อน เมื่อเปิดแล้ว ที่หน้าแอปกล้องจะมีคำว่า HEIF MAX ขึ้นมา ถ้าต้องการถ่ายแบบเก็บเต็ม 48MP ก็ให้กดเปิดก่อนใช้งานด้วย แต่แนะนำว่าเปิดใช้เฉพาะเวลาจำเป็นจะดีกว่า เช่นการถ่ายแบบหวังมาซูมภาพเพื่อดูรายละเอียดเล็ก ๆ ในภายหลัง เพราะไฟล์มีขนาดใหญ่มาก แต่ที่ความละเอียด 48MP ก็จะติดเงื่อนไขด้านบนด้วยนะครับ ใช้ได้กับแค่สภาพแสงปกติ และการซูมไม่ถึง 2x เท่านั้น
เท่าที่ทดลองรีวิว iPhone 15 เครื่องนี้ด้วยการถ่ายตรงจุดเดียวกัน แล้วเทียบภาพที่ได้จากการซูมดูภาพทีหลัง ก็จะเป็นไปตามภาพด้านบน คือการถ่ายที่ 48MP จะสามารถเก็บรายละเอียดในส่วนเล็ก ๆ ของภาพมาได้มากกว่าการถ่ายที่ 24MP ปกติ แถมในบางจุดยังเก็บมาได้ดีกว่าการถ่ายซูม 2x ของ iPhone 15 ด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติครับ เพราะความละเอียดของภาพที่ต่างกันเป็นเท่าตัว รวมถึงเทคนิคที่ใช้เซ็นเซอร์ยังต่างกันด้วย
อีกฟีเจอร์หนึ่งที่มีให้ใช้ใน iPhone 15 ทุกรุ่นก็คือการถ่ายก่อน เบลอทีหลังได้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถถ่ายภาพแบบเบลอฉากหลังในสไตล์ภาพ portrait ได้โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนไปใช้โหมด Portrait ตั้งแต่ก่อนถ่ายอีกต่อไป ขอแค่เป็นการถ่ายภาพคน สุนัข แมว เมื่อเซ็นเซอร์และระบบตรวจพบว่าเป็นการถ่ายตัวแบบในลักษณะดังกล่าว ก็จะมีสัญลักษณ์ตัว f ปรากฏขึ้นมาที่มุมของอินเตอร์เฟสในแอปกล้องด้วย
เมื่อถ่ายภาพมาแล้ว ผู้ใช้ก็สามารถมากดเปิด portrait ทีหลังได้ด้วยตนเอง รวมถึงยังสามารถแตะเลือกจุดโฟกัส และปรับแสงเงาได้เหมือนการถ่ายโหมด portrait เลย ช่วยเพิ่มความสะดวกกับการถ่ายตัวแบบที่เคลื่อนไหวไปมาได้เร็ว ควบคุมให้อยู่นิ่ง ๆ ได้ยาก แต่ถ้าต้องการถ่ายวัตถุอื่น ก็อาจจะต้องเลื่อนไปใช้โหมด portrait ก่อน ถึงจะถ่ายแบบเบลอหลังได้
แต่ฟีเจอร์นี้จะมีข้อจำกัดนิดนึง ถ้าหากกดถ่ายแบบเก็บ live photo มาด้วย แล้วต้องการเลือกช็อตที่ต้องการทีหลัง จะมีเพียงช็อตเดียวตรงกลางเท่านั้นที่สามารถทำเบลอหลังแบบ portrait ได้ สมมติว่าผมถ่ายมา แล้วดันชอบช็อตตอนท้ายสุดมากกว่าช็อตที่ระบบเลือกมาให้ เมื่อเลือกช็อตท้ายสุดมาแล้ว ถ้าจะนำมาแต่งแบบ portrait ต่อ ระบบจะปรับภาพกลับไปเป็นช็อตตรงกลางอีกครั้งเอง ไม่สามารถใช้ช็อตสุดท้ายมาทำ portrait ได้เลย
สีสัน มิติ แสงเงา ไฮไลท์ต่าง ๆ ยังคงเป็นภาพในสไตล์ของ iPhone อยู่ ส่วนเรื่องความคมชัดก็ทำออกมาได้ดูเนียนตา เป็นธรรมชาติ สามารถชมภาพตัวอย่างเพิ่มเติมได้จากด้านล่างสุดของส่วนการรีวิวกล้องนะครับ
ใครเป็นสายถ่ายอาหารในคาเฟ่ ในร้านอาหารน่าจะถูกใจ iPhone 15 มากกว่า 15 Pro อยู่บ้าง เพราะจากที่รีวิว iPhone 15 Pro ไว้ ส่วนตัวผมรู้สึกว่าการเปลี่ยนระยะไปเป็นโหมดมาโครของ 15 Pro นั้นเร็วกว่าเดิมมาก ถือกล้องเข้าใกล้นิดเดียวก็สลับไปใช้เลนส์อัลตร้าไวด์เพื่อถ่ายมาโครแล้ว ซึ่งคุณภาพที่ได้จากเลนส์อัลตร้าไวด์มันก็ลดลงไปจากเลนส์หลักด้วย เลยจะแอบขัดใจตัว 15 Pro อยู่บ้างเวลาที่ต้องถ่ายอาหารบนโต๊ะ พอบังคับปิดมาโคร มันก็ได้ภาพที่ไม่ชัดอีก ทำให้จับโฟกัสวัตถุใกล้ได้ไม่ดีเท่า 13 Pro ที่เคยใช้งานมาสองปี
แม้ iPhone 15 จะไม่มีโหมดมาโครสำหรับถ่ายระยะใกล้ก็ตาม แต่จากที่ผมทดสอบหาระยะโฟกัสใกล้สุด พบว่า 15 Pro สามารถจับโฟกัสที่ผิววัตถุได้ไกลสุดแค่ประมาณ 17 เซนติเมตร ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นโหมดมาโคร ในขณะที่ iPhone 15 สามารถเข้าไปได้ใกล้สุดถึง 12 เซนติเมตร ก่อนที่ภาพตรงจุดที่เลือกไว้จะเบลอ ซึ่งระยะ 5 เซนติเมตรที่ต่างกันนี้ ส่งผลถึงมุมภาพได้พอสมควรเลย เมื่อต้องถ่ายอาหารบนโต๊ะ ทำให้จุดนี้ผมรู้สึกถูกจริตกับกล้องของ 15 มากกว่า 15 Pro นิดนึง แต่ในภาพด้านบนนี้จะดูติดสีฟ้านิดนึงนะครับ เพราะสภาพแสงในร้านที่ถ่ายรีวิว iPhone 15 จะเป็นโทนเหลือง พอเจอกับอาหารที่เป็นสีโทนเหลืองอีก กล้องเลยพยายามชดเชยสีฟ้าเข้ามา ภาพเลยดูติดฟ้าไปหน่อย แต่ก็ลงทั้งนี้ไปเลย ไม่มีการตกแต่ง เพราะมันคือภาพที่ได้จากกล้องจริง ๆ
แต่ก็พอมีวิธีแก้ขัดได้ประมาณนึง คือการถอยระยะออกมา แล้วใช้การซูมเข้าไปแทนครับ เพื่อให้ระบบยังคงใช้เลนส์หลักในการถ่ายเหมือนเดิม
ภาพถ่ายกลางคืน iPhone 15 ก็ยังทำได้ดีเช่นเดิม คือได้ภาพที่ดูสว่างขึ้น แต่ก็ไม่สว่างจนเกินภาพที่ตาเห็นจริงเกินไป มีการเก็บไฮไลท์ในจุดที่แสงจ้ามาได้นิดหน่อย พอให้สามารถขุดเพิ่มเพื่อดูรายละเอียดตรงบริเวณป้ายไฟได้บ้าง มีการเปิดส่วนมืด ส่วนที่เป็นเงาขึ้นมาเล็กน้อย โดยที่ยังมีความคมชัด ไม่เละเป็นวุ้นมากนัก
ส่วนภาพที่ได้จากเลนส์อัลตร้าไวด์ก็ยังให้คุณภาพที่ดีเช่นกัน คมชัด สีสันกลางแจ้งแทบไม่ drop จากเลนส์หลักเลย แต่ถ้าอยู่ในร้าน หรือที่มีแสงน้อยก็จะลดประสิทธิภาพลงมาหน่อย เพราะข้อจำกัดเรื่องรูรับแสงของเลนส์ที่ให้มาเป็น f/2.4 ต่างจากเลนส์หลัก f/1.6 ถึง 1 สต็อปกว่า ๆ
การซูมที่ระยะ 2x ของ iPhone 15 ทาง Apple เผยว่าเป็นการซูมแบบที่แทบจะไม่สูญเสียรายละเอียดของภาพเลย และให้ความรู้สึกเหมือนกับการใช้เลนส์เทเลถ่ายจริงในการซูมแบบออปติคอล ทำให้เสมือนว่ากล้องหลังของเครื่องมีให้มา 3 เลนส์ โดยอาศัยการ crop sensor ลงมาใช้แค่ส่วนกลาง ๆ 12MP ในการเก็บภาพ ซึ่งการถ่ายซูมสองเท่านี้ จุดประสงค์ก็คือเพื่อช่วยในการถ่ายภาพบุคคล ถ่ายภาพ portrait ดูเป็นธรรมชาติ มีมิติ และง่ายยิ่งขึ้น แถมยังได้ค่ารูรับแสงที่ f/1.6 และมีกันสั่น OIS ของเลนส์หลักอีก ทำให้สามารถถ่ายได้ทั้งสภาพแสงปกติ และในที่มีแสงน้อยได้เลย
ทีนี้มาเจาะเรื่องรายละเอียด ด้วยการลองเทียบภาพจากทั้งสองระยะที่ได้จากการถ่ายตรงจุดเดิม จะพบว่าตัวกล้องมีการคำนวณชดเชยแสงที่แตกต่างกันตามสิ่งที่เซ็นเซอร์รับภาพตรวจจับสภาพแสงได้ในแต่ละเฟรม ให้ความรู้สึกเหมือนว่ากำลังใช้กล้องคนละเลนส์ถ่ายอยู่จริง ๆ ทำให้ภาพในตัวอย่างที่ระยะ 2x จะดูสว่างกว่า เพราะมีอัตราส่วนพื้นที่ส่วนมืดในภาพที่เยอะกว่าเฟรมของระยะ 1x ที่มีกระเบื้องขาวอยู่เยอะ ทำให้กล้องชดเชยแสงเพิ่มให้ จึงเห็นว่าฝาตู้ดูมีความสว่างที่ต่างไปจากเดิม แต่จริง ๆ แล้วภาพที่ระยะ 1x จะค่อนข้างตรงกับที่ตาเห็นกว่านะครับ
ทีนี้พอลอง crop เจาะในแต่ละภาพเพื่อดูรายละเอียดที่กล้องเก็บมาให้ จะพบว่าภาพจากระยะซูม 2x นั้นให้รายละเอียดปลีกย่อยไม่แตกต่างจากภาพระยะ 1x ปกติเลย สามารถอ่านชื่อเกมที่สันของกล่องแผ่นเกมได้ชัดเจนเท่า ๆ กัน ซึ่งก็ตรงกับที่ Apple โฆษณาไว้ว่าเป็นการซูมสองเท่าแบบไม่เสียรายละเอียด ให้ประสบการณ์เสมือนว่ามีเลนส์เทเลซูมสองเท่าติดมาให้ด้วยจริง ๆ ซึ่งระยะซูม 2x แบบไม่เสียรายละเอียดในลักษณะนี้ จะช่วยเรื่องการถ่าย portrait ได้ดีขึ้น
พอลองดูข้อมูลเทียบกันระหว่างภาพระยะ 2x ของ iPhone 15 และ 15 Pro จะพบความแตกต่างกันบ้างซึ่งเกิดจากเลนส์ เนื่องจากเลนส์ของ 15 มีค่ารูรับแสงที่ f/1.6 ในขณะที่ 15 Pro ใช้เลนส์รูรับแสง f/1.78 ที่แคบกว่า ทำให้ในตอนถ่ายจริง ตัวกล้องจะพยายามดัน ISO สูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อเป็นการชดเชยแสง ให้สามารถเก็บแสงสว่างได้มากขึ้น โดยพยายามตรึงค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 1/50s ซึ่งเป็นระดับที่มือคนทั่วไปสามารถถ่ายได้นิ่ง ๆ แบบมี OIS ช่วย ผลที่ได้คือภาพซูมระยะ 2x จากทั้งสองเครื่องจะมีความใกล้เคียงกัน ต่างกันที่ FOV ของภาพที่ 15 Pro จะเก็บภาพออกมาได้มุมกว้างกว่า เนื่องจากเลนส์มีระยะ focal length ที่ 24mm ส่วนของ 15 จะอยู่ที่ 26mm ซึ่งแคบกว่ากันนิดนึง
ส่วนเมื่อลองถ่ายโหมด portrait เทียบกัน การเบลอฉากหลัง ความคมชัดของตัวแบบนั้นแทบไม่แตกต่างกันเลย แต่ FOV ของภาพจะต่างกันเล็กน้อยตามคุณสมบัติทางกายภาพของเลนส์ตามที่กล่าวถึงไปในข้างต้นครับ ที่เลนส์ของ 15 Pro จะมีระยะ 24mm ส่วน iPhone 15 อยู่ที่ 26mm ทำให้ต้องถอยไปไกลกว่า ระบบถึงจะแยกฉากหลังออกจากตัวแบบ เพื่อไปใช้คำนวณในการละลายหลังได้
กล้องหน้าของ iPhone 15 ก็ยังคงเป็นสไตล์เดิม คือเน้นความเรียล สมจริง ความคมชัด สามารถแตะเลือกจุดโฟกัสได้ รวมถึงยังทำแบบกล้องหลังได้ คือถ่ายก่อนแล้วมาเบลอทีหลังโดยไม่ต้องเลือกโหมด portrait ตั้งแต่ตอนก่อนถ่ายเลย
แต่ถ้าใช้โหมด portrait ก็จะได้แบบในภาพขวาสุดครับ คือระยะจะซูมเข้ามาเล็กน้อยด้วย ส่วนภาพซ้ายสุดคือถ่ายเซลฟี่แนวนอนตามปกติ ภาพกลางก็คือภาพซ้ายสุด ที่นำมาปรับเบลอทีหลัง
ประสิทธิภาพ ความแรงของ iPhone 15 ชิป A16 Bionic
iPhone 15 มาพร้อมกับ iOS 17 ซึ่งถ้าเป็นเครื่องล็อตแรก ๆ แนะนำให้อัปเดต iOS ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดในขณะที่ตั้งค่าเครื่องก่อนใช้งานด้วย เพื่อป้องกันปัญหาจุกจิก โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลจากเครื่องเก่ามายังเครื่องใหม่ ซึ่งในการรีวิว iPhone 15 ครั้งนี้ ผมใช้การโอนข้อมูลจาก 15 Pro มาทั้งก้อน ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก็เสร็จแล้ว สามารถใช้งานต่อเนื่องได้แทบจะเหมือนเดิมเลย ขาดแต่พวกล็อกอินในบางแอป เช่นแอปธนาคาร ที่ต้องทำใหม่ทุกครั้งที่ใช้เครื่องใหม่อยู่แล้ว
เครื่องที่ได้มาทดสอบรีวิว iPhone 15 ในครั้งนี้เป็นรุ่นความจุ 512 GB เมื่อเปิดมาครั้งแรก จะมีเนื้อที่ให้ใช้งานเกือบ ๆ 500 GB เลย ซึ่งตัว iOS 17 ใน iPhone 15 series ก็จะมีฟังก์ชันกำหนดปริมาณการชาร์จไว้ที่ 80% ได้ด้วย ส่วนอีกฟีเจอร์ที่ใส่มาก็คือ StandBy ที่เมื่อวางเครื่องในแนวนอนพร้อมชาร์จแบตไว้ หน้าจอจะแสดงนาฬิกา หรือปฏิทิน หรือกำหนดนัดหมายต่าง ๆ มาให้ เหมาะสำหรับใช้เป็นนาฬิกาบนโต๊ะทำงานหรือข้างหัวเตียงได้เลย แต่อาจจะใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ไม่สุดทางเท่าไหร่ เนื่องจากจอของ iPhone 15 ไม่มีฟังก์ชัน Always On Display นั่นเอง
ทดสอบการเชื่อมต่อ 5G ของ iPhone 15 ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจครับ สามารถใช้งาน 5G SA ในไทยได้ค่อนข้างเต็มประสิทธิภาพในบริเวณที่สัญญาณแรง ส่วน 5G NSA ก็ใช้งานได้ปกติดีอยู่แล้ว อย่างในภาพด้านบนก็เป็นการทดสอบความเร็ว 5G SA ในห้างสรรพสินค้า สามารถทำความเร็วดาวน์โหลดได้ถึงระดับ Gigabit เลย ส่วนแบตก็ไม่ไหลเท่าไหร่ สามารถใช้งานได้ตลอดวัน
ผลทดสอบประสิทธิภาพในการรีวิว iPhone 15 ด้วยแอป Geekbench 6 ก็ได้คะแนนแบบ single core ติดอยู่ในระดับท็อป ๆ ของอุปกรณ์ iOS/iPadOS เลย แต่ดูเหมือนจะลดหลั่นลงมาจาก 14 Pro เล็กน้อย (ส่วน A17 Pro ใน 15 Pro คะแนนจะฉีกสูงขึ้นไปอีกเยอะเลย) ด้านของ multi core ก็จะใกล้เคียงกับ iPhone 14 Pro ที่ใช้ชิปเดียวกัน ซึ่งคะแนนการทดสอบ GPU ก็มีแนวโน้มในลักษณะเดียวกันครับ คืออยู่ในช่วงเดียวกับ iPhone 14 Pro
ทดสอบพลังกราฟิกด้วย 3DMark ในชุด Solar Bay Unlimited สามารถทำคะแนนได้ 3,523 คะแนน ตามหลังชิป A17 Pro อยู่ประมาณพันกว่าคะแนน
แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อทดสอบด้วยชุด Wild Life Extreme Unlimted เทียบกับ iPhone 15 Pro แน่นอนว่าคะแนนของ 15 จะต่ำกว่า แต่ก็มาพร้อมอุณหภูมิที่ต่ำกว่าด้วย สังเกตจากกราฟ Performance monitoring จะเห็นว่า 15 Pro มีช่วงเวลาที่เฟรมเรตตกตั้งแต่ประมาณวินาทีที่ 30 กว่า ๆ และไม่กลับขึ้นไปสูงถึงระดับเดิมอีกเลย ซึ่งเกิดจากการที่ระบบมองว่ามีความร้อนสูงเกิน จึงปรับลดประสิทธิภาพลง ส่งผลถึงเฟรมเรตที่ลดลงมาตามด้วย แต่ฝั่งของ iPhone 15 จะเริ่มตกหนักที่ตอนเกือบวินาทีที่ 70 เลย
ส่วนใครที่อยากเล่นเกม Resident Evil Village และ RE4 Remake บน iPhone 15 อันนี้หมดสิทธิ์ครับ เพราะตัวเกมจะลงให้เฉพาะ iPhone 15 Pro/Pro Max ที่ใช้ชิป A17 Pro และ iPad ที่ใช้ชิป M1 ขึ้นไปเท่านั้น
ทดสอบเรื่องอุณหภูมิขณะเล่นเกม Genshin Impact ปรับ 60fps กราฟิกระดับที่เกมตั้งมาให้ โดยปล่อยให้เกมรันไป 15 นาทีแล้ววัดอุณหภูมิ ได้ผลตามภาพด้านบนครับ
จากนั้นปิดเกม แล้ววางเครื่องทิ้งไว้นิ่ง ๆ ประมาณ 5 นาทีแล้ววัดอุณหภูมิตรงบริเวณชิปประมวลผลใหม่อีกครั้ง พบว่าอุณหภูมิลดลงมาประมาณ 5 องศา จาก 43.1 ลงมาเหลือ 38 องศาเซลเซียส
ถามว่าความร้อนในระดับนี้จัดว่าเครื่องร้อนหรือไม่ จริง ๆ ก็คือร้อนครับ ถ้าใส่เคสก็จะช่วยลดความร้อนที่มาถึงมือขณะที่เล่นได้ประมาณหนึ่ง ถ้าอยากเล่นเกมแบบระยะยาวหน่อย อาจต้องหาพัดลมมาติดประกบกับตัวเครื่องเอา แต่ยังไงก็น่าจะเจออาการเฟรมเรตตกบ้างเป็นบางช่วง ส่วนถ้าเป็นเกมกราฟิกเบาลงมาหน่อยอย่าง RoV อันนี้ผมลองเล่นแบบปรับสุด ตั้งเฟรมเรตที่ 60fps นั่งเล่นอยู่สองเกม ตัวเครื่องสามารถเล่นได้แบบ 60fps นิ่ง ๆ ตลอดช่วงเวลาที่เล่นเลย
ส่วนในการใช้งานทั่วไป อันนี้จัดว่าไม่ร้อนเท่าไหร่ครับ อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะร้อนหน่อยก็ตอนถ่ายรูปเยอะ ๆ ถ่ายวิดีโอนาน ๆ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับการถ่ายวิดีโอกลางแจ้ง ซึ่งถ้าร้อนถึงขีดจำกัดก็จะมีข้อความแจ้งเตือน และจะบังคับปิดกล้องไปจนกว่าเครื่องจะเย็นลง เช่นเดียวกับการชาร์จ ถ้าเครื่องร้อนไป ระบบก็จะหยุดการชาร์จแบตให้เองด้วย ซึ่งในระหว่างที่รีวิว iPhone 15 เครื่องนี้ ก็ไม่เจอสถานการณ์ที่เครื่องร้อนจัดเลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะ iOS เวอร์ชันล่าสุด และหลาย ๆ แอปได้มีการปรับปรุงเรื่องการทำงานเบื้องหลังไปแล้ว
ทดสอบการชาร์จ ส่วนตัวที่วัดด้วยอุปกรณ์ในภาพข้างบน ชาร์จกับอะแดปเตอร์ 97W ของ MacBook Pro สายชาร์จจากจีนรองรับไฟสูงสุด 240W พบว่าสามารถจ่ายไฟไปชาร์จได้อยู่ในช่วง 20-22W เท่านั้น ขณะชาร์จเครื่องก็อุ่น ๆ ขึ้นมาบ้างตามปกติ เพราะเป็นการชาร์จในช่วงที่แบตเหลือต่ำกว่า 20% ระบบเลยเปิดรับไฟให้เร็วสุดเท่าที่จะทำได้ เครื่องเลยอุ่นขึ้นมานิดนึง
ปิดท้ายรีวิว iPhone 15
จบไปแล้วนะครับสำหรับรีวิว iPhone 15 ที่ดูจากภายนอกจะเหมือนว่ามีการปรับปรุงจากรุ่นก่อนแค่เรื่อง Dynamic Island และพอร์ต USB-C เท่านั้น แต่ที่จริงก็มีการปรับรายละเอียดเล็กน้อยในบางจุดให้ผู้ใช้มีประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น เช่น ขอบเครื่องที่จับถนัดมือกว่าเดิม ไปจนถึงประโยชน์ที่ได้แบบอ้อม ๆ อย่างอุปกรณ์เสริมที่หามาใช้ได้ง่ายขึ้น โดยจุดไหนที่ iPhone ทำได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ก็ยังคงใส่มาให้แบบครบถ้วน ทั้งคุณภาพการแสดงผลของหน้าจอ ความครอบคลุมของ ecosystem และความสะดวกในการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นจาก Apple เอง
ส่วนภายในก็มีการปรับปรุงด้านกล้องใหม่ ทำให้เสมือนว่าตัวเครื่องมีกล้องหลังมาให้ 3 เลนส์ ซึ่งเกิดจากการประยุกต์รูปแบบการใช้เซ็นเซอร์รับภาพ ร่วมกับกระบวนการประมวลผลของ Photonic Engine เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด มีไดนามิกที่ดี สีสันสวยงาม เก็บรายละเอียด HDR ได้ครบ การซูม 2 เท่าที่ให้ผลแทบจะเทียบเท่ากับการซูมแบบออปติคอลก็ทำได้น่าสนใจ เพราะมันได้ทั้งคุณภาพของความคมชัดระดับ 12MP ที่มากพอสำหรับการถ่ายลงโซเชียล ทั้งยังเพิ่มความสะดวกด้วย
อีกฟีเจอร์ของกล้องที่พลาดไม่ได้คือการถ่ายก่อนแล้วมากดเบลอทีหลังได้ ทำให้ในหลายสถานการณ์ ผู้ใช้แทบไม่ต้องเลื่อนจอไปใช้โหมด Portrait ก่อนเลย สามารถหยิบกล้องมาถ่ายได้ทันที แล้วค่อยไปแต่งภาพทีหลัง ลดความยุ่งยาก และช่วยให้สามารถเก็บภาพความประทับใจในช่วงเวลาที่อาจมีแค่เพียงเสี้ยววินาทีได้
ส่วนประเด็นที่น่าขัดใจของ iPhone 15 เมื่อนำเรื่องราคา และมือถือรุ่นอื่นในตลาด รวมถึง iPhone 15 รุ่นโปรมาประกอบด้วย ก็คือตัวเครื่องเองยังขาดพวกฟีเจอร์ที่เป็นลักษณะ nice to have คือถ้ามีก็ดี (เทียบเท่ากับคู่แข่ง) แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่ใช่เรื่องหนักจนถึงขั้นกระทบการใช้งานทั่วไปนัก ตัวอย่างฟีเจอร์ในกลุ่มนี้ก็เช่น
- Always On Display (AOD) เพื่อแสดงข้อมูลขณะที่ล็อกหน้าจอโดยไม่เปลืองแบตมากนัก
- รีเฟรชเรตจอที่สูงกว่า 60Hz
- USB 3.0 ผ่านพอร์ต USB-C
- การขาดเลนส์เทเลสำหรับการซูมแบบออปติคอลด้วยกล้องหลัง
เรื่องของจอ แน่นอนว่ามีหลายท่านคิด คือในปี 2023 ก็ควรจะให้จอรีเฟรชเรตสูง ๆ และมี AOD ได้แล้ว เพราะขนาดมือถือ Android ราคาย่อมเยากว่ายังมีให้ใช้กันแล้วเลย ข้อนี้ก็นับว่าจริงอยู่ครับ ซึ่งจะเห็นผลชัดมากถ้าหากคุณใช้มือถือจอ 120Hz จนชินตา แล้วต้องมาใช้มือถือจอ 60Hz แต่เชื่อว่าถ้าใช้งานไปซักระยะจะเริ่มชินไปเอง เพราะตัว iOS เองได้รับการออกแบบให้ UI มีความลื่นไหล พอจะชดเชยเรื่องรีเฟรชเรตได้บ้างเล็กน้อย ส่วน AOD นี่ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละท่านอยู่ดี
ส่วน USB 3.0 คงต้องไปรอดูกันใน iPhone 16 อีกที แต่จากที่เห็นรูปแบบการใช้งานในปัจจุบัน เชื่อว่าหลายท่านคงแทบไม่ได้เสียบสายเชื่อม iPhone กับคอมเพื่อซิงค์ข้อมูลกันบ่อยนัก ส่วนฟีเจอร์ที่ต้องอาศัยการรับส่งข้อมูลปริมาณมากด้วยความเร็วสูง เช่น การถ่ายวิดีโอ 4K ProRes ก็มีเฉพาะในรุ่นโปรอยู่แล้ว อาจจะมีกระทบบ้างก็กับท่านที่ต้องการย้ายไฟล์ในเครื่องลงแฟลชไดรฟ์ อันนี้คงต้องรอกันนิดนึงครับ แต่ถ้าใช้ iPhone รุ่นก่อนหน้ามาอยู่แล้วคงไม่มีปัญหา เพราะมันก็คือความเร็ว USB 2.0 เท่าเดิมนั่นเอง
สุดท้ายคือเรื่องการขาดเลนส์เทเลเพื่อใช้ในการซูมไกล ๆ ข้อนี้คือจุดที่ Apple ยึดมั่นมาตลอดว่าจะใส่เลนส์เทเลให้เฉพาะเครื่องรุ่นโปรเท่านั้น คงต้องทำใจกันต่อไป ยังดีที่รอบนี้มีการประยุกต์การใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพขนาด 48MP ของกล้องหลัง ให้สามารถเก็บภาพได้เหมือนการซูม 2 เท่าแบบไม่เสียรายละเอียด จึงพอจะใช้ถ่ายเจาะได้ง่ายขึ้น ถ่ายภาพบุคคล ถ่ายโหมด portrait ได้ดีกว่าเดิม โดยที่ยังได้คุณภาพไฟล์ที่ดีในความละเอียดระดับ 12MP อยู่ ซึ่งถ้าหากท่านต้องการมือถือที่ซูมได้เยอะ ๆ เชื่อว่า iPhone 15 อาจจะไม่ได้อยู่ในรายชื่อมือถือที่อยากได้ในใจเท่าไหร่อยู่แล้ว
แต่ถ้าหากท่านต้องการมือถือที่ใช้งานได้ยาว ๆ ประสิทธิภาพสูง รองรับการอัปเดตได้หลายปี ให้ประสบการณ์การใช้งานโดยรวมที่ดี กล้องสวย ใช้สร้างสรรค์คอนเทนต์ได้หลากหลาย น้ำหนักเบา ใช้มือเดียวก็สะดวก iPhone 15 ยังเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน