นับเป็น iPad รุ่นที่สร้างเสียงฮือฮามาตั้งแต่วันเปิดตัวเลยทีเดียว ทั้งในเรื่องความแรงจากชิปเซ็ตรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยลงในผลิตภัณฑ์รุ่นใดมาก่อน และความบางเบาที่ขึ้นแท่นเป็นสินค้าที่บางที่สุดของ Apple จึงไม่แปลกใจที่ iPad Pro M4 จะเป็น iPad ที่ใคร ๆ ก็อยากลองจับ ลองเล่นเพื่อพิสูจน์ความแรง ซึ่งในบทความนี้เราจะมารีวิวกันให้อ่านครับว่า iPad Pro รุ่นใหม่ล่าสุดนี้จะน่าสนใจขนาดไหน รวมถึงเหล่าอุปกรณ์เสริมรุ่นใหม่ ๆ ที่เปิดตัวมาพร้อมกันด้วย
ดีไซน์ iPad Pro M4 จอ 11″
แกะกล่องมาก็จะพบกับตัวเครื่องอยู่ด้านหน้าสุดตามสไตล์กล่องบรรจุภัณฑ์ของ Apple พอยกเครื่องออก ภายในก็จะพบกับอะแดปเตอร์ชาร์จ USB-C ที่รองรับการจ่ายไฟได้สูงสุด 20W และสาย USB-C แบบสายถัก ที่จะมีสีสันล้อตามสีเครื่อง อย่างตัวของ iPad Pro M4 ที่เรารีวิวในครั้งนี้จะเป็นเครื่องสีดำ space black สายก็เลยจะเป็นสีเกือบดำ ใช้แล้วดูเข้ากับตัวเครื่องดี แถมยังเป็นสายที่ไม่มีขายภายหลังด้วย เพราะใน Apple Store จะมีขายแต่เฉพาะสีขาวเท่านั้น ถ้าอยากได้สีโทนเข้มแบบนี้จะต้องซื้อเป็นสาย Thunderbolt 4 Pro หรือไม่ก็เป็นสาย USB-C จากแบรนด์ 3rd party แทน
นอกจากนี้ ในกล่องก็จะมีเอกสารเกี่ยวกับการรับประกัน คู่มือการใช้งานเบื้องต้นมาให้ตามปกติ แต่รอบนี้จะไม่มีแถมสติกเกอร์รูปโลโก้ Apple มาให้แล้ว
หน้าตาของ iPad Pro M4 ก็จะยังคงสไตล์คล้ายกับรุ่นอื่นในปัจจุบัน คือเน้นหน้าจอขนาดใหญ่ ขอบจอเป็นสีดำทั้งตัวเครื่องสีเงินและสีดำ มุมเครื่องโค้งมน สำหรับในรุ่นนี้จะมีตัวเลือกเสริมตอนสั่งซื้อด้วย ก็คือลูกค้าสามารถเลือกว่าจะใช้กระจกหน้าจอปกติ หรือถ้าสั่งซื้อรุ่นความจุ 1TB ขึ้นไปก็จะมีตัวเลือกกระจกผิวนาโนมาให้เลือกเพิ่มเติม ซึ่งกระจกผิวนาโนจะมีการออกแบบให้มีการสลักร่องเล็ก ๆ บนผิวกระจกเพื่อลดแสงสะท้อนและการกระเจิงของแสงบนหน้าจอลง เพื่อให้สามารถใช้งานกลางแจ้งหรือในบริเวณที่มีแสงส่องลงหน้าจอปริมาณมากได้สบายตาขึ้น สู้แสงจัด ๆ ได้ดีกว่าเดิม แต่สีสันจะดูไม่สดเท่ากับหน้าจอปกติ
แต่สำหรับกระจกหน้าจอปกติ จริง ๆ แล้วก็อยู่ในระดับที่ใช้งานได้ดีมากตามมาตรฐาน iPad Pro อยู่แล้ว เอาเป็นว่าถ้าต้องการซื้อ iPad Pro M4 มาใช้ทำงานทั่วไป ทำงานในห้องทำงาน ในออฟฟิศ ในร้านกาแฟ ใช้ดูหนัง เล่นเกม ก็เลือกกระจกแบบมาตรฐานจะตอบโจทย์ที่สุด ซึ่งจากที่รีวิวมา กระจกมาตรฐานนี่ก็ตัดแสงสะท้อนลงได้เยอะมากแล้วครับ ประกอบกับพาเนลจอที่เร่งแสงสว่างได้สูงมากด้วย จึงสู้แสงได้ดีพอตัวเลย ส่วนใครที่ต้องนำ iPad Pro ชิป M4 ไปออกงานกลางแจ้ง ถ่ายงานในสตูดิโอที่ไฟแรง ๆ หลายดวง ตัวกระจกผิวนาโนก็น่าสนใจเหมือนกัน
iPad Pro M4 ก็เป็นเช่นเดียวกับ iPad Air M2 ในเรื่องของการนำเสนอ การโปรโมตของ Apple เองที่จะเน้นวางเครื่องในแนวนอนมากขึ้น เพราะเป็นรูปแบบการวางเครื่องที่คนส่วนใหญ่ใช้ iPad ในการทำงาน ซึ่งในรอบนี้ก็มีการปรับตำแหน่งของกล้องหน้าจากที่วางในแนวตั้งมาตลอด (ด้านสั้นของเครื่อง) มาวางไว้ในแนวนอนแทน สอดคล้องกับรูปแบบการวางเครื่องในแนวนอน ทำให้ผู้ใช้สามารถจัดตำแหน่งเฟรมภาพขณะใช้กล้องหน้าได้ง่ายขึ้น เช่นระหว่างการประชุมแบบวิดีโอคอล การคุยผ่าน FaceTime ส่วนฟังก์ชัน Center Stage ที่ระบบจะช่วยปรับมุมกล้องของภาพให้ผู้ใช้อยู่บริเวณกลางเฟรมก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่รอบนี้ก็จะทำงานได้ดีขึ้นไปอีกเมื่อวางเครื่องในแนวนอน
นอกเหนือจากการย้ายกล้องหน้า TrueDepth มาวางตามแนวนอนแล้ว เซ็นเซอร์สำหรับสแกน Face ID ก็ย้ายตามมาด้วยเช่นกัน ใครที่ใช้ iPhone ที่มี Face ID อยู่แล้วก็น่าจะเข้าใจถึงความสะดวกและรวดเร็วในการสแกนใบหน้า ซึ่งใน iPad Pro ชิป M4 นี้ก็ไม่ต่างกันเลยครับ และอีกประเด็นที่แน่นอนก็คือตัวเครื่องจะไม่มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ Touch ID มาให้นะ
ฝาหลังของ iPad Pro ชิป M4 ยังคงใช้เป็นอะลูมิเนียมรีไซเคิล 100% เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของ Apple ในยุคหลัง โดยตัวเครื่องสีดำ space black จะดูออกเป็นสีเทาเข้มผิวโลหะบรัชลายที่ให้ความรู้สึกดุดัน แต่พอจับตัวเครื่องยกขึ้นมาจริงก็ให้ความรู้สึกตกใจถึงน้ำหนักที่เบามาก ๆ
ตรงกลางยังคงมีโลโก้ Apple (ที่ไม่มีไฟ) อยู่ตามปกติ ด้านล่างมีชื่อรุ่นและก็จุด pogo pin 3 จุดที่เป็น Smart Connector สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่างเคส Smart Folio และเคส Magic Keyboard
กล้องหลังจะถูกวางไว้ในแท่นที่ยกสูงขึ้นมาจากผิวฝาหลังเล็กน้อย ที่น่าแปลกใจคือรอบนี้ Apple เลือกตัดเลนส์อัลตร้าไวด์ออก เหลือไว้แค่เลนส์ไวด์ปกติเพียงกล้องเดียว แล้วย้ายตำแหน่งของเซ็นเซอร์ LiDAR มาวางแทนตำแหน่งเลนส์อัลตร้าไวด์เดิมของ iPad Pro รุ่นก่อนหน้า (ใต้กล้องหลัก) แล้วก็ใส่เซ็นเซอร์วัดแสงแบบ ambient light sensor เพิ่มเข้ามา นอกจากนี้ก็จะมีแฟลช True Tone และไมโครโฟนมาให้เช่นเคย
ซึ่งสาเหตุที่ตัดเลนส์อัลตร้าไวด์สำหรับเก็บภาพมุมกว้างพิเศษออกไป ก็พอคาดการณ์ได้ว่าน่าจะมาจากความนิยมในการใช้ที่ไม่สูงมากนัก จึงเลือกตัดออกเพื่อลดทั้งต้นทุน ลดการสิ้นเปลืองพื้นที่ภายใน รวมถึงช่วยลดน้ำหนักตัวเครื่องลงได้อีกเล็กน้อย แต่ก็จะมีความสะดวกลดลงหน่อย สำหรับใครที่ใช้ iPad Pro ในการถ่ายภาพมุมกว้างของพื้นที่เพื่อใช้ประกอบการทำงาน เช่นสายงานออกแบบสถานที่ ที่บางครั้งอาจจะต้องการเก็บภาพมุมกว้าง ๆ ไว้ประกอบการอ้างอิงแบบที่ต้องการทำงานให้จบบน iPad ชิ้นเดียว ซึ่งคราวนี้ก็อาจจะต้องกลับไปใช้การถ่ายพาโนรามา หรือไม่ก็ถ่ายด้วยเลนส์อัลตร้าไวด์จากมือถือแทน
ความบางคือหนึ่งในไฮไลท์ของ iPad Pro รุ่นปี 2024 โดยในรุ่นหน้าจอ 11″ จะอยู่ที่ 5.3 มม. รุ่น Wi-Fi น้ำหนัก 444 กรัม ส่วนรุ่นจอ 13″ จะยิ่งบางลงไปอีกคือแค่ 5.1 มม. เท่านั้น มาพร้อมน้ำหนัก 579 กรัม ซึ่งถ้าเทียบกับผลิตภัณฑ์รุ่นอื่น จะเป็นดังนี้
- iPad Pro M2 11″ ความหนา 5.9 มม.น้ำหนัก 466 กรัม
- iPad Air M2 11″ ความหนา 6.1 มม.น้ำหนัก 462 กรัม
- iPad Pro M2 12.9″ ความหนา 6.4 มม.น้ำหนัก 682 กรัม
- iPad Air M2 13″ ความหนา 6.1 มม.น้ำหนัก 617 กรัม
- iPad 10th Gen ความหนา 7 มม.น้ำหนัก 477 กรัม
- iPhone 15 ความหนา 7.8 มม. น้ำหนัก 171 กรัม
จะเห็นชัดเลยว่า iPad Pro ชิป M4 นั้นบางและเบากว่า iPad รุ่นหลัง ๆ ในพิกัดขนาดจอที่เท่ากันทุกรุ่น ส่วนถ้าใครที่มี iPhone 15 อยู่ ก็คือจะบางกว่าลงไปอีกถึง 2 มม. กว่า ๆ ซึ่งความรู้สึกตอนยกเครื่องขึ้นมาครั้งแรกก็คือน่าทึ่งมากที่ทำเครื่องมาได้บางและเบาสุด ๆ จนแทบจะไม่อยากใส่เคส กดเครื่องแล้วก็รู้สึกว่าแน่นหนาในทุกจุด แต่ในการใช้งานจริงที่ต้องพกเครื่องไปมา ยังไงก็แนะนำให้หาเคสที่แข็งแรงประมาณนึง เพื่อให้ทนต่อทั้งการกระแทกและการโค้งงอของตัวเครื่องได้ก็ดีครับ เพราะที่ผ่านมา iPad Pro รวมถึง iPad รุ่นหลัง ๆ ที่เน้นความบางของตัวเครื่อง ผู้ใช้งานหลายคนก็พบปัญหาเครื่องโค้งงออันเกิดจากการใส่เครื่องไว้ในกระเป๋าแล้วพกพาไปไหนมาไหนอยู่บ้างเหมือนกัน แม้ว่าจะใส่เคสแล้วก็ตาม
รอบเครื่องก็จะมีตำแหน่งของปุ่มและส่วนสำคัญต่าง ๆ คล้ายกับรุ่นอื่นคือวางปุ่ม Power (ที่ไม่มี Touch ID) ไว้ตรงมุมขวาบนของจอ มีลำโพงด้านบน 2 ตัว ด้านล่าง 2 ตัว ส่วนไมโครโฟนรับเสียงจะกระจายไปทั้งตรงขอบบน ข้างกล้องหน้า ข้างกล้องหลังและก็ที่ขอบข้าง ฝั่งเดียวกับกล้องหน้า ด้านของปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงก็จะอยู่ที่ฝั่งขวาของจอเช่นเดิม
ถ้าจะดูว่า iPad Pro M4 นั้นบางขนาดไหน ก็ลองเทียบจากอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานกลางอย่างความหนาของพอร์ต USB-C ก็ได้ครับ จะเห็นว่าตัวเครื่องมีความบางที่แทบจะใกล้เคียงกับตัวพอร์ต USB-C แล้ว
หน้าจอ Tandem OLED ของ iPad Pro M4
หน้าจอ iPad Pro M4 ทั้งรุ่น 11″ และ 13″ จะใช้เป็นจอ Ultra Retina XDR ซึ่งใช้พาเนล Tandem OLED หรือให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเป็นพาเนล OLED ที่มีแผงแหล่งกำเนิดแสงซ้อนกัน 2 ชั้น จุดประสงค์ก็คือเพื่อให้จอสามารถเร่งความสว่างได้สูงกว่าเดิม ตามสเปคคือสามารถทำได้สูงสุด 1,000 nits (SDR), 1,000 nits (XDR แบบเต็มจอ) และสูงสุด 1,600 nits (XDR เฉพาะจุดเมื่อเล่นคอนเทนต์ HDR) ซึ่งจะสูงกว่า iPad Pro M2 12.9″ ที่ทำความสว่างในการแสดงผล SDR ได้สูงสุดแค่ 600 nits เท่านั้น ทำให้จอของ iPad Pro ชิป M4 สามารถสู้แสงสว่างภายนอกขณะใช้งานทั่วไปได้ดีกว่า สมกับเป็น iPad รุ่นแรกที่ใช้พาเนล OLED แบบเต็มตัว
ภาพด้านบนนี้จะเป็นการนำ iPad Pro ชิป M4 11″ แบบไม่ได้ติดกระจกกันรอยหรือฟิล์มหน้าจอใด ๆ ออกมาใช้งานกลางแจ้งช่วงบ่าย ๆ ที่ฟ้ามีเมฆพอสมควร ส่วนเครื่องทางขวาในภาพจะเป็น iPad Air M2 11″ ที่ติดกระจกกันรอยหน้าจอแบรนด์ยอดนิยมอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานเครื่องของผู้ใช้ส่วนใหญ่ จะเห็นว่าระดับความสว่างนั้นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ส่วนเรื่องการสะท้อนแสงของจอ อันนี้อาจจะเทียบแบบตรง ๆ กันไม่ได้เท่าไหร่ เอาแค่ว่าถ้ามองเฉพาะ iPad Pro ทางซ้ายอย่างเดียวก็จะเห็นเลยว่าจอมันเร่งความสว่างจนสู้แสงกลางแจ้งได้จริง ๆ ใช้ดูหนังยังทำได้สบาย ยิ่งถ้าเป็นคอนเทนต์ HDR ก็ยิ่งชัดขึ้นไปอีก
ซึ่งความสว่างตามสเปคนี้ก็บอกว่าใกล้เคียงกับ iPhone 14 Pro series และ iPhone 15 series ได้เลย จะมีแค่เรื่องความสว่างเฉพาะจุด (กลางแจ้ง) ที่ iPad Pro จะด้อยกว่า iPhone กลุ่มที่กล่าวมาเล็กน้อย
หากลองเทียบความสว่างขณะเล่นคอนเทนต์ HDR จาก YouTube ในห้องมืดระหว่าง iPad Pro M4 (เครื่องซ้าย) iPad Air M2 (เครื่องขวา) และ iPhone 15 Pro แบ่งเป็นชุดภาพทางซ้ายที่ใช้ความสว่างแบบให้เครื่องปรับอัตโนมัติ จะเห็นความแตกต่างของระดับความสว่างระหว่างจอ iPad ทั้งสองรุ่นแบบชัดเจน ส่วนกับ iPhone นั้นจะค่อนข้างใกล้เคียงกัน แยกตาเปล่าค่อนข้างยาก
ส่วนภาพชุดขวาจะเป็นการบังคับปรับความสว่างจอไปที่ระดับสูงสุด ซึ่งแนวโน้มก็จะเป็นแบบเดิมครับ โดยภาพส่วนที่เป็นสีขาวสว่างของจอ iPad Pro ชิป M4 ก็คือสว่างจ้าไปเลย จนบางครั้งอาจจะทำให้ไฮไลท์ในภาพหายไปบ้างเหมือนกัน
ชุดนี้ก็ยังเป็นการเทียบเหมือนกันครับ แต่จะเน้นเทียบเรื่องการ dimming แสงบนจอ โดยมี 3 ภาพที่เปลี่ยนจาก iPad Air M2 มาเป็น MacBook Pro 14″ ชิป M1 Pro ที่จอเป็นพาเนล Mini-LED แทน
ภาพซ้ายบน – ความสว่างระดับอัตโนมัติ ทั้งสามเครื่องดูไม่ต่างกันมากนัก แต่โทนสีจะต่างกันเล็กน้อย
ภาพขวาบน (iPad Pro M4 / iPad Air M2 / iPhone) – ความสว่างระดับสูงสุด แต่ภาพนี้ให้สังเกตที่พื้นหลังดำ จะเห็นว่าจอ iPad Air M2 ทางขวาจะไม่ดำสนิท เนื่องจากเป็นพาเนล IPS ที่ยังมีการกระจายตัวของแหล่งกำเนิดแสงไม่ละเอียดเท่า จึงทำ local dimming ได้ไม่เนียนตาเหมือน OLED กับ Mini-LED
ภาพซ้ายล่าง – ความสว่างระดับกำลังพอดีกับห้อง จะเห็นว่าภาพบนจอ MBP (ภาพใหญ่สุด) ตรงฝั่งขวาของโมเดลไม้จะดูขาวสว่างจนรายละเอียดบนผิวไม้หายไปบางส่วน เนื่องจากกลไกการให้แสงของจอ Mini-LED ที่ยังควบคุมการเปิดปิดได้ไม่ถึงระดับ OLED อยู่ดี
ภาพขวาล่าง – ทดสอบ local dimming ตรง ๆ ที่ความสว่างระดับสูงสุด ด้านของ iPad Pro M4 และ iPhone 15 Pro ที่เป็นจอ OLED นั้นทำได้พอ ๆ กัน แสงลอดบริเวณรอบวงกลมมีน้อยมาก ส่วนจอ MBP จะมีแสงลอดออกมามากกว่านิดนึง
ส่วนถ้าทดสอบ local dimming แบบจุดเล็ก ๆ อันนี้จะเห็นความแตกต่างชัดมาก โดยจุดซ้ายสุดคือจอ iPad Pro ชิป M4 จุดเล็กด้านล่างคือ iPhone 15 Pro และจุดทางขวาที่มีแสงลอดรอบ ๆ คือมาจากจอ MacBook Pro M1 Pro
ด้านของสีสันหน้าจอ บอกเลยว่าไปสุดตามสไตล์พาเนล OLED และเมื่อยิ่งเป็น Tandem OLED ที่มีสองแผงซ้อนกันอีก ก็ยิ่งทำให้ได้สีสันที่สวยงามถึงใจ แสงเงาต่าง ๆ ก็ทำได้ดีมาก แม้ว่าจะเร่งความสว่างขึ้นขนาดไหนก็ตาม อย่างข้างบนเป็นภาพที่ได้จากเกม Assassin’s Creed Mirage ที่ปรับภาพระดับสูงสุด รายละเอียดในจุดต่าง ๆ คือสวยงามแทบไม่ต่างจากการเล่นเกมบนจอทีวีคุณภาพสูงเลย
นอกจากนี้ iPadOS ยังมีฟังก์ชัน Reference Mode ที่จะปรับการแสดงผลหน้าจอให้เน้นความแม่นยำของเฉดสีตรงตามมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับการเทียบสีภาพบนจอขึ้นไปอีก เหมาะสำหรับการใช้งานระดับมืออาชีพในงานตัดต่อ งานเกรดสี การพรูฟงาน เป็นต้น โดยตัวเครื่องจะปิดฟังก์ชันการปรับภาพอัตโนมัติทั้งเรื่องโทนอุณหภูมิสี True Tone และการปรับความสว่างหน้าจอไป นอกจากนี้ยังเปิดให้สามารถปรับจูน white point และ luminance ของจอได้เองด้วย ส่วนถ้าเป็นการใช้งานทั่วไป แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเปิด Reference Mode นะครับ ปล่อยให้หน้าจอมันปรับอัตโนมัติไปดีกว่า
ส่วนสเปคอื่นของจอ iPad Pro ชิป M4 ที่เด่น ๆ ก็คือยังรองรับ ProMotion 120Hz เช่นเดิม รองรับการแสดงสีสันระดับ Display P3 และเป็นจอ Full Lamination ที่เคลือบสารกันแสงสะท้อน สารกันรอยนิ้วมือ ส่วนความละเอียดจอก็ตามนี้
- รุ่นจอ 11″ = 2420×1668 @ 264 PPI
- รุ่นจอ 13″ = 2752×2064 @ 264 PPI
เทียบ iPad Pro M4 11″ กับ iPad Air M2 11″
หลังจากเทียบหน้าจอไปแล้ว คราวนี้ก็นำ iPad Air M2 11″ ที่เปิดตัวในงานเดียวกันมาเทียบตัวเครื่องบ้าง หากดูส่วนของหน้าจอก็จะเห็นว่าดีไซน์ทั้งสองรุ่นนี้ดูคล้ายคลึงกันมาก
แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าตัวเครื่องของ iPad Pro ชิป M4 11″ จะยาวกว่า Air M2 11″ เล็กน้อย ตามสเปคคือประมาณ 2.1 มม. ส่วนของรุ่น 13″ ก็จะคล้าย ๆ กัน รวมถึงขอบจอส่วนที่เป็นสีดำก็จะบางกว่า Air M2 ด้วย ทำให้มีพื้นที่ในการแสดงภาพที่มากกว่าอยู่นิดหน่อย แต่ที่แน่ ๆ คือรอบนี้ iPad Air M2 และ iPad Pro M4 จะไม่สามารถแชร์ใช้เคสร่วมกันได้แล้ว ต่างจากในรุ่นก่อนหน้าที่ยังสามารถใช้งานเคสบางอย่างร่วมกันได้อยู่ เช่น เคส Magic Keyboard
iPad รุ่นปี 2024 ทั้งสองรุ่นได้ย้ายกล้องหน้ามาไว้ตามแนวนอนด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งก็จะมีความแตกต่างของโมดูลกล้องอยู่ก็คือ iPad Pro จะเป็นกล้อง TrueDepth ที่มี Face ID มาด้วย และยังรองรับโหมด Portrait ที่ถ่ายหลังเบลอได้ รองรับ Animoji และ Memoji ในขณะที่ iPad Air M2 จะเป็นกล้องหน้าอัลตร้าไวด์แบบปกติ
ด้านของฝาหลังก็มีความแตกต่างกัน ไล่ตั้งแต่กล้องหลัง รวมถึง iPad Pro ยังมีการวางแนวเส้นสำหรับช่วยเสารับสัญญาณเอาไว้ด้านนอกตามแนวนอนด้วย
ทั้งคู่จะมีจุด Smart Connector อยู่ตรงบริเวณเดียวกัน ซึ่งผมก็ลองนำ iPad Pro M4 ไปใช้กับ Magic Keyboard ของ Air M2 (ที่ใช้ร่วมกับ Pro M2 ลงมา) พบว่าไม่สามารถใช้งานด้วยกันได้เลย ติดตั้งก็ไม่พอดีจุด รวมถึงลองเอา Magic Keyboard ของ Pro M4 ไปใช้กับ Air M2 ผลที่ได้ก็เป็นลักษณะเดียวกัน คือติดตั้งเพื่อใช้งานด้วยกันไม่ได้เลย อันนี้ก็เนื่องมาจากตำแหน่งแม่เหล็กในเครื่องที่ไม่ตรงกัน ทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ข้ามรุ่นกันเพื่อใช้งานได้เลย
เทียบด้านข้างเครื่องทั้งสองรุ่นก็จะเห็นว่า iPad Pro ชิป M4 นั้นบางกว่าอย่างเห็นได้ชัด อันรวมถึงขนาดของปุ่ม Power ที่บางกว่าตามอัตราส่วนความบางเครื่อง แต่ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากปุ่ม Power ของ Air 2 ที่จะมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ด้วยนั่นเอง
Apple Pencil Pro
อุปกรณ์เสริมที่ได้รับการเปิดตัวในงานเดียวกันกับ iPad Pro ชิป M4 ก็คือดินสอ Apple Pencil Pro ที่จะมองว่าเป็นตัวเข้ามาแทน Apple Pencil 2 ให้กับ iPad รุ่นปี 2024 ก็ว่าได้ เนื่องจากทั้ง iPad Pro และ Air รุ่นใหม่ล่าสุดจะรองรับการใช้งาน Pencil ของ Apple แท้แค่เฉพาะรุ่น Pro และ USB-C เท่านั้น ประกอบกับการเปิดราคามาที่ 4,990 บาทเท่ากับ Pencil 2 ด้วย ในทางกลับกัน ตัวของ Apple Pencil Pro เอง ณ ขณะนี้ก็สามารถใช้งานได้แค่กับ iPad Pro ชิป M4 และ iPad Air ชิป M2 เท่านั้นด้วยเช่นกัน
ลักษณะทางกายภาพภายนอกของ Apple Pencil Pro ก็จะเหมือนกับ Pencil 2 เลย ดีที่มีการระบุชื่อรุ่นแบบชุดเจนไว้ที่ส่วนปลายด้านบนว่าเป็นรุ่นโปร ส่วนหัวดินสอเองก็ยังสามารถหมุนออกเพื่อเปลี่ยน tip ตรงปลายได้เหมือนเดิม
น้ำหนักของ Apple Pencil Pro ตามสเปคอยู่ที่ 19.15 กรัม เทียบแล้วจะหนักกว่า Pencil 2 อยู่ 0.95 กรัม และเบากว่า Pencil (USB-C) อยู่ 1.35 กรัม มีการเกลี่ยน้ำหนักตลอดแท่งได้ดี จับแล้วรู้สึกแน่น มีการตัดด้านหนึ่งเป็นระนาบตรงยาวลงมา ช่วยให้จับได้กระชับปลายนิ้วดี รวมถึงยังเป็นด้านที่ใช้สำหรับแปะชาร์จที่ข้าง iPad ด้วย
หนึ่งในสิ่งที่จำกัดให้ Apple Pencil Pro ใช้งานได้กับ iPad รุ่นปี 2024 เท่านั้นก็คือตัวเครื่อง iPad เองที่มีการปรับตำแหน่งแม่เหล็กและชุดชาร์จที่ขอบจอไปจากเดิม เพื่อใช้ในการวางชุดโมดูลกล้องหน้า จึงทำให้ไม่สามารถนำ Apple Pencil 2 มาใช้กับ iPad รุ่นใหม่ได้เลยนั่นเอง ซึ่ง Apple Pencil Pro จะเป็นดินสอรุ่นใหม่ที่ทำออกมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนตำแหน่งแม่เหล็กนี้โดยเฉพาะ นั่นก็ทำให้ตัวของ Pencil Pro เองก็จะไม่สามารถนำไปใช้กับ iPad รุ่นก่อนหน้านี้ได้เลยเช่นกัน
ส่วนในแง่ของความสะดวกก็ยังเหมือนเดิมครับ การจับคู่ การชาร์จไร้สายก็จะใช้การแปะกับขอบ iPad ฝั่งที่มีกล้องหน้าได้เลย แม่เหล็กดูดแรงดีมาก สามารถยกทั้งตัว iPad ได้โดยการจับแค่ที่ตัวดินสอเท่านั้น ส่วนในระหว่างการใช้งานก็จะอาศัยการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ตามปกติ
การแปะ Apple Pencil Pro เข้ากับ iPad รุ่นที่รองรับครั้งแรก ระบบก็จะทำการจับคู่ให้โดยอัตโนมัติ และมีป๊อปอัพขึ้นมาเพื่ออธิบายฟีเจอร์ต่าง ๆ โดยฟีเจอร์ที่น่าสนใจและฟีเจอร์ใหม่ใน Pencil Pro ก็ได้แก่
การบีบตรงที่จับ 1 ครั้งเพื่อเปิดแถบเครื่องมือ
เป็นฟีเจอร์ใหม่ ใช้สำหรับเพิ่มความสะดวกขณะวาดภาพ โดยเมื่อบีบลงไปหนึ่งครั้ง แถบถาดเครื่องมือที่รวมหัวปากกา หัวดินสอ หัวแปรง ถาดสีและอื่น ๆ เช่นการปรับน้ำหนักเส้นก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นแถบโค้งรอบบริเวณที่ดินสออยู่ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลื่อนขึ้นไปเลือกเครื่องมือที่ต้องการได้ จากแต่เดิมจะต้องยกมาจิ้มเลือกจากแถบเครื่องมือตรงขอบจอ โดยตอนที่บีบ ตัวดินสอก็จะส่งแรงสั่นกลับขึ้นมาให้รู้สึกเหมือนว่ากำลังบีบลงไปจริง ๆ ด้วย
การแตะสองครั้งที่ด้านผิวเรียบเพื่อสลับเครื่องมือ
เป็นฟีเจอร์ที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว โดยค่าเริ่มต้นคือเพื่อใช้สำหรับสลับระหว่างเครื่องมือที่กำลังใช้อยู่กับยางลบได้แบบไม่ต้องเรียกแถบเครื่องมือขึ้นมา โดยจะมีไอคอนของเครื่องมือปรากฏขึ้นมาที่มุมซ้ายล่างของจอชั่วคราวด้วย เพื่อให้ทราบว่าสลับมาใช้เป็นอะไรอยู่
โดยทั้งสองฟีเจอร์ข้างต้นนี้ ในเมนูการตั้งค่าก็จะสามารถเข้าไปเปลี่ยนหน้าที่การทำงานได้ด้วย เช่นอาจจะต้องการให้แตะสองครั้งเพื่อสลับไปใช้เครื่องมือล่าสุดแทน ต้องการให้บีบ Pencil เพื่อเรียกใช้งาน shortcut หรือจะปิดทั้งสอง gesture นี้ไปเลยก็ยังได้
การยกปลายและ Gyroscope
ฟีเจอร์การยกปลายขึ้นมาเหนือหน้าจอเพื่อดูตำแหน่ง ดูตัวอย่างของลายเส้น หัวแปรงที่จะลงไปบนภาพจริง ๆ รวมถึงใช้ในการไฮไลท์หัวข้อหรือไอคอนให้เด่นขึ้นมา อันนี้เป็นฟีเจอร์ที่มีอยู่ตั้งแต่ใน Pencil 2 และ Pencil (USB-C) เมื่อใช้งานร่วมกับ iPad Pro ชิป M2 ขึ้นมาแล้ว แต่พอมาเป็น Apple Pencil Pro ทำงานร่วมกับ iPad Pro ชิป M4 และ iPad Air ชิป M2 ก็จะมีอีกหนึ่งคุณสมบัติเพิ่มเข้ามา คือผู้ใช้สามารถหมุนด้ามดินสอ (แบบ barrel roll) เพื่อหมุนปากกาและแปรงขณะที่ยกปลายขึ้นเหนือจอได้ โดยที่ภาพตัวอย่างของหัวปากกา/หัวแปรงบนจอก็จะหมุนตามไปการหมุน Apple Pencil Pro ด้วย อันนี้ก็เนื่องมาจากการใส่เซ็นเซอร์ gyroscope เข้าไปในตัวดินสอนั่นเอง
ดินสอหาย ตามหาได้ (คร่าว ๆ) ด้วย Find My
ในกรณีที่ผู้ใช้ทำ Apple Pencil Pro หาย ก็สามารถค้นหาตำแหน่งแบบคร่าว ๆ ผ่านแอป Find My (ค้นหาของฉัน) ที่จะระบุตำแหน่งล่าสุดบนแผนที่ให้สามารถไปลองตามหาดูได้ แต่ติดนิดนึงตรงที่จะไม่สามารถชี้บอกทิศทางและระยะห่างได้เหมือนพวก AirTag เพราะในตัวไม่ได้มีชิป U1 สำหรับคลื่น Ultra Wideband มาให้ ทำให้สุดท้ายแล้วผู้ใช้ก็จะได้ข้อมูลมาแค่ตำแหน่งล่าสุดแบบคร่าว ๆ เท่าที่แอปค้นหาเจอผ่านเครือข่าย Bluetooth จากนั้นก็ต้องค้นหาด้วยตนเองต่อ เพราะ Apple Pencil Pro ไม่ได้มีลำโพงในตัวเพื่อช่วยส่งเสียงออกมา
Magic Keyboard รุ่นใหม่
อุปกรณ์ชิ้นต่อมาที่เป็นของใหม่ประจำปีนี้ก็คือเคส Magic Keyboard สำหรับ iPad Pro รุ่นใหม่ จุดเด่นก็คือแผงปุ่มคีย์บอร์ดที่ให้ความรู้สึกการพิมพ์ในแบบเดียวกับการใช้โน้ตบุ๊กเลย ตัวชุดคีย์บอร์ดทั้งหมดจะเป็นพลาสติกแข็ง ทำออกมาได้ดูพรีเมียม แข็งแกร่งดี ไม่ต้องกลัวผิวลอกแบบยางซอฟต์ทัช
คีย์บอร์ดจะใช้ปุ่มแบนเตี้ยรูปแบบเดียวกับใน MacBook กลไกการกดเป็นแบบกรรไกร มีระยะการกดอยู่ที่ 1 มม. ทำให้ตอบสนองการกดได้ดีประมาณนึง และได้เสียงระหว่างพิมพ์ที่เงียบด้วย มีทั้งหมด 78 ปุ่ม ที่น่าสนใจคือมีการใส่แถบของปุ่มฟังก์ชัน 14 ปุ่มด้านบนมาให้เหมือนกับ Magic Keyboard Folio สำหรับ iPad รุ่นอื่น ๆ ด้วย ทำให้สามารถปรับค่าความสว่างจอ ระดับเสียง ควบคุมการเล่นเพลงได้สะดวก นอกจากนี้ยังมีไฟแบ็คไลท์สีขาวในทุกปุ่มด้วย
แต่สำหรับในรุ่นที่ใช้ร่วมกับ iPad Pro M4 11″ แน่นอนว่าก็จะมีการปรับบางปุ่มให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถบรรจุปุ่มสำคัญได้ครบถ้วน ซึ่งในการพิมพ์ภาษาไทยก็อาจจะลำบากนิดนึงเวลาพิมพ์ตัว ข ช ล – และ +
หนึ่งในสิ่งที่ได้รับการปรับปรุงจาก Magic Keyboard ของ iPad Pro รุ่นก่อนหน้า (ที่ใช้ร่วมกับ iPad Air M2 ได้) ก็คือการวางตำแหน่งของปุ่มแถวบนสุดของคีย์บอร์ดให้ยื่นออกมาจากใต้เครื่อง ทำให้เวลาพิมพ์งานที่ต้องกดปุ่มแถวบนสุด สามารถยกนิ้วขึ้นมาได้แบบไม่ชน iPad แล้ว ประกอบกับรอบนี้มีแถวของปุ่มฟังก์ชันเข้ามาด้วยอีก จึงทำให้สามารถพิมพ์ตัวอักษรแถวบนสุดหรือตัวเลขได้แบบไม่สะดุดอีกต่อไป ต่างจากใน Magic Keyboard ของ iPad Pro รุ่นก่อนที่ส่วนตัวผมพบปัญหาปลายนิ้วขึ้นไปชนกับขอบเครื่องบ่อยมาก
แทร็คแพดของ Magic Keyboard จะเป็นผิวกระจก ทำให้ความลื่นไหลในการปาดนิ้วนั้นอยู่ในระดับเดียวกับแทร็คแพดของ MacBook เลย รวมถึงยังมี haptic feedback แบบสั่นได้คล้ายกันด้วย
ที่ขาดไม่ได้คือช่อง USB-C ตรงบานพับของ Magic Keyboard ที่จะใช้สำหรับเสียบสายชาร์จเพื่อจ่ายไฟผ่านเข้ามายังตัว iPad ได้ ทั้งนี้ตัวคีย์บอร์ดเองไม่มีแบตเตอรี่นะครับ
ฝาหลังของ Magic Keyboard จะเป็นผิวซอฟต์ทัชที่หนาใช้ได้ในระดับหนึ่งเลย แต่ส่วนขอบข้างก็ยังคงเป็นลักษณะเดิม คือไม่มีขอบช่วยกันกระแทก กันรอยที่ขอบเครื่องมาให้ ทำให้ถ้าหากต้องพกทั้งชุดใส่กระเป๋าปนกับของอื่น ก็อาจจะมีการขูดขีดขอบเครื่องได้บ้างเหมือนกัน
การติดตั้ง Magic Keyboard เข้ากับ iPad Pro M4 ก็จะเป็นแบบที่หลายท่านคุ้นเคยกันดี คือใช้แปะลงไปตรง ๆ ให้แม่เหล็กดูดติดกันได้เลย ซึ่งจะทำให้ iPad ยกลอยขึ้นมา และยังสามารถปรับมุมเอียงของหน้าจอได้หลากหลายด้วย ตั้งแต่เกือบตั้งฉากประมาณ 90 องศา ไปจนถึงเอนสุดราว ๆ 135 องศา
เทียบ iPad Pro ชิป M4 + Magic Keyboard ใหม่กับ iPad Air M2 + Magic Keyboard เดิม ที่หน้าจอขนาด 11″ เท่ากัน
ส่วนเรื่องความบาง ชุดของ iPad Pro กินขาด ทั้งจากตัวเครื่องบางกว่า แล้ว Magic Keyboard ก็ยังบางกว่าอีก
ราคา Magic Keyboard สำหรับ iPad Pro ชิป M4 ก็ตามนี้
- รุ่นจอ 11″ ราคาศูนย์ไทย 11,990 บาท
- รุ่นจอ 13″ ราคาศูนย์ไทย 13,990 บาท
ทั้งสองขนาดมีให้เลือกทั้งสีดำและสีขาว
เคส Smart Folio รุ่นใหม่สำหรับ iPad Pro ชิป M4
อีกชิ้นที่เปิดตัวมาพร้อมกันก็คือเคสฝาพับ Smart Folio สำหรับ iPad Pro รุ่นปี 2024 ที่ดีไซน์ก็จะคล้ายกับของเดิม แต่จริง ๆ แล้วมีฟังก์ชันเพิ่มมาด้วยนะ
ฝาหลังจะเป็นโพลียูรีเธนเรียบ ๆ มีการตัดช่องสำหรับกล้องหลังมาแบบพอดี ส่วนขอบข้างจะเป็นแบบเปิด 3 ด้านคือบน ล่างและทางฝั่งขวาของจอเพื่อใช้ในการแปะ Apple Pencil Pro
ฝาพับสามารถพับไปแปะกับฝาหลังเพื่อตั้งหน้าจอขึ้นมาในแนวนอนได้ง่ายมาก โดยรอบนี้จะสามารถตั้งเอียงองศาจอได้หลายมุม ดังในภาพด้านล่างนี้
โดยเมื่อพับฝาแล้วแปะกับด้านหลัง มันจะมีระดับที่แม่เหล็กสามารถดูดติดเพื่อรักษาตำแหน่งได้อยู่ 4 จุดคือที่องศาจอประมาณ 135 องศา, 120 องศา, เกือบ 90 องศา และก็พลิกลงมานอนได้ระนาบสุดแบบในภาพล่าง ทำให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลายกว่าเดิม ไม่ว่าจะต่อคีย์บอร์ดไร้สายเพื่อพิมพ์งาน ดูหนัง ดูคอนเทนต์ ใช้เพื่อดูขั้นตอนการประกอบของ การทำอาหาร รวมถึงวางเกือบระนาบกับพื้นเพื่อวาด เขียน จดด้วย Apple Pencil บนหน้าจอ
ซึ่งแม่เหล็กที่ขอบของฝาพับก็จะใช้สำหรับปลุกหรือล็อกหน้าจอเครื่องด้วยตามเดิม
การเชื่อมต่อระหว่างเคส Smart Folio กับ iPad Pro ก็จะทำผ่านจุด Smart Connector ที่ฝาหลัง ซึ่งผมลองนำ iPad Air M2 มาลองแปะดูแล้ว พบว่าไม่สามารถประกบติดกันได้อย่างสมบูรณ์เลย คาดว่าน่าจะมาจากตำแหน่งของแม่เหล็กที่อยู่ใน iPad Air ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาให้สามารถใช้งานร่วมกับ Smart Folio ของ iPad Pro ได้
ผิวในของเคสส่วนที่ประกบกับฝาหลังเครื่องจะเป็นผ้ากำมะหยี่ขนสั้น ซึ่งก็ช่วยถนอมผิวเครื่องได้ดี แต่ในทางกลับกันก็อาจต้องระวังเม็ดฝุ่นที่เกาะติดบนผิวกำมะหยี่ด้วยเช่นกัน
เมื่อติดตั้งเข้ากับ iPad Pro M4 11″ แล้ว ความหนารวมกันจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ Apple Pencil Pro เลย
ราคาเคส Smart Folio สำหรับ iPad Pro ชิป M4 มีดังนี้
- รุ่นจอ 11″ ราคา 3,390 บาท
- รุ่นจอ 13″ ราคา 4,190 บาท
ทั้งสองขนาดมีให้เลือก 3 สีคือสีขาว ดำและสีฟ้าเดนิม ซึ่งก็คือสีของเคสที่อยู่ในรีวิวนี้ จะเห็นว่าสีจริงจะดูเข้มกว่าที่อยู่ในหน้าเว็บ Apple พอสมควร
ทดสอบประสิทธิภาพ การเล่นเกมบน iPad Pro ชิป M4 11″
ก่อนที่จะมาดูประสิทธิภาพของเครื่องจากหลาย ๆ การทดสอบ ขอเริ่มที่รายละเอียดสเปค iPad Pro M4 ก่อนซักนิดแล้วกันครับ
- ชิป M4 มี GPU 10 คอร์และ Neural Engine 16 คอร์
- รุ่นความจุ 256 และ 512GB
- CPU 9 คอร์ (3+6) แรม 8 GB
- รุ่นความจุ 1TB และ 2TB
- CPU 10 คอร์ (4+6) แรม 16GB
- รุ่นความจุ 256 และ 512GB
- หน้าจอ Ultra Retina XDR ขนาด 11″ และ 13″ พาเนล Tandem OLED พร้อม ProMotion 10Hz-120Hz มีตัวเลือกกระจกผิวนาโนในรุ่นความจุ 1 และ 2TB
- กล้องหลัง 12MP f/1.8 ออโต้โฟกัส รองรับ Smart HDR 4 พร้อมแฟลช True Tone ที่ปรับโทนสีได้ตามสภาวะแสง ถ่ายวิดีโอได้สูงสุดระดับ 4K 60fps ถ่าย ProRes สูงสุด 4K 30fps
- มีเซ็นเซอร์ LiDAR ที่กล้องหลัง
- กล้องหน้า TrueDepth 12MP f/2 ในแนวนอน รองรับโหมด Portrait
- รองรับ Face ID
- ลำโพง 4 ตัว พร้อมไมค์ระดับสตูดิโอ 4 ตัว
- พอร์ตชาร์จแบบ USB-C รองรับ Thunderbolt 3 และ USB4 แบนด์วิธสูงสุด 40 Gbps สามารถต่อภาพออกจอนอกผ่านโปรโตคอล DisplayPort ได้
- แบตเตอรี่รุ่น 11″ อยู่ที่ 31.29 WHr และรุ่น 13″ อยู่ที่ 38.99 WHr
- Wi-Fi 6E + Bluetooth 5.3
- รุ่น Cellular รองรับ 5G เพื่อใช้งาน data แต่ใช้ได้แค่แบบ eSIM เท่านั้น
- ราคา iPad Pro M4 จอ 11″ เริ่มที่ 39,900 บาท รุ่นจอ 13″ เริ่มที่ 52,900 บาท
สเปคเครื่องของทั้งรุ่น 11″ และ 13″ จะเท่ากันในแทบทุกจุด ต่างกันก็แค่ขนาดจอ จำนวนพิกเซลบนจอ (แต่ PPI เท่ากัน) แล้วก็ความจุแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นตามขนาดเครื่อง แต่สำหรับระยะเวลาในการใช้งาน Apple ก็เคลมไว้ว่าได้พอ ๆ กัน ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้เลยว่าจะต้องการเครื่องที่ขนาดหน้าจอเท่าไหร่ และมีงบอยู่ที่ระดับไหน อย่างถ้าต้องการให้พกพาสะดวก หยิบขึ้นมาพิมพ์งาน เล่นเกม นอนดูหนังแบบสบาย ๆ อันนี้ตัวหน้าจอ 11″ ก็อาจจะคล่องตัวกว่า ส่วนเครื่องจอ 13″ ก็น่าจะเหมาะกับคนที่ต้องการซื้อมาใช้ทำงานในลักษณะของโน้ตบุ๊ก ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ พอประกบกับ Magic Keyboard ก็จะมีน้ำหนักรวมกันที่ประมาณ 1.2-1.3 กก. ซึ่งก็ใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊กสายบางเบาหน้าจอ 13″ หลาย ๆ รุ่นอยู่เหมือนกัน รวมถึง MacBook Air รุ่นจอ 13″ ด้วย
ซึ่งเมื่อกล่าวถึง MacBook Air 13″ ก็คงจะเกิดข้อสังเกตขึ้นมาเหมือนกันว่าในเมื่อถ้าจะพก iPad Pro ชิป M4 จอ 13″ + Magic Keyboard ที่น้ำหนักรวมพอ ๆ กันมาใช้ในแบบโน้ตบุ๊กแล้ว สู้ไปซื้อ MacBook Air 13″ ดีกว่าหรือเปล่า เพราะราคาถูกกว่า เริ่มต้นที่ 34,900 บาท ได้แรมและ SSD เท่ากัน แต่เป็นชิป M2 หรือถ้ารุ่นชิป M3 ก็จะเริ่มต้นที่ 39,900 บาท ประสิทธิภาพก็จัดว่าโอเคในราคาที่ย่อมเยากว่า iPad Pro ซะอีก
ตรงนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่า OS ใดจะตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละคนได้ดีกว่า เพราะเชื่อว่าหลายท่านในตอนนี้ก็แทบไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานแล้ว เนื่องจากบางงานสามารถใช้ iPad ทำงานได้ทั้งหมด รวมถึงยังสามารถถอดแยกเพื่อหยิบแค่ตัว iPad มาถือใช้งานได้อีกด้วย ไม่จำเป็นต้องพกแบบยกชุดตลอดเวลา
อีกข้อสังเกตสำหรับสเปค iPad Pro M4 ก็คือจะมีการแบ่งจำนวนคอร์ของ CPU ตามระดับรุ่นความจุด้วย คือรุ่น 256 และ 512GB จะได้ CPU 9 คอร์ แบ่งเป็น 3 คอร์ประสิทธิภาพและ 6 คอร์ประหยัดพลังงาน
ในขณะที่รุ่น 1 และ 2TB จะได้ CPU 10 คอร์ โดยได้คอร์ประสิทธิภาพเพิ่มมาอีก 1 คอร์ รวมเป็น 4+6 นอกจากนี้ชุดหลังยังมีอีกหนึ่งคอมโบ คือผู้ใช้จะมีสิทธิ์เลือกผิวกระจกหน้าจอด้วยว่าจะใช้กระจกปกติหรือกระจกผิวนาโนที่ต้องจ่ายเพิ่มจากรุ่นปกติอีก 4,000 บาท ตรงนี้ก็ต้องพูดตรง ๆ ว่าขึ้นอยู่กับงบประมาณเป็นหลักเลย เพราะที่ความจุ 512GB และ 1TB จะมีส่วนต่างอยู่ที่ 16,000 บาท แล้วถ้าเปลี่ยนกระจกก็เพิ่มไปอีก 4,000 รวมเป็น 20,000 บาท ถ้าสำหรับผู้ที่ต้องนำไปใช้ประกอบการทำงานที่ต้องการอุปกรณ์ความสามารถสูงระดับนี้อย่างงานกราฟิก งานตัดต่อที่ต้องจัดการกับเลเยอร์ กับฟุตเทจและมีเดียเยอะจริง ๆ ซึ่งต้องอาศัยแรมปริมาณมาก เชื่อว่าใช้แค่ไม่กี่งานก็คุ้มแล้ว แต่ในกรณีที่นำไปใช้อย่างอื่น หรือใช้กับงานที่ต้องการพลังประมวลผลไม่สูงเท่า ตัวชิป M4 ที่มี CPU รวม 9 คอร์ แรม 8GB ก็เหลือเฟือ
iPad Pro ชิป M4 ที่ทางเราได้รับมารีวิวในครั้งนี้จะเป็นรุ่น 11″ ความจุ 2TB นั่นเท่ากับเครื่องนี้จะใช้เป็น CPU 10 คอร์ แรม 16GB เปิดเครื่องขึ้นมาใช้งานครั้งแรกจะเหลือพื้นที่ว่างให้ใช้ได้ประมาณ 1.99TB ส่วนแบตเตอรี่ก็จะมีฟังก์ชันดูข้อมูลสุขภาพและรอบการชาร์จมาให้เช่นเดียวกับ iPhone 15 series และ iPad Air ชิป M2 เลย รวมถึงยังสามารถตั้งค่าจำกัดการชาร์จที่ 80% ได้อีกด้วย
เริ่มผลทดสอบประสิทธิภาพกันด้วย Geekbench 6 CPU ก่อน จะเห็นว่าตัวชิป M4 แบบ 10 คอร์ก็ให้ผลความแรงที่ทิ้งห่างทั้งคะแนนแบบ single และ multi core อย่างฝั่งของ single-core จะได้คะแนนที่สูงกว่าชิป M2 ใน iPad รุ่นต่าง ๆ ถึงประมาณ 1,000 คะแนน ส่วนคะแนนแบบ multi-core คือสูงกว่าถึงราว 5,000 กว่าคะแนนเลยทีเดียว
ต่อมาก็เป็นผลทดสอบ GPU ด้วย Metal API ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม คือทำคะแนนทิ้งห่าง iPad Pro 11″ ชิป M2 ไปประมาณ 7,000 คะแนนเลย
ด้านของคะแนนการทดสอบเกี่ยวกับ machine learning และ AI ก็เป็นอีกจุดที่ชิป M4 10 คอร์ทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้าแบบทิ้งขาด ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบประมวลผลด้วย CPU, GPU และ Neural Engine (NPU) โดยเฉพาะคะแนนจากการทดสอบ Neural Engine นั้นยิ่งทิ้งห่างขึ้นไปอีก แม้ว่าจะมี 16 คอร์เท่ากัน แต่ก็มีการปรับปรุงจากภายในที่ทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกส่วนหนึ่งก็คือการที่มีแรม 16GB ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของทั้งระบบสูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ Apple จะมีการจำกัดให้ระบบ AI (Apple Intelligence) ทำงานได้เฉพาะกับ iPhone 15 Pro และ iPad ชิป M1 ขึ้นมาเท่านั้น เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาพร้อมกับชิปประสิทธิภาพสูงและแรมขั้นต่ำ 8GB ทั้งหมด
คะแนนจาก AnTuTu ก็ยังมีแนวโน้มเช่นเดียวกัน คือมีคะแนนทิ้งขาดชิป M2 ราว ๆ 820,000 คะแนน โดยถ้าเจาะลึกที่คะแนนแต่ละส่วน พบว่าคะแนนด้าน CPU ตัวชิป M4 10 คอร์ทำได้สูงกว่าของ iPad Air M2 11″ ร่วม 200,000 คะแนน และที่น่าสนใจคือคะแนนของหน่วยความจำแรมที่ iPad Pro M4 มีคะแนนการทดสอบแบนด์วิธสูงกว่าเกือบเท่าตัว รวมถึงการอ่าน/เขียน/เข้าถึงข้อมูลในรอมก็ทำคะแนนได้สูงกว่าด้วย ทำให้คะแนนรวม AnTuTu ทั้งหมดสูงขึ้นจากชิป M2 แบบก้าวกระโดด
ทดสอบกราฟิกด้วย 3DMark ก็แน่นอนว่า iPad Pro ชิป M4 11″ ก็ทำคะแนนได้สูงกว่ามาก โดยเฉพาะชุดทดสอบ Solar Bay ที่จะมีการใช้ ray tracing ด้วย ซึ่ง GPU ในชิป M4 ก็มีการเพิ่มส่วนเร่งการประมวลผล ray tracing แบบฮาร์ดแวร์เข้ามาเป็นครั้งแรก จึงทำให้สามารถเก็บคะแนนในชุดการทดสอบนี้ได้สูงกว่าชิป M2 สูงสุดถึงเกือบ 3 เท่า ส่วนอีกสองชุดการทดสอบที่เหลือก็ทำคะแนนได้ดีกว่าประมาณหนึ่งเท่าตัว
พอมาดูเรื่องความเสถียรจากการรันกราฟิกแบบหนัก ๆ ด้วยการทดสอบ 3DMark ชุด Steel Nomad Light ต่อเนื่อง 20 รอบ ตรงนี้ก็แน่นอนว่า iPad Pro ชิป M4 ย่อมทำคะแนนได้ดีกว่า iPad Air ชิป M2 ทั้งในลูปที่ได้คะแนนสูงสุดและลูปที่ได้คะแนนต่ำสุด แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อดูจากกราฟระดับประสิทธิภาพของทุกรอบที่ 3DMark จับมาพล็อตต่อ ๆ กัน พบว่าคะแนนของ iPad Pro จะค่อนข้างเสถียรมาก โดยในรอบ 1 จะได้คะแนนสูงสุด พอรอบที่ 2 ก็เริ่มลดลงมาตามปกติ อันเนื่องมาจากการมีความร้อนสะสมของตัวชิปและภายในเครื่อง พอมาถึงรอบที่ 10 ก็เริ่มเข้าสู่จุดที่ทำคะแนนต่อรอบได้เสถียรแล้ว จะมีตกลงมานิดหน่อยตอนรอบ 12 แต่ก็ต่างกันเพียงเล็กน้อย
ในขณะที่ iPad Air M2 11″ คะแนนจะเริ่มตกหนักตอนรอบ 2 จากนั้นก็รักษาระดับความชันของกราฟมาได้จนถึงรอบที่ 7 แล้วกราฟก็เริ่มชันลงมาอีกไปจนถึงรอบที่ 14 ความชันของกราฟคะแนนจึงลดลงมาอยู่ในระดับแนวราบ กล่าวคือระดับคะแนนต่อรอบอยู่ในช่วงที่เสถียรนั่นเอง
ส่วนเฟรมเรตของลูปที่ได้คะแนนสูงสุด iPad Pro จะทำได้สูงสุดที่ราว 33 fps โดยที่กราฟเฟรมเรตในแต่ละช่วงเวลาจะไม่ถึงกับตกลงมามากนักตามระยะเวลาที่ทดสอบ โดยลงมาแตะที่ช่วง 20 fps ตอนวินาทีที่ 50 ส่วนของ iPad Air M2 จะสูงสุดอยู่ที่ 23 fps โดยเมื่อทดสอบผ่านไปประมาณ 30 วินาที เฟรมเรตก็ร่วงลงมาจากระดับ 20 fps ลงมาเหลือประมาณ 12 fps เท่านั้น
ตรงจุดนี้ก็จะพอทำให้เห็นภาพคร่าว ๆ ว่าชิป M4 ใน iPad Pro รุ่นปี 2024 นี้มีทั้งความแรงที่ยกระดับขึ้นจากเดิม และการจัดการความร้อนก็ทำได้ดีขึ้นด้วย ทำให้สามารถรักษาระดับประสิทธิภาพด้านกราฟิกให้อยู่ในระดับเสถียรได้นานขึ้น
ความเร็วในการเข้าถึง การอ่านเขียนข้อมูลบนชิปสตอเรจของ iPad Pro ชิป M4 เองก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน จากการทดสอบด้วย Jazz Disk Bench Lite พบว่าสามารถทำความเร็วในการอ่านได้ 2,844 MB/s และการเขียนที่ 2,829 MB/s
ต่อมาผมก็ลองทดสอบด้วยการสั่ง export รูปไฟล์ RAW ที่ผ่านการปรับสีปรับแสง + sharpen + ใส่ลายน้ำ + เปลี่ยนชื่อไฟล์ด้วย Adobe Lightroom โดยมีจำนวนทั้งหมด 111 ภาพ แล้วจับเวลาเทียบกันแต่ละเครื่องว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ เริ่มตั้งแต่เริ่มกดสั่งจนถึง export เสร็จ ซึ่งจะนับตอน export รอบที่สองนะครับ เพราะเป็นการซิงค์ library รูปผ่านคลาวด์ ทำให้ในการ export รอบแรกจะต้องมีการไปดึงข้อมูลภาพจากคลาวด์มาก่อน ดังนั้นจึงเลือกใช้การจับเวลาที่การ export รอบสองแทน
เวลาที่แต่ละเครื่องใช้จริงมีดังนี้
- iPad Pro ชิป M4 เครื่องที่ทดสอบ = 2 นาที 25 วินาที
- iPad Air M2 256GB = 4 นาที 55 วินาที
- iPhone 15 Pro 128GB = 8 นาที 45 วินาที
- MacBook Pro 14″ M1 Pro = 0 นาที 56 วินาที
- พีซี AMD Ryzen 5 5600 + RTX 3060 Ti + NVMe SSD = 1 นาที 16 วินาที
ในการเล่นเกมบน iPad Pro ชิป M4 หน้าจอ 11″ ก็เป็นสิ่งที่หลายคนสนใจ ซึ่งด้วยความแรงของตัวชิปที่จัดว่าเป็นเทคโนโลยีล่าสุดของ Apple ในขณะนี้แล้ว ทำให้ถ้าเป็นพวกเกมที่ออกแบบมาเพื่อมือถือ แท็บเล็ต อันนี้คือสามารถเล่นที่กราฟิกระดับสูงได้สบายมาก จะปรับกราฟิกระดับสูง เฟรมเรตสูง เอฟเฟกต์ภาพแบบจัดเต็มก็ทำได้สบาย จะมีปัจจัยที่อาจส่งผลกับการเล่นเกมติดต่อกันยาว ๆ หน่อยก็คือเรื่องความร้อนสะสมอันเกิดมาจากการรีดประสิทธิภาพกราฟิกอย่างหนักหน่วง ซึ่งก็อาจส่งผลให้เกิดอาการเฟรมตกบ้างเล็กน้อย รวมถึงยังกินแบตเยอะเกินความจำเป็นด้วย ดังนั้นถ้าหากต้องการเล่นเกมนาน ๆ ได้แบบสบายใจ แม้ว่าสเปคเครื่องจะสูงเหลือกินเหลือใช้ แต่การปรับกราฟิกที่ลดลงมาจากระดับสูงสุดซักหน่อย เอาให้อยู่ในระดับที่เล่นแล้วไม่ขัดสายตา แล้วเน้นให้เฟรมเรตนิ่ง ๆ น่าจะเป็นจุดที่ลงตัวสำหรับการเล่นเกมบนแท็บเล็ตมากกว่าการเล่นแบบปรับสุด
ส่วนถ้าต้องการลองเกมที่รีดประสิทธิภาพทั้งเครื่องได้สุดจริง ๆ ในขณะนี้ก็คงต้องอาศัยพวกเกมระดับ AAA ที่พอร์ตมาจากพีซีและเครื่องเกมคอนโซล อาทิเกมตระกูล Resident Evil ที่มีภาคหลักมาลงให้ถึง 3 ภาคแล้ว รวมถึงเกมล่าสุดที่เพิ่งเปิดให้โหลดจากใน App Store ได้ไม่นานอย่าง Assassin’s Creed Mirage ซึ่งเกมเหล่านี้สามารถโหลดมาลองเล่นช่วงต้นของเกมได้ฟรี หากติดใจก็ค่อยกดซื้อเพื่อเล่นเกมตัวเต็มต่อได้ภายหลัง
ซึ่งในการรีวิว iPad Pro M4 ครั้งนี้ผมก็ลองเล่นเกม Resident Evil 4 Remake ดู ค่ากราฟิกก็ใช้ตามที่เกมตั้งมาให้ (จริง ๆ คือไม่มีให้ปรับ) และทำให้พบว่าผมสามารถเล่น RE4 Remake ตั้งแต่เริ่มเกม จนจบช่วงเล่นฟรีตอนที่ระฆังในหมู่บ้านดังได้เป็นครั้งแรกของการเล่นบน iDevice เลย ด้วยเฟรมเรตที่ทำได้ประมาณ 30 fps แบบค่อนข้างนิ่ง ถึงเป็นช่วงชุลมุนก็ยังสามารถยิง หลบ วิ่งและ parry ได้แบบเดียวกับตอนที่เล่นบน PS5 เลย จะมีเฟรมตกบ้างก็แค่ช่วงสั้น ๆ แต่ภาพรวมคือสามารถเล่นได้จริง แม้เฟรมเรตจะถูกตัวเกมบังคับจำกัดไว้แค่ 30 fps ก็ตาม ในขณะที่เครื่องอื่นที่ลองเล่นมาก่อนหน้านี้อย่าง iPhone 15 Pro และ iPad Air M2 ต้องบอกเลยว่าพบปัญหาเฟรมเรตตกตอนชุลมุนจนส่งผลกับความสนุกในการเล่นจริง ๆ
อีกเกมที่มีโอกาสได้ลองเพราะเพิ่งเปิดวางขายใน App Store ช่วงที่รีวิวพอดีก็คือ Assassin’s Creed Mirage ที่เปิดให้เล่นช่วงต้นของเกมได้ฟรีเช่นกัน สำหรับเกมนี้จะมีตัวเลือกให้ปรับกราฟิกได้พอประมาณ โดยค่าเริ่มต้นจะให้มาที่ระดับกลาง ซึ่ง iPad Pro ชิป M4 ก็ทำได้ดีมาก เฟรมเรตดูด้วยสายตาน่าจะวิ่งที่ 30 fps แบบค่อนข้างนิ่งตลอดเวลา แม้จะเป็นช่วงเดินอยู่ในตลาดหรือขณะที่กำลังวิ่งแบบฟรีรันนิ่งก็ตาม ส่วนถ้าปรับกราฟิกขึ้นไประดับสูง ภาพที่ได้ก็จะดูมีรายละเอียดสวยงามมากขึ้น แถมเฟรมเรตก็ยังลื่นเช่นเดิมด้วย เรียกว่าอยู่ในระดับที่เล่นได้สบาย อาจจะมีช่วงเฟรมเรตตกลงมาบ้างแต่ก็ไม่น่าจะเยอะมากนัก ภาพรวมแล้วยังดูลื่นตาอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม หากต้องการเล่นเกมที่พอร์ตมาเหล่านี้ แนะนำว่าให้หาจอยคอนโทรลเลอร์มาเล่นนะครับ ไม่แนะนำให้ใช้ปุ่มแบบสัมผัสบนหน้าจอเท่าไหร่ ยิ่งใช้จอยที่ทำงานร่วมกับ iPadOS ได้แบบ 100% อย่าง PlayStation, Xbox, Nintendo Switch ได้ก็ดี เพราะสามารถเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ได้สะดวกมาก หรือจะหาจอยจาก 3rd party มาใช้ก็ได้เช่นกัน
เรื่องของความร้อน จากภาพด้านบนจะเป็นการวัดอุณหภูมิฝาหลังขณะที่เครื่องกำลังทดสอบ 3DMark Steel Nomad Light แบบ stress test 20 รอบอยู่ โดยวัดที่อุณหภูมิอากาศปกติ จุดที่อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่บริเวณเยื้องซ้ายบนของโลโก้ Apple ด้านหลังเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 44 องศาเซลเซียส ซึ่งจะน้อยกว่า iPad Air M2 ที่รีวิวไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 องศา ส่วนบริเวณมือจับทั้งสองฝั่งหน้าจอ จำลองว่าเป็นการจับเครื่องขณะเล่นเกม จะวัดได้ที่ประมาณ 39 องศาเซลเซียส
ปิดท้ายเรื่องประสิทธิภาพด้วยแบตเตอรี่ แน่นอนว่าเรื่องระยะเวลาการใช้งานก็จะยังอยู่ในเกณฑ์ของ iPad ที่คุ้นเคยกันดี ยิ่งถ้าใช้ทำงานทั่วไป อันนี้คือสามารถใช้ข้ามวันได้แน่นอน ส่วนการชาร์จไฟเข้าเครื่อง จากที่ทดสอบการชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ชาร์จที่จ่ายไฟได้สูงสุด 65W พบว่า iPad Pro ชิป M4 สามารถรับกำลังไฟเข้าเครื่องได้สูงสุดราว 38W (ประมาณ 14.8V 2.57A) ทำให้ถ้าหากต้องการชาร์จ iPad ให้เร็วแบบเต็มประสิทธิภาพที่สุด ก็อาจจะลองหาอะแดปเตอร์ USB-C PD ที่มีมาตรฐาน สามารถจ่ายไฟได้สูงสุดตั้งแต่ 45W ขึ้นไปมาไว้ซักตัวก็ดีครับ ราคาหลักร้อยก็สามารถหาซื้อได้แล้ว ขนาดก็ไม่ใหญ่มากนัก เมื่อเทียบกับอะแดปเตอร์ 20W ที่ให้มาในกล่อง
แต่ถ้าไม่รีบชาร์จ แล้วต้องการความชัวร์ อะแดปเตอร์ 20W ที่แถมมาก็ตอบโจทย์ได้ดีมากแล้ว สามารถหยิบมาใช้ได้เลย
กล้อง iPad Pro ชิป M4
กล้องหลังของ iPad Pro ชิป M4 ก็ถือว่าทำได้ดีเมื่อมองว่าเป็นกล้อง iPad ทีเดียว กับการเก็บแสงและสีสันต่าง ๆ ภาพที่ได้ก็จะดูมีโทนที่เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์จาก Apple แบบชัดเจนอยู่
ในสภาพแสงที่ค่อนข้างสว่าง แสงเงาไม่ซับซ้อนมากนัก กล้องหลังของ iPad Pro รุ่นล่าสุดนี้ก็สามารถทำหน้าที่ได้โอเคเลย แต่ถ้าซูมเพื่อดูจุดเล็ก ๆ ในภาพอาจจะยังได้รายละเอียดที่ไม่คมชัดมากนัก
ภาพถ่ายกลางคืนก็เป็นไปตามมาตรฐานของกล้อง iPad ในยุคหลัง ถ้าเทียบกับฝั่ง iPhone น่าจะค่อนข้างใกล้เคียงกับยุคตั้งแต่ iPhone 11 ถอยหลังลงไป
ส่วนถ้าในจุดที่พอมีแสงประมาณนึง ถ่ายวัตถุที่ใกล้เข้ามาหน่อยก็สามารถทำได้ในระดับที่ค่อนข้างดี การโฟกัสทำได้ตรง แต่รายละเอียดอาจจะไม่คมกริบเท่ากล้องมือถือ
กล้องหน้าของ iPad Pro ชิป M4 จะรองรับโหมด Portrait ที่สามารถเลือกระยะชัดตื้นชัดลึกแบบใช้การจำลองขึ้นมาได้ โดยใช้ข้อมูลจากกล้อง TrueDepth เพื่อวัดระยะของบุคคลกับพื้นหลัง ทำให้สามารถจิ้มเลือกจุดชัด ปรับสภาพแสงจำลองต่าง ๆ ได้เหมือนกับใน iPhone เลย ส่วนความเนียนในการเกลี่ยขอบก็ทำได้โอเคครับ จะมีหลุดบ้างก็ตรงปลายเส้นผม และเส้นต่าง ๆ ที่อยู่ชิดกับตัวแบบ
ด้านล่างนี้คือภาพตัวอย่างจากกล้องของ iPad Pro M4 สามารถคลิกชมแต่ละภาพในแกลเลอรี่ได้เลย
สรุปปิดท้ายรีวิว iPad Pro M4 11″
ทั้งหมดก็คือรีวิว iPad Pro ของปี 2024 แท็บเล็ตรุ่นล่าสุด แน่นอนว่า 4 สิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์และได้รับการพูดถึงมากที่สุดก็คือ
- ตัวเครื่องที่บางและเบามาก ติดอันดับผลิตภัณฑ์ที่มีความบางที่สุดเท่าที่ Apple เคยทำมา
- ชิปประมวลผลรุ่นใหม่ล่าสุดในขณะนี้อย่าง M4 พร้อมสมรรถนะทั้ง CPU, GPU และ Neural Engine ที่สูงกว่ารุ่นก่อน มีแบนด์วิธหน่วยความจำที่กว้าง ทำให้มีความเร็วสูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกับการทำงานหนัก ๆ
- หน้าจอ โดยเป็น iPad รุ่นแรกที่ใช้พาเนล OLED แถมยังตีบวกขึ้นไปอีกด้วยการใช้เป็นแผง OLED สองชั้นซ้อนกัน ใช้ชื่อเรียกเทคนิคว่า Tandem OLED เพื่อให้ได้ภาพที่สว่างขึ้น สีสันสวยงามกว่าที่ผ่านมา โดยที่ยังมี ProMotion รีเฟรชเรตสูงสุด 120Hz อยู่ รวมถึงยังมีผิวกระจกนาโนให้เลือกด้วย
- การย้ายตำแหน่งกล้องหน้ามาไว้ตามแนวนอน โดยที่สามารถสแกน Face ID เพื่อปลดล็อกหน้าจอได้สะดวก แม้จะถือเครื่องในแนวตั้งก็ตาม (ขอแค่มือไม่บังเซ็นเซอร์)
ซึ่งทั้งหมดคือเรียกได้ว่ามาช่วยเสริมให้ iPad Pro ชิป M4 เป็น iPad ที่ทรงพลังแบบขีดสุดในปัจจุบัน เรียกได้ว่าแทบจะเกินความต้องการของผู้ใช้งานทั่วไปขึ้นไปอีก ประกอบกับราคาเปิดมาที่ 39,900 บาทในรุ่น 11″ 256GB Wi-Fi จึงอาจจะดูว่าเป็น iPad รุ่นที่ราคาสูงไปซักนิดสำหรับตลาดผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการซื้อ iPad มาใช้งานสัพเพเหระ ใช้เพื่อความบันเทิง ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม ทำงานเอกสารผ่านแอปต่าง ๆ ไปจนถึงใช้ตัดต่อคลิปสั้นเพื่อลงในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพราะต้องบอกว่าในการใช้งานระดับนั้น iPad Air M1 และ iPad 10th Gen ก็สามารถรองรับได้แทบทั้งหมด โดยเฉพาะกับ iPad Air M2 ที่จริง ๆ แล้วมันก็คือชิปประมวลผลซีรีส์เดียวกับ iPad Pro รุ่นก่อนหน้านี้เลย แม้จะมีความแตกต่างกันในเชิงเทคนิคอยู่บ้าง ทำให้ประสิทธิภาพลดหลั่นลงมาเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงแบบเหลือกินเหลือใช้อยู่ดี
นั่นทำให้การที่ Apple ส่ง iPad Pro 2024 ออกมารอบนี้ จึงดูเป็นเหมือนการเข้ามาสร้างเส้นแบ่งตลาดระหว่าง consumer + pro consumer กับตลาด professional ให้ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็เพราะฮาร์ดแวร์ของ iPad Air เองก็สเปคสูงพอตัว ตอบโจทย์การใช้งานกลุ่มแรกได้ทั้งหมดอยู่แล้ว อีกส่วนก็มาจากการกำหนดสเปค iPad Pro รุ่นใหม่ให้สูงโดดจากผลิตภัณฑ์อื่นของตนไปเลย และการตั้งราคาที่ยกระดับขึ้นไปอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการซื้อ iPad Pro ไปใช้เพิ่มความสะดวก ความรวดเร็วให้กับงานของตนเองจริง ๆ และที่ผ่านมาพบข้อจำกัดด้านสเปคจาก iPad Pro รุ่นก่อนหน้า ก็เชื่อว่างานที่ต้องการพลังระดับนี้น่าจะอยู่ในกลุ่มของงานที่สามารถคืนทุนได้ในเวลาไม่นาน และน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ตอบโจทย์ของ Apple ที่เล็งผู้ใช้งานกลุ่มนี้อยู่ สังเกตจากการนำเสนอในงานเปิดตัวและจากสื่อโฆษณาที่ออกมา
ส่วนถ้าเป็นผู้ใช้งานทั่วไป แล้วอยากได้ iPad Pro ชิป M4 โดยที่มีกำลังทรัพย์ซื้อได้ จริง ๆ ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดครับ เพราะสเปคต่าง ๆ คุณสมบัติของเครื่องนั้นอยู่ในระดับ max สุดในขณะนี้ของสาย iPad แล้ว เรียกว่าใช้ไปก็คงไม่ผิดหวัง เว้นแต่ว่าคุณจะจำเป็นต้องใช้กล้องหลังที่เป็นเลนส์อัลตร้าไวด์เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม หนึ่งข้อที่อยากฝากไว้พิจารณาสำหรับผู้ที่จะซื้อ iPad Pro M4 มาใช้งานนะครับ แนะนำว่าควรซื้อแพ็คเกจการรับประกันเพิ่ม โดยเฉพาะแพ็คเกจ AppleCare+ ที่ของรุ่นหน้าจอ 11″ อยู่ที่ 5,990 บาท ส่วนรุ่นจอ 13″ อยู่ที่ 6,790 บาทเพื่อเพิ่มการรับประกันเป็น 2 ปี และช่วยลดค่าใช้จ่ายในกรณีที่ต้องส่งซ่อม เช่นการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สำหรับ iPad Pro ชิป M4 11″ ในกรณีที่มี AppleCare+ อยู่ จะไม่มีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแบตเลย แต่ถ้าไม่มีก็จัดไปเต็ม ๆ 7,190 บาท แต่ที่น่ากลัวสุดคือหน้าจอแตกครับ ด้วยรอบนี้เป็นพาเนลที่มีความซับซ้อนกว่า IPS และ Mini-LED ที่ผ่าน ๆ มา แถมในเว็บไซต์ Apple ก็ไม่มีแจ้งราคาค่าเปลี่ยนไว้ด้วย แต่ถ้ามี AppleCare+ อยู่ก็จะเหลือจ่ายแค่เพียง 1,000 บาทเท่านั้น เชื่อว่าน่าจะประหยัดลงมาได้เป็นหลักหมื่นทีเดียว
ดังนั้นถ้าจะซื้อ iPad Pro M4 ก็อย่าลืมเผื่อเงินไว้ซื้อ AppleCare+ ก็ดีครับ รอบนี้ตัวเครื่องยิ่งบางลง เสี่ยงต่อการงอได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีก จุดนี้ก็ขอฝากไว้ทิ้งท้ายรีวิวนิดนึงแล้วกันนะ