เมื่องานเปิดตัว iPad รุ่นใหม่ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจมากก็คือ iPad 8th Generation ที่เป็นการปรับสเปคของรุ่นก่อนหน้าให้มีดีขึ้น ในขณะที่ราคายังอยู่ในช่วงเดิม เพื่อจับกลุ่มตลาดผู้ที่ต้องการ iPad จอใหญ่ราคาไม่สูง ซึ่งตอนนี้ Apple ก็ได้เปิดวางจำหน่ายรุ่น WiFi ในไทยไปเรียบร้อยแล้วครับ โดยทางเราก็ได้รับเครื่องมารีวิวกันอีกเช่นเคย และหวังว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งบทความที่ช่วยในการตัดสินใจซื้อของหลาย ๆ ท่านได้บ้าง
สำหรับ iPad 8 นั้น Apple วางไว้ให้เป็นแท็บเล็ตที่ตอบโจทย์การใช้งานแท็บเล็ตพื้นฐานได้อย่างครบครัน ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ถึง 10.2″ ชิปประมวลผลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แบตอึด แล้วยังใช้งานร่วมกับ Apple Pencil ได้เหมือนเดิมด้วย โดยสเปค iPad 8 ที่น่าสนใจก็มีดังนี้ครับ
สเปค iPad 8
- ชิปประมวลผล Apple A12 Bionic
- หน้าจอ IPS ขนาด 10.2″ ความละเอียด 2160×1620 ความสว่างสูงสุด 500 nits
- แรม 3 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูลมีให้เลือกทั้ง 32 และ 128 GB
- รองรับ Apple Pencil รุ่น 1
- กล้องหลัง 8 MP f/2.4 ออโต้โฟกัส ถ่ายวิดีโอได้ที่ 1080p 30fps
- กล้องหน้า 1.2 MP f/2.4
- ลำโพงสเตอริโอ
- WiFi 802.11a/b/g/n/ac รองรับทั้ง 2.4 และ 5 GHz
- Bluetooth 4.2
- รุ่น Cellular รองรับ 4G/3G/2G
- มีปุ่ม Touch ID และยังมีช่อง 3.5 มม. อยู่
- แบตเตอรี่ 32.4 Whr รองรับการชาร์จผ่านพอร์ต Lightning
- มาพร้อม iPadOS 14
- มีขั้ว Smart Connector
- มีให้เลือก 3 สี คือสีเงิน สีเทาสเปซเกรย์ และสีทอง
- ราคารุ่นความจุ 32 GB WiFi อยู่ที่ 10,900 บาท
- ราคารุ่นความจุ 128 GB WiFi อยู่ที่ 13,900 บาท
สำหรับเรื่องสเปคนั้น ความเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ก็คือมีการเปลี่ยนไปใช้ชิป Apple A12 Bionic ซึ่งเป็นชิปรุ่นเดียวกับ iPad mini 5 รวมถึงกลุ่ม iPhone XS และ iPhone XR ด้วย ซึ่งตัวผมเองที่ใช้ iPad mini 5 อยู่ก็บอกได้เลยว่าชิป A12 มันแรงเหลือเฟือสำหรับการใช้งานแทบทุกประเภทเลยครับ ทำให้มั่นใจได้ว่าซื้อใหม่รอบนี้ คงจะใช้ไปได้อีกยาว ๆ แน่นอน
ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ นั้น แทบจะไม่ได้แตกต่างจาก iPad 7 มากนักครับ อะไรที่เคยใช้งานได้ ก็ยังรองรับอยู่อย่างครบถ้วน ทั้งเรื่องการเขียนหน้าจอด้วย Apple Pencil และการเชื่อมต่อคีย์บอร์ดผ่านขั้ว Smart Connector
กล่อง iPad 8 ยังคงใช้สีขาวเป็นสีหลักเหมือนเดิม รูปตัวเครื่องหันข้างจะแสดงสีของเครื่องจริงภายในกล่อง ส่วนฉลากด้านหลังก็จะระบุชัดเจนเลยว่าเป็น iPad 8th Generation Wi-Fi นอกจากนี้ยังระบุอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องด้วย ได้แก่
- ตัวเครื่อง iPad
- สาย USB-C to Lightning
- อะแดปเตอร์ชาร์จไฟแบบ USB-C
ใช่ครับ ยังแถมอะแดปเตอร์อยู่ สบายใจได้
เมื่อแกะภายในกล่อง ก็จะพบกับอุปกรณ์เสริมทั้งสองวางอยู่ในช่องใต้ตัวเครื่องและซองเอกสารต่าง ๆ สำหรับสาย Lightning ก็ยังคงมีความยาว 1 เมตรตามมาตรฐาน ส่วนอะแดปเตอร์ รอบนี้พิเศษกว่าเดิม เพราะ Apple ได้เปลี่ยนมาแถมอะแดปเตอร์ USB-C ที่จ่ายไฟได้สูงสุด 20W มาให้ ทำให้สามารถชาร์จได้เร็วขึ้น เพราะรองรับการจ่ายไฟสูงสุดที่ระดับ 5V 3A กับ 9V 2.2A
ซึ่งเจ้าอะแดปเตอร์ตัวนี้สามารถนำไปใช้ชาร์จ iPhone และ iPad รุ่นอื่นได้สบายมาก ส่วนถ้าต้องการซื้อเพิ่ม ก็เข้าไปซื้อที่หน้าเว็บ Apple Store Online หรือจะไปที่หน้าร้านก็ได้ สนนราคาที่ 690 บาท
ตัวเครื่อง
รูปร่างหน้าตาของ iPad 8 ก็ยังคงเป็นสไตล์ที่ทุกคนคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ iPad รุ่นแรก คือเป็นแท็บเล็ตที่จอใหญ่พอสมควร มีขอบจอ 4 ด้าน และมีปุ่มโฮมอยู่ด้านล่างสุด ซึ่งถ้าวางเทียบกับ iPad 7 ก็คงแยกเครื่องได้ยากอยู่เหมือนกัน ส่วนกล้องหน้าก็ยังคงวางไว้ที่กึ่งกลางของขอบจอฝั่งบนครับ ทำให้หน้าตาดูสมมาตรกันทั้งหมด
อัตราส่วนจอยังคงเป็น 4:3 เหมือนเดิม ทำให้เวลาดูหนังก็จะมีขอบดำที่หนาซักนิดนึง แต่ถ้าใช้ทำงาน ใช้จดบันทึก หรือใช้เล่นโซเชียลแอปต่าง ๆ ต้องบอกว่ามันกว้างสะใจกว่าจอ 16:9 เยอะ
ส่วนลำโพงติดเครื่องนั้น แม้ว่าจะให้เสียงแบบสเตอริโอ แต่ด้วยการออกแบบที่วางให้ลำโพงไปกองอยู่ที่ข้างพอร์ต Lightning หมด เลยทำให้เสียงไปออกรวมกันที่ฝั่งเดียว ดังนั้นถ้าวางเครื่องในแนวนอน ก็อาจจะเสียมิติเสียงไปนิดนึงครับ แต่เรื่องระดับเสียงนี่ดังได้ใจ ดูหนังฟังเพลงในห้องปิดได้สบาย
ถ้าสังเกตดี ๆ กลุ่ม iPad รุ่นปกติมักจะมาพร้อมพาเนลจอที่อยู่ลึกกว่าแผงกระจกเล็กน้อย ต่างจากพวกจอ Full Lamination เช่น iPad mini 5 และกลุ่ม iPad Pro ที่หน้าจออยู่ติดผิวกระจกมากกว่า ซึ่ง iPad 8 ก็ยังเป็นอยู่ครับ แต่ส่วนตัวผมว่ามันดูชิดกระจกกว่า iPad 7 นิดนึง ถ้าไม่สังเกตดี ๆ ก็แทบไม่เห็นเลย ต้องมาดูตรงมุมจออย่างในภาพด้านบน ที่จะสังเกตว่ามีขอบสีเทาแทรกอยู่ตรงกลางระหว่างภาพกับขอบกระจกจอสีดำ
ด้านของสีสันจากจอก็ถือว่าทำได้ดีมากสำหรับจอ IPS เลย ผมลองเทียบกับ iPad mini 5 แล้วก็พบว่าแทบไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ความสว่างก็อยู่ในระดับที่ใช้งานกลางแจ้งได้
แต่จะมีข้อสังเกตนิดนึงคือจอนั้นไม่ได้รองรับขอบเขตการแสดงสีที่กว้างถึงระดับ P3 รวมถึงจะไม่มีฟังก์ชันการปรับโทนสีภาพแบบ True Tone ด้วยนะ
ปุ่มโฮมเป็นแบบกดลงไปได้จริง โดยมีเซ็นเซอร์ Touch ID สำหรับการสแกนนิ้วอยู่ด้วย
การสัมผัส การใช้งาน iPad 8 ก็ไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้ามากครับ มิติและน้ำหนักตัวเครื่องก็เกือบจะเท่าเดิม ขอบจอที่ค่อนข้างหนาก็ช่วยให้สามารถจับได้ถนัดมือขึ้น แต่ถึงแม้จะมีปลายนิ้วล้ำเข้าไปตรงขอบจอก็ไม่เป็นไร เพราะ iPad ทุกรุ่นจะมีระบบช่วยตรวจจับการสัมผัสบริเวณขอบจอให้อยู่แล้ว เพื่อป้องกันการแตะสั่งงานโดยไม่ได้ตั้งใจ
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่ใน iPadOS 14 ก็คือการใส่ widget เข้ามาในหน้าจอได้ โดยสำหรับกลุ่มของ iPad จะแตกต่างจาก iPhone ตรงที่ไม่สามารถลาก widget มาวางปนกับไอคอนแอปได้ครับ โดยถ้าเปิดให้แสดง widget ก็จะแอบอยู่ทางฝั่งซ้าย ซึ่งจะปรากฎขึ้นมาตอนที่ปรับจอเป็นแนวนอน ส่วนถ้าใช้เครื่องในแนวตั้งอยู่ ก็ต้องอาศัยการปาดหน้าจอจากซ้ายไปขวา เพื่อเปิดหน้ารวม widget ขึ้นมาแทน
พูดถึง iPad mini 5 แล้ว ลองจับมาเทียบขนาดดูบ้างครับ เล็กกว่ากันอย่างเห็นได้ชัดเลย ซึ่งด้วยหน้าจอที่มีขนาดถึง 10.2″ ของ iPad 8 จึงน่าจะทำให้เหมาะกับการจดเลกเชอร์ การขีดเขียนลงไปในไฟล์ PDF มากกว่า ด้วยสเกลการแสดงผลที่ใหญ่กว่า ช่วยให้เขียนง่ายกว่าจอของ iPad mini 5 นิดนึง แต่หลัก ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดส่วนบุคคลครับ เพราะตัวผมเองถนัดจอ iPad mini มากกว่านิดนึง
ฝาหลังยังคงเป็นอะลูมิเนียมทั้งชิ้นเหมือนเดิม ขอบมุมทุกด้านมน ทำให้สามารถจับถือได้ง่าย กล้องหลังตัวเดียววางไว้ตรงมุมซ้ายบนสุด สำหรับเครื่องที่รีวิวนี้เป็นสีเทาสเปซเกรย์นะครับ สีจริงจะออกดำกว่านี้นิดนึง
ด้านล่างมีสกรีนคำว่า iPad พร้อมกับรหัสโมเดล และก็เลข serial number ของตัวเครื่องเอาไว้
บริเวณขอบด้านบนจะมีช่อง 3.5 มม. ช่องรับเสียงของไมค์ และก็ปุ่ม Power อยู่ตรงมุมขวาบน เหนือกล้องหลังพอดี
ฝั่งขวาบนจะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงวางอยู่ใกล้กัน ไม่มีสวิทช์เปิด/ปิดเสียงมาให้
ส่วนฝั่งซ้ายของจอ จะมีเพียงขั้ว Smart Connector อยู่ตรงกลางเท่านั้น ซึ่งหน้าที่หลัก ๆ ก็คือเอาไว้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริม เช่น Smart Keyboard ของ Apple เป็นต้น ทำให้สามารถใช้งานในลักษณะใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊กได้
ขอบล่างจะเป็นตำแหน่งของลำโพงทั้งสองตัว และก็ช่อง Lightning ที่อยู่ตรงกลาง
iPad 8 รองรับการใช้งานร่วมกับ Apple Pencil 1 เหมือนกับใน iPad 7 ที่เป็นรุ่นก่อนหน้านี้ โดยลักษณะการจับคู่ การใช้งานจริงก็เหมือนเดิมเลยครับ เพียงแค่เสียบหัวปากกาเข้ากับพอร์ต Lightning ของเครื่อง จากนั้นระบบก็จะทำการจับคู่ให้อัตโนมัติ
โดยตัว Apple Pencil นี้ ถ้านำมาใช้ทำงาน ใช้จด ใช้วาดเขียน ผมมองว่าเป็นอุปกรณ์เสริมที่ควรซื้อเป็นอย่างยิ่งครับ หนึ่งเลยคือความเข้ากันได้ที่ซื้อมาแล้วก็มั่นใจว่าใช้งานได้แน่นอน สองคือ iPadOS 14 เองก็มาพร้อมกับฟังก์ชันใหม่ที่มีให้กับ Apple Pencil ด้วย
พูดถึงแง่การใช้งานทั่วไปก่อน จากที่ผมทดสอบมา การลากเส้นบนจอนั้นไม่มีปัญหาครับ เส้นตามติดปลายดินสอได้ดี อาการเพี้ยนแทบไม่เจอ แต่แน่นอนว่าการเขียนจะไม่ลื่นเท่ากับพวก Apple Pencil 2 และ iPad Pro ที่หน้าจอมีฟังก์ชัน ProMotion มาด้วย แต่ถ้าถามว่ามันพอสำหรับการใช้งานทั่วไปมั้ย อันนี้การันตีได้เลยว่าเหลือเฟือ ใช้วาดรูปก็ยังไหวเลย
ฟังก์ชันเกี่ยวกับ Apple Pencil ที่เพิ่มเข้ามาใน iPadOS 14 ก็คือ Scribble ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการพิมพ์ข้อความโดยอาศัยการอ่านลายมือที่ผู้ใช้เขียนไปบนจอ ซึ่งรองรับทั้งการเพิ่ม/ลบตัวอักษร การขีดคร่อมเพื่อเลือกตัวอักษรหรือคำที่ต้องการ การเลือกจุดเพื่อใส่หรือลบเว้นวรรค รวมถึงการแทรกข้อความระหว่างคำได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถจดลายมือแล้วแปลงเป็นการพิมพ์ข้อความได้อย่างรวดเร็วมาก ๆ และสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องสลับระหว่างจับดินสอกับการจิ้มคีย์บอร์ดบนจอเลย
น่าเสียดายที่ตอนนี้ ฟังก์ชัน Scribble ยังไม่รองรับภาษาไทยครับ แต่ถ้าใครที่ต้องจดภาษาอังกฤษอยู่เป็นประจำ บอกเลยว่าเป็นฟังก์ชันที่ต้องลองจริง ๆ โดยสามารถใช้งานได้กับ iPad ที่ใช้หรืออัพเดตเป็น iPadOS 14 ทุกรุ่นที่รองรับการใช้งานร่วมกับ Apple Pencil ได้ทันที
แต่แน่นอนครับ วิธีการชาร์จและการจับคู่ Apple Pencil 1 เข้ากับ iPad 8 ก็ยังคงเป็นแบบเดิมอย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือถอดปลอกตรงหัวออก แล้วเอาปลาย Lightning มาเสียบที่พอร์ตของ iPad ซึ่งก็ต้องทำใจและระวังตอนเสียบชาร์จซักหน่อยแล้วกัน
หรือถ้าจะให้สบายใจกว่า ก็ใช้หัวแปลง Lightning ที่แถมมาในกล่อง Apple Pencil มาเสียบกับสาย Lightning แล้วชาร์จดินสอผ่านทางนั้นแทนก็ได้ครับ แต่การชาร์จไฟเข้าจะช้ากว่ากันนิดนึงนะ
ส่วนระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ของตัวเครื่องเองก็ตามสไตล์ของ iPad ครับ คือใช้ได้แบบข้ามวันเลย ส่วนถ้าเล่นเกมก็จะลดเร็วหน่อย เนื่องด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่ ผมทดสอบด้วยการใช้ชุดชาร์จที่แถมมาในกล่อง (อะแดปเตอร์ 20W) ผลคือใช้เวลาในการชาร์จจากแบต 10% เป็น 93% อยู่ที่ราว ๆ 3 ชั่วโมง
iPad 8 ราคานักศึกษา
กลุ่มที่น่าจะเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของ iPad 8 ก็คือกลุ่มนักศึกษานี่แหละครับ เนื่องจากการเรียนการสอนในหลาย ๆ แห่งได้มีการนำ iPad มาใช้เพิ่มความสะดวกกันมากขี้น จนแทบจะใช้แทนที่คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กกันไปแล้ว รวมถึง environment หลาย ๆ จุดก็ค่อนข้างเอื้อกับ iDevice มากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง Apple เองก็มีโครงการที่ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อการศึกษามานานหลายปีแล้ว โดยหลัก ๆ ก็จะเป็นการลดราคาพิเศษให้กับสินค้าของตนที่สามารถใช้เพื่อการศึกษาได้ เช่น iPad MacBook เป็นต้น บุคลากรด้านการศึกษาสามารถใช้สิทธิ์ได้ นับตั้งแต่ระดับนักเรียนนักศึกษา ไปจนถึงระดับอาจารย์และเจ้าหน้าที่เลย
สำหรับ iPad 8 ก็มีราคานักศีกษาด้วยเช่นกันครับ แบ่งเป็น
- รุ่น 32 GB WiFi ราคาปกติ 10,900 บาท ราคานักศึกษา 10,200 บาท
- รุ่น 128 GB WiFi ราคาปกติ 13,900 บาท ราคานักศึกษา 13,200 บาท
- รุ่น 32 GB Cellular ราคาปกติ 15,400 บาท ราคานักศึกษา 14,700 บาท
- รุ่น 128 GB Cellular ราคาปกติ 18,400 บาท ราคานักศึกษา 17,700 บาท
จะเห็นว่าราคาของทุกรุ่นจะลดลงจากราคาปกติ 700 บาท ก็ถือว่าช่วยเซฟเงินเพื่อไปจ่ายอย่างอื่นได้อยู่เหมือนกัน ส่วน Apple Pencil 1 นั้นราคาเท่าเดิมครับคือ 3,100 บาท
ทีนี้ ถ้าคุณมีแผนจะซื้อชุด iPad 8 มาใช้เพื่อการศึกษาซักเครื่อง หลัก ๆ แล้วถ้าจุดประสงค์หลักคือเพื่อใช้โหลดไฟล์สไลด์ประกอบการเรียนที่ไฟล์ไม่ใหญ่มากนัก ใช้จดเลกเชอร์ ใช้ iPad อ่านไฟล์ PDF รวมถึงใช้ดูหนัง ดูซีรีส์ผ่านแอปพวก Netflix แบบนี้เลือกรุ่นความจุ 32 GB ก็พอไหวครับ แล้วซื้อ Apple Pencil 1 ด้วยอีกแท่งนึง รวมงบเมื่อซื้อด้วยราคานักศึกษาแล้วก็จะอยู่ที่ 13,300 บาท ถ้าต้องการรุ่นใส่ซิมได้ก็จะมียอดรวมที่ 17,800 บาท
แต่ถ้าต้องการใช้แบบอเนกประสงค์ ใช้ประกอบการเรียนด้วย ใช้งานแอปที่ต้องจัดการกับไฟล์ขนาดใหญ่เช่น ไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง เล่นเกมที่ใช้พื้นที่ติดตั้งระดับ GB แนะนำว่าขยับไปเล่นรุ่น 128 GB จะสบายตัวกว่าครับ ราคารวม Apple Pencil 1 ก็จะอยู่ที่ 16,300 บาทสำหรับรุ่น WiFi ส่วนรุ่นใส่ซิมก็จะเป็น 20,800 บาท
ส่วนตัวผมเอง ถ้าให้แนะนำก็คงจะขอเลือกเป็นรุ่น 128 GB WiFi จะเวิร์คสุดครับ เพราะได้พื้นที่เก็บข้อมูลที่เยอะกว่า ส่วนเรื่องเน็ต ถ้าต้องใช้นอกสถานที่จริง ๆ ก็พอจะใช้ hotspot จากมือถือได้อยู่ เพราะจากเครื่องรีวิวที่ทดสอบนี้เป็นรุ่น 32 GB แล้วผมเจอปัญหาเรื่องความจุไม่พออยู่เหมือนกัน พอติดตั้งเกมใหญ่ ๆ อย่างพวก Genshin Impact, ROV, PUBG Mobile และก็ Call of Duty Mobile พร้อมกัน
เข้าไปดูราคาสำหรับนักศึกษาได้ที่นี่
ลองเล่นเกมบน iPad 8
เกมแรกที่พลาดไม่ได้เลยคือ Genshin Impact ครับ ซึ่งจากที่ผมลองเล่นโดยปรับกราฟิกสูงสุดทุกอย่าง และเปิดเฟรมเรตระดับ 60fps ด้วย ผลคือภาพสวยคมชัดเอาเรื่อง การเคลื่อนไหวทำได้ไหลลื่น แต่การหมุนฉากเร็ว ๆ เพื่อปรับมุมมองนั้น ถ้าเป็นการเข้าถึงสถานที่บริเวณนั้นในช่วงแรก ๆ จะเจออาการกระตุกอยู่บ้าง ต้องรอจนระบบโหลดฉากมาเตรียมเรนเดอร์ได้ครบแล้ว จึงจะสามารถหมุนฉากได้อย่างไหลลื่น ส่วนระหว่างการเล่น ตัวเครื่องบริเวณกลาง ๆ จอก็ร้อนอยู่เหมือนกัน
ดังนั้น ถ้าจะเล่นเกม Genshin Impact ก็แนะนำว่าปรับลดพวกความละเอียดลงหน่อยจะดีกว่า แล้วค่อยเปิดโหมด 60fps ครับ จะได้เล่นได้แบบไม่เสียอารมณ์
ต่อมาก็เป็นเกม PUBG Mobile ผมเล่นด้วยความละเอียดสูงสุดเท่าที่จะสามารถปรับบน iPad เครื่องนี้ได้ คือภาพที่ระดับ Ultra HD และเฟรมเรตระดับ Ultra ผลคือเกมลื่นดีมาก ไม่เจอปัญหาแต่อย่างใด
ส่วน RoV ก็ไม่มีปัญหาครับ พอโหลดพวกไฟล์โมเดลระดับ HD มาครบแล้วก็เปิดกราฟิกทุกอย่างระดับสูงสุดได้เลย เฟรมเรตในเกมจะวิ่งอยู่ที่ 58-60fps ส่วนอีกเกมที่ผมเล่นอย่าง Call of Duty Mobile ก็สบายเช่นกัน คิลได้เป็นว่าเล่น ไม่เจออาการแล็กเลย เอาเป็นว่าถ้าอยากเล่นเกมบนแท็บเล็ตจอใหญ่ ๆ iPad 8 ตอบโจทย์ได้เลย แต่ในบางสถานการณ์ก็อาจจะเทอะทะไปนิดนึงครับ โดยเฉพาะเมื่อใส่เคส (อีกทางเลือกหนึ่งคือ iPad mini ที่จอเล็กกว่า สเปคเท่า ๆ กัน แต่ราคาสูงกว่ากันหน่อย)
ทดสอบความแรง
เครื่องที่ทางเราได้รับมารีวิวเป็นรุ่นความจุ 32 GB WiFi มาพร้อม iPadOS 14 ตั้งแต่แรกเริ่มเลยครับ พื้นที่เก็บข้อมูลเมื่อเปิดเครื่องมา เหลือให้ใช้งานได้จริงประมาณ 24.5 GB เท่านั้น ก็พอจะลงแอปใช้งานทั่วไปได้ครบหมด แต่อาจจะตึง ๆ หน่อยถ้าลงเกมขนาดใหญ่ โดยเท่าที่ผมลองลงทั้ง 4 เกมหลักที่ใช้ทดสอบ ก็สามารถลงได้ครบหมด แต่พื้นที่ว่างในเครื่องจะเหลือน้อยมากจนไม่สะดวกในการทำงานบางอย่างไปเลย
คะแนนทดสอบจากแอป GeekBench 5 ส่วนของ single core ได้ 1,116 คะแนน ส่วน multi core ได้ 2,473 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับ iPad mini 5 ของผมที่ใช้ชิป A12 เหมือนกัน แต่เอาจริง ๆ คะแนนส่วน multi core ของ iPad 8 จะน้อยกว่าอยู่เกือบ ๆ 200 คะแนนด้วยกัน
ต่อมาเป็นแอป AnTuTu ครับ ซึ่งทำไปได้เกือบ 400,000 คะแนน เมื่อเทียบกับชาร์ทของ AnTuTu เองก็อยู่ในระดับที่เหนือกว่า iPad Pro 2 (10.5″) อยู่พอสมควร และใกล้เคียงกับพวก iPhone XR ที่ใช้ชิป A12 Bionic เหมือนกัน แต่ที่แปลกใจคือ iPad mini 5 ของผมที่ใช้ชิปเดียวกัน ดันทำคะแนนได้เกือบ 470,000 คะแนนเลย ซึ่งจากที่ลองเทียบคะแนนแต่ละด้านแล้ว พบว่าคะแนนส่วน MEM (หน่วยความจำ) ของ iPad mini 5 นั้นสูงกว่าเกือบเท่าตัว ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดมากขึ้น จะพบว่าคะแนนด้านการอ่าน/เขียน/เข้าถึง ROM แบบสุ่มนั้นต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เลยอาจจะพอสรุปได้ว่าชิปเก็บข้อมูล (storage) ของ iPad 8 อาจจะมีการลดสเปคลงจาก iPad mini 5 พอสมควร
ส่วนคะแนน GPU อันที่จริงก็มีความแตกต่างกันครับ แต่พอจะเข้าใจได้ เนื่องจากจอของ iPad รุ่นปัจจุบันมีจำนวนพิกเซลมากกว่า เลยต้องใช้พลังในการเรนเดอร์ที่สูงขึ้นด้วย ทำให้เมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นอื่นที่ใช้ GPU รุ่นเดียวกัน แต่พื้นที่ที่ต้องทำงานมีน้อยกว่า จะทำให้คะแนนของเครื่องนี้น้อยกว่ากันนิดหน่อย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคะแนนการทดสอบจะออกมาผิดคาดอยู่บ้าง แต่อันที่จริงมันก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูงอยู่ดีครับ สามารถใช้งานทั่วไป ใช้เล่นเกมในยุคปัจจุบันได้สบายมาก การเปิดปิดแอปก็ยังไหลลื่นในสไตล์ของ iDevice ยุคปัจจุบันอยู่
ตามปกติแล้วผมจะทำรูปประกอบรีวิวโดยอาศัยการ import ไฟล์ RAW จากกล้อง mirrorless เข้ามาใน iPad mini 5 ผ่านอะแดปเตอร์อ่าน SD card และแอป Adobe Lightroom จากนั้นก็จัดการปรับแต่ง crop รูปให้ได้สัดส่วนที่ต้องการ แล้วปล่อยให้ระบบ sync ไฟล์ทั้งหมดผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อนำภาพมา export+ใส่ลายน้ำในคอมอีกที เพื่อจะได้นำมาเขียนรีวิว ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถทำได้อย่างไหลลื่นมาก แถมเอาจริง ๆ การจัดการกับไฟล์ภาพแบบ RAW บน iPad เช่น การปรับโทนสี การลงบรัช การปรับความเบี้ยวของภาพ มันลื่นกว่าทำในคอมเสียด้วยซ้ำ (คอมผมมีทั้ง MacBook Pro 2016 แรม 8 GB และเครื่องเดสก์ท็อป AMD Ryzen 5 2600 + แรม 32 GB + GTX 1070 + SSD NVMe) แถม Apple Pencil ก็ช่วยให้การระบายบรัชเลือกจุดทำได้ง่ายขึ้นไปอีก
ซึ่งการทำภาพประกอบรีวิว iPad 8 บทความนี้ผมก็ใช้กระบวนการเดียวกันเลยครับ แค่เปลี่ยนอุปกรณ์มาเป็น iPad เครื่องทดสอบแทน ผลการใช้งานก็อยู่ในระดับที่พอใจมากเช่นเดิม ความลื่นไหลไม่ต่างจากที่ผมคุ้นเคยแต่อย่างใด แถมบางอย่างจะง่ายขึ้นด้วย เพราะหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น น่าจะถูกใจสายช่างภาพ สายทำรูปที่อยากลองเปลี่ยนอุปกรณ์ทำรูปเพื่อเพิ่มความสะดวก แต่ไม่อยากไปถึงขั้น iPad Air หรือ iPad Pro ไม่น้อยเลยครับ ขอแค่เลือกรุ่น 128 GB ก็แล้วกัน
กล้อง iPad 8
โดยปกติแล้ว กล้องถ่ายรูปมักเป็นส่วนที่ iPad ทำได้ไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่ จะมีก็แต่เพียงกลุ่ม iPad Pro ที่เพิ่มเซ็นเซอร์ LiDAR มาในรุ่นล่าสุด ซึ่ง iPad รุ่นใหม่ล่าสุดเองก็ยังคงใส่กล้องหลัง 8 MP มาเพียงตัวเดียวตามปกติครับ ภาพที่ได้ก็ให้สีสันใสสไตล์ iDevice คือสีไม่จัดมาก ภาพค่อนข้างตรงกับความจริง เหมาะไว้สำหรับถ่ายทั่วไปในกรณีที่จำเป็น ยกขึ้นมาถ่ายสไลด์ระหว่างเลกเชอร์ หรือถ่ายรูปเพื่อนำไปใช้ประกอบในการจดบันทึกอะไรแบบนี้ซะมากกว่า ตัวอย่างภาพก็ตามด้านล่างนี้เลยครับ
สรุปรีวิว iPad 8
iPad 8 เป็นแท็บเล็ตที่ให้ทั้งความคุ้มค่า ประสิทธิภาพที่ดี และความสามารถที่รอบด้าน ด้วยราคาเริ่มที่หมื่นต้น ๆ จึงทำให้น่าจะกลายเป็น iPad รุ่นที่สานต่อความสำเร็จจาก iPad 7 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่อยากได้แท็บเล็ตมาใช้ประกอบการเรียนซักหนึ่งเครื่อง ถ้าจะจดบันทึก วาดรูป ขีดไฮไลท์ลงในไฟล์ก็สามารถหาซื้อ Apple Pencil หรือถ้าไม่ซีเรียสก็ใช้พวกปากกาสไตลัสที่เขียนจอ iPad มาใช้ก็ได้เช่นกันครับ
แง่ของประสิทธิภาพ ความแรง ในรอบนี้ Apple ปรับมาใช้ชิป A12 Bionic ที่จัดว่ายังมีประสิทธิภาพที่สูงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปได้ดี จะทำงานก็เร็ว เล่นเกมก็ลื่น และน่าจะยังรองรับการอัพเดต iPadOS ไปได้อีกหลายปีด้วย ส่วนพวกเรื่องกล้อง การเชื่อมต่อต่าง ๆ ต้องบอกว่าไม่ได้แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าแบบเห็นได้ชัดเท่าไหร่
ใครที่กำลังมองหาแท็บเล็ตดี ๆ มีงบราวหมื่นนิด ๆ ถึงหมื่นกลางอยู่ iPad 8 คือทางเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ ด้วยทั้งตัวเครื่องเองที่ยังทำได้ดีอยู่ ประกอบกับ ecosystem ที่แข็งแกร่ง แอปที่ค่อนข้างครบครัน อุปกรณ์เสริมมีมากมาย เรียกว่าถ้าอยากได้แท็บเล็ตเครื่องแรกมาใช้งานจริง ก็เลือกรุ่นความจุที่ต้องการได้เลย แต่ถ้าคุณใช้งาน iPad 7 อยู่ การเปลี่ยนมาเป็นรุ่นนี้อาจจะยังไม่ค่อยคุ้มในแง่ของความแตกต่างที่จะได้รับเท่าไหร่นะครับ แนะนำว่าข้ามไปเป็น iPad Air 4 หรือรอ iPad ธรรมดาในปีถัด ๆ ไปจะดีกว่า