ASUS Zenfone 3 เป็นมือถือในเจนเนอร์เรชันที่ 3 ของ ASUS Zenfone ไล่มาตั้งแต่รุ่นแรก ASUS Zenfone 4, ASUS Zenfone 5 และ ASUS Zenfone 6 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2014 ก็เป็นกระแสแรงไปทั่วบ้านทั่วเมืองเลยทีเดียว เพราะเป็นมือถือที่สเปคคุ้มค่า ณ ตอนนั้น เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มือถือ Ram 2 GB กับราคา 5,990 บาทนี่เป็นอะไรที่ว้าวมาก พอปีถัดมา ASUS ก็ได้ทำให้ตลาดมือถือสะเทือนอีกครั้ง ด้วย ASUS Zenfone 2 ZE551ML กับราคา 11,990 บาท แต่ให้แรมสูงถึง 4 GB จัดเป็นมือถือรุ่นแรกของโลกที่เปิดตัวด้วย Ram 4 GB และในปี 2016 ก็คงต้องถึงคิวของ ASUS Zenfone 3 แล้วล่ะครับ
สเปค ASUS Zenfone 3
- หน้าจอ Super IPS+ ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD ความสว่างสูงสุดที่ 600nits
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 625 ความเร็ว 2.0 GHz
- Ram 4 GB
- ความจุ 64 GB
- กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล PixelMaster 3.0, OIS+EIS
- กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล
- รองรับ 4G LTE และรองรับ 2 ซิม
- เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือทางด้านหลังตัวเครื่อง
- แบตเตอรี่ 3000 mAh
- สเปคเต็ม ๆ ASUS Zenfone 3
- ราคา 14,990 บาท
แต่สิ่งที่ผลิกโผคือ ASUS Zenfone 3 กลับเป็นมือถือที่โดนบ่นเยอะ จากแฟน ๆ อารยธรรมเซ็น ด้วยราคาเปิดตัวที่สูงขึ้นจากเดิม แต่ส่วนตัวผู้เขียนกลับมองว่า ASUS Zenfone 3 ยังคงความคุ้มค่าสไตล์ Zenfone เช่นเคย แถมยังเพิ่มเติมเรื่องความพรีเมียมเข้าไปอีก ตอนที่ได้ลองจับ ASUS Zenfone 3 ครั้งแรกที่ไต้หวัน ยอมรับเลยว่าต้องมองมือถือ ASUS ใหม่เสียแล้ว จากที่คิดมาตลอดว่ามือถือ Zenfone เน้นประหยัด เน้นสเปค พอมาใน ASUS Zenfone 3 นี่เพิ่มเติมความพรีเมียมเข้าไปอีก พรีเมียมในระดับที่เทียบชั้นกับมือถือตัวท็อปของยี่ห้ออื่นได้สบาย ๆ เลยล่ะ
ความพรีเมียมเริ่มจากกล่องของ ASUS Zenfone 3 Marshall Limited Edition (ต่อจากนี้ไปขอเรียกว่า ASUS Zenfone 3) หรือ Zenfone 3 รุ่นแถมหูฟัง Marshall Major 2 ที่ไม่ได้แถมในลักษณะของการยัดกล่องหูฟังใส่ถุงหิ้วมาให้ แต่มีกล่องเฉพาะ ที่ใส่ทั้ง ASUS Zenfone 3 ZE552KL รุ่นหน้าจอ 5.5 นิ้ว กับหูฟัง Marshall Major 2 เอาไว้ด้วยกัน ให้ความรู้สึกหรูหรา พรีเมียมสมราคามาก ๆ และถ้าหักค่าหูฟัง Marshall Major 2 ไปแล้ว ผมว่า ASUS Zenfone 3 ZE552KL ที่ขายในราคา 14,990 บาทก็ไม่ได้แพงจนเกินไปเลย ส่วนรุ่นหน้าจอ 5.2 นิ้ว ASUS Zenfone 3 ZE520KL ราคา 11,990 บาท ไม่ได้แถมหูฟัง Marshall มาให้เหมือนตัวท็อป ส่วนรายละเอียดที่เหลือเหมือนกันหมดครับ
จุดเด่น
– วัสดุ, งานประกอบดีเกินราคา อุปกรณ์เสริมที่ให้มาก็ดูพรีเมียมดี โดยเฉพาะ Marshall Major II
– ลำโพง 5-magnet ให้เสียงที่ดี และความดังก็ใช้ได้เลย
– แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน
ข้อสังเกต
– ไฟปุ่มกดตัวเครื่องก็ยังไม่มีเหมือนเดิม
บทสรุป
BEST PRICE
Design
ความเปลี่ยนแปลงแรกที่ ASUS Zenfone 3 ทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง ASUS Zenfone 2 ก็คือดีไซน์, วัสดุ และงานประกอบ โดยรอบนี้ ASUS เลือกใช้โลหะ กับกระจกเป็นวัสดุหลักของ ASUS Zenfone 3 ให้ความหรูหรา พรีเมียมไม่แพ้มือถือราคาสองหมื่นบาทขึ้นไปเลยล่ะ
ด้านหน้าของ ASUS Zenfone 3 ประกอบไปด้วยหน้าจอ Super IPS+ ขนาด 5.5 นิ้ว สำหรับรุ่น ZE552KL และหน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว สำหรับ ASUS Zenfone 3 ZE520KL ความละเอียดระดับ Full HD ความสว่างสูงสุด 600 nits ด้านบนหน้าจอประกอบไปด้วยลำโพงสำหรับสนทนา, กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ส่วนด้านล่างหน้าจอ เป็นพื้นที่ของ Navigation Key ได้แก่ ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มโฮม และปุ่ม Recent App และก็ยังไม่ใส่ไฟ LED ใต้ปุ่มเหมือนตอน ASUS Zenfone 2 โดยไฟ LED ใต้ปุ่มเราจะพบได้ในรุ่นท็อปอย่าง ASUS Zenfone 3 Ultra และ ASUS Zenfone 3 Deluxe
ด้านข้างของ ASUS Zenfone 3 ใช้วัสดุเป็นโลหะ มีความโค้งเล็กน้อย แต่ที่ต้องชมคือการเก็บขอบเก็บมุมได้ดี จับถือเนียนมือ รายละเอียดทางด้านขวามือ ประกอบไปด้วยปุ่ม Power กับปุ่มปรับระดับเสียง ตัวปุ่มนูนขึ้นมาเล็กน้อย กดง่าย ด้านซ้ายมือประกอบไปด้วยช่องใส่ซิมการ์ด โดย ASUS Zenfone 3 รองรับการใช้งานแบบ 2 ซิม เป็นแบบ Hybrid Slot คือต้องเลือกระหว่างซิม 2 หรือจะใส่ MicroSD Card (รองรับความจุสูงสุด 256 GB)
ด้านบนของ ASUS Zenfone 3 ประกอบไปด้วยช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร กับไมค์สำหรับตัดเสียงรบกวน ส่วนด้านล่างประกอบไปด้วยพอร์ทเชื่อมต่อแบบ USB Type-C 2.0 ที่สามารถเสียบสายด้านไหนก็ได้ และลำโพงแบบ 5-Magnet ที่ให้เสียงดังกระหึ่ม กับรายละเอียดที่มากกว่าลำโพงปกติทั่วไป
ด้านหลังของ ASUS Zenfone 3 ใช้วัสดุเป็นกระจกนิรภัย 2.5D มีความโค้งบริเวณขอบเล็กน้อย รายละเอียดทางด้านหลังประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช Dual LED และ Laser สำหรับช่วยโฟกัส ตัวโมดูลกล้องนูนขึ้นมาเล็กน้อยจากฝาหลัง ข้อสังเกตของฝาหลังที่ใช้วัสดุเป็นกระจก คือต้องแลกความสวยงามกับลายนิ้วมือหลังตัวเครื่อง เป็นเรื่องปกติมากสำหรับมือถือาหลังกระจกแบบเงา ที่จะมีรอยนิ้วมือเต็มตัวเครื่องไปหมด
ถัดมาจะเป็นเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า จดจำลายนิ้วมือได้มากสุดที่ 5 ลายนิ้วมือ แต่โดยปกติแล้ว ตำแหน่งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้านหลัง มักจะใช้อยู่ 2 นิ้วในการปลดล็อก ซึ่งก็คือนิ้วชี้ด้านซ้าย และด้านขวา การปลดล็อกทำได้รวดเร็ว ขนาดไม่ตั้งใจแตะยังสามารถปลดล็อกตัวเครื่องได้ และมีฟีเจอร์ใช้งานกับอย่างอื่นนอกจากปลดล็อกตัวเครื่อง ตามมาด้วยโลโก้ ASUS บริเวณด้านล่างของฝาหลัง
หน้าจอ Super IPS+ ของ ASUS Zenfone 3 ความละเอียดระดับ Full HD ให้ภาพที่คมชัด สีสันสดใส และยังมีความสว่างสูงถึง 600 nits ซึ่งสว่างกว่าหน้าจอมือถือทั่วไปพอสมควร สามารถเร่งแสงไฟสู้แดดจัดได้สบาย ๆ การตอบสนองในการสัมผัสหน้าจอทำได้ดี รองรับทัชสกรีนทั้งหมด 10 จุด และด้วยขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว ซึ่งถือว่ากำลังดีสำหรับการใช้งาน ไม่ใหญ่ และไม่เล็กจนเกินไป ที่จะรับชมวีดีโอ, เล่นอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่เล่นเกม แต่ถ้าคิดว่าหน้าจอ 5.5 นิ้วของ ASUS Zenfone 3 ZE552KL ใหญ่เกินไป ASUS ก็ทำรุ่นหน้าจอ 5.2 นิ้ว ASUS Zenfone 3 ZE520KL ออกมาเป็นตัวเลือกด้วย สนนราคา 11,990 บาท ทุกอย่างเหมือนกันหมด ต่างที่ Ram 3GB และขนาดหน้าจอเท่านั้น เมื่อเทียบกับเครื่อง ASUS Zenfone 3 ในรีวิว
ภาพรวมของ ASUS Zenfone 3 ทั้งรุ่นหน้าจอ 5.2 นิ้ว และหน้าจอ 5.5 นิ้ว ถือว่ามีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ทั้งวัสดุที่พรีเมียมมากขึ้น ดีไซน์ที่สวยงาม (ส่วนตัวผมชอบดีไซน์แบบนี้มากกว่า ASUS Zenfone 3 Deluxe เสียอีก) และการเก็บรายละเอียดที่ดีมาก ทั้งกรอบตัวเครื่องที่ผ่านกรรมวิธีผลิตหลายขั้นตอน ดีไซน์โค้งมนจับถือได้ถนัดมือ แถมลำโพง 5-magnet ก็ให้เสียงที่ดีสมกับที่ ASUS ได้เน้นเป็นไฮไลท์หลักของมือถือรุ่นนี้ ต้องยอมรับเลยว่า ASUS ทำการบ้านมาดีทีเดียว สำหรับ ASUS Zenfone 3 ที่มาแบบพรีเมียมกว่าเดิม ฉีกภาพเก่า ๆ ของมือถือ ASUS ไปได้หมด
Software
ASUS Zenfone 3 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 6.0 Marshmallow ครอบด้วย ASUS ZenUI 3.0 ที่เน้นเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพ ให้รีดพลังของ CPU ได้อย่างเต็มที่ ภาพรวมยังคงคล้ายกับ ZenUI เวอร์ชันก่อน ใครที่อัพเครื่องมาจาก ASUS Zenfone 2 มาใช้ ASUS Zenfone 3 ก็ไม่ต้องปรับตัวมาก เพราะตัว UI บน Zenfone 3 เมื่อเทียบกับ Zenfone 2 ที่อัพเดตเป็น Android 6.0 Marshmallow
ตัว Zen UI 3.0 มี Widget ติดมาให้พอสมควร การใช้งานก็มีด้วยกัน 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือหน้า Home กับ App Drawer ที่ยังคงไว้อยู่ การใช้งานก็คือแอปพลิเคชันที่เราดาวน์โหลดมาจาก Play Store จะเก็บไว้ที่ App Drawer ส่วนหน้าโฮมอันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคลเลยครับ สามารถเลือก Widget ได้ตามต้องการ หรือจะย้ายแอปพลิเคชันที่ใช้งานบ่อย ๆ มาไว้ที่หน้าโฮมก็ทำได้เช่นกัน โดยเราสามารถเพิ่มหน้าโฮมได้สูงสุด 7 หน้า
ข้อสังเกตของ ASUS Zenfone 3 คือมีแอปพลิเคชันติดเครื่อง (Bloatware) อยู่ในรอมเยอะมาก เข้าใจว่ามีทั้งแอปพลิเคชันพรีโหลดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ เช่น Line, Lazada กับแอปพลิเคชันที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ ASUS เอง เช่น เกม Township, SimCity และ Need for Speed No Limits โดยเราก็สามารถลบแอปพลิเคชันเหล่านั้นออกได้ถ้าไม่ต้องการ แต่ก็มีแอปพลิเคชันบางตัวที่ไม่สามารถ Uninstall ออกได้เช่นกัน จะทำได้ก็แค่การ Disable ไม่ให้มันแสดงเท่านั้น
Feature
ASUS Zenfone 3 มาพร้อมกับฟีเจอร์มากมาย แต่ในการรีวิว ASUS Zenfone 3 ใน part ของ Feature ผมจะขอยกมาแค่ฟีเจอร์เด่น ๆ ของ ASUS Zenfone 3 มาแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน โดยจะเน้นไปที่ฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับความบันเทิงเป็นหลัก
Hi-Res Audio และ SonicMaster
ASUS Zenfone 3 รองรับไฟล์เสียงคุณภาพสูง (ขนาดไฟล์ก็สูงตาม) Hi-Res Audio เช่นไฟล์ตระกูล FLAC, WAV เป็นต้น คือเราสามารถเปิดไฟล์เพลง 24-bit/192KHz ที่คุณภาพสูงกว่า CD ถึง 4 เท่า เรียกว่าเป็นเกรดเดียวกับในสตูดิโอ และรองรับการเชื่อมต่อกับหูฟัง Hi-Res ด้วย (ต้องซื้อแยก)
ส่วน SonicMaster ก็คือฟีเจอร์ในการปรับแต่งเสียง สามารถปรับแต่ง EQ ได้ถึง 5 ย่าน อยากได้เบส, กลาง, แหลมแบบไหนก็ปรับกันได้ตามสะดวก หรือจะเลือกใช้ EQ ที่ Preset ไว้แล้วก็ได้เช่นกัน
ASUS Game-Genie
ฟีเจอร์ใหม่ที่พบได้ใน ASUS ZenUI 3.0 โดย Game-Genie คือแอปพลิเคชันผู้ช่วยสำหรับคนเล่นเกมโดยเฉพาะ ลักษณะของ Game-Genie จะเป็น Widget ที่ลอยอยู่ในหน้าจอขณะที่เราเปิดเกม สามารถทำ Speed Booster เพื่อเร่งความเร็วของเครื่องได้ ถ้าต้องการเล่นเกมหนัก ๆ หรือจะใช้อัดหน้าจอในขณะที่เล่นเกมก็ได้เช่นกัน และยังสามารถทำ Live Video ผ่าน Youtube Live, Twitch ตอนเล่นเกมได้ทันที สายแคสเกมมือถือน่าถูกใจกันล่ะ
Camera
จุดที่ ASUS เน้นเป็นพิเศษในตัว ASUS Zenfone 3 ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องกล้อง ที่รอบนี้จัดหนักจัดเต็มตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ยันซอฟท์แวร์ เริ่มจากกล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล มาพร้อมระบบโฟกัสแบบ TriTech Auto-Focus ที่ประกอบไปด้วย
- Laser Auto-Focus
- Phase Detection Auto-Focus (PDAF)
- Continuous Auto-Focus
การที่มีระบบโฟกัสทั้ง 3 แบบในกล้องมือถือตัวเดียว ช่วยให้การถ่ายภาพด้วย ASUS Zenfone 3 ง่ายในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในที่แสงเพียงพอ เพราะ ASUS Zenfone 3 สามารถจับโฟกัสได้เร็วมาก เพียง 0.03 วินาทีเท่านั้น เร็วกว่ากระพริบตาก็ TriTech AF ของ ASUS Zenfone 3 นี่ล่ะ
แต่ถ้าเป็นพื้นที่แสงน้อย หรือมีแสงไม่เพียงพอ เช่น การถ่ายภาพตอนกลางคืน, ถ่ายภาพในตัวอาคาร การที่ ASUS Zenfone 3 มีระบบโฟกัส 3 แบบ ช่วยให้ตัวเครื่องจับภาพได้ดีกว่า เพราะระบบโฟกัสแต่ละอย่างของ ASUS Zenfone 3 มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป การที่ใส่มา 3 แบบ จึงเป็นเหมือนการเติมเต็มให้กันและกัน เพราะในที่แสงน้อย ระบบโฟกัสแบบ PDAF จะทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็จะเป็นหน้าที่ของ Laser AF ที่เข้ามาช่วยในการโฟกัสให้รวดเร็วทันใจ ถึงแม้จะไม่เร็วเท่ากับการถ่ายรูปในที่แสงปกติ แต่ก็ไม่ได้โฟกัสช้าจนเกินไป
นอกจาก TriTech AF แล้ว กล้องหลังของ ASUS Zenfone 3 ยังใส่ระบบกันสั่นที่มาทั้ง OIS และ EIS คือใช้ทั้งซอฟท์แวร์กับฮาร์ดแวร์ในการช่วยไม่ให้ภาพสั่นไหว แบ่งเป็นกันสั่น OIS 4 แกน และ EIS 3 แกน (สำหรับถ่ายวีดีโอ) ในการใช้งานจริงก็ช่วยได้มากในการถ่ายภาพที่แสงน้อย หรือการถ่ายวีดีโอโดยที่ไม่ได้ใช้ไม้ Gimbal
เซนเซอร์ของกล้องหลัง ASUS Zenfone 3 มีเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ อย่าง Deep Trench Isolation Technology และ Color Correction Sersor ที่ช่วยให้ได้ภาพที่สีสันสมจริง ไม่มีปัญหาสีเพี้ยน ง่าย ๆ คือเห็นยังไง ก็ถ่ายออกมาแบบนั้นเลย และยังมาพร้อมกับ Super Resolution ที่ถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุด 64 ล้านพิกเซล โดยเทคโนโลยีทั้งหมดของ ASUS ถูกจัดการผ่าน PixelMaster 3.0
ในการใช้งานจริง ต้องยอมรับว่ากล้องหลังของ ASUS Zenfone 3 ถ่ายรูปได้สนุกทีเดียว ด้วยระบบโฟกัสแบบ TriTech ช่วยให้หยิบ ยก ถ่าย ได้ทันทีแบบไม่ต้องรอ แต่ข้อสังเกตคือตอนแสงน้อย การจับโฟกัสจะความเร็วตกอย่างเห็นได้ชัด และตัว Continuous Auto-Focus เองเหมือนยังทำงานได้ไม่เต็มที่ในโหมดวีดีโอ ส่วนคุณภาพรูปถ่ายเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนนี่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่เทียบกับคู่แข่งก็ยังไม่ได้โดดเด่นกว่ากันมาก
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง ASUS Zenfone 3
ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ของ ASUS Zenfone 3 มีโหมด Beautification ติดมาให้ โหมดดังกล่าวสามารถปรับแต่งความสวยได้ละเอียด ทั้งสีผิว, ลบริ้วรอย, โครงหน้า หรือแม้แต่ตาโตก็ได้เช่นกัน คุณภาพรูปถ่ายกล้องหน้าถือว่าโอเคเลย เพื่อน ๆ สามารถชมการรีวิวกล้องหน้าแบบเจาะลึกได้จากวีดีโอด้านล่างเลยครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า ASUS Zenfone 3
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง ASUS Zenfone 3 ไฟล์ขนาดเต็ม ไม่ย่อ ไม่ปรับแต่ง สามารถเข้าไปดูได้ในลิ้งด้านล่างเลยครับ
Performance
ASUS Zenfone 3 ใช้ชิปประมวลผลของ Qualcomm ในรุ่น Snapdragon 625 ซึ่งถือเป็นชิปเซ็ตที่ใหม่สำหรับประเทศไทย โดยชิป Snapdragon 625 เป็นชิปเซ็ต Octa-Core ความเร็ว 2.0 GHz แบบ 64 Bit ชิปกราฟฟิค Adreno 506 และ Ram 4 GB เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป ไปจนถึงการเล่นเกมที่ต้องการกราฟฟิคสูง ๆ ประสิทธิภาพโดยรวมสู้กับมือถือเรือธงของปีที่แล้วได้สบาย ๆ แล้วก็ให้ความจุมาสูงถึง 64 GB สำหรับ ASUS Zenfone 3 ZE552KL หน้าจอ 5.5 นิ้ว เก็บไฟล์ เก็บแอปได้มาก เผลอ ๆ อาจจะไม่ต้องใช้ MicroSD Card ก็ได้ครับ
แบตเตอรี่ของ ASUS Zenfone 3 ให้มาที่ความจุ 3000 mAh จากการทดสอบก็สามารถใช้งานได้ประมาณ 10 ชั่วโมงขึ้นไป สำหรับการใช้งานต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไป เปิด 4G เล่นเกม, เล่นอินเทอร์เน็ต/ โซเชียล รวมถึงใช้ถ่ายรูป มีพักปิดหน้าจอบ้าง ASUS Zenfone 3 สามารถใช้งานหมดวันได้สบาย ๆ ครับ ถือว่าแบตเตอรี่อึดพอตัวเลย