โทรศัพท์มือถือที่ผมจะมารีวิวให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันในวันนี้ เป็นหนึ่งในโทรศัพท์มือถือราคาไม่เกิน 15,000 บาท ที่มาพร้อมกับดีไซน์อันสวยงาม, วัสดุหรูหรา สมราคา และที่สำคัญคือไม่ได้แค่สวยอย่างเดียว เพราะมือถือรุ่นนี้ให้ Ram มามากถึง 4 GB จัดเป็นโทรศัพท์มือถือที่ให้แรมมาเยอะที่สุดเท่าที่โลกมือถือ Android มีอยู่ ณ ตอนนี้เลยล่ะครับ และจะเป็นมือถือรุ่นไหนไปไม่ได้ นอกจาก OPPO R7s หนึ่งในโทรศัพท์มือถือในตระกูล R7 จาก OPPO ที่พึ่งวางขายไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 ที่ผ่านมา
สเปค OPPO R7s
- Android OS 5.1 (Lollipop) + ColorOS 2.1 UI
- หน้าจอ AMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล ครอบด้วยกระจก 2.5D
- CPU: Qualcomm Snapdragon 615
- RAM 4GB
- หน่วยความจำภายใน 32 GB + รองรับ microSD สูงสุด 128 GB
- กล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล PI 2.0+
- กล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล Beauty 3.0
- แบตเตอรี่ 3,070 mAh + รองรับ VOOC Flash Charge (Output 5A)
- สัดส่วน 151.8 x 75.4 x 6.95 มม., หนัก 155 กรัม
- ราคา 14,990 บาท
- สเปคเต็มๆ OPPO R7s
ตัวเครื่องรีวิว OPPO R7s ที่แอดมินได้รับมานั้น ทาง OPPO ประเทศไทยไม่ได้ส่งมาให้ทั้งกล่อง แต่ให้มาแค่ตัวเครื่อง กับสายชาร์จและอแดปเตอร์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี VOOC Fast Charge หรือเทคโนโลยีชาร์จเร็วเวอร์ชันล่าสุดจาก OPPO สามารถจ่ายไฟได้แรงถึง 5A ชาร์จแปบๆ ก็แบตเต็มแล้ว จัดเป็นหนึ่งในจุดแข็งของมือถือ OPPO รุ่นบนๆ เลยก็ว่าได้ครับ
โดยตัวอแดปเตอร์จะมีขนาดเล็กแบบ OPPO R5 ไม่ได้ใหญ่เทอะทะเหมือนตอน OPPO Find 7 แล้ว ตัวสาย Micro USB มีขนาดหนากว่าสายชาร์จมือถือทั่วไป และบริเวณขั้ว Micro USB จะมีสีเขียวกับแผงทองแดงที่มากกว่าสาย Micro USB ปกติ แสดงว่าการที่จะชาร์จเร็วด้วยเทคโนโลยี VOOC จึงประกอบไปด้วย 3 ส่วน คืออแดปเตอร์, สายชาร์จ และตัวมือถือก็ต้องรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย เพราะฉะนั้นควรใช้อแดปเตอร์ VOOC ร่วมกับสาย USB ที่แถมมากับตัวเครื่องเท่านั้น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีที่สุด
จุดเด่น
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST PERMORMANCE
Design
ดีไซน์โดยรวมของ OPPO R7s ต้องบอกว่าเน้นความเรียบแบนมากๆ เริ่มตั้งแต่ส่วนของหน้าจอที่เป็นจุดเด่นที่สุดด้านหน้าของเครื่องเลย เนื่องจากเป็นหน้าจอ AMOLED ที่ความละเอียดสูงถึงระดับ Full HD ทำให้ภาพหน้าจอนั้นสวยเนียนจนแทบจะเหมือนเอาสติ๊กเกอร์มาแปะหน้าจอเอาไว้เลย เรื่องสีสัน โทนสี เฉดสีก็ไม่ต้องห่วง เนื่องจากใช้เป็นจอ AMOLED ทำให้ภาพที่ออกมาดูสวย มีมิติ contrast ออกมาได้ดี โดยเฉพาะภาพโทนสีดำ ที่ให้สีดำออกมาสมจริง จะติดก็แต่ตรงขอบๆ จอที่มีขอบดำอยู่เท่านั้นเอง ถ้าทำเป็นขอบภาพอยู่ติดกับขอบขาวของตัวเครื่องเลย น่าจะสวยกว่านี้มากแน่ๆ ส่วนมุมมองภาพก็ทำออกมาได้ดีมาก เนื่องจาก OPPO R7s เลือกใช้พาเนลจอที่มีคุณภาพดี ทำให้สามารถมองหน้าจอได้อย่างชัดเจนในแทบทุกมุมมอง จะใช้งานกลางแจ้งก็ทำได้น่าพอใจ
หันมาดูด้านล่าง ก็จะพบกับโลโก้ OPPO ตัวใหญ่ตรงกลาง โดยปุ่มกดสั่งงานทั้งสามปุ่ม ที่เคยเป็นปุ่มแบบสัมผัสในตอน OPPO R5 โดนย้ายไปเป็นปุ่มกดแบบ Soft Key ที่ลอยอยู่บนหน้าจอแทน มีด้วยกัน 3 ปุ่ม ได้แก่ ปุ่มเมนู (กดค้างเพื่อเปิดหน้า recent apps), ปุ่มโฮม (กดค้างเพื่อเปิด Google Now) และปุ่มย้อนกลับที่อยู่ด้านขวาสุด ส่วนด้านบนก็เป็นเหล่าเซ็นเซอร์วัดแสง วัดระยะ และกล้องหน้าตามปกติ ระยะการวางนิ้วสำหรับกดปุ่มก็ค่อนข้างโอเค ไม่ห่างเกินไป พอใช้งานได้สะดวกครับ
ความรู้สึกเมื่อได้สัมผัส OPPO R7s ครั้งแรก คือพรีเมียมกว่าที่คิดไว้ และสัมผัสที่ให้ดีกว่าตอน OPPO R5 พอสมควร ด้วยฝาหลังเป็นโลหะทั้งหมด ไม่มีพลาสติกแทรก น้ำหนักตัวเครื่องก็พอประมาณ อาจดูเหมือนตัวเครื่องแน่นๆ ตันๆ ไปหน่อย ส่วนตัวผมว่ากำลังดีครับ ไม่ได้เบาจนเกินไป แล้วก็ไม่ได้หนักจนถือใช้งานนานๆ แล้วล้า
หนึ่งสิ่งที่ผมรู้สึกว่า OPPO R7s ทำได้ดีก็คือปุ่มกดที่อยู่ทางด้านข้างของตัวเครื่องครับ เพราะออกแบบมาให้กดง่าย และมีการวางตำแหน่งที่ดี โดยเฉพาะปุ่มปรับระดับเสียงที่มีการแยกระหว่างปุ่มเพิ่มเสียงกับปุ่มลดเสียงออกจากกันอย่างชัดเจน ส่วนรายละเอียดทางด้านข้างของ OPPO R7s เริ่มจากทางขวามือก็จะเป็นปุ่ม Power กับช่องใส่ซิมการ์ดที่ต้องใช้เข็มจิ้มถาดซิมในการดึงถาดซิมออกมา
โดยถาดซิมของ OPPO R7s จะเป็นถาดซิมแบบไฮบริดตามสมัยนิยม เนื่องจากมือถือรุ่นนี้เน้นที่ความบาง จึงต้องใช้พื้นที่ในตัวเครื่องให้คุ้มค่ามากที่สุด จริงอยู่ที่ OPPO R7s รองรับการใช้งาน 2 ซิม และรองรับการเพิ่มเมม MicroSD Card ความจุสูงสุด 128 GB แต่ในการใช้งานจริงเราต้องเลือกว่าจะใช้ซิม 2 หรือจะใส่ MicroSD Card เพราะช่องใส่ซิม 2 กับช่องใส่ MicroSD Card นั้นเป็นช่องเดียวกัน
และสำหรับใครที่กังวลว่า OPPO R7s ที่มีตัวเครื่องบางๆ เช่นนี้จะไม่มีช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มิลลิเมตรเหมือนตอน OPPO R5 บอกเลยว่าไม่ต้องห่วงครับ เพราะ OPPO R7s ให้ช่องเสียบหูฟังมาด้วย โดยช่องเสียบหูฟังจะอยู่ทางด้านบน ส่วนพอร์ท Micro USB กับลำโพงหลักของตัวเครื่องจะอยู่ทางด้านล่างของตัวเครื่องครับ
นอกเหนือจากโครงสร้างภายนอกที่แข็งแกร่ง สวยงามแล้ว ภายในของ OPPO R7s ก็ยังได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีอีกต่างหาก เห็นตัวเครื่องบางๆ แบบนี้เนี่ย ตัวเครื่องสามารถการระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็ว ความร้อนไม่สะสมในตัวเครื่อง ซึ่งนับว่าช่วยลดอาการเสื่อมสภาพของแผงวงจรและแบตเตอรี่ได้ด้วย สำหรับในจุดนี้ เราอาจจะยังมองไม่เห็นในระยะสั้นๆ ครับ เพราะจะให้ผลต่อเมื่อใช้เครื่องซักระยะหนึ่งมากกว่า แต่เท่าที่สัมผัสและใช้งานในช่วงที่รีวิว OPPO R7s ก็พบว่าตัวเครื่องสามารถระบายความร้อนได้เร็วจริง ถึงจะร้อนก็ร้อนไม่นาน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเลือกใช้ชิปเซ็ตระดับกลางอย่าง Snapdragon 615 ที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความร้อนอยู่แล้ว ใช้งานปกติทั่วไป เล่นเกมนิดๆ หน่อยๆ นี่แทบไม่เจอปัญหาความร้อนเลยล่ะ
ด้านหลังของ OPPO R7s ใช้วัสดุเป็นโลหะทั้งหมด โดยตัวเครื่อง OPPO R7s ที่ผมได้รับมารีวิวนั้นเป็นเครื่องสีทอง เรื่องของความหรูหรา พรีเมียมนี่ไม่ต้องสืบ บอกเลยว่าวัสดุของมือถือรุ่นนี้ไม่ทำให้ผิดหวัง วัสดุเทียบชั้นมือถือราคาสองหมื่นขึ้นไปได้สบายๆ ครับ ไม่เหมือนมือถือโลหะราคาต่ำหมื่นแน่นอน สำหรับรายละเอียดทางด้านหลังของ OPPO R7s ประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล กับแฟลช LED จำนวน 1 ดวง และโลโก้ OPPO อยู่ตรงกลางฝาหลัง
Software
OPPO R7s มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 5.1 ครอบด้วย ColorOS 2.1.0i อันเป็นเอกลักษณ์ของทาง OPPO โดยจุดเด่นของ ColorOS เวอร์ชัน 2.1 คือจะมีลูกเล่นและความเสถียรมากกว่าเวอร์ชันก่อนหน้านี้
เริ่มจากหน้าจอ Lock Screen ของ OPPO R7s จะเปลี่ยนได้เรื่อยๆ ทุกครั้งที่เราเปิดหน้าจอ แถม Theme บน OPPO R7s ก็มีให้เลือกดาวน์โหลดเพียบ เยอะขนาดที่ว่าเปลี่ยนทุกวันแบบไม่ซ้ำกันได้หลายเดือนอยู่ และอีกไฮไลท์อย่างแอปพลิเคชัน Music ในเครื่องก็มาพร้อมกับฟีเจอร์ Dirac HD Sound ที่ช่วยให้ฟังเพลงบน OPPO R7s ได้สนุกมากขึ้น เสียงทุกย่านจะโดนบูสขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ เสียงเบสแน่นขึ้น เสียงแหลมจัดขึ้นกว่าเดิม (เฉพาะการใช้งานผ่านหูฟัง) ส่วนตัวผมชอบฟีเจอร์ Dirac HD Sound นะ เพราะกดแล้วเห็นความแตกต่างเลย แถมยังได้เสียงที่ดีโดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องย่านความถี่เสียงเหมือนการปรับ Equalizer จัดเป็นฟีเจอร์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากๆ ส่วนการฟังเพลงผ่านลำโพงของตัวเครื่องก็ให้เสียงที่ดี และเสียงดังพอสมควร
ฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจในรอมของ OPPO R7s ก็คือการสั่งงานด้วยท่าทาง (gesture & motion) ที่มีให้ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การสั่งงานระหว่างหน้าจอเปิดอยู่ เช่น การเปิดใช้งานกล้องด้วยการขยุ้มหลายๆ นิ้วบนหน้าจอ การสั่งล็อคหน้าจอด้วยการแตะจอสองครั้งติดๆ กัน การแคปภาพหน้าจอด้วยการใช้สามนิ้วเลื่อนจอไปข้างบน แล้วเลื่อนกลับลงมาข้างล่างทันที เป็นต้น หรือถ้าปิดหน้าจออยู่ ก็สามารถแตะนิ้วที่จอสองครั้งติดๆ กันเพื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาก็ได้ด้วย จะโบกมือเหนือหน้าจอเพื่อเลื่อนหน้า หรือเปลี่ยนรูปที่กำลังดูอยู่ก็สามารถทำได้บน OPPO R7s เครื่องนี้เลย ชอบตัวไหน อยากใช้ตัวไหน ก็สามารถเปิดหรือปิดฟีเจอร์ได้ตามใจชอบด้วยนะ
ภาพรวมของซอฟท์แวร์ ColorOS 2.1.0i บน OPPO R7s ก็ยังคงความเป็น OPPO ได้เหมือนเคย คือมีความสดใสของตัว UI (ถ้าอยากเข้มก็เปลี่ยน Theme เอา) และฟีเจอร์ที่ใส่เข้ามาในรอมก็ล้วนแต่ตอบสนองในการใช้งานและในเรื่องของความบันเทิงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการฟังเพลงบน OPPO R7s นี่ให้เสียงที่ดีกว่ามือถือหลายรุ่นในช่วงราคาใกล้เคียงกัน ฟีเจอร์ Dirac HD Sound เป็นอะไรที่เปิดใช้งานแล้วเห็นผลชัดเจนมากครับ
Feature
หนึ่งในฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากของ OPPO R7s ก็คือ VOOC Fast Charge ที่ทำให้สามารชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็ว ชาร์จ 5 นาที ก็สามารถใช้คุยโทรศัพท์ได้นานถึง 2 ชั่วโมง รับรองว่าหมดปัญหาเรื่องแบตหมดแน่ๆ หรือถ้าชาร์จครึ่งชั่วโมง ก็สามารถเพิ่มปริมาณแบตเตอรี่ได้ถึง 75% เลยทีเดียว นับว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องใช้งานมือถือเกือบตลอดเวลา จนแทบไม่มีเวลาชาร์จแบต ขอเวลาแค่ไม่กี่สิบนาทีเท่านั้นเอง
แต่ฟีเจอร์นี้ก็ย่อมมีข้อจำกัดอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะจะต้องใช้อะแดปเตอร์และสาย Micro USB ของ OPPO เองตามที่ผมได้เกริ่นไปตอนต้นของบทความรีวิว OPPO R7s โดยเฉพาะตัวสายที่จะได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ให้สามารถจ่ายไฟได้มากกว่าสายปกติ สังเกตที่บริเวณหัว Micro USB จะเป็นสีเขียว ซึ่งจะต้องใช้สายนี้เท่านั้นในการใช้งานฟีเจอร์ VOOC ส่วนถ้าใช้สายอื่น ก็จะเป็นการชาร์จในความเร็วระดับปกติ แต่ก็ยังชาร์จเข้านะ ไม่มีปัญหา
ส่วนถ้าจะเอาสายและอะแดปเตอร์ของ OPPO R7s ไปชาร์จมือถือเครื่องรุ่นอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะชาร์จได้เร็วไม่เท่ากับใช้บน OPPO R7s เหตุเพราะที่ตัวเครื่องไม่มีชิปที่รองรับฟีเจอร์ VOOC ซึ่งก็อาจจะทำให้ชาร์จได้เร็วขึ้นแค่นิดหน่อยเท่านั้น (ปกติจ่ายไฟได้ 2A ถ้าเป็น VOOC จ่ายไฟได้ 5A) ไม่เต็มที่ 100%
Camera
กล้องของ OPPO R7s ถือเป็นจุดเด่นสุดๆ ของโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้เลยครับ สามารถชดเชยในส่วนของสเปคที่ดูธรรมดาได้สบายๆ ด้วยกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ความกว้างรูรับแสง f/2.2 และตัวซอฟท์แวร์ Pure Image 2.0+ บน OPPO R7s ก็ทำให้สามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายได้หลายรูปแบบไม่ซ้ำใคร โดยโหมดการถ่ายรูปจะมีให้เลือกใช้ดังนี้
- Normal
- Ultra HD
- Beautify
- Various Filters
- Panorama
- HDR
- GIF
- Slow Shutter
- Audio Photo
- Double Exposure
- RAW
- Expert Mode
- Super Macro
โดยโหมดที่ผมใช้บ่อยๆ ก็จะเป็นโหมด Normal หรือโหมดออโต้นี่แหละครับ เพราะยกขึ้นมาถ่ายได้ทุกสถานการณ์จริงๆ แสงมาก แสงน้อยก็จัดการรูปออกมาได้เป็นที่น่าพอใจ อย่างตอนปีใหม่ที่ผ่านมา ผมได้พาน้องที่บ้านไปเที่ยวดูไฟ 39 ล้านของลุงผู้ว่าที่ศาลากลางกรุงเทพมหานคร ก็เลยให้น้องผมที่ถ่ายรูปไม่เป็น ได้ลองใช้ OPPO R7s ในการถ่ายไฟ 39 ล้าน ผลที่ได้ก็ออกมาประมาณนี้ ทุกรูปถ่ายด้วยโหมด Normal ทั้งหมด และไม่ได้ทำการแต่งรูป แค่ย่อขนาดไฟล์ด้วย Photoshop เท่านั้น
ส่วนการถ่ายรูปในที่แสงน้อย หรือในอาคารอย่างในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ผมก็ได้ลองให้น้องสาวถ่ายให้เช่นเดียวกัน จะเห็นว่า OPPO R7s จัดการรูปได้ดีทีเดียว สำหรับการถ่ายในที่แสงน้อย
แต่ถ้าเป็นที่แสงน้อยจัดๆ เช่นประตูเมืองเชียงใหม่ตอนกลางคืน ที่ไฟตรงประตูเมืองก็เป็นไฟสีส้มๆ อันนี้ผมว่ายังไม่ประทับใจเท่าไหร่ แม้ตัวรูปจะยังพอแสดงให้เห็นรายละเอียดของวัตถุได้อยู่ แต่ไม่คมชัดเท่ากับตอนที่มีแสงปกติ
สำหรับโหมดอื่นๆ ที่น่าสนใจก็ได้แก่ RAW หรือการถ่ายไฟล์ RAW (ของ OPPO R7s จะเป็นนามสกุล .dng สามารถเปิดได้ด้วย Lightroom) ก็ทำให้เราสามารถปรับแต่งรูปได้มากกว่าไฟล์ .jpg สำหรับใครที่ชอบแต่งรูปในคอมพิวเตอร์น่าจะชอบใจโหมด RAW ของ OPPO R7s แต่ข้อที่ควรรู้ก็คือไฟล์ .dng ของ OPPO R7s ยังเรียกว่า RAW ได้ไม่เต็มปากเท่าไหร่ คือถ้าจะมาแต่งรูป แต่งสีก็ได้อยู่ แต่ถ้าจะอาศัยถ่ายด้วยโหมด RAW แล้วครอปเพื่อเก็บรายละเอียดเหมือนกล้อง DSLR ตรงนี้ผมบอกเลยว่าไม่ต่างกับไฟล์ .jpg ครับ
แต่ถ้าเน้น Crop รูปผมก็แนะนำให้เลือกใช้โหมด Ultra HD จะตอบโจทย์มากกว่า เพราะจะได้ภาพเทียบกับความละเอียด 50 ล้านพิกเซล จึงทำให้สามารถครอปรูปและได้รายละเอียดมากกว่าการถ่ายในโหมด Normal
และสำหรับเพื่อนๆ ที่ชอบการปรับแต่งค่าต่างๆ ของกล้องด้วยตัวเอง OPPO R7s ก็มีโหมด Expert มาให้ด้วย ให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการตั้งค่าได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Speed Shutter, ISO, White Balance, EV และยังเลือกเป็นแมนนวลโฟกัสได้อีกด้วย
ตัวอย่างรูปถ่ายจากกล้องหลังของ OPPO R7s ก็ประมาณนี้ครับ
ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซลของ OPPO R7s มาพร้อมกับโหมด Beautify เวอร์ชัน 3.0 พร้อมฟิลเตอร์ที่มีให้เลือกหลากหลาย โดยโหมด Beautify ของ OPPO นั้นไว้ใจได้อยู่แล้ว โดยสามารถรปรับแต่งได้ถึง 3 ระดับ (รวมปกติด้วยเป็น 4) ตามความต้องการของเรา ส่วนตัวผมแนะนำที่ระดับ Weak – Medium ก็น่าจะพอเพียงแล้ว เพราะ Strong ผมว่าแรงไปหน่อย
จริงอยู่ที่ OPPO R7sR7s ไม่มีแฟลช LED กล้องหน้ามาให้ แต่ในการถ่ายรูปในที่แสงน้อย OPPO ก็ชดเชยให้ด้วยฟีเจอร์ Screen Flash หรือการยิงแสงสีขาวจากหน้าจอแทนแฟลช LED ซึ่งช่วยในการถ่ายรูปในที่แสงน้อยได้จริง และยังได้รูปที่โอเคกว่าการยิงแฟลช LED ใส่หน้าโดยตรง และยังสามารถถ่ายรูปเคลื่อนไหวแบบไฟล์ GIF ได้ด้วย
ตัวอย่างรูปถ่ายจากกล้องหน้าของ OPPO R7s ดูได้จาก Gallery ได้ครับ
Performance
ประสิทธิภาพของ OPPO R7s กับชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 615 ชิปเซ็ตระดับกลางของทาง Qualcomm ที่อาจทำให้หลายคนร้องยี้ กลัวว่าจะแรงไม่พอใช้ บางคนถึงกับถามเลยว่าจะใส่ Ram 4 GB มาทำไม ในเมื่อชิปเซ็ตไม่เป็นรุ่นท็อป แต่ผมจะบอกเลยว่าประสิทธิภาพของ OPPO R7s เหนือกว่ามือถือรุ่นอื่นที่ใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 615 มากครับ ด้วยการ Optimize ที่ดีของซอฟท์แวร์ ColorOS เวอร์ชัน 2.0.1i ทำให้ OPPO R7s สามารถดึงประสิทธิภาพที่แท้จริงของชิป Snapdragon 615 ออกมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า
ความเร็วในการเปิดแอปพลิเคชันของ OPPO R7s ตามที่ OPPO เคลมไว้จะอยู่ที่ 311 มิลลิวินาที เมื่อเทียบกับ ColorOS รุ่นเก่าจะเปิดแอปพลิเคชันได้ไวกว่าถึง 30% และจากการทดลองใช้งานจริงก็ประมาณนี้แหละครับ เปิดแอปพลิเคชันได้ไวสมกับที่คุยไว้ การสลับแอปพลิเคชันทำได้อย่างไม่มีปัญหา ด้วย Ram ที่ให้มามากถึง 4 GB เหลือใช้ประมาณ 2.5 GB ต่อให้มีการเชื่อมต่อ Account โซเชียลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Instagram, Twitter ก็ยังใช้งานได้อย่างลื่นๆ
มาถึงการเล่นเกมกันบ้าง ผมได้ทดสอบการเล่นเกมหลากหลายประเภทบน OPPO R7s ไล่มาตั้งแต่เกม Puzzle ยอดนิยมอย่าง Candy Crush Soda Saga หรือจะเป็นเกมที่ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตเช่น Line เกมเศรษฐี, Line Cookie Run หรือจะเป็นเกมที่กินสเปคจัดๆ เช่น Modern Combat 5, N.O.V.A 3 ก็สามารถเล่นได้อย่างลื่นๆ แทบไม่มีอาการกระตุกให้เห็น คือทำได้ดีกว่ามือถือรุ่นอื่นที่ใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 615 โดยในเรื่องความสวยงามของกราฟฟิคอาจสู้มือถือรุ่นที่ใช้ชิปเซ็ตตัวท็อป ในซีรี่ส์ Snapdragon 8xx ไม่ได้ แต่ในเรื่องการจัดการความร้อน, การจัดการพลังงาน ผมบอกเลยว่า OPPO R7s ทำได้ดีมากเลยล่ะ
ส่วนในด้านของการจัดการพลังงาน ก็จะมีหน้าจอพิเศษเพิ่มขึ้นมาครับ และแน่นอนว่ามันมีโหมดประหยัดพลังงานแบบพิเศษมาให้ด้วย (Super Power-saving) ที่จะตัดการเชื่อมต่อ และการทำงานที่กินพลังงานสูงออก เหลือแต่ให้สามารถใช้โทรศัพท์ รับส่งข้อความและดูนาฬิกาได้เท่านั้น สำหรับระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ OPPO R7s ก็จัดว่าทำได้ดีทีเดียวสำหรับมือถือบางๆ เช่นนี้ เพราะอัดแบตเตอรี่มาให้ถึง 3070 mAh ถ้าใช้งานจริงก็สามารถอยู่ได้หมดวันแบบสบายๆ กับรูปแบบการใช้งานทั่วไป เล่นเน็ต ฟังเพลง แชท เล่น Facebook ถ่ายรูป อัพรูปลงไอจี และเล่นเกมนิดหน่อย