
แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาปิดเทอมก็ตาม แต่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านก็คงต้องวางแผนเรื่องการซื้ออุปกรณ์ประกอบการเรียนให้บุตรหลานกันแล้ว ซึ่งในยุคนี้ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์คือหนึ่งในสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการเรียนไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงการเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้คำถามที่จะเกิดตามมาก็คือจะซื้อ iPad หรือซื้อ MacBook หรือโน้ตบุ๊ก Windows ให้ลูกใช้ดี ในบทความนี้จะมาดูถึงจุดเด่น จุดด้อยของแต่ละชิ้นกัน เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะซื้อเครื่องไหนดี
iPad
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในทุกปี ทำให้ iPad แทบจะกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์หลักสำหรับการเรียนไปแล้ว ด้วยขนาดหน้าจอที่กำลังดี ตอบโจทย์ทั้งการอ่าน การจดบันทึกและการพกพา จนทำให้หลายคนเลิกพกโน้ตบุ๊กไปเรียนกันแล้ว ประกอบกับสถานศึกษาหลายแห่งก็เลือกจะวางระบบที่เอื้อกับระบบนิเวศ (ecosystem) ของ Apple เช่นการนำระบบจัดการการเรียนการสอนของ Apple มาใช้โดยตรง มาจนถึงส่วนที่ปลีกย่อยสุดอย่างการที่ครูอาจารย์เลือกจะส่งไฟล์ให้นักเรียน-นักศึกษาผ่าน AirDrop ทำให้ iPad กลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวกกว่าโน้ตบุ๊ก หรือแม้กระทั่งเมื่อเทียบกับแท็บเล็ต Android ก็ตาม
อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ Apple เลือกเจาะตลาดการศึกษาด้วยการวางขาย iPad ในราคาหมื่นต้น ๆ ที่ล่าสุดก็จะเป็น iPad ชิป A16 หน้าจอ 11″ ในราคาเริ่มต้น 12,900 บาท (ความจุ 128GB) และถ้าใช้ส่วนลดเพื่อการศึกษาก็จะมีราคาอยู่ที่ 12,200 บาท ซึ่งเมื่อเทียบแล้วยังจะราคาถูกกว่าโน้ตบุ๊กในระดับที่ตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้ดีซะด้วยซ้ำ หรือถ้าต้องซื้อ Apple Pencil ก็จะมีรุ่น USB-C ในราคา 2,990 บาท (ราคาเพื่อการศึกษา 2,590 บาท) รวมแล้วถ้าจะให้ได้เครื่องพร้อมใช้ รวมเคสรวมฟิล์มกันรอยหน้าจอ น่าจะสามารถจบได้ในงบราว ๆ 16,000-17,000 บาท ส่วนถ้าต้องการพิมพ์งานจริงจัง ก็สามารถหาคีย์บอร์ด Bluetooth ราคาไม่แพงมาใช้ได้ทันที ซึ่งเมื่อดูจากราคารวมสุดท้ายแล้ว แม้ว่าในกลุ่มของโน้ตบุ๊กจะมีเครื่องราคาหมื่นกลาง ๆ ที่สเปคดีพอสำหรับใช้เพื่อการเรียนแล้วก็จริง แต่ iPad จะยังได้เปรียบกว่ามากในแง่ต่าง ๆ อาทิ
- น้ำหนักเบา พกง่าย
- เขียนจอได้ หรือถ้าอยากประหยัดงบลงอีก ก็เลือกซื้อปากกาสไตลัสจากผู้ผลิตรายอื่นก็ได้ ราคาเริ่มต้นหลักร้อยก็มีแล้ว
- แบตอึด ใช้งานข้ามวันได้สบาย
- สามารถเลือกรุ่นใส่ซิมใช้ 5G ได้ หากต้องการต่อเน็ตได้ตลอดเวลา
จึงไม่แปลกใจที่หลายสถาบันการศึกษาจะมีนโยบายแจกหรือให้นักศึกษาเช่ายืม iPad ไปใช้งานระหว่างการเรียนได้ เพราะนอกจากจะได้ความสะดวกในการเรียนการสอน การจัดการอุปกรณ์แล้ว ยังได้ในแง่ของภาพลักษณ์ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าในปัจจุบันยังมองว่าการใช้ iPad ประกอบการเรียนการสอนในสาขาวิชาทั่วไป ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันดูทันสมัยอยู่
ส่วนถ้ามองว่าอยากให้ลูกใช้งานระยะยาว จะซื้อ iPad Air หรือ iPad Pro ที่ราคาสูงกว่าเผื่อไปเลยดีมั้ย อันนี้ส่วนตัวมองว่ายังไม่จำเป็นถึงขั้นนั้น เพราะด้วยสเปคของ iPad รุ่นปกติเองก็รองรับการใช้งานอีก 4-5 ปีได้อยู่แล้ว จะมีอย่างมากก็เรื่องแบตเสื่อมตามอายุ ที่สามารถเปลี่ยนได้ในราคาหลักพัน ไว้ค่อยพ้น 5 ปีไปก่อนค่อยให้ลูกไปซื้อ iPad เครื่องใหม่สเปคใหม่ในขณะนั้นใช้จะดีกว่า อีกอย่าง การที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หลักอย่าง iPad ระหว่างช่วงที่เรียน อาจจะทำให้ขาดความต่อเนื่อง หรือมีการโอนถ่ายไฟล์มาไม่ครบถ้วนได้ ทำให้ส่วนตัวมองว่า iPad รุ่นธรรมดาก็ค่อนข้างเพียงพอแล้ว โดยอาจจะเลือกรุ่นความจุสูงหน่อยก็ได้
อีกกรณีคือถ้าในระหว่างเรียน เกิดมีความจำเป็นต้องใช้งานโปรแกรมเฉพาะทางบางอย่างที่ไม่สามารถใช้บน iPad ได้ ก็จะได้มีงบไว้สำหรับเผื่อต้องซื้อคอมอีกเครื่องเพื่อประกอบการเรียน ดีกว่าการทุ่มซื้อ iPad รุ่นสูงในครั้งเดียวตั้งแต่แรก (ยกเว้นว่าถ้าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา)
สรุปข้อดี-ข้อเสียของ iPad
ข้อดี
- สะดวก พกง่าย แบตอึด
- สามารถทำงานร่วมกับระบบในสถานศึกษาหลายที่ได้ง่ายกว่าแท็บเล็ต Android
- อุปกรณ์เสริมหาง่าย มีให้เลือกหลายระดับราคา
- ราคาเริ่มต้นไม่สูงมาก แต่ได้สเปคดี ใช้งานได้อีกหลายปี
ข้อเสีย
- เชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ไม่สะดวก เช่น แฟลชไดรฟ์ ต่อจอนอกผ่าน HDMI ถ้าจะต่อต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่ม
- มีโอกาสหน้าจอแตกได้ง่ายกว่าโน้ตบุ๊ก
- อาจไม่สามารถใช้งานบางโปรแกรม บางระบบที่บังคับว่าต้องทำผ่านคอมได้ หรือใช้ได้แบบไม่สมบูรณ์
- ไม่สามารถอัปเกรดสเปคได้ มีให้เลือกแค่ความจุเท่านั้น และต้องซื้อให้จบตั้งแต่แรก

MacBook
ถ้าขยับมาในกลุ่มของคอมพิวเตอร์ แต่ยังอยู่ในเครือของ Apple อยู่ก็จะมี Mac ให้เลือกใช้งาน โดยจะมีหลากหลายแพลตฟอร์ม อย่างถ้าเป็นเครื่องเดสก์ท็อปก็จะมี Mac mini ที่ราคาย่อมเยาลงมา Mac Studio ที่ไปสายทำงานจริงจัง iMac ที่เป็นคอมพิวเตอร์แบบออลอินวันที่มีหน้าจอเพียงอย่างเดียว โดยรวมฮาร์ดแวร์ทุกอย่างไว้ภายใน และก็ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กก็จะมี MacBook ที่ปัจจุบันแบ่งเป็นสองสายหลักคือซีรีส์ Air ที่เน้นความบางเบา พกง่ายกว่า ราคาจับต้องง่าย และซีรีส์ Pro ที่ประสิทธิภาพสูงกว่า พอร์ตเชื่อมต่อครบกว่า แต่ก็มาพร้อมน้ำหนักและราคาที่สูงกว่าด้วย ซึ่งถ้าจะให้เลือกรุ่นที่เหมาะสำหรับประกอบการเรียนก็คงต้องมองไปที่ MacBook Air ด้วยปัจจัยด้านประสิทธิภาพต่อราคาเป็นหลัก
ข้อได้เปรียบของการซื้อ MacBook มาใช้ประกอบการเรียน จริง ๆ แล้วเราก็สามารถมองว่ามันคือโน้ตบุ๊กธรรมดาเครื่องหนึ่งก็ได้ ซึ่งสิ่งที่จะได้ก็คือคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตัว มีหน้าจอ คีย์บอร์ด เมาส์แบบแทร็กแพ็ด รองรับการเชื่อมต่อทั้งแบบไร้สายและมีสาย โดยแบตที่มีก็อึดพอตัว สามารถใช้งานระหว่างวันได้ หรือแม้จะใช้งานหนักจริง ๆ ก็ยังจัดว่าอยู่ได้นานเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กทั่วไป ทำให้น่าจะเหมาะกับรูปแบบการใช้งานที่ต้องมีการพิมพ์บ่อย ๆ เพราะการพิมพ์ด้วยคีย์บอร์ดที่เป็นปุ่มกดจริงยังให้ความรู้สึกที่ดีกว่า และมีอาการเมื่อยปลายนิ้วที่น้อยกว่าการแตะบนหน้าจอแข็ง ๆ เพื่อพิมพ์อยู่ดี
ส่วนในด้านของแอปพลิเคชันและการใช้งานร่วมกับ ecosystem จาก Apple แน่นอนว่า MacBook สามารถตอบโจทย์ได้แทบจะทั้งหมด จากทั้งการที่เป็นสินค้า Apple อยู่แล้ว จึงรองรับ AirDrop และระบบต่าง ๆ ได้ไม่ต่างจาก iPad รวมถึงตัวของระบบปฏิบัติการเองที่ Apple ก็ออกแบบมาให้สามารถใช้งานแอป iPad บางส่วนบน MacBook ที่ใช้ชิป M1 ขึ้นมาได้ด้วย จึงทำให้ MacBook น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างครบเครื่องสำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษา ส่วนถ้าไปเจอกับโปรแกรมที่ต้องใช้งานบน Windows จริง ๆ ก็ยังพอมีทางออก เช่น การใช้งานผ่าน virtual machine ในแมคผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Parallel Desktop (ขายแต่มีให้ทดลองใช้ 30 วัน) และ VMWare Fusion Pro ที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี แต่ประสิทธิภาพไม่ดีเท่าตัวแรก
สำหรับ MacBook Air รุ่นล่าสุดที่วางจำหน่ายก็จะเป็นรุ่นที่มาพร้อมชิป M4 ทั้งในรุ่นขนาดหน้าจอ 13″ ราคาเริ่มต้น 34,900 บาทและ 15″ ราคาเริ่มต้น 42,900 บาท ซึ่งสำหรับการเรียน แนะนำว่าเป็นรุ่นหน้าจอ 13″ ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานแล้ว ส่วนสเปคภายในก็ต้องบอกว่าแรงเหลือเฟือ ด้วยพลังของชิป M4 ที่เป็นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดในขณะนี้ แรมก็ให้มา 16GB ซึ่งเป็นปริมาณแรมแนะนำขั้นต่ำสำหรับคอมพิวเตอร์ในปี 2025 ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลก็จะใช้เป็น SSD ความจุ 256GB ที่จริง ๆ แล้วก็เพียงพอสำหรับการใช้งานขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าหากต้องการพื้นที่เก็บไฟล์เพิ่มก็สามารถซื้อแฟลชไดรฟ์ หรือ External HDD หรือ External SSD มาใช้ก็ได้ ซึ่งจะช่วยทุ่นรายจ่ายลงได้พอสมควร เมื่อเทียบกับการขยับไปซื้อ MacBook Air ความจุ 512GB ที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 7,000 บาท
แต่ในกรณีที่ต้องการประหยัดงบลงมา อันนี้อาจจะต้องใช้กำลังเดินเสาะหาซักนิดนึง เพราะหลายร้านก็ยังมีสต็อก MacBook Air ชิป M1 มือหนึ่งในราคาประมาณ 25,000 บาท และรุ่นชิป M2 ในราคาประมาณ 30,000 บาทเหลืออยู่ แถมในบางงาน เช่นงาน Mobile Expo ก็ยังคงมีการนำมาลดราคาไปอีกหลายพันทีเดียว แต่ทั้งนี้มีจุดที่ต้องย้ำซักนิดนึงก็คือเรื่องปริมาณแรม เพราะใน MacBook Air รุ่นเก่าที่ราคาดึงดูดใจมาก ๆ มักจะเป็นรุ่นแรม 8GB เท่านั้น ซึ่งถามว่ายังใช้ได้มั้ย ก็ตอบตามตรงว่ายังใช้ได้อยู่ แต่ในตอนนี้จะเริ่มเจอปัญหาว่าเครื่องใช้แรมหมดบ่อย ส่วนหนึ่งก็มาจากแอปต่าง ๆ ที่กินแรมเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้ไม่สามารถเปิดหลายแอปทำงานพร้อมกันได้ไหลลื่นแล้ว หรือที่จะส่งผลในระยะยาวก็คือเมื่อแรมหมด ระบบก็จะไปดึงพื้นที่ SSD ในเครื่องมาใช้ชั่วคราว ซึ่งพื้นที่ในส่วนนั้นก็จะถูกอ่านเขียนข้อมูลแทนแรม ส่งผลให้อายุการใช้งาน SSD ลดลงไปอีก ดังนั้นทางที่ดี ปี 2025 แล้วก็ควรเลือกซื้อ MacBook และโน้ตบุ๊กทั่วไปที่ให้แรมมาขั้นต่ำ 16GB ไว้จะดีกว่า สังเกตจาก Apple เองก็เลือกจะปรับแรมขั้นต่ำในแมคทุกรุ่นเป็น 16GB ทั้งหมดแล้ว
อีกทางหนึ่ง ตลาด MacBook มือสองก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะผู้ใช้แมคส่วนใหญ่จะใช้งานเครื่องแบบค่อนข้างถนอม โดยเฉพาะผู้ที่มีแผนตั้งแต่แรกว่าจะขายมือสองเพื่อไปซื้อเครื่องใหม่มาเปลี่ยนแทน เนื่องจากราคาขายต่อของผลิตภัณฑ์ Apple จะถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ทำให้การเลือกซื้อ MacBook มือสองสภาพดีก็เป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา ในกรณีที่ต้องการเครื่องสเปคดีในราคาย่อมเยากว่าการซื้อเครื่องมือหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้สเปคล่าสุดก็ตาม
จากที่สำรวจใน Facebook Marketplace พบว่าราคา MacBook Air มือสอง แรม 16GB จะมีราคาอยู่ในช่วงประมาณนี้
- ชิป M1 ราคา 22,xxx – 25,xxx บาท
- ชิป M2 และ M3 ราคา 25,xxx – 32,xxx บาท
อย่างไรก็ตาม การซื้อ MacBook มือสองก็มีจุดที่ต้องตรวจสอบพอสมควรทีเดียว ทั้งตัวเครื่องภายนอกโดยรวม หน้าจอ คีย์บอร์ด พอร์ตเชื่อมต่อ สุขภาพแบตเตอรี่ ลำโพง แถมยุคนี้ก็ยังต้องระวังมิจฉาชีพอีก ทางที่ดีก็คือควรซื้อแบบนัดเจอ ทดสอบเครื่องกันต่อหน้าในสถานที่สาธารณะ ถ้าโอเคค่อยโอนเงินจะปลอดภัยที่สุด ไม่ควรซื้อแบบไม่ได้เห็นของ แม้จะเป็นการซื้อจากเพจที่มีผู้ติดตามเยอะก็ตาม เพราะในปัจจุบันการปลอมเพจ การซื้อยอดผู้ติดตามนั้นทำได้ง่ายมาก
สรุปข้อดี-ข้อเสียของ MacBook
ข้อดี
- ใช้งานได้รอบด้าน ครบเครื่อง ตอบโจทย์การเรียนที่สุดเมื่อเทียบกับ iPad
- รองรับ AirDrop และการทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ ของ Apple ได้แทบทั้งหมด
- แบตอึดมาก เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กทั่วไป
- macOS ใช้งานทั่วไปไหลลื่น มีระบบ Tag ช่วยจัดการไฟล์ได้ลึกกว่า Windows
- สามารถใช้งานแอป iPad และ iPhone บางส่วนได้
- ทำงานร่วมกับ iOS และ iPadOS ที่ใช้ Apple ID เดียวกันผ่านฟีเจอร์ Continuity ได้ดีมาก
ข้อเสีย
- พกยากกว่า iPad นิดนึง แม้ตัวเครื่องจะจัดว่าบางเบาแล้วก็ตาม
- ไม่มีจอสัมผัส อาจไม่เหมาะกับการเรียนที่ต้องมีการวาด การสเก็ตช์ หรือต้องจดเยอะ ๆ
- ไม่สามารถอัปเกรดสเปคเองได้ (มีร้านรับทำ แต่ราคาค่อนข้างสูง เพราะต้องทำในระดับชิปบนบอร์ด)
- อาจไม่สามารถใช้งานบางโปรแกรมได้ เช่น โปรแกรมเฉพาะทาง โปรแกรมที่ต้องใช้กับ Windows เท่านั้น
- มักให้พอร์ตเชื่อมต่อมาน้อย
- ราคาแรกเข้าจะค่อนข้างสูง แต่เซฟได้ด้วยการหาเครื่องมือสอง หรือเครื่องใหม่ที่สเปคตกรุ่น แต่ต้องแรม 16GB ไว้ก่อนและถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกรุ่นชิป M1 ขึ้นไป

โน้ตบุ๊ก Windows
ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ การซื้อโน้ตบุ๊กเพื่อใช้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย จัดว่าแทบจะเป็นเรื่องปกติสำหรับหลายสาขาวิชา เนื่องจากคอมพิวเตอร์ถือว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการเรียน การทำรายงาน การค้นคว้าข้อมูล รวมถึงยังสามารถใช้ในเวลาพักผ่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเน็ต แต่เมื่อมาถึงยุคของสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตอย่างเต็มตัว ความจำเป็นในการซื้อโน้ตบุ๊กก็ลดลง ประกอบกับราคาของโน้ตบุ๊กในระดับที่ใช้งานได้ดีนั้นก็แทบไม่ต่างจาก MacBook รุ่นเริ่มต้นมากนัก แต่ฝั่งแมคจะมีข้อได้เปรียบที่หลายคนมองว่าภาพลักษณ์ดีกว่า บางเบากว่า แบตอยู่ได้นานกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ โน้ตบุ๊ก Windows ที่จะใช้งานแบตได้เท่า ๆ MacBook นั้นก็มีแต่เครื่องรุ่นราคาสูง จากสาเหตุต่าง ๆ ข้างต้น จึงทำให้ MacBook ได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มของนักศึกษาที่ยังจำเป็นต้องใช้คอม แต่ไม่ได้เรียนในคณะที่ต้องใช้โปรแกรมเฉพาะทาง
แต่พอมาในช่วงหลัง ฝั่งผู้ผลิต CPU ทั้ง Intel และ AMD ต่างก็สามารถพัฒนาชิปให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกลับกินไฟน้อยลง ความร้อนน้อยลง ทำให้แบตเตอรี่ใช้งานได้นานขึ้นแม้จะไม่ใช่รุ่นระดับท็อปที่เน้นแบตอึดแบบเมื่อก่อน หรือหากต้องการใช้เล่นเกม พลังกราฟิกไม่ว่าจะเป็นในชิปการ์ดจอแยก หรือจากการ์ดจอแบบ iGPU ใน CPU รุ่นใหม่ ๆ ก็สามารถใช้เล่นเกมในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเกมออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ แม้จะเป็นในเครื่องราคาประมาณ 20,000 บาทก็ตาม ส่วนในแง่ของการใช้งานร่วมกับบางโปรแกรมที่จัดว่าเฉพาะทางสำหรับการเรียนในบางสาขา ก็ต้องบอกว่าโปรแกรมจำนวนมากมักออกแบบมาให้ใช้งานได้กับ Windows เท่านั้น
จากเหตุผลข้างต้น ก็น่าจะทำให้โน้ตบุ๊ก Windows เองก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีสำหรับการซื้อให้บุตรหลานใช้ประกอบการเรียน ด้วยในเรื่องของราคาที่จับต้องง่ายกว่า MacBook ในกรณีต้องการคอมพิวเตอร์พกพาได้ซักเครื่อง สำหรับสเปคแนะนำสำหรับการซื้อโน้ตบุ๊กเพื่อใช้ประกอบการเรียนซักเครื่อง ตีคร่าว ๆ ดังนี้
- CPU จะเป็น Intel Core i5 หรือ Core Ultra 5 ขึ้นไป ส่วนฝั่ง AMD ก็เป็น Ryzen 5 ขึ้นไปน่าจะตอบโจทย์ระยะยาว และครอบคลุมการทำงานที่กว้างได้ดีกว่ารุ่นต่ำกว่านี้
- แรม 16GB ขึ้นไป หรือเป็น 8GB ที่สามารถใส่เพิ่มทีหลังได้
- SSD 512GB ขึ้นไป
- หน้าจอ ขนาด 13″ ขึ้นไป ความละเอียดระดับ Full HD ขึ้นไป ขอบเขตสีพวก sRGB ยิ่ง % เยอะยิ่งดี
- พอร์ตเชื่อมต่อหลัก ๆ ที่จำเป็น: USB-A, USB-C, HDMI
สำหรับการ์ดจอแยก โดยมากแล้วจะใส่มาในเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก หรือโน้ตบุ๊กใช้งานทั่วไปที่ออกแบบมาเผื่อการเล่นเกมเบา ๆ หรือใช้งานกับโปรแกรมที่นำการ์ดจอแยกมาช่วยประมวลผลได้ เช่น โปรแกรมสายตัดต่อวิดีโอ ซึ่งในขณะนี้จะเริ่มมีใส่มาในโน้ตบุ๊กราคาตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป ตรงจุดนี้ ถ้าหากทราบว่าบุตรหลานชอบเล่นเกมในคอมอยู่แล้ว ก็อาจจะพูดคุยเพื่อหาจุดลงตัวในแง่ของสเปคเครื่องและงบประมาณกันก่อนซื้อก็จะเป็นการดี เพราะโน้ตบุ๊กที่มาพร้อมการ์ดจอแยกในระดับที่เล่นเกมได้ดีมักจะมีราคาสูงนิดนึง แต่ถ้าเกมที่เล่นเป็นเกมที่การ์ดจอออนบอร์ดแบบ iGPU ก็เพียงพอ ตรงนี้ก็น่าจะช่วยให้จัดสรรงบได้ง่ายขึ้น หรือสามารถเลือกฮาร์ดแวร์ส่วนอื่นที่สเปคสูงกว่ารุ่นการ์ดจอแยกได้ เช่น เลือกรุ่นที่แรมมากกว่า CPU สูงกว่า เป็นต้น ซึ่งในด้านของการเลือกสเปคโน้ตบุ๊กที่เหมาะสม อันนี้อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และมีความรู้ในส่วนของการจัดลำดับรุ่นซักนิดนึง ด้วยความหลากหลายจากประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น จึงอาจแนะนำว่าถ้าไม่มั่นใจ ก็อาจจะสอบถามจากผู้รู้ก่อนไปเลือกหน้าร้าน หรือพาไปช่วยเลือกซื้อด้วย เพื่อจะได้เครื่องที่สเปคตรงใจ ในราคาที่เหมาะสม
ส่วนการเลือกซื้อโน้ตบุ๊กมือสอง อันนี้จะค่อนข้างยากกว่าแมคนิดนึง ด้วยความที่รุ่นมีจำนวนมาก ก็อาจจะต้องใช้เวลาควานหาสเปคที่ต้องการซักนิดนึง รวมถึงอาจต้องตรวจสอบสภาพเครื่องอีก
สรุปข้อดี-ข้อเสียของโน้ตบุ๊ก
ข้อดี
- มีสเปคให้เลือกหลากหลายตามความต้องการ รวมถึงราคาด้วย
- รองรับการใช้งานร่วมกับโปรแกรมส่วนใหญ่ได้ทั้งหมด
- เล่นเกมได้ดีกว่าแมค ใช้งานกับโปรแกรมเฉพาะทางบางอย่างได้ดีกว่า
- ใช้งานอุปกรณ์ต่อเสริมได้เยอะ
- มักให้พอร์ตเชื่อมต่อมาเยอะกว่า
- บางรุ่นสามารถอัปเกรดสเปคบางจุดเพิ่มได้ เช่น เพิ่มแรม เปลี่ยน SSD
ข้อเสีย
- สเปคมีให้เลือกหลากหลายมาก จนอาจทำให้สับสน
- ราคาขายต่อไม่ค่อยสูง ราคาตกเร็ว
- อาจไม่เหมาะกับคณะที่ใช้งาน ecosystem ของ Apple เป็นหลัก
- ในรุ่นราคาไม่สูงมาก จะได้บอดี้เป็นพลาสติก ซึ่งความทนทานน้อยกว่าอลูมิเนียม

สรุป จะซื้อ iPad หรือซื้อ MacBook หรือโน้ตบุ๊กดี?
สำหรับข้อสรุปนี้ ตามจริงแล้วไม่ว่าจะบทความใด ๆ ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ 100% เนื่องจากความต้องการใช้งาน ความต้องการขั้นต่ำที่จำเป็นที่แตกต่างกัน ทำให้ถ้าเป็นไปได้ แนะนำว่าควรลองคุยกับบุตรหลานว่าต้องการเครื่องแบบไหน นำไปใช้อะไรบ้าง โดยอาจจะลองสอบถามกับสถานศึกษา คณะ ภาควิชาที่จะเข้าไปเรียน ว่าจะต้องมีการใช้งานอะไรบ้าง และขอคำแนะนำว่าควรซื้ออุปกรณ์ประเภทใดดี ถึงจะสามารถใช้ประกอบการเรียนได้เต็มที่ คุ้มเงินที่จ่ายไปที่สุด นอกจากนี้สถานศึกษาบางแห่งก็ยังมีเครื่องให้ยืมใช้ได้อีก ซึ่งอาจจะช่วยลดรายจ่ายในการซื้อ และอาจรวมถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม บำรุงรักษาลงไปได้ด้วย
แต่ถ้ายังไม่สามารถหาข้อมูลได้ แล้วจำเป็นต้องซื้อรอไว้ก่อน ส่วนตัวมองว่าการซื้อ iPad ไว้ซักเครื่องน่าจะเป็นทางเลือกที่เซฟสุด เพราะยังไง ๆ ก็สามารถใช้โหลดไฟล์มาอ่าน ใช้จดบันทึกในห้องเรียน ใช้ทำงานหลาย ๆ อย่างได้ในเครื่องเดียว ซึ่งสถานศึกษาหลายแห่งก็มีการปรับตัวจากช่วงโควิด-19 ให้มีการเรียนการสอนที่ใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น จากนั้นถ้าจำเป็นต้องมีคอมซักเครื่อง ก็ค่อยดูเป็นโน้ตบุ๊ก หรือประกอบพีซีซักเครื่องภายหลังจากที่ได้ที่อยู่แน่นอนแล้วก็ได้ เนื่องจากการเรียนของหลาย ๆ คณะก็ไม่จำเป็นที่ต้องพกโน้ตบุ๊กไปเรียน ไปใช้นอกสถานที่เลย
ส่วนกรณีที่ลูกหลานอาจจะต้องการเครื่องที่เล่นเกมได้ เกมมิ่งโน้ตบุ๊กราคาซัก 30,000 บาทก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ เพราะด้วยราคานี้ก็พอจะหาโน้ตบุ๊กการ์ดจอ RTX 4050 หรือ RTX 3050 ที่เป็นการ์ดจอแยกประสิทธิภาพระดับที่รองรับการเล่นเกมในปัจจุบันบนจอ Full HD ได้สบาย หรือจะไปมองเป็นกลุ่มของเครื่องเกมพีซีพกพาแบบ handheld อย่างพวก ASUS ROG Ally X ก็น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มเครื่องเหล่านี้ก็มาพร้อม Windows 11 ที่สามารถต่อจอเพื่อใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์เต็มรูปแบบได้ ก็อาจจะเลือกเป็นเครื่อง handheld ราคาหมื่นปลาย ๆ ถึงสองหมื่นนิด ๆ ซักเครื่อง + จอ 24″ ราคาไม่แพงซักตัว ก็นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ต้องการพีซีแบบพกพาง่ายกว่าโน้ตบุ๊ก แต่เล่นเกมได้ แล้วยังต่อออกจอใหญ่ทำงานได้แบบปกติด้วย ในงบรวมไม่ถึง 30,000 บาท แต่ประสิทธิภาพของเกมก็อาจจะลดหลั่นลงมาบ้างเมื่อเทียบกับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กโดยตรง
และสำหรับ MacBook ต้องบอกว่าน่าจะเหมาะกับผู้ที่ไม่เน้นการเล่นเกมมากนัก และภาควิชาที่เรียนสามารถใช้แมคประกอบการเรียนได้แบบไม่มีอุปสรรคด้านโปรแกรมหรือ ecosystem ยกตัวอย่างถ้าเป็นการเรียนสายวิศวะที่ต้องเรียนการใช้โปรแกรมควบคุมเครื่องจักร ต้องเขียนโปรแกรมบางภาษาที่ไม่มีเครื่องมือบนแมครองรับ การฝืนใช้ MacBook ก็อาจจะไม่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเรียนมากนัก แต่ถ้าเป็นสายงานออกแบบ สายงานมัลติมีเดีย แบบนี้บอกเลยว่าการซื้อ MacBook น่าจะเหมาะกว่ามาก ด้วยทั้งเครื่องมือของสถานศึกษาเองก็อาจจะเป็นสายแมคอยู่แล้ว ประกอบกับชีวิตการทำงานหลังเรียนจบก็อาจจะได้ทำงานกับสายเครื่องแมคต่อ ซึ่งก็จะช่วยให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องกว่า หรือหากจำเป็นต้องสลับมาใช้ Windows ก็น่าจะปรับตัวได้ไม่ยากนัก เพราะเชื่อว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะคุ้นชินกับ Windows มาอยู่แล้ว หากบุตรหลานในบ้านจะได้เรียนสายเหล่านี้ การซื้อ MacBook ให้ใช้อาจจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ไม่น้อยทีเดียว
สุดท้าย ก็ขอย้ำว่าควรพูดคุยและหาข้อมูลก่อนซื้อจะดีที่สุดครับ