จัดว่าเป็นข่าวใหญ่ของวงการมือถือเลยทีเดียว เมื่อทาง Microsoft ประกาศเข้าซื้อกิจการส่วนของโทรศัพท์มือถือและการบริการของ Nokia อย่างเป็นทางการ เพื่อหลอมรวมฝั่งซอฟต์แวร์ของตนเข้ากับฝั่งฮาร์ดแวร์ของ Nokia อย่างเต็มตัว หลังจากในช่วงที่ผ่านมา Nokia อยู่ในฐานะพาร์ทเนอร์หลัก (เชิงบริษัทลูก) ของ Microsoft มาหลายปี โดยการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่ง Microsoft จะต้องจ่ายเงิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.6 แสนล้านบาท) สำหรับการซื้อกิจการของ Nokia และจ่ายอีกราว 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (6.9 หมื่นล้านบาท) เพื่อการซื้อสิทธิบัตรของ Nokia ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเข้ามาเป็นของตน ซึ่งน่าแปลกใจตรงที่มูลค่าการซื้อขายรวมครั้งนี้ ยังน้อยกว่าตอนที่ Microsoft เข้าซื้อ Skype เสียอีก ทั้งๆ ที่ Nokia เองก็เป็นบริษัทใหญ่และเก่าแก่รายหนึ่ง
โดยพนักงานกว่า 32,000 คนของ Nokia จะย้ายเข้าไปร่วมงานกับ Microsoft ส่วนจุดที่น่าสนใจในดีลครั้งนี้ ก็เช่น
- Microsoft จะสามารถนำสิทธิบัตรของ Nokia กว่า 8,500 รายการไปใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนได้ (Nokia ถือสิทธิบัตรอยู่ราว 30,000 รายการ) เป็นระยะเวลา 10 ปี
- Nokia จะได้รับสิทธิ์ในสิทธิบัตรกับ 3rd party เพิ่มเติมกว่า 60 ใบ ตัวอย่างเช่น สิทธิบัตรของ Qualcomm, Motorola Mobility, Motorola Solutions
- Microsoft ได้เป็นเจ้าของสิทธิ์ตัวแบรนด์ทั้ง Lumia และ Asha รวมไปถึงได้สิทธิ์ใช้ชื่อ Nokia ในมือถือกลุ่มฟีเจอร์โฟนเป็นระยะเวลา 10 ปี (ไม่สามารถใช้ชื่อ Microsoft ของตนได้)
- Microsoft จะได้สิทธิ์ในการนำบริการ Nokia HERE ทั้งหมดมาใช้งาน แต่ก็ยังเปิดให้บริษัทอื่นสามารถเจรจากับ Nokia เพื่อเอาไปใช้งานได้เช่นกัน
- Microsoft สามารถนำข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ มาประยุกต์รวมเข้ากับบริการในชุด HERE ของ Nokia ได้
- Microsoft ต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นว่า บนโลกนี้ไม่ได้มีแค่ Google Maps อย่างเดียว
- Microsoft จะยังให้การสนับสนุนการใช้งาน iPhone และ Android ให้สามารถใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของตนได้เช่นเดิม?แต่ก็จะยังแข่งขันกับ Apple และ Google ต่อไป (ด้วยพลังที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน)
- Microsoft ตั้งเป้ายอดขายสมาร์ทโฟนว่าจะได้อย่างต่ำ 300 ล้านเครื่องต่อปี
- ซึ่งยอดขายมือถือก็จะส่งผลให้ยอดขายแท็บเล็ตดีขึ้น และยอดขายแท็บเล็ตก็จะส่งผลให้ยอดขายพีซีที่ใช้ Windows ดีขึ้นด้วย เพราะแต่ละอุปกรณ์ทำงานบน ecosystem เดียวกัน
นอกจากนี้ Stephen Elop ยังประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอของ Nokia อีกด้วย โดยลงมาอยู่ในตำแหน่ง Executive VP ของฝ่านงานอุปกรณ์และบริการแทน (และจะได้เข้าไปทำงานกับ Microsoft ในภายหลัง แถมมีคาดการณ์กันอีกด้วยว่าจะเข้าไปเป็นซีอีโอของ Microsoft) ซึ่งในช่วงระหว่างการสรรหาซีอีโอคนใหม่ ก็จะได้ Risto Siilasmaa กรรมการบอร์ดบริหารขึ้นมารับตำแหน่งแทนชั่วคราว
โดยสรุปแล้ว การเข้าซื้อกิจการ Nokia ครั้งนี้ ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ จะไม่เห็นความแตกต่างมากครับ เพราะมือถือที่วางขายก็จะยังติดยี่ห้อว่า Nokia อยู่ ระบบภายในก็เหมือนๆ เดิม แต่เราอาจจะได้เห็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้านซอฟต์แวร์ที่เร็วขึ้น เนื่องจาก Microsoft ผู้ทำซอฟต์แวร์ได้ร่วมงานกับ Nokia ผู้ทำฮาร์ดแวร์และจัดจำหน่าย ผู้รู้ปัญหาการทำงานของระบบอย่างใกล้ชิดกว่าแต่ก่อน อีกทั้งเราอาจจะได้เห็น ecosystem องค์รวมของอุปกรณ์หลายๆ แบบ เช่น คอมพิวเตอร์พีซีที่ใช้ Windows ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตที่ใช้ Windows Phone ได้อย่างลงตัว เฉกเช่นเดียวกับที่ Apple ทำอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้
สำหรับใครที่ต้องการอ่านสไลด์สรุปสถานการณ์โดยรวมจาก Microsoft สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้จากลิ้งค์นี้เลยครับ
ที่มา: Engadget, The Verge, MacRumors, Microsoft, Nokia