เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับ iPad Air 4 และ iPad 8 ที่รอบนี้มีการปรับเปลี่ยนในหลายจุด อย่างส่วนของ iPad Air รุ่นใหม่ ก็มีการปรับโฉมให้มีความใกล้เคียงกับ iPad Pro มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังปรับสเปคไปใช้ชิป A14 Bionic รุ่นใหม่ล่าสุดประจำปีนี้ ฝั่งของ iPad 8 ก็ยังเน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก ด้วยการปรับสเปคไปใช้ชิป A12 Bionic ที่เร็วขึ้นกว่า iPad 7 ซึ่งคำถามยอดฮิตของช่วงนี้เลยก็คือ ถ้าจะซื้อ iPad จอใหญ่ซักเครื่อง จะเลือกรุ่นไหนดีระหว่างสองรุ่นนี้
เทียบสเปค
แน่นอนว่าสเปคของ iPad Air 4 ย่อมต้องเหนือกว่า iPad 8 ในหลาย ๆ ด้าน เนื่องด้วยตำแหน่งของไลน์ผลิตภัณฑ์ที่สูงกว่า และราคาที่มากกว่าด้วย แต่จากที่ผ่าน ๆ มา กลุ่มเป้าหมายของ iPad แต่ละรุ่นก็ค่อนข้างชัดเจนครับ อย่าง iPad Air ก็จะเน้นจับกลุ่มคนที่ต้องการ iPad จอใหญ่ น้ำหนักเบา ใช้งานได้หลากหลาย ความแรงประมาณนึงแต่ยังไม่ถึงกับรุ่น Pro ส่วน iPad 8 ก็จะเน้นคนที่อยากได้ iPad จอใหญ่หน่อย ราคาคุ้ม ๆ มาใช้งานด้านการศึกษา งานที่ไม่ได้เน้นความเร็วและสีสันของหน้าจอมากเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นไปตามโครงสร้างราคานั่นเอง
สำหรับในปีนี้ iPad Air รุ่นใหม่ดูจะน่าสนใจตรงที่มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ตัวเครื่อง และพอร์ตชาร์จให้เป็นแบบเดียวกับ iPad Pro นั่นคือหันมาใช้ USB-C แทน ทำให้สามารถใช้สายชาร์จของมือถือ Android หลาย ๆ รุ่นได้ทันที หรือจะใช้สายชาร์จของ MacBook รุ่นใหม่ ๆ ก็ได้เลยเช่นกัน ลดภาระการพกสายไปได้อีก 1 เส้น นอกจากนี้ยังใส่พอร์ตเชื่อมต่อแบบแม่เหล็กมาให้เหมือนกับ iPad Pro ด้วย จึงทำให้สามารถใช้อุปกรณ์เสริมชิ้นเดียวกันได้เลย เช่นเคส Smart Keyboard Folio และ Magic Keyboard ที่สามารถซื้อรุ่นสำหรับ iPad Pro 11″ มาใช้ได้ทันที (บนเว็บ Apple นั้นคือชิ้นเดียวกันเลย) รวมถึงยังสามารถใช้ Apple Pencil 2 ได้ด้วย
ส่วน iPad 8 นั้น ตัวบอดี้ก็ยังคงใช้เป็นแบบเดิมอยู่ มิติตัวเครื่องเท่าเดิม ทำให้น่าจะสามารถใช้เคสเดียวกับ iPad 7 ได้ ส่วนขอบจอบน-ล่างที่ดูหนาไปนิดสำหรับยุคนี้ เอาจริง ๆ มันก็มีข้อดีครับ คือถ้าใช้งานในแนวนอน เช่นอาจจะเป็นการวาดรูปหรือยกเครื่องขึ้นมาเล่นเกม พื้นที่ด้านข้างที่มากกว่า จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถวางสันมือลงไปได้แบบไม่ต้องกลัวว่าจะไปรบกวนการใช้งานเครื่อง ถึงแม้ว่าที่จอมันจะมีฟังก์ชันในการช่วยจับตำแหน่งของสันมือที่ขอบจอก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งมันก็รวน และไม่แม่นยำอยู่เหมือนกัน
กลับมาที่เรื่องชิปประมวลผล iPad Air 4 มาพร้อมชิป A14 Bionic รุ่นใหม่ล่าสุด อันนี้ไม่ต้องห่วงเลยครับ รองรับการสนับสนุน การอัพเดต iPadOS ไปได้อีกนาน รวมถึงยังมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานที่ดีกว่ารุ่นก่อนหน้าด้วย เราจึงได้เห็นว่าแบตเตอรี่ของ iPad Air รุ่นใหม่มีค่าการจ่ายไฟต่อชั่วโมง (Whr) ที่น้อยกว่า iPad 8 เสียอีก แต่กลับใช้งานได้ระยะเวลาเท่า ๆ กัน
ส่วน iPad 8 เลือกใช้ชิป A12 Bionic ที่เป็นชิปรุ่นเดียวกับในกลุ่ม iPhone XS และ iPad mini 5 ซึ่งส่วนตัวผมเองที่ใช้ iPad mini 5 อยู่ ตอนนี้บอกเลยว่าแรงหายห่วงครับ ยังใช้งานได้อีกหลายปีแน่นอน ดังนั้นถ้าจะนำมาใช้งานทั่วไป ใช้เป็นสมุดจดงาน ใช้งานแอปเกี่ยวกับกราฟิก หรือจะใช้เล่นเกมก็ทำได้ ไม่มีปัญหา
สรุปเรื่องสเปค
iPad Air 4 สเปคดีกว่า จอคุณภาพดีกว่า ส่วน iPad 8 จะค่อนข้างคุ้มค่ากว่านิดนึง ด้วยประสิทธิภาพที่ไม่ได้ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สามารถใช้งานทั่วไปได้สบายมาก ประกอบกับราคา iPad Pro (2018) ก็ลดลงมาในระดับที่ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ด้วย ซึ่งก็ต้องไปพิจารณากันอีกทีครับ ว่าอยากได้เครื่องเบา ๆ ความแรงพอตัว (iPad Air) หรือเครื่องแรง ๆ ภาพไหลลื่น แต่หนักกว่านิดนึง และเป็นรุ่นเก่ากว่าหน่อย (iPad Pro รุ่นเก่า) ส่วนถ้าจับ iPad Air 4 เทียบกับ iPad Pro รุ่นปัจจุบัน ถ้าไม่ได้ใช้ทำงานหนักจริงจัง ตัว iPad Air รุ่นใหม่จะค่อนข้างคุ้มเงินกว่านิดนึงนะ
ราคาเครื่อง + อุปกรณ์เสริม
ทีนี้มาต่อกันที่อุปกรณ์เสริมบ้างครับ ว่าถ้าจะซื้อ iPad Air 4 หรือ iPad 8 มาเพื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นเนี่ย จะต้องใช้งบเท่าไหร่ โดยเราจะอิงสินค้ากับราคาของ Apple จากหน้าเว็บ Apple เป็นหลักนะครับ
iPad Air 4
เซ็ตจัดเต็ม: Magic Keyboard + Apple Pencil 2 + สายแปลง USB-C to 3.5 = 9,990 + 4,490 + 390 = 14,870 บาท
ราคารุ่น 64GB + เซ็ตจัดเต็ม = 34,770 บาท
ราคารุ่น 256GB + เซ็ตจัดเต็ม = 39,770 บาท
เซ็ตทำงาน แต่ไม่ถึงขั้นจัดเต็ม: Smart Keyboard Folio + Apple Pencil 2 + สายแปลง USB-C to 3.5 = 5,990 + 4,490 + 390 = 14,870 บาท
ราคารุ่น 64GB + เซ็ตทำงาน = 30,770 บาท
ราคารุ่น 256GB + เซ็ตทำงาน = 35,770 บาท
ใช้งานทั่วไป ใช้เรียน ใช้จดงาน: Apple Pencil 2 = 4,490 บาท
ราคารุ่น 4 64GB + เซ็ตใช้งานทั่วไป = 24,390 บาท
ราคารุ่น 256GB + เซ็ตใช้งานทั่วไป = 29,390 บาท
ขอแค่ฝาปิดแท้ก็พอแล้ว: Smart Cover = 2,290 บาท
ราคารุ่น 64GB + Smart Cover = 22,190 บาท
ราคารุ่น 256GB + Smart Cover = 27,190 บาท
iPad 8
เซ็ตจัดเต็ม: Smart Keyboard + Apple Pencil 1 = 5,290 + 3,400= 8,690 บาท
ราคา iPad 8 32GB + เซ็ตจัดเต็ม = 19,590 บาท
ราคารุ่น 128GB + เซ็ตจัดเต็ม = 22,590 บาท
ใช้งานทั่วไป ใช้เรียน ใช้จดงาน: Apple Pencil 1 = 3,400 บาท
ราคา iPad 8 32GB + เซ็ตใช้เรียน = 14,300 บาท
ราคารุ่น 128GB + เซ็ตใช้เรียน = 17,300 บาท
ขอแค่ฝาปิดแท้ก็พอแล้ว: Smart Cover = 2,290 บาท
ราคา iPad 8 32GB + Smart Cover = 13,190 บาท
ราคารุ่น 128GB + เซ็ตใช้เรียน = 16,190 บาท
อันนี้ก็แล้วแต่ความต้องการใช้งานของแต่ละท่านเลยครับ บางชิ้นอาจจะเลือกซื้อจากแบรนด์อื่นมาใช้แทนก็ได้ เช่นพวกเคสที่มีตัวเลือกเยอะมาก ๆ จะมีของบางชิ้นที่ถ้าจำเป็นต้องใช้งานจริง ๆ ก็เลือกของ Apple ไปเลยจะชัวร์กว่า ใช้งานได้แบบไม่ค่อยขัดใจเท่าไหร่ ก็เช่นพวก Apple Pencil ส่วนเคสคีย์บอร์ด ถ้าคุณจำเป็นต้องพกเครื่องไปใช้งานนอกสถานที่บ่อย ๆ แล้วต้องการความสะดวกในการใช้งาน การพกพา จุดนี้ก็คงต้องยอมลงทุนซักนิดนึง เพราะพวกอุปกรณ์จาก 3rd party อาจจะให้ประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ค่อยราบรื่นเท่า จะพกคีย์บอร์ด bluetooth แยกไปก็อาจจะไม่สะดวกซักเท่าไหร่
ส่วนถ้าเทียบราคาอุปกรณ์เสริมกันระหว่าง iPad Air 4 และ iPad 8 ก็แน่นอนว่าฝั่งของ iPad Air รุ่นใหม่ย่อมมีราคาที่สูงกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีความครบครัน ความสะดวกในแง่ช่วยเสริมการทำงานที่มากกว่าด้วย ที่เห็นได้ชัดคือ Apple Pencil 2 ที่มีฟังก์ชันที่มากกว่า เก็บและพกพาได้ง่ายกว่ารุ่นแรกมาก ๆ แต่ถ้าต้องการอุปกรณ์ในระดับที่ใช้งานได้ และราคาที่คุ้มค่ากับยุคปัจจุบัน เซ็ตของกลุ่ม iPad 8 ก็ตอบโจทย์ได้ดีไม่แพ้กันเลยครับ แถมราคาค่อนข้างเป็นมิตรกับนักเรียน นักศึกษากว่าด้วย
สรุปเรื่องอุปกรณ์เสริม
อุปกรณ์ของ iPad Air 4 จะค่อนข้างใช้งานได้กว้างขวางและมีฟีเจอร์มากกว่า iPad 8 นิดนึง เนื่องจากสามารถใช้อุปกรณ์บางอย่างของ iPad Pro 11″ อย่างพวก Magic Keyboard และ Apple Pencil 2 ได้ด้วย แต่ก็แน่นอนว่ามาพร้อมราคาที่สูงกว่า
ส่วนอุปกรณ์ของ iPad 8 จะมีราคาที่เป็นมิตรกว่านิดนึง แต่ก็มาพร้อมฟังก์ชันที่น้อยกว่าด้วย ยังดีที่ตัวเครื่องมีช่อง 3.5 มม. มาให้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องซื้อสายแปลงมาใช้ (ในกรณีที่จำเป็น) อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ของ iPad 8 มันก็สามารถตอบสนองงานทั่วไปได้ไม่มีปัญหาเลย จะใช้จดบันทึก วาดรูป ไปจนถึงระดับใช้ทำงานจริงจังก็ได้สบาย ๆ
ส่วนเคสหรือฝาปิด Smart Cover ของทั้งสองรุ่น อันนี้ก็แล้วแต่จิตศรัทธาครับ จะใช้ของแท้ก็ได้ หรือจะใช้ของแบรนด์อื่นก็ตามสะดวก เดี๋ยวนี้ของที่มีคุณภาพดี ๆ นั้นมีให้เลือกเต็มไปหมดเลย
อายุการอัพเดต iPadOS
โดยปกติแล้ว Apple มักจะปล่อยอัพเดต iOS และ iPadOS ให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองค่อนข้างยาวนานมาก อย่างต่ำก็คงไม่น้อยกว่า 4 ปี ซึ่งเวอร์ชันล่าสุดอย่าง iPadOS 14 นั้น ก็ยังสามารถติดตั้งใน iPad Air 2 ที่วางขายเมื่อ 6 ปีก่อนได้อยู่เลย ดังนั้นไม่ว่าจะเลือก iPad Air รุ่นไหนก็ไม่ต้องกลัวครับ สามารถอัพเดตซอฟต์แวร์ตามเวอร์ชันใหม่ได้ทุกปึไปไม่น่าจะน้อยกว่า 5 ปี (ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง)
แต่อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า iPad Air 4 ย่อมต้องรองรับในระยะที่นานกว่าเล็กน้อย ด้วยการใช้ชิป A14 Bionic ที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ ต่างจาก iPad 8 ที่ใช้ชิป A12 Bionic ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในช่วงปลายปีที่แล้วครับ
สรุป iPad Air 4 vs iPad 8
แน่นอนว่าระหว่างคู่นี้ ถ้านำมาเทียบกันตรง ๆ iPad Air 4 จะมาพร้อมสิ่งที่เหนือกว่าหลายจุด เช่น สเปค ความสามารถในการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริมที่สูงกว่า น้ำหนักที่เบากว่า แต่สิ่งที่ตามมาก็คือราคาที่สูงกว่ากันร่วม 10,000 บาทด้วย ดังนั้น ถ้าถามว่าระหว่างสองรุ่นนี้จะเลือกรุ่นไหนดี ก็คงต้องพิจารณาจากงบที่มีก่อนเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เสริมด้วย ก็ลองคำนวณดูก่อนว่าต้องจ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้าจ่ายไหว การเลือก iPad Air 4 ก็จะสะดวกกับการใช้งานจริงจังในระยะยาวมากกว่า แต่ถ้าอยากเซฟเงินแล้วยังได้แท็บเล็ตคุณภาพดีอยู่ iPad 8 ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
ส่วนเรื่องความจุที่แนะนำ ก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานครับ ตัวอย่างเช่น
- ใช้จด lecture จดบันทึกการประชุมเป็นหลัก: เลือกความจุต่ำสุดของแต่ละรุ่นก็พอ
- ใช้ดูหนังออนไลน์ ดู Netflix ดูบอล: เลือกความจุต่ำสุดก็พอ
- ใช้เล่นเกม: เลือกความจุสูงสุด ถ้าสามารถจ่ายไหว (แนะนำ iPad Air รุ่นใหม่หรือถอยไป iPad mini 5 ที่สเปคใกล้เคียงกับ iPad 8 จะดีกว่า เนื่องจากน้ำหนักที่เบากว่า)
- ใช้ทำงาน เก็บไฟล์งานในเครื่องเป็นประจำ: เลือกความจุสูงสุดเอาไว้ก่อน สบายใจกว่า
- ใช้ขายของออนไลน์ เช็คสต็อกสินค้า รับออเดอร์: ถ้าไม่ได้ถ่ายรูป หรือเก็บรูปสินค้าในเครื่อง เลือกความจุต่ำสุดก็พอ
- ใช้แต่งรูป ดึงไฟล์ RAW จากกล้องดิจิตอลมาทำรูปต่อ: เลือกความจุสูงสุด
- ใช้งานหลายแบบ ใช้ทั่วไป: เลือกความจุสูงสุดเท่าที่จ่ายไหว