เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา HUAWEI ได้จัดงาน HDC 2019 หรือ HUAWEI Developer Conference 2019 ขึ้นที่เมืองตงกวน ประเทศจีน วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้ก็ตามชื่อเลยครับ เกี่ยวข้องกับนักพัฒนาเป็นหลัก หัวข้อก็จะเน้นไปที่เรื่อง Software โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แต่ความพิเศษคือเป็นครั้งแรกที่เชิญสื่อนอกประเทศจีนให้ร่วมทำข่าว เพราะฉะนั้นเนื้อหาในงานนี้ในรอบนี้จึงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
งาน HDC 2019 ในวันแรก ต้องบอกว่าอันที่จริงสื่อจาก APAC ได้ร่วมงานนี้เต็ม ๆ แค่วันเดียวครับ ที่เหลือจะเป็นการดูงานด้านอื่น ส่วนงาน HDC 2019 วันถัด ๆ มาจะเป็น keynote ภาษาจีน แล้วก็เกี่ยวข้องกับนักพัฒนาในประเทศจีนมากกว่า โดยเนื้อหา Keynote วันแรกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่
- Harmony OS
- EMUI 10
- HMS [HUAWEI Mobile Service]
- AI
- Kirin Chipset
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจเนื้อหาในงาน HDC 2019 ได้ง่ายขึ้น ผมจะขอเรียงลำดับการนำเสนอใหม่ จัดเรียงหัวข้อให้ไปในทิศทางเดียวกัน เริ่มจากเรื่องที่ใกล้ตัวทุกท่านมากที่สุดเป็นอันดับแรก ตามด้วยหัวข้อที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สรุปออกมาได้ดังนี้ครับ
EMUI 10
เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟน HUAWEI ที่วางจำหน่ายนอกประเทศจีน จะเป็น Android ครอบทับด้วย EMUI โดยในตอนนี้ EMUI ก็ได้เดินทางมาถึงเวอร์ชัน EMUI 10.0 เป็นที่เรียบร้อย ภาพรวมของ EMUI 10 จะเน้นไปที่การปรับปรุงเรื่อง UX Design เป็นหลัก 80% ส่วนอีก 20% เป็นการปรับปรุงด้านประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น
UX Design ใน EMUI 10 พัฒนาขึ้นให้มีความสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น (Human Based Development) ไม่ว่าจะเป็น Animation ที่ตอบสนองตามแรงกด หรือแม้แต่ Dark Mode ที่ไม่ใช่แค่ปรับสีจากขาวไปเป็นสีดำ แต่มีการลงรายละเอียดตามมาตรฐาน WCAG 2.1 (Web Content Accessibility Guideline) รวมถึงไอคอนต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นโดยอิงกับหลัก Golden Ratio และสามารถปรับแต่งให้เข้ากับ 3rd Party App ได้เป็นอย่างดี
รายละเอียดเจาะลึกในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของ EMUI 10.0 จะมีบทความแยกตามมาในเร็ว ๆ นี้ครับ
Harmony OS และการเตรียมพร้อมของ HUAWEI
หลังจากที่มีข่าวว่า HUAWEI กำลังซุ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองในชื่อ Hongmeng OS เพื่อใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้งาน Android ได้จากปัญหา Trade War ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในงานนี้ก็ยืนยันแล้วว่า Hongmeng OS นั้นมีอยู่จริง แต่ชื่อที่ใช้นอกประเทศจีนจะใช้ชื่อว่า Harmony OS ส่วนเรื่องความหมายของชื่อ Hongmeng หากอิงจากตำนานในโบราณของจีน หมายถึงจุดกำเนิดของโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Hongmeng หรือ Harmony OS จะมีตัวตนจริง ๆ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ระบบปฏิบัติการดังกล่าว ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟน แต่มันมีจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือเกิดมาเพื่อเป็นระบบปฏิบัติการของ IoT ที่กำลังจะได้รับความนิยมมากในอนาคต เมื่อ 5G ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ปัญหาในตอนนี้ก็คือ IoT ยังไม่มีระบบปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐาน แต่ละแบรนด์พอผลิตอุปกรณ์ขึ้นมา ก็จะใช้ระบบปฏิบัติการของตัวเอง ความยุ่งยากในการใช้งาน ความยุ่งยากในการเชื่อมต่อ หรือแม้แต่การทำงานร่วมกันจึงไม่สะดวกนัก
HUAWEI เล็งเห็นปัญหาในจุดนี้ และด้วยศักยภาพที่แบรนด์นี้มี Harmony OS จึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยจุดเด่นของระบบปฏิบัติการที่เป็น Micro Kernel-Based OS มันจึงเหมาะกับการอยู่ใน IoT มากกว่า OS อื่น ๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้ เพราะอุปกรณ์ IoT ไม่ได้ต้องการฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูง บางอย่างมี Ram หลัก MB เท่านั้น
อธิบายเรื่อง Kernel, Monolithec, Microkernel ให้เข้าใจตรงกันก่อน เริ่มจาก Kernel ที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่าง Hardware กับ Software อย่างในสมาร์ทโฟนจะมีฮาร์ดแวร์หลายส่วน เช่น หน้าจอ, กล้อง, ลำโพง และอื่น ๆ หากต้องการใช้งานกล้อง มีการเปิดแอปพลิเคชันกล้องถ่ายภาพ Kernel ก็จะไปทำการสั่งงานฮาร์ดแวร์กล้องให้ทำงาน เป็นต้น
Monolithic kernel ก็คือตัวเดียว คุมทุกอย่าง เช่น Android Smartphone เคอร์เนิลตัวเดียวจะเป็นตัวสั่งการฮาร์ดแวร์ทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเปิดกล้อง, เล่นเสียง, แสดงผลหน้าจอ ทำให้มันจำเป็นที่จะต้องใช้ฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรันทุก ๆ คำสั่ง Android ถึงมีสเปคพื้นฐานที่เหมาะสมในแต่ละเวอร์ชันนั่นเอง
Microkernel ก็ตรงตัวเลยครับ คือมันมี Kernel แตกตัวออกมามากมาย จะควบคุมกล้อง ก็ใช้ kernel กล้อง จะเปิดเสียง ก็ใช้ kernel เสียง เป็นต้น ข้อดีคือ กินทรัพยากรน้อยกว่า Monolithic kernel มาก ๆ มีความปลอดภัยที่มากกว่าด้วย ในงานมีการยกตัวอย่างความปลอดภัยเทียบกันระหว่าง Monolithic กับ Microkernel ในกรณีที่เป็น Monolithic อาจจะสามารถแฮกทั้งระบบผ่านทางกล้องถ่ายรูปก็ได้ เพราะมันใช้ Kernel เดียวกันในการสั่งการ แต่ไม่ใช่กับ Microkernel ด้วยความที่มันมี Kernel แยกย่อย และทำงานเฉพาะทาง จะแฮกระบบผ่านกล้องก็ไม่สามารถทำได้ เพราะ Kernel กล้อง มันทำได้แค่สั่งการกล้องนั่นเอง อีกทั้งคำสั่งในการเขียนโปรแกรมที่เขียน Code น้อยกว่า ทำให้ช่องโหว่ก็มีน้อยกว่าด้วย
กลับมาที่ Harmony OS ระบบปฏิบัติการนี้ใช้เทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ High-Performance Inter Process Communication (IPC) เพื่อการทำงานที่ลื่นไหล โดย Deterministic Latency Engine จะช่วยจัดลำดับคำสั่งที่ต้องทำงานก่อนและตั้งกรอบเวลาสำหรับการทำงานของคำสั่งต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าได้ ช่วยให้ทรัพยากรของระบบสามารถจัดการกับการทำงานที่สำคัญกว่าได้ก่อน ลดอาการหน่วงของแอพพลิเคชั่นลงได้ถึง 25.7% นอกจากนี้ Microkernel ที่ HUAWEI ใช้ยังสอดคล้องกับเทคโนโลยี IPC ส่งผลให้ประสิทธิภาพของ IPC สูงกว่าระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ถึง 5 เท่า
อย่างไรก็ตาม การที่จะสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ ไม่ใช่แค่ OS ทีดี เร็ว ปลอดภัยเพียงอย่างเดียว แต่เรื่อง Ecosystem ก็จะต้องแข็งแกร่งด้วย ในงานดังกล่าวจึงเป็นการเปิดตัว HMS หรือ HUAWEI Mobile Service แพลตฟอร์มซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาแอปพลิเคชั่นของ HUAWEI โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ลดขั้นตอนการพัฒนา และนำเสนอแอปพลิเคชั่นสู่ผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้อุปกรณ์หลากหลายประเภทได้
ภายในงาน HDC 2019 HUAWEI ได้เปิดส่วนหลักของแพลตฟอร์ม HMS ทั้งสิ้น 14 ส่วน บริการ 51 ประเภท และ APIs 885 ชุดให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ โดยในปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่น 43,000 ตัวที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม HMS และในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ HUAWEI จะนำเสนอมาตรฐาน Fast Applications ที่ใช้งานอยู่แล้วในสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ตลาดโลก
ในงานยังมีการนำเสนอ HiLink, LiteOS และ Chip Suite ซึ่งเป็น Open Source สำหรับอุปกรณ์และระบบคลาวด์ ระบบปฏิบัติการ และชิปเซ็ตตามลำดับ แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้จะช่วยขจัดอุปสรรคของการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ และช่วยให้กระบวนการพัฒนานั้นง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- HiLink เป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับการค้นหาและเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเชื่อมต่อซ้ำ ซึ่งสามารถรองรับอุปกรณ์ที่หลากหลายและการควบคุมหลายรูปแบบ เชื่อมทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการทำงานที่ง่ายกว่าที่เคย
- LiteOS เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์ IoT และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยหัวเว่ยใช้เฟรมเวิร์คการพัฒนาและการสร้างโปรแกม Maple JS ที่มีขีดความสามาถด้านการประมวลผลเทียบเท่าการพัฒนาระบบโดยใช้ภาษา C เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนา
การผสานชิป HiSilicon, LiteOS, Gigahome และ Honghu ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้เข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ได้โดยสะดวกมากขึ้น
แผนการสำหรับนักพัฒนาและกระบวนการสร้าง Ecosystem
ในโอกาสเดียวกันนี้ หัวเว่ยยังนำเสนอแนวทางการพัฒนาทั้ง HarmonyOS และ Kernel ของระบบ โดย HarmonyOS เวอร์ชั่น 1.0 จะติดตั้งในผลิตภัณฑ์สมาร์ททีวี (Smart Screen) ของหัวเว่ย ที่จะวางจำหน่ายภายในปีนี้ และภายใน 3 ปีข้างหน้า หัวเว่ยคาดว่าจะพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้ให้สามารถทำงานกับสมาร์ทดีไวซ์ได้หลากประเภท เช่น Wearable, HUAWEI Vision และระบบปฏิบัติการภายในรถยนต์
หนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ HarmonyOS ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการสร้าง Ecosystem ของทั้งแอปพลิเคชั่นและนักพัฒนา HUAWEI จึงตั้งใจทำให้ HarmonyOS เป็น Open Source ที่นักพัฒนาสามารถเข้าถึงได้ฟรี นอกจากนี้ยังมีการตั้งกองทุนและชุมชนนักพัฒนาแบบเปิด เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับนักพัฒนาอีกด้วย อย่างโครงการ Shining Star ที่ HUAWEI ให้ทุนกับนักพัฒนาแอปพลิเคชันก็จะเพิ่มขึ้นจากหนึ่งพันล้านหยวน เป็นหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่าเป็นสายเปย์ที่แท้จริงเลยล่ะครับ
HarmonyOS จะนำประโยชน์ที่หลากหลายมาสู่ผู้ใช้งาน ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และนักพัฒนา โดยผู้บริโภคจะได้สัมผัสประสบการณ์การใช้งานที่เปี่ยมพลังและไร้รอยต่อตลอดทุกจังหวะของชีวิต ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จะสามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และสำหรับนักพัฒนา จะสามารถเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากโดยใช้ต้นทุนน้อยลง และยังทำงานได้รวดเร็วขึ้น
ในตอนนี้ Harmony OS ยังเป็นเวอร์ชัน 1.0 และยังถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ไม่กี่ประเภท ที่เปิดตัวไปแล้วก็ HUAWEI Vision หน้าจออัจฉริยะที่รันด้วย Harmony OS เป็นเครื่องแรกของโลก หากเป็นไปตาม Roadmap ที่วางไว้ ในปี 2021 ที่ตอนนั้นการใช้งาน 5G แพร่หลายมากยิ่งขึ้น Harmony OS น่าจะเป็นตัวเลือกลำดับแรก ๆ ของทางฝั่ง IoT ได้อย่างแน่อน
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ในระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังไม่ดีขึ้น และทาง HUAWEI ถูกกีดกันไม่ให้ทำการค้ากับบริษัทฝั่งสหรัฐ Harmony OS จะถูกใช้งานกับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของ HUAWEI ในทันที บนเวทีระบุว่าใช้เวลาในการพอร์ต Harmony OS ลงสมาร์ทโฟนเพียงไม่กี่วันเท่านั้น แถมยังสามารถรันแอปพลิเคชัน Android ได้อย่างไม่มีปัญหาอีกด้วยครับ