หากพูดถึงผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เชื่อว่า TrueMove H น่าจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่โผล่เข้ามาในหัวของเพื่อน ๆ อย่างแน่นอน เพราะในปี 2016 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับเลยว่า TrueMove H มีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดแบบสุด ๆ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่ชนะประมูลคลื่น 4G 1800 MHz และ คลื่น 900 MHz เมื่อปลายปี 2015 รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยี, จำนวนเงินลงทุน, และวิสัยทัศน์ของทางกลุ่มทรูเอง
ในบทความนี้ผมจะมาสรุปว่า ในปี 2016 ที่ผ่านมานั้น TrueMove H มีเทคโนโลยีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และในอนาคต TrueMove H จะเป็นอย่างไร สิ่งที่ TrueMove H กำลังทำอยู่ จะส่งผลต่ออะไรบ้าง โดยสรุปง่าย ๆ ใน 4 ข้อ และ 4 ข้อนั้น จะทำให้ TrueMove H กลายเป็นที่ 1 ได้อย่างไร?
1. TrueMove H เป็นผู้นำด้าน 4G อย่างแท้จริง
ถ้ายังจำกันได้ โอเปอร์เรเตอร์รายแรกที่เปิดให้ลูกค้าทั่วไปใช้งาน 4G ก็คือ TrueMove H นี่แหละครับ ถึงแม้ตอนนั้น 4G ที่ใช้งานกันอาจจะไม่ได้มีความเร็วและความเสถียรเท่ากับช่วงหลัง ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับคนใช้มือถือ ส่วนตัวผมเอง จำได้ว่าตอนนั้นก็รีบไปซื้อซิมแมนยูมาเติมเงินเพื่อให้มันมีตัวอักษร 4G ขึ้นบนหน้าจอมือถือเหมือนกัน เรียกว่าเป็น 4G รายแรกในไทยก็ว่าได้
และในปี 2015 ก็ได้มีการเปิดประมูลคลื่น 4G เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และแน่นอนว่า TrueMove H ก็ได้จัดความถี่มาเน้น ๆ 2 ความถี่ ได้แก่ คลื่นความถี่ 1800 MHz และตามด้วยคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ต้องบอกว่ายอมใจเลยจริง ๆ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนั้นของ TrueMove H ต่อให้ไม่เข้าประมูลคลื่น 900 MHz ก็ยังคงอยู่ดีมีสุข (ตอนนั้นทรูถือคลื่นความถี่ 850/1800/2100 MHz) แต่ก็เอาเป็นว่า TrueMove H ก็ไปสอยคลื่น 900 MHz กดไป 76,298 ล้านบาท ประมูลกันข้ามวันข้ามคืน เข้ามาไว้ในมืออีกหนึ่งคลื่น กลายเป็นว่ามีด้วยกันทั้งหมด 4 คลื่นความถี่ในมือ (850/ 900/ 1800/ 2100 MHz)
ส่วนตัวของผมเอง ตอนนั้นคิดแค่ว่า สิ่งที่ TrueMove H ทำไป คงเป็นเพียงการตัดกำลังคู่แข่งหรือเปล่า เพราะตามปกติแค่ 3 คลื่นนี่ก็ลอยลำแล้ว แต่ในความเป็นจริง มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นครับ การถือคลื่นในมือเยอะ ทำให้ TrueMove H สามารถต่อยอดได้ไกลกว่าคู่แข่งมาก และประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา TrueMove H 4G ก็ได้พัฒนาเป็น TrueMove H 4G Plus ด้วยขนาดของแบนด์วิธที่กว้างที่สุดในไทยจำนวน 55 MHz ซึ่งทำให้สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้มากกว่า ให้บริการได้ดีกว่า “ทั้งโทร ทั้งเน็ต” รวมทั้งยังได้นำเทคโนโลยี 3CA ซึ่งเป็นการรวมคลื่นความถี่ 3 คลื่นมารวมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วในการดาวน์โหลดที่สูงขึ้น โดยสามารถให้บริการสปีดสูงสุดถึง 300 Mbps – 1 Gbps
2. เป็นผู้ให้บริการ 4.5G เชิงพาณิชย์รายแรกในไทย
ต่อเนื่องจากการที่มีคลื่นในมือเยอะกว่าคู่แข่ง และ Bandwidth ที่เยอะกว่าถึง 55 MHz เลยส่งผลให้ TrueMove H สามารถทำ 3 Carrier Aggregation (3CA) ได้สบาย ๆ หรือทีเรียกว่า LTE-Advanced, LTE-A ทำความเร็วดาวน์โหลดได้สูงสุด 300 Mbps และจะพุ่งไปถึง 1 Gbps ได้ในอนาคต และยังครอบคลุมการใช้งานกว่า 98% ในประเทศไทย
การรวม 3 ความถี่เข้าด้วยกัน (2100 + 1800 + 900 MHz) เปรียบเสมือนการเปิดก๊อกน้ำใส่ภาชนะ ให้ 4G แทนก๊อกน้ำ การทำ LTE-A ก็เหมือนการที่เราเพิ่มจำนวนก๊อกน้ำเป็น 3 ก๊อก แต่เปิดน้ำใส่ภาชนะเดิม ผลก็คือน้ำย่อมเต็มเร็วกว่าการใช้ก๊อกน้ำเพียงก๊อกเดียว เรียกว่าได้ทั้งความเร็ว และปริมาณการรองรับการใช้งานที่มากกว่าเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้น อุปกรณ์ที่จะใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี LTE-A ก็ต้องรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวด้วยนะครับ แต่ส่วนมาก มือถือตัวท็อปรุ่นใหม่ ๆ เดี๋ยวนี้ก็มักจะรองรับเทคโนโลยี 3CA กันหมดแล้ว (พวกชิป Snapdragon 820 เป็นต้น)
เบื้องหลังของการทำ 3CA ไม่ใช่แค่เพียงการมีคลื่นความถี่ในมือเยอะกว่าชาวบ้านเขานะครับ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ร่วมกับคลื่นความถี่ในมือก็ต้องสุดยอดเช่นเดียวกัน โดยสิ่งที่ TrueMove H ทำก็คือเลือกใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ได้แก่
- เทคโนโลยีสถานีฐานรับส่งสัญญาณพร้อมกัน 4 ช่องทาง (4T4R) มากที่สุดในโลก คือ 7,000 สถานี
- เทคโนโลยี Inter Site Carrier Aggregation – คือการรวมคลื่นจากต่างสถานีฐาน ทำให้เร็วแรงครอบคลุมทุกพื้นที่
- การรวมคลื่นจากต่างสถานีฐานที่ใช้งานได้จริง
- เทคโนโลยีการรับส่งดาต้าพร้อมกัน 4 ช่องทาง หรือ 4×4 MIMO
- เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพปริมาณการรับส่งข้อมูลที่มากขึ้น แบบ Modulation DL256/UL64
เมื่อมีทั้งคลื่นความถี่ และเทคโนโลยีที่สุดยอด ก็เลยทำให้ 4.5G ของ TrueMove H เกิดขึ้นและสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวก็ทำให้ TrueMove H ต่อยอดไปได้อีก และผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้ใช้อย่างเรา ๆ เพราะมันจะตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์และทุกการใช้งานได้ดีขึ้นกว่าเดิม ใกล้ตัวหน่อยก็การดู VDO Online คุณภาพ Full HD แบบลื่นไหลไม่มีสะดุดให้เสียอารมณ์, การแชร์ พร้อมการ Live Video ที่เสถียร ไม่ค้าง ไม่กระตุก, สามารถ VDO Call ได้พร้อมกันหลายคน ส่งผลให้ทุกการสื่อสารครอบคลุมขึ้น ทำให้การประชุมธุรกิจผ่านอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น, รองรับการใช้งานแบบ Multitask จะเล่นเกมออนไลน์ไปด้วย แล้ว VDO CALL ไปพร้อม ๆ กัน งานนี้ก็ไม่มีสะดุด ฟินได้สองอย่างแบบไม่ห่วงเกมกระตุกหรือสัญญาณหลุด
3. คนเดียวหัวหาย มีเยอะ ๆ ก็สบาย Convergence สิครับของจริง
หนึ่งในสิ่งที่ True ทำมาโดยตลอดก็คือการรวมบริการในเครือของทรูเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยคอนเส็ป Convergence (การหลอมรวมของสื่อดิจิทัล) จากการที่ทรูมองว่าในอนาคตเนี่ย Digital Lifestyle มาแน่นอน และสิ่งแรก ๆ ที่จะมาพร้อมกับ Digital Lifestyle ก็คือ IoT (Internet of thing) ซึ่ง True เองก็เป็นผู้ให้บริการรายแรกในไทย ตั้งแต่ 4G Car Wi-Fi และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ที่มีแม้กระทั่ง CCTV, Kidz Watch และ iHealth ซึ่งตรงนี้มันตอบคำถามในสิ่งที่ True ทำมาตลอด ว่าจะถือคลื่นความถี่เยอะ ๆ ไว้ทำไม
นอกจากอินเทอร์เน็ต 4G+ ของ TrueMove H จะแรงแล้ว True WiFi นั้นแรงยิ่งกว่า ด้วยความเร็วสูงสุดที่ 650 Mbps ครอบคลุมกว่า 160,000 จุดทั้งประเทศไทย ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของลูกค้า True นั้นสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ถ้าผมจำไม่ผิด เคยมีคนเทสความเร็ว True WiFi ได้สูงถึง 500 Mbps เลยทีเดียวครับ
4. TrueMove H จะผลักดันให้ Thailand 4.0 เกิดขึ้นจริง!!
ด้วยทรัพยากรที่มีในมือ ทำให้ TrueMove H เป็นผู้นำ Digital Infrastructures (โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล) ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและเป็นตัวแปรหลักที่จะผลักดันให้ Thailand 4.0 เกิดขึ้นได้จริง โดย Thailand 4.0 หรือประเทศไทย 4.0 เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” อธิบายง่าย ๆ ก็คือ “ทำน้อย ได้มาก” แต่ก่อนที่จะทำน้อย ได้มาก จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเสียก่อน และนวัตกรรม, เทคโนโลยี พวกนี้ก็จะเข้ามามีส่วนมากขึ้น
สิ่งที่น่าจับตามองก็คือว่า ในปี 2017 หรือปีหน้านั้น TrueMove H จะมุ่งพัฒนาด้านไหน เพราะในทุกวันนี้โครงข่ายสัญญาณการสื่อสารก็เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่พัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับ SME ไปจนถึงธุรกิจระดับโลก และกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย