กลับเข้าสู่ปีของ iPhone รุ่นเลขคู่ ซึ่งมักจะเป็นรุ่นที่ Apple ปรับปรุงเครื่องเล็กน้อยจากรุ่นก่อนหน้า แต่สำหรับในปีนี้ที่เป็นปีของ iPhone 16 ต้องบอกว่าเป็นปีที่ Apple ใส่ของมาให้กับเครื่องรุ่นปกติแบบเยอะเกินคาด ทั้งการใส่ปุ่ม Action Button ปรับกล้องหลังให้มีคุณภาพดีขึ้น กลายเป็นระบบฟิวชั่นที่สามารถซูมได้ดีขึ้นเหมือนรุ่นโปร และที่สำคัญคือมีการเพิ่มปุ่ม Camera Control มาให้เลย ต่างจากปกติที่มักจะใส่ของใหม่มาให้รุ่นโปรก่อน ส่วนรุ่นปกติก็ต้องรอไปปีถัดไปประกอบกับราคาเปิดตัวก็น่าสนใจมาก ๆ ด้วย จึงทำให้ iPhone รุ่นหมายเลข 16 นี้เป็นเครื่องที่ได้รับความสนใจ และน่าจะได้รับความนิยมในตลาดโลกมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งในบทความนี้เราจะมารีวิว iPhone 16 กันครับว่ามีจุดไหนที่น่าสนใจ และอาจเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับรุ่นโปรเองหรือเปล่าด้วย
สำหรับการรีวิว iPhone 16 ครั้งนี้ ทางเราจะได้รับมาเป็นเครื่องสีน้ำเงินอัลตร้ามารีน ซึ่งหน้ากล่องก็จะใช้รูปสีฝาหลังเดียวกับสีเครื่องจริงเลย ส่วนด้านหลังกล่องก็จะมีข้อมูลระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นรุ่นอะไร สีใด ความจุเท่าไหร่ โดยเครื่องล็อตแรก ๆ ที่ใช้ในการรีวิว iPhone 16 ครั้งนี้จะเป็นเครื่องที่ผลิตในประเทศจีนตามปกติ แต่คาดว่าช่วงหลังอาจจะมีล็อตที่ผลิตจากอินเดียเข้ามาเพิ่ม เหมือนกับในซีรีส์ iPhone 15 ที่เครื่องศูนย์ไทยก็มีผลิตมาจากอินเดียด้วย
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องก็จะมีเพียงแค่ตัวเครื่อง เอกสารเล็กน้อย เข็มจิ้มถาดซิมและก็สายชาร์จสีขาวแบบสายถักที่เป็นหัว USB-C ทั้งสองด้าน ความยาว 1 เมตร แน่นอนว่าไม่มีอะแดปเตอร์และสติกเกอร์ Apple มาให้แล้ว ซึ่งในกรณีของอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ แนะนำว่าควรหาซื้อเป็นอะแดปเตอร์ที่รองรับ USB-PD นะครับ โดยถ้าเป็นของที่มีขายส่วนใหญ่ก็รองรับกันแทบทั้งนั้นอยู่แล้ว ส่วนกำลังไฟ แน่นอนว่ายิ่งสูงก็ยิ่งนำไปใช้งานได้หลากหลาย แต่สำหรับขั้นต่ำก็ควรซื้อเริ่มต้นที่ 33W ขึ้นไปจะดีกว่า เพราะตัวของ iPhone รุ่นปกติจะรองรับการชาร์จไฟได้ตามสเปคสูงสุดที่ประมาณ 27W-30W เท่านั้น หรือถ้าต้องการความชัวร์ว่าใช้ด้วยกันได้แน่ ๆ ก็สามารถซื้ออะแดปเตอร์ USB-C จาก Apple เองก็ได้เช่นกัน รุ่น 20W ราคา 790 บาท รุ่น 30W ราคา 1,190 บาท
สเปคเด่น ๆ ของ iPhone 16 มีดังนี้
- ชิป A18
- CPU 6 คอร์ แบ่งเป็น 2 แรง + 4 เบา
- GPU 5 คอร์ + Neural Engine 16 คอร์
- หน้าจอ Super Retina XDR Display พาเนล OLED ขนาด 6.1″ (2556×1179)
- แรม 8GB
- พื้นที่เก็บข้อมูลมีให้เลือกทั้ง 128, 256 และ 512GB
- กล้องหลัง 2 เลนส์
- กล้องหลัก Fusion Camera 48MP f/1.6 มี OIS แบบ sensor-shift รองรับการถ่ายเทเล 2x แบบ crop sensor ในตัว
- กล้องอัลตร้าไวด์ 12MP f/2.2 สามารถถ่ายมาโครได้
- รองรับการถ่ายวิดีโอ 4K Dolby Vision สูงสุด 60fps + Cinematic 4K 30fps + Spatial Video
- กล้องหน้า TrueDepth 12MP f/1.9
- กันน้ำกันฝุ่นระดับ IP68
- รองรับ 5G + VoNR และ Wi-Fi 7
- พอร์ตชาร์จ USB-C รองรับการถ่ายโอนข้อมูลที่ความเร็วสูงสุดระดับ USB 2
- แบตเตอรี่ 3561 mAh ชาร์จเร็วได้สูงสุดประมาณ 27W ชาร์จไร้สาย MagSafe ได้สูงสุด 25W
ตัวเครื่อง และดีไซน์
หน้าตาของ iPhone 16 ถ้าดูที่ส่วนหน้าจอก็ต้องบอกว่ายังคงเหมือนกับ iPhone 15 เลย คือใช้จอเต็มหน้าเครื่อง มีขอบจอที่หนากว่ารุ่นโปรเล็กน้อย ด้านบนสุดมีแถบ Dynamic Island ที่ภายในจะมีการซ่อนกล้องหน้าและโมดูล Face ID สำหรับสแกนใบหน้าไว้ สำหรับในรุ่นปกติจะมีขนาดจอ 6.1″ มิติตัวเครื่องยังคงเท่ากับ iPhone 15 แบบเป๊ะ ๆ แต่อย่างไรก็ตาม จะไม่สามารถใช้เคสร่วมกันได้นะครับ เพราะส่วนของกล้องหลังจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จากการเปลี่ยนดีไซน์การวางกล้อง
หน้าจอจะยังคงเป็น Super Retina XDR ที่ใช้พาเนล OLED กระจกหน้าจอ Ceramic Shield เช่นเดิม เรื่องสเปคการแสดงผล ขอบเขตสี ความสว่างต่าง ๆ ก็จะไม่แตกต่างจาก iPhone 15 มากนัก แต่รอบนี้จะมีความสามารถในการหรี่แสงจอจนเหลือต่ำสุดได้ถึง 1 nit แล้ว ทำให้เป็นมิตรกับสายตามากขึ้น ในกรณีที่ต้องใช้งานในเวลากลางคืน น่าจะถูกใจคนที่ชอบเล่นมือถือก่อนนอนกันบ้างแน่ ๆ
มุมมองภาพ สีสัน ความสว่างโดยรวมก็ยังคงเป็นสไตล์ iPhone คือสามารถใช้งานได้ดีในทุกสภาพแสง มองจากมุมข้างก็ยังได้ภาพที่ชัดเจน สีไม่เพี้ยน ทำให้จะมีเพียงจุดเดียวที่น่าเสียดายคือยังคงเป็นจอ 60Hz อยู่เหมือนเดิมนั่นเอง ซึ่งในการใช้งานจริงก็ถือว่าลื่นเนียนตาพอสมควร เพราะได้แอนิเมชัน ได้การออกแบบ transition ของ iOS ช่วยชดเชยหน่วงไว้ ทำให้ภาพยังดูไหลไปได้แบบค่อนข้างลื่นดี จะมีรู้สึกสะดุดตาบ้างก็ตอนที่เปิดมาหน้าโฮมที่ไอคอนแอปจะไหลเข้ามากองรวมกันบนหน้าจอ ที่จะดูว่าลื่นแบบไม่สุด
แต่ถ้าคุณใช้งานมือถือจอ 90Hz 120Hz 144Hz มาจนชิน แล้วมาลองจับ iPhone จอ 60Hz บอกเลยว่าจะต้องใช้เวลาปรับสายตากันเล็กน้อยกว่าที่จะเริ่มชิน เพราะมันให้ความลื่นที่แตกต่างกันแบบสัมผัสได้ หรือถ้าใช้จอ 60Hz จนชินแล้วกลับไปเล่นเครื่องรุ่นโปรที่จอ 120Hz อันนี้ก็จะเห็นความแตกต่างเช่นกัน ทำให้ถ้าหากคุณใช้ iPhone รุ่นโปรที่เป็นจอ 120Hz มาก่อน แล้วปีนี้เปลี่ยนมาใช้ iPhone 16 รุ่นปกติ ก็อาจจะต้องใช้เวลาปรับสายตากันซักหน่อย ตรงนี้ก็ถือว่าน่าเสียดายที่ด้วยราคาเริ่มต้นเกือบ 30 ใบเทา แต่ยังคงได้มือถือจอ 60Hz อยู่ แต่ก็พอมีจุดเข้าใจได้ว่าถ้ารุ่นปกติใส่จอ 120Hz มาด้วย รุ่นโปรคงจะขายยากกว่าเดิมขึ้นแน่ ๆ
พลิกมาที่ฝาหลัง สำหรับรุ่นสีน้ำเงินอัลตร้ามารีนก็จะเป็นสีน้ำเงินที่โทนอ่อนนิดนึง แต่ถ้าเทียบกับสีฟ้าของ iPhone 15 แล้วก็ต้องบอกว่า 16 นั้นเข้มกว่าเยอะ ซึ่งเดี๋ยวจะมีการเทียบสีในส่วนต่อไปของรีวิว iPhone 16 ส่วนวัสดุฝาหลังก็จะเป็นกระจกแต่งสี บอดี้ตัวเครื่องทำมาจากอะลูมิเนียม โดยจะมีการใส่แค่โลโก้ Apple ไว้ตรงกลางเท่านั้น ไม่มีการสกรีนข้อความการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือชื่อรุ่นใด ๆ ไว้
สิ่งที่เปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดก็คือการวางตำแหน่งของกล้องหลังที่กลับมาวางในแนวตั้งลงมาตามด้านยาวของเครื่องเหมือนกับสมัย iPhone 12 ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถนำไปใช้ถ่ายวิดีโอ Spatial เพื่อใช้กับ Apple Vision Pro ได้ ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถนำเคส iPhone 15 มาใช้กับ 16 ได้เลย เพราะเคสส่วนใหญ่จะไปทับกับฐานของโมดูลกล้องหลัง ทำให้ไม่สามารถปิดเคสได้สนิท รวมถึงยังจะมีปัญหาเรื่องตำแหน่งของปุ่ม Action Button และ Camera Control ด้วย แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ไปก่อนเพื่อรอเคสใหม่ ก็พอใช้ได้ครับ แค่ตัวเครื่องมันจะเผยอออกมาจากเคสนิดนึง
สำหรับตรงกล้องหลังก็จะมีมาด้วยกันสองเลนส์คือเลนส์ไวด์ปกติที่เป็นกล้องฟิวชั่น ความละเอียด 48MP และเลนส์อัลตร้าไวด์ 12MP ระหว่างทั้งสองเลนส์จะมีไมโครโฟนรับเสียงสำหรับการถ่ายวิดีโอ ส่วนแฟลช LED จะถูกวางแยกออกมาจากชุดกล้อง แต่ก็ยังอยู่ไม่ไกลกันมากนัก
ภาพรวมของตัวเครื่องก็จัดว่าเป็น iPhone ที่ถือง่าย ใช้สบายไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้าเลย น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 170 กรัม เบากว่า iPhone 15 อยู่ 1 กรัม สามารถใช้งานแบบไม่ใส่เคสได้สบาย ส่วนการชาร์จไร้สายก็สามารถใช้ได้ทั้งแท่นชาร์จมาตรฐาน Qi, Qi2 และ MagSafe ที่ในรอบนี้จะได้รับการอัปเกรดให้สามารถชาร์จไร้สายผ่าน MagSafe ได้สูงสุด 25W แล้ว จากที่ในรุ่นก่อนหน้าจะชาร์จได้สูงสุดเพียง 15W เท่านั้น
ด้านล่างก็จะมีพอร์ต USB-C สำหรับชาร์จไฟและซิงค์ข้อมูล โดยจะรองรับการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดที่ระดับ USB 2 (480 Mbps) เท่านั้น ขอบเครื่องด้านฝั่งซ้ายของจอจะมีปุ่ม Action Button ที่เข้ามาแทนสวิตช์เปิด/ปิดเสียง ถัดลงมาก็เป็นปุ่มเพิ่มและลดเสียงที่วางเป็นปุ่มแยกกัน จากนั้นก็จะเป็นถาดใส่ซิม ที่ในรอบนี้มีการปรับดีไซน์ให้มีความสั้นลงกว่าเดิมอีก เมื่อเทียบกับ iPhone 15 Pro ที่ผมมีอยู่ในมือ สำหรับเครื่องศูนย์ไทยจะมีช่องใส่ซิมเพียง 1 ใบเท่านั้น หากต้องการใช้เป็น iPhone สองซิมก็จะต้องใช้ซิมแบบ eSIM เสริมด้วย ไม่ว่าจะเป็นซิมการ์ด+eSIM หรือใช้ eSIM ล้วนก็ตามความสะดวกได้เลย
ส่วนอีกฝั่งก็จะน่าสนใจและเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนสุดของ iPhone 16 เลย นั่นคือจะมีปุ่ม Camera Control ที่มีการวางให้หน้าสัมผัสอยู่เสมอกับขอบเครื่อง ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปเจาะรายละเอียดกันเพิ่มเติมหลังจากนี้อีกที ส่วนอีกปุ่มที่วางอยู่ด้วยกันก็คือปุ่ม Power ที่เป็นปุ่มกดตามปกติครับ
อุปกรณ์เสริมและเคส iPhone 16
ในการรีวิว iPhone 16 ทางเราก็ได้รับอุปกรณ์เสริมมาใช้งานควบคู่กันด้วยสองสามชิ้น เริ่มที่เคสซิลิโคนของ Apple เอง ที่ออกแบบมาตรงรุ่น ทั้งยังรองรับ MagSafe แบบไม่ต้องมีแถบวงกลมด้านหลัง ทำให้น่าจะถูกใจคนที่อยากได้เคส iPhone แบบเรียบ ๆ โชว์โลโก้ด้านหลัง เน้นใช้งานสะดวก โดยเคสที่มาด้วยกันในรอบนี้ก็จะเป็นสีน้ำเงินเข้มที่ตัดกับสีฝาหลังเครื่องเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ผิวสัมผัสด้านนอกก็จะเป็นแบบซิลิโคนที่มีความนุ่มเนียนมือเวลาสัมผัส รวมถึงยังมีความหนืดมือเล็กน้อย ทำให้สามารถจับได้อย่างมั่นคง แทบไม่ต้องกลัวว่าเครื่องจะลื่นหลุดมือ
ภายในเคสจะบุด้วยกำมะหยี่ มีการทำตำแหน่งของปุ่มไว้ตรงกับปุ่มจริงบนตัวเครื่อง ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อยตามรูปแบบของปุ่ม นั่นคือสำหรับปุ่มทั่วไปก็จะมีการยกหน้าสัมผัสออกมาเพื่อให้รับกับปุ่มบนเครื่องที่ยื่นออกมาจากขอบข้างเล็กน้อยพอดี ๆ แต่จะมีต่างกันก็ที่ปุ่ม Camera Control ซึ่งจะออกแบบมาให้มาหน้ายื่นออกมาเล็กน้อย เพื่อให้มาสัมผัสกับผิวหน้าของปุ่มพอดีเช่นกัน และภายในก็จะมีการออกแบบพิเศษให้ปุ่มบนเคสสามารถส่งผ่านประจุไฟฟ้าจากปลายนิ้วไปยังเซ็นเซอร์บนปุ่มได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากหน้าสัมผัสของปุ่ม Camera Control นี้มันจะรองรับการอ่านตำแหน่งของปลายนิ้วด้วย สำหรับให้ผู้ใช้สามารถถูปุ่มขึ้นลงเพื่อควบคุมการทำงานของกล้อง เช่นการปรับระดับซูม การปรับค่าชดเชยแสงขึ้นลง เป็นต้น
ซึ่งที่บริเวณปุ่ม Camera Control ที่ขอบนอกของเคสก็จะออกแบบมาให้เป็นผิวราบไปกับเคสเช่นเดียวกับบนตัวเครื่อง จึงมั่นใจได้ว่าผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่แทบไม่แตกต่างจากการใช้เครื่องแบบไม่ใส่เคสมากนัก
เมื่อใส่เคสแล้วก็จะพบว่าตัวเครื่องนั้นยังคงจับถนัดมือดีมาก ๆ การเว้นตำแหน่งกล้องก็ทำได้ออกมาพอดี มีขอบพลาสติกแข็งมาช่วยกันกระแทกเวลาวางเครื่องบนโต๊ะด้วยอีกชั้น บริเวณขอบจอก็จะมีขอบยกสูงขึ้นมา สามารถติดฟิล์มหรือกระจกกันรอยแบบเต็มขอบได้สบาย
ส่วนถ้าต้องใช้ MagSafe ก็สามารถแปะไปกับแท่นชาร์จได้แน่นหนาดีมากตามสไตล์เคสของ Apple เอง หรือจะใช้กับพวกกระเป๋า MagSafe ก็ทำได้ดีเช่นกัน โดยราคาของเคสซิลิโคน iPhone 16 จาก Apple เองจะอยู่ที่ 1,990 บาท
อุปกรณ์เสริมอีกชิ้นที่มาพร้อมกันก็คือกระเป๋า MagSafe ที่ทำมาจากผ้า FineWoven ซึ่งจะเหมาะสำหรับการใส่บัตรเครดิต บัตรรถไฟฟ้า เพราะสามารถใส่บัตรได้สูงสุด 3 ใบ แล้วแปะไว้หลังเครื่องได้ทันที ซึ่งต้องบอกว่าแปะได้แน่นมากจนบางครั้งก็แกะออกมายากพอสมควรเลย
ในกรณีที่ต้องการหยิบบัตรออกมาจากเคส ก็ให้ใช้นิ้วดันบัตรจากช่องด้านหลังขึ้นมา โดยในการใส่บัตร เท่าที่ผมลองใช้งานดู แนะนำว่าควรใส่ขั้นต่ำสองใบไว้ด้วยกัน เพราะถ้าใส่ใบเดียวมันจะหลวมเกินไป เนื่องจากตัวเคสจะทำมาเป็นโครงแข็งเลย มีช่องใส่บัตรในขนาดตายตัว ไม่ได้เป็นแบบแนบสนิทแล้วง้างออกเพื่อใส่บัตร ส่วนในการใช้งานจริง ด้วยความที่มันเป็นช่องแบบขนาดตายตัว จึงไม่สามารถใช้นิ้วง้างออกเพื่อหยิบบัตรที่ต้องการใช้ออกมาได้ จะเขย่าก็ไม่ออก จึงต้องแกะเคสออกมาจากหลังเครื่อง เพื่อใช้ปลายนิ้วดันบัตรจากฝั่งด้านในออกมาทุกครั้ง ก็เลยแอบจะไม่สะดวกเท่าไหร่เวลารีบ ๆ เช่นเวลาจะแตะบัตรรถไฟฟ้า และที่ลองไปอีกอย่างก็คือแตะด้านหลังเพื่อเข้ารถไฟฟ้าเลย อันนี้พบว่าไม่สามารถทำได้ครับ แม้จะจัดให้บัตรรถไฟฟ้าอยู่ด้านนอกสุดก็ตาม จึงพอน่าจะเดาได้ว่าในตัวคงทำหน้าที่เป็น NFC blocking ด้วย เหมือนกับพวกกระเป๋าสตางค์หลาย ๆ รุ่น
และอีกแบบที่ไม่สามารถทำได้ก็คือแปะเคสกระเป๋าไว้ด้านหลัง แล้วนำทั้งเครื่องไปแปะกับแท่นชาร์จ MagSafe เพื่อชาร์จไฟ เพราะแรงแม่เหล็กจะไม่พอในการดูดติด รวมถึงยังไม่สามารถชาร์จไฟเข้าเครื่องได้เลยด้วย
ตัว Wallet มาพร้อมกับความสามารถในการใช้งานร่วมกับแอป Find My โดยเมื่อแปะเข้ากับ iPhone ครั้งแรกก็จะมีป๊อปอัปขึ้นมาแจ้งความสามารถแบบคร่าว ๆ และเมื่อจัดการเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถใช้แอป Find My ในการหาตำแหน่งแบบคร่าว ๆ ได้เลย ซึ่งจะสามารถใช้ในการบอกตำแหน่งที่มีข้อมูลล่าสุดได้
ทีนี้จะเป็นเคสจากผู้ผลิต 3rd party รายใหญ่อย่าง UAG ที่ทางเราได้จากร้าน 425degree มาร่วมในการรีวิว iPhone 16 ด้วย ซึ่งปกติแล้วเคสมือถือรุ่นยอดนิยมก็จะเป็นซีรีส์ Monarch Pro ที่เน้นความอึดถึกทน มาในดีไซน์โทนเทา ดำคาร์บอนที่ให้ความรู้สึกว่ามีความแข็งแกร่ง และอีกซีรีส์ก็คือ Plyo ที่เป็นเคสใสแต่ยังไม่ทิ้งจุดเด่นของแบรนด์ UAG ก็คือเรื่องความทนทานที่อาจจะลดลงมาจากรุ่น Monarch Pro เล็กน้อย แต่ได้จุดเด่นในเรื่องความใสเพื่อโชว์สีสันของตัวเครื่องได้ตามต้องการ ยิ่งถ้าใช้ iPhone 16 สีสด ๆ การใส่เคสใสโชว์เครื่องก็บอกเลยว่าไม่ผิดหวังแน่นอน
สำหรับเคส iPhone 16 จาก UAG ในซีรีส์ Monarch Pro ก็จะมาในรูปแบบที่หลายท่านอาจจะคุ้นเคยหรือเคยใช้งานกันมาแล้ว คือเน้นความแน่นหนา เสริมขอบแข็งรอบด้าน ทำให้ตัวเครื่องดูบึกบึน ตามสเปคคือสามารถทนทานต่อการตกหล่นจากการ droptest ได้สูงถึง 7.6 เมตรหรือประมาณบ้านสองชั้นได้ ทั้งยังผ่านการทดสอบความทนทานตามมาตรฐานระดับกองทัพ MIL-STD-810G ซึ่งก็มาจากการนำคาร์บอนไฟเบอร์มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตด้วยนั่นเอง ทำให้เคสมีความทนทาน แต่ก็ยังมีน้ำหนักที่ไม่หนักจนเกินไป สามารถใช้เป็นเคสมือถือที่ใช้งานประจำวันได้ รวมถึงยังรองรับการชาร์จไร้สายผ่าน MagSafe ด้วย เพราะภายในเคสจะมีการฝังแม่เหล็กไว้ด้วย ซึ่งจากที่ทดสอบก็คือสามารถแปะกับแท่น MagSafe ได้แทบไม่ต่างจากตอนที่ใช้เคสซิลิโคนของ Apple เองเลย
การเว้นช่องบริเวณพอร์ต ลำโพง ไมค์ก็ทำมาได้พอดี ๆ สามารถใช้ร่วมกับสายชาร์จ USB-C ที่หัวขนาดปกติทั่วไปได้ แต่ที่เป็นจุดเด่นของเคส UAG รุ่นนี้ก็คือการเว้นช่องให้กับปุ่ม Camera Control ที่ไม่ได้เป็นแค่การเจาะช่องลงไปตรง ๆ เท่านั้น แต่จะมีการเจาะช่องให้มีขนาดใหญ่กว่าปุ่ม และมีการทำสโลปไหลลงไป ทำให้สามารถวางนิ้วเพื่อกดหรือปาดบนผิวปุ่มเพื่อควบคุมการใช้งานกล้องได้อย่างง่ายดาย ต่างจากเคสหลาย ๆ รุ่นที่มีออกมาในขณะนี้ ซึ่งมีการเจาะปุ่มไว้เกือบจะเท่าขนาดปุ่ม ซึ่งทำให้การกดหรือปาดหน้าปุ่มทำได้ไม่สะดวกนัก
ด้านของเคสใส UAG Plyo สำหรับ iPhone 16 เองก็จะคล้ายกันครับ คือเน้นความทนทาน แต่ก็จะมาเป็นแบบใสเพื่อช่วยให้สามารถโชว์สีสันตัวเครื่องได้ แต่ก็ยังมาพร้อมความบึกบึนอยู่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับเคสใสทั่ว ๆ ไป เรียกว่าเป็นรุ่นที่อยู่กึ่งกลางทั้งด้านสไตล์และความแข็งแกร่ง ตัวเคสจะมาเป็นพลาสติกแข็งผสมสารที่ช่วยลดความเหลืองที่มักเกิดขึ้นเมื่อใช้งานเคสใสไปซักระยะหนึ่ง สำหรับในตัวนี้ก็คงต้องอาศัยระยะเวลาอีกซักพักใหญ่เลยครับกว่าจะทราบว่าสุดท้ายเคสจะเหลืองหรือไม่ แต่ดูจากคุณภาพแล้ว ก็น่าจะใช้ได้เป็นปีอยู่ แต่จุดที่โดดเด่นมาก ๆ ของเคสรุ่น Plyo ก็คือแถบสีขาวด้านหลังที่ภายในจะมีการติดตั้งแถบแม่เหล็กสำหรับใช้กับแท่น MagSafe มาด้วย ที่อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลอีกที
เรื่องของปุ่ม การเจาะช่องของทั้งปุ่ม Camera Control และพอร์ตเชื่อมต่อก็จะมีความใกล้เคียงกับรุ่น Monarch Pro คือทำให้สามารถใช้งานได้ง่าย กดง่ายแต่ลั่นยาก ทำให้โดยรวมแล้วถือว่าเป็นเคสใสอีกรุ่นที่น่าใช้งาน สำหรับผู้ที่ต้องการเคสแข็ง ๆ มาช่วยปกป้องตัวเครื่อง และมีงบที่จะลงกับเคสในระดับหนึ่ง เช่นผู้ที่ต้องการซื้อเครื่องมาใช้งานยาว ๆ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะทำมือถือตกบ่อยหน่อย การลงทุนในเรื่องเคสก็นับเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรทำครับ
ซึ่งถ้าต้องการหาซื้อเคส iPhone 16 หรือมือถือ แท็บเล็ตรุ่นต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเว็บไซต์ของร้าน 425degree เลย เพราะจะมีเคสของแท้ มีคุณภาพให้เลือกหลากหลายตามความต้องการและงบประมาณของคุณแน่นอน รวมถึงยังมีผลการทดสอบความทนทานของเคสแต่ละรุ่นให้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ด้วย
เทียบกับ iPhone 15 series และ iPad
กลับมาที่ตัวเครื่องกันต่อ ทีนี้จะเป็นการรีวิว iPhone 16 เทียบกับ iPhone รุ่นก่อนหน้าอย่าง iPhone 15 Plus สีฟ้า ซึ่งก็ถือว่าเป็นสีที่เข้ามาแทนกันพอดี สังเกตจากภาพด้านบนก็จะเห็นว่าโทนสีของทั้งเครื่องมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากเครื่องสีฟ้าของ iPhone 15 series จะใช้ฝาหลังเป็นสีฟ้าอ่อนมาก ๆ จนแทบจะเป็นสีขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอกับแสงแดดก็จะมองว่าเป็นสีขาวไปเลย
ส่วนถ้าเทียบด้านข้างก็ให้ผลที่ไม่ต่างกันมากครับ คือใน iPhone 15 จะมีความเป็นสีเทาเมทัลลิกอมฟ้านิด ๆ แต่ฝั่งของ iPhone 16 จะเป็นน้ำเงินแบบตะโกนกว่ากันมาก ดูแล้วให้ความรู้สึกขี้เล่น รู้สึกสนุกกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับ iPad Air ชิป M2 ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ในภาพด้านบนก็จะเป็นเครื่องสีฟ้าเหมือนกันครับ ซึ่งตัวเครื่องก็จะเป็นสีเทาเมทัลลิกอมฟ้านิด ๆ เช่นกัน เลยจะเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อวางทั้งสองเครื่องเทียบกัน
ต่อมาก็ลองเทียบกับ iPhone 15 Pro สีไทเทเนียมธรรมชาติกันบ้าง แน่นอนว่าก็จะมีความแตกต่างกันในหลายจุด ไล่ตั้งแต่เฉดสีตัวเครื่อง ขอบเครื่องที่ฝั่งของ 15 Pro ใช้เป็นขอบไทเทเนียมบรัชลาย รวมถึงความหนาของเครื่องที่ด้านของ 16 จะบางกว่าอยู่เล็กน้อย (ไม่รวมกระจกกันรอยหน้าจอ)
ปุ่ม Camera Control
สิ่งที่เป็นหนึ่งในไฮไลท์ที่สุดของการเปิดตัว iPhone 16 ทั้ง 4 รุ่นย่อยก็คือการใส่ปุ่ม Camera Control เข้ามาในทุกรุ่น ซึ่งปุ่มนี้ก็มีการลือกันมานานว่าจะทำหน้าที่เป็นแบบปุ่มชัตเตอร์ ปุ่มถ่ายรูปที่เคยมีมา หรือยังพอมีอยู่บ้างในมือถือ Android หลาย ๆ รุ่น แต่พอเปิดตัวก็พบว่าที่จริงแล้วตัวปุ่มรองรับการสั่งงานได้หลากหลายแบบกว่าเพียงแค่การกดมาก ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปลงรายละเอียดกันในส่วนถัดไป
ก่อนอื่นก็มาดูด้านกายภาพของปุ่มกันก่อน ตัวปุ่มจะออกแบบมาให้มีขนาดพอดี ๆ กับปลายนิ้วชี้ หน้าสัมผัสของปุ่มจะอยู่ในระนาบเดียวกับขอบเครื่อง ทำให้เวลาสัมผัสแล้วไม่รู้สึกว่ามีปุ่มนูนออกมาเหมือนกับพวกปุ่ม power ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงและปุ่ม Action Button แต่ถ้าใช้ปลายนิ้วลูบก็จะรู้สึกได้ว่ามีปุ่มอยู่ตรงนี้ เนื่องจากมีการเซาะร่องไว้ที่รอบปุ่มนั่นเอง ซึ่งหน้าสัมผัสปุ่มนั้นก็จะเป็นเซ็นเซอร์จับสัมผัสได้ด้วย นั่นทำให้ปุ่ม Camera Control รองรับการสั่งงานทั้งการกดและการปาดนิ้วสไลด์ปุ่ม
ตำแหน่งของปุ่ม Camera Control ใน iPhone 16 จะอยู่ถัดลงมาจากปุ่ม Power พอสมควร ทำให้สามารถใช้งานได้ทั้งในแนวนอน โดยอาศัยการวางนิ้วชี้ไว้ที่ขอบเครื่องในลักษณะคล้ายกับการใช้นิ้วชี้เพื่อกดถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูป หรือถ้าจะถือเครื่องใช้งานในแนวตั้ง ก็สามารถใช้งานปุ่มได้ด้วยนิ้วหัวแม่มือเช่นกัน
ซึ่งตรงนี้ จากทั้งที่ผมใช้งานเองในช่วงรีวิว iPhone 16 และให้สุภาพสตรีลองใช้งานดู ต่างก็พบว่าตำแหน่งของปุ่มมันค่อนข้างอยู่ลึกเข้าไปกลางเครื่องนิดนึง ทำให้ไม่สามารถวางนิ้วแบบให้นิ้วชี้พาดขอบเครื่องอย่างเดียวได้ จะต้องมีส่วนโคนนิ้วที่แปะลงไปบนจอด้วย ทำให้อาจมีความรู้สึกไม่มั่นคงอยู่บ้างเวลาจะใช้ปุ่ม Camera Control หรือไม่ก็อาจจะกลายเป็นว่าใช้ปุ่มยากอยู่บ้างในบางจังหวะ เช่นตอนที่ต้องสไลด์เพื่อปรับค่ากล้อง
อีกจุดที่ส่วนตัวผมพบระหว่างรีวิว iPhone 16 ก็คือบางทีต้องการถ่ายรูปปกติแบบที่ใช้ iPhone แต่มันจะเผลอมีบางส่วนของนิ้วไปแปะที่ปุ่ม Camera Control แล้วกลายเป็นว่าผมไปสั่งงาน เช่นเลื่อนเปลี่ยนกล้องที่ใช้ ปรับค่าการซูมโดยที่ไม่ตั้งใจ ซึ่งมักจะเกิดตอนที่ใช้งานเครื่องแบบไม่ใส่เคส หรือใช้เคสของ Apple เองที่มีการเสริมปุ่มมาให้มีหน้าสัมผัสเรียบเสมอกับขอบเคส สำหรับประเด็นเรื่องความถนัดในการใช้งาน อันนี้ก็ต้องแล้วแต่บุคคลด้วยครับ หรือถ้าซื้อมาใช้แล้วก็อาจจะต้องปรับตัวกันไป หรือไม่ก็ปิดการใช้งานปุ่มก็ได้นะ
ส่วนตัวผมขณะใช้งานตอนที่ถ่ายภาพในแนวนอนคือจะต้องวางนิ้วตามแบบภาพด้านบนเลยครับ คือจะมีบางส่วนที่พาดไว้ตรงขอบจอบ้าง แต่ก็ไม่กระทบกับการใช้งานจริงแต่อย่างใด แค่อาจจะทำให้จับไม่ถนัดอยู่บ้างในบางจังหวะ
สำหรับในการใช้งานปุ่ม Camera Control ก็จะมีรูปแบบการสั่งงานตามแต่ละสถานการณ์ดังนี้
- ขณะล็อกหน้าจอ
- กด 1 ครั้ง – เปิดหน้าจอขึ้นมา
- กด 2 ครั้งติดกัน – เปิดกล้อง
- กดค้าง – เปิดใช้ Visual Intelligence เพื่อถ่ายภาพแล้วให้ Apple Intelligence ช่วยหาข้อมูลสิ่งของที่อยู่ในภาพให้
- ขณะอยู่หน้าโฮม หรือใช้แอปอื่นอยู่
- กด 1 ครั้ง – เปิดกล้อง
- กด 2 ครั้ง – เปิดกล้องและถ่ายภาพทันที
- กดค้าง – เปิดใช้ Visual Intelligence
- ขณะใช้กล้องอยู่
- กด 1 ครั้ง – ถ่ายรูป
- กดค้างไว้ – ถ่ายวิดีโอ
- กดเบา ๆ 1 ครั้ง (แตะแบบมีน้ำหนักลงไปเล็กน้อย) – เรียกแถบควบคุมขึ้นมา และสามารถสไลด์ที่หน้าปุ่มเพื่อปรับค่าได้ เช่นการบวกลบระยะซูม
- กดเบา ๆ 2 ครั้ง – เรียกแถบควบคุม เพื่อให้สามารถเปลี่ยนได้ว่าจะปรับค่าใด โดยใช้การสไลด์หน้าปุ่มเพื่อเปลี่ยน เช่น การเปลี่ยนจากใช้ปุ่มเพื่อคุมระยะซูม มาเป็นปรับค่าชดเชยแสงแทน
ในแง่ของการใช้งานจริงระหว่างที่รีวิว iPhone 16 ส่วนตัวผมรู้สึกว่าการกดปุ่มเพื่อใช้เรียกแอปกล้องขึ้นมาก็ช่วยเพิ่มความสะดวกได้ในระดับหนึ่ง ช่วยทำให้สามารถเปลี่ยนปุ่มลัดในหน้าล็อกสกรีนจากแต่เดิมที่จะให้เป็นปุ่มเปิดแอปกล้องและปุ่มเปิดไฟฉายเป็นปุ่มเรียกใช้ฟังก์ชันอื่นแทนได้ เพราะมีปุ่ม Camera Control ช่วยในการเปิดแอปกล้องแทนให้แล้ว แต่ในการถ่ายภาพ ผมรู้สึกว่าการกดเพื่อถ่ายยังไม่ตอบโจทย์ได้ 100% ส่วนหนึ่งก็มาจากการจับเครื่องที่บางมุมก็อาจจะไม่ถนัดเท่าไหร่ อีกส่วนก็คือในการกดปุ่มลงไป ตัวเครื่องจะขยับด้วยเล็กน้อย เพิ่มโอกาสที่จะทำให้ภาพเบลอขึ้นมา ซึ่งถ้าเป็นในสภาพแสงดี ๆ ก็ไม่มีปัญหา เพราะกล้องมีระบบกันสั่นบวกกับการดันความเร็วชัตเตอร์ให้สูงได้ แต่ถ้าเป็นในที่มีแสงน้อยก็ต้องบอกว่ามีโอกาสที่ภาพจะเบลออยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งวิธีแก้ไขและป้องกันก็คือต้องจับเครื่องให้มั่นคง รวมถึงอาจต้องใช้งานบ่อย ๆ เพื่อให้ชินกับระดับแรงที่จะใช้ในการกดปุ่มด้วย
สำหรับค่าที่สามารถปรับได้โดยอาศัยปุ่ม Camera Control ก็จะมีตามชุดภาพด้านล่างนี้
เริ่มจากบนสุด
- ปรับค่าชดเชยแสง (Exposure) ซึ่งปรับได้ทีละ 1/3 stop ทั้งค่าบวกและลบ
- ปรับความชัดลึกของภาพ (depth) ซึ่งจะเป็นการปรับการจำลองความกว้างการเปิดรูรับแสง เริ่มตั้งแต่ f/1.4 ถึง f/16
- ปรับระยะซูม มีให้ปรับได้ตั้งแต่ 0.5x ถึง 10x
- ปรับว่าจะใช้กล้องไหนในการถ่ายภาพ สำหรับ iPhone 16 จะมีให้ใช้เป็น กล้องหน้า / อัลตร้าไวด์ 0.5x / ปกติ 1x / ซูม 2x
- ปรับสไตล์ภาพที่จะมีพรีเซ็ตมาให้ และสามารถปรับแต่งเองเพิ่มได้
- ปรับโทนภาพที่จะเป็นการปรับแต่งภาพย่อยลงมาจากสไตล์อีกที
ซึ่งในขณะที่แถบเมนูควบคุมปรากฏขึ้นมา นอกจากการสไลด์ปุ่มเพื่อปรับค่าแล้ว ยังสามารถใช้นิ้วแตะที่แถบควบคุมเพื่อเลื่อนการตั้งค่าได้ด้วย ซึ่งส่วนตัวผมรู้สึกว่าถนัดกับแบบนี้มากกว่าอยู่นิดนึง และปรับค่าได้ดั่งใจกว่า เพราะการสไลด์ในบางทีก็เจออาการวงล้อไม่เลื่อนตามอยู่บ้าง หรือไม่ก็เลื่อนเกินไปเพราะกะแรงไม่ถูก ทำให้ในการรีวิว iPhone 16 ครั้งนี้ สุดท้ายแล้วผมก็ใช้การกดเบา ๆ 1 หรือ 2 ครั้งเพื่อเรียกเมนูที่ต้องการปรับขึ้นมา จากนั้นก็ใช้นิ้วจิ้มแถบเมนูบนจอเพื่อเลื่อนปรับค่าแทน
ด้านของการปรับแต่งการทำงาน ผู้ใช้ก็สามารถเข้าไปที่เมนูการตั้งค่ากล้องที่อยู่ใน Settings ได้เลย โดยจะมีให้ผู้ใช้ปรับได้ด้วยว่าถ้ากดปุ่มเบา ๆ จะให้เป็นการพรีวิวหรือใช้สำหรับการล็อกโฟกัส+ล็อคค่าแสงของกล้อง ตั้งค่าได้ด้วยว่าจะให้การเรียกกล้องขึ้นมาใช้งานจะใช้เป็นการกด 1 หรือ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีให้เลือกได้ด้วยว่าจะให้เป็นการเปิดแอปใดขึ้นมา ซึ่งแต่ละแอปที่เรียกใช้ได้ก็จะเป็นแอปที่มีการเรียกใช้กล้องทั้งนั้น เช่น Instagram แอปแว่นขยาย เป็นต้น หรือถ้ามีแอปอื่นที่มีการเขียนให้เรียกใช้กล้องได้ก็จะมีมาให้เลือกตรงนี้ได้ด้วย และที่สำคัญคือสามารถปิดการทำงานของฟังก์ชันนี้ได้เช่นกัน
แต่ก็จะมีการตั้งค่าเกี่ยวกับปุ่ม Camera Control อีกส่วนที่อยู่ในเมนูการตั้งค่าช่วยเหลือการใช้งาน (Accessibility) นั่นคือสามารถปิด/เปิดการสั่งงานปุ่มทั้งการกดเบา ๆ และการสไลด์หน้าปุ่มได้ด้วย ทั้งยังสามารถปรับระดับแรงกดที่จะใช้ในการกดเบาก็ได้ จะให้ใช้แรงน้อยหรือมากกว่าเดิมก็เลือกได้ตามต้องการเลย
กล้อง iPhone 16
อีกฟังก์ชันของกล้องที่มีการเปิดตัวมาพร้อมกันก็คือ Photographic Styles ที่เป็นการต่อยอดขึ้นมาจากของเดิมอีกนิด จากที่ก่อนหน้านี้จะมีให้ปรับแค่ตามพรีเซ็ตที่ให้มา เช่นให้ภาพเป็นสีโทนเย็น โทนอุ่น ภาพขาวดำ เป็นต้น แต่มารอบนี้จะเปิดให้ผู้ใช้สามารถปรับจูนค่าแบบละเอียดได้เองตามที่ต้องการแล้ว โดยจะแบ่งเป็นสองแบบหลักคือการปรับ undertone ของภาพ ที่จะเห็นภาพชัดสุดคือในเรื่องการปรับเฉดสีผิวว่าอยากให้เป็นปกติ เป็นโทนอมชมพูหรือเป็นโทนอมเหลือง และการปรับอารมณ์ของภาพผ่านการย้อมสี ซึ่งทั้งสองแบบนี้จะมีตัวเลือกให้ปรับอย่างละเอียดได้ทั้งเรื่องโทน สี เฉดความเข้ม เพื่อทำให้ได้พรีเซ็ตที่ผู้ใช้ถูกใจที่สุด เช่นอาจจะอยากได้ undertone ของภาพแบบสีอมชมพูโรสโกลด์ แต่ก็อยากจะให้มันจางลง และอยากให้มีสีโทนเหลืองแซมเข้ามากว่าพรีเซ็ตที่ iOS เตรียมมาให้ ก็สามารถลากเปลี่ยนจากแป้นพาเลตสีได้เลย โดยผู้ใช้จะสามารถปรับแต่งได้ตั้งแต่ตอนพรีวิวภาพก่อนถ่าย ซึ่งจะมีปุ่มขึ้นมาในแอปกล้องให้เลือกเปลี่ยนได้ หรือจะใช้ปุ่ม Camera Control ในการปรับก็ได้ พร้อมกับมีการพรีวิวภาพที่จะได้ให้ชมด้วย
นอกจากนี้เรายังสามารถให้ระบบช่วยคิดพรีเซ็ตจากภาพถ่ายที่มีอยู่ได้ แต่จะจำกัดว่าได้เฉพาะภาพที่ถ่ายด้วย iPhone เครื่องเดียวกันเท่านั้น โดยให้เข้าไปที่เมนูการตั้งค่ากล้อง แล้วเลือกหัวข้อ Photographic Styles จากนั้นระบบจะให้ผู้ใช้เลือกภาพถ่ายที่ต้องการให้นำไปประมวลผล 4 ภาพ เมื่อระบบคำนวณเสร็จก็จะได้พรีเซ็ตออกมา สามารถนำไปใช้ได้ทันที
ประโยชน์ของ Photographic Styles ที่เห็นได้ชัดสุดก็น่าจะเป็นในเรื่องการคุมโทนภาพ เช่นอยากถ่ายภาพให้ได้สีผิวในเฉดที่ต้องการอยู่เสมอ อยากย้อมให้ mood ของภาพเป็นสีแนวติดฟ้าหม่น ๆ ก็เพียงแค่เข้าไปตั้งพรีเซ็ตไว้ ปรับรายละเอียดให้ได้ตามที่ต้องการ แล้วก็กดถ่ายได้ตามสะดวก ไม่จำเป็นต้องปรับก่อนถ่ายทีละรูป
แล้วก็ใช่ว่าถ่ายมาแล้ว ภาพที่ได้จะติดเป็นโทนนั้นตลอดไป เพราะฟังก์ชันการแต่งรูปของแอป Photos ใน iOS ก็จะสามารถเข้ามากดเปลี่ยนสไตล์ในภายหลังได้ รองรับการปรับโทน ความเข้มของเฉดสีได้เหมือนตอนก่อนถ่ายเลย ทำให้ถ้าหากไม่ชอบใจโทนสีของภาพที่ถ่าย ก็สามารถมาแก้ภายหลังได้ หรือถ้าเอาง่ายสุดก็ถ่ายใช้โทนปกติ แล้วค่อยมาแก้ทีหลังแทนก็ได้ครับ แบบนี้ตอบโจทย์ทุกสถานการณ์แน่นอน ปลอดภัยสุดด้วย
ซึ่งตัวอย่างภาพจากการใช้พรีเซ็ต undertone และ mood ต่าง ๆ จากในตอนที่รีวิว iPhone 16 ก็ตามภาพด้านบนเลย มีให้เลือกใช้ถึง 14 แบบ
แต่ที่น่าสนใจคือ…หากเรานำภาพที่ถ่ายโดย iPhone 16 มาเปิดในเครื่องรุ่นเก่ากว่า เช่นผมนำมาเปิดใน iPhone 15 Pro และ iPad Air ชิป M2 ทั้งผ่านการซิงค์จาก iCloud และการส่งทาง AirDrop ก็พบว่าสามารถเข้ามาปรับสไตล์ได้เหมือนตอนแต่งภาพใน 16 เลย อันนี้ก็ต้องรอดูกันครับว่า Apple จะเปิดให้ iPhone รุ่นเก่ากว่าสามารถปรับจูนสไตล์ก่อนถ่ายภาพได้เท่ากับรุ่นใหม่ล่าสุดหรือไม่ ทั้งที่จริงแล้วก็มีความสามารถในการแต่งรูปภายหลังได้เท่ากัน และไม่น่าจะใช้พลังประมวลผลในการทำงานขณะพรีวิวภาพที่หนักกว่าเดิมมากนัก เนื่องจากตั้งแต่ iPhone 13 เป็นต้นมานั้นก็รองรับการปรับ Photographic Styles ระหว่างถ่ายมาอยู่แล้ว ต่างกันแค่มีพรีเซ็ตให้เลือกน้อยกว่า และการปรับจูนที่ไม่ละเอียดเท่าแค่นั้น
ทีนี้เรากลับมาดูความสามารถพื้นฐานของกล้อง iPhone 16 กันบ้างครับ โดยจะเน้นไปที่กล้องหลังเป็นหลัก รอบนี้ Apple มีการเพิ่มความสามารถบางส่วนให้ขึ้นไปเทียบเท่ารุ่น Pro แล้ว เช่นการซูมภาพแบบ crop sensor เข้าไปเพื่อให้ได้ภาพเสมือนการซูม 2 เท่า และการถ่ายภาพระยะใกล้แบบมาโคร ซึ่งทั้งหมดยังทำงานโดยอาศัยเลนส์กล้องหลังเพียงแค่ 2 เลนส์เท่านั้นคือเลนส์ไวด์ปกติและเลนส์อัลตร้าไวด์ สำหรับกล้องหลักเลนส์ไวด์ปกติจะเป็นการทำงานในแบบ Fusion Camera จากเซ็นเซอร์ความละเอียด 48MP ที่อธิบายหลักการคร่าว ๆ คือจะเป็นการถ่ายภาพที่ผสมความละเอียด 48MP เต็ม ๆ ของเซ็นเซอร์ พร้อมกับการเก็บแสงสว่างโดยอาศัยการรวม 4 พิกเซลเป็น 1 พิกเซล ซึ่งจะเหลือความละเอียดที่ได้เพียง 12MP (48/4) เพื่อให้สามารถรับแสงได้มากขึ้น จากนั้นก็นำทั้งสององค์ประกอบนี้มาประมวลผลรวมกันเป็นภาพเดียว ได้เป็นภาพความละเอียด 24MP ซึ่งจะได้ครบทั้งรายละเอียดและความสว่าง
ชุดภาพด้านบนจะเป็นการเทียบภาพ ไล่จากซ้ายสุดคือการถ่ายปกติ โดยตั้งค่าความละเอียดภาพไว้ที่ 24MP ก็จะได้ภาพที่องค์ประกอบคมชัด และได้ไฟล์ขนาดใหญ่กว่าโหมดอื่น ๆ ถัดมาคือเมื่อกดซูม 2x ความละเอียดภาพก็จะลดลง การชดเชย white balance และความสว่างก็จะต่างไปจากการถ่ายที่ 1x ทำให้เสมือนว่าเป็นการซูมภาพแบบออปติคอลจริง ๆ ภาพที่สามคือการถ่ายด้วยเลนส์อัลตร้าไวด์ 12MP และภาพที่สี่ก็จะเป็นการถ่ายใกล้ ๆ แบบมาโครที่ก็จะใช้เลนส์อัลตร้าไวด์เหมือนกัน ซึ่งจะได้ภาพที่มีรายละเอียดเล็ก ๆ ชัดกว่าการซูม 2x อยู่พอสมควร โดยระยะถ่ายใกล้สุดแล้วยังโฟกัสได้ภาพที่คมชัด เท่าที่ผมลองคือห่างจากตัวแบบประมาณ 2 ซม. เท่านั้น
นอกจากนี้ยังรองรับการถ่ายวิดีโอแบบ spatial เพื่อนำไปใช้กับแว่น Apple Vision Pro ได้ด้วย ทำให้ดูเหมือนว่าระบบกล้องจะแทบขึ้นไปเทียบเท่ากับรุ่นโปรแล้ว แต่จริง ๆ ก็จะยังมีการสงวนฟีเจอร์บางส่วนไว้ให้มีเฉพาะในรุ่นโปรครับ โดยเฉพาะกลุ่มฟีเจอร์ที่ใช้ในงานเชิงครีเอทีฟ งานโปรดักชัน เช่นความสามารถในการถ่ายไฟล์ RAW การถ่ายวิดีโอแบบ ProRes และการจำลองระยะเลนส์ 24, 28, 35 มม. เป็นต้น
รวม ๆ แล้วภาพที่ได้จากกล้อง iPhone 16 นั้นก็จะยังคงให้โทนสี ความคมชัด คอนทราสต์ที่ชัดในสไตล์ iPhone อยู่ คือเป็นกล้องที่ถ่ายทอดรายละเอียดได้ค่อนข้างตรงกับที่ตาเห็น อาจจะมีการปรุงเฉดสี ปรุงคอนทราสต์เพิ่มมาเล็กน้อยเพื่อให้ภาพดูมีมิติ ซึ่งถ้าใช้ iPhone 13 ขึ้นมาก็อาจจะสังเกตความแตกต่างได้แบบไม่ชัดเจนมากนัก แต่ถ้าซูมดูลึก ๆ จริง ๆ ก็จะเห็นความแตกต่างอยู่บ้าง เรื่องความละเอียดภาพในบางจุด โดยเฉพาะกับเลนส์อัลตร้าไวด์ที่รอบนี้สามารถเก็บภาพมาได้คมยันขอบเลย
อย่างในภาพด้านบน ภาพซ้ายคือขอบภาพที่ได้จากเลนส์อัลตร้าไวด์ของ iPhone 16 ส่วนภาพทางขวาคือมุมเดียวกันจาก iPhone 15 Pro ซึ่งเป็นการถ่ายภายในบ้าน พบว่าภาพทางซ้ายจะมีความคมชัดกว่า iPhone รุ่นเก่า สังเกตจากคำว่า enter บนปุ่มขวาสุด แม้ว่าจะไม่ชัดเท่าส่วนกึ่งกลางภาพก็ตาม แต่ก็จัดว่าอยู่ในระดับพอใช้งานได้มากขึ้น รวมถึงอาจจะจะตามมาด้วย noise พอสมควรก็ตาม แต่สำหรับยุคนี้ต้องบอกว่าการลบ noise นั้นทำได้ง่ายมากครับ โยนภาพเข้าแอป กดครั้งสองครั้งก็ลบได้เนียนมากแบบไม่เสียรายละเอียด ภาพไม่เป็นวุ้นแล้ว ส่วนถ้าเป็นการถ่ายกลางแจ้ง ถ่ายวิวในเวลากลางวัน อันนี้คือแทบไม่มี noise เลย ซึ่งก็เป็นปกติของการถ่ายภาพกลางแจ้งด้วยการปล่อยให้กล้องคิดเรื่องระดับ ISO อัตโนมัติอยู่แล้ว
ด้านของการเก็บสีสัน การเก็บรายละเอียดในเงา การเกลี่ยไฮไลท์ต่าง ๆ ก็ทำออกมาได้ดี ภาพออกมาคมชัดตามปกติของรูปถ่ายจาก iPhone ในยุคหลัง ๆ สามารถนำไปใช้ลงโซเชียลได้สบาย เอาไป crop บางส่วนของภาพไปใช้งานก็ยังได้
โหมด portrait สำหรับถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ หลังละลาย มีโบเก้เบา ๆ ก็มีให้ใช้แบบเต็มสูบ มีระยะซูมให้เลือกสองระยะคือที่ 1x และ 2x หรือถ้าเป็นการถ่ายภาพคน สุนัข แมวด้วยโหมดปกติ ระบบก็จะไปประมวลผลแล้วแยกระยะการโฟกัสให้ ทำให้สามารถไปแต่งภาพแบบเลือกจุดโฟกัสเพื่อสร้างมิติความชัดลึก ชัดตื้นได้เหมือนกับการใช้โหมด portrait เลย ซึ่งจากที่ลองมาโดยรวมก็ถือว่าเบลอหลังได้ค่อนข้างเป็นธรรมชาติดี มีการไล่ระดับความเบลอได้ค่อนข้างใกล้เคียงกับเลนส์กล้องใหญ่ ไม่ได้ตัดขอบแบบคม ๆ จนดูเหมือนเป็นการตัดต่อภาพตัวแบบชัด ๆ มาวางบนพื้นหลังที่ทำเบลอไว้
แต่จะยังมีจุดที่แปลก ๆ อยู่บ้างในเรื่องการตัดขอบตัวแบบ โดยเฉพาะบริเวณที่มีเส้นผมหรือขน อย่างในภาพแมวด้านบนที่ตัดส่วนหลังคอเป็นเหลี่ยมไปเลย ซึ่งก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้สำหรับการถ่ายภาพละลายหลังด้วยกล้องมือถือ เพราะการตัดขอบโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการประมวลผลภาพ การให้ AI ช่วยทำงานเป็นหลัก ซึ่งอาจจะได้ผลออกมาดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าการเบลอที่เกิดจากกายภาพของเลนส์และหลักทางฟิสิกส์ของแสง
การถ่ายรูปเวลากลางวันในสถานที่มีแสงปกติ ไม่ว่าจะกลางแจ้งหรือในร่มต่างก็ทำได้ดีทั้งหมด คือจะได้ภาพที่ดูมีคอนทราสต์ เน้นความคมชัดในระดับที่ไม่บาดตา หรือถ้าเป็นในสภาพแสงที่ค่อนข้างยาก ระบบ Smart HDR 5 ก็จะช่วยจัดการเรื่องการถ่ายภาพอยู่เบื้องหลัง โดยทำการเก็บภาพที่ค่าชดเชยแสงต่าง ๆ แล้วประมวลผลออกมาเป็นภาพ HDR ได้ดูเป็นธรรมชาติและรวดเร็วดี
ส่วนการถ่ายภาพในบริเวณที่มีแสงน้อย ถ่ายในเวลากลางคืนก็ยังคงเป็นสไตล์ iPhone คือไม่เปิดฟ้า เปิดเงาจนสว่างเว่อร์เหมือนถ่ายในเวลากลางวัน ดูภาพแล้วยังรู้อยู่ว่าเป็นเวลากลางคืน แต่ก็มีการเก็บแสงสีต่าง ๆ มาได้ใกล้เคียงกับที่ตาเห็น มีการเปิดเงาเบา ๆ เพื่อให้เห็นรายละเอียดในภาพได้ค่อนข้างครบในแบบที่ไม่ทำให้ส่วนนั้นดูสว่างจนโดดจากภาพ
อีกฟีเจอร์ที่มีใส่เข้ามาใน iOS 18.1 พร้อม Apple Intelligence ก็คือความสามารถในการลบสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากรูปถ่ายได้โดยอาศัยพลัง AI ที่ประมวลผลได้จากในเครื่อง ซึ่งวิธีการใช้งานก็ไม่ยากนัก คือให้เปิดภาพที่ต้องการแต่งขึ้นมา แล้วด้านขวาสุดของแถบเครื่องมือจะมียางลบพร้อมคำว่า Clean Up อยู่ ก็แค่กดเข้าไป โดยถ้าเป็นการใช้งานครั้งแรกก็อาจจะต้องมีการโหลดข้อมูลจากเน็ตลงเครื่องซักเล็กน้อย
หลังจากระบบเตรียมการเรียบร้อยแล้ว ก็จะแจ้งว่าสามารถใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ทันที ซึ่งถ้าต้องการลบสิ่งใดในภาพ ก็ให้แตะ หรือป้ายสีทับ หรือลากวงกลมล้อมรอบสิ่งนั้น AI ก็จะช่วยตีกรอบเพื่อเลือกวัตถุให้ จากนั้นรอซักพัก วัตถุนั้นก็จะหายไปทันที พร้อมกับมีการเติมภาพในส่วนที่ลบไปให้สอดคล้องกับองค์ประกอบโดยรอบให้อัตโนมัติ โดยจะสามารถเลือกลบได้ทีละส่วนนะครับ ไม่สามารถจิ้มเลือกหลายจุดแล้วสั่งลบพร้อมกันได้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จัดว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง ในกรณีที่องค์ประกอบโดยรอบนั้นไม่ซับซ้อนมากนัก อย่างในภาพขวาบนก็คือภาพที่ได้หลังจากจัดการลบแมวและของเล่นชิ้นโปรดของนางออก
ด้านล่างนี้คือแกลเลอรีรวมตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง iPhone 16 สามารถคลิกเพื่อรับชมกันได้เลย
Apple Intelligence และฟีเจอร์อื่น ๆ
ล่าสุดในขณะที่รีวิว iPhone 16 ตัวของ Apple Intelligence ก็เปิดฟังก์ชันบางส่วนให้ใช้งานกันได้แล้ว เช่น ระบบช่วยสรุปข้อมูล ฟีเจอร์ Writing Tools ที่ช่วยในการปรับแต่งข้อความให้เหมาะสมกับระดับภาษาที่ต้องการใช้ เป็นต้น รวมถึงยังเริ่มเข้ามาทำงานร่วมกับ Siri แล้วด้วย ซึ่งการเรียกใช้งานบน iPhone ก็สามารถทำได้โดยการกดปุ่ม Power ค้างไว้ประมาณ 2 วินาที หรือถ้าต้องการสั่งงานด้วยการพิมพ์ข้อความ ก็สามารถแตะสองครั้งที่ขอบจอด้านล่างได้เลย จะมีคีย์บอร์ดปรากฏขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้พิมพ์ถาม Siri ได้
หนึ่งในฟีเจอร์ที่มีเพิ่มเข้ามาใน iOS 18.1 ก็คือความสามารถในการอัดเสียงตอนโทรแบบไม่ต้องใช้แอปเสริม หรือใช้เครื่องอื่นมาช่วยอัดเสียงอีกแล้ว วิธีการใช้งานก็ทำได้ง่าย ๆ คือให้สังเกตในระหว่างที่คุยสายอยู่ บริเวณมุมซ้ายบนขอจอจะมีไอคอนที่คล้ายรูปคลื่นเสียงและปุ่มวงกลมอยู่ เมื่อกดแล้วก็จะเป็นการเริ่มอัดเสียงการคุยโทรศัพท์ โดยจะมีเสียงขึ้นมาแจ้งทั้งสองฝ่ายว่าจะมีการบันทึกการสนทนาครั้งนี้ รวมถึงยังมีข้อความแจ้งบนหน้าจออีกด้วย เมื่อแจ้งเสร็จก็จะมีแถบเสียง เวลาที่ใช้ในการอัด และปุ่มหยุดการอัดเสียงขึ้นมาให้ควบคุมได้ตามต้องการ
เมื่อวางสายหรือจบการบันทึกเสียง ไฟล์บันทึกเสียงก็จะถูกส่งไปเก็บไว้ในแอปจดบันทึก (Notes) ที่จะมีการตั้งชื่อบันทึกไว้ให้เลยว่าเป็นการคุยสายกับใครตามชื่อที่เราบันทึกไว้ เป็นการโทรเมื่อวันไหน เวลาอะไร และสามารถมาเปิดฟังภายหลังได้ตลอด รวมถึงยัง export ออกมาเป็นไฟล์ .m4a เพื่อนำไปใช้งานต่อได้ด้วย แต่จะติดตรงที่ขณะที่รีวิว iPhone 16 ผู้ใช้งานที่ตั้งค่า region ในเครื่องเป็นประเทศไทยจะยังไม่สามารถถอดเสียงออกมาเป็นคำ (transcribe) ได้ในตัว ถ้าหากต้องการใช้ฟังก์ชันถอดเสียงด้วย รวมถึงการให้ AI ช่วยสรุปเนื้อหา ก็จะต้องไปเปลี่ยน region ในเมนูการตั้งค่าเครื่องเป็นประเทศอื่นที่รองรับ Apple Intelligence เต็มตัว เช่น สหรัฐอเมริกาก่อน ถึงจะสามารถใช้ได้ (แค่ตั้งภาษาเครื่องเป็นภาษาอังกฤษก็ยังไม่เพียงพอ) และก็ต้องเป็นบันทึกเสียงที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยน region แล้วเท่านั้น ถ้าเป็นเสียงโทรตอนที่ใช้ region เป็นไทย จะไม่สามารถนำไปถอดเสียงตอนปรับเป็น region US ได้นะ
ด้านระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ปกติแล้วในช่วงตั้งแต่หลัง iPhone 11 เป็นต้นมา Apple ได้ใส่แบตเตอรี่ที่ความจุสูงขึ้นพร้อมกับชิปเซ็ตและระบบที่มีการปรับจูนเรื่องการกินไฟมาได้ค่อนข้างดี ทำให้ระยะเวลาการใช้งาน iPhone ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งรอบนั้นสามารถอยู่จริง ๆ ได้เกิน 1 วันเทียบเท่ากับมือถือ Android ส่วนใหญ่แล้ว ซึ่งเมื่อจากการรีวิว iPhone 16 ก็ยังทำได้ดีเช่นเดิม จากการใช้ชิปรุ่นใหม่อย่าง A18 ที่ตามสเปคจะใช้แบตในการดูวิดีโอได้นานกว่ารุ่นก่อนหน้า 2 ชั่วโมง
ส่วนในการใช้งานจริงกับสถานการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันเช่นจากในกราฟด้านบน ซึ่งผมเริ่มถอดออกจากแท่นชาร์จครั้งแรกสุดตอนประมาณตีสาม แล้ววางทิ้งไว้เฉย ๆ จนถึงเช้า แล้วก็เริ่มใช้เล่นแอปนิดหน่อย ถ่ายรูปบ้าง ซื้อของออนไลน์ แบตก็ไหลลงมาตามปกติจนแบตลงมาเหลือต่ำกว่า 50% เล็กน้อย แล้วก็ได้มาวางแปะแท่นชาร์จเป็นช่วงสั้น ๆ ตอนห้าโมงเย็น ซึ่งถ้าไม่ได้มีการชาร์จตอนช่วงเย็น พอหมดวัน แบตเตอรี่น่าจะลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 30% หรือต่ำกว่านั้นเล็กน้อย เมื่อดูจากการใช้งานข้างต้น ซึ่งก็ถือว่าอยู่ได้จนหมดวันแบบสบาย ๆ แต่ถ้าคุณเป็นสายเน้นเล่นเกม เน้นจุ่มเกลือในเกมอยู่เรื่อย ๆ ทั้งวัน แนะนำว่าอาจจะมีสายชาร์จ+อะแดปเตอร์ หรือมีพาวเวอร์แบงค์สำรองติดตัวไว้หน่อยก็ดีครับ เผื่อไว้เติมพลังระหว่างวันให้เหลือกลับถึงบ้านได้แบบปลอดภัย
ในการชาร์จแบต iPhone 16 จากที่มีข่าวลือกันหลังจากงานเปิดตัวใหม่ ๆ ว่าจะรองรับการชาร์จได้ถึง 45W อันนี้ต้องย้ำว่ามันเป็นเพียง ‘ข่าวลือ’ นะครับ ไม่ได้มีการยืนยันจาก Apple จริง ๆ ซึ่งในการทดสอบจริงก็เป็นไปตามนั้น คือไม่ถึง 45W อย่างในภาพด้านบนก็เป็นการทดสอบชาร์จเมื่อตอนแบตเครื่องอยู่ในระดับเตือนให้ชาร์จแล้ว ซึ่งก็ทำการชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ GaN 65W ผ่านสาย USB-C ที่รองรับได้สูงสุด 100W ผลปรากฏว่า iPhone 16 รองรับไฟเข้าได้สูงสุดแค่ประมาณ 27W เป็นช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ก่อนจะปรับลงมาเหลือประมาณ 22-25W ซึ่งก็คือเท่า ๆ กับรุ่นก่อนหน้าเลย ดังนั้นการเลือกอะแดปเตอร์ชาร์จ ก็ควรจะเลือกแบรนด์ที่มีมาตรฐาน และรองรับการจ่ายไฟตั้งแต่ 30W ขึ้นไป
ส่วนการชาร์จไร้สายก็สามารถใช้แท่นชาร์จ MagSafe ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นแท่นรุ่นก่อนหน้า หรือแท่นรุ่นใหม่ล่าสุดที่รองรับการจ่ายไฟได้สูงสุด 25W จากเดิมที่ทำได้เพียง 15W เท่านั้น หรือจะเป็นแท่นชาร์จไร้สายทั่วไปที่รองรับมาตรฐาน Qi หรือ Qi2 ก็ได้ โดยจะต้องใช้งานร่วมกับหัวชาร์จ USB-C ที่จ่ายไฟได้สูงสุดขั้นต่ำ 30W ขึ้นไป จึงจะชาร์จไร้สายได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด
การเล่นเกมและประสิทธิภาพ
ในเรื่องการเล่นเกม แทบจะเรียกได้ว่าไม่ต้องห่วง iPhone เลย โดยเฉพาะพวกเครื่องรุ่นใหม่ล่าสุดหรือรุ่นเก่าลงมาซัก 1-2 ปี เพราะยังเล่นเกมยอดนิยมในปัจจุบันแทบทั้งหมดได้แบบสบาย ๆ อย่างที่ผมลองรีวิว iPhone 16 กับเกม Zenless Zone Zero ที่ตัวเกมเป็นสไตล์แอคชัน เน้นความรวดเร็ว การจับจังหวะคู่ต่อสู้เพื่อทำการ parry ก็สามารถเล่นได้อย่างไหลลื่น ซึ่งถ้าต้องการเล่นให้สบายกว่าการกดปุ่มบนหน้าจอ ก็เพียงแค่เชื่อมต่อกับจอยบลูทูธซักตัวก็สบายแล้ว สามารถตั้งค่ากราฟิกระดับสูง เปิดสุด เฟรมเรต 60fps ได้เลย
ส่วนพวกเกมระดับ AAA ที่พอร์ตมาจากพีซีและเครื่องเกมคอนโซล เช่น Resident Evil 4 Remake, Assassin’s Creed Mirage พวกนี้ก็อยู่ในระดับที่เล่นได้ เฟรมเรตประมาณ 30fps แบบมีเฟรมตกบ้าง แต่ไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่ เนื่องด้วยระบบระบายความร้อนที่ค่อนข้างมีข้อจำกัด หน้าจอก็อาจจะเล็กไปซักนิดนึงสำหรับการแสดง HUD และข้อความต่าง ๆ ด้วย
ทีนี้มาลองดูรีวิว iPhone 16 ในแง่ผลการทดสอบความแรงด้วยแอปทดสอบประสิทธิภาพกันบ้าง เริ่มด้วย Geekbench 6 ที่สามารถทดสอบได้ค่อนข้างหลากหลาย โดยในกราฟด้านบนจะเป็นผลทดสอบ CPU ทั้งแบบ single และ multi-core พบว่าชิป A18 ของ iPhone 16 ก็จะมีคะแนนความแรงแบบคอร์เดี่ยว ๆ แทบไม่ต่างจากชิป A17 Pro ใน iPhone 15 Pro รวมถึงยังจะแรงกว่าชิป M2 ใน iPad Air 11″ ด้วย
ส่วนคะแนนแบบ multi-core อันนี้ส่วนหนึ่งก็จะแปรผันตามจำนวนคอร์ของชิปด้วย ซึ่งถ้าเทียบกับ iPhone 15 Pro ที่มีจำนวนคอร์เท่ากัน จะเห็นว่าชิป A18 มีประสิทธิภาพในการทดสอบที่สูงกว่าด้วย เรียกได้ว่าน่าจะคุ้มแน่นอนสำหรับผู้ที่อยากได้ iPhone เครื่องใหม่แล้วต้องการเน้นความแรง เน้นว่าสามารถใช้งานไปได้ยาว ๆ อีกหลายปี
ต่อมาก็เป็นผลทดสอบ GPU กันบ้าง อันนี้พบว่าชิป A18 จะมีประสิทธิภาพจากการทดสอบของ Geekbench ที่เท่า ๆ กันกับชิป A17 Pro ของรุ่นก่อนหน้าเลย ดังนั้นผลทดสอบในการเล่นเกมของ iPhone 16 และ iPhone 15 Pro จึงน่าจะไม่ต่างกันมากนัก
ส่วนพลังประมวลผลในด้าน AI ก็จะมีแอป Geekbench AI มาให้ลองทดสอบกัน ซึ่งจากการทดสอบทั้ง CPU, GPU และ Neural Engine (NPU) ก็จะได้ผลที่ค่อนข้างสอดคล้องกันตามสเปคของตัวชิป เริ่มจาก CPU ที่มีการโฆษณาว่าประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งผลการคำนวณทั้งแบบ single precision, half precision และ quantized ตัวของ iPhone 16 ก็จะทำได้ดีกว่าทั้ง iPhone 15 Pro และ iPad Air M2 ตรงกับการทดสอบโดยใช้ Neural Engine ประมวลผลที่ชิป A18 ก็ยังทำได้ดีกว่า เนื่องจากมีการพัฒนาโมดูลการประมวลผล AI ให้ดีขึ้นกว่าชิปรุ่นก่อนหน้า
แต่จะกลับกันกับ GPU ที่ก็เป็นไปตามประสิทธิภาพของแต่ละชิปจริง ๆ สอดคล้องกับผลทดสอบความแรง GPU ใน Geekbench 6 ที่ iPhone 15 Pro และ iPad Air M2 ยังสูงกว่า
แอปถัดมาก็คือ AnTuTu Benchmark ที่คะแนนรวมของ iPhone 16 สตอเรจ 512GB พบว่าสามารถทำคะแนนรวมได้ราว 1,46x,xxx คะแนน
ปิดท้ายด้วยผลการทดสอบ 3DMark เพื่อวัดพลังการประมวลผลกราฟิกโดยรวม ๆ ซึ่งมีในการรีวิว iPhone 16 รอบนี้ก็จะมีการทดสอบทั้งสามชุดหลักคือ Steel Nomad Light, Solar Ray และ Wildlife Extreme ผลการทดสอบทางภาพซ้ายก็จะเห็นว่าระดับความแรงนั้นลดหลั่นลงมาจาก iPhone 15 Pro เล็กน้อย
ส่วนกราฟทางขวาก็จะเป็นการทดสอบในระยะยาวเพื่อวัดความเสถียรของประสิทธิภาพ โดยปล่อยให้ทำงานไป 20 รอบติดกัน ซึ่งในกราฟจะลงเป็นคะแนนสูงสุดและต่ำสุดที่แต่ละเครื่องทำได้ จุดที่เทียบกันแล้วน่าสนใจก็คือระหว่าง iPhone 16 และ 15 Pro ที่คะแนนสูงสุด (แท่งกราฟสีเข้มกว่า) ของ 15 Pro นั้นสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็เป็นไปตามระดับความแรงของชิป สอดคล้องกับผลทดสอบ GPU ในข้างต้น แต่พอดูที่กราฟแท่งสีเทาอ่อนที่แสดงถึงระดับคะแนนของรอบที่ได้คะแนนต่ำสุด จะกลายเป็นว่า iPhone 15 Pro มีคะแนนตกลงมาเหลือเพียง 829 คะแนนเท่านั้น ในขณะที่ iPhone 16 ยังอยู่ที่ 1,010 คะแนน อันนี้อาจจะมีส่วนมาจากเรื่องความร้อนสะสมภายในของ 15 Pro ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดอ่อนหลัก ๆ ประจำซีรีส์อยู่แล้ว ทำให้เมื่อภายในร้อน ชิปก็จะลดความเร็วลง ทำให้ระดับความเสถียรของประสิทธิภาพต่ำกว่าไปด้วย จุดนี้จะส่งผลกับการทำงานที่ต้องใช้ GPU ติดต่อกันยาว ๆ เช่นการเล่นเกม ที่อาจทำให้เฟรมเรตตกได้มากกว่า
ทำให้การรีวิว iPhone 16 ครั้งนี้ ในภาพรวมด้านประสิทธิภาพต้องบอกว่าเทียบกับ iPhone 15 Pro ได้สบาย ความแรงในด้าน CPU และ Neural Engine นั้นเหนือกว่าด้วย แต่ถ้าในภาพรวมอย่างด้านความเร็ว GPU ความเร็วแรมและสตอเรจ กลุ่มนี้เครื่องรุ่นโปรจะยังสูงกว่าอยู่เล็กน้อย เพราะต้องรองรับการจัดการไฟล์ด้านมีเดียที่มีขนาดใหญ่ เช่นไฟล์ภาพแบบ RAW ไฟล์วิดีโอ ProRes เป็นต้น ซึ่งถ้าคุณไม่ได้ใช้งานกลุ่มนี้อยู่แล้ว ประสิทธิภาพของ iPhone 16 ยังจัดว่าแรงกินขาดแบบไม่ต้องห่วงเลย ซื้อแล้วใช้ลากยาว ๆ ได้สบาย
สรุปท้ายรีวิว iPhone 16
จบแล้วนะครับสำหรับรีวิว iPhone 16 สมาร์ตโฟนประจำปี 2024 จาก Apple ที่ถ้าดูภายนอกก็จะพอเห็นความแตกต่างในด้านรูปลักษณ์จากรุ่นก่อนอยู่บ้าง ทั้งการเปลี่ยนการวางกล้องหลังมาเรียงเป็นแนวตั้ง การเพิ่มปุ่ม Camera Control เข้ามา รวมถึงยังเป็น iPhone รุ่นปกติรุ่นแรกที่ใส่ปุ่ม Action Button มาให้เหมือนรุ่นโปรด้วย ส่งผลให้ในแง่ของหน้าตาก็อาจจะดูต่างจากเดิมอยู่บ้าง แต่ได้ UX ในการใช้งานที่ต่างไปจากเดิมแน่ ๆ โดยเฉพาะการสั่งงานผ่านทั้งสองปุ่มที่ใส่เข้ามา ที่อาจจะต้องอาศัยการปรับตัวเพื่อสร้างความคุ้นชินอยู่บ้าง ในด้านอื่น ๆ ก็มีการพัฒนาขึ้นจากเดิมโดยเป็นการนำเทคโนโลยีจากรุ่นโปรรุ่นก่อนหน้ามาใส่ให้ เช่น กล้อง Fusion Camera 48MP ที่สามารถจำลองการซูมออปติคอล 2 เท่าได้คล้ายการซูมด้วยเลนส์จริง ความสามารถในการถ่ายมาโคร การถ่ายวิดีโอแบบ Spatial ส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ก็เช่นการปรับโทนสีแบบพรีเซ็ตของ Photographic Styles เป็นต้น
แต่จุดที่น่าจะทำให้หลายท่านยังคงสองจิตสองใจกับ iPhone 16 อยู่ก็คงเป็นสเปคในหลายจุด อาทิ จอ 60Hz กล้องหลังที่มีมาเพียง 2 เลนส์ พอร์ต USB-C ที่รองรับการถ่ายโอนข้อมูลที่ระดับ USB 2 รวมถึงเทคโนโลยีที่มีการเน้นมากในช่วงหลัง ๆ แต่ยังใช้ในไทยได้ไม่เต็มที่อย่าง Apple Intelligence และการที่การใช้งานเครื่องก็ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็แล้วแต่โจทย์ความต้องการของแต่ละท่านด้วย โดยถ้าหากท่านต้องการมือถือเครื่องใหม่ที่ใช้สะดวก มีอุปกรณ์เสริมเยอะ iPhone ก็ยังคงตอบโจทย์ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่ iPhone 16 ก็ยกข้อดีในหลาย ๆ จุดจากรุ่นโปรมาใส่เพิ่มจนใช้งานได้แทบจะไม่แตกต่างกันแล้ว ในกรณีที่ต้องการใช้งานทั่วไปเป็นหลัก รับรองว่าใช้งานได้ยาว ๆ เลยระยะประกันแน่นอน