วิธีเช็คไฟดับจากการไฟฟ้านครหลวง/ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมวิธีแจ้งเหตุไฟดับเมื่อพบเหตุฉุกเฉินในปี 2023
ช่วงเข้าสู่หน้าฝนแบบนี้ นอกจากจะเจอเรื่องฝนตกรถติด น้ำท่วมในบางพื้นที่ ลมแรง และอีกสิ่งหนึ่งที่มักจะต้องพบเจอเป็นประจำก็คือเรื่องไฟดับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุจากลมที่พัดสายขาด ขัดข้อง อุบัติเหตุ หรือว่าเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ก็ตาม วิธีรับมือกับช่วงไฟดับ และการเตรียมพร้อมล่วงหน้าก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยสิ่งที่ควรมีติดมือถือเอาไว้เลยก็คือแอพของกฟน. หรือหฟภ. และก็เบอร์โทร Call Center ชองแต่ละหน่วยงานที่ตัวเองใช้อยู่ นอกจากนี้ทั้งการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งสองต่างก็มีข้อมูลประกาศดับไฟ ที่มีการอัพเดทล่วงหน้าเพื่อให้เตรียมตัวเอาไว้ก่อนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์อยู่ด้วย เดี๋ยววันนี้ทาง Specphone จะมาแนะนำวิธีเช็คไฟดับจากการไฟฟ้านครหลวง/ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมวิธีแจ้งเหตุไฟดับเมื่อพบเหตุฉุกเฉิน ว่าควรจะต้องเตรียมตัวและทำอย่างไรบ้างในปี 2023
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)
- การไฟฟ้านครหลวง (MEA)
- วิธีเช็คน้ำไม่ไหลจากการประปานครหลวง (MWA)/ การประปาส่วนภูมิภาค (PWA)
วิธีเช็คไฟดับจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉินเมื่อไฟดับ
ขอเริ่มต้นกันที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กับวิธีการแจ้งเหตุกันก่อนเลย ซึ่งพื้นที่ที่ให้บริการนั้นจะอยู่ในบริเวณ 74 จังหวัดของประเทศไทย ยกเว้นอยู่ 3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ นอกนั้นจะใช้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ทั้งหมดเลย ดังนั้นก่อนที่จะแจ้งหรือว่าเกิดเหตุไฟดับก็ควรรู้พื้นที่การใช้งานของตัวเองด้วยว่าอยู่ในพื้นที่ไหน
โดยการแจ้งเหตุเมื่อเกิดไฟดับสามารถโทรแจ้งได้ที่ Call Center ของ PEA โทร 1129 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือถ้าใครใช้แอพ PEA Smart Plus (iOS/ Android) ก็สามารถแจ้งเหตุผ่านแอพได้เลยตลอด 24 ชั่วโมง โดยเลือกไปที่เมนู “แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง” ทั้งนี้ก็สามารถแจ้งเหตุไฟดับจาก Facebook การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA หรือแชทกับเจ้าหน้าที่ได้ที่ PEA สิ่งที่ควรจะต้องเตรียมเอาไว้เพื่อความรวดเร็วในการแจ้งข้อมูลได้แก่
- หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า 12 หลัก ที่อยู่บนใบแจ้งค่าไฟฟ้า (ควรมี เพราะจะข้ามขั้นตอนการถามข้อมูลได้เยอะมาก)
- ชื่อ-นามสกุล ผู้ขอใช้ไฟฟ้า และคนที่แจ้งเหตุ (เจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า หรือเจ้าของบ้าน)
- ที่อยู่ของสถานที่เกิดเหตุเช่น บ้านเลขที่ หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ซอย ตำบล อำเภอ จังหวัด
- สถานที่ใกล้เคียงที่เป็นจุดเด่นใกล้สถานที่เกิดเหตุ เช่น วัด สถานที่ราชการ
- สังกัดการไฟฟ้า (การไฟฟ้าที่ดูแลพื้นที่ของเรา)
- หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
- วันและเวลาที่ไฟฟ้าดับ
- ลักษณะของไฟฟ้าดับ เช่น ดับหลังเดียว ดับบริเวณกว้าง หรือดับหลายหลัง
- สาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ไฟฟ้าดับ
วิธีเช็คไฟดับจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สำหรับวิธีการเช็คตอนไฟดับว่ามีพื้นที่ส่วนไหนที่กำลังดำเนินการดับไฟ ทั้งที่ประกาศดับไฟไปแล้ว และกำลังจะดับไฟในอนาคตทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ก็ได้มีประกาศลงหน้าเว็บเอาไว้ชัดเจนล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 อาทิตย์ ถ้าหากบ้านไหนเกิดไฟดับและอยากเช็คพื้นที่ของบ้านตัวเองก่อน ว่ามีการประกาศดับไฟเอาไว้ก่อนหน้าหรือไม่ สามารถกดเข้าไปดูประกาศได้ที่ PEA E-Service เพื่อค้นหาจังหวัด วันเวลาที่ดับไฟ และรายละเอียดอื่นๆ ได้เลยในทันทีทั้งที่ประกาศไปแล้ว และที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วย
วิธีเช็คไฟดับจากการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉินเมื่อไฟดับ
มาดูทางฝั่งการไฟฟ้านครหลวง (MEA) กับวิธีการแจ้งเหตุเมื่อไฟดับกันบ้าง โดยการไฟฟ้านครหลวง (MEA) นั้นจะให้บริการอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งมีช่องทางการติดต่อ และแจ้งเหตุที่ครอบคลุมการใช้งานทั้งการโทรและแบบออนไลน์ วิธีแรกเมื่อเกิดเหตุไฟดับเลยก็คือการโทรแจ้งกับ Call Center ของ MEA โทร 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
หรือว่าถ้าใครที่ใช้บริการแอพ MEA Smart Life (iOS/ Android) อยู่แล้วก็สามารถกดแจ้งเหตุไฟดับได้ทันทีในแอพจากเมนูด้านล่างคือ “แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีกวิธีก็คือแจ้งเหตุแบบออนไลน์ได้ทั้ง Facebook การไฟฟ้านครหลวง MEA หรือ LINE Official MEA Connect: โดยกดเพิ่มเพื่อน ที่นี่ เพื่อแจ้งเหตุไฟดับได้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน ทั้งนี้สิ่งที่ควรเตรียมตอนแจ้งหตุก็คือ
- บัญชีแสดงสัญญา และรหัสเครื่องวัด ที่อยู่บนใบแจ้งค่าไฟฟ้า (ควรมีเพื่อการตรวจสอบที่เร็วยิ่งขึ้น)
- ชื่อ-นามสกุล ผู้ขอใช้ไฟฟ้า และคนที่แจ้งเหตุ
- ที่อยู่ของสถานที่เกิดเหตุไฟดับ ทั้งบ้านเลขที่ ซอย แขวง เขต และจังหวัด
- หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
- วันและเวลาที่ไฟฟ้าดับ
- ลักษณะของไฟฟ้าที่ดับเช่น ดับหลังเดียว หรือดับหลายหลัง
วิธีเช็คไฟดับจากการไฟฟ้านครหลวง (MEA)
สำหรับวิธีเช็คไฟดับจากการไฟฟ้านครหลวง (MEA) แบบล่วงหน้า ทางการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ก็ได้มีการแจ้งเอาไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์เช่นกัน โดยจะมีการประกาศดับไฟเอาไว้อยู่บนหน้าเว็บ MEA Power Outage ที่จะมีการประกาศเอาไว้ทั้งประกาศดับไฟที่ใกล้จะถึง หรือกำลังดำเนินการอยู่ (สามารถกดค้นหาบริเวณของพื้นที่ตัวเองได้เลย), ประกาศดับไฟที่ดำเนินการไปแล้ว, ข่าวสารการดับไฟ และที่สำคัญก็คือมีข้อมูลสถิติที่เอาไว้บอกด้วยว่าในปีที่ผ่านมา มีการดับไฟไปแล้วบ่อยแค่ไหนด้วย ใครที่อยากรู้ข้อมูลพื้นที่ของตัวเองก็เข้าไปเลือกดูกันได้เลย
วิธีเช็คน้ำไม่ไหลจากการประปานครหลวง (MWA)/ การประปาส่วนภูมิภาค (PWA) และแจ้งเหตุน้ำไม่ไหล
นอกจากจะสามารถแจ้งเหตุเรื่องไฟดับ หรือว่าเช็คข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการตัดไฟได้แล้ว เรื่องของน้ำไม่ไหลจากทั้งการประปานครหลวง (MWA) และการประปาส่วนภูมิภาค (PWA) ก็สามารถดูข้อมูลล่วงหน้า หรือดูข้อมูลเรื่องการหยุดจ่ายน้ำชั่วคราวจากเหตุต่างๆ ได้เช่นกัน โดยการแจ้งเหตุสามารถแจ้งได้ที่
- การประปานครหลวง MWA – โทร 1125 (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ตลอด 24 ชั่วโมง (สมัคร SMS ได้ด้วย)
- การประปาส่วนภูมิภาค PWA – โทร 1662 (นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนวิธีการเช็คว่าน้ำไม่ไหลหรือมีการหยุดจ่ายน้ำที่ไหนบ้าง สามารถเข้าไปเช็คดูการอัพเดทล่าสุดจากทั้งสองหน่วยงานคือ
- การประปานครหลวง MWA – ระบบแจ้งพื้นที่น้ำประปาไม่ไหล – น้ำประปาไหลอ่อน (สามารถเลือกดูแต่ละสาขา หรือเขตได้เลย)
- การประปาส่วนภูมิภาค PWA – ข่าวหยุดจ่ายน้ำ (ค้นหาชื่อจังหวัด หรือสาขาได้เลย)
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลการรับมือกับเหตุไม่คาดคิดอย่างไฟดับ หรือน้ำไม่ไหลกับวิธีเช็คไฟดับจากการไฟฟ้านครหลวง/ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมวิธีแจ้งเหตุไฟดับเมื่อพบเหตุฉุกเฉินที่เราได้นำมาฝากกันในวันนี้ โดยหลักๆ แล้วการแจ้งเหตุหลายคนก็มักจะโทรไปที่ Call Center โดยตรงเพื่อคุยกับเจ้าหน้าที่เลยจะสะดวกและไวที่สุด แต่ถ้าหากใครใช้แอพ เพื่อเช็คข้อมูลบิลค่าไฟฟ้าออนไลน์อยู่แล้ว ก็สามารถแจ้งได้ผ่านแอพไปเลยก็ได้เหมือนกัน ทั้งนี้สาเหตุของไฟดับอาจเกิดได้หลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการแจ้งตัดไฟของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ ไฟฟ้าขัดข้อง และอื่นๆ ได้อีกด้วย ทางที่ดีก็ควรมีการรับมือเอาไว้ก่อน หรือมีเครื่องสำรองไฟเอาไว้จะดีที่สุด แล้วถ้ามีเรื่องไหนน่าสนใจอีก เราก็จะนำมาฝากกันเรื่อยๆ เลยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA และ การไฟฟ้านครหลวง MEA