iPhone X เป็นสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับความคาดหวังในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในแง่ของดีไซน์ที่เปลี่ยนใหม่หมดจากโมเดลในตอน iPhone 6 และฟีเจอร์ที่ถูกคาดหวังว่ามันจะทำให้ Apple กลับมาเป็นผู้นำเทรนด์ด้านเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนอีกครั้ง เพราะช่วงหลังมานี้ต้องยอมรับว่า Apple ไม่ได้เน้นเทคโนโลยีที่สดใหม่เหมือนเมื่อตอน iPhone รุ่นแรก ๆ แต่เน้นการใส่เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับช่วงเวลามากกว่า
บทความรีวิว iPhone X บทความนี้ ผมเขียนจากประสบการณ์ใช้งานจริง หลังจากที่ลองใช้เครื่องนี้มาเป็นเวลา 1 เดือน โดยเครื่องรีวิว iPhone X ไม่ใช่เครื่องศูนย์ไทย แต่เป็นเครื่องศูนย์ Apple ประเทศสิงคโปร์ ที่เป็นประเทศในกลุ่มแรก ๆ ที่ iPhone X วางจำหน่าย อย่างไรก็ตาม iPhone รุ่นหลัง ๆ มานี้ ไม่ว่าจะซื้อจากที่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นเครื่องที่ออกจาก Apple Store สามารถเคลมข้ามประเทศได้แล้ว เพราะฉะนั้น iPhone X ที่ผมใช้งานอยู่ ณ ตอนนี้จึงสามารถส่งเคลมกับศูนย์ไทย เช่น iServe, iService, iCare และอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ด้วยความที่บทความรีวิว iPhone X นี้ก็ถือว่าช้ามากแล้ว อีกอย่างในประเทศไทยก็ได้วางจำหน่าย iPhone X อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย ในบทความนี้ผมจึงเน้นไปที่ประสบการณ์ใช้งาน กับสิ่งที่ควรต้องรู้หากจะเปลี่ยนมาใช้ iPhone X เพื่อช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าจะซื้อ iPhone X ดีหรือไม่
จุดเด่น
– หน้าจอ Super Retina HD แบบ OLED ให้ทั้งความคมชัด, สีสัน และคอนทราสต์ที่จัดจ้าน
– ชิปประมวลผล Apple A11 Bionic เร็ว แรง ใช้งานได้อย่างลื่นไหล
– กล้องหลังดีขึ้นจากรุ่นก่อนมาก ถ่ายกลางคืนได้ดีขึ้น
– กล้องหน้า TrueDepth มีลูกเล่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด Portrait Mode ได้เนียนไม่แพ้กล้องหลัง
– ระบบปลดล็อก Face ID ทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำ
– รองรับการถ่ายวีดีโอได้หลากหลายความละเอียด กันสั่นวีดีโอนิ่งใช้ได้
ข้อสังเกต
– ขนาดหน้าจอ 5.8 นิ้ว ถ้าใช้งานกับแอปที่ไม่รองรับ จะเหลือพื้นที่พอ ๆ กับ iPhone 8
– Face ID มีการสแกนพร่ำเพรื่อเกินไป
– แบตเตอรี่ก็ยังคงเป็น iPhone อยู่วันยังค่ำ ต้องมีการชาร์จระหว่างวัน
– รองรับการชาร์จเร็ว และชาร์จไร้สาย แต่ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมเอาเอง
บทสรุป
BEST TECHNOLOGY
Design
iPhone X ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนอีกซีรี่ส์ของ Apple แยกจากตัว iPhone 8, iPhone 8 Plus อย่างสิ้นเชิง โดยตัวมันเองจัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนเกรดพรีเมียมในพรีเมียมอีกที จึงไม่แปลกที่ Apple จะกล้าตั้งราคาขายในตัวท็อปเกือบครึ่งแสน ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับพรีเมียมแบรนด์อย่าง Porsche Design เลยทีเดียว
วัสดุตัวเครื่อง iPhone X เปลี่ยนจากอลูมิเนียม Unibody มาเป็นสแตนเลสกับกระจก คล้ายกับ iPhone 8 และ iPhone 8 Plus ที่เปลี่ยนมาใช้อลูมิเนียมกับกระจกเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่เป็นสแตนเลส อันเป็นวัสดุที่ Apple ใช้กับอุปกรณ์ระดับพรีเมียมเกรดของตัวเองอยู่แล้ว อย่าง Apple Watch ก็จะมีรุ่นล่าง Apple Watch Sport ที่ใช้อลูมิเนียม กับ Apple Watch ที่ใช้สแตนเลส เป็นต้น
การที่ใช้วัสดุตัวเครื่องเป็นสแตนเลสกับกระจก ส่งผลให้ iPhone X เป็นสมาร์ทโฟนที่เต็มไปด้วยความเงางามในทุกส่วนทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นกระจกหน้า, กระจกหลัง และขอบตัวเครื่อง ข้อดีก็คือมันสวย และพรีเมียมสมกับราคาเกือบครึ่งแสน แต่ข้อสังเกตก็คือ ถ้าอยากให้มันสวยตลอดเวลา จำเป็นที่จะต้องใส่เคส และเช็ดทำความสะอาดเรื่อย ๆ เพราะความเงางามนั้นเก็บรอยนิ้วมือได้ดีทีเดียว
ด้านการจับถือตัวเครื่อง iPhone X ทำได้ดีเอามาก ๆ สำหรับสมาร์ทโฟนหน้าจอ 5.8 นิ้ว ด้วยความที่หน้าจอเป็นแบบเต็มจอ ไม่มีปุ่มโฮมเหมือนรุ่นก่อน ๆ ขนาดตัวเครื่องของ iPhone X จะอยู่ระหว่าง iPhone 8 และ iPhone 8 Plus โดยส่วนตัวรู้สึกว่า iPhone X จะมีความใกล้เคียงกับ iPhone 8 มากกว่า iPhone 8 Plus ทั้งในเรื่องของการใช้งาน และการจับถือตัวเครื่อง
นอกจากหน้าจอของ iPhone X จะเป็นหน้าจอแบบเต็มจอแล้ว สิ่งที่ iPhone X ไม่เหมือนกับ iPhone รุ่นอื่น ๆ ที่ Apple เคยทำก็คือมันมาพร้อมกับหน้าจอแบบ Super Retina OLED ซึ่งเป็นหน้าจอที่ได้รับความนิยมสูงในยุคปัจจุบัน ด้วยความสามารถในการแสดงสีสัน, คอนทราสต์ที่จัดจ้าน, ความยืดหยุ่น และการประหยัดพลังงาน และยังเพิ่มความยากในการผลิตด้วยรอยแหว่งบริเวณด้านบนหน้าจอที่จะต้องวางกล้อง TrueDepth อันเป็นทั้งกล้องหน้า และเซ็นเซอร์สำหรับสแกน Face ID ทำให้ต้องมีการดัดแปลงหน้าจอ OLED บริเวณด้านบนเล็กน้อย เลยทำให้ช่วงแรกมีข่าวว่า iPhone X อาจจะขาดตลาด แต่พอวางขายจริงก็พบว่ามันไม่ได้หาซื้อยากขนาดนั้น
มาถึงปัญหาที่หลายคนกังวลในตัว iPhone X ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องหน้าจอเบิร์น, จอเป็นเส้น, มุมมองเพี้ยน เท่าที่ผมใช้งานมา ส่วนตัวยังไม่เจอปัญหาดังกล่าวครับ แต่ปัญหาแรกที่พบเมื่อใช้ iPhone X เลยคือไม่ชินกับความคมชัด แล้วก็สีสันหน้าจอ ด้วยความที่หน้าจอ Super Retina HD มีคอนทราสต์ที่จัดกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปในท้องตลาด (1,000,000:1) และยังมีเทคโนโลยี True Tone Display ที่ช่วยปรับไวท์บาลานซ์หน้าจอให้เหมาะสมกับสภาพแสง พอเปลี่ยนจาก iPhone 7 Plus มาใช้งานในช่วงแรก ๆ จะรู้สึกว่าสีจอ iPhone X ดูแปลกตาไปหน่อย แต่พอใช้งานไปสักพักแล้วกลับไปใช้ iPhone 7 Plus เครื่องเดิม จะรู้สึกเลยว่าหน้าจอ iPhone 7 Plus สีซีด และไม่คมชัดเหมือนตอนใช้ iPhone X
สำหรับอุปกรณ์เสริมที่ขาดไม่ได้สำหรับสมาร์ทโฟนอย่างกระจกกันรอย ตอนนี้ก็มีวางจำหน่ายแล้วหลายรุ่น โดยตัว iPhone X เองไม่ใช่สมาร์ทโฟนที่ติดกระจกยาก เพราะพื้นฐานมันก็คือสมาร์ทโฟนกระจกโค้ง 2.5D ปกติทั่วไป แต่สิ่งที่ต้องกังวลคือกระจกกันรอยที่ออกแบบมาให้เข้ากับ iPhone X ได้อย่างพอดีมากกว่า เนื่องจาก iPhone X มีเซ็นเซอร์บริเวณด้านหน้าเยอะมาก ถ้าติดกระจกที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการเจาะรูมาไม่ตรงอาจทำให้การใช้งานกล้อง TrueDepth, True Tone Display และ Face ID เกิดความผิดพลาดได้
ส่วนตัวตั้งแต่ซื้อ iPhone X มาใช้งานเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ทาง Focus ก็ได้ส่งกระจกกันรอยแบบแข็งแกร่งพิเศษ Focus Super Glass 3D Full Frame สำหรับ iPhone X มาให้ลองใช้ โดยกระจกกันรอยรุ่นดังกล่าวเป็นกระจกกันรอยแบบเต็มหน้าจอ ครอบคลุมในทุกส่วนโค้งของหน้าจอ iPhone X และยังรองรับการใช้งานร่วมกับเคสกันกระแทกแทบจะทุกรุ่นในท้องตลาด เท่าที่ลองทดสอบกับ Element Case, Nomad, UAG, Jack Sprade รวมถึงเคสของ Apple ก็สามารถใช้งานร่วมกันได้ โดยที่ไม่เกิดปัญหาเคสดันกระจก
ด้านการแสดงผล หลังจากที่ติดกระจก Focus Super Glass 3D Full Frame ก็ไม่ได้รู้สึกว่าหน้าจอ Super Retina HD แสดงผลได้ผิดเพี้ยนไปจากตอนไม่ติดกระจก iPhone X ยังคงแสดงผลได้ดีเหมือนเคย ส่วนเรื่องการทัชสกรีน หรือการสัมผัสหน้าจอก็ยังคงลื่นเหมือนทัชบนกระจกจริง ๆ และที่สำคัญคือยังคงใช้งานฟีเจอร์ของกล้อง TrueDepth ได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งการสแกน Face ID รวมถึงการถ่ายภาพ Portrait Mode ด้วยกล้องหน้าของ iPhone X
จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งของ iPhone X คือปุ่มการควบคุมที่เปลี่ยนไปจากรุ่นก่อนพอสมควร สืบเนื่องจากการตัดปุ่มโฮมที่เคยมีมาตั้งแต่ iPhone 2G ออกไป โดยปุ่มกดที่ iPhone X มีจะเหลือแค่ปุ่มปรับระดับเสียงกับปุ่มปิดเสียงทางด้านซ้ายมือ และปุ่ม Sleep/Wake ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก เพราะในการใช้งานส่วนใหญ่จะถูกโยกย้ายมาที่ปุ่ม Sleep/ Wake แทน เช่น การยืนยันซื้อ Application, หรือการจ่ายเงินผ่าน Apple Pay หรือแม้แต่การจับภาพหน้าจอที่เปลี่ยนมาใช้ปุ่ม Sleep/ Wake + Volume up แทน Sleep/ Wake กับปุ่ม Home เหมือนรุ่นก่อน ๆ
ภาพรวมของ iPhone X ในส่วนของการออกแบบ ถ้ามองในแง่ของความเป็นพรีเมียมสมาร์ทโฟน ก็ถือว่ามันทำได้สมกับความพรีเมียมสมาร์ทโฟนครับ ด้วยวัสดุที่ไม่ได้พบทั่วไปในท้องตลาดอย่างสแตนเลสกับกระจก เรื่องสัมผัส การจับถือทำได้ดีสมกับที่เป็นการดีไซน์ใหม่หมด หน้าจอ OLED ถ้าไม่นับเรื่องปัญหาที่พบเจอกัน เช่น จอเป็นเส้น, จอเบิร์น ถือว่าเป็นหน้าจอบนสมาร์ทโฟนที่แสดงผลได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งด้านความคมชัด, สีสันหน้าจอ และเรื่องความเที่ยงตรงของสีด้วยการใช้เทคโนโลยี True Tone Display เข้ามาช่วยในการจัดการ White Balance ของหน้าจอให้เข้ากับสถานการณ์
Software
iPhone X มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ iOS 11 ตั้งแต่แกะกล่อง แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับการรีวิวสักเท่าไหร่ เพราะ iOS 11 เองก็เหมือน ๆ กันหมดไม่ว่าจะอยู่บน iPhone รุ่นไหนก็ตาม (ที่อัพเดต iOS 11 ได้) ส่วนตัวผมมองว่าสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับซอฟท์แวร์ใน iPhone X คือมันใช้งานอย่างไร เมื่อ Apple เลือกที่ตัดปุ่มโฮมทิ้งไปมากกว่า
ลักษณะการใช้งาน iPhone X สำหรับสาวก iPhone หรือคนที่เคยใช้ iPhone รุ่นก่อนหน้านี้จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เมื่อก่อน นึกอะไรไม่ออกก็ให้กดปุ่มโฮมเพื่อออกจากหน้าแอปพลิเคชัน หรือกลับมาที่ปุ่มโฮม ใน iPhone X จะใช้การปัดหน้าจอจากด้านล่างสุดของหน้าจอขึ้นมาแทนการกดปุ่มโฮม โดยจะมีสัญลักษณ์เป็นเส้นยาว ๆ อยู่บริเวณด้านล่างหน้าจอเมื่ออยู่ในหน้าแอปพลิเคชัน เช่นเดียวกับการเรียกหน้า Recent App ที่เมื่อก่อนใช้การ Double tap ปุ่มโฮม ใน iPhone X จะเปลี่ยนเป็นการลากจากด้านล่างหน้าจอขึ้นมาบริเวณกึ่งกลางหน้าจอแทน ส่วนการเคลียร์แอปพลิเคชัน ก็จะต้องทำการกดที่แอปพลิเคชันในหน้า Recent App ค้างไว้สักครู่ จึงสามารถเคลียร์แอปได้
การเรียกหน้า Control Center จากเดิมที่ปัดหน้าจอจากล่างขึ้นบน ก็เปลี่ยนมาเป็นการปัดหน้าจอจากด้านบนขวาลงล่าง บริเวณด้านซ้ายบนของหน้าจอจะเป็นการเรียกหน้าแจ้งเตือน หรือ Notification Center แทน ส่วนตัวผมหลังจากที่เปลี่ยนมาใช้ iPhone X ในระยะแรก จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวสักพักอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อปรับตัวได้แล้วก็ไม่ได้รู้สึกเป็นปัญหาอะไร มีติดตรงที่เวลาใช้งานแอปพลิเคชันในแนวนอน การเรียกหน้าโฮมจะงงอยู่หน่อย ๆ
ด้านการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของ iPhone X ส่วนตัวคิดว่ายังมีอะไรต้องปรับปรุงอีกเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะแอปพลิเคชันหลายตัวที่ยังไม่รองรับ iPhone X แม้ว่ามันจะวางจำหน่ายมาเดือนกว่า ๆ แล้วก็ตาม อย่าง LINE แอปพลิเคชันแชทยอดนิยมของคนไทยก็พึ่งจะอัพเดตให้รองรับหน้าจอ Super Retina HD ของ iPhone X ได้ไม่กี่วันก่อนที่ผมจะเขียนรีวิว iPhone X
การที่แอปพลิเคชันไม่รองรับหน้าจอ iPhone X เลยทำให้มันเป็นปัญหาในการใช้งานขึ้นมา ถึงแม้ว่า iPhone X จะมีหน้าจอขนาด 5.8 นิ้วก็ตาม ด้วยความที่เป็นจอภาพอัตราส่วน 18.5:9 ทำให้พื้นที่การใช้งานจริงไม่ได้มีมากเท่ากับหน้าจอ 5.5 นิ้วของ iPhone 8 Plus ส่วนตัวคิดว่ามันมีความใกล้เคียงกับหน้าจอ 4.7 นิ้วของ iPhone 8 มากกว่า แต่ในการรับชมภาพยนตร์ หรือวีดีโอคอนเท้นบน Youtube หน้าจอของ iPhone X ดูจะตอบโจทย์การใช้งานกว่าหน้าจอ 16:9 ทั่วไป เนื่องจากไฟล์ภาพยนตร์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะบน iTunes Store เป็นไฟล์อัตราส่วน 2.35:1 พอเปิดบนหน้าจอ iPhone X จะมีขอบดำบนล่างน้อยมาก ทำให้รับชมภาพยนตร์ได้เต็มตากว่านั่นเอง
Feature
สำหรับฟีเจอร์ที่มีใน iPhone X ถ้าคัดเฉพาะที่เป็นฟีเจอร์เด่น ๆ และไม่เคยมี iPhone รุ่นไหนทำมาก่อน นอกจากหน้าจอแบบเต็มจอก็คงเป็นกล้อง TrueDepth Camera ที่ใส่มาอัพเกรดให้กล้องหน้า iPhone X สามารถต่อกรกับบรรดาสมาร์ทโฟนแอนดรอยได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ หลังจากที่กล้องหน้า iPhone เหมือนจะเป็นจุดที่สู้ไม่ได้มาโดยตลอด
โดยกล้อง TrueDepth ของ iPhone X ทำให้มันสามารถถ่าย Portrait Mode หรือโหมดหน้าชัด – หลังเบลอด้วยกล้องหน้าได้แล้ว ที่สำคัญคือไม่ต้องง้อระยะเหมือนกล้องหลังคู่ และยังสามารถปรับแสงด้วยโหมด Portrait Lightning ได้อีกด้วย ส่วนตัวมองว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของกล้องหน้า iPhone เลยทีเดียว
นอกจากการถ่ายภาพแล้ว TrueDepth Camera ยังถูกใช้ในการปลดล็อกแบบใหม่ของ Apple หลังจากที่ใช้ Touch ID มายาวนานตั้งแต่สมัย iPhone 5s โดยระบบการปลดล็อกแบบใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้ลายนิ้วมือแล้ว แต่เปลี่ยนมาใช้การสแกนใบหน้า หรือที่ Apple เรียกว่า Face ID แทน สำหรับเรื่องความปลอดภัย Apple เคลมว่า Face ID มีความปลอดภัยในระดับที่สูงกว่า Touch ID และไม่สามารถปลอมแปลงได้ เพราะต้องผ่านเซ็นเซอร์หลายจุด และมีชิปประมวลผล Apple A11 Bionic คอยช่วยประมวลผลตอนใช้งาน Face ID อีกที
Face ID บน iPhone X ไม่ใช่แค่ระบบปลดล็อกใบหน้าที่มีแค่ความแม่นยำเท่านั้น แต่มันยังสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมจากการสแกนใบหน้าซ้ำ ๆ กันได้อีกด้วย เพื่อให้ได้การปลดล็อกใบหน้าที่แม่นยำอยู่เสมอ ไม่ว่าตอนนั้นผู้ใช้จะใส่หมวก, ใส่แว่นตา, มีหนวด หรือโกนหนวดแล้วก็ตาม ชิปประมวลผล Apple A11 Bionic จะมีการเรียนรู้ความแตกต่างของใบหน้าผู้ใช้งานในมุมต่าง ๆ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสแกนใบหน้าผิดพลาดในช่วงแรก, ไม่สามารถแยกแยะฝาแฝด หรือพี่น้องได้ในผู้ใช้บางรายที่จงใจแกล้งให้ Face ID ทำงานผิดพลาด ด้วยการสแกนใบหน้าสลับไปมาซ้ำ ๆ กันจน Face ID สับสน
จากประสบการณ์ตรงในการใช้งาน iPhone X เกี่ยวกับ Face ID ส่วนตัวคิดว่ามันยังไม่ใช่ระบบการปลดล็อกที่ดีที่สุด เริ่มจากการที่สแกนใบหน้าเสร็จแล้ว ต้องทำการปัดหน้าจอขึ้น 1 ที เพื่อเข้าสู่หน้า Home ทำให้การใช้งานยังไม่สะดวกเท่าที่ควร รวมถึงอาการมึน ๆ บางครั้งที่สแกนใบหน้าย้อนแสง (กรณีที่เป็นแสงแดดจัด ๆ) หรือการใช้งานในบางมุม ที่ iPhone X อยู่ใกล้หน้าจนเกินไป เช่น นอนเล่นบนเตียง ก็จะไม่สามารถใช้งาน Face ID ได้ ต้องใช้เป็นการใส่ Passcode แทน และด้วยความที่ Face ID มันสแกนง่าย เลยทำให้ iOS 11 มีการเรียกใช้งาน Face ID ที่พร่ำเพรื่อจนเกินไป เช่น การเรียก Face ID ทุกครั้งที่มีการล็อกอินผ่าน Facebook, หรือการเรียก Password ที่บันทึกไว้บน iCloud KeyChain ซึ่งทำให้เกิดอาการหงุดหงิดได้ในบางที
ส่วนเรื่องความแม่นยำหลังจากใช้งานมาสักพัก พบว่า Face ID มีการเรียนรู้ใบหน้าของผู้ใช้จริง ๆ อย่างการใช้งานช่วงแรก โดยเฉพาะตอนตื่นนอนมักจะมีปัญหาไม่สามารถสแกนใบหน้าได้ เนื่องจากผมถอดแว่น และมีอาการงัวเงีย แต่พอใช้งานมาสักพัก Face ID ก็สามารถจดจำใบหน้า ณ ขณะตื่นนอนได้ และทำการปลดล็อกให้โดยที่ไม่ต้องใส่ Passcode เหมือนช่วงแรก ๆ
อีกหนึ่งไฮไลท์จาก TrueDepth Camera ก็คือฟีเจอร์ Animoji ที่ Apple เหมือนทำมาเอาไว้โชว์ความสามารถของ TrueDepth โดยเฉพาะ ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกันกว่า 50 รูปแบบเพื่อจำลองการแสดงออกทางใบหน้าของผู้ใช้บน Animoji ที่มีให้เลือก 12 แบบ และสามารถแชร์ผ่าน iMessage หรือจะเซฟเป็นไฟล์วีดีโอเพื่อแชร์ลงโซเชียลก็ได้ ส่วนตัวจากที่ได้ลองใช้ Animoji ในเรื่องความแม่นยำ จัดว่ามีความแม่นยำมาก ตัว Animoji สามารถเล่นตามการขยับหน้าตา, ปาก, คิ้ว, ตาได้อย่างแม่นยำ เป็นกิมมิคเก๋ ๆ ที่มีเฉพาะใน iPhone X เท่านั้น
Camera
ไม่ใช่แค่ดีไซน์ที่เปลี่ยน แต่กล้องของ iPhone X ก็เป็นสิ่งที่ Apple ทำการอัพเกรดให้ดีขึ้นจากรุ่นก่อน เริ่มจากกล้องหลังที่เป็นกล้องคู่ เช่นเดียวกับใน iPhone 8 Plus แต่ไฮไลท์จะอยู่ที่กล้องเลนส์เทเลโฟโต้ นอกจากจะเป็นเซ็นเซอร์ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว ยังเป็นเลนส์ f/2.4 (จากเดิม f/2.8) ส่งผลให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยทำได้ดีขึ้น สำหรับการซูม หรือการถ่าย Portrait Mode และด้วยความที่ใช้ชิปประมวลผล Apple A11 Bionic และมี Dual ISP ยิ่งทำให้การประมวลผล Portrait Mode ทำได้รวดเร็ว, แม่นยำ และเนียนมากขึ้นเมื่อเทียบกับ iPhone 7 Plus
สไตล์ของภาพถ่ายจากกล้องหลัง iPhone X จะเน้นที่เรื่องรายละเอียดของภาพเป็นหลัก สามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี การถ่ายภาพเวลากลางคืนทำได้ดีกว่า iPhone 7 Plus อย่างเห็นได้ชัด ทั้งในเรื่องความคมของภาพ, Noise และรายละเอียด อีกทั้งยังมีการจัดการแสงไฟได้ดี ไม่มีอาการฟุ้ง หรือหลุดไฮไลท์เหมือน Galaxy Note 8 แต่ก็ยังถ่ายภาพกลางคืนได้ไม่สว่างเท่า Note 8 และก็ไม่ได้ถ่ายภาพออกมาได้คมเท่ากับ Huawei Mate 10 Pro ส่วนตัวมองว่า iPhone X อยู่กึ่งกลางระหว่างสมาร์ทโฟน 2 รุ่น โดยรวมคือทำได้ดี แต่ไม่โดดเด่นในทางใดทางหนึ่งเท่านั้นเอง
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง iPhone X
ด้านการถ่ายวีดีโอ iPhone X เป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายวีดีโอได้ดีทีเดียว เริ่มจากเรื่องการบันทึกไฟล์วีดีโอ ที่รองรับความละเอียดสูงสุด 4K @60 fps และยังรองรับการถ่ายวีดีโอที่ 24 fps อันเป็นมาตรฐานของการถ่ายทำภาพยนตร์อีกด้วย โดยไฟล์วีดีโอที่ถ่ายด้วย iPhone X ส่วนตัวผมพอใจกับคุณภาพวีดีโอที่ได้รับ ทั้งความคมชัด, ความลื่นไหล รวมถึงการกันสั่นที่นิ่งพอตัว แม้จะไม่ได้ใช้ไม้ Gimbal ก็ตาม
ส่วนกล้องหน้าของ iPhone X ตามที่เกริ่นไว้แล้วว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ด้วยการใช้กล้องหน้า TrueDepth ทำให้สามารถถ่าย Portrait Mode ด้วยกล้องหน้า แถมด้วยการจัดไฟแบบสตูดิโอด้วย Portrait Lighting ได้เช่นเดียวกับกล้องหลัง ส่งผลให้การถ่ายเซลฟี่ด้วย iPhone X ดูโดดเด่นขึ้นมาก มีลูกเล่นมากขึ้น และถ่ายได้สวยยิ่งขึ้น การละลายหลังทำได้เนียนเลยสำหรับสมาร์ทโฟนที่มีกล้องหน้าตัวเดียว
นอกจากการถ่าย Portrait Mode ด้วยกล้องหน้าได้แล้ว Apple ยังมีแอปพลิเคชันฟรีอย่าง Clips ที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดใน App Store ทำให้การเซลฟี่และถ่ายวีดีโอด้วยกล้องหน้า iPhone X สนุกขึ้น (มั้ง) ลักษณะการใช้งานเป็นแบบเดียวกับแอปพลิเคชันสติ๊กเกอร์ต่าง ๆ แต่ Clips จะดึงความสามารถของ TrueDepth ออกมาได้เต็มที่ มีความเนียนในการประกอบฉากหลังกับตัวแบบได้ดีกว่า แล้วก็สามารถแชร์ขึ้นโซเชียลมีเดียได้ทั้งภาพนิ่งและวีดีโอ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า iPhone X
Performance
ประสิทธิภาพของ iPhone X ไม่น่าจะใช่ปัญหาของสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ ด้วยชิปประมวลผลสำหรับสมาร์ทโฟนที่แรงที่สุดในท้องตลาด ณ ตอนนี้อย่าง Apple A11 Bionic ที่ไม่ได้มีดีแค่ความแรง แต่ยังประกอบไปด้วยระบบความคิดแบบนิวรอล คือฮาร์ดแวร์ที่ได้รับการพัฒนาสำหรับการเรียนรู้ของระบบ ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ iPhone X สามารถเรียนรู้จากการเฝ้าสังเกต
โดยนิวรอลใน iPhone X ออกแบบมาให้สามารถรู้จำได้ทั้งผู้คน สถานที่ และวัตถุ อีกทั้งยังสามารถจัดการกับงานด้านการเรียนรู้ของระบบได้เร็วถึง 6 แสนล้านรายการต่อวินาที และยังเป็นตัวแปรสำคัญในการทำงานของ Face ID และ Animoji
นอกจากระบบคิดแบบนิวรอลใน Apple A11 Bionic ชิปประมวลผลแบบ 6 Core แล้ว ในการประมวลผลของ iPhone X ก็ยังคงเป็นการประมวลผลแบบแยกส่วน ที่แบ่งเป็นการประมวลผลหนัก (2 Core) และการประมวลผลแบบประหยัดพลังงาน (4 Core) ทำให้ในด้านการจัดการพลังงาน Apple เคลมว่า iPhone X จะใช้งานได้นานกว่า iPhone 7 ถึง 2 ชั่วโมง ต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง ส่วนในการใช้งานจริง iPhone X ไม่ใช่สมาร์ทโฟนที่ใช้งานได้หมดวันโดยไม่ต้องชาร์จไฟครับ ถึงแม้ว่าระบบการจัดการพลังงานจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นจุดบอดของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้คือมันมีแบตเตอรี่ความจุน้อยเกินไปนั่นเอง
สิ่งที่ Apple ใส่เข้ามาชดเชยความน้อยของความจุแบตเตอรี่คือระบบชาร์จเร็ว และการชาร์จไร้สาย สรุปง่าย ๆ คือทำให้มันชาร์จไฟได้ง่ายขึ้น จะได้ใช้งานได้หมดวัน โดย iPhone X รองรับการชาร์จเร็วมาตรฐาน USB-PD (Power Delivery) แต่ต้องซื้ออะแดปเตอร์แยก เพราะที่แถมมาให้เป็นอะแดปเตอร์ 5W และไม่ใช่แค่อะแดปเตอร์ที่ต้องซื้อแยก สายชาร์จก็ต้องซื้อเพิ่มเช่นกัน เนื่องจากการชาร์จเร็วมาตรฐาน USB-PD จำเป็นต้องใช้สายชาร์จแบบ USB-C to Lightning ราคา 890 บาท กับที่ชาร์จถ้าของ Apple จะเป็นรุ่น USB-C Power Adapter 29W สนนราคา 1,700 บาท รวม ๆ แล้วสำหรับการชาร์จเร็ว ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 2,590 บาท
ข้อดีของการเลือกใช้มาตรฐาน USB-PD ก็คือสามารถใช้อะแดปเตอร์จาก 3rd Party ได้ครับ อย่างตอนนี้ผมก็ใช้ iPhone X ร่วมกับอะแดปเตอร์ Innergie PowerJoy 30C ที่รองรับการชาร์จเร็วมาตรฐาน USB-PD สนนราคา 1,490 บาท ระยะเวลาในการชาร์จเท่าที่ทดสอบเทียบกับอะแดปเตอร์ของ Apple ก็ทำได้ในระดับเดียวกัน คือใช้เวลา 30 นาที ชาร์จไฟได้ประมาณ 55% เร็วกว่าการชาร์จด้วยหัวชาร์จที่แถมมาในกล่องเกือบ 2 เท่า
สำหรับการชาร์จไร้สาย iPhone X รองรับการชาร์จไร้สายมาตรฐาน Qi ข้อดีคือมีแท่นชาร์จไร้สายมาตรฐานดังกล่าววางจำหน่ายหลายรุ่น หรือถ้าจะใช้ของ Apple ก็ต้องรอ AirPower วางจำหน่าย โดย AirPower จะรองรับการชาร์จไร้สายพร้อมกัน 3 อุปกรณ์ แต่ก็มีราคาที่แพงเอาเรื่อง คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 8,000 บาท ส่วนตัวผมใช้แท่นชาร์จไร้สายของ Mophie รุ่น Wireless Charging Base สนนราคา 2,790 บาทอยู่ ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี เพราะชาร์จได้เร็วกว่าแท่นชาร์จทั่วไป ด้วยอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้เกือบ 30W แต่ก็มีราคาที่สูงกว่าพอสมควร