Virtual RAM ฟีเจอร์ขยายหน่วยความจำบนสมาร์ทโฟน ที่ผู้ผลิตหลายๆ รายเริ่มโฆษณาและปล่อยให้ผู้ใช้ได้เปิดใช้งานกันนั้น เชื่อว่ามีหลายๆ ท่านกำลังสับสนอยู่ว่ามันคืออะไร เปิดใช้ดีไหม ในวันนี้เราขอแถลงไขให้ทุกท่านได้หายข้องใจกัน
ในปี 2022 นี้นั้นเชื่อว่าทุกๆ ท่านที่ซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่จะได้เห็นโฆษณาหนึ่งที่ทางผู้ผลิตพยายามนำเสนอให้เราๆ ท่านๆ ซึ่งเป็นผู้ใช้ได้เกิดข้อสงสัยกันว่าควรจะใช้มันหรือไม่ ฟีเจอร์ดังกล่าวนั้นก็คือฟีเจอร์ขยายหน่วยความจำบนสมาร์ทโฟนหรือ Virtual RAM ที่ในทางทฤษฏีนั้นผู้ใช้ที่ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์มาก่อนจะคุ้นเคยกันมาก่อนหน้านี้มาอย่างยาวนานแล้ว
แน่นอนว่าเมื่อมีของใหม่มาให้เปิดใช้งานหลายๆ ท่านก็คงตั้งคำถามกันขึ้นมาว่าเจ้าฟีเจอร์ดังกล่าวนี้นั้นควรจะเปิดใช้งานดีหรือไม่ แล้วถ้าเปิดใช้งานขึ้นมาแล้วนั้นมันจะส่งผลอย่างไรกับการใช้งานของสมาร์ทโฟนเรา ในวันนี้นั้นเราขออธิบายหลักการทำงานของเจ้าฟีเจอร์ดังกล่าว(ที่หลายๆ ผู้ผลิตใช้ชื่อแตกต่างกันไปแต่จริงๆ แล้วมันก็คือการทำ Virtual RAM เหมือนกัน) ให้ทุกท่านได้ทราบกัน เชื่อว่าหลังจากที่อ่านบทความนี้จนจบแล้วนั้นท่านจะมีคำตอบให้กับตัวเองอย่างแน่นอนว่าจะเปิดใช้ฟีเจอร์ดังกล่าวบนสมาร์ทโฟน(หรือแท็บเล็ต) ของท่านหรือไม่
- Virtual RAM คืออะไร
- Virtual RAM มีหลักการณ์ทำงานอย่างไรบนระบบปฏิบัติการณ์ Android
- Virtual RAM มีประโยชน์กับสมาร์ทโฟนของคุณหรือไม่
- Virtual RAM ทำไมถึงพึ่งจะมีมาเอาตอนนี้
Virtual RAM คืออะไร
ก่อนอื่นเลยนั้นเราต้องเข้าใจกันก่อนว่าเจ้าฟีเจอร์ขยายหน่วยความจำหรือ Virtual RAM บนสมาร์ทโฟนนั้นคืออะไร อย่างที่ได้บอกเอาไว้ในตอนต้นแล้วว่าฟีเจอร์ดังกล่าวนั้นก็คือ Virtual RAM แบบเดียวกับที่เครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งาน ซึ่งนั่นก็คือการานำเอาแหล่งเก็บข้อมูลส่วนหนึ่งมากันเอาไว้สำหรับเป็นพื้นที่ในการเก็บแอปพลิเคชันที่เปิดใช้งานค้างไว้
โดยปกติแล้วนั้นบนเครื่องสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจะมาพร้อมกับหน่วยความจำ(RAM หรือ Random Access Memory) เพื่อทำหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลที่เราจะต้องประมวลผลบ่อยๆ สำหรับเอาไว้ใช้ส่งไปยังชิปเซ็ทเพื่อประมวลผลหรือชิปต่างๆ เพื่อใช้ในการประมวลผลเพื่อที่จะทำงานได้ง่ายขึ้น ทว่าหากลองสังเกตกันดูดีๆ แล้วนั้นจะเห็นได้ว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปนั้นจะมาพร้อมกับหน่วยความจำไม่มากเท่าไรนักโดยในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 4GB – 8GB ในเครื่องราคาระดับล่างไปจนถึงระดับกลาง
หน่วยความจำ(จริงๆ หรือ RAM) นั้นจะมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่สูงเอามากๆ ทว่านั่นก็แลกตามมาด้วยราคาค่าตัวที่สูงขึ้นตามไปด้วยดังนั้นแล้วเราจึงไม่ค่อยได้เห็นสมาร์ทโฟนในระดับกลางมาพร้อมกับหน่วยความจำที่มากกว่า 8GB กันสักเท่าไรนัก เพราะมันจะทำให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมีราคาที่สูงมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง วิธีหนึ่งที่สามารถจะช่วยได้ก็คือการเอาแหล่งเก็บข้อมูลบางส่วนแบ่งมาเป็นหน่วยความจำเสมือนหรือ Virtual RAM นั่นเอง
คำถามต่อมาก็คือทำไมผู้ผลิตสมาร์ทโฟนพึ่งจะมาเพิ่มฟีเจอร์ Virtual RAM กันในช่วงปี 2021 – ปัจจุบันนี้ สาเหตุนั้นก็มาจากการที่แหล่งเก็บข้อมูลของสมาร์ทโฟนในสมัยก่อนนั้นมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่ค่อนจะต่ำเอามากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเอาไปเทียบกับความเร็วของหน่วยความจำจริงๆ แล้วนั้นเรียกได้ว่าเหมือนเต่ากับกระต่ายเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่นหน่วยความจำแบบ LPDDR4 ความเร็วบัส 1,600 MHz นั้นจะมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลสูงมากถึง 3,200 MT/s ในขณะที่แหล่งเก็บข้อมูลที่เร็วที่สุดในปัจจุบันอย่าง UFS 3.1 นั้นจะมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลอยู่ที่ 2,100 MB/s เท่านั้น
อีกเหตุผลหนึ่งนั่นก็คือการที่จะต้องเสียแหล่งเก็บข้อมูลภายในบางส่วนไปทำเป็น Virtual RAM ทำให้สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับแหล่งเก็บข้อมูลภายในไม่มากนักอย่าง 64GB อาจจะไม่ค่อยคุ้มเท่าไรหากจะต้องเสียพื้นที่แหล่งเก็บข้อมูลไปอีก 4GB เพื่อที่จะเอาไปใช้ทำงานเป็น Virtual RAM
และถึงจะไม่มี Virtual RAM นั้นในอดีตที่ผ่านมาพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตก็มักไปจะไปในทิศทางเดียวกันซึ่งนั่นก็คือผู้ใช้มักจะไม่ได้เปิดใช้งานแอปพลิเคชันจำนวนมากมายแล้วสลับใช้งานไปมามากนักเนื่องด้วยในอดีตที่ผ่านมานั้นยังคงมีจำนวนแอปพลิเคชันไม่มากเท่าไรนัก ทว่าในปัจจุบันนี้นั้นรูปแบบการใช้งานนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม และที่สำคัญที่สุดก็คือจำนวนแอปพลิเคชันที่เราๆ ท่านๆ ใช้งานนั้นก็มีมากขึ้นและมีข้อมูลวิจัยเผยออกมาแล้วว่าพฤติกรรมการใช้งานในปัจจุบันของผู้ใช้งานนั้นมักจะนิยมเปิดแอปพลิเคชันสลับไปมาเป็นเรื่องปกติ(ตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่นผู้ที่ถ่ายคลิปลง Tik Tok น่าจะทราบกันดีว่าการสลับแอปพลิเคชันไปมาเพื่อถ่ายคลิป แต่งคลิป ฯลฯ ต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร)
ด้วยปัจจัยดังกล่าวดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น ทางผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์จึงได้ทำการเพิ่มฟีเจอร์ Virtual RAM มาให้ผู้ใช้สามารถเลือกทำการเปิดได้หากต้องการโดยผู้ผลิตแต่ละรายนั้นจะเรียกชื่อฟีเจอร์ดังกล่าวนี้ไม่เหมือนกันเช่น Samsung ใช้ชื่อว่า Ram Plus, Realme ใช้ชื่อว่า Dynamic RAM Expansion หรือ Vivo กับชื่อ Virtual RAM เป็นต้น
Virtual RAM มีหลักการณ์ทำงานอย่างไรบนระบบปฏิบัติการณ์ Android
การทำงานของ Virtual RAM บนระบบปฏิบัติการณ์ Android นั้นจะมีจุดที่แตกต่างไปจาก Virtual RAM บนเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เล็กน้อย โดยหากพูดถึงหน่วยความจำตามระบบปฏิบัติการณ์ Android แล้วนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ RAM, ZRAM และ Storage ซึ่งแต่ละส่วนนั้นจะมีลักษณะในการทำงานดังต่อไปนี้
- RAM ก็คือหน่วยความจำหลักของตัวเครื่องอย่างเช่น 3GB, 4GB, 6GB ไปจนถึง 12GB เป็นต้น เจ้า RAM นี้นั้นจะมีหน้าที่เก็บข้อมูลที่เราจะส่งไปประมวลผลที่หน่วยประมวลผล(CPU รวมทั้งข้อมูลที่ต้องการการประมวลผลทางด้านกราฟิกที่ GPU) และเก็บผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลไปเก็บไว้ที่ Storage หรือแหล่งเก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง โดยยิ่งมีหน่วยความจำมากก็ยิ่งทำให้เราสามารถที่จะส่งข้อมูลจากแหล่งเก็บข้อมูลไปประมวลผลและส่งกลับไปแสดงผลได้มากขึ้นตามลำดับ
- zRAM เป็นส่วนหนึ่งของ RAM ที่ถูกกันขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการเก็บข้อมูลแอปพิลเคชันที่กำลังประมวลผลและแสดงผลอยู่ ณ ปัจจุบัน เจ้า zRAM นี้นั้นจะแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของ RAM มาเอาไว้ใช้สำหรับรันแอปพลิเคชันที่กำลังทำงานนั้นๆ อยู่ ตัวอย่างเช่นหากคุณกำลังเปิดแอปพลิเคชัน Facebook อยู่ ข้อมูลของการประมวลผลต่างๆ จากแอปพลิเคชัน Facebook นั้นจะถูกเก็บเข้าไปอยู่บน zRAM เพื่อที่จะทำให้คุณสามารถใช้งานแอปพลิเคชัน Facebook ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ zRAM นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ RAM โดยตรง ดังนั้นหากผู้ผลิตกำหนดให้ zRAM ของคุณมีขนาดอยู่ที่ 2GB นั่นหมายความว่า RAM ของคุณจะถูกแบ่งพื้นที่ขนาด 2GB มาเอาไว้ให้สำหรับเก็บแอปพลิเคชันที่มีการประมวลผลตลอดเวลานั้นๆ อยู่ตลอดเพื่อความรวดเร็ว ตามหลักการณ์นี้หาก RAM ของคุณมีขนาด 6GB นั่นหมายความว่า RAM ของคุณจะเหลือพื้นที่อีก 4GB สำหรับเก็บข้อมูลของแอปพลิเคชันที่รันอยู่ในพื้นหลัง โดยปกติแล้วนั้น zRAM นั้นมักจะไม่ค่อยถูกเปิดใช้งานมากเท่าไรนักสำหรับสมาร์ทโฟนที่มีหน่วยความจำมากๆ ตั้งแต่ 8GB ขึ้นไป(ในสมัยก่อนที่พฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้จะเปลี่ยนไป)
- Storage หรือแหล่งเก็บข้อมูลภายในปกติแล้วในอดีตจะถูกเอาไว้ใช้สำหรับเก็บพักข้อมูลที่ไม่ได้ใช้งานหรือข้อมูลที่ระบบปฏิบัติการคิดว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้งานในอีกช่วงเวลาอันใกล้แล้ว ตัวอย่างเช่นภายที่ได้จากการถ่ายรูปหรือแอปพลิเคชันที่คุณได้ทำการปิดการใช้งานอย่างถาวรไปเป็นที่เรียบร้อย(Force Close)
หลักการณ์ใช้งาน RAM ของระบบปฏิบัติการณ์ Android นั้นจะแบ่งพื้นที่การเก็บข้อมูลใน RAM เป็นส่วนๆ โดยแต่ละส่วน(pages) จะมีขนาดพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลอยู่ที่ 4KB ซึ่งเจ้าส่วนการเก็บข้อมูลหรือ pages นี้นั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ
- Clean pages หรือส่วนเก็บข้อมูลที่ไม่จำเป็นจะต้องถูกนำเอาไปใช้ในการประมวลผลอีก
- Dirty pages หรือส่วนเก็บข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลมาเสร็จเรียบร้อยแล้วและยังคงต้องกลับไปประมวลผลใหม่อีกเรื่อยๆ
ข้อมูลที่ถูกเก็บใน Dirty pages นั้นสามารถที่จะถูกนำไปใช้งานในการประมวลผลอื่นๆ ได้อีกซึ่งทำให้ข้อมูลดังกล่าวนี้นั้นสามารถที่จะเปลี่ยนค่าไปมาได้ตลอดเวลา แน่นอนว่าหากเราใช้งานแอปพลิเคชันมากขึ้นข้อมูลในส่วนของ Dirty pages นั้นก็จะมีมากขึ้นจนตัวระบบปฏิบัติการณ์ Android จะทำการเคลียร์ข้อมูลใน Clean pages ออกไปเก็บไว้ในแหล่งเก็บข้อมูลเพื่อเปลี่ยนให้ Clean pages มาทำหน้าที่เป็น Dirty pages แทน
ดูเหมือนว่าจะเข้าใจยาก งั้นขออธิบายให้เข้าใจโดยยกตัวอย่างจากการใช้งานจริงตามลำดับดังต่อไปนี้
- ผู้ใช้เปิดใช้งานแอปพลิเคชัน Facebook เพื่อใช่งาน ในการประมวลผลต่างๆ นั้นจะเก็บข้อมูลสำหรับประมวลผลเอาไว้ที่ Dirty pages
- เมื่อผู้ใช้ปัดแอปพลิเคชัน Facebook ทิ้งไปกลับมาที่หน้าจอหลัก ระบบปฏิบัติการณ์ Android จะถือว่า ณ เวลานั้นแอปพลิเคชัน Facebook ไม่ได้ใช้งานเป็นหลักแล้วจึงได้มีการเอาข้อมูลใน Dirty pages ตอนแรกไปเก็บไว้ใน Clean pages แทนเพื่อที่จะรอให้ผู้ใช้สามารถเรียกกลับมาใช้งานได้ใหม่อย่างรวดเร็ว
ทีนี้ลองคิดดูว่าในปัจจุบันพฤติกรรมการใช้งานของเราๆ ท่านๆ นั้นแตกต่างไปจากเดิมซึ่งนั่นก็คือเราไม่ได้ใช้งานแอปพลิเคชันใดแอปพลิเคชันหนึ่งเพียงแอปเดียวเท่านั้นแต่เรามีการใช้งานหลายๆ แอปพลิเคชันตลอดเวลาดังนั้นแล้วหน่วยความจำทั้งในรูปแบบ Clean pages และ Dirty pages ก็จะเต็มอย่างรวดเร็ว นั่นเลยกลายเป็นที่มาของการใช้งาน Virtual RAM ที่นำเอาแหล่งเก็บข้อมูลภายในส่วนหนึ่งมาทำหน้าที่เป็นหน่วยความจำเสมือนโดยจะทำการสร้างพอร์ทิชันใหม่ขึ้นมาอันหนึ่งให้เสมือนกับเป็น zRAM ในการทำงานนั่นเอง(เพราะ zRAM นั้นคือส่วนของหน่วยความจำแรกที่ระบบปฏิบัติการ Android จะนำเอา Clean pages ไปเก็บเอาไว้เพื่อที่จะได้เรียกมาใช้งานได้อีกได้อย่างรวดเร็ว)
Virtual RAM มีประโยชน์กับสมาร์ทโฟนของคุณหรือไม่
เมื่อมาถึงจุดนี้นั้นกับคำถามที่ถามขึ้นมาว่า Virtual RAM มีประโยชน์หรือไม่ ก็ต้องตอบเลยว่ามันมีประโยชน์ในระดับหนึ่งและเฉพาะกับผู้ใช้บางกลุ่มเท่านั้นด้วยเหตุผล 2 ประการณ์ดังต่อไปนี้
- ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนตั้งแต่ในระดับกลางขึ้นไปนั้นหันยมาใช้แหล่งเก็บข้อมูลที่อัตราการโอนถ่ายข้อมูลที่เร็วมากขึ้นกว่าเดิมแล้วเช่น UFS 2.X ขึ้นไป ดังนั้นในการเรียกข้อมูลกลับมาใช้งานจากส่วนของ Virtual RAM จึงมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่าสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ Virtual RAM มักจะมีแหล่งเก็บข้อมูลภายใน 128GB ขึ้นไป ซึ่งการสละพื้นที่ประมาณ 4GB ไปทำเป็น Virtual RAM นั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียอะไรแต่อย่างใด ทว่านั่นหมายถึงคุณจะต้องใช้สมาร์ทโฟนที่อยู่ในระดับกลางที่มีราคาขึ้นต่ำก็ 7,xxx บาทขึ้นไปเท่านั้น
- Virtual RAM ตอบโจทย์วิถีการใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ในปัจจุบันที่ใช้แอปพลิเคชันสลับไปมาได้เป็นอย่างดีเพราะมันช่วยให้คุณใช้เวลาในการเปิดสลับแอปพลิเคชันน้อยลงกว่าเดิมหากเทียบกับสมาร์ทโฟนที่ไม่มีฟีเจอร์ Virtual RAM
ใช่ว่าฟีเจอร์ Virtual RAM นั้นจะมีแต่ข้อดี เพราะจริงๆ แล้วนั้นข้อเสียของมันนั้นก็มีอยู่มากเช่นเดียวกันเช่น
- หากแหล่งเก็บข้อมูลภายในของคุณมีการเก็บข้อมูลมากกว่า 50% ของพื้นที่แหล่งเก็บข้อมูลทั้งหมดแล้ว นั่นหมายความว่าการเรียกใช้งานข้อมูลต่างๆ ที่อยู่บนแหล่งเก็บข้อมูล(รวมไปถึง Virtual RAM) จะช้ามากอย่างเห็นได้ชัด และยิ่งหากใช้งานนานๆ ไปแล้วคุณจะยิ่งเห็นความช้าอย่างรุ่นแรงจนทำให้คุณต้องเปิดปิดเครื่องใหม่เพื่อเคลียร์ RAM และ Virtual RAM กันเลยทีเดียว
- แน่นอนว่าหากคุณเปิดใช้งานฟีเจอร์ Virtual RAM นั่นย่อมทำให้คุณเสียพื้นที่ในการเก็บข้อมูลส่วนหนึ่งของแหล่งเก็บข้อมูลไปโดยปริยาย
- ฟีเจอร์ Virtual RAM ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่มาพร้อมกับหน่วยความจำ(RAM) ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 12GB ไปจนถึง 16GB
- ที่โหดร้ายที่สุดนั้นก็คือฟีเจอร์ Virtual RAM จะทำให้เกิดการอ่านและเขียนข้อมูลลงบนแหล่งเก็บข้อมูลภายในของคุณอยู่ตลอดเวลาซึ่งนั่นมีผลทำให้แหล่งเก็บข้อมูลของคุณเสื่อมสภาพเร็วมากขึ้นกว่าปกติไปด้วย
Virtual RAM ทำไมถึงพึ่งจะมีมาเอาตอนนี้
เอาจริงๆ แล้วฟีเจอร์ Virtual RAM นี้นั้นไม่ได้พึ่งจะมีมาให้ได้ใช้งานกันเพราะผู้ใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ทำการ Root เครื่องนั้นสามารถที่จะโหลดแอปพลิเคชันสำหรับสร้าง Virtual RAM มาไว้ใช้งานกันได้นานแล้ว แต่สาเหตุที่ทางผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตพึ่งจะใส่ฟีเจอร์ดังกล่าวมาให้เราๆ ท่านๆ ได้ใช้งานกันได้เลยโดยไม่ต้อง Root เครื่องให้เสี่ยงกับความปลอดภัยนั้นก็เนื่องมาจากว่าขนาดของแอปพลิเคชันในปัจจุบันนั้นมีขนาดใหญ่มากขึ้นแถมแอปพลิเคชันต่างๆ เหล่านั้นยังมีความต้องการการใช้งานทรัพยากรของเครื่องมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก การที่ผู้ผลิตยอมใส่ฟีเจอร์ดังกล่าวนี้เข้ามาก็เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเพิ่มขนาดหน่วยความจำแบบทันทีทันใดซึ่งหากทำเช่นนั้นแล้วราคาตัวเครื่องสมาร์ทโฟนก็จะขยับขึ้นตามไปด้วยอย่างเสียมิได้
สำหรับทุกท่านนั้นคงต้องพิจารณารูปแบบการใช้งานของตัวเองว่ามีการเปิดหรือโหลดแอปพลิเคชันมาเก็บเอาไว้ในเครื่องมากน้อยเพียงใด และพฤติกรรมการใช้งานดังกล่าวนั้นจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเปิดใช้ฟีเจอร์ Virtual RAM นี้ สิ่งหนึ่งที่อยากเตือนไว้ก็คือแหล่งเก็บข้อมูลภายในของสมาร์ทโฟนนั้นมีอายุการใช้งานของมันอยู่(เหมือนกับ SSD บนเครื่องคอมพิวเตอร์) ยิ่งใช้งานอ่านเขียนมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้เสื่อมสภาพเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากท่านอาจจะลองเปิดใช้งานดูก็ไม่เสียหลายแต่ทางทีดีแล้วนั้นควรพิจารณาจากรูปแบบการใช้งานของเราเองจะดีที่สุด
หมายเหตุ – จากข้อมูลนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่ติดตามการพัฒนาแอปพลิชันบนระบบปฏิบัติการณ์ Android ได้มีการเผยข้อมูล(ในลักษณะการคุยกันเองในเว็บไซต์กลุ่มผู้พัฒนา) ว่าบน Android 12 นั้นได้มีการพัฒนาเรื่องของการเปิดใช้งานแอปพลิเคชันใช้งานจำนวนมากได้เป็นอย่างดี บางความเห็นได้บอกเอาไว้ว่าฟีเจอร์ Virtual RAM นั้นอันที่จริงแล้วก็แทบจะไม่จำเป็นเลยหากใช้งานบนสมาร์ทโฟนทั่วไป แต่จะเห็นได้ชัดเจนมากกว่าหากมีการใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในรูปแบบ Desktop Mode(เหมือนกับระบบปฏิบัติการ Windows)
ที่มา : digitaltrends