[Review] Strontium ทั้ง USB-OTG และ MicroSD ไล่ตั้งแต่ 8,16 ถึง 64 GB ตัวแรง

Review-Strontium-MicroSD-Nitro-SpecPhone-001

หนึ่งในอุปกรณ์เสริมที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมักจะต้องหาซื้อมาใช้กันก็คือตัวเมม MicroSD โดยจุดประสงค์หลักๆ เลยก็คือเพื่อเอามาใส่ในเครื่อง สำหรับเพิ่มหน่วยความจำให้จุไฟล์ได้เยอะขึ้น เพราะมือถือบางรุ่นนี่ให้รอมมาน้อยจนแทบจะใช้งานไม่เพียงพอ และในช่วงหลังมานี้ MicroSD ก็มีราคาถูกลงมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะรุ่นที่มีความเร็ว มีคลาสสูงๆ ก็ลดราคาลงมาจนสามารถซื้อหามาใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วย

ส่วนอีกหนึ่งรูปแบบของหน่วยความจำที่เริ่มเป็นที่นิยมก็คือจำพวก flashdrive ที่มีหัว Micro USB สำหรับใช้งานร่วมกับมือถือในแบบ USB-OTG เพราะมันช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนไฟล์ข้อมูลได้มากจริงๆ จากที่แต่ก่อนเราต้องมาเสียบสายต่อคอมเข้ากับมือถือเพื่อโอนไฟล์ ก็กลายเป็นว่าเราสามารถเสียบ flashdrive เข้ากับมือถือได้โดยตรง ก็อปไฟล์ที่ต้องการได้เลย ประกอบกับมือถือ Android หลายๆ รุ่นตอนนี้รองรับการใช้งาน USB-OTG กันแล้วด้วย ทำให้อุปกรณ์จำพวก USB-OTG เป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งในครั้งนี้เราก็มีอุปกรณ์ทั้งสองแบบมารีวิวให้ได้ชมกันครับ ได้แก่

  • Strontium NITRO USB-OTG 8 GB ราคา 230 บาท
  • Strontium NITRO 433X MicroSDHC UHS-1 16 GB ราคา 420 บาท
  • Strontium NITRO 566X MicroSDXC UHS-1 64 GB ราคา 2,400 บาท

เรามาทำความรู้จักกันไปทีละตัวแล้วกันนะ

 

Strontium NITRO USB-OTG 8 GB

Review-Strontium-MicroSD-Nitro-SpecPhone-002

ตัวแรกนี้ก็จะเป็น flashdrive ที่เป็นแบบ USB-OTG ในตัว ซึ่งจะมีหัวเชื่อมต่อสองด้าน ด้านนึงเป็น USB 2.0 ขนาดปกติ สามารถใช้งานร่วมกับช่อง USB ของคอมพิวเตอร์ ส่วนอีกด้านจะเป็นหัว Micro USB ที่สำหรับใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนครับ แพ็คเกจก็มาในสีเหลือง สังเกตเห็นได้ง่าย รับรองว่าเห็นชัดแน่นอน แม้จะแขวนบนแผงที่มีหลายๆ ยี่ห้อรวมกันก็เถอะ ตัวแพ็คเกจจะมีเขียนระบุไว้ชัดเจนเลยว่าสำหรับใช้งานร่วมกับมือถือและแท็บเล็ตได้ ซึ่งมือถือและแท็บเล็ตนั้น จะต้องมีฟีเจอร์ USB-OTG ด้วยเท่านั้นนะ?ถ้าเอาไปใช้ร่วมกับเครื่องที่ไม่รองรับ USB-OTG ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ดังนั้นเช็คข้อมูลกันดีๆ ก่อนซื้อด้วยล่ะ

st-1

วัสดุของ Strontium NITRO USB-OTG ตัวนี้ก็จะเป็นอลูมิเนียมครับ งานดีเลยล่ะ ดูแข็งแรงเอาเรื่องอยู่ ส่วนที่เห็นเป็นจุดๆ นูนขึ้นมานั้น เป็นจุดที่ช่วยให้ดึง flashdrive ออกได้ง่าย ไม่ลื่นมือ ทั้งนี้ในแพ็คเกจจะมีฝาปิดซึ่งเป็นพลาสติกสีดำ พร้อมกับสายร้อยให้มาด้วย ทำให้สะดวกต่อการพกพา เพราะสามารถร้อยไปกับพวงกุญแจก็ได้

เวลาเสียบกับมือถือ ก็ดูไม่เกะกะดีครับ เครื่องที่เราใช้ทดสอบคือ i-mobile IQ X Zeen ที่มีความหนาตัวเครื่องประมาณ 7.9 มิลลิเมตร ก็จะเห็นว่า flashdrive ดูบางกว่าตัวเครื่องเสียอีก เมื่อเสียบใช้งานแล้ว มือถือก็จะตรวจพบเป็นหน่วยความจำภายนอก และสามารถใช้งานได้ทันที ส่วนเวลาใช้งานกับคอมพิวเตอร์ ก็สะดวกมากๆ เพราะมันคือ flashdrive ธรรมดาๆ นี่ล่ะครับ เสียบปุ๊ป ใช้งานได้ทันที (กับคอมที่ใช้ระบบปฏิบัติการที่ใหม่กว่า Windows XP ขึ้นมา) ส่วนใครที่สงสัยว่า จะเสียบ flashdrive เข้ากับมือถือที่ช่อง Micro USB และเสียบกับคอมที่ช่อง USB พร้อมกันได้มั้ย? อันนี้ตอบได้เลยครับว่าไม่ได้ สามารถใช้งานได้ทีละช่อง ทีละอุปกรณ์เท่านั้น (ทีมงานทดลองไปแล้ว)

 

Strontium NITRO 433X MicroSDHC UHS-1

Review-Strontium-MicroSD-Nitro-SpecPhone-011

คราวนี้เป็น MicroSD กันบ้างละนะครับ กับ Strontium NITRO 433X ที่เป็นการ์ด MicroSDHC ซึ่งตัวของมาตรฐาน SDHC นี้จะใช้สำหรับการ์ดที่มีความจุสูงขึ้นมากว่า SD ปกติ (SDHC จุได้สูงสุด 32 GB) ซึ่งตรงส่วนนี้ก็เป็นเรื่องของการจัดการมาตรฐานตัวการ์ดไปแล้วกัน สำหรับมือถือในปัจจุบัน ถ้าเป็นรุ่นที่ออกมาในช่วง 2-3 ปีนี้ ส่วนใหญ่จะรองรับการ์ด MicroSDHC กันได้หมดอยู่แล้ว สังเกตง่ายๆ ว่ารุ่นไหนที่รองรับเมมตามสเปคสูงสุด 32 GB ก็ใช้งานการ์ดตัวนี้ได้สบายๆ ส่วนเรื่องมาตรฐานความเร็ว Strontium NITRO 433X MicroSDHC ตัวนี้มาในระดับ UHS-1 คลาส 10 ที่มีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลไม่ต่ำกว่า 10 MB/s

สำหรับคนที่งงว่า UHS-1 กับคลาส 10 นี่มันยังไง อันที่จริงแล้วทั้งสองตัวนี้ต่างก็เป็นตัวระบุอันดับของการ์ดหน่วยความจำทั้งคู่ครับ มีข้อแตกต่างกันคือระบบการทำงานจะต่างกันเล็กน้อย แต่สำหรับในการใช้งานจริง ผู้ใช้ทั่วไปอย่างเราๆ ไม่ต้องกังวลในจุดนี้เลย เพราะการ์ดที่เป็นไปตามมาตรฐาน UHS-1 ก็สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ที่รองรับการ์ดคลาส 10 ได้ ในทางกลับกันก็เป็นเช่นกันครับ เอาเป็นว่าถ้ามือถือ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ของเรารองรับการ์ด MicroSD คลาส 10 ได้ ก็ใช้การ์ดตัวนี้ได้เลย (อ้างอิงตามเว็บไซต์ผู้ระบุมาตรฐาน SD Card)

ส่วนเรื่องความเร็ว ที่ตัวแพ็คเกจเคลมไว้ว่าสามารถอ่านข้อมูลได้ความเร็วสูงสุด 65 MB/s เลย (จากการทดสอบในแล็ป) ซึ่งใช้งานจริงจะออกมาเป็นอย่างไร รอชมในส่วนของผลการทดสอบแล้วกันนะครับ

st-2

หน้าตาการ์ดนี้ก็จะใช้สีโทนหลักคือขาวกับเหลือง แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่มักจะใช้สีดำเป็นหลัก นอกจากในตัวแพ็คเกจจะมีการ์ด MicroSDHC มาให้แล้ว (ถ้าไม่มีซิแปลก) ก็ยังมี flashdrive สำหรับใช้งานกับทั้งคอมพิวเตอร์ และใช้งานกับมือถือ/แท็บเล็ตผ่าน Micro USB-OTG อีกด้วย ซึ่งในตัว flashdrive นี้จะไม่มีหน่วยความจำในตัวนะ เราต้องหา MicroSD มาเสียบเข้าไปในช่อง จึงจะสามารถใช้งานได้ สำหรับรูปแบบการใช้งานก็เหมือน flashdrive OTG ทั่วไปอย่างตัว 8 GB ด้านบนเลยครับ คุณสมบัติและข้อจำกัดเหมือนกันเป๊ะเลย โดยตัว flashdrive ที่ให้มานี้จะเป็นพลาสติกธรรมดา มีไฟ LED สีแดงแสดงสถานะการทำงานด้วย ถ้ามีการถ่ายโอนข้อมูลอยู่ ไฟก็จะกระพริบ

นอกจากนี้ Strontium NITRO 433X MicroSDHC ยังให้แอพพลิเคชันมาใช้งานฟรีๆ อีก นั่นคือแอพที่มีชื่อว่า MyBackup Pro ราคา $4.99 (ประมาณ 160 บาท)?ซึ่งเป็นแอพสำหรับสำรองและเรียกคืนข้อมูล โดยเป็นแอพที่ใช้งานได้เฉพาะบน Android เท่านั้นนะ ไว้รอชมในส่วนของรีวิวซอฟต์แวร์ด้านล่างนะครับ ซึ่งเจ้าแอพนี้ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ฟรีๆ นะ ต้องกรอกรหัส serial number ก่อนใช้งานด้วย (รหัสผูกกับบัญชีผู้ใช้ ที่ต้องสมัครเพิ่มก่อนใช้งาน) โดยตัวรหัสก็จะมีพิมพ์ติดมาให้กับแพ็คเกจครับ รหัสของแต่ละชิ้นไม่ซ้ำกัน แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้รหัสอันเดียวกับที่แถมมากับเมมก็ได้ รวมถึงสามารถยกรหัสไปให้คนอื่นใช้งาน โดยไม่ต้องให้เมมที่ซื้อมาให้ไปด้วยเช่นกัน ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ รหัสไม่ได้ผูกกับเมมจ้า สบายใจได้

 

Strontium NITRO 566X MicroSDXC UHS-1

Review-Strontium-MicroSD-Nitro-SpecPhone-022

มาถึงตัวสุดท้ายในรีวิวนี้ครับ กับ Strontium NITRO MicroSDXC 64 GB ซึ่งเจ้าตัวนี้มาพร้อมกับมาตรฐาน SDXC ที่ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือใช้เรียกพวกเมมโมรี่การ์ดที่มีความจุสูงกว่า 32 GB และมีระดับความเร็ว/การทำงานในระดับ UHS-1 ขึ้นไป ส่วนในเรื่องความเร็ว เจ้าตัวนี้ก็เป็นระดับคลาส 10 ครับ แต่เป็นคลาส 10 ที่เร็วกว่าตัวก่อนหน้านี้ สังเกตจากหน้ากล่อง มีการเคลมว่าสามารถทำความเร็วในการอ่านไฟล์ได้สูงสุดถึง 85 MB/s (ตามทฤษฎี)

แต่ก็ใช่ว่ามือถือทุกเครื่องในปัจจุบันจะสามารถใช้กับเมมตัวนี้ได้นะ เพราะต้องเป็นเครื่องที่รองรับการใช้งาน MicroSD สูงสุด 64 GB ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งโดยมากก็มักจะเป็นรุ่นที่มีราคาสูงพอสมควร (เครื่องราคาระดับหมื่นในปัจจุบัน ยังไม่รองรับกันทุกตัวเลย) ดังนั้น ก่อนจะซื้อมาใช้งาน แนะนำว่าควรตรวจสอบให้ดีๆ ครับ ว่าเครื่องที่ใช้งานอยู่ สามารถใส่เมม MicroSDXC 64 GB ได้หรือเปล่า

สำหรับในแพ็คเกจตัวนี้ จะมีแถมเป็น Card reader ที่ปลายด้านหนึ่งเป็นหัว USB สำหรับเสียบใช้งานกับคอมพิวเตอร์ ส่วนอีกชิ้นก็เป็นตัวแปลงให้กลายเป็น SD Card ตามปกติที่มักจะแถมมาให้อยู่แล้วครับ ส่วนถ้าใครอยากเอามาใช้งานแบบ USB-OTG คงต้องไปหาซื้อสาย USB-OTG มาซักเส้น ราคาไม่ถึงร้อย แล้วก็นำ MicroSD มาใส่กับ card reader ที่แถมมา แล้วค่อยต่อมันเข้ากับมือถือ/แท็บเล็ตอีกที

st-3

ภาพด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างการใช้งาน Strontium NITRO 566X MicroSDXC 64 GB ครับ ทั้งการใช้งานกับเครื่องมือถือจริง (ตัวเครื่องในภาพคือ Huawei Honor 6) และการใส่เมมลงใน card reader กับตัวแปลงเป็น SD Card เพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์ครับ

นอกจากนี้ ในแพ็คเกจก็มีแถมแอพ MyBackup Pro มาให้เหมือนกันนะ ใครอยากใช้ก็ติดตั้งแอพ กรอกเลข serial number จากนั้นก็ใช้งานได้เลย

 

แอพ MyBackup Pro

1

ทีนี้มาดูแอพ MyBackup Pro กันบ้างครับ ถ้าใครอยากใช้งาน ก็สามารถติดตั้งได้จากไฟล์ APK ที่แถมมาให้ในเมมได้เลย หรือถ้าเผลอลบ เผลอฟอร์แมตเมมไปแล้ว ก็สามารถดาวน์โหลดแอพ MyBackup Pro จาก Play Store ได้เช่นกัน

playstore

เมื่อเปิดแอพขึ้นมาครั้งแรก ก็จะพบกับป๊อปอัพให้เรากรอกข้อมูลเบื้องต้นก่อน ได้แก่รหัสผ่านกับอีเมลสำหรับสร้างบัญชีไว้ใช้ล็อกอินเพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูล ก็จัดการกรอกข้อมูลลงไปซะ จากนั้นก็จะเป็นป๊อปอัพแสดงเนื้อที่เก็บข้อมูลทั้งในเครื่องและในเมม ว่ามีอยู่เท่าไร และว่างพร้อมใช้งานอีกเท่าไร และก็มาถึงอีกป๊อปอัพที่สำคัญมากครับ นั่นคือช่องให้กรอก serial number เพื่อทำการแอคทิเวตให้สามารถใช้งานแอพได้ โดยเจ้ารหัสก็จะอยู่บนกระดาษที่พิมพ์ติดมากับแพ็คเกจพลาสติกภายในกล่องนี่ล่ะครับ เมื่อใช้ไปแล้ว จะไม่สามารถใช้งานได้อีก เพราะมันจะผูกกับบัญชีผู้ใช้งานของเราไปเลย

ส่วนถ้าใครสนใจจะโหลดแอพนี้มาใช้งาน แต่ไม่มีเลข serial number ก็สามารถกดซื้อสิทธิ์การใช้งานจากปุ่ม Market ได้เลย ราคา $4.99 หรือประมาณ 160 บาทครับ

สำหรับฟีเจอร์ของ MyBackup Pro หลักๆ ก็จะเป็นการสำรองข้อมูล เรียกคืนข้อมูลและถ่ายโอนข้อมูลจากเครื่องเก่ามาเครื่องใหม่ครับ ซึ่งผมก็ลองกดสั่งสำรองข้อมูล (New Backup) ดู ก็จะมีป๊อปอัพเด้งมาถามว่า ต้องการจะสำรองข้อมูลอะไร ระหว่าง แอพ/ไฟล์มีเดียต่างๆ อย่างพวกแอพ รูปถ่าย วิดีโอ เพลง หรือจะสำรองข้อมูลทั่วไป ซึ่งเจ้าข้อมูลทั่วไปนี้ ก็สามารถเก็บข้อมูลได้หลายประเภทมาก ได้แก่

  • รายชื่อผู้ติดต่อ
  • ประวัติการโทร
  • SMS/MMS
  • การตั้งค่าของระบบ การตั้งค่าหน้าโฮม
  • นาฬิกาปลุก
  • ปฏิทิน
  • การตั้งค่า APN

จะเห็นว่าค่อนข้างครบเลยทีเดียว เหมาะสำหรับใช้ย้ายข้อมูลจากเครื่องเก่าไปเครื่องใหม่มากๆ โดยนอกจากจะสำรองข้อมูลได้หลากหลายประเภทแล้ว ยังมีตัวเลือกอีกด้วยว่าจะเก็บไฟล์ที่ทำการสำรองไว้ในเมมเครื่อง หรือจะอัพโหลดขึ้น server ไปเลย แถมยังมีระบบการตั้งเวลาสำรองข้อมูลล่วงหน้าได้ด้วย จะให้เก็บข้อมูลทุกวัน หรือจะเป็นรายสัปดาห์ก็ได้เช่นกัน ทีนี้ก็ไม่ต้องมากังวลว่า เอ๊ะ เราแบ็คอัพข้อมูลในเครื่องไว้ยังนะ เพราะเราสามารถตั้งเวลาได้นี่ล่ะครับ นับว่าเป็นฟังก์ชันที่มีประโยชน์ดีนะ

นอกเหนือจากการทำงานในรูปแบบของแอพพลิเคชันบนมือถือแล้ว MyBackup Pro ยังมีในแบบหน้าเว็บอีกด้วย ซึ่งก่อนจะใช้งานได้ เราก็ต้องล็อกอินใช้งานด้วย PIN และรหัสผ่าน ซึ่ง PIN นี้จะมาจากการลงทะเบียนในการใช้งานแอพครั้งแรก โดยระบบจะส่งอีเมลมาแจ้งทั้ง PIN และรหัสผ่านครับ ตรงนี้ผมว่าไม่ค่อยโอเคเท่าไรนะ เพราะตามปกติแล้วมันไม่ควรจะแจ้งรหัสผ่านในรูปแบบตัวอักษรตรงๆ มาในอีเมลเลย เพราะถ้าถูกดักข้อมูล ก็เท่ากับว่าได้รหัสผ่านเราไปเต็มๆ ส่วนมากมักจะใช้แปะลิ้งค์มาเพื่อให้เข้าไปรีเซ็ตรหัสผ่านแล้วตั้งใหม่ซะมากกว่า เหมือนกับเวลาที่เรากดลืมรหัสผ่านตามหน้าเว็บต่างๆ นั่นล่ะครับ อันนี้จะค่อนข้างปลอดภัยกว่านะ

สำหรับการทำงานบนหน้าเว็บ เมื่อล็อกอินเข้ามาแล้ว ก็จะมีข้อมูลแจ้งให้เราทราบว่าพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ของเรามีอยู่เท่าไร เหลือเท่าไร โดยเบื้องต้นจะให้พื้นที่มา 100 MB เท่านั้น ซึ่งผมก็ลองสำรองข้อมูลรูปภาพบางส่วนเข้าไป เลยเหลือพื้นที่ให้เก็บ 98 MB เท่านั้น คิดว่าถ้าใครแบ็คอัพแอพ คงจะเต็มเร็วพอสมควรเลย ในข้อนี้ก็แก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการแบ็คอัพข้อมูลลงเมมอย่างเดียว ไม่แบ็คอัพแล้วอัพโหลดขึ้นเซิฟเวอร์ (หรือจะไปอัพโหลดขึ้นพื้นที่ cloud storage อื่นๆ ก็ได้ เห็นช่วงนี้แจกพื้นที่เพิ่มฟรีกันเพียบเลย)

ส่วนถ้าใครต้องการอัพโหลดข้อมูลขึ้นบนเซิฟเวอร์ของ MyBackup Pro แต่คิดว่าพื้นที่ไม่พอ ตรงจุดนี้ก็มีข้อที่ตอบโจทย์อยู่เหมือนกันครับ เพราะมันสามารถซื้อพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมได้ เริ่มตั้งแต่ 20 GB ในราคาพิเศษเพียง $2 (ประมาณ 60 บาท) ต่อเดือน ถ้าขี้เกียจให้มันหักเงินรายเดือนก็เลือกเป็นแบบ $15 (ประมาณ 490 บาท) ต่อเดือน ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนแล้วถูกกว่าซื้อแบบเดือนต่อเดือนพอสมควร ถ้าอยากจัดเต็มก็ 1,000 GB ในราคา $100 (ประมาณ 3,000 กว่าบาท) ต่อปี นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกซื้อพื้นที่แบบบวกๆ ขนาดกันได้ด้วย เช่น ถ้าอยากได้พื้นที่ซัก 60 GB ก็ให้เลือกเป็นแพลน 40 GB/เดือน + 20 GB/เดือนไปก็ได้ ถือว่าโอเคเลยในจุดนี้ สำหรับการจ่ายเงิน ก็จะเป็นการจ่ายผ่าน PayPal ครับ

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากก็คือ เราสามารถสั่งสำรองข้อมูลมือถือ จากบนหน้าเว็บในคอมได้ นั่นคือฟีเจอร์ Remote Backup ที่การทำงานก็จะเหมือนเวอร์ชันแอพเลยครับ เช่น เลือกได้ว่าจะสำรองข้อมูลประเภทไหนบ้าง แล้วเก็บไฟล์ไว้ที่ไหน ให้เก็บในเมม หรืออัพโหลดขึ้นมาบนเซิฟเวอร์เลย ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีมาก บางทีเรามีแผนจะแฟลชรอมแท็บเล็ตเป็นต้วใหม่ เลยอยากสำรองไฟล์ข้อมูลในแท็บเล็ตที่บ้าน?แต่นั่งทำงานอยู่ออฟฟิศ ก็สามารถกดสั่งได้ทันที ไม่ต้องรอกลับบ้านก่อนแล้วค่อยทำให้เสียเวลา เป็นต้น

 

ผลทดสอบความเร็ว

เริ่มต้นการทดสอบด้วยแอพ A1 SD Bench กันก่อน ซึ่งแอพนี้จะทดสอบได้เฉพาะหน่วยความจำในเครื่อง และแบบ MicroSD ที่ใส่ในเครื่องเท่านั้น ไม่สามารถทดสอบกับหน่วยความจำที่เชื่อมต่อแบบ USB-OTG ได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถทดสอบตัวความจุ 8 GB ที่เป็น flashdrive OTG ได้นะครับ ส่วนเครื่องที่ใช้ทดสอบก็มีดังนี้

คอมพิวเตอร์ (ใช้ทดสอบทุกตัว): Dell XPS 13 (2015)

เมม 8 กับ 16 GB: i-mobile IQ X Zeen

เมม 64 GB: Samsung Galaxy S III

 

ผลทดสอบ Strontium NITRO 433X MicroSDHC 16 GB

เครื่องที่ใช้ทดสอบ: i-mobile IQ X Zeen

ความเร็วในการอ่านข้อมูล: ประมาณ 18 MB/s

ความเร็วในการเขียนข้อมูล: ประมาณ 10 MB/s

 

เครื่องที่ใช้ทดสอบ: ASUS Fonepad 7 (FE171CG)

ความเร็วในการอ่านข้อมูล: ประมาณ 20 MB/s

ความเร็วในการเขียนข้อมูล: ประมาณ 10 MB/s

Screenshot_2015-02-18-19-35-06

ผลทดสอบความเร็ว Strontium NITRO 566X MicroSDXC 64 GB

เครื่องที่ใช้ทดสอบ: Samsung Galaxy S III

ความเร็วในการอ่านข้อมูล: ประมาณ 13 MB/s

ความเร็วในการเขียนข้อมูล: ประมาณ 13 MB/s

 

เครื่องที่ใช้ทดสอบ: ASUS Fonepad 7 (FE171CG)

ความเร็วในการอ่านข้อมูล: ประมาณ 22 MB/s

ความเร็วในการเขียนข้อมูล: ประมาณ 16 MB/s

 

เครื่องที่ใช้ทดสอบ:?Huawei Ascend Mate7

ความเร็วในการอ่านข้อมูล: ประมาณ 40 MB/s

ความเร็วในการเขียนข้อมูล: ประมาณ 13 MB/s

Screenshot_2015-02-19-14-11-19

คราวนี้เป็นการทดสอบการถ่ายโอนไฟล์ระหว่างมือถือกับตัวเมมกันบ้างครับ ซึ่งจะเป็นการทดสอบทั้งแบบการเชื่อมต่อ OTG และการใช้งานเป็น MicroSD ติดเครื่องจริงๆ ด้วยเลย โดยใช้ถ่ายโอนไฟล์ไปมา ไฟล์ที่ใช้เป็นไฟล์วิดีโอ ขนาดประมาณ 1 GB นิดๆ แล้วจับเวลาตั้งแต่เริ่มจนถ่ายโอนไฟล์เสร็จ ผลการทดสอบก็เป็นตามนี้เลยครับ

Screen Shot 2015-02-24 at 4.23.12 PM Screen Shot 2015-02-24 at 4.23.21 PM Screen Shot 2015-02-24 at 4.23.27 PM

เห็นเลยว่าตัว MicroSDXC 64 GB เร็วสุดครับ ซึ่งก็ควรจะเป็นแบบนั้นล่ะนะ

ปิดท้ายด้วยการทดสอบถ่ายโอนไฟล์ไปมาระหว่างเมมกับคอมพิวเตอร์ โดยใช้เครื่องทดสอบเป็น Dell XPS 13 (2015) กับช่อง USB 3.0 (แต่ตัวเมม เป็นแค่มาตรฐาน USB 2.0 นะ) ไฟล์ที่ใช้ก็เป็นไฟล์วิดีโอไฟล์เดิมครับ ขนาด 1 GB กว่าๆ ผลทดสอบความเร็วก็เป็นไปตามชุดภาพด้านล่างนี้เลย ซึ่งหลักๆ ก็จะใช้การเชื่อมต่อโดยผ่านช่อง USB ยกเว้นตัว 64 GB ตัวสุดท้าย ที่มีทั้งการเชื่อมต่อแบบ USB และใช้การ์ดตัวแปลงจาก MicroSD เป็น SD Card ขนาดปกติมาด้วย

 

Strontium NITRO USB-OTG 8 GB

8gb

 

Strontium NITRO 433X MicroSDHC 16 GB

16gb

 

Strontium NITRO 566X MicroSDXC 64 GB

64gb

สรุปปิดท้ายรีวิว

รวมๆ แล้ว ความเร็วก็ถือว่าอยู่ในระดับที่โอเคนะ ใช้งานทั่วไปได้สบาย ความเร็วถือว่าค่อนข้างวิ่งเต็มตามมาตรฐาน USB 2.0 อยู่ ความเร็วในการใช้งานกับมือถือก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้งานได้ดี และที่สำคัญ ยังมาพร้อมแอพสำรองข้อมูลอีก ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการ์ดหน่วยความจำที่คุ้มค่า คุ้มราคาที่จ่ายไป กับราคา 230, 420 และ 2,400 บาทตามลำดับครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก