เป็นเวลาเกือบ 5 ปีที่ Sony ใช้ปรัชญา Omnibalance ในการออกแบบสมาร์ทโฟนตัวตัวเองมาโดยตลอด แม้ว่าในช่วงหลังจะมีความเปลี่ยนแปลงบ้างใน Xperia XZ รุ่นแรก (Unified Design & Loop Surface) แต่ก็เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ความเหลี่ยม และความสมมาตรยังคงมีเหมือนเช่นเคย ไม่เหมือนอย่างสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุด Sony Xperia XZ2 ที่ Sony ตัดสินใจทิ้งดีไซน์แบบเดิมทิ้งไปจนสิ้น เพราะ Ambient Flow มันเหมือนโลกคู่ขนาดของดีไซน์สมาร์ทโฟน Sony รุ่นก่อน ๆ เลยล่ะครับ
ตอนที่ Sony เปิดตัว Xperia XZ2 ในงาน MWC 2018 ครั้งแรกที่เห็นดีไซน์ใหม่ ส่วนตัวผมแทบไม่เชื่อว่า Sony จะเปลี่ยนดีไซน์สมาร์ทโฟนจากหน้ามือเป็นหลังมือขนาดนี้ จากที่เมื่อก่อนสมาร์ทโฟน Sony จะต้องเป็นเหลี่ยมเป็นแท่ง แต่ Ambient Flow มันคือความพริ้วไหว เพราะฉะนั้นดีไซน์จึงออกมาอย่างที่ทุกคนได้เห็นกัน มีทั้งความโค้งมน รวมถึงสัมผัสของวัสดุก็ให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่ารุ่นก่อน ที่สำคัญคือ Sony Xperia XZ2 เป็นสมาร์ทโฟนที่จับได้เข้ามือมาก ๆ ด้วยตัวกระจกหลังแบบ 3 มิติ และรูปทรงแบบไร้ขอบ
สเปค Sony Xperia XZ2
- หน้าจอขนาด 5.7 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ HDR
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 845
- GPU Adreno 640
- Ram 4 GB
- ความจุ 64 GB
- กล้องหลัง Motion Eye ความละเอียด 19 ล้านพิกเซล f/2.0 ถ่ายวีดีโอ 4K HDR และ Full HD 960 fps ได้
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล เลนส์มุมกว้าง
- แบตเตอรี่ความจุ 3180 mAh รองรับ Quick Charge และระบบชาร์จไร้สาย
- รองรับการใช้งาน 4G LTE-A Pro Cat 18 (1200/150 Mbit/s)
- กันน้ำกันฝุ่นระดับ IP68
- ราคา 25,990 บาท
Design/ การออกแบบ
วัสดุประกอบไปด้วย 2 วัสดุหลัก ได้แก่ โลหะบริเวณขอบตัวเครื่อง และฝาหลังที่เป็นกระจก 3 มิติ ข้อดีของการใช้วัสดุเช่นนี้คือให้ความรู้สึกหรูหรา สมกับราคา 25,990 บาท เวลาเจอแสงก็ยิ่งสวย แต่จะมีข้อสังเกตตรงที่ฝาหลังเก็บรอยนิ้วมือ ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดของฝาหลังกระจกในสมาร์ทโฟนทุกรุ่นอยู่แล้ว
ข้อสังเกตอีกอย่างในส่วนของการออกแบบ คือมีน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 198 กรัม ส่วนเรื่องความหนา ถ้าวัดจากส่วนที่โค้งที่สุดเป็นหลังเต่าจะมีความหนาถึง 11.1 มิลลิเมตรเลยทีเดียว ตอนทดสอบเครื่องรีวิว Sony Xperia XZ2 ผมไม่ได้ใส่เคส คือจับเครื่องเปลือย ๆ 198 กรัม ก็ไม่ได้หนักอย่างที่คิด อาจเป็นเพราะมันจับได้เข้ามือ และเป็นสมาร์ทโฟนที่บาลานซ์น้ำหนักตัวเครื่องได้ดีมาก ทำให้ภาพรวมยังคงใช้งานได้สะดวกอยู่
แต่ความไม่สะดวกที่สุดก็คงเป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ที่ถูกย้ายมาด้านหลังตัวเครื่อง ถือเป็นสมาร์ทโฟนเรือธงตัวแรกของ Sony ที่ใส่เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไว้ด้านหลัง จากรุ่นก่อน ๆ ที่จะติดไว้บริเวณด้านข้าง ตรงปุ่ม Power โดยในเว็บไซต์ทางการของ Sony Mobile กล่าวไว้ว่า
“เซ็นเซอร์ลายนิ้วมืออยู่ที่ตำแหน่งธรรมชาติ เพื่อให้คุณสามารถปลดล็อกโทรศัพท์ของคุณ โดยไม่ต้องย้ายมือของคุณไปมา มีการจัดตำแหน่งกล้องไว้ใกล้กับศูนย์กลาง เพื่อใหุ้คุณสามารถถ่ายภาพได้เช่นมือโปร”
สัมผัสแรกที่ผมจับตัวเครื่องแล้วลองใช้งานเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ นิ้วเราต้องสั้นแค่ไหน? ถึงจะสามารถสแกนนิ้วที่อยู่กลางตัวเครื่องได้พอดิบพอดี และแน่นอนว่าตำแหน่งของการสแกนนิ้วครั้งแรก ไม่ใช่แค่ตัวผมเอง แต่แทบทุกคนที่จับครั้งแรก มันคือตำแหน่งของกล้องหลัง เอาเป็นว่าในการใช้งานช่วงแรก อาจจะต้องทำเช็ดความสะอาดรอยนิ้วมือที่กล้องหลังบ่อยหน่อยล่ะครับ
ส่วนดีไซน์ด้านอื่น ผมคิดว่าสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ทำออกมาได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะหน้าจอที่เป็นหน้าจอแบบ 18:9 ตามสมัยนิยม ทำให้มันมีขนาดหน้าจอใหญ่ถึง 5.7 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นหน้าจออัตราส่วน 18:9 เลยทำให้ขนาดตัวเครื่องพอ ๆ กับหน้าจอ 5.2 นิ้ว ของรุ่นที่เป็นหน้าจอ 16:9 แถมยังมีขอบหน้าจอที่บางลงจากเดิม
หน้าจอ Full HD+ ยังคงอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีที่มีใน Bravia เอาไว้เช่นเคย ไม่ว่าจะเป็น TRILUMINOS ที่มีบทบาทในการเพิ่มสีสันให้สวยงาม รวมถึง X-Reality for Mobile ที่ช่วยเพิ่มความคมชัดให้กับภาพ ซึ่งทั้งสองตัวนี้ Sony ก็มีใส่มาในมือถือของตนแทบจะทุกรุ่นอยู่แล้ว
เทคโนโลยีที่มีเพิ่มเข้ามา ได้แก่การแสดงผลแบบ HDR บนจอมือถือ ข้อดีที่ผู้ใช้งานจะได้รับก็คือ ภาพที่แสดงมีเฉดสีที่กว้างขึ้น รวมถึงภาพในส่วนที่เป็นแสงเงาหรือไฮไลท์ต่าง ๆ ก็มีความชัดเจนขึ้น ต่างจากจอมือถือทั่วไปที่อาจจะกลายเป็นแถบสีดำ หรือขาวสว่าง แต่เฉพาะการรับชมจากไฟล์ฟอร์แมต HDR10 หรือ HLG เท่านั้น ตรงนี้คนที่มองว่าโอกาสได้ใช้น้อย ผมว่าอาจจะได้ใช้บ่อยล่ะครับ เพราะฟีเจอร์เด่นของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้คือถ่ายวีดีโอ 4K HDR ได้นั่นเอง
Software/ ซอฟท์แวร์
ฝั่งซอฟต์แวร์ก็ยังคงใช้การออกแบบหน้าตาในรูปลักษณ์ที่คุ้นเคย ทำให้คนที่เคยใช้มือถือ Sony มาก่อนสามารถใช้งานต่อได้ทันที หรือถ้าหากเคยใช้ Android ยี่ห้ออื่นมาก่อนก็ปรับตัวได้ไม่ยากครับ เพราะหน้าตา เมนูต่าง ๆ จะใช้แกนหลักเป็นแบบของ Android มีปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางจุดบ้าง แต่ก็เล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนภายในมาพร้อมกับ Android 8.0 ซึ่งจัดว่าเป็นเวอร์ชันล่าสุด แพทช์ความปลอดภัย ณ เวลาที่เขียนรีวิวนี้ เป็นแพทช์ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2018 พูดกันตรง ๆ สำหรับสมาร์ทโฟน Sony เรื่องซอฟท์แวร์เป็นอะไรที่ไว้ใจได้เลย ทั้งการอัพเวอร์ชัน และแพทช์ความปลอดภัย รุ่นท็อป ๆ ส่วนมากจะได้ไปต่อ แล้วก็แพทช์ความปลอดภัยมีการอัพเดตจริง ไม่ได้ยัดไส้เปลี่ยนวันที่เหมือนบางยี่ห้อแน่นอน
พื้นที่เก็บข้อมูลภายในเครื่องหลังเปิดใช้งานครั้งแรก จะถูกระบบดึงไปใช้งานราวๆ 14.7 GB จากพื้นที่ตัวเครื่อง 64 GB ถ้าเป็นคนชอบถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ โดยเฉพาะวีดีโอด้วยเนี่ย จุดเด่นมันคือ 4K HDR ที่มีขนาดไฟล์ใหญ่พอสมควร รวมถึงการถ่ายสโลโม 960 fps ที่ความละเอียด Full HD อีก อาจจะต้องมองหา MicroSD เร็ว ๆ มาใช้ด้วยก็จะดี โดย MicroSD Card ที่เหมาะสมกับ Sony Xperia XZ2 อาจจะต้องซื้อตัวที่ราคาสูง ๆ หน่อย เช่น Sandisk Extreme หรือพวกการ์ดที่เป็น UHS 3 ขึ้นไป เพราะไม่อย่างนั้นเขียนข้อมูลไม่ทันแน่นอน
แอปติดเครื่องก็มีมาแต่พวกแอปจาก Google และแอปของ Sony เองเช่น Music, PlayStation, News, Lifelog, Movie Creator เป็นต้น
Feature/ ฟีเจอร์เด่น
Dynamic Vibration System
ระบบการสั่นสะเทือนแบบไดนามิกจะวิเคราะห์ข้อมูลระบบเสียง และทำการสั่นตามโทนเสียง ลักษณะคล้าย ๆ เวลาที่เปิดเพลงเบสตึ๊บ ๆ แล้วซัพวูฟเฟอร์สั่นนั่นล่ะครับ เพียงแต่กรณีนี้เป็นการสั่นจาก Dynamic Vibration System แทน โดยแรงบันดาลใจของ Dynamic Vibration System ก็ไม่ได้มาจากที่ไหน แต่เป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยี Dual Shock ในจอยเครื่องเล่นเกม Sony PlayStation นั่นเอง
หมายความว่านอกจากการสั่นเวลาที่รับชมภาพยนตร์, ฟังเพลง หรือการดู Youtube แล้ว Dynamic Vibration System ยังรองรับการทำงานร่วมกับเกมบนสมาร์ทโฟนอีกด้วย ทำให้ได้อรรถรสในการเล่นเกมที่ดีกว่า เหมือนจับจอย Dual Shock
ข้อสังเกตของ Dynamic Vibration ณ ตอนนี้คือ รองรับเพียงไม่กี่เกมเท่านั้น เช่น Angry Bird, Clash of Clan ส่วนเกมที่บ้านเรากำลังนิยมอย่าง ROV หรือ PUBG Mobile ยังไม่รองรับทั้งคู่ (ROV ได้แค่ตอน Intro เกม) คาดว่าคงเป็นที่ซอฟท์แวร์ยังไม่รองรับ ถ้ารองรับกับทุกเกมเมื่อไหร่น่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่เล่นเกมได้สนุกทีเดียวครับ
S-Force Front Surround
Sony Xperia XZ2 มาพร้อมกับลำโพงคู่สเตอริโอบริเวณด้านหน้าของตัวเครื่อง มีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่า S-Force Front Surround โดย Sony เคลมว่าเป็นลำโพงที่ดังที่สุด เท่าที่เคยมีมาในสมาร์ทโฟน Sony รวมถึงเทคโนโลยีระบบเสียงที่อัดแน่นทั้งการฟังผ่านลำโพง หรือแม้แต่การฟังเพลงผ่านอุปกรณ์ไร้สาย ไม่ว่าจะเป็น LDAC, DSEE HX, Clear Bass, Clear Audio+ เป็นต้น
ถ่ายวิดีโอสโลว์โมชัน 960fps
ตามปกติของโหมดการถ่ายวิดีโอแบบสโลว์โมชันจากกล้องสมาร์ทโฟนนั้น มักจะถ่ายได้ที่เฟรมเรตราว 120fps ไปจนถึงช้าสุดที่ 240fps เนื่องด้วยขีดจำกัดของทั้งเซ็นเซอร์รับภาพ ระบบประมวลผล และอัลกอริธึมการทำงานของซอฟต์แวร์ นับเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโลกที่ Sony เปิดตัวมาพร้อมกับกล้องหลัง Motion Eye ที่สามารถถ่ายวิดีโอเฟรมเรตสูงถึง 960fps ที่ความละเอียดสูงระดับ Full HD 1080p ได้ (ยี่ห้ออื่นได้แค่ HD 720p) หมายความว่าใน 1 วินาที จะมีเฟรมภาพอยู่ถึง 960 เฟรม ทำให้ผู้ใช้มองเห็นภาพสโลว์โมชันแบบช้ามาก ๆ ช้าในระดับที่เห็นหยดน้ำเป็นเม็ด ๆ เลยล่ะ
ส่วนในการใช้งานจริง โหมดสโลว์โมชันจะถูกซ่อนอยู่ในโหมดถ่ายวิดีโอของกล้องหลัง โดยจะมีไอคอนสำหรับเปิดใช้งานอยู่ใกล้ ๆ กับปุ่มกดถ่ายเลย ซึ่งยังจะมีโหมดย่อยอีก 3 แบบด้วยกัน ดังนี้
- สโลว์ 960fps แบบถ่ายยาว ๆ แล้วเลือกจุดที่ต้องการสโลว์: โดยวิดีโอหลักจะเป็นการถ่ายแบบปกติ จากนั้นหากเราต้องการให้ช่วงไหนสโลว์ ก็ให้กดปุ่มสโลว์ 1 ครั้ง แล้วกล้องจะบันทึกแบบ 960fps ให้เป็นช่วงสั้น ๆ แล้วก็กลับไปถ่ายแบบปกติต่อ หากต้องการได้ช็อตสโลว์อีก ก็กดได้เรื่อย ๆ
- สโลว์ 960fps แบบตัดคลิปจบ: วิธีใช้งานก็คือ กดปุ่มอัดสโลว์ กล้องก็จะบันทึกให้เป็นช่วงสั้น ๆ พอจบแล้วก็ตัดจบคลิปเลย หากอยากถ่ายใหม่ก็จะเป็นการเริ่มคลิปใหม่
- สโลว์ 120fps: จะเป็นการถ่ายวิดีโอแบบยาว ๆ แล้วมาเลือกหลังตัดจบคลิปว่าจะให้สโลว์ที่เฟรมเรต 120fps ตรงช่วงใดบ้าง
Camera/ กล้องถ่ายภาพ
ดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ยาก!! ผมว่านี่คงเป็นนิยามของกล้อง เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนเรือธงยี่ห้ออื่น ถึงแม้ฮาร์ดแวร์จะทำออกมาได้ดีเท่าไหร่ก็ตาม ทั้งกล้องหลัง Motion Eye เซ็นเซอร์ Exmor RS แบบ memory-stack ล่าสุดสำหรับเซ็นเซอร์บนโทรศัพท์มือถือ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ เช่น ถ่ายภาพแบบคาดเดา, Sony Lens G รวมถึงโปรเซสเซอร์ในการประมวลผลภาพโดยเฉพาะ BIONZ แต่สิ่งที่ทำให้มันยังตามพวกเรือธงรุ่นอื่น ในส่วนของกล้องคงเป็นเรื่องซอฟท์แวร์ล้วน ๆ
อย่างแรกเลยคือโหมด Superior Auto แม้จะฉลาดขึ้น สามารถแยกแยะ Scene ต่าง ๆ ได้แม่นขึ้น แต่ก็ยังไม่ฉลาดเท่ากับพวกที่ใช้ Real AI เข้ามาช่วยในการถ่ายภาพ ความแม่นยำ ความรวดเร็วในการเลือกฉากทิ้งห่างกันพอสมควร ส่งผลถึงการถ่ายภาพยามค่ำคืน หรือในที่แสงน้อย โดยสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นใหม่ ๆ ส่วนมากมักจะใช้ซอฟท์แวร์ช่วยประมวลผลในระดับหนึ่ง ทั้งการซ้อนภาพ การแต่งภาพหลังถ่ายทันที แต่ไม่ใช่กับ Sony Xperia XZ2 ที่เห็นอย่างไร ก็ถ่ายออกมาอย่างนั้น
ข้อดีของกล้องคือการถ่ายในที่แสงปกติ ส่วนตัวผมว่ามันสามารถสู้ได้ทุกแบรนด์จริง ๆ ครับ ทั้งในด้านความคมชัด การจัดการแสง (แต่จัดการแฟลร์ไม่ได้) โดยเฉพาะการถ่ายท้องฟ้า แล้วแสดงผลบนหน้าจอ HDR นี่คือสุด ๆ เฉดสีของท้องฟ้าแยกออกมาได้ละเอียดกว่าสมาร์ทโฟนคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด
ข้อสังเกตอีกอย่างของกล้อง Sony Xperia XZ2 และผมมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มันอยู่ยาก คงเป็นเรื่องของโหมดโบเก้ ที่สมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นถ่ายกันง่ายเหลือเกิน แต่สำหรับ Sony Xperia XZ2 ดูจะเป็นเรื่องยาก ด้วยความที่มีกล้องตัวเดียว จึงอาศัยการถ่ายภาพซ้อน แล้วละลายฉากหลัง เพราะฉะนั้นความเนียนยังคงห่างชั้นกับพวกกล้องคู่ หรือกล้องเดี่ยวที่มีตัวช่วยอย่าง AI พอสมควร
โหมด M ของ Sony ก็ยังคงเป็นโหมดที่ไม่ได้รับการพัฒนาจากรุ่นก่อนสักเท่าไหร่ ในขณะที่เรือธงแบรนด์อื่นสามารถลากสปีดชัตเตอร์ได้หลายวินาที แต่ Sony Xperia XZ2 ก็ยังคงลากสปีดชัตเตอร์ได้แค่ 1 วินาทีเหมือนเดิม ส่วน ISO ปรับแต่งได้ถึง 12800
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า
ถ่ายวีดีโอ 4K HDR นี่คงเป็นจุดเด่นของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ ที่ยังไม่มีคู่แข่งรุ่นไหนทำได้ ข้อดีของการมี HDR คือทำให้สามารถถ่ายวีดีโอ พร้อมความเปรียบต่าง รายละเอียด และสีเสมือนจริง ด้านระบบกันสั่นวีดีโอของ Sony Xperia XZ2 ก็ยังคงทำได้ตามมาตรฐานครับ ส่วนตัวอย่างของวีดีโอ 4K HDR ที่ถ่ายด้วย Sony Xperia XZ2 ก็ตามคลิปด้านล่างเลยครับ ทั้งคลิปถ่ายด้วย Xperia XZ2 แล้วก็ถือด้วยมือเปล่า ไม่ได้ใช้ไม้ Gimbal ในการถ่ายทำ
Performance/ ประสิทธิภาพ
คะแนนประสิทธิภาพของ Sony Xperia XZ2 คงไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงนัก ด้วยการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นท็อปสุดของ Qualcomm อย่าง Snapdragon 845 ที่พ่วงมาพร้อมกราฟิกชิปตัวแรง ทำงานร่วมกับแรม 4 GB ทำให้ผลคะแนนทดสอบออกมาอยู่ในระดับท็อปบนโลกแอนดรอยด์ ณ ตอนี้ การใช้งานทั่วไปก็ไหลลื่นดีมาก อันเนื่องมาจากการใช้ฮาร์ดแวร์ที่แรง ร่วมกับการจูนซอฟต์แวร์ที่ Sony ทำออกมาได้ดีโดยตลอด
ส่วนการทดสอบเล่นเกม ก็ไร้ปัญหาครับ เล่นได้ลื่น ๆ ทุกเกม อย่างผมลองเล่น ROV ปรับสุดทุกอย่าง สามารถเปิดโหมดเฟรมเรทสูงได้ เล่นเกมแบบเฟรมเรทนิ่ง ๆ 60 fps ได้ตลอดทั้งเกม ส่วนตัวผมคิดว่าในบรรดาสมาร์ทโฟนระดับเรือธงเนี่ย Sony Xperia XZ2 น่าจะเป็นรุ่นที่เล่นเกมได้ที่สุดแล้ว ณ ตอนนี้ครับ
พูดถึงด้านแบตเตอรี่ ก็เป็นสิ่งที่ Sony ทำออกมาได้ดีเสมอต้นเสมอปลายในสมาร์ทโฟนเรือธง ผมทดสอบด้วยการใช้แบบทั่วไป เล่น Facebook, LINE, เปิดเว็บ, ถ่ายรูป, ถ่ายวิดีโอ พบว่าใช้งานทั้งวันได้สบายมาก และถ้าหากต้องการยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ระบบก็จะเปิดใช้งานฟีเจอร์โหมด STAMINA ที่จะลดการทำงานของตัวเครื่องลง ทำให้ใช้งานแบตเตอรี่ได้ยาวนานขึ้น โดยหลักการของ STAMINA ก็คือการลดความเร็ว CPU ลง เพื่อให้การบริโภคพลังงานลดลง สังเกตได้จากการเล่นเกมครับ ตัวเกมจะกระตุกอย่างเห็นได้ชัดในทันที เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเปิด STAMINA ก็ได้นะ
นอกจากนี้ก็ยังมีโหมดประหยัดพลังงานขีดสุดอย่าง Ultra STAMINA อีก ซึ่งระบบจะตัดการทำงานจนเหลือแต่การเชื่อมต่อ cellular ในการใช้งานโทรศัพท์และ SMS เท่านั้น แอปที่ใช้งานได้ก็จะจำกัดเหลือแค่การทำงานแบบพื้นฐาน เพราะฉะนั้นแบตเตอรี่ 3,180 mAh ของ Sony Xperia XZ2 ไม่ได้น้อยเกินไปหรอกครับ มันเพียงพอต่อการใช้งานมากแล้ว
จุดเด่น
– ดีไซน์ใหม่หมดจด จับถือสะดวกขึ้นมาก
– ใช้งาน 4G ได้เต็มประสิทธิภาพ
– หน้าจอ HDR อ้ตราส่วน 18:9 แสดงผลได้ดีเยี่ยม สีสันสดใส
– รอม Xperia มีทั้งความเสถียร และการจัดการพลังงานที่ดี
– ลำโพงเสียงดังมาก มาพร้อมระบบ Dynamic Vibration System ช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมความบันเทิง
ข้อสังเกต
– กล้องหลัง และกล้องหน้าดีขึ้นก็จริง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ยาก เมื่อเทียบกับเรือธงยี่ห้ออื่น
– ทุกครั้งที่ถอดซิม เครื่องจะรีสตาร์ต
– Dynamic Vibration ยังไม่รองรับทุกเกม
– น้ำหนักตัวเครื่อง 198 กรัม จัดว่าหนักพอสมควร