รีวิว Samsung Galaxy S21+ 5G ชิปใหม่ แบตใหญ่ขึ้น ร้อนน้อยลง ราคาเริ่ม 33,900

สมาร์ตโฟนที่ได้รับการจับตามองที่สุดรุ่นหนึ่งประจำช่วงต้นปี 2021 นี้ก็คือซีรีส์ Galaxy S ที่เป็นรุ่นท็อปประจำช่วงต้นปีจาก Samsung โดยในปีนี้ก็เป็นคิวของ S21 ที่ได้รับการปรับปรุงจาก S20 ในปีที่ผ่านมาในหลายจุด ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือชิปใหม่ และดีไซน์ที่เปลี่ยนแปลงในบางส่วน โดยในบทความนี้ก็จะเป็นการรีวิว Samsung Galaxy S21+ 5G มือถือเรือธงรุ่นรองท็อปหน้าจอใหญ่ครับ

Samsung Galaxy S21+ รีวิว

สำหรับ Samsung Galaxy S21+ 5G นั้น ที่จริงแล้วก็จะเป็นรุ่นที่สเปคอยู่ในระดับเดียวกันกับ S21 5G เลย แต่สิ่งที่บวกเข้ามาก็คือหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น และความจุแบตที่มากขึ้นตามขนาดเครื่อง ส่วนเรื่องกล้องนั้นก็เหมือนกันครับ ซึ่งก็จะตอบโจทย์คนที่ต้องการมือถือจอใหญ่ สเปคระดับท็อปได้ตรงจุดเลย จะมีแค่ Galaxy S21 Ultra 5G ที่สเปคหลายจุดจะสูงขึ้นไปอีกขั้น และนับเป็นรุ่นท็อปสุดของ Samsung ในช่วงต้นปีนี้


สเปค Samsung Galaxy S21+ 5G

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 01

  • ชิป Exynos 2100 สถาปัตยกรรมระดับ 5nm มี 8 คอร์ (รุ่นขายในไทย)
  • แรม 8 GB
  • มีความจุให้เลือก 2 ขนาดคือ 128 และ 256 GB
  • หน้าจอ Dynamic AMOLED 2X ขอบแบนขนาด 6.7″ FHD+ 120Hz รองรับ HDR10+
  • กล้องหลัง 3 ตัว ไฮบริดออปติกซูม 3 เท่า และซูม Super Resolution สูงสุด 30 เท่า
    • เลนส์ไวด์ 12MP f/1.8 เซ็นเซอร์ 1/1.76″ มี OIS ระบบกันสั่น Super Steady
    • เลนส์อัลตร้าไวด์ 12MP f/2.2
    • เลนส์เทเล 64MP f/2.0 เซ็นเซอร์ 1/1.72″
  • มี Scene Optimizer ใช้ AI ช่วยแต่งภาพ รองรับ 30 โหมด
  • รองรับการถ่ายวิดีโอ HDR10+ (4K 30fps)
  • รองรับการถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุดระดับ 8K 24fps
  • มีฟังก์ชัน Zoom-in Mic สำหรับการถ่ายวิดีโอ
  • กล้องหน้า 10MP f/2.2
  • เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบอัลตร้าโซนิกที่ใต้หน้าจอ
  • รองรับ 5G NR ในไทย ใส่ได้ 2 นาโนซิม (ซิมหลัก 5G ซิมรอง 4G)
  • รองรับ WiFi 6 HE80 1024-QAM ความเร็วสูงสุด 1.2Gbps
  • รองรับ Ultra Wide Band
  • แบตเตอรี่ 4800 mAh รองรับการชาร์จเร็ว USB PD 3.0
  • รองรับการชาร์จไร้สาย Fast Wireless Charging 2.0 และมีฟังก์ชัน Wireless PowerShare
  • Android 11 ครอบด้วย OneUI 3.1
  • ลำโพงสเตอริโอ ระบบเสียง Dolby Atmos จูนเสียงโดย AKG
  • รองรับฟังก์ชัน Dual Audio ที่สามารถฟังเพลงผ่านหูฟัง/ลำโพง Bluetooth ได้ 2 output พร้อมกัน
  • กันน้ำกันฝุ่นระดับ IP68

priceโดยราคาของ Samsung Galaxy S21+ 5G เครื่องศูนย์ไทยจะมีด้วยกัน 2 ราคาแยกตามความจุ แบ่งเป็นรุ่น 128GB ราคา 33,900 บาท ส่วนความจุ 256GB จะขยับไปที่ 35,900 บาท


ตัวเครื่อง

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 04

ประเด็นแรกที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากตั้งแต่งานเปิดตัวเลยก็คือ Samsung ยกเลิกการแถมอะแดปเตอร์ชาร์จมาในกล่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้กล่องบางลงจากเดิมเกือบครึ่งเลยทีเดียว

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 05

ซึ่งในกล่องก็จะมีให้มาเพียงแค่ตัวเครื่อง สาย USB-C to C เข็มจิ้มถาดซิม และก็พวกเอกสารการรับประกัน การใช้งานเบื้องต้นเพียงเท่านั้น ส่วนอะแดปเตอร์ชาร์จนั้นก็สามารถใช้ของเดิม หรือหาซื้อแบบหัว USB-C มาใช้ได้เลยครับ แนะนำว่าจะเป็นอะแดปเตอร์ชาร์จเร็วจากศูนย์ Samsung เอง หรือหาพวกอะแดปเตอร์ที่รองรับการชาร์จเร็วแบบ USB-PD ที่เป็นมาตรฐานกลางก็ได้เช่นกัน

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 19

หน้าตาของ Samsung Galaxy S21+ 5G จัดว่าไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้าอย่าง S20/S20+ มากนัก จะมีตรงขอบจอที่มีความโค้งมนของกระจกน้อยลง ซึ่งน่าจะถูกใจคนที่อยากได้มือถือจอราบมากยิ่งขึ้น ส่วนกล้องก็ยังวางไว้เป็นจุดตรงกลางด้านบน โดย Samsung ใช้ชื่อเรียกดีไซน์หน้าจอแบบนี้ว่าเป็นแบบ Infinity-O ปิดทับด้วยกระจก Gorilla Glass Victus

ความละเอียดจอให้มาที่ 2400 x 1080 รีเฟรชเรต 120Hz ซึ่งสามารถเปิดที่ระดับสูงสุดทั้งคู่ตลอดเวลาได้สบาย แต่ถ้าอยากประหยัดแบตยิ่งขึ้นก็สามารถปรับรีเฟรชเรตลงเหลือ 60Hz ได้ แต่รอบนี้ไม่สามารถปรับความละเอียดจอลงได้นะ

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 38

สีสันของจอ ต้องบอกว่า Samsung ยังทำได้ดีสมกับเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีการแสดงภาพเช่นเคย ด้วยจอ Dynamic AMOLED 2X ที่ให้มาครบทั้งความคมชัด ความสว่าง สีสัน ทั้งยังรองรับการแสดงผลที่ระดับ HDR10+ ด้วย ซึ่งเท่าที่ผมลองเปิดคลิปวิดีโอแบบ HDR ดู ภาพที่ออกมาก็จะได้รับการบูสท์ความสว่างและสีสันให้มีไดนามิกสีที่สูงขึ้น ที่เห็นได้ชัดก็คือเมื่อลองเปิดคลิป HDR ใน YouTube

ส่วนถ้าเป็น Netflix แน่นอนว่าตัวเครื่องเองนั้นรองรับทั้งความละเอียดภาพระดับสูง (HD) และภาพแบบ HDR แต่ตอนนี้ทาง Netflix ยังไม่ได้ใส่ชื่อของ Samsung Galaxy S21+ 5G ลงไปในรายชื่ออุปกรณ์ที่รองรับครับ ดังนั้นถ้าอยากดู Netflix แบบเต็มอารมณ์บน S21 ทั้งสามรุ่นย่อย ก็อาจจะต้องรอกันอีกซักหน่อย (เช็ครายชื่อได้จากหน้าเว็บ Netflix)

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 17

นอกจากภาพจะแจ่มแล้ว ใต้จอยังมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบอัลตร้าโซนิกฝังอยู่ด้วย ซึ่งในรอบนี้ Samsung ระบุว่ามีการเพิ่มขนาดเซ็นเซอร์ให้ใหญ่กว่าเดิม ช่วยให้สามารถปลดล็อกได้ง่ายขึ้น รองรับการเก็บข้อมูลลายนิ้วมือได้สูงสุด 4 นิ้ว โดยจากที่ลองใช้งานมาก็พบว่ามันค่อนข้างง่ายกว่าเดิมจริง ๆ ครับ จะมีไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่ปลดล็อกไม่ได้ตั้งแต่วางนิ้วครั้งแรก ต่างจากรุ่นก่อน ๆ หน้าที่เซ็นเซอร์ขนาดเล็กกว่า ทำให้ปลดล็อกยากกว่า S21+ เนื่องจากวางนิ้วไม่ตรงตำแหน่งเซ็นเซอร์

ส่วนถ้าต้องการปลดล็อกด้วยใบหน้าก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยจะใช้กล้องหน้าเพียงตัวเดียวในการทำงาน ซึ่งสามารถตั้งค่าให้หน้าจอเร่งความสว่างขึ้นมา เพื่อช่วยให้ปลดล็อกในที่มืดได้ดีขึ้นหรือไม่ ได้จากในเมนูการตั้งค่า

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 12

พลิกมาที่ฝาหลัง โดย Samsung Galaxy S21+ 5G เครื่องที่ทางเราทดสอบเป็นรุ่นฝาหลังสีม่วงผสมขอบทอง ซึ่งต้องยอมรับตามตรงว่าตอนที่ผมเห็นภาพเรนเดอร์จากงานเปิดตัวครั้งแรกแล้วรู้สึกว่ามันผสมกันออกมาแปลก ๆ แต่พอได้สัมผัสเครื่องจริงก็รู้สึกว่าสีมันไม่ได้ม่วงระดับเดียวกับภาพเรนเดอร์ครับ ถ้าใช้งานในที่มีแสงสว่างหน่อย จะรู้สึกว่ามันออกเป็นสีเงินเหลือบม่วงซะมากกว่า ส่วนจุดที่เป็นสีทองก็จะเป็นทองแบบที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้ฉูดฉาดเหมือนกับพวกมือถือที่มีบริษัทนำไปทำสีทองคำอะไรแบบนั้น รวม ๆ แล้วถือว่าสมเป็นมือถือซีรีส์ระดับท็อปอยู่เหมือนกัน

ส่วนฝาหลัง ในรุ่น S21+ และ S21 Ultra จะใช้เป็นกระจก Gorilla Glass Victus เหมือนกระจกหน้าจอเลย ในขณะที่ S21 ธรรมดาใช้ฝาหลังโพลีคาร์บอเนต

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 16

ตรงขอบทองที่โมดูลกล้องก็ได้รับการออกแบบให้ดูเชื่อมกับขอบเครื่องโลหะสีทองได้แบบพอดิบพอดี ต่างจากรุ่นก่อนหน้าที่โมดูลกล้องจะอยู่ในกรอบสีดำที่แยกส่วนออกมาต่างหาก ทำให้ดีไซน์ของ S21 series ดูแตกต่างจากมือถือหลาย ๆ รุ่นในยุคปัจจุบันอยู่เหมือนกัน

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 37

ซึ่งนอกเหนือจากจะทำให้ดีไซน์ดูแตกต่างออกไปแล้ว กรอบในลักษณะนี้ยังเป็นอีกตัวช่วยในการปกป้องกระจกปิดหน้าเลนส์ไปด้วยในตัว เพราะมันนูนเหนือจากผิวกระจกขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงสามารถใช้งานแบบไม่ต้องใส่เคสก็ยังไหว

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 30

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 31

ขอบเครื่องด้านบนสุดจะมีเพียงช่องรับเสียงของไมค์ด้วยกัน 2 ช่อง ส่วนด้านล่างสุดจะมีทั้งช่องลำโพง ช่อง USB-C ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา และก็ถาดใส่ซิมการ์ด

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 32

โดย Samsung Galaxy S21+ 5G รุ่นที่ขายในไทยจะเป็นเครื่องที่ใส่นาโนซิมได้ 2 ใบ ใช้งานในลักษณะ Sim 1 + Sim 2 ที่สามารถตั้งค่าให้ช่องไหนเป็นซิมหลักที่ใช้งาน 5G ก็ได้ ส่วนถ้าอยากใช้งาน eSIM ก็สามารถทำได้ครับ แต่ช่องซิม 2 จะไม่สามารถใช้งานได้ กลายเป็น Sim 1 + eSIM 2 แทน

ย้ำอีกครั้งว่าถาดนี้เป็นถาดใส่นาโนซิมนะครับ ไม่สามารถใส่การ์ด MicroSD ได้ รวมถึงตัวเครื่องยังไม่รองรับด้วย

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 28

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 29

ขอบฝั่งขวาจะมีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และก็ปุ่ม Power ซึ่งใช้เป็นปุ่มเรียก Bixby ไปด้วยในตัว โดยใช้การกดปุ่มค้างไว้ แต่ก็สามารถตั้งค่าในซอฟต์แวร์เพื่อปิดฟังก์ชันเรียก Bixby แล้วใช้การกดปุ่มนี้ค้างไว้เพื่อจะสั่งปิดเครื่องได้เช่นกัน

ส่วนฝั่งซ้ายก็ไม่มีอะไรเลย นอกจาก gap สำหรับใช้ในการวางเสารับสัญญาณ

 


การใช้งาน 5G / WiFi 6 และ WiFi Hotspot

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 45

Samsung Galaxy S21+ 5G รองรับการใช้งาน 5G ในไทยทั้งแบบ NSA (5G data + 4G voice ที่ใช้เป็นหลักอยู่ในปัจจุบัน) และแบบ SA ที่ทยอยเปิดใช้งานในบางจุด (5G ล้วนทั้งระบบ) โดยรองรับหลากหลายความถี่ ได้แก่ n1, n3, n5, n8, n28, n40 และ n41 ซึ่งแน่นอนว่าสามารถใช้งานได้ทุกคลื่น ทุกเครือข่ายในไทยแน่นอน ดังนั้น ถ้าอยากได้มือถือ 5G ใช้งานได้ยาว ๆ Samsung S21 series ก็จัดว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ จะขาดก็พวก mmWave (2600MHz ขึ้นไป) ที่ตอนนี้ยังมีในไม่กี่ประเทศเท่านั้น

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 33

โดยช่องซิมทั้ง 2 ช่องรองรับการใช้งาน 5G ครับ แต่จะสามารถสแตนด์บาย 5G ได้แค่ช่องใดช่องหนึ่ง ส่วนอีกช่องจะได้สูงสุดที่ 4G LTE เท่านั้น ถ้าให้แนะนำ ก็ควรใส่ซิมที่จะใช้ 5G ในช่องซิม 1 จะดีที่สุด

ส่วนในการโทรศัพท์นั้น ถ้าในการใช้งานเครือข่าย 5G แบบ NSA ระบบจะตัดไปใช้การโทรผ่าน 4G VoLTE อัตโนมัติ เมื่อโทรเสร็จก็จะตัดกลับมาสแตนด์บายที่ 5G ตามเดิม

2

โดยในการทดสอบ ผมใช้ 5G AIS ที่ต่างจังหวัดครับ ผลที่ได้ก็ออกมาอยู่ในระดับมาตรฐานที่ควรทำได้ของ 5G เลย คือได้ความเร็วดาวน์โหลดระดับหลายร้อย Mbps ซึ่งตามทฤษฎีของฮาร์ดแวร์ตัวเครื่องแล้วสามารถทำความเร็วถึงหลักพันได้แน่นอน ขึ้นอยู่กับสัญญาณเป็นหลัก

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 42

ส่วนการใช้งาน WiFi ตัวของ Samsung Galaxy S21+ 5G จะรองรับที่ WiFi 6 (802.11ax) HE80 1024-QAM ที่ทำความเร็วดาวน์โหลดสูงสุดตามทฤษฎีได้ 1,200 Mbps อัพโหลด 1,200 Mbps ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ แพ็คเกจ และเครือข่าย โดยถ้าเชื่อมต่อ WiFi 6 อยู่ ก็จะมีเลข 6 แสดงขึ้นมาข้าง ๆ สัญลักษณ์ WiFi ด้วย

แต่ถ้าเป็นรุ่น Ultra จะอัพขึ้นไปอีกขั้นครับ เพราะสามารถใช้งาน WiFi 6E (6 GHz) ได้ด้วย ซึ่งก็จะได้ความเร็วสูงขึ้นอีก แต่อุปกรณ์ปล่อยสัญญาณในตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก (อุปกรณ์ WiFi 6 ปกติยังเพิ่งเริ่มกระจายในปริมาณมากได้ไม่นานนักอยู่เลย)

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 34

อีกจุดที่ผู้ใช้งานมือถือระดับท็อปหลายคนให้ความสนใจก็คือ การปล่อย WiFi Hotspot ด้วยคลื่น 5 GHz ซึ่งแน่นอนว่า S21+ สามารถทำได้สบาย ๆ เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายเน็ต 5G ไปให้อุปกรณ์อื่นใช้งาน โดยเน้นความเร็วสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้


Wireless PowerShare

Screenshot 20210123 113030 Device care

อีกฟังก์ชันที่น่าจะตอบโจทย์คนที่มีหลายดีไวซ์ โดยเฉพาะพวกหูฟังไร้สายแบบ TWS นั่นคือ Wireless PowerShare ที่สามารถใช้ S21+ เป็นแท่นชาร์จไร้สายเพื่อชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นได้ โดยรองรับอุปกรณ์ที่ใช้มาตรฐานการชาร์จไร้สายแบบ Qi นั่นคือจะเป็นมือถือ เคสหูฟัง หรืออะไรก็ได้เลย

โดยตัวระบบจะถูกออกแบบมาให้ป้องกันแบตไหลจากการใช้ฟังก์ชันนี้ ถ้าหากต้องการใช้งาน ก็ต้องเข้ามาเปิดจากในเมนูก่อนจึงจะสามารถใช้ได้ รวมถึงยังสามารถกำหนดปริมาณแบตต่ำสุดของเครื่องที่ใช้งานฟังก์ชันนี้ได้ด้วย ซึ่งค่ามาตรฐานจะตั้งไว้อยู่ที่ 30%

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 51 1

หลังจากเปิดใช้งานแล้ว ก็สามารถนำอุปกรณ์ที่ต้องการชาร์จมาแปะที่ตรงกลางของฝาหลังได้เลยครับ เท่าที่ผมลองเอา AirPods Pro มาวาง ก็สามารถชาร์จได้ทันที ไม่มีปัญหา


ฟังก์ชันอื่นที่น่าสนใจ

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 41

อย่างที่พูดถึงไปเบื้องต้นว่าจอของ S21+ สามารถปรับระดับรีเฟรชเรตหลักของจอได้ระหว่าง 120Hz กับ 60Hz ซึ่งเมนูการตั้งค่าจะใช้ชื่อว่า Motion smoothness อยู่ในหัวข้อ Display ของ Settings

ใกล้ ๆ กันนั้นก็จะมีฟังก์ชัน Eye comfort shield ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่จะให้จอช่วยลดแสงสีฟ้า และปรับความอุ่นของโทนสีให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งจะยิ่งออกเป็นโทนเหลืองมากยิ่งขึ้นในเวลากลางคืน จุดประสงค์ก็เพื่อให้รู้สึกสบายตา และช่วยให้หลับง่ายขึ้น โดยมีทั้งแบบปล่อยให้ระบบจัดการอัตโนมัติ หรือจะตั้งค่าเองตามที่ต้องการก็ได้ โดยเท่าที่ลองเปิดใช้งานแบบอัตโนมัติ ก็พบว่าจอดูเหลืองขึ้นเล็กน้อย ไม่ได้ถึงขั้นสีเพี้ยนอะไร

Screenshot 20210120 170523 Settings

กลับมาที่เรื่องรีเฟรชเรตจอ จะมีให้เลือกด้วยกันสองค่าคือ สูงสุด 120Hz เพื่อความไหลลื่นที่สุด กับล็อกค่าที่ 60Hz เพื่อการใช้งานแบตเตอรี่ที่น้อยกว่า โดยจากที่ใช้งานมา ถ้าเป็นสถานการณ์ทั่วไป เปิด 120Hz ไว้ก็สามารถใช้งานได้ตลอดวันแบบสบาย ๆ เลย

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 40

ฟีเจอร์สุดท้ายที่จะพูดถึงในรีวิวนี้ก็คือหัวข้อ Devices ที่อยู่ในแถบแจ้งเตือน (ลากจากขอบจอด้านบนลงมา) ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะเป็นเมนูสำหรับใช้ควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่ออยู่กับ S21+ 5G และใช้เป็นเมนูช่วยในการจัดการกับพวกอุปกรณ์กลุ่ม SmartThings ของ Samsung เอง เช่น SmartTag และ SmartTag+ ที่เพิ่งเปิดตัวด้วย


กล้อง Samsung Galaxy S21+ 5G

0C286097 1E86 4CD4 877A 86A7D7D25F02

Samsung Galaxy S21+ 5G ให้กล้องหลังมา 3 เลนส์ โดยแบ่งเป็น 3 แบบตามมาตรฐานคือเลนส์ไวด์สำหรับถ่ายปกติในความละเอียดพื้นฐาน 12MP ที่มีโหมดปรับให้เก็บภาพเต็ม 64MP ได้ด้วย ถัดลงมาก็เป็นเลนส์อัลตร้าไวด์ 12MP ที่เป็นแบบ fixed focus และก็เลนส์เทเลสำหรับการถ่ายซูม รองรับการปรับจุดโฟกัสได้ รองรับการซูมแบบออปติคอล (Hybrid Optic) 3 เท่า และก็สามารถซูมดิจิตอล (Super Resolution) ได้สูงสุด 30 เท่า รวมถึงยังมีระบบกันสั่น เพื่อช่วยให้ทั้งการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอทำออกมาได้ดีด้วย

สำหรับการถ่ายวิดีโอ S21+ 5G สามารถถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุดถึงระดับ 8K 24fps ในเรนจ์สีปกติ ส่วนถ้าต้องการถ่ายแบบ HDR10+ จะถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K 30fps ซึ่งจัดว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน จะนำไปใช้รับงานก็ยังพอไหว

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 27

โหมดที่ให้มาก็ยังคงครบครันในสไตล์ Samsung อยู่ ที่คุ้นเคยกันก็เช่น AR doodle สำหรับวาดเส้น แปะรูปลงไปแบบ AR โหมด Pro ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถปรับค่าต่าง ๆ ก่อนถ่ายรูปได้ โหมด Portrait สำหรับถ่ายบุคคล หรือสิ่งของที่ต้องการเบลอพื้นหลัง

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 24

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 25

โดยมีหนึ่งโหมดที่เพิ่มเข้ามาเพื่อเอาใจคนทำงานสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์คือ Director’s View ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถถ่ายวิดีโอได้จากเลนส์กล้องทั้ง 4 ตัวพร้อมกับเห็นภาพรวมจากแต่ละเลนส์ได้ตั้งแต่ระหว่างถ่าย และกดตัดเพื่อสลับให้ภาพของเลนส์ใดเลนส์หนึ่งกลายเป็นซีนหลักของคลิปได้ทันที เหมาะกับการสร้างคลิปที่ต้องการเปลี่ยนระยะภาพไปมา เช่น อาจจะเป็นการถ่ายรีวิวอาหารบนโต๊ะ ซึ่งบางซีนเราต้องการถ่ายภาพรวมทั้งโต๊ะว่ามีอาหารอะไรอยู่บ้าง จากนั้นก็ซูมเข้ามาที่จานใดจานหนึ่ง และอาจมีบางซีนที่ต้องการถ่ายเจาะไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของจาน หรือมีซีนถ่ายรีแอคชันของผู้ชิม (ผู้ถ่ายเอง) ก็สามารถทำได้สบาย

จากที่แต่ก่อน ถ้ามีกล้องตัวเดียว ก็ต้องเลือกเลนส์ดี ๆ ขยับกล้องไปมา หรือต้องใช้กล้องมากกว่า 1 ตัวมา insert ในคลิปเดียว แต่พอใช้โหมด Director’s View ก็กลายเป็นว่ามือถือเครื่องเดียว ถ่ายทีเดียวจบ สามารถ export คลิปออกมาทำงานต่อได้ทันที ไม่ต้องมานั่งตัดต่อมุมกล้องให้วุ่นวาย โดยคลิปที่ได้ออกมาก็จะเป็นการเปลี่ยนซึนระยะเลนส์แบบคัตชนมาเลย ความต่อเนื่องของแสงสีถือว่าทำได้ดี มุมกล้อง (ระยะซ้าย-ขวา) ก็ไม่ได้ต่างกันมาก น่าจะเป็นฟังก์ชันที่ถูกใจสายผลิตคอนเทนต์แน่ ๆ

3

ส่วนอีกโหมดที่น่าสนใจคือ Single Take ที่ช่วยให้ผู้ใช้กดถ่ายทีเดียว ระบบก็จะจัดการถ่ายด้วยหลาย ๆ เลนส์ แล้วนำสิ่งที่ถ่ายมาประมวลผลเพื่อเก็บเป็นหลาย ๆ ภาพและวิดีโอสั้นไปพร้อมกัน เผื่อให้ผู้ใช้เลือกแบบที่ต้องการได้ภายหลัง โดยในตอนกดถ่าย แอปกล้องจะเปลี่ยนเป็นการถ่ายวิดีโอประมาณ 10 วินาทีนิด ๆ ซึ่งในระหว่างนั้นก็ให้เราแพนกล้องไปรอบ ๆ บริเวณที่ต้องการถ่าย

เมื่อเสร็จแล้ว ระบบจะใช้เวลาประมวลผลซักพักหนึ่ง ก็จะได้ออกมาเป็นภาพและวิดีโอราว ๆ 10 ไฟล์ โดยมีทั้งที่เป็นภาพนิ่งช็อตแรกที่แพนกล้องไป วิดีโอธรรมดา วิดีโอ Timelapse ภาพขาวดำ ภาพจากระยะเลนส์ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยทำให้ไม่พลาดช็อตที่ต้องการแบบค่อนข้าง 100% เลย

แต่ที่แน่นอนคือมันจะกินพื้นที่เก็บข้อมูลในเครื่องมากกว่าปกติด้วยนะครับ เพราะระบบจะแยกไฟล์ออกจากกันเลย ถ้าไม่อยากให้พื้นที่เต็มเร็ว ก็อาจจะต้องมาลบไฟล์ที่ไม่ต้องการซักหน่อยก็ดี โดยเฉพาะพวกวิดีโอที่ไม่ต้องการ

Screenshot 20210120 164243 Camera

ลูกเล่นย่อยที่ผมมองว่าเป็นประโยชน์ก็คือหน้าจอพรีวิวมุมภาพกว้างที่จะปรากฏขึ้นมาระหว่างที่ซูมมากกว่า 20 เท่าขึ้นไป เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ทราบว่าตอนนี้ซูมไปที่ตรงไหนอยู่ เพราะเชื่อได้ว่าหลายท่านคงเคยลากซูมเยอะ ๆ แล้วเจอปัญหาว่าไม่รู้ตอนนี้กล้องมันไปซูมอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งเจ้าหน้าจอเล็ก ๆ อันนี้ช่วยได้มากเลย ส่วนการซูมเยอะ ๆ ตัวเครื่องก็ต้องอาศัยมือนิ่งนิดนึงตอนที่แพนเลือกจุดครั้งแรก พอกล้องมันจับตำแหน่งของวัตถุที่โฟกัสได้แล้ว กรอบจอเล็กนี้จะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง ซึ่งหมายถึงว่ากล้องจับโฟกัสได้แล้ว และมี OIS ที่เข้ามาช่วยชดเชยอาการมือสั่นได้ระดับหนึ่งด้วย

ส่วนการนำ AI มาใช้งานในการถ่ายภาพนั้น ฝั่ง Samsung จะใช้ชื่อเรียกว่า Scene Optimizer ที่จะประมวลผลภาพที่รับเข้ามา ว่าเหมาะกับ scene แบบใด แล้วปรับภาพให้เหมาะสม ซึ่งรองรับถึงกว่า 30 แบบ เช่น ใบหน้า เด็ก บุคคล แมว อาหาร ทะเล ท้องฟ้า น้ำตก ต้นไม้ รองเท้า ข้อความ เป็นต้น เท่าที่ผมลอง พบว่าระบบก็จับได้ค่อนข้างแม่นประมาณหนึ่งเลย แต่อาจจะใช้เวลาในการคำนวณซักนิดนึง



ภาพชุดด้านบนนี้ก็เป็นภาพที่ถ่ายจากการซูมแต่ละระยะ เรียงลำดับดังนี้

  1. ระยะ 0.5x (เลนส์อัลตร้าไวด์)
  2. ระยะ 1x (เลนส์ไวด์)
  3. ระยะ 3x (เลนส์เทเล Hybrid Optic zoom)
  4. ระยะ 4x (Super Resolution zoom)
  5. ระยะ 10x (Super Resolution zoom)
  6. ระยะ 20x (Super Resolution zoom)
  7. ระยะ 30x (Super Resolution zoom)

แน่นอนว่าภาพในระยะตั้งแต่ 4x เป็นต้นไป ความละเอียด ความคมของขอบวัตถุก็จะลดลงด้วย เนื่องจากเป็นการขยายภาพโดยอาศัยการประมวลผลของเครื่อง แต่ก็อยู่ในระดับที่พอช่วยให้สามารถมองเห็นตัวอักษรที่มีขนาดไม่เล็กจนเกินไปได้อยู่ ส่วนโทนสีของแต่ละภาพก็จัดว่าทำออกมาได้ใกล้เคียงกันมากครับ เพราะเชื่อว่าหลายท่านคงเคยเจอปัญหาว่ามือถือบางรุ่น ใช้คนละเลนส์กัน โทนสีของภาพที่ได้ก็ต่างกันไปด้วย แต่สำหรับ S21+ 5G นี้ไม่เป็นนะ

แล้วก็ภาพจากเลนส์อัลตร้าไวด์ก็ไม่มีขอบดำ และก็ขอบภาพดูไม่ค่อยเบี้ยวด้วย

20210123 075925

การถ่ายย้อนแสงบน Samsung Galaxy S21+ 5G ก็ทำได้สบายด้วยโหมด HDR ที่ทำงานได้อัตโนมัติ ใช้เวลาในการถ่ายไม่ต่างจากการถ่ายรูปปกติ ส่วนภาพที่ได้ก็ตามด้านบนครับ สังเกตว่ายังพอมองเห็นรายละเอียดในส่วนมืดที่ลำต้นของต้นไม้ได้อยู่ แสงที่มาจากดวงอาทิตย์ก็ไม่ได้จ้าจนเกินไป จะมีเกิดแฟลร์สีชมพูที่มาจากการสะท้อนแสงของเลนส์อยู่บ้างในบางจุด อย่างในภาพนี้ก็จะเป็นบริเวณสีชมพูตรงมุมซ้ายบน (ที่ทำให้เหมือนดอกซากุระไปซะอย่างนั้น)

20210121 154114

ลองช็อตปราบเซียนกันบ้างกับการถ่ายแก้วกาแฟพร้อมหลอดด้วยโหมด Portrait ผลที่ได้ก็ออกมาค่อนข้างน่าพอใจครับ จะมีบางที่หลอดแหว่ง อย่างในภาพด้านบนนี้จัดว่ายากมาก ๆ สำหรับซอฟต์แวร์เลย เพราะหลอดสีน้ำตาล ดันมาเจอพื้นหลังเป็นเบาะสีน้ำตาล และก็ขอบหน้าต่างที่เป็นสีน้ำตาลอีก เลยทำให้หลอดดูเบลอไปนิดนึง

20210125 184207

การถ่ายโบเก้ด้วยโหมด Portrait ก็จัดว่าทำได้ไม่ยากครับ โดยระยะซูมจะล็อกไว้ที่ 2x จากภาพตัวอย่างด้านบนใช้การเซ็ตแสงโดยมีไฟ LED สีขาวส่องอยู่ด้านหน้า 1 ดวง ช่วยให้กล้องของ S21+ สามารถเก็บรายละเอียดจากตัวแบบได้ครบ การตัดขอบตัวแบบทำได้เกือบสมบูรณ์ ส่วนโบเก้จากดวงไฟด้านหลัง อันนี้เป็นภาพที่นำมาปรับระดับความเบลอเพิ่มภายหลัง โดยปรับเป็นระดับสูงสุดเลย

20210122 185230

ส่วนโหมดกลางคืน เท่าที่ทดลองดูหลาย ๆ แบบ ตัว S21+ 5G จะเป็นแบบปรับแสงส่วนที่โอเวอร์และฟุ้งให้ดูมืดลง เพื่อการเก็บรายละเอียดในภาพที่ดีขึ้น เพราะหลังจากลองถ่ายภาพด้านบนนี้ทั้งโหมด auto และโหมดกลางคืน พบว่าโดยรวมแล้วทั้งสองภาพนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกันครับ แต่ภาพจากโหมด auto จะมีแสงบางจุดที่ฟุ้งกว่า โดยเฉพาะตรงป้าย B-Quik ที่มีสปอตไลท์ส่องลงมาเต็ม ๆ และก็ป้ายขาวตรงปั๊มเชลล์

ในขณะที่ภาพจากโหมดกลางคืน (ภาพด้านบน) จะมองเห็นรายละเอียดมากกว่า ดูมีการจัดการกับแสงที่ดีขึ้น

7

มาลองในบริเวณที่มืดมาก ๆ กันบ้าง ภาพข้างบนนี้ ชุดบนคือโหมด auto เรียงกันสามเลนส์คือเลนส์ไวด์ / อัลตร้าไวด์ / เทเล 3x ซึ่งในกรณีของเลนส์ไวด์และเทเล ระบบจะเปิดโหมดกลางคืนให้อัตโนมัติ ส่วนอัลตร้าไวด์ จะมีเพียงแค่ข้อความแนะนำว่าควรเปิดโหมดกลางคืนก่อนถ่ายนะ พอกดถ่ายแล้วก็กลายเป็นว่ามันเก็บภาพตามสภาพแสงจริงมาเลย

ส่วนชุดล่างก็ระยะเลนส์เดียวกันครับ แต่ผมกดเปิดโหมดกลางคืนมาตั้งแต่แรกเลย ก็พบว่าเลนส์อัลตร้าไวด์มันก็ใช้โหมดกลางคืนได้เหมือนกันนะ ตรงจุดนี้ขอเสนอว่าถ้าแก้ให้ระบบเปิดโหมดกลางคืนให้ เมื่อถ่ายแบบ auto ด้วยเลนส์อัลตร้าไวด์เหมือนเลนส์อื่น ๆ ได้ก็จะดีมากเลย

10

คราวนี้เป็นสภาพแสงแบบมืดสุด ๆ ครับ ภาพข้างบนคือภาพแคปหน้าจอที่หน้าจอพรีวิวระหว่างถ่ายจริง เพื่อให้เห็นว่ามืดมาก ส่วนภาพล่างคือภาพที่ได้จากโหมด auto ซึ่งตัวเครื่องจัดการใช้ scene optimizer ปรับเป็นการถ่ายในรูปแบบกลางคืนให้อัตโนมัติ ใช้เวลาในการถือถ่ายค้างไว้ประมาณ 4 วินาที รายละเอียดที่ขุดขึ้นมาได้นั้นจัดว่าเยอะมาก โดยที่ยังคงมีความคมของขอบวัตถุอยู่พอสมควร แต่ตัวเนื้อวัตถุก็จะเบลอ ๆ เล็กน้อย ซึ่งเป็นผลของการลด noise ในภาพ

รวม ๆ แล้ว คุณภาพของภาพที่ได้จากกล้องหลังของ Samsung Galaxy S21+ 5G จัดว่าดีสมกับเป็นซีรีส์เรือธงเลย ทั้งความคมชัด โทนสี ความสว่าง ความเร็วในการโฟกัส แต่จะมีบางสถานการณ์ที่ระบบจับระยะโฟกัสไม่ตรงใจอยู่บ้าง โดยเฉพาะการถ่ายวัตถุในระยะประมาณ 1-2 ฟุตจากตัวกล้อง ส่วนภาพที่ถ่ายในที่แสงน้อยก็ชัด ขอบคมได้ใจ

8

ถัดมาเป็นกล้องหน้า ถ้าในโหมดปกติก็จะมีให้ปรับความกว้างของมุมรับภาพได้ครับ ถ้าต้องการถ่ายเป็นกลุ่มกับเพื่อนก็จิ้มเลือกได้เลย

9

ส่วนถ้าใช้โหมด Portrait ก็จะเพิ่มความสามารถในการเบลอหลัง และการตกแต่งภาพเพิ่มเข้ามา อันเกิดจากการแยกเลเยอร์ระหว่างวัตถุที่โฟกัสกับพื้นหลัง ซึ่งจะเนียนขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแยกเลเยอร์นี่แหละครับ โดยตัวของ S21+ 5G เครื่องที่รีวิวนี้ก็ทำได้ดีประมาณนึง ยังมีปลายเส้นผมบางส่วนที่ถูกตัดไปอยู่ โดยเฉพาะตัวกล้องหน้าที่ฮาร์ดแวร์ช่วยไม่ได้เยอะเท่ากล้องหลัง

สำหรับ effect ที่นำมาตกแต่งต่อภายหลังได้ก็เช่น การตัดสีพื้นหลัง ปรับระดับความเบลอ การทำพื้นหลังเป็นแบบภาพวน เป็นต้น

ด้านล่างนี้ก็เป็นแกลเลอรี่รวมตัวอย่างภาพถ่ายของ Samsung Galaxy S21+ 5G ครับ คลิกชมกันทีละภาพได้เลย

 


ความแรง แบตเตอรี่และความร้อน

1

Samsung Galaxy S21+ 5G มาพร้อมกับ Android 11 ที่ครอบมาด้วย One UI 3.1 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุด ซึ่งหน้าตาโดยรวมก็จะใกล้เคียงกับที่คุ้นเคยครับ มีแอปเสริมติดตั้งมาให้บางส่วน เช่น Samsung Note สำหรับจดบันทึก (แต่ตัวเครื่องไม่รองรับปากกา S Pen นะ) รวมถึงมีแอปจากฝั่ง Microsoft เสริมมาให้ด้วย เช่น OneDrive Outlook และ LinkedIn

พื้นที่เก็บข้อมูลหลังเปิดเครื่องขึ้นมาใช้งานครั้งแรก เครื่องที่เราได้รับมารีวิวนี้เป็นรุ่น 128 GB ก็จะเหลือความจุให้ใช้งานได้ราว ๆ 100 GB

6 1

เรื่องความแรงของชิปใหม่อย่าง Exynos 2100 ก็เป็นเรื่องที่ได้รับการคาดหวังพอสมควร โดยคะแนน AnTuTu ที่ทดสอบออกมาก็ทำได้อยู่ในช่วง 610,xxx – 625,xxx คะแนน ซึ่งเทียบแล้วอยู่ในระดับเดียวกันกับมือถือที่ใช้ชิป Snapdragon 865 ซึ่งจุดที่ทำคะแนนได้ดีคือ GPU ที่ทำได้สูงกว่าชิป Snap 865 บางรุ่นซะอีก

ส่วนคะแนนจาก Geekbench 5 ก็ได้ตามภาพด้านบนครับ ทั้งแบบ single-core และ multi-core นั้นเทียบได้กับมือถือที่ใช้ชิป Snapdragon 865 เช่นกัน

ดังนั้น ในแง่ความแรงจากการทดสอบด้วยแอปสาย benchmark ก็ต้องบอกว่า S21+ 5G ที่ใช้ชิป Exynos 2100 นั้น จัดอยู่ในกลุ่มที่ยังแรงมาก ๆ ในตลาดได้อยู่ แม้จะไม่ได้โหดเท่าระดับท็อปอย่าง Snapdragon 888 แต่ก็เหลือเฟือเหลือใช้ไปได้อีกเป็นปี ๆ แน่นอน

ด้านของการเล่นเกม — ปรับสุดได้เลย ไม่ต้องกลัว แต่จะมีบางเกมถ้าอยากให้ลื่นหน่อย ก็อาจต้องปรับรายละเอียดบางส่วนลงบ้าง เช่น Genshin Impact ที่ถ้าหากต้องการเปิดโหมด 60fps ก็แนะนำว่าควรปรับลด effect บางจุดลง เพื่อภาพที่ลื่นไหล

5

แบตเตอรี่ 4800 mAh ในตัวก็รองรับการใช้งานได้ตลอดวัน รวมถึงยังสามารถเปิด 5G ได้แบบไม่ต้องกังวลด้วย โดยเฉพาะถ้าใช้งานอยู่ในบริเวณที่สัญญาณ 5G ครอบคลุมดี ส่วนการชาร์จกลับนั้น ผมลองชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ GaN 65W ช่วงแรก ๆ จะขึ้นเป็น Fast Charging แต่พอตอนหลังก็ขึ้นเป็น Super fast charging แล้ว อย่างในภาพด้านบน ผมลองเริ่มชาร์จตอนแบตเหลือ 20% ก็สามารถชาร์จขึ้นมาถึง 80% ได้โดยใช้เวลา 48 นาที

หรือถ้าอยากจะปิดฟังก์ชันการชาร์จเร็วในระดับต่าง ๆ รวมถึงการชาร์จไร้สายแบบเร็ว ก็สามารถเข้ามาตั้งค่าได้จากในเมนู Battery ครับ

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 46

ต่อด้วยการวัดอุณหภูมิระหว่างทำงานกันบ้าง โดยเป็นการวัดในพื้นที่อากาศถ่ายเทปกติ วัดจากจุดที่อุณหภูมิสูงสุดคือบริเวณมุมซ้ายบนของจอที่มีพวกชิปประมวลผลอยู่ภายใน พบว่าอุณหภูมิอยู่ในระดับประมาณ 33 องศาเซลเซียส ส่วนถ้าเป็นบริเวณเดียวกันแต่อยู่ด้านหลัง อุณหภูมิจะต่ำกว่านี้เล็กน้อย

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 48

ทีนี้ลองวัดระหว่างเปิดเกม Genshin Impact แบบปรับสุดบ้าง อุณหภูมิจุดที่สูงสุดจะอยู่ราว ๆ 42-43 องศาเซลเซียส ซึ่งเอาจริง ๆ คือเย็นกว่าอุณหภูมิสูงสุดของ iPhone 12 Pro Max ระหว่างเล่นเกมเดียวกันซะอีก


สรุปปิดท้ายรีวิว Samsung Galaxy S21+ 5G

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 36

Samsung Galaxy S21+ 5G เป็นมือถือซีรีส์ระดับท็อปที่ทำออกมาแก้ไขจุดอ่อนในรุ่นที่ผ่านมาได้ค่อนข้างดีเลย โดยเฉพาะในเรื่องของความร้อนและแบตเตอรี่ไหลจากการใช้งานในระหว่างวัน ด้วยการเปลี่ยนชิปมาเป็น Exynos 2100 ที่มีการปรับปรุงในหลาย ๆ จุดขึ้นมา ในขณะที่หลายส่วนที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ก็ยังคงเก็บไว้ได้ครบถ้วน เช่น จอคุณภาพสูง 120Hz ที่ให้ความละเอียดมากำลังเหมาะสมกับการใช้พลังงานของเครื่อง การเชื่อมต่อ 5G ที่รองรับคลื่นในไทยได้แบบครบถ้วน

ส่วนเรื่องกล้องที่ให้มา 3 เลนส์ในแบบฉบับมาตรฐานที่สามารถใช้งานได้ครบ 3 ระยะ มาพร้อมกับคาแรคเตอร์ของภาพที่เน้นสีสันที่ค่อนข้างอิ่มกำลังดี ความคม การตัดขอบไม่จัดเกินไป โหมดกล้องอย่าง Director’s View และ Single Take ก็น่าจะเข้ามาช่วยให้การทำงานสายสร้างสรรค์คอนเทนต์เป็นไปได้สะดวกขึ้น เราจึงได้เห็นแนวทางการโปรโมตของ Samsung ออกมาเป็นแนวของ Content Creator / YouTuber เป็นหลัก

Review Samsung Galaxy S21 plus SpecPhone 13

ส่วนจุดที่น่าสังเกตก็คือ ถ้าหากนำ S21+ 5G ไปเทียบกับรุ่นก่อนหน้าคือ S20+ ก็ต้องบอกว่าไม่ได้มีจุดที่แตกต่างกันมากนัก จะมีหลัก ๆ ก็ที่ประเด็นของการใช้งาน 5G และก็การจัดการความร้อน กับการใช้พลังงานจากแบตที่ดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งถ้าคุณรู้สึกว่า S20+ นั้นค่อนข้างเหมาะกับไลฟ์สไตล์อยู่แล้ว การอัพเกรดมาเป็น S21+ 5G อาจจะยังสร้างความแตกต่างให้กับการใช้งานได้ไม่มากนัก

แต่ถ้าคุณมีแผนจะหามือถือรุ่นท็อปเครื่องใหม่มาใช้งาน 5G ในช่วงนี้ซักรุ่น Samsung Galaxy S21+ 5G คือหนึ่งในทางเลือกที่ค่อนข้างลงตัวครับ กับความครบเครื่องของฟีเจอร์ และฮาร์ดแวร์ในช่วงราคาเริ่มต้นที่ 33,900 บาท จะมีที่ต้องหาเพิ่มเติมนิดหน่อยก็คืออะแดปเตอร์ชาร์จไฟ เพื่อการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก