กลับมาพบกันอีกเช่นเคยครับ กับมือถือรุ่นใหม่ล่าสุดของ Samsung ในซีรีส์ A ที่ต้องบอกเลยว่าเป็นซีรีส์ที่ Samsung ทำออกมาได้ลงตัวมาก ๆ ทั้งในแง่ของราคา สเปค รูปร่างหน้าตา โดยเฉพาะเรื่องของการถ่ายรูปที่เน้นเพื่อสายโซเชียลเป็นพิเศษ และในปีนี้เองก็มีการปล่อยรุ่นใหม่ออกมาเสริมทัพกันเป็นระยะ ๆ ล่าสุดก็เป็นคิวของ Samsung Galaxy A31 (อ่านชื่อรุ่นว่า เอสามหนึ่ง) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานด้านโซเชียลโดยเฉพาะเลยทีเดียว
Samsung Galaxy A31 สเปคมาแบบครบถ้วน
ยังคงคอนเซ็ปท์ความคุ้มเหมือนกันรุ่นก่อนหน้าอย่าง Samsung Galaxy A30 และ A30s ไว้ได้เหมือนเดิมเลย คือเน้นในเรื่องความคุ้มค่า สเปคลงตัวสำหรับการใช้งานพื้นฐาน และไลฟ์สไตล์ได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงยังให้เลนส์กล้องมาค่อนข้างครบถ้วนด้วย แต่ก่อนอื่นเรามาดูในส่วนของสเปคกันก่อนครับ บอกก่อนว่าเห็นสเปคแล้ว รู้สึกว่าเป็นรุ่นหนึ่งที่มีความคุ้มค่ามากครับ
- ชิปประมวลผล MediaTek Helio P65 (8 คอร์ ความเร็ว 2.0 GHz) ชิปกราฟิก Mali-G52
- แรม 6 GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล 128 GB เพิ่ม MicroSD ได้อีก 512 GB
- หน้าจอ Super AMOLED แบบ Infinity U ขนาด 6.4″ ความละเอียดระดับ FHD+ (2400 x 1080)
- กล้องหลัง 4 ตัว
- กล้องหลัก 48MP f/2.0
- เลนส์อัลตร้าไวด์ 8MP f/2.2
- เลนส์มาโคร 5MP f/2.4
- เลนส์ depth 5MP f/2.4
- กล้องหน้า 20MP f/2.2
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ใต้จอ
- ใส่นาโนซิมได้ 2 ซิม รองรับ 4G LTE และ VoLTE ทั้ง 2 ซิม
- WiFi ac + Bluetooth 5.0
- แบตเตอรี่ 5000 mAh รองรับชาร์จเร็ว 15W
- ชาร์จไฟผ่านช่อง USB-C
- Android 10 ครอบด้วย One UI 2.1
- ราคา 8,999 บาท
สเปครวม ๆ ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ครับ ตัวชิป Helio P65 เองได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานในระดับทั่วไปได้ดี ส่วนแรมและพื้นที่เก็บข้อมูลนั้นก็ให้มาในระดับมาตรฐานของเครื่องราคา 9,000 บาทครับ ใช้งานได้สบายแบบไม่ต้องใส่ MicroSD เสริมก็ยังได้ ส่วนกล้องก็ให้เลนส์มาค่อนข้างครอบคลุมเลย ถ่ายธรรมดา ถ่ายมุมกว้าง ถ่ายหลังเบลอก็พอไหว หรือจะถ่ายส่องใกล้ ๆ แบบมาโครก็ยังได้เลย ส่วนแบตเตอรี่นั้นจัดมาให้เยอะมาก และรองรับชาร์จเร็วอีกด้วย ใครที่เน้นใช้งานหนักๆ ทั้งวัน รับรองว่าเพียงพอแน่นอน ส่วนสายชิวชอบถ่ายรูป ฟังเพลง ก็ไม่จำเป็นต้องพกพาพาวเวอร์แบงค์ให้เกะกะอีกต่อไปครับ
รูปร่างหน้าตาของ Samsung Galaxy A31 ก็เป็นทรงมาตรฐานครับ คือหน้าจอเกือบเต็ม มีขอบบาง 3 ด้าน บนสุดมีติ่งรูปหยดน้ำของกล้องหน้าอยู่ ซึ่งด้วยการที่วางกล้องหน้าไว้ตรงกลาง ช่วยให้สามารถจัดตำแหน่งของการถ่ายเซลฟี่ได้ง่าย
ขนาดของตัวเครื่องเองก็กำลังพอเหมาะกับการใช้งาน การกระจายน้ำหนักทำได้ดี ช่วยให้ใช้งานได้แบบไม่เมื่อยมือนัก
สีสันของจอต้องบอกว่าทำมาได้ถูกใจเลยทีเดียว ด้วยการใช้พาเนล Super AMOLED ของ Samsung เองที่โดยมากในรุ่นราคาหลักพันปลาย ๆ ขึ้นไปมักจะทำได้ดีอยู่แล้ว จุดที่เป็นสีดำก็ดำสนิทจริง ๆ สีสันสดใสมาก ส่วนความสว่างก็สามารถปรับอัตโนมัติได้ค่อนข้างแม่นยำ ใช้งานกลางแจ้งได้สบาย
มุมมองภาพของจอก็กว้างดีครับ แม้จะมองจากด้านข้างก็ไม่พบอาการเหลือบเป็นโทนสีฟ้าหรือสีเหลืองแต่อย่างใด ใช้ดูหนังฟินมาก
เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือเป็นแบบฝังใต้จอครับ เท่าที่ทดลองใช้งานดู พบว่าบางครั้งอาจมีอาการสแกนไม่ติดอยู่บ้าง อาจจะเนื่องจากเป็นเครื่องสำหรับทดสอบ แต่ถ้าใครรู้สึกไม่ค่อยถนัด จะเปลี่ยนไปใช้การสแกนใบหน้าแทนก็ได้เหมือนกัน ความเร็วในการสแกนจัดว่าอยู่ในระดับที่พึงพอใจเลย
ฝาหลังของ Samsung Galaxy A31 ส่วนตัวผมมองว่าสวยเลยทีเดียว อย่างในเครื่องที่ทางเราได้รับมารีวิวจะเป็นรุ่นสีน้ำเงิน ซึ่งตัวฝาหลังก็จะมีการไล่เฉดสีวาว ๆ ตามการสะท้อนแสง ส่วนซีกล่างก็จะเป็นลายเส้นลงมาในแนวตั้งเพื่อเพิ่มลวดลายให้กับฝาหลัง
ตรงขอบของทั้ง 4 ด้านจะมีความโค้งมนลงไปรับกับขอบเครื่องพอดี ทำให้สามารถจับถือได้สบายมือ
โมดูลกล้องหลังจะรวมอยู่ในกรอบสีดำที่ยกสูงขึ้นมาจากพื้นฝาหลังเล็กน้อยครับ เรียงลำดับจากบนลงล่างก็จะเป็น เลนส์ Depth + แฟลช LED > เลนส์กล้องหลัก > เลนส์อัลตร้าไวด์ + เลนส์มาโคร
ด้านบนมีเพียงช่องรับเสียงของไมค์ด้านบน ส่วนด้านล่างจะมีทั้งช่อง 3.5 มม. ตามมาด้วยช่อง USB-C ช่องรับเสียงของไมค์หลัก และก็ช่องลำโพง ซึ่งในการเล่นเพลง วิดีโอ เล่นเกม จะมีเสียงจากลำโพงนี้เพียงจุดเดียวครับ ส่วนถ้าเสียบสายหูฟังก็จะได้อรรถรสมากขึ้นจากระบบเสียง Dolby Atmos ด้วย
ฝั่งข้างซ้ายมีถาดใส่ซิม ส่วนฝั่งขวาก็มีปุ่ม Power และปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงติดตั้งมาให้
ซึ่งถาดใส่ซิมก็สามารถใส่ 2 ซิมพร้อมกับใส่ MicroSD ได้เลย ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ต่อกันที่ซอฟต์แวร์นะครับ Samsung Galaxy A31 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 10 ครอบด้วย One UI 2.1 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุดเหมือนกับในมือถือรุ่นท็อป ๆ เลย ดังนั้นเรื่องประสบการณ์การใช้งาน การจัดวางเมนู ไอคอนต่าง ๆ ก็จะเหมือนกันแทบทั้งหมด ใครที่คุ้นเคยกับมือถือ Samsung อยู่แล้ว หรือจะเป็นคนที่อัพเกรดมาจากรุ่นก่อนหน้านี้อย่างพวก Galaxy J7 และ Galaxy A30 ก็สามารถใช้งาน A31 ได้แบบไม่ยากเย็นนัก
พื้นที่เก็บข้อมูลของตัวเครื่องที่ขายจริงในไทยจะอยู่ที่ 128 GB กับแรม 6 GB ตามสเปคที่ระบุไว้ด้านบน แต่ในเครื่องทดสอบที่ทางเราได้รับมานั้นเป็นรุ่น 64 GB กับแรม 4 GB ครับ แม้ว่าจะสเปคไม่ตรงกันก็ตาม แต่การใช้งานโดยรวมนั้นก็ยังไหลลื่นดีมาก ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูล ในหน้าเว็บไซต์ Samsung ระบุไว้ว่าจาก 128 GB จะเหลือให้ใช้งานจริง 104.6 GB
หนึ่งในฟังก์ชันเสริมที่น่าจะถูกใจสายโซเชียล สายแชทก็คือ Samsung Galaxy A31 สามารถโคลนแอปโซเชียลอย่างพวก Facebook, Facebook Messenger และ Line ได้ โดยจะแยกออกมาเป็นแอปเวอร์ชัน copy ที่แยกการล็อกอินออกมาจากแอปเดิมเลย ช่วยเพิ่มความสะดวกสำหรับคนที่อาจจะมีบัญชีหนึ่งใช้สำหรับทำงาน อีกบัญชีไว้ใช้ส่วนตัวล้วน ๆ เป็นต้น
ต่อมาเป็นเรื่องกล้องของ Samsung Galaxy A31 นะครับ เริ่มกันที่กล้องหลังก่อนเลย ด้วยการที่มีให้มาถึง 4 เลนส์ ทำให้ลูกเล่นในการถ่ายภาพนั้นเยอะมาก ๆ โดยสามารถสลับระหว่างเลนส์ไวด์และอัลตร้าไวด์ได้อย่างง่ายดายด้วยการกดปุ่มรูปต้นไม้ ส่วนการถ่ายมาโครก็ทำได้โดยการสลับไปใช้โหมดมาโคร นอกจากนี้ยังมีโหมดอื่นที่น่าสนใจอีกเช่น โหมด Pro สำหรับผู้ที่ต้องการกำหนดค่าในการถ่ายเอง โหมด Live Focus สำหรับการถ่ายภาพที่มีระยะชัดลึก (หลังเบลอ) เป็นต้น
ด้านบนนี้เป็นตัวอย่างภาพจากเลนส์ไวด์และเลนส์อัลตร้าไวด์ตามลำดับครับ เรื่องสีสัน ความสว่าง การเก็บรายละเอียดสำหรับการถ่ายกลางแจ้งถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ส่วนการถ่ายในที่มีแสงน้อยก็จะได้ความคมชัดที่ลดลงมานิดนึงครับ
ส่วนภาพของเลนส์อัลตร้าไวด์ก็เป็นไปตามมาตรฐานคือคมชัดสุดที่บริเวณกลางภาพ ส่วนบริเวณขอบ ๆ ก็จะเบลอเล็กน้อย ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเลนส์อัลตร้าไวด์ที่เก็บภาพมุมกว้างมาก ๆ อยู่แล้ว แต่ของใน A31 ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้เบลอแบบเห็นได้ชัดนะ ถือว่าทำได้ดีทีเดียว
ด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพจากโหมดมาโครครับ สามารถถ่ายได้ใกล้มาก ๆ ตามสเปคคือใกล้สุดถึง 4 เซนติเมตรเลย
เปลี่ยนมากล้องหน้ากันบ้าง ยอมรับเลยว่าลูกเล่นของ Samsung Galaxy A31 นั้นเยอะจริง ๆ เริ่มแรกก็เรื่องโหมด Beauty ที่เปิดใช้งานอัตโนมัติให้ตั้งแต่แรก ช่วยให้เราสามารถปรับแต่งผิว แต่งหน้าเรียว แต่งตาให้ใสกันได้ โดยแต่ละค่าก็จะมีให้ปรับได้ตามความต้องการ หรือจะปรับสี คุมโทนสีในรูปก็สะดวกมาก อยากได้ภาพโทนเย็น ๆ เพื่อดับอากาศร้อนก็จัดไปได้ตั้งแต่ในแอปกล้องเลย ส่วนความสว่างก็หายห่วงครับ เพราะมีระบบ Smart AI ช่วยปรับแสงให้เหมาะสมด้วย เรียกว่าถ่ายเสร็จก็เอามาลงโซเชียลเลยก็ยังไหว
นอกจากการถ่ายแบบปกติแล้ว ตัวเครื่องก็ยังมีโหมดสำหรับกล้องหน้าให้ใช้งานอีก เช่น โหมดเซลฟี่มุมกว้าง จะได้เก็บวิว หรือเก็บคนอื่น ๆ ในภาพได้ครับ ถ้าต้องการถ่ายฉากหลังเบลอก็มีโหมด Live Focus ให้เช่นเดียวกับในกล้องหลัง หรือถ้าอยากใส่ลูกเล่น อยากวาดหน้าก็มีโหมด AR ให้ใช้งาน ซึ่งจะรวมอยู่ในหัวข้อ AR Zone ครับ ภายในก็จะมีทั้ง AR Sticker ให้เลือกมาแปะหน้าได้ รวมถึงยังมี AR Doodle ที่สามารถวาดหน้าได้ตามต้องการ จะถ่ายเป็นภาพนิ่งหรือวิดีโอก็สะดวกสุด ๆ
อีกข้อที่ลืมไม่ได้ก็คือเรื่องความง่ายในการถ่ายเซลฟี่ เพราะผู้ใช้สามารถยกมือขึ้นมา แล้วแบมือ 5 นิ้วเพื่อสั่งถ่ายรูปได้เลย ช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องเกร็งนิ้วเพื่อกดปุ่ม ไม่ต้องใช้สายตาเพ่ง ซึ่งอาจทำให้ใบหน้าดูเกร็ง หรือสายตาอยู่ผิดตำแหน่งเวลาถ่ายได้ งานนี้บอกเลยว่าได้ภาพตรงใจง่ายขึ้นแน่นอน
ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องของ Samsung Galaxy A31 นะครับ คลิกชมกันได้เลย
ปิดท้ายด้วยการรีวิวความแรง การใช้งานแบตเตอรี่ และก็การเล่นเกมบน Samsung Galaxy A31 กันซักหน่อยนะครับ ถ้าทดสอบความแรงจากพวกแอปต่าง ๆ ตัว Samsung Galaxy A31 เองก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มเครื่องแรงระดับกลางของยุคนี้ สเปคจัดว่าเหมาะสำหรับการใช้งานที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ได้เน้นการทำงานเฉพาะทางมากนัก (เช่น การเล่นเกม) ดังนั้นจึงค่อนข้างเหมาะกับคนที่กำลังมองหามือถือมาใช้งานในชีวิตประจำวันซักเครื่อง ถ่ายรูปได้ เล่นโซเชียลดี เล่นเกมนิดหน่อยพอสนุกสนาน ประมาณนี้
ด้านของการใช้งานแบตเตอรี่ เนื่องด้วยแบตเตอรี่ที่ให้มาถึง 5000 mAh (แต่ตัวเครื่องนั้นบางมาก ๆ) ทำให้ไม่ต้องห่วงกับการใช้งานในชีวิตประจำวันเลยครับ รับรองว่าใช้ได้เกิน 1 วัน แต่ถ้ามีการใช้งานที่กินแบตแบบเน้น ๆ หน่อย เช่น ดูหนัง ดูคลิป หรือเล่นเกมติดต่อกัน แน่นอนว่าระยะเวลาการใช้งานก็ต้องลดลงมาซักหน่อย อย่างถ้าเป็นการดูวิดีโอ ดูหนัง ก็จะได้ราว 12 ชั่วโมงนิด ๆ เรียกว่าดูซีรีส์จบได้หลายตอนอยู่เหมือนกันนะ
ในการเล่นเกม เกมแรกที่ผมทดสอบก็คือ Free Fire ครับ โดยสามารถปรับ FPS ในระดับสูง และกราฟิกระดับ Ultra ได้สบาย ส่วนถ้าต้องการความลื่นแน่ ๆ ก็แนะนำให้ปิดเงาไปด้วยก็จะดีมาก
ถัดมาก็เป็นเกมแนวเดียวกันอย่าง PUBG Mobile นะครับ เท่าที่ผมทดสอบดู พบว่าถ้าจะเล่นให้ลื่นที่สุดก็ให้ปรับกราฟิกลงมาที่ระดับ Smooth ส่วนเฟรมเรตก็ปรับ Ultra ไปได้เลย ส่วนถ้าปรับกราฟิกสูงขึ้น ที่จริงก็ยังเล่นได้อยู่ครับ โดยอาจจะมีภาพกระตุกเป็นบางช่วงอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นด้านข้อจำกัดของ GPU ในตัวชิป แต่ก็ต้องถือว่าทำได้โอเคแล้วกับในช่วงราคาประมาณนี้
ปิดท้ายด้วยเกม RoV นะครับ สำหรับ Samsung Galaxy A31 ที่ผมทดสอบนี้ ตัวเกมจะปิดการตั้งค่าโหมดเฟรมเรตสูงเอาไว้ ทำให้สามารถปรับได้แค่พวกกราฟิกจุดต่าง ๆ ในเกม ซึ่งก็เปิดได้สูงสุดตามในภาพด้านบนครับ เมื่อเข้าไปเล่นเกมแล้วก็ได้เฟรมเรตอยู่ที่ 30 FPS ตามมาตรฐาน มีดร็อปลงมาบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่เยอะเท่าไหร่ ถ้าอยากเล่นแบบลื่น ๆ ก็อาจจะลดกราฟิกลงมาซัก 1 ระดับ น่าจะช่วยได้พอสมควร
สรุปปิดท้ายรีวิว
Samsung Galaxy A31 นับเป็นสมาร์ตโฟนอีกรุ่นที่น่าจะได้รับความนิยมเป็นอย่างดีในปีนี้เลยทีเดียว ด้วยสเปค ประสิทธิภาพ ราคาที่ค่อนข้างลงตัว ลูกเล่นข้างในก็ทำออกมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าได้ดี โดยเฉพาะสายที่เน้นโซเชียล เน้นการถ่ายเซลฟี่ ถ่ายรูปสวย ๆ มาอัพลง FB IG (หรือจะเล่น TikTok ก็สบาย) เนื่องจากกล้องหลังที่ให้มาถึง 4 เลนส์ และกล้องหน้าที่ผสมผสานมาอย่างลงตัวทั้งความคมชัด และซอฟต์แวร์ที่ช่วยตกแต่งภาพให้ตรงใจได้อย่างง่ายดาย หรือจะใช้ดูหนังฟังเพลงก็สบายด้วยแบตอึดความจุ 5000 mAh
ถ้าถามว่า Samsung Galaxy A31 เครื่องนี้เหมาะกับใคร ผมก็มองว่ามันค่อนข้างเหมาะกับคนที่ต้องการหามือถือซักเครื่องในราคาไม่ถึงหมื่น ได้ฟังก์ชันครบ ๆ ได้จอสวย งานประกอบที่มีคุณภาพดีรวมมาในเครื่องเดียว ส่วนถ้าต้องการนำมาเล่นเกม A31 ก็รับไหวครับ แต่อาจจะต้องปรับกราฟิกลงมาซักนิดนึง เพื่อให้เล่นเกมได้ลื่น